วันอังคาร, กรกฎาคม 25, 2560

ไปดูเขาถกกัน #ข่มขืนไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ไม่โวยวาย ไม่ใช่หมายถึงยินยอม

ไปดูเขาถกกันเรื่อง ข่มขืน (และ ละเมิดทางเพศ โดยรวม) ในแวดวงนักกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ ยาวมากแต่อยากให้ดูกันด้วย จึงคัดตัดตอนมาเพื่อเป็นสักขีในข้อเท็จจริง (ก่อนจะไปถึง ทีนิวส์

เปิดประเด็นโดย Rangsiman Rome โพสต์จาก Shenzhen, China เรื่อง “วัฒนธรรมการข่มขืนในหมู่นักกิจกรรม” อันเกิดกับ นักศึกษาปริญญาโทที่มาทำวิจัยที่ประเทศไทยเพื่อศึกษาเกี่ยวกับนักกิจกรรม ได้ถูกข่มขืนไม่นานนี้" 

โดยที่ "เหตุการณ์ทำนองคล้ายๆ กันนี้เคยเกิดขึ้นระหว่างนักกิจกรรมนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวในหมู่นักกิจกรรมอย่างมาก 

หากแต่ผลร้ายและแรงกดดันดูเหมือนจะตกกับฝ่ายหญิงมากกว่า นั่นอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมนักกิจกรรมจำนวนมากถึงยังมีทัศนะที่ไม่เคารพต่อเพศหญิงเช่นนี้

เขาสรุปว่า “น่าเสียดาย ที่ในหมู่นักกิจกรรมจำนวนมากไม่ได้รู้สึกว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหา และความรู้สึกว่าไม่เป็นปัญหาได้ถูกส่งต่อทำให้เกิดเคสแบบนี้อยู่ร่ำไป เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าคนที่อยู่เฉยๆ กับเรื่องแบบนี้ ได้ทำให้พื้นที่ของการข่มขืนสามารถดำรงอยู่ต่อไปในสังคมได้

ขณะที่ให้เหตุผลของตนไว้ก่อนหน้า “การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นระหว่างนักกิจกรรม ไม่ว่าจะกระทำต่อนักกิจกรรม หรือกระทำต่อใคร สำหรับผมเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และไม่สามารถให้อภัยได้

อย่างที่เรารู้ๆ กันว่ากลไกทางกฎหมายไม่สามารถปกป้องให้ความคุ้มครองใดๆ กับฝ่ายหญิงได้ กลไกทางกฎหมายจึงเป็นกลไกปลายเหตุในการลงทัณฑ์เสียมากกว่า

กลไกที่ผมคิดว่าจะป้องปรามไม่ให้ใครทำแบบนี้อีก คือ กลไกทางสังคม ถ้าสังคมปฏิเสธเรื่องนี้อย่างแข็งขัน ย่อมมีน้อยคนที่จะกล้าทำแบบนี้ เพราะมันหมายถึงการสูญเสียที่ยืนในสังคมทั้งหมด

ปรากฏว่าเกิดการถกเถียงกันอยู่นานในประเด็น “เหมารวม” ทั้งจาก Wanchalearm Satsaksit ที่ท้วงว่า “ในหมู่นักกิจกรรม อ่านแล้วเอ๊ะ แปลว่ามันเกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดขึ้นซ้ำๆ หรือเกิดขึ้นจนเป็นวัฒนธรรมแล้วเหรอครับ (อันนี้น่าห่วง)

และในหมู่นักกิจกรรมนี่ นักกิจกรรมด้านไหนครับ "นักกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านการเมือง?" หรือ นักกิจกรรมชุมชน หรือ นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม หรือนักกิจฝ่ายไหนด้านใดครับ พอเหมารวมไปหมดว่านักกิจกรรมมันกว้างมาก และคำว่าในหมู่นักกิจกรรมก็พาลคิดไปว่ามีหลายเคส”

ซึ่งได้มีคนตอบให้ Nana Wipaphan Wongsawang บอกว่า “เราเห็นด้วยกับโรมที่จะเหมารวมนะ เพราะปกติเวลาคนเจอประสบการณ์ไม่ดี คนอื่นๆ จะพยายามบอกว่า อ้าว มันไม่เกี่ยวกับกลุ่มเรา มันเกี่ยวกับความชั่วของไอ้นั่นล้วนๆ โยนๆ ให้มันเป็นเรื่องปัจเจกไป

เพราะคนที่เหลือไม่เห็นว่าเป็นปัญหาของเขาที่จะต้องดูแลกันและกัน (ในคนทั่วไปพอว่า แต่ในนักกิจกรรมนี่แบบหื้มมมม คุณปกป้องเรื่องของคนอื่นมาตั้งหลายเรื่อง แต่คุณไม่ปกป้องคนของคุณเหรอ ?) พอเคว้ง ไม่มีกำลังใจสู้ เรื่องก็เงียบไป

...เนี่ยคือปัญหาในภาพรวมที่เราว่าเหมารวมได้

อีกรายมาเสริม Daranee Thongsiri ย้ำว่า “ที่โรมเขียนแบบนี้ เพราะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในกลุ่มนักกิจกรรมผู้ชาย ทั้งเป็นที่รู้ในวงกว้างหรือในทางส่วนตัว

นักกิจกรรมนี้ก็มีหลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่กลุ่มการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน พวกสายสิ่งแวดล้อมก็เยอะ ยิ่งอยู่ในกลุ่มผู้ชายด้วยกันเอง วัฒนธรรมการลวนลามทางเพศ ทำให้อีกฝ่ายไม่รู้สึกปลอดภัยทางเพศไปจนถึงเคสข่มขืน มีเยอะมาก

เห็นด้วยว่าควรพูดถึงวงการนักกิจกรรมทั้งวงการ ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันควรจะสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิทางเพศของคนทำงานด้านนี้ให้มาก ไม่ใช่ผลักเป็นเรื่องปัจเจก”

จากนั้นยังคงแลกเปลี่ยนกันต่อเนื่องอีกพักใหญ่ ได้ความว่ามีการล่วงละเมิดเกิดขึ้นทั้งในวงการสิทธิมนุษยชน และองค์กรเกย์ (https://www.facebook.com/rossbuch/posts/1601725673170848)

รวมทั้งบางคนเข้ามากระซวก Chotisak Onsoong ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ตำหนิว่า คนเปิดประเด็นพูดกำกวม กลับมาอีกครั้ง ดังกว่าเดิม

ผ่านไปเกิน 24 ชั่วโมงแล้ว ที่หลายๆ คน (และผมถือว่าผมเป็นหนึ่งในนั้น) ถูกด่าว่าเป็นต้นเหตุของวัฒนธรรมการข่มขืน แต่กลับไม่มีใครมาบอกซะทีว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุการณ์เป็นยังไง ใครคือผู้ถูกกล่าวหา

จนกระทั่ง โรม มาเอง “เคสที่ผมพูดอาจจะเป็นเคสเดียวก็ได้ แต่แค่เคสเดียวมันก็แสดงให้เห็นปัญหาอะไรหลายอย่างตามมา เพราะคนที่อยู่รอบตัวของคนที่ไปให้กำลังใจผู้กระทำผิด ก็ไม่ได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ และทำให้เหยื่อกลายเป็นเหยื่อที่สมบูรณ์ คือเป็นผู้แบกภาระทั้งหมดเอาไว้

แน่นอนว่าข้อเขียนผมเป็นการเหมารวม แต่ที่ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพราะว่า ผมไม่ได้ต้องการให้ผู้ที่ทำและถูกทำจัดการตามกระบวนการเท่านั้น (ซึ่งมันขึ้นกับสภาพจิตใจของเหยื่อ และหลักฐานด้วยว่าจะเอาผิดได้ไหม ซึ่งในหลายกรณีมันยากมาก)

แต่ผมต้องการให้ไม่เกิดการยอมรับเรื่องนี้ด้วย ภายในปีนี้ปีเดียวมีเคสสองเคสเกิดขึ้นแบบนี้แล้ว (อย่างน้อยที่ผมรู้)

ส่วน “เรื่องมันกลายเป็นวัฒนธรรมข่มขืนไหม คงต้องดูกันยาวๆ แต่การที่คนที่รู้เรื่องแล้วเพิกเฉย อันนี้ผมว่าเป็นปัญหา

ด้วยประสบการณ์อันน้อยนิดของผมในแวดวงนี้ หลายคนที่ผมรู้จักกลับปกป้องผู้กระทำผิด โดยอ้างว่าผู้กระทำผิดต้องมีใครสักคนดูแลเขาเหมือนกัน ในแง่นี้มันฟังดูเหมือนจะโอเคเลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หลายคนแห่ให้กำลังใจคนกระทำผิด ขณะที่คนที่โดนข่มขืนกลับไม่มีใครเลย”

ล่าสุด โรม ได้นำ “ข้อความของคนที่โดนข่มขืนที่ผมบอกเล่าไปก่อนหน้านี้...(ขออนุญาตเจ้าตัวแล้ว) ผู้ที่ "มาเพิ่มเติม

ดูเหมือนจะคิดว่าเรามีจุดมุ่งหมายอะไรแอบแฝง หรือเราหวังผลประโยชน์บางอย่าง เราขอตอบข้อนี้อย่างตรงไปตรงมาเลยว่า การออกมาพูดเรื่องข่มขืนอย่างเปิดเผยได้ทำลายชีวิตเราแล้ว อย่างน้อยก็ในช่วงนี้...

ส่วนเรื่องที่ไม่เปิดโอกาสให้คนทำได้พูด เราไม่เคยพยายามจะปิดปากเขาเลย หรือถึงคิดอยากทำเราก็ทำไม่ได้หรอก เขามีอิทธิพลกับสังคมมากกว่าเรา ที่อยู่ไทยได้แค่ปีเดียว เขามีเพื่อนเยอะ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น และเป็นนักกิจกรรมที่คนชื่นชม

เขามีอิทธิพลที่เราไม่มี ถ้าเขาพูดขึ้นมา แน่นอนว่าคนจำนวนมากจะฟังเขาและเชื่อเขามากกว่าเชื่อเรา แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ได้ยินมาว่าเขาได้บอกคนอื่นแล้วว่าเราสมยอมจะนอนกับเขา

อันเป็นรูปการณ์ที่เข้าข่ายลักษณะการโต้เถียงในวัฒนธรรมตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า ‘He said, she said’ หรือเป็นไทยคร่าวๆ “ต่างคนต่างอ้าง” ซึ่งผู้เข้าไปร่วมถกเถียงคนหนึ่งพยายามดึงดันให้มีการเปิดเผยรายละเอียดอย่างหมดเปลือก

ทว่า ข้อที่ควรพินิจคำนึงมิใช่เรื่องของใครกับใคร (เป็นส่วนตัว) ปัญหาอยู่ที่ทางปฏิบัติในเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับเพศสัมพันธุ์ ซึ่งส่วนมากยังเชื่อกันแพร่หลายว่า “ไม่โวยวายหมายถึงยินยอม”

เช่นนี้ควรที่ต้องอ่านบทความที่โรมแนะนำ เรื่อง “ผู้หญิงที่กำลังถูกข่มขืนมีปฏิกิริยาอย่างไร :ความจริงกับความเชื่อ” ของ Ronnakorn Bunmee นักวิชาการด้านกฎหมาย ประกอบเพื่อทำความเข้าใจ หลีกเลี่ยงการเข้าใจผิดซ้ำซาก ที่ว่า

ด้วยจินตนาการ ผ่านทางสื่อต่างๆ ซึ่งสร้างภาพให้เราเห็นว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจะดิ้นรนสุดกำลังและเรียกร้องให้คนมาช่วย เพื่อสร้างภาพเหยื่อให้น่าสงสารที่สุด” และ “ในชีวิตจริงเหยื่อนิ่งเฉยไม่โวยวาย ผู้กระทำความผิดอาจอ้างได้ว่ายินยอม เพราะถ้าไม่ยอมคงดิ้นแล้ว โวยวายแล้ว และเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องได้ (ดู CEDAW/C/57/D/34/2011 และ CEDAW/C/46/D/18/2008)” นั้น

ในทางชีววิทยาผู้หญิงในสภาวะเช่นนั้นโวยวาย ดิ้นรน ร้องให้คนช่วยได้จริงหรือ?

เขาใช้รายละเอียดจากกรณีศึกษา เรื่อง Fear and the Defense Cascade: Clinical Implications and Management’ ที่ตีพิมพ์ในวารสารจิตเวชศาสตร์ ของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Harvard

กับเรื่อง Stress signaling pathways that impair prefrontal cortex structure and function.’ ตีพิม์ใน Nature Reviews Neuroscience https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19455173

รวมทั้ง “ใครไม่อยากอ่านงานเขียนทางแพทย์ยาวๆ (แต่สนุกมากอ่านเถอะ) หรืออ่านเป็นพื้นความรู้ก่อน อาจอ่านได้จากบทความในหนังสือพิมพ์ที่เขียนโดยแพทย์จิตเวชเกี่ยวกับเรื่องนี้ https://www.washingtonpost.com/…/why-many-rape-victims-do…/…

มาให้คำตอบว่า “ปกติเมื่อเราเผชิญกับภยันตรายร่างกายเราจะสั่งให้เราเข้าสู่สภาวะเตรียมพร้อมที่จะสู้ หรือหนี (fight or flight) ดวงตาเปิดกว้าง ลูกตาดำกรอกด้วยความเร็ว ได้ยินเสียงทุกอย่างอย่างชัดเจน

แต่ถ้าภยันตรายนั้นเป็นภยันตรายที่หนีไม่พ้น และรู้ว่าสู้ไม่สำเร็จ (สมองเราคำนวณความเป็นไปได้เร็วมากว่าจะชนะหรือแพ้ และการคำนวณนี้อยู่เหนือการควบคุมของเรา) และภยันตรายนั้นกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง

ซึ่งการคุกคามทางเพศโดยเฉพาะการข่มขืนเป็นภยันตรายที่อยู่ในกลุ่มนี้

สมองจะสั่งการให้เราอยู่เฉยๆ แล้วการสั่งการนี้ไม่ใช่การแนะนำของสมองต่อร่างกายนะครับ แต่เป็นการที่สมองยึดครองร่างกายไปจากเรา เพราะตอนนั้นสมองส่วนใช้เหตุผล (prefrontal cortex) จะถูกทำให้ใช้การไม่ได้ เราจะอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถสั่งการให้ร่างกายขยับได้ตามใจ (เหมือนกวางที่ถูกเสือจ้อง)

ปฏิกิริยาโดยธรรมชาติของร่างกายเมื่ออยู่ในสภาวะสิ้นหวังเช่นนั้นก็คือ จากตาที่เปิดกว้างในตอนแรกแต่ตอนนี้เราจะปิดตาลง ตัวสั่นเทา อุณหภูมิร่างกายลดลง ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด หมดเรี่ยวแรง

และในกรณีที่รุนแรงคือเราไม่รู้สึกถึงตัวตนหรือแยกตัวตนออกจากร่างกายที่ถูกกระทำ เราเรียกปฏิกิริยาทั้งหมดนี้ว่า ‘tonic immobility’

เขาอธิบายด้วยว่า “เราสามารถเอาชนะปฏิกิริยาธรรมชาติพวกนี้ ด้วยการฝึกฝนให้ร่างกายเราคุ้นเคยกับสภาวะหวาดกลัวและสิ้นหวังนั้น เหมือนทหารที่ทำให้คุ้นเคยกับเสียงดงกระสุน” ซึ่งโดยทั่วไปหญิงที่ถูกจู่โจมทางเพศย่อมไม่ได้ฝึกฝนมาก่อน

เว้นแต่กรณีภรรยาถูกสามีข่มขืนเป็นประจำ แต่นั้นก็อาจอธิบายได้ว่าทำไมภรรยาถึงกล้าตอบโต้สามีมากกว่าผู้หญิงถูกคนแปลกหน้าจู่โจม เพราะภรรยา อาจ ไม่ได้หวาดกลัวสามี หรือคุ้นชินกับความหวาดกลัวนั้น เหมือนทหารที่ถูกฝึกฝน

รณกรณ์ ผู้เขียนยังได้ฝากความหวังไปยังเพื่อนนักกฎหมาย ที่เป็นผู้พิพากษา หรือจะเป็น “เมื่อเจอคดีว่าผู้หญิงไม่ร้อง ไม่หนี ไม่ดิ้น จะเข้าใจปฏิกิริยาทางธรรมชาติของร่างกายได้ดีขึ้น

และไม่ตัดสินคดีตามจินตนาการว่าการที่ไม่ร้อง ไม่หนี ไม่ดิ้น แปลว่ายอม ซึ่งนั่นไม่เพียงเป็นการทำลายชีวิตคนที่ถูกทำลายมาแล้วหนึ่งครั้ง แต่ยังเป็นการส่งต่อความเชื่อผิดๆ ให้กับคนรุ่นต่อไปด้วยครับ