วันอังคาร, กรกฎาคม 17, 2561

อีกเวอร์ชั่นจากใน #ถ้ำหลวง มืออาชีพจริง ไม่เหมือนไทยแถลง


Image may contain: 3 people, text

เครก แชลเลน สัตว์แพทย์จากเมืองเพิร์ธ ที่เป็นคู่บัดดี้ดำน้ำถ้ำของคุณหมอแฮร์ริส และอยู่ในกลุ่มนักดำน้ำถ้ำ Wet Mules (ดังที่เคยเล่ารายละเอียดใน https://goo.gl/nJfFE2) ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ประจำเมืองเพิร์ธ Sunday Times เกี่ยวกับภาระกิจการนำเด็กออกจากถ้ำหลวงฯ

คุณหมอแชลเลนและแฮร์ริส มาถึงที่ถ้ำหลวงฯ จริง ๆ คือวันพฤหัสบดีที่ 5 ก. ค. (สื่อหลายที่ทีแรกรายงานเป็นวันเสาร์ที่ 7 ก. ค. ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นวันที่ดำเข้าไปในถ้ำเตรียมการ) แล้วก็เข้าไปพูดคุยกับทีมบริติช เรื่องแผนการนำเด็กออกจากถ้ำ ทีมบริติชมีวางแผนกันคร่าว ๆ แล้ว แต่คุณหมอทั้งสองแค่ไปช่วยออกความเห็นในพวกเครื่องมือ อุปกรณ์ แล้วก็ได้ผลสรุปในรายละเอียดของปฏิบัตการในครั้งนี้ แชลเลนให้เครดิตแผนการนำเด็กออกจากถ้ำในครั้งนี้ เป็นของทีมบริติช (They really deserve the credit for the extraction plan)

ส่วนเรื่องการปฏิบัติ ไม่ต่างกับที่โวลันเธนให้สัมภาษณ์กับทาง BBC Points West (https://goo.gl/QqPYkZ) คือเด็กแต่ละคน ถูกหอบหิ้วออกมาโดยนักดำน้ำของสภากู้ภัยถ้ำแห่งบริติช BCRC (John Volanthen, Rick Stanton, Jason Mallinson และ Chris Jewell) แบบหนึ่งต่อหนึ่ง เด็กสวมหน้ากากแบบ full- face mask ถังอากาศติดด้านหน้า มีสายยึดติดกับนักดำน้ำถ้าที่หอบหิ้วออกมา เด็กมีการให้ยา เพื่อมิให้มีการตื่นกลัว ส่วนที่ได้เพิ่มเติมจากคุณหมอแชลเลน คือ ไม่มีนักดำน้ำอีกคนตามหลัง เพราะมันไม่มีประโยชน์ เนื่องจากทัศนวิสัยของน้ำแย่มากแค่อยู่ในช่วงระยะ 10 ซม. เท่านั้น นักดำน้ำถ้ำสนับสนุน คืออยู่ประจำช่วยในจุดที่ยาก แล้วก็ประจำในจุดที่เป็นเนินผืนดิน (ถ้าใครเคยเห็นแผนที่เส้นทางจากจุดโถง 3 ถึงจุดที่เด็กอยู่ มันไม่ใช่การดำน้ำตลอด มีจุดที่ขึ้นมาเดินด้วย) เพื่อเข้าช่วยเด็กในการถอดอุปกรณ์ และใส่กลับไปเข้าไปใหม่ อย่างคุณหมอแชลเลนเองก็ประจำที่เนินหนึ่ง ร่วมกับนักดำน้ำต่างชาติอีกสองสามคน จุดที่คุณหมอแชลเลนอยู่ เด็กแต่ละคนจะขึ้นมา ห่างกันรอบละ 45 นาที

อีกประเด็นหนึ่งที่ต่างกันชนิดคนละเรื่องกับสื่อที่ออกมาก่อนหน้าว่า นำเสนอว่าคุณหมอแฮร์ริส เป็นคนจัดลำดับว่าเด็กคนไหนจะออกก่อนหลัง ปรากฏคุณหมอแชลเลนแกบอกว่า ไม่ใช่ คือพอได้บทสรุปเรื่องการนำเด็กอพยพออกจากถ้ำช้ดเจนแล้ว ก็ดำกันเข้าไปในถ้ำพูดคุยกับทีมหมูป่าและหน่วยซีลไทยที่อยู่กับเด็ก ๆ อธิบายให้เข้าใจถึงแผนการแล้วบอกพวกเขาว่า ให้ตัดสินใจจัดลำดับว่าใครจะออกก่อนหลัง ทีมหมูป่าตัดสินใจจัดลำดับของเขาเอง แล้วทีมทำงานทั้งหมด ก็ตามลำดับนั้น

(We told them what the plan was and to pick who was going first. They did all of that, it wasn't us. I don't know specfically if it was the coach, but collectively the team decided what order the boys would come out, not us. Then we just went for it.)

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการไปแนะนำกันก่อนหน้านี้ว่า ควรให้เด็กอยู่ในนั้นไป แล้วใช้วิธีส่งสเบียงอาหารกันไป จนหมดฤดูมรสุม คุณหมอแชลเลนบอกว่า ทีมประเมินกันแล้ว เป็นไปไม่ได้ คือหลังจากนี้ จะไม่สามารถดำกันเข้าไปถึงจุดที่เด็ก ๆ อยู่เพื่อให้เสบียงได้ แล้วเด็กก็จะเริ่มติดเชื้อแล้วมีปัญหาสุขภาพ จนเสียชีวิตได้ ยังไงก็ต้องเอาเด็กออกมา

เมื่อถูกถามถึงความยากของปฏิบัติการครั้งนี้ คุณหมอแชลเลนบอกว่า การกู้ภัยในถ้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการไปค้นหา นำศพออกมา การกู้ภัยที่เอาคนมีชีวิตออกมา งานใหญ่ที่แกนึกถึงคือที่เม็กซิโกของแสตนตัน ในปี 2004 (อันนี้ขอขยายความให้ค่ะ คือ ริค แสตนตัน ที่ดำน้ำร่วมกับจอห์น โวลันเธน สองคนที่ค้นหาทีมหมูป่าจนเจอ ประวัติก่อนหน้า สแตตันเคยไปช่วยคนบริติช 6 คน ที่ติดที่ถ้ำ Cuetzalan ที่เม็กซิโก เป็นกรณีคล้ายทีมหมูป่า คือติดอยู่นานสิบวัน จนทีมช่วยเหลือเข้าไปเจอ จากนั้นมีการสอนให้ใช้อุปกรณ์ดำน้ำ แล้วนำออกมาทีละคน สแตนตันได้เครื่องราชย์ MBE (Most Excellent Order of the British Empire) จากการปฏิบัติการในครั้งนู้น) แต่เมื่อเทียบกับกรณีถ้ำหลวงฯ คุณหมอแชลเลนบอกว่า มันมีความยากกว่าในกรณี ตรงที่ระยะทางที่ต้องดำยาวกว่า และคนที่ต้องนำออกมาคือเด็ก แล้วพูดภาษาที่ต่างกันด้วย แกบอกว่านี่เป็นครั้งแรกจริง ๆ ที่แกเจออะไรแบบนี้ และขอให้เป็นครั้งสุดท้าย หรือถ้ามีเกิดขึ้นอีกครั้ง ก็ขอให้ตอนนั้นแกเลิกดำน้ำในถ้ำไปแล้ว

คุณหมอแชลเลนเนี่ยดูแล้วมาแนวสายฮา กวน ๆ ผิดกับคุณหมอแฮร์ริสที่จะแนวร่าเริง พูดอะไรก็แนว nice ตลอด บางคำถามคุณหมอแชลเลน ตอบกวนมาก อาทิ ถามว่าดีใจไหม ที่ได้กลับถึงบ้าน แกบอกว่า รู้สึกว่า รู้งี้อยู่เมืองไทยต่อดีกว่า ถ้ารู้ว่ากลับมาเป็นจุดสนใจ แล้วเจอนักข่าวรุมล้อมไปหมดแบบนี้ หรือมีอีกคำถามที่ถามว่า จริงไหมที่จุดที่แคบที่สุดของถ้ำ กว้างเพียง 38 ซม. แกบอกว่า ไม่มีใครรู้หรอกว่ากว้างเท่าไรกันแน่ ก็เห็นว่ากัน 38 ซม. ก็ไม่รู้ใครเอาสายวัดไปวัด แต่ที่แน่ ๆ ทีมดำน้ำ ไม่มีใครพกสายวัดเข้าไป .... LOL

จะเห็นการแถลงข่าวของทางการไทย แทบไม่มีรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการอพยพเด็กในส่วนในของถ้ำ (จากเนินนมสาวถึงโถง 3) ต้องมาอาศัยอ่านแล้วประมวลผลเอง จากการสัมภาษณ์ของคนที่ทำงานอยู่ตรงนั้น ทีนี้ทาง BCRC ก็จะมีการแถลงข่าวที่เป็นลักษณะเป็นทางการ ไม่ลงรายละเอียดมาก ข้อมูลเยอะสุดตอนนี้คือที่คุณหมอแฮร์ริสเขียนในเฟซบุ๊ค แล้วเสริมด้วยบทสัมภาษณ์ของโวลันเธนกับ BBC Points West ตอนนี้ที่รอฟังคือของริค สแตนตัน ที่เป็นผู้นำหลักของการอพยพเอาเด็กออกจากถ้ำในครั้งนี้ ก็ไม่รู้เจ้าตัวจะมีการให้สัมภาษณ์แบบลงรายละเอียดหรือเปล่า เพราะสังเกตจากงานแถลงข่าวที่สนามบินฮีทโธรว์ เมื่อวันก่อน (https://goo.gl/nwiapj) จะเห็นว่าเป็นคนระวังตัวมากเรื่องการพูดให้สัมภาษณ์ ทั้ง ๆ ที่เป็นหนึ่งในคนที่รู้จริงที่สุดของงานนี้ จะเห็นว่า แทบทุกคนที่เกี่ยวข้อ จะอ้างชื่อ ริค แสตนตัน แม้แต่อีลอน มัสค์ กรณีเรื่อง mini-sub https://goo.gl/o7Cxup

แล้วขอสรุปเหมือนเดิมว่า จากข้อมูลที่แตละคนที่ทำงานจริงบริเวณส่วนในของถ้ำ ให้ออกมา จะยิ่งรู้สึกว่า มีแต่มืออาชีพจริง ๆ ที่ไปทำงานตรงนั้น รู้เรื่องจริง แล้วมีการคิด ตระเตรียม วางแผนกันมาดี และนี่คือสิ่งที่เรา ควรได้เรียนรู้ว่า ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่า จนรอดชีวิตกันออกมาได้เนี่ย ไม่มีความบังเอิญหรือปาฏิหาริย์ อาศัยความสามารถและสติปัญญาของทีมที่เข้าไปทำงานล้วน ๆ