วันจันทร์, ตุลาคม 23, 2560

ความไม่แน่นอนของโรดแม็ปเลือกตั้ง "เลือกตั้งพย.61 สัญญาณ ‘แกว่งแระ’"





เลือกตั้งพย.61 สัญญาณ‘แกว่ง’


22 ตุลาคม 2560
ที่มา ข่าวสดออนไลน์


บรรยากาศการเมือง ‘นิ่ง’ ได้ไม่นาน หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. บินไปเยือนทำเนียบขาว สหรัฐ ประกาศต่อหน้าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้คำมั่นโรดแม็ปของไทยที่จะร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

นำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2561

ต่อเนื่องเมื่อเดินทางกลับถึงเมืองไทย พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ประกาศ “ปฏิญญาทำเนียบรัฐบาล” สร้างความชัดเจนขึ้นมาอีกระดับว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

คำประกาศของนายกฯ ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นทางการเมืองขยับพุ่งขึ้นสูง เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวทะลุ 1,700 จุด สร้างสถิติใหม่ในรอบกว่า 20 ปี

ทุกอย่างเกิดประกายสดใสขึ้นทันตา

ขณะที่บรรดาพรรคการเมือง ถึงจะยังอึดอัดคับใจกับเรื่องที่คสช.ยัง ไม่ยอม “ปลดล็อก” คำสั่งห้ามเคลื่อนไหวทำกิจกรรม ทั้งที่พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว

แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงพระราชพิธีสำคัญ

ทำให้นักการเมืองพร้อมใจสงบเสงี่ยม ไม่ออกมาเรียกร้องอะไรที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งโต้เถียงในเวลานี้ อย่างน้อยต้องรอให้ผ่านพ้นเดือนตุลาคมไปก่อน ถึงเดือนพฤศจิกายนค่อยมาสะสางกันอีกทีว่าคสช.จะปลดล็อกได้เมื่อไหร่ อย่างไร

ในส่วนของสายพานการผลิตร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก ที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นเครื่องยนต์กลไกหลัก

ในตอนแรกดูเหมือนจะออกมาขานรับปฏิญญาทำเนียบรัฐบาล ยืนยันว่ากระบวนการออกกฎหมายลูก โดยเฉพาะ 2 ฉบับสุดท้ายในหมวดการเลือกตั้ง ได้แก่ ร่างกฎหมายการได้มาซึ่งส.ว. กับร่างกฎหมายการเลือกตั้งส.ส. คาดว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกขั้นตอนในเดือนมิถุนายน 2561

หรือต่อให้ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมกันขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขเนื้อหา หรือส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ แต่ถึงที่สุดแล้วโรดแม็ปเลือกตั้ง ก็จะไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ให้คำมั่นสัญญาไว้

แต่แล้วทุกอย่างก็ “นิ่ง” ได้ไม่นาน ก็เริ่มมีสัญญาณ “แกว่งตัว” ถูกส่งออกมา

“ก็สมมติกันไปเรื่อง ถ้าสมมติ กกต.ตกเครื่องบินตายทั้งหมด แบบนี้การเลือกตั้งก็ต้อง เลื่อนออกไปใช่หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่เดากันไป” นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ระเบิดศึกวิวาทะตอบโต้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการ เลือกตั้ง(กกต.)

สืบเนื่องจากฝ่ายหลังประเมินว่า ปฏิญญาทำเนียบรัฐบาลอาจไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ เพราะหากมีการ “คว่ำ” ร่างกฎหมายลูกแค่ 1 ฉบับ โรดแม็ปเลือกตั้งก็ต้อง “ขยับเลื่อน”ออกไปจากเดือนพฤศจิกายน 2561

สำหรับนายสมชัย ถึงจะไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่ นักเลือกตั้ง แต่ก็มีประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับการเลือกตั้งมาค่อนข้างยาวนาน ตั้งแต่สมัยอยู่กับมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต) ก่อนมาเป็น 1 ใน 5 เสือกกต.

การออกมา “ดักคอ” เรื่องคว่ำกฎหมายลูก ถึงจะเป็นการ”มโน” ล่วงหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้

ยังไม่นับถึงขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการร่วม สนช.-กรธ. หรือการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ทุกช่องทางมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นทั้งสิ้น

เหมือนที่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช.สายนกหวีด คนแรกๆ ที่กล่าวถึงการพิจารณาร่างกฎหมายลูกของสนช.ว่า ขณะนี้เหลือกฎหมายลูกหลักๆ อยู่ 2 ฉบับ คือ การได้มาซึ่งส.ว. และการเลือกตั้งส.ส.

ส่วนตัวนายวัลลภ ไม่ห่วงร่างกฎหมายการได้มาซึ่งส.ว. เพราะคิดว่าไม่น่ามีปัญหาในกระบวนการได้มา

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วย เลือกตั้งส.ส. ที่คาดว่านักการเมืองจะจับตามองและรุมท้วงติงอย่างหนัก และที่ห่วงว่าจะ เป็น “ตัวแปร” ก็คือ การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ ว่ามีเนื้อหาส่วนใด ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

หากเป็นเช่นนั้น กรธ.จะต้องไปแก้ไขส่วนที่เป็นปัญหา ถึงแม้จะไม่ต้องนำกลับไปแก้ไขทั้งฉบับ แต่ก็อาจทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ทันตามโรดแม็ปในเดือนพฤศจิกายน 2561

“การเลือกตั้งอาจเลื่อนไปบ้างเล็กน้อย ไม่เกิน 1-2 เดือน อย่างช้าน่าจะเลือกตั้งได้ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2562” สนช.สายนกหวีด ระบุ

การออกมาเปิดประเด็นของนายวัลลภ ได้รับสำทับโดย “พี่ใหญ่แห่งคสช.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ว่า การพิจารณากฎหมายลูกในชั้นของสนช.นั้น ข้อบังคับรัฐธรรมนูญว่าอย่างไร ก็ต้องว่าตามนั้น

หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้าศาลพิจารณาช้าก็ต้องช้าเป็นธรรมดา

ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันจะมีการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 นั้น เป็นกรณีที่ไม่มีอุปสรรค แต่ถ้ามีอุปสรรคก็คงต้องยืดไปตามห้วงเวลา

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมอุปสรรค หากสนช.กับกรธ.มีความเห็นต่างในกฎหมายลูก จนต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณาปรับปรุงเนื้อหา หรือแม้กระทั่งว่า

หากตั้งกรรมาธิการร่วมแก้ไขแล้วสนช.ไม่เห็นด้วย ก็สามารถใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่

โหวต “ตีตก” ร่างกฎหมายดังกล่าวได้

น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษก วิปสนช. กล่าวว่า ขณะนี้มีร่างกฎหมายลูกอยู่ในชั้นของกรธ.จำนวน 3 ฉบับ คือ

ร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต ซึ่งคาดว่า จะส่งให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ได้หลังงานพระราชพิธีสำคัญ หรือวันที่ 31 ตุลาคมนี้

ส่วนร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะยังคงกำหนดเดิมคือวันที่ 21 พฤศจิกายน และร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งถือเป็น “ฉบับสุดท้าย” กรธ.จะส่งให้สนช.ในวันที่ 28 พฤศจิกายน

ซึ่งร่างกฎหมายแต่ละฉบับ สนช.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับร่างจากกรธ.

มีการประมาณการไว้ว่า หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งถือเป็นฉบับสุดท้ายจากทั้งสิ้น 10 ฉบับจริง

ก็น่าจะเป็นไปตามที่สนช.บางคนแสดงความเป็นห่วง พร้อมชี้ให้เห็นถึง “อุปสรรค” บางประการที่อาจทำให้โรดแม็ปเลือกตั้ง ต้องขยับเลื่อนจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

แต่นั่นยังไม่น่าหวาดหวั่น เท่ากับการ “ตีตก” ร่างกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่ง เหมือนที่นายสมชัย กกต.ออกมาตั้งข้อ “สมมติ” ไว้

เนื่องจากความร้ายแรงของการตีตกร่างกฎหมายทั้งฉบับ หมายความว่าทุกอย่างต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าต้องกินเวลาอีกเท่าไหร่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดขั้นตอนตรงนี้เอาไว้

สรุปได้ตอนนี้ก็คือ ความแน่นอนของโรดแม็ปเลือกตั้ง ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไว้เป็นปฏิญญาทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบสูงสุดของผู้นำประเทศ

ถึงวันนี้ก็ยังคง “ไม่แน่นอน” ต่อไป