วันเสาร์, มิถุนายน 03, 2560

5 ข้อควรรู้ ไทยกับความตกลงปารีส และปัญหา "โลกร้อน"



LIONEL BONAVENTURE/AFP/GETTY IMAGES


5 ข้อควรรู้ ไทย กับความตกลงปารีส และปัญหา "โลกร้อน"


โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
ผู้สื่อข่าวอิสระ
BBC Thai
2 มิถุนายน 2017

"ความตกลงปารีส" เป็นประเด็นใหญ่ในกระดานข่าวโลกสัปดาห์นี้ หลังจากสหรัฐฯ ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่เป็นอันดับสองรองจากจีน ประกาศถอนตัว ทำให้เป้าหมายแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน ด้วยการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศา "สั่นคลอน"

สำหรับไทยได้ให้สัตยาบันว่าจะปฏิบัติตามความตกลงนี้ไปแล้ว เมื่อปี 2559 และนี่ก็คือ 5 ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ เกี่ยวกับผลกระทบของความตกลงนี้ ต่อเมืองไทย และคนไทย

1. ไทยตื่นตัวเรื่องสภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่ 20 ปีก่อน โดยร่วมลงนามและให้สัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ "ทุกฉบับ" ทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ปี 2537) พิธีสารเกียวโต (ปี 2545) และความตกลงปารีส (ปี 2559)


GETTY IMAGES


2. ไทยถือเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับกลาง ราว 350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี คิดเป็น 0.8% ของทั้งหมด อยู่ในลำดับที่ 21 ของโลก แต่กว่าที่ความตกลงนี้จะใช้บังคับได้ ก็ต้องมีประเทศอย่างน้อย 55 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนประจกรวมกันถึง 55% มาให้สัตยาบัน

3. ภาคส่วนของไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง คือ "ภาคพลังงาน" ซึ่งรวมถึงการผลิตพลังงานไปใช้ในภาคอื่นๆ เช่น การขนส่ง อุตสาหกรรม และครัวเรือน โดยปล่อยรวมกันถึง 73% รัฐไทยจึงหันไปให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยการกระจายแหล่งพลังงาน ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลลง และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น





4. เหตุที่ไทยเข้าร่วมความตกลงปารีส เพราะผลของสภาวะโลกร้อน ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้กระทบต่อไทยหลายมิติ ทั้งปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ไปจนถึงภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง และลมพายุ นอกจากนี้ยังทำให้อากาศแปรปรวน จนกระทบต่อผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ ทั้งข้าว ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง ทำให้ผลผลิตพืชพันธุ์เพิ่มขึ้นในบางชนิด และลดลงในบางชนิด และเพิ่มขึ้น-ลดลงในบางปีเท่านั้น เรียกง่าย ๆ ก็คือทำให้เกษตรกรคาดเดาสภาพแวดล้อมไม่ได้ ไม่รวมถึงผลต่อการท่องเที่ยว



GETTY IMAGES


สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เคยออกรายงาน ระบุว่า สภาวะโลกร้อนจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อไทย โดยทำให้ตัวเลขการเจริญเติบโตของผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลงถึง 6% ภายในปี 2573

5. แม้ความตกลงปารีสจะยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่รัฐไทยก็ขยับตัวลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนมาโดยตลอด ทั้งจัดทำแผนแม่บทและตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ขึ้นมาแก้ปัญหา โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยประกาศว่า ภายใน 15 ปี ไทยจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 20-25%





เช่นเดียวกับเอกชนไทย ที่หลายบริษัทเริ่มมีนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานฟอสซิลอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงกับตั้งเป้าว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 11 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซค์ คิดเป็น 5% ที่ปล่อยอยู่ในปัจจุบัน



มาครง: "ทำให้โลกกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง"
ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากความตกลงลดโลกร้อนแล้ว