วันอังคาร, ธันวาคม 12, 2560

อียูประกาศรื้อฟื้นสัมพันธ์ทางการเมืองทุกระดับกับรัฐบาลไทย




"ดูเหมือนอียูกำลังใช้แต้มต่อรองที่สำคัญ คือ การฟื้นฟูกระบวนการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าและการเมืองมาเป็นเงื่อนไขกดดันรัฐบาล คสช. จัดให้มีการเลือกตั้งตามที่สัญญาไว้ โดยจะต้องยุติการริดรอนสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่สำคัญแถลงการณ์นี้เป็นการย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับไทยจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติก็ต่อเมื่อไทยมีรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น"
สุณัย ผาสุข
ที่ปรึกษาประจำองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย


อียูประกาศรื้อฟื้นสัมพันธ์ทางการเมืองทุกระดับกับรัฐบาลไทย


ที่มา BBC Thai


คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) มีข้อสรุปในวันนี้ (11 ธ.ค.) ให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐบาลทหารของไทยในทุกระดับ จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้คำมั่นจะจัดการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากอียูระงับความร่วมมือทางการเมืองกับไทยเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว เพื่อประท้วงการทำรัฐประหารในปี 2557



ในแถลงการณ์อียูที่ออกมาในวันนี้ระบุว่า ความคืบหน้าทางด้านการเมืองของไทยในปีนี้ (2560) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้คำมั่นเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ย. 2561 นั้น ทำให้เป็นสิ่งที่ "เหมาะสม" ที่อียูจะกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองในทุกระดับกับรัฐบาลไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยปูทางไปสู่การเจรจาที่สำคัญเรื่องผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตลอดจนหนทางสู่ความเป็นประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี อียูยังคงย้ำข้อเรียกร้องให้ไทยเคารพสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน เสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัวกันซึ่งถูกปิดกั้นนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557

ทั้งนี้ อียูจะเริ่มดำเนินกระบวนการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะใช้โอกาสนี้หยิบยกประเด็นที่เป็นข้อเป็นห่วงของอียูมาเจรจากับทางการไทยต่อไป

นอกจากนี้ อียูยังจะพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเจรจาความตกลงการค้าเสรี ความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ กับรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สหภาพยุโรปยุติการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการและระงับการลงนามความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือไทย-ยุโรป เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 หลังเกิดรัฐประหาร


BBC THAI
เอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรฯ ระบุ มติอียูจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ในระดับปกติระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหราชอาณาจักร


ทางด้าน นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรฯ กล่าวกับ บีบีซีไทย ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี และสะท้อนถึงความสนใจที่อียูมีต่อประเทศไทย และพัฒนาการทางการเมืองในประเทศไทยที่ดำเนินไปในทางบวกในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

นายพิษณุกล่าวด้วยยว่ามติของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศอียูจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ในระดับปกติระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหราชอาณาจักร ซึ่งจะสะท้อนได้จากการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำต่อไปในอนาคต ที่จะมีผลเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายทั้งด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศที่มีอยู่ร่วมกันให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ขณะที่ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า มติของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศอียูสะท้อนให้เห็นว่า ผลประโยชน์ทางการค้าของสหภาพยุโรปอยู่เหนือกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเมืองในไทย

"ยุโรปก็ไม่ได้ต่างจากอเมริกา เรื่องผลประโยชน์ ไม่ได้เป็นกลุ่มประเทศที่เชิดชู ประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนมากมายนัก...เรื่องเขตการค้าเสรีที่ยุโรปจะทำกับไทยนั้น ฝั่งยุโรปได้เยอะกว่ามาก และได้ในระยะยาว ทั้งการค้าและการลงทุน การไม่ทำเสียหายกว่าการทำ ขณะที่การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า ไทยจะเสียในระยะยาว แทบไม่ได้อะไร ฉะนั้นไม่ว่าจะยังไง ยุโรปรอไม่ได้" น.ส.กรรณิการ์ กล่าวกับบีบีซีไทย


AFP
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้แถลงการณ์อียูเป็นการย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับไทยจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติก็ต่อเมื่อไทยมีรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น


ด้านนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า นี่เป็นปรากฏการณ์สำคัญเกี่ยวกับแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศต่อรัฐบาลทหารไทย

"ดูเหมือนอียูกำลังใช้แต้มต่อรองที่สำคัญ คือ การฟื้นฟูกระบวนการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าและการเมืองมาเป็นเงื่อนไขกดดันรัฐบาล คสช. จัดให้มีการเลือกตั้งตามที่สัญญาไว้ โดยจะต้องยุติการริดรอนสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่สำคัญแถลงการณ์นี้เป็นการย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับไทยจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติก็ต่อเมื่อไทยมีรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น" เขากล่าวกับ บีบีซีไทย