วันศุกร์, พฤศจิกายน 24, 2560

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่มาจากแหล่ง ‘คาดไม่ถึง’

บอกตรงเลยว่าเรื่องนี้ได้มาจากแหล่งที่ คาดไม่ถึงทั้งต้องยอมรับในการ ‘underestimated’ ชุมชนแห่งนั้นของพวกนักปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ที่เขาพูดกันถึง “ความยุติธรรมที่ล่าช้า” “บทเรียนราคาแพง” และ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม”
เรื่องมีว่าเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายนนี่เอง ศาลจังหวัดระนองพิพากษา “จำคุก พ.ต.อ.รณพงษ์ ทรายแก้ว และ พ.ต.อ.อนุชน ชามาตย์ ๑๕ ปี กรณีทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาบีบบังคับให้รับสารภาพ” และมีคำสั่งออกหมายจับผู้ต้องคำพิพากษาทั้งสองซึ่งหลบลี้ไม่ยอมมาฟังคดีด้วย
คดีดังกล่าวมีครอบครัวของนายวิโรจน์ สุวรรณี นายวินัย ขุนแผ้ว และ นายกรีฑา ยกย่อง เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว รองผู้บัญชาการกองกฎหมายและคดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยอดีตทีมสืบสวนตำรวจภูธรภาค ๘ รวม ๑๔ คน
“ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อร่างกายและความผิดต่อเสรีภาพ” นั่นก็คือฝ่ายตำรวจได้กระทำการข่มขู่ บีบคั้นและทำร้ายจนกระทั่งนายวิโรจน์จำยอมสารภาพว่า บงการสังหารนายเกษม คงตุก สมาชิก อบต. บางริ้น เมื่อปี ๒๕๔๕
นายวิโรจน์จึงติดคุกมาจนกระทั่งบัดนี้ แม้ญาติพี่น้องร่วมกันฟ้องและต่อสู้คดีมา ๑๕ ปี จนชนะความแล้วก็ตาม “ทางครอบครัวจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากระบบยุติธรรม (ให้ได้รับอิสรภาพออกจากคุกบางขวาง) ในลำดับต่อไป”

แม้นั่นจะเป็นปัญหาความเสื่อมเสียในกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่ใช่คดีการเมืองที่มีมากหลายยิ่งกว่า แต่ปรากฏออกมาสู่สาธารณะในระยะที่ผู้ครองอำนาจน่าจะถึงจุดสูงสุดประดุจตะไลเสียดฟ้าแล้วนั้น
ก็ยังเป็นนิมิตหมายให้เห็นว่าการแบ่งแยกแตกขั้ว และความยุติธรรมเลือกสีตลอดเกือบทศวรรษที่ผ่านมา อันเป็นผลให้เกิดลัทธิ ชังชาติ-ชั่วขึ้นในบางภาคส่วนของสังคมไทย อาจจะกำลังผ่อนคลายลง
เห็นได้จากอีกเรื่องที่ ภควดี วีระภาสพงษ์ นักแปล นักกิจกรรมสิทธิชื่อดังถึงกับร้อง “โอ๊ย ไทยโพสต์ค่ะไทยโพสต์ อ่านชื่อหัวไม่ผิดนะ” ผู้ให้ลายแทงเรื่องนี้อาจ คาดหมายได้แต่เรื่องราวนั้นเข้าข่าย คาดไม่ถึง เหมือนกัน
เธอโคว้ตบทความจาก ไทยโพสต์(You know นะ) หนังสือพิมพ์ของ โรจน์ งามแม้น คนที่แค้นฝังหุ่นทักษิณ ชินวัตร แล้วเลยกระโดดข้ามไป Dark side ฝ่าย ท.ทหาร ยืนยงน่ะ
 
ขณะเดียวกัน ยังมีหลายกรณีที่อยู่ในความสนใจของนานาชาติ เช่นกรณีของไผ่ ดาวดิน ซึ่งล่าสุดมีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานถึงการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างที่ถูกกักขังอยู่ที่ทัณฑสถานฯ ขอนแก่น
มันเป็นส่วนหนึ่งของบทความเกี่ยวกับ “กองทัพสวนทางสิทธิมนุษยชน” ที่พูดถึง วาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาล คสช. ยกเอา สิทธิมนุษยชน เป็นที่ตั้ง ทั้งที่เครือข่ายสิทธิมนุษยชนหลายแหล่งไม่ค่อยจะเชื่อน้ำยาพวกทหารกันเท่าไรนัก
สุณัย ผาสุข ตัวแทนฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ประจำไทยบอกกับ ประชาไท ว่า แค่คณะยึดอำนาจพยายามที่จะขัดเกลาภาพพจน์ของตนให้ดูดี (ในสายตานานาชาติ) เท่านั้น เพื่อที่บางทีจะทำให้การเลือกตั้งที่ว่าจะมาถึง เสมือนจริง ยิ่งขึ้น
ขณะที่ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟอรั่มเอเชีย (Forum Asia) องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติอีกหน่วยเห็นว่า “ต่อให้รัฐบาลประกาศวาระแห่งชาติ หากยังมีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารก็ไม่ได้ก่อผลดีขึ้นมา”
อีกประเด็นที่พิมพ์สิริชี้ว่าจะไม่ทำให้วาระแห่งชาติเรื่องสิทธิมนุษยชนของ คสช. ดูดีได้มากนักตรงที่ “การพยายามเข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชน” โดยรัฐบาลทหารใช้วิธีการออกกฎหมายแก้ไขวิธีการสรรหากรรมการสิทธิฯ
แต่กลับเขียนกำหนดหน้าที่กรรมการฯ ให้มีลักษณะไปในทางช่วยเหลือรัฐบาลชี้แจง “ประเด็นที่อาจถูกเข้าใจผิด” ในเวทีนานาชาติเสียนี่ พิมพ์สิริติว่ามัน “ย้อนแย้งกับหลักการการดำเนินงานอิสระของกรรมการสิทธิมนุษยชน”

เห็นภาพกันแล้วว่า สิทธิมนุษยชน ในวาทกรรมของ คสช. กับของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแท้จริงนั้นต่างกันอย่างไร ลองกลับไปดูบทความไทยโพสต์อย่างลงลึกกันใหม่
ไทยโพสต์พูดถึงการที่ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ต้องหาขัดคำสั่ง คสช. ร่วมกับเพื่อนนักกิจกรรมประท้วงและแสดงสัญญลักษณ์ต่อต้านคณะรัฐประหารหลายคดี ตามประมวลความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖
รวมทั้งถูกยัดข้อหา ๑๑๒ โดย เสธ.พี้ช ผู้ยิ่งใหญ่ (ปิดถนนจัดงานแต่งเมีย) ฐานที่แชร์บทความของบีบีซีไทย เกี่ยวกับพระราชประวัติในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ทั้งที่บีบีซีไทยเอง และคนที่แชร์บทความอีก ๒ พันคนไม่โดนข้อหานี้
ตามที่มีข่าวว่าไผ่ถูกผู้คุมเรือนจำภูเขียวตบหัวหนักๆ ๓ ครั้ง ตอนที่เขาถูกย้ายจากเรือนจำขอนแก่นไปเพื่อฟังการพิจารณาคดีประท้วง คสช. มิหนำซ้ำตอนเข้าเรือนจำภูเขียวไผ่ถูกตรวจช่องทวารหนัก ถูกชักอวัยวะเพศขึ้นลง ๕ ครั้ง
นัยว่าเป็นการตรวจยาเสพติดเฉกเช่นผู้ต้องหาอาชญากรรมหนักและผู้ติดยาเสพติด ทั้งที่ “เขาก็ถูกย้ายมาจากอีกเรือนจำหนึ่ง ไม่ใช่ผู้ต้องขังที่เข้าเรือนจำใหม่” ทำไมต้องทำการตรวจยาเสพติดอีก “ในเมื่อเขาก็ถูกขังอยู่ในเรือนจำตลอดเวลา”
ไทยโพสต์กล่าวถึงเรื่องกรณีไผ่ว่าเป็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างที่กักขัง” แล้วยังเอ่ยถึงการตายของนักเรียนเตรียมทหารซึ่งยังเป็นข่าวอื้อฉาวในขณะนี้ว่า “ฉายภาพของผู้มีอำนาจ ที่สวนทางกับการพยายามเดินไปข้างหน้าในกระบวนการสิทธิมนุษยชนของประเทศ”
กับโวหารท่อนฮุกของไทยโพสต์เรื่อง “ยังมีบรรยากาศการใช้อำนาจเกินขอบเขตและไร้การตรวจสอบได้ ปกคลุมอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะหน่วยงานอย่างกองทัพ” ทำให้ต้อง “หันหลังกลับไปดำเนินการควบคู่กับการเริ่มต้นปฏิรูปกองทัพอย่างเร่งด่วน”

บอกตรงอีกเช่นกันว่า เนื้อหาที่ยกมาเหล่านั้นเคยเห็นนานพอควรบ้างแล้วจากสื่อ ผู้จัดการ แต่เพิ่งเห็นที่ ไทยโพสต์ นี่ครั้งแรก และไม่ได้มุ่งหวังเลยแม้แต่นิด ไม่ว่าจะเป็นระยะอันใกล้หรือไกล ที่จะได้เห็นจาก ทีนิวส์ หรือแม้แต่ สปริงนิวส์
การเปลี่ยนแปลงของสองแหล่งหลัง (ซึ่งแนบสนิทกับ คสช.) ไปหาทางสว่างนั้น ไม่มีความจำเป็นและไม่พึงประสงค์ เพราะรังแต่จะเป็นการตบตาแบบเดียวกับวาระแห่งชาติเรื่องสิทธิมนุษยชน การคงอยู่ของทั้งสองช่วยให้ทั่วโลกเห็นกระจ่าง ว่า ‘Dark side’ ประเทศไทยนั้นเป็นเช่นไร