วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 22, 2560

ชำนาญ จันทร์เรือง :วิพากษ์ปาฐกถาเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

วิพากษ์ปาฐกถาเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
ชำนาญ จันทร์เรือง

พลันที่ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาเรื่อง การเมืองไทยกับสังคม 4.0ในงานเสวนา “Direk’s Talk ทิศทางการเมืองโลก ทิศทางการเมืองไทย และนโยบายสาธารณะจัดโดย ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 19 มิถุนายน 2560 จบลง การวิพากษ์วิจารณ์ก็เกิดขึ้นอย่างเผ็ดร้อนในโซเชียลมีเดีย และตามมาด้วยการเสนอข่าวในสื่อกระแสหลักในวันถัดมา

แน่นอนว่ามีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีทั้งเห็นด้วยบางประเด็นไม่เห็นด้วยบางประเด็น ฯลฯ บ้างไปไกลถึงขนาดโจมตีว่าช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้นเสกสรรค์หายไปไหน ในฐานะที่เป็นนักวิชาการซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะอาวุโสตามความหมายของอ.เสกสรรค์หรือเปล่า

ก็อดเสียไม่ได้ที่จะต้องออกมาให้ความเห็น เพราะมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบในฐานะนักวิชาการเช่นกัน แต่จะให้ความเห็นเฉพาะที่เห็นต่างเท่านั้น

โดยไม่จำต้องให้ความเห็นในส่วนที่เห็นพ้องต้องกันแต่อย่างใด เพราะเป็นหลักวิชาทางรัฐศาสตร์ที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้ว เว้นเสียแต่ว่าจะตะแบงกันไปข้างๆ คูๆ ของพวกเนติบริกร รัฐศาสตร์บริการ หรือนักวิชาการเครื่องซักผ้าน่ะครับ

1.เสกสรรค์ -ยิ่งไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีบทบัญญัติต่างๆ ที่ทำให้แก้ไขได้ยาก จนถึงขั้นเกือบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ร่างมีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน ดังนั้น เมื่อบวกรวมกับช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองโดยตรงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงดำเนินอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี แน่ล่ะ ถ้าพูดถึงตัวบุคคลหรือแม้แต่ คสช. การสืบทอดอำนาจอาจไม่เป็นเส้นตรงขนาดนั้น แต่ถ้าพูดถึงชนชั้นนำภาครัฐแล้ว การต้องการพื้นที่ถาวรและอำนาจนำทางการเมือง เป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน

ความเห็นแย้ง ผมคิดว่า คสช.ไม่มีกึ๋นอะไรขนาดนั้นหรอกครับ คิดเป็นอยู่อย่างเดียวคือทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เสียของ ตอนนี้เลยเสียหมด กอปรกับสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ เมื่อผนวกเข้ากับภาวการณ์ที่รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากหรือเรียกได้ว่าแก้ไขไม่ได้เลยนั้น ย่อมนำมาสู่ภาวะที่อึดอัดขัดข้อง

และนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญในที่สุด ด้วยวิธีการ 2 แบบ คือ 1.การทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง หรือ 2.การลุกฮือขึ้นมาของประชาชน ซึ่งอย่านึกว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อถึงภาวะฟางเส้นสุดท้าย หรือ ‘point of no return’ แล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้

อนึ่ง การวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยจะดูเฉพาะเพียงปัจจัยที่ปรากฏภายนอกไม่ได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมาย เพราะแม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วยังเปลี่ยนแปลงได้

2.เสกสรรค์ -  ดังนั้น การเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงมีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้งสองทางคือ ทางแรก นักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่ได้กุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตย กลายเป็นการเมืองแบบที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าระบอบเกี้ยเซียะ ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่อาจผนึกกำลังทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ มีข้อเสนอแนะข้อโต้แย้งที่แตกต่างจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม อันนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง และเป็นการสมทบส่วนที่สำคัญให้กับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศเรา

ความเห็นแย้ง มีความเป็นไปได้เพียงทางเดียว คือ นักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่ได้กุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตยเท่านั้น ซึ่งหมายความรวมถึงพรรคเพื่อไทย ที่ถึงแม้จะถูกกระทำมาอย่างหนักก็ตาม เพราะนักการเมืองก็คือนักการเมืองนั่นเอง

3.เสกสรรค์ -  “...ปัญญาชนและนักวิชาการ ชนกลุ่มนี้มีศักยภาพทางการเมืองสูงมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพียงแต่วิวัฒน์จากนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปุโรหิต สมณะ มาเป็น ผศ. รศ. คอลัมนิสต์ หรือนักวิชาการอิสระเท่านั้นเอง
“...ปัญญาชนที่ถือตนว่าเป็นเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นไม่ค่อย connect กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเท่าใด ส่วนใหญ่พอใจอยู่กับการออกความเห็นใน Facebook กระทั่งบางส่วนออกจะรังเกียจการเมืองภาคประชาชน โดยเห็นว่าแกนนำบางคนเคยต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
“...หลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็น มากกว่าการผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มก้อนขบวนการ บางท่านใช้เวลาไปในการวิพากษ์ โต้แย้ง หรือเสียดสี ตรวจสอบคุณสมบัติของปัญญาชนด้วยกันมากกว่าจะสร้างขบวนทางปัญญาที่มีพลัง
“...ผมเห็นว่าปัญญาชนจำนวนมากเกินไป แทบจะไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวร้อยกับทุกข์ร้อนรูปธรรมของประชาชนหมู่เหล่าต่างๆเลย
ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงยังไม่สามารถทำให้ความเห็นของตน matter ในสังคมไทย ศักยภาพทางการเมืองของเขายังคงเป็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในโลกเสมือนจริง แต่ยังไม่ใช่พลังในโลกแห่งความจริง

ความเห็นแย้ง
3.1 ที่ว่าปัญญาชนส่วนใหญ่อาจจะพอใจกับการออกความเห็นใน Facebook นั้นไม่จริงเสมอไป เพราะปัญญาชนส่วนใหญ่ตามความหมายของ อ.เสกสรรค์ ที่ว่าคือ ผศ.รศ. คอลัมนิสต์ หรือนักวิชาการอิสระ นั้นหลายคนไม่เล่น Facebook เลยก็ว่าได้ หรือบางคนอาจจะมีเพียงบัญชีเพื่อไว้ดู โดยแทบจะไม่ได้ออกความเห็นอะไรเลย

ในทางกลับกันในคำกล่าวที่ว่าศักยภาพทางการเมืองของเขายังคงเป็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในโลกเสมือนจริง แต่ยังไม่ใช่พลังในโลกแห่งความจริงนั้น ก็ไม่จริงอีกเช่นกัน เพราะปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคปัจจุบันนี้ หลายๆ ครั้งก็เป็นผลมาจากพลังทางโซเชียลมีเดียเหล่านั้น

กาลเวลาผ่านไปสภาวะแวดล้อมย่อมเปลี่ยนไป การถวิลหาการเมืองในรูปแบบของการจัดตั้ง ในรูปแบบเดิมๆ นั้นทำไม่ได้ แม้ในอดีตเองก็ตาม ที่นักศึกษาปัญญาชนหนีเข้าป่า การจัดตั้งก็มาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มิได้มาจากนักศึกษาปัญญาชนแต่อย่างใด

3.2 ส่วนที่ว่าหลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าการผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มก้อนขบวนการ บางท่านใช้เวลาไปในการวิพากษ์ โต้แย้ง หรือเสียดสี ตรวจสอบคุณสมบัติของปัญญาชนด้วยกันมากกว่าจะสร้างขบวนทางปัญญาที่มีพลังนั้น อาจจะจริงบ้างเพราะเป็นธรรมชาติของปัญญาชนทั้งหลาย ที่มักจะขัดแย้งและเสียดสีกันเอง

แต่เมื่อใดมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นเขาเหล่านั้นจะมารวมตัวกันออกแถลงการณ์หรือจัดกิจกรรมร่วมกัน แต่จะให้รวมตัวกันอย่างมั่นคงถาวรนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่ในอดีตก็ไม่เคยมีสิ่งที่ว่านี้เช่นกัน

นอกเหนือจากธรรมชาติของปัญญาชนหรือนักวิชาการที่รวมตัวกันอย่างถาวรยากแล้ว เมื่อประกอบเข้ากับคำสั่งของ คสช. และการจับกุมคุมขังหรือการเรียกไปอบรมหรือข่มขู่ (เรียกเพราะๆว่าการปรับทัศนคติ) รวมถึงการไปคุกคามถึงที่บ้านและครอบครัวด้วยแล้ว ผมเห็นว่าปัญญาชนหรือนักวิชาการไทยสายประชาธิปไตย ทำได้ขนาดนี้ก็เก่งแล้ว

3.3 สำหรับประเด็นที่ว่าปัญญาชนจำนวนมากเกินไป แทบจะไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวร้อยกับทุกข์ร้อนรูปธรรมของประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ เลยนั้นก็เช่นเดียวกัน เพราะตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาปัญญาชนหรือนักวิชาการก็เข้าไปเกี่ยวข้องช่วยเหลือน้อยอยู่แล้ว เพราะมหาวิทยาลัยไทยนั้นตายสนิทมาหลายปีแล้ว ก่อนยุค 14 ตุลาเสียด้วยซ้ำไป 

กล่าวโดยสรุปก็คือผมยังไม่หมดหวังสำหรับสังคมไทย เพราะจากประวัติศาสตร์การเมืองของทั่วโลกได้ให้บทเรียนที่เจ็บแสบแก่เหล่าเผด็จการทั้งหลายมาแล้ว อยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง