วันพุธ, สิงหาคม 16, 2560

จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ทำให้ไผ่ ดาวดินจำต้องตัดสินใจยอมรับสารภาพก่อนการตัดสินคดี

การตัดสินจำคุกไผ่ ดาวดิน สองปีครึ่ง ในคดีนำบทความของบีบีซีไทยเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ ไปแชร์บนเฟชบุ๊ค สำหรับหลายคนอาจคิดว่า เหนือกว่าการคาดหมาย

อันมิใช่ในแง่ของการยอมสารภาพ หากแต่เป็นการลดหย่อนผ่อนโทษ ทั้งที่ไผ่ยังมีคดีขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ ๓ อีกหลายคดี ที่ศาลสามารถบวกโทษจำให้เขาอีกเป็นสิบๆ ปีได้ เช่นกัน

แต่ก็ทำให้อีกหลายคนเชื่อว่านี่เป็นการสร้างแบบบท หรือ precedent ให้กับการดำเนินคดี ๑๑๒ ต่อไปข้างหน้า ว่าจะหนักหน่วงมากยิ่งขึ้นสำหรับรัชกาลใหม่

โดยทั่วไปในสากลโลก ใครๆ ก็มองว่าการคุมขังนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นเวลา ๘ เดือน ก่อนจะมีการพิจารณาคดีลับนั้น เป็นการกดดันผู้ต้องหาให้ยอมรับสารภาพ ขณะที่ความตั้งใจของไผ่ในเบื้องต้น “หวังจะสู้คดีในศาลอย่างเปิดเผย เพื่อให้สังคมได้รับรู้”

จากกการเปิดเผยของนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แจ้งว่าเหตุที่ไผ่ยืนหยัดสู้คดีมาจนกระทั่งวันสุดท้าย เนื่องจาก “ไผ่มีความเห็นว่า คดีดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม จึงเลือกที่จะต่อสู้อย่างเปิดเผยในศาล เพื่อที่จะให้สังคมได้รับรู้

แต่เมื่อศาลใช้อำนาจสั่งให้เป็นการพิจารณาคดีลับ ไผ่จึงเห็นว่ากระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่บรรลุผลในการชี้ให้สังคมได้เห็นถึงกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้


iLaw เล่าเหตุการณ์วันพิจารณาคดีเมื่อวานนี้ (๑๕ สิงหาคม) ศาลใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเจรจากับนายจตุภัทร์และครอบครัวในห้องพิจารณา โดยให้ทีมทนายผู้ต้องหาและอัยการออกจากห้องไปก่อน

“พ่อของจตุภัทร์เล่าว่า ได้พูดคุยเรื่องความเป็นไปได้ของอัตราโทษหากจตุภัทร์ตัดสินใจรับสารภาพ”

จากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาออกไปปรึกษากันนอกห้องพิจารณา ปล่อยให้ไผ่ได้ไตร่ตรองอยู่ผู้เดียวจนกระทั่งเวลา ๑๑.๐๐ น. ศาลกลับขึ้นบัลลังก์อีกครั้ง คุยกับจตุภัทร์จนกระทั่งผู้ต้องหาเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ

ศาลพักการพิจารณษถึงเวลาบ่ายสี่โมงจึงกลับมาอ่านคำพิพากษาโดยสั่งให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกไปนอกห้อง คำพิพากษาให้จำคุกไผ่เป็นเวลา ๕ ปี แต่เนื่องจากผู้ต้องหารับสารภาพ จึงลดโทษจำคุกลงเหลือ ๒ ปี ๖ เดือน


พิจารณาตามความผิดที่ไผ่ยอมรับสารภาพ ดังที่ Somsak Jeamteerasakul เขียนวิจารณ์ “ทบทวนคดี” ไว้ว่า “ไผ่ ถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นฯ ด้วยการแชร์ข้อความ ๔ ย่อหน้าสุดท้าย บทความพระราชประวัติกษัตริย์วชิราลงกรณ์ จาก บีบีซีไทย - BBC Thai...

“หัวใจของคำฟ้องคือตรงนี้ อัยการบอกว่าข้อความดังกล่าว...มีความหมายว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...รัชกาลที่ ๑๐ ไม่น่าจะมีพระบารมี ไม่เป็นที่เคารพสักการะเท่าพระราชบิดา...

อันเป็นการดูหมิ่น สบประมาท เหยียดหยาม พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งเป็นที่เคารพรักสักการะของพสกนิกรชาวไทย...”

ซึ่ง สศจ. ชี้ว่าเนื้อถ้อยในบทความที่แปลเป็นไทยไม่ตรงกับต้นฉบับภาษาอังกฤษ “คือในต้นฉบับภาษาอังกฤษ บอกว่า

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าบารมีเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสั่งสมด้วยตัวเอง (กรณีของพระราชบิดาใช้เวลาถึง ๗๐ ปี) ไม่สามารถรับทอดกันมาได้ (must be earned, not inherited)

ขณะที่ในต้นฉบับภาษาไทยไม่ระบุถึงสิ่งเหล่านี้ (การอ้างผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์ไทย และระยะเวลาสั่งสมบารมี ๗๐ ปี)

แม้นว่าในคำแปลภาษาไทยรวบรัดเนื้อความบางตอน ดังที่ สศจ. ยกมาเปรียบเทียบกับคำแปลของตนเอง พบว่าต้นฉบับภาษาไทยไม่ได้แปลโดยละเอียดจากประโยคที่ว่า “But he has had decades to observe and learn from the complex flow of power that surrounds the monarch.

(คำแปลของ สศจ. ว่า “แต่พระองค์ก็ทรงได้มีเวลาหลายทศวรรษมาแล้วในการสังเกตการณ์และเรียนรู้จากความเคลื่อนไหวของอำนาจอย่างซับซ้อนที่ล้อมรอบองค์กษัตริย์”)

ซึ่ง สศจ. แย้งต่อไปว่า “แน่นอน ก็อาจจะบอกว่าผลที่ออกมาเหมือนกัน คือเวลาที่มากกว่าทำให้มีบารมีมากกว่า – แต่มันมีความแตกต่างในแง่ความหมายและประเด็นอยู่”

(อ่านรายละเอียดคำวิจารณ์ของ สศจ. ได้ที่ https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/1398272186892723)

“ความแตกต่าง” ก็คือดูเหมือนภาคภาษาไทย บางตอนจะทำให้ ทรงกริ้ว ได้มากกว่า แต่บางส่วนที่ภาคภาษาไทยไม่มี ก็อาจใช้เป็นข้อต่อสู้เพื่อลด ‘velocity’ แรงโกรธลงได้บ้าง

หากแต่แก่นแข็งร้ายแรงของข้อหา ๑๑๒ อยู่ที่เนื้อหาหนักเบาไม่สำคัญเท่า เรื่องอย่างนี้แตะไม่ได้ แม้ไม่ถึงกับกระทบก็ตามที หากมีใครสักคนยื่นฟ้อง ไม่ว่าเขาหรือหล่อนเจตนาเช่นไร ข้อหาหนักแน่นหรือไม่ ผู้ถูกฟ้องจะต้องได้รับโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง

ยิ่งใครหัวหมอขอสู้คดี นอกจากไม่มีทางชนะแล้ว ยิ่งจะโดนหนักเข้าไปใหญ่ ศาลไทยตัดสินจำคุกคดีหมิ่นกษัตริย์ ๔๕ ปี ๖๐ ปี อย่างหน้าตาย ไม่อาย ไม่ยี่หระกับเสียงทักท้วง เรียกร้อง และคัดค้านจากองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ จนทำให้รัฐไทยไม่เป็นรัฐชาติในความหมายที่โลกอารยะยอมรับไปแล้ว

จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ทำให้ไผ่ ดาวดินจำต้องตัดสินใจยอมรับสารภาพก่อนการตัดสินคดี