วันอังคาร, สิงหาคม 29, 2560

อัครา รีซอร์สเซส เผย! ปมขัดแย้งที่แท้จริง ต้นเหตุระงับกิจการเหมืองทองคำ มาจากการเสนอขายที่ดินของคนบางกลุ่ม ไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ยืนยันตัวเลขฟ้องรัฐบาลไทย...





อัคราฯ เผย! ปมปิดเหมืองทอง ไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อม 


by กองบรรณาธิการ ข่าวเศรษฐกิจ
29 สิงหาคม 2560 
Voice TV


อัครา รีซอร์สเซส เผย! ปมขัดแย้งที่แท้จริง ต้นเหตุระงับกิจการเหมืองทองคำ มาจากการเสนอขายที่ดินของคนบางกลุ่ม ไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ยืนยันตัวเลขฟ้องรัฐบาลไทย ชดเชยค่าเสียหาย 30,000 ล้านบาท ไม่ได้มาจากบริษัท และไม่ได้กำหนดกรอบเวลาการเจรจา ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

กว่า 8 เดือน ที่เหมืองทองชาตรี ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ทั้งพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ไร้พนักงานเข้า-ออกทำงาน มีเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลพื้นที่อย่างเข้มงวด หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 สั่งยุติการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการขอต่ออายุประทานบัตรทั่วประเทศ ด้วยเหตุผลมีปัญหาการร้องเรียนและข้อขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ และ คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ส่งผลให้ต้องยุติการทำเหมือง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส กล่าวว่า การสั่งระงับดำเนินกิจการเหมืองทองอัครา เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงที่ดีพอ โดยปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เป็นเพียงข้ออ้างจากคนบางกลุ่ม ซึ่งคนในพื้นที่ถูกทำให้เชื่อจากคนภายนอกว่า ตัวเองเจ็บป่วย ด้วยการมีสารพิษในร่างกาย

แต่สาเหตุความขัดแย้งที่แท้จริง เป็นเรื่องปัญหาที่ดิน หลังมีบางกลุ่มพยายามเสนอขายที่ดินให้บริษัทในราคาสูงกว่าราคาประเมิน แต่บริษัทไม่สามารถรับซื้อไว้ได้ จึงมีการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองทองคำ

ยังไม่ยื่นอนุญาโตตุลาการ รอผลเจรจารัฐบาลไทย


พร้อมกันนี้ บริษัท อัคราฯ ยืนยัน แม้ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ยังพร้อมทำงานร่วมกับคณะกรรมการฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งขึ้น โดยพยายามรักษาบรรยากาศของการเจรจา แม้บริษัทจะมีสิทธิตามข้อตกลงการค้าไทย-ออสเตรเลีย แต่ไม่ได้เร่งรัดการเจรจา และไม่ได้กำหนดกรอบการเจรจา ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ส่วนตัวเลขค่าชดเชย 30,000 ล้านบาท ไม่ได้เป็นการฟ้องร้องจากบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาล แต่อาจเป็นตัวเลขจากฝ่ายอื่น นำรายได้มาประเมินเอง

ทั้งนี้ หลังจากบริษัทยื่นหนังสือแจ้งรัฐบาลว่าได้ละเมิดข้อตกลง แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้ดำเนินการยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการ เพราะอยู่ระหว่างการเจรจา แต่หากไม่มีความคืบหน้า ก็จะเดินหน้าฟ้องร้อง อย่างแน่นอน

สำหรับข้อเรียกร้องของบริษัท มี 2 ประเด็นหลัก คือ ให้เหมืองทองกลับมาดำเนินกิจการต่อโดยเร็วที่สุด และให้รัฐมีหลักประกันในการดำเนินการ เพราะที่ผ่านมา บริษัทได้รับความเสียหายมหาศาล จากคำสั่งปิดเหมืองแล้วถึง 2 ครั้ง ในปี 2558 และปี 2559

คาดใช้เวลากว่า 1 ปี ฟื้นพื้นที่ ก่อนกลับมาผลิตทองคำ

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่ได้รับการแจ้งจากบริษัทแม่ คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด หรือรัฐบาล เกี่ยวกับการอนุญาตให้เปิดเหมืองทองตามที่สำนักข่าวต่างชาติระบุ แต่หากมีการอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้ต่อคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวนมาก และใช้เวลาเตรียมตัวจัดหาเครื่องจักร คนงาน และรื้อฟื้นพื้นที่รวมกว่า 1 ปี ถึงจะกลับมาผลิตทองคำและมีรายได้ตามปกติ ขณะเดียวกัน บริษัทได้เก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินและบนดิน มาวิเคราะห์ทุก 3 เดือน

ทั้งนี้ ตลอด 8 เดือน ที่บริษัทไม่ได้ประกอบกิจการ ทำให้บริษัทไม่มีรายได้ จากที่เคยมีรายได้เฉลี่ยปีละ 5,000 – 6,000 ล้านบาท อีกทั้งได้ทยอยเลิกจ้างคนงานเป็นระยะ โดยจ่ายชดเชยครบถ้วนตามกฎหมายแรงงาน เฉพาะเงินชดเชยเป็นเงินกว่า 130 ล้านบาท จากพนักงานที่เลิกจ้างกว่า 1,000 คน ร้อยละ 80 เป็นคนในพื้นที่ 3 ตำบลโดยรอบเหมือง พนักงานได้รับความเดือดร้อน ตกงาน ต้องย้ายถิ่นฐานไปหางานใหม่ ความเดือดร้อนนี้ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวพนักงาน รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กในพื้นที่โดยรอบ เช่น ร้านอาหาร โรงซ่อม โรงกลึง บางแห่งต้องปิดกิจการ เพราะไม่มีลูกค้า

อัคราฯ จ่ายค่าภาคหลวงส่งให้รัฐกว่า 4,300 ล้านบาท

ที่ผ่านมา เหมืองทองอัครา ผลิตทองคำได้ 120,000 ออนซ์ต่อปี และผลิตเงินได้ 5 แสนออนซ์ต่อปี จ่ายค่าภาคหลวงให้รัฐไปแล้วกว่า 4,300 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 500 ล้านบาท ส่วนปริมาณสำรองทองคำในเหมืองที่สำรวจแล้วมี 80 ตัน ขุดขึ้นมาผลิตแล้ว 50 ตัน เหลือปริมาณสำรอง 30 ตัน ขณะที่เงินมีปริมาณสำรองคิดเป็น 5 เท่าตัวของทองคำ

พร้อมเปิดเผยว่า ช่วงแรกที่มีคำสั่งระงับดำเนินกิจการ มีหลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ ทั้งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานท้องถิ่น ว่าหยุดกิจการจริงหรือไม่ หยุดตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2559 โดยมีการตรวจสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาโดยตลอด

สำหรับกรณีจะมีการนำพื้นที่เหมืองอัคราฯ ไปให้เอกชนรายอื่นนั้น นายเชิดศักดิ์ ระบุ มีความเป็นไปได้ยาก เพราะการเข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่ต้องใช้เวลาในการสำรวจ แต่ยอมรับช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา มีความพยายามจากบริษัทน้ำมันรายหนึ่งในประเทศ เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท คิงส์เกต ที่ตลาดออสเตรเลีย