วันอังคาร, พฤศจิกายน 21, 2560

รายงาน "Freedom on the Net 2017" ชี้ 'ไทย' ไร้เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต




รายงาน "Freedom on the Net 2017" ชี้ 'ไทย' ไร้เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต


พฤศจิกายน 15, 2017
ที่มา Voice of America


องค์กร Freedom House เปิดเผยรายงานประจำปีว่าด้วย “เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต” ทั่วโลก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของประเทศต่างๆ ลดลงโดยเฉลี่ย เนื่องจากรัฐบาลควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต

รายงานประจำปีว่าด้วย “เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต” หรือ “Freedom on the Net 2017” จัดทำโดยองค์กร Freedom House ซึ่งเป็นองค์กรติดตามตรวจสอบเสรีภาพทางประชาธิปไตย และการแสดงความคิดเห็นของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

โดยในปีนี้ รายงานได้ครอบคลุมการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนใน 65 ประเทศ ระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 คิดเป็น 87% ของประชากรโลกที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และพบว่าราวครึ่งหนึ่งของประเทศที่ทำการสำรวจนั้น มีเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ตลดลง

ยูเครน อียิปต์ และตุรกี คือประเทศที่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตลดลงมากที่สุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่จีนยังคงเป็นประเทศที่ควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนมากที่สุด ผ่านระบบที่เรียกกันว่า “Great Firewall” หรือ กำแพงอินเทอร์เน็ตจีน ตามมาด้วย ซีเรีย และเอธิโอเปีย

สำหรับประเทศไทย รายงานชิ้นนี้จัดให้อยู่ในกลุ่ม “ไร้เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต” โดยได้คะแนน 67 คะแนนจาก 100 คะแนน (คะแนนยิ่งสูงหมายถึงว่ายิ่งมีเสรีภาพน้อย) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ จีน รัสเซีย อิหร่าน ซาอุฯ เมียนม่า และ เวียดนาม

ส่วนกลุ่มที่ถูกจัดว่ามี “เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต” ในระดับสูง คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ แคนาดา ฟิลิปปินส์ และประเทศในแถบยุโรปตะวันตก

ขณะที่เพื่อนบ้านในอาเซียน คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ อยู่ในกลุ่ม “มีเสรีภาพบางส่วน”




Freedom on the Internet 2017


คุณซานจา เคลลี ผอ.โครงการ Freedom on the Net ของ Freedom House กล่าวว่า เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตที่ลดลง สอดคล้องกับปริมาณการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ในขณะที่ผู้คนต่างหันหาอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปทางประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชน

คุณซานจา เคลลี ยังกล่าวด้วยว่า หนึ่งในเหตุผลที่เราเห็นการควบคุมทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้นในประเทศต่างๆ เป็นเพราะผู้มีอำนาจในประเทศเหล่านั้นค้นพบถึงพลังของอินเทอร์เน็ตในทางการเมือง และพยายามหาวิธียับยั้งพลังที่ว่านั้น ตัวอย่างเช่น บรรดาผู้นำในอาฟริกา ที่เริ่มหันมาใช้วิธีควบคุมทางอินเทอร์เน็ตในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลังจากประชากรอาฟริกันที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 20-30%

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า วิธีหนึ่งที่รัฐบาลประเทศต่างๆ นำมาใช้ คือการปิดกั้นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งรายงานบอกว่ามี 18 ประเทศ จาก 65 ประเทศ ที่ใช้วิธีนี้

อีกวิธีหนึ่งคือการสนับสนุนสำนักข่าวที่นำเสนอข่าวปลอม หรือข่าวที่บิดเบือน ซึ่งรายงานระบุว่ามีรัฐบาล 30 ประเทศที่ใช้วิธีนี้

รายงาน “Freedom on the Net 2017” ยังบอกด้วยว่า การควบคุมอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มุ่งไปที่เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประชากรและชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่หนาแน่น

นอกจากนี้ ผู้จัดทำรายงานยังบอกด้วยว่า รัฐบาล 30 ประเทศได้ใช้กำลังในการปราบปรามการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวน 20 ประเทศเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งวิธีใช้กำลังปราบปรามนี้เป็นมาตรการที่รัฐบาลรัสเซียและจีนเริ่มนำมาใช้เมื่อหลายปีก่อน และได้แพร่เข้าไปในหลายประเทศในปัจจุบัน

หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.freedomhouse.org


(ผู้สื่อข่าว Michelle Quinn รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)