วันเสาร์, มกราคม 20, 2561

จาตุรนต์พูดดี หน้าที่พรรคการเมืองต่อแต่นี้ ต้องมุ่งมั่นให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย

วีรนันท์ ว้อยซ์ทีวี ๒๑ @weeranan เขาชี้ว่า “ไทยจะก้าวสู่ 'สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์' ในปี ๒๕๖๔ หรืออีก ๓ ปีข้างหน้า และอีก ๑๓ ปีข้างหน้าจะกลายเป็น 'สังคมสูงวัยระดับสุดยอด'” มิน่า พวก คสช. สูงอายุถึงอยากอยู่ยาว

ที่สุด กรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายเลือกตั้ง ก็ผ่านมติเห็นชอบแก้ไขมาตรา ๒ ให้ยืดประกาศเลือกตั้งออกไปอีก ๙๐ วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้คาดกันว่าจะมีเลือกตั้งได้อย่างช้าที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๖๒

แม้นว่าความหวังเลือกตั้งในปลายปีนี้ยังมี ถ้าคิดคำนวณสาระตะ ตามอย่าง ธนาพล อิ๋วสกุล ที่บอกว่าในรัชกาลนี้ (ที่ ๑๐) การลงพระปรมาภิไธยกฎหมายมักใช้เวลาไม่ถึง ๙๐ วันตามบัญญัติรัฐธรรมนูญ

ร่าง รธน.ฉบับปัจจุบัน หัวหน้าคณะรัฐประหารทูลเกล้า ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ในหลวง ร.๑๐ ลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ รวมเวลาแล้ว ๔๙ วันเท่านั้น”

เช่นเดียวกับกฎหมายพรรคการเมืองซึ่ง “ทูลเกล้า ๑๔ กันยา ๒๕๖๐ ในหลวง ร.๑๐ ลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ รวมเวลา ๒๔ วัน” และคาดว่าที่เหลืออีกสองฉบับ คือ พรบ.เลือกตั้ง ส.ส. และแต่งตั้ง สว. จะเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

“การเลือกตั้งก็อาจจะเร็วว่า พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ก็ได้” ว่าไปแล้วจะเร็วหรือช้ากว่ากำหนดล่าสุด จากปากคอของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นกันยา ๖๑ หรือ กุมภา ๖๒ ยืดเข้ายืดออกภายในระยะเวลาสี่ซ้าห้าเดือน ไม่ต่างอะไรนัก
 
ข้อสำคัญอยู่ที่เวลานี้ประชาชนเรียกร้องต้องการเลือกตั้งมากขึ้นทุกวัน ถ้าจะดูจากผลสำรวจของกรุงเทพโพลเป็นเครื่องวัดอุณหภูมิ ที่บอกว่า ๗๐.๖ เปอร์เซ็นต์ต้องการให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง โดยที่คะแนนนิยมของประยุทธ์ หด เหลือ ๓๖ เปอร์เซ็นต์

ฉะนั้น ไม่ว่าลิ่วล้อ คสช. จะพยายามกีดกันบรรยากาศของการเตรียมเลือกตั้ง ที่ควรเต็มไปด้วยการแสดงความคิดความเห็น อันเป็นวิธีการหาเสียงที่ต้องตรงในครรลองของการเมืองแบบประชาธิปไตย

ไม่ใช่การยกขบวนลงพื้นที่บรรยายซ้ำซาก และให้หัวคะแนนท้องที่ (ข้าราชการทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง) เกณฑ์คนมาต้อนรับ สกัดและจับกุมพวกประท้วง

ดังที่ตำรวจเข้าสกัดกลุ่ม ‘people go’ เดินเพื่อมิตรภาพ ที่กำหนดจะพากันเดินจากธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปขอนแก่น “ตำรวจยื่นยันว่าไม่สามารถให้เดินได้ เนื่องจากมีความล่อแหลมต่อการชุมนุมทางการเมือง และช่วงนี้มีคำสั่ง คสช.” ห้ามอยู่ จนผู้ร่วมขบวนลงนั่งปักหลักอยู่หน้า มธ. รังสิต
สภาพการณ์ที่ คสช. ยื้อยุดอย่างถึงที่สุด ไม่ยอมคืนบ้านเมืองให้กับความรับผิดชอบของประชาชน หลังจากพิสูจน์เป็นประจักษ์แล้วว่าการยึดอำนาจครองเมืองมาสี่ปี มีแต่จะด้อยถอยลง สิ้นเปลือง และชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านป่วนปั่น

ดูเหมือนว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีและรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แกนนำพรรคเพื่อไทย จะกล่าวถึงสภาพเช่นนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ “สิ่งที่ประเทศต้องการไม่ใช่การปกครองด้วยระบบอะไรก็ได้ บ้านเมืองจะถอยหลังหรือไม่ก็ได้ ขอแค่มีความสงบเรียบร้อย เพราะความสงบอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงมาก...

ประเทศไทยต้องล้มลุกคลุกคลานไม่เดินหน้านั้น เป็นเพราะเรายังไม่มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เข้มแข็งพอ ส่งผลให้ประเทศต้องปกครองแบบ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ เพราะความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยไม่ได้รับการปลูกฝังให้มีความมั่นคง...

ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้มีวิเคราะห์มาโดยตลอดว่า ในแต่ละช่วงเวลา พล.อ.ประยุทธ์กับพวกกำลังจะทำอะไร...ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นพรรคการเมืองที่ยืนยันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พร้อมทำหน้าที่ไม่ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จะต้องทำหน้าที่ให้ดี เพราะบทบาทของพรรคการเมืองนับจากนี้ นอกจากการเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านแล้ว ยังต้องมีความมุ่งมั่นทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยให้ได้ นี่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของนักการเมือง

หลังจากนี้พรรคเพื่อไทยจะพูดชัดว่าไม่สนับสนุน ไม่ร่วมกับ คสช. เป็นรัฐบาล เชื่อว่าต่อไปเราจะประกาศอย่างชัดเจนว่าเราจะไม่ร่วมกับนายกฯ คนนอก ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

ถ้าผิดไปจากนี้ หมายความว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นการพังทลายของพรรค


พรรคอื่นๆ จะเดินเกมกันอย่างไรก็ตามแต่ หลักการที่นายจาตุรนต์ประกาศออกมาครั้งนี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับฝ่ายประชาชนที่ บอบช้ำ เจ็บแค้น และถูกย่ำยีตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าเขาจะสังกัดพรรคใด

ความสูญเสียบรรยากาศประชาธิปไตย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างลำเอียง เพียงพอแล้วสำหรับพลเมืองที่ถูกกระชากสิทธิส่วนบุคคล และเสรีภาพในการแสดงออก จะต้องบอกเลิกสารากับการเกี๊ยเซี้ยเสียที