วันพฤหัสบดี, เมษายน 26, 2561

อุ้มแจ๊คหม่า!!! “บิ๊กตู่-สมคิด” เปิดช่องปลดทุกล็อก-แจกบีโอไอเว้นภาษีเต็มพิกัด 13 ปี ทั้งขอผ่อนผันเรื่องกฎ “ถิ่นกำเนิดสินค้า” เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร


...


“แจ็กหม่า”เขย่าธุรกิจไทย อาลีเพย์รุกปลดล็อกไลเซนส์



AFP PHOTO / Lillian SUWANRUMPHA


22 April 2018
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

“แจ็ก หม่า” เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซยกทัพอาลีบาบาเขย่าธุรกิจไทยทุกมิติ “บิ๊กตู่-สมคิด” เปิดช่องปลดทุกล็อก-แจกบีโอไอเว้นภาษีเต็มพิกัด 13 ปี ทั้งขอผ่อนผันเรื่องกฎ “ถิ่นกำเนิดสินค้า” เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร ลงทุนศูนย์กระจายสินค้าใช้ไทยเป็นฐานส่ง “สินค้าจีน” บุก CLMV วงในเผยอาลีบาบาเจรจาขอเปิดทาง “อาลีเพย์” รับไลเซนส์ให้บริการทางการเงินในไทยโดยตรง เอกชนไทยแนะรัฐรับมือสินค้านำเข้า เปิดรับแพลตฟอร์มอื่นสร้างการแข่งขัน


ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายแจ็ก หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ภายใต้กรอบความร่วมมือ Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล 2) ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3) ความร่วมมือด้านการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และบุคลากรด้านดิจิทัล 4) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง


ไทยศูนย์กลาง CLMV-T

ดร.สมคิดเน้นย้ำว่า การสร้างความร่วมมือกับอาลีบาบาครั้งนี้จะช่วยไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้กับไทย แต่ยังเป็นประโยชน์กับเพื่อนบ้านในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งต่อไปจะมีการทำ “Master Plan CLMV-T” ซึ่งมีไทยเป็นศูนย์กลาง เป็นอีกก้าวของการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคเพื่อให้เกิดประโยชน์ หากเชื่อมต่อกับจีน ซึ่งกำลังมีนโยบายการสร้างเส้นทางการค้า “one belt one road” (OBOR) และต่อเชื่อมไปยังกลุ่มประเทศในแถบ ACMECs 5 ประเทศ จะทำให้เกิดประโยชน์มหาศาล

“แจ็ก หม่า” โปรยยาหอม

ขณะที่คีย์เวิร์ดสำคัญของ “แจ็ก หม่า” ระบุว่า อาลีบาบามั่นใจในนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมถึง EEC ของประเทศไทยมาก จึงได้ศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคและตัดสินใจที่จะลงทุนสร้างดิจิทัลฮับ (smart digital hub) ในพื้นที่อีอีซี ทั้งนี้ ดิจิทัลฮับที่จะสร้างขึ้นนี้ เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยง SMEs ไทย กลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงตลาดจีนและตลาดโลก ในลักษณะเดียวกับการพัฒนาหมู่บ้านในจีน “เถาเป่าวิลเลจ” เชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้จะทำให้คนไทยได้ประโยชน์ในการสร้างบิสซิเนสโมเดล

ตลอดช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา อาลีบาบาได้มีการส่งทีมงานมาทำงานร่วมกับไทย วางแผนว่า “ต้องลงทุนระยะยาว” มองถึงโอกาสในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีเพื่อให้ 80% ของธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถก้าวไปทำการตลาดค้าขายในระดับโลกให้ได้

“ตลาดจีนยังเปิดกว้างสำหรับการค้าที่จะเข้าไป โดยในอีก 5 ปีข้างหน้าจีนจะเปิดเสรีการค้าจะมีการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกมากขึ้น 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อจีนเปิดตลาดนั่นหมายถึงโอกาสของทั่วโลก โดยเฉพาะไทยซึ่งกำลังพัฒนาสู่ไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และเป็นโอกาสของเอเชีย การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะเป็นยุคของเอเชีย เพราะนโยบายของจีนจาก made in China แต่ต่อไปจะเป็น made in internet และในอนาคตมีแผนที่จะเปิดหลักสูตรจากสถาบันของจีนเพื่ออบรมเอสเอ็มอีในไทย ทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการสิทธิประโยชน์อื่นใดเพิ่มเติมจากที่ไทยให้ในอีอีซี”

เว้นภาษีอาลีบาบาสูงสุด 13 ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สิทธิประโยชน์การลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในกิจการโลจิสติกส์ 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอ จะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี และได้สิทธิลดหย่อนภาษี 50% ในปีที่ 9-13 หากมีการดำเนินการเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดด้านความร่วมมือ การวิจัยต่าง ๆ

ทั้งนี้ในกรณีของอาลีบาบาที่เข้ามาลงทุนตั้งศูนย์กระจายสินค้าในพื้นที่อีอีซี โดยมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด 13 ปี

ปลดล็อก “อาลีเพย์” รับไลเซนส์

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนการลงทุนศูนย์กระจายสินค้า 11,000 ล้านบาทในพื้นที่อีอีซี นั้นในส่วนของอาลีบาบายังได้มีการเจรจาเรื่องเกณฑ์ขึ้นต่ำในการผ่อนปรน (De Minimis) เรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำหนดสินค้า (rules of origin) เป็นเกณฑ์ที่อนุโลมให้วัสดุที่ไม่ผ่านตามเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากร ยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรได้ รวมถึงการเจรจาเรื่องสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลเปิดกว้างในการเจรจาสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนเป็นรายแรก ๆ

นอกจากนี้ อาลีบาบา กรุ๊ป ยังมีการเจรจาขอให้รัฐบาลสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการค้าออนไลน์ ผ่านระบบอาลีเพย์ (Alipay) ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าอาลีเพย์จะสามารถเข้ามาให้บริการในประเทศไทย แต่ยังเป็นการให้บริการผ่านความร่วมมือกับสถาบันการเงินของไทย ที่ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้นทางอาลีบาบาจึงต้องการที่จะให้อาลีเพย์เข้ามาเป็นผู้ให้บริการชำระเงินโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินของไทย รวมทั้งยังมีการข้อเสนออื่น ๆ จากอาลีบาบาเช่นเรื่องระเบียบเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลของภาครัฐด้วย

เขตปลอดอากร “อู่ตะเภา”

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การลงทุน smart digital hub ของอาลีบาบาในพื้นที่อีอีซี จะเป็นฮับกระจายสินค้าเมื่อมีผู้สั่งสินค้าในภูมิภาคนี้อย่างประเทศ CLMV สินค้าจะถูกส่งมารวมศูนย์และกระจายที่นี้ โดยจะดำเนินการภายใต้เขตปลอดอากรของกรมศุลกากร ส่วนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปเจรจากับบีโอไอ

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า พระราชบัญญัติศุลกากรฉบับปัจจุบัน ได้มีการกำหนดเรื่องเขตการค้าเสรี ( free trade zone) หากผู้ประกอบการนำสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเข้ามาในพื้นที่เขตปลอดอากร เพื่อการผลิต ผสม ประกอบ หรือนำสินค้ามาพักไว้เพื่อส่งออกก็ไม่ต้องเสียภาษี และไม่ต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้านำเข้ามาขายในประเทศก็เสียภาษีตามพิกัด

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรได้ลงนามความร่วมมือกับอาลีบาบา โดยจะมีการออกแบบระบบให้ซิงก์กัน และตรวจสอบควบคุมด้วยระบบ QR Code และควบคุมการขอส่งสินค้าด้วยระบบ e-Lock กล่าวคือเมื่ออาลีบาบานำสินค้าเข้ามากรมศุลฯจะทำ QR Code ติดที่ตัวสินค้า จากนั้นก็จะใช้ระบบ e-Lock ติดตามระหว่างการขนส่งจากสนามบินไปที่เขตปลอดอากรในอีอีซี

สำหรับเขตปลอดอากรที่ทางอาลีบาบาจะตั้งเป็น smart digital hub จะอยู่บริเวณใกล้ ๆ สนามบินอู่ตะเภา พร้อมกันนี้กรมศุลกากร กำลังจะยกระดับด่านศุลกากรมาบตาพุดขึ้นเป็น “กองมาบตาพุด” โดยจะมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมสนามบินอู่ตะเภา ทั้งการทำพิธีการศุลกากร การตรวจสินค้า รวมถึงคลังสินค้าต่าง ๆ และยกระดับด่านศุลกากรท่าเรือจุกเสม็ด เป็นกองท่าเรือจุกเสม็ดด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้เพื่อรองรับการดำเนินการด้านศุลกากรในพื้นที่ EEC

รัฐบาลควรเปิดโอกาสรายอื่น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลไทยกับอาลีบาบา ครั้งนี้น่าจะมีส่วนส่งเสริมทำภาพลักษณ์ของไทยดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะโครงการที่จะช่วยให้เอ็มอีไทยมีโอกาสที่จะขยายช่องทางการทำตลาดผ่านแพลตฟอร์มระดับโลก ซึ่งถือเป็นทางลัดในการทำธุรกิจ อย่างน้อยก็ช่วยผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยสามารถเข้าไปเปิดตลาดจีนได้มากขึ้น ขณะที่อาลีบาบาก็จะได้ประโยชน์ จากการเปิดประตูการค้าครั้งนี้ สร้างโอกาสขยายตลาดไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน CLMV เพิ่ม อย่างไรก็ตามไทยควรขยายความร่วมมือออกไปสู่พันธมิตรรายอื่นที่มีการสร้างแพลตฟอร์มลักษณะนี้ด้วย อาลีบาบาก็เป็นเจ้าใหญ่ในจีน แต่ถ้าในตะวันตกเค้ามีรายอื่นที่แข็งแรงก็ควรทำเพื่อสร้างการแข่งขัน

เรียกร้องปกป้องธุรกิจไทย

แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท.กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่ทราบเงื่อนไขที่อาลีบาบาขอรับสิทธิประโยชน์อะไรเพื่อแลกเปลี่ยนการให้ความช่วยเหลือไทยในครั้งนี้ แต่สิ่งสำคัญ คือ รัฐต้องปกป้อง ผลประโยชน์อุตสาหกรรมของประเทศให้ได้ ว่าหากร่วมมือแล้วในเรื่องฐานข้อมูล หรือ แพลตฟอร์มทั้งหลายประเทศไทยจะมีส่วนร่วมอย่างไร

ขณะเดียวกันการเปิดตลาดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สินค้าจีนจะเข้ามาในไทยด้วยเช่นกัน จุดนั้นต้องดูเรื่องกลไกการค้าระหว่างประเทศ และมาตรฐาน เพราะหลายสินค้าที่ไทยส่งไปจีนมีแวต หรือต้องเผชิญกับกฎระเบียบอื่น ๆ ก็ต้องดูว่าจะเจรจาอย่างไร ตอนนี้แค่เป็นการเปิดตลาดแต่เรื่องความยากง่ายในการทำธุรกิจต้องไม่เอาเปรียบกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะตามเกมทันหรือไม่ เพราะตอนนี้สินค้าจีนหลายรายการมีการพัฒนา และทะลักเข้ามาในไทย กลุ่มเหล็ก และกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่จีนพัฒนาไปเยอะมาก ๆ เป็นต้น

เรียกผู้ค้าออนไลน์ไทยหารือ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เปิดช่องทางการค้าออนไลน์ Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ Tmall.com ซึ่งมีลูกค้า 650 ล้านคนจากทั่วโลกแค่เพียง 2 วันแรกที่เริ่มเปิดตัวมีคำสั่งซื้อทุเรียน 60,722 คำสั่ง มูลค่า 60 ล้านบาท และมีคำสั่งซื้อข้าวอีก 10 คำสั่งซื้อ ไทยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวให้ได้อีก 1 เท่าตัวใน 1 ปี

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้จะเชิญผู้ประกอบการผู้ค้าออนไลน์/เจ้าของแพลตฟอร์มของไทยมาหารือถึงแนวทางการในการยกระดับแพลตฟอร์มไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ

MOU ขายข้าวอาลีบาบาติดล็อก


แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า แม้ว่าจะได้เปิดตลาดผ่านอาลีบาบา แต่หากไม่สามารถปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องการนำเข้า 4 เรื่องได้ก็ไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง กล่าวคือ โดยปกติการส่งออกข้าวไปจีนจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของจีน คือ 1) ผู้ส่งออกต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงาน AQSIQ ก่อน ซึ่งในปัจจุบันผู้ส่งออกที่ผ่านมาตรฐานเพียง 48 รายจากผู้ส่งออกทั้งหมด 200 ราย 2) สินค้าส่งออกต้องผ่านมาตรฐานตรวจสอบของบริษัท CCIC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของคอฟโกในไทย ต้องส่งออกให้ได้ถึง 500 ตัน จึงจะคุ้มค่าการตรวจสอบ 3) ผู้นำเข้าข้าวต้องมีการได้รับโควตานำเข้าจากคอฟโกเป็นรายปีไม่สามารถนำเข้าโดยเสรีได้ และ 4) สินค้าข้าวที่ขายในจีนต้องเสียภาษีนำเข้า 1% และเสีย VAT อีก 13% ก็ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ขณะที่ฝ่ายไทยไม่มีมาตรการดูแลสินค้าขาเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานเลย อีกทั้งสินค้าจีนยังมีความได้เปรียบเรื่องราคาถูกกว่าไทยด้วย หวังว่าจะศึกษาและให้ความสำคัญกับรายละเอียดใน MOU เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล


ooo