วันพุธ, มกราคม 17, 2561

“คืนนาฬิกาแล้ว ยังถือเป็นความผิด" เพราะครบองค์ประกอบทุจริต อย่าแถ ไม่งั้น "รังแต่จะเตรียมพังทั้งระบบได้เลย”

อ้า ทั่นรองฯ ลั่นแล้วว่า “พร้อมลาออก” ปมนาฬิกา ๒๔ เรือน ราคาเรือนละเหยียบล้าน รวมแล้วกว่า ๓๐ ล้าน ไม่เคยแจ้งทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับ ปปช.

อ้างเพื่อนให้ยืม แลกกันใส่ คืนไปหมดแล้ว “ให้ ปปช. เขาดำเนินการไป สอบไป ถ้าสอบแล้วว่าผิดผมก็ออก ไม่ต้องกลัวว่าเราจะไปแทรกแซง เพราะ ปปช. เป็นองค์กรใหญ่ เขามีตามขั้นตอน ให้ตรวจสอบให้เสร็จสิ้นก่อน

ก็องค์กรใหญ่เนี่ยเพี้ยนเยอะทีเดียว ตั้งแต่ทหารครองเมืองเป็นครั้งคราวจากการยึดอำนาจปี ๔๙ และครองยาวจะสี่ปียุค คสช. เตรียมต่ออีกอย่างน้อย ๑ สมัยหลังเลือกตั้ง

เช่นกัน หัวหน้าใหญ่พูดถึงพี่ใหญ่โดนกระสุนนาฬิกาตกว่า “ขอให้กลไกได้ดำเนินการตรวจสอบให้ชัดเจน ขอร้องว่าช่วงนี้อย่าใช้วาทะกรรมเหล่านี้มาสร้างประโยชน์ทางการเมือง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดดีๆ ไม่มีว้าก

เอ๊า วาทกรรมอะไร อ๋อ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเสนอให้พักงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้แล้ว

ประจวบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. เกาะกระแสติดมับ เสนอให้พักงานเหมือนกัน “เพื่อไม่ให้เป็นภาระของรัฐบาล” และตัวนายกฯ เองด้วย


ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้นขยับไปข้างหน้าหนึ่งขั้น “คนที่ควรพักงานไม่ใช่บิ๊กป้อม แต่คือ ปปช.ทั้งชุด” จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการพรรคไทยรักไทย ให้ความเห็นผ่านทวิตเตอร์ @chaturon

คสช.ว่าไง เดลินิวส์ออนไลน์เขาไปล้วงมาจาก แหล่งข่าวในกองบัญชาการได้เรื่องว่า ไม่มี้ไม่มี ที่นายทหารเล่นแชร์นาฬิกา สะสมแล้วแลกกันใส่ ยิ่งพี่ใหญ่นายรองยิ่งไม่ใช่เพราะป๋าเขาเล่นไม่เป็น


และไม่จำเป็นต้องลาออก “ถ้าคิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิด” แล้วเมื่อไหร่ล่ะจะคิดได้ซักที ว่าทำผิดตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก ยึดอำนาจรัฐบาลที่ประชาชนเขาเลือกมา

หนำซ้ำเดลินิวส์ยังโคว้ตแหล่งข่าวที่ไม่รู้ใคร จากในกองบรรณาธิการหรือเปล่าไม่แน่ใจ เพราะเฉไฉแถไถสับนักการเมืองเป็นชุด “การแสดงสปิริตของนักการเมืองไทย ไม่ค่อยได้เห็น จะเห็นแต่ในต่างประเทศ หวังว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จะแสดงให้เห็นกันได้บ้าง”

บร๊ะจ่าง มันเกี่ยวอะไรกัน พอตอบไม่ได้ไม่กระจ่าง ดันหันไปขวิดฝั่งตรงข้ามแทนเสียนี่ บอกว่า “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ควรที่จะมีสปิริตทางการเมือง” บ้าง


คนที่ควรควบคุมสถานการณ์เรื่องนี้ควรที่จะเป็น ปปช. แต่พอดีประธานเป็นบริวารเก่าผู้ต้องหา ก็เลย “ขออนุญาตไม่เปิดเผย” อืดยืดมาจนบัดนี้ พยายามเตะถ่วงกันรอยืดอายุครบเก้าปี ตามคำสั่งอำนาจมาตรา ๔๔ หักดิบรัฐธรรมนูญ

นี่ละจาตุรนต์เขาถึงบอกให้ยุบไปทั้งชุดนั่นเลย “กรรมการบางคนขาดคุณสมบัติ บางคนเข้าลักษณะต้องห้าม โดยเฉพาะประธาน ป.ป.ช.ขาดทั้งคุณสมบัติและเข้าลักษณะต้องห้ามด้วย จึงไม่สามารถเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญนี้ได้”

อดีต รมว.ศึกษาธิการชี้ให้เห็นทั้งจากบทบัญญัติมาตรา ๒๓๒ กำหนดคุณสมบัติของกรรมการ ปปช. และมาตรา ๒๑๖ ลักษณะต้องห้าม

“ถ้าเป็นข้าราชการประจำจะต้องเคยเป็นอธิบดีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี และถ้าเคยเป็นข้าราชการการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี”


แล้วอย่างประธาน ปปช. พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ นี่มีอะไร “ไม่ยอมแจ้งรายได้/ตำแหน่งกรรมการอย่างน้อยๆ ๒ บริษัทในบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อป.ป.ช. ขณะ (ได้) เป็นสนช.”

บัญชีทวิตเตอร์ @iamasiam14 ค้นมาให้ดูว่า “ประธานปปช. เคยดำรงตำแหน่งกรรมการ บมจ. (ธ.ค. 56 - ธ.ค. 58) ระหว่างยังรับราชการตำรวจและเป็นสนช. ไม่เคยแจ้งตำแหน่งดังกล่าวรวมทั้งค่าตอบแทนใน บ/ช.ทรัพย์สินที่ยื่นปปช.เลยทั้ง 3 ครั้ง (57-58-59)”

บริษัทมหาชนจำกัดเหล่านั้นคือ “บมจ.เคเอสเค ประกันภัย (ประเทศไทย) เดิมชื่อ คูเนีย ประกันภัย (2552 ?-58)” กับ “บมจ.MCS STEEL (2556-58)”


ทว่าประเด็นสำคัญนั้นมีอยู่ว่า การที่คนสำคัญระดับรองนายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจด้วยคำอ้างเขรอะๆอย่างเดิม คนละเรื่องว่า “เข้ามาเพื่อควบคุมสถานการณ์” กระทำผิดกฎหมายชัดเจน ชนิดที่เลขา ปปช. หน้าเป็นคนนี้เมื่อครั้งยังตำแหน่งรองฯ เคยออกมาสอนชาวบ้านว่า

“เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หากจะให้หรือรับของขวัญของฝากจากใครมีข้อควรระวัง เนื่องจากอาจเป็นการกระทำความผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์” นายวรวิทย์ สุขบุญ เมื่อปี่ ๕๙ อ้างมาตรา ๑๐๓ พรป. ป้องกันปราบปรามทุจริต ซึ่งบัญญัติว่า

“ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย” มิฉะนั้นจะเป็นความผิดตามมาตรา ๑๒๒ “ให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ลงลึกไปกับความหมายจริงจังของมาตรา ๑๐๓ จากความเห็นทางวิชาการและกฎหมายของ อจ.เอกชัย ไชยนุวัติ ว่ามีเจตนารมย์ “ป้องกัน ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐได้รับประโยชน์ นอกจากเงินภาษีประชาชนหรือเงินเดือน ในการทำหน้าที่และใช้อำนาจหน้าที่ ใช้ดุลยพินิจในอำนาจหน้าที่เพื่อให้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา”

แล้ว “ยืมและเวียนใส่นาฬิกาหรู นั่นผิด ม. ๑๐๓ ไหม ตอบได้ว่า ผิด เต็มเปา เพราะอะไร “เพราะว่านาฬิกาหรู (มูลค่าเกิน ๓,๐๐๐บาท) ราคาหลักแสนหลักล้านนั้น เจ้าหน้าที่รัฐท่านใช้เงินเดือนท่านซื้อไหม ถ้าไม่ใช่ การที่ท่านแลกกันใส่ ก็คือการได้รับประโยชน์อื่นใด

ก็คือ พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านว่าท่านก็ไม่ต้องเอาเงินเดือนท่านไปซื้อนั่นเอง เงินเดือนท่านก็เก็บไว้ นาฬิกาท่านก็ได้ใส่ฟรีๆ มีเปลี่ยนตลอดเวลา แม้แต่เมื่อโบ้ยว่า “คืนนาฬิกาแล้ว ยังถือเป็นความผิดไหม”

Ekachai chainuvati ตอบว่า ผิด เพราะ “ความผิดสำเร็จแล้ว ครบองค์ประกอบ เจ้าหน้าที่ได้รับประโยชน์อื่นใดตามมาตรา ๑๐๓ การคืนหรือเลิกรับประโยชน์ ไม่ได้ทำให้ความผิดสำเร็จนั่นไม่ผิดอีกต่อไป”
ก็ชัดแจ้งอย่างนั้น ถ้า คสช. และ ปปช. จะแถกันต่อไปอย่างไรอีก ก็รังแต่จะ “เตรียมพังทั้งระบบได้เลย” อย่างที่จาตุรนต์ว่า