วันพุธ, มิถุนายน 21, 2560

น่าตกใจ รัฐบาลไทยซื้อซ้อฟแวร์แกะรอยผู้ใช้โซเชียล


น่าตกใจกับข่าวการซื้อซอฟต์แวร์แกะรอยผู้ใช้โซเชียลของรัฐบาลไทย ซึ่งขัดแย้งกับกฎหมาย Budapest Convention 2004 ซึ่งดูแลโดย International Telecommunications Union (ITU)
โดยการประชุม ITU 2014 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ได้มุ่งประเด็น "ห้ามให้มีการแฮกเกอร์ข้อมูลใดๆของทุกระดับองค์กร" ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ ITU ตั้งแต่ 20 เมษายน 1983 ได้ลงนามยอมรับข้อตกลงในการประชุมด้วย

รอยเตอร์เผยไทยเตรียมจ่ายกว่า 120 ล้านบาท ซื้อซอฟต์แวร์แกะรอยผู้ใช้สื่อโซเชียลนับล้าน พร้อมออกกฎหมายฉบับใหม่ เปิดทางดักข้อมูลทางมือถือได้ ไม่ต้องขออำนาจศาล
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน ว่า กระทรวงดิจิทัลของไทยกำลังจะใช้เงินกว่า 128 ล้านบาท ซื้อซอฟต์แวร์ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อจับตาและแกะรอยความสัมพันธ์ส่วนบุคคลของผู้ใช้จำนวนกว่า 1 ล้านราย
“ซอฟต์แวร์ชนิดนี้จะกราดตรวจและเก็บรักษาข้อมูลทั้งหมดบนโซเชียลมีเดียเพื่อวิเคราะห์และเฝ้าจับตา” นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการดิจิทัล เปิดเผยกับรอยเตอร์ และว่า รัฐบาลไทยกำลังจะเปิดประมูลเพื่อพิจารณาข้อเสนอขายซอฟต์แวร์ดังกล่าว
รอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลไทยกำลังเสริมสร้างขีดความสามารถในการแกะรอยเครือข่ายสังคมออนไลน์ และออกกฎหมายเพิ่มอำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการสอดส่องการสื่อสารส่วนบุคคล
รายงานของเฟซบุ๊กระบุว่า ในปีนี้ รัฐบาลไทยมีคำขอไปยังเฟซบุ๊กแล้วราว 300 ครั้ง เพื่อให้ปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาราว 300 โพสต์ในประเทศไทย นับว่าปริมาณคำขอได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาจากกลางปี 2557 จนถึงสิ้นปี 2559 ซึ่งมีรวมกัน 80 คำขอ
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยกำลังผลักดันกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ คาดว่าจะผ่านสภาในปีนี้ แม้ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจวิตกว่าเป็นการให้อำนาจรัฐบาลในการสอดแนมประชาชน
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะล้วงลึกข้อมูลผู้ใช้ยิ่งกว่ากฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งแก้ไขเมื่อเร็วๆนี้
“กฎหมายฉบับนี้มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ เปิดทางให้รัฐเข้าถึงข้อมูลของบุคคลที่ต้องสงสัย” ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาอาวุโสของบริษัทจี-เอเบิล ซึ่งให้บริการแก่ภาคธุรกิจ กล่าว

รอยเตอร์รายงานว่า ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ มีหัวหน้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนให้ความร่วมมือในการสอบสวนสืบสวนคดีความมั่นคงทางไซเบอร์
บทบัญญัติสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพื่อสอบถามข้อมูลหรือส่งมอบข้อมูล และยังมีอำนาจดักจับการสื่อสารผ่านอุปกรณ์ทุกชนิด เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ได้เมื่อเกิด “กรณีฉุกเฉิน” โดยไม่ต้องขออำนาจศาล
นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อธิบายกับรอยเตอร์ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องป้องกันอาชญากรรม และปฏิเสธว่า การซื้อซอฟต์แวร์และออกกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์นั้น ไม่ใช่การสอดแนมประชาชน “ไม่ใช่การละเมิดความเป็นส่วนตัว แต่เป็นการคุ้มครองเครือข่าย”
อย่างไรก็ตาม พลตรี ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ซึ่งเฝ้าตรวจจับเนื้อหาวิจารณ์สถาบันกษัตริย์บนอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลในการเอาผิดผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คนที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายไม่ต้องกลัวอะไร
“ไม่มีอะไรน่ากลัวถ้าคุณไม่ได้ทำผิด” พล.ต.ฤทธีกล่าวกับสำนักข่าวของอังกฤษ.