วันจันทร์, มิถุนายน 19, 2560

วิธีคิด-ความต้องการ"พล.อ.ประยุทธ์"วิเคราะห์จาก"4 คำถาม-50 ประเด็น"




https://www.youtube.com/watch?v=oYvvlWymKz4

วิธีคิด-ความต้องการ"พล.อ.ประยุทธ์"วิเคราะห์จาก"4 คำถาม-50 ประเด็น"

jom voice

Published on Jun 18, 2017

ดร.อนุสรณ์ อุณโณ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ให้สัมภาษณ์ Thais Voice กรณี 50 ประเด็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โยนให้สังคมไทยช่วยกันขบคิด รวมทั้ง 4 คำถามก่อนหน้านี้ที่ให้คนไทยช่วยกันตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทยว่า เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นให้สังคมสนใจตัวเองมากกว่า ทั้ง 50 ประเด็นล้วนเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงและตรงกันข้ามกับการกระทำของตัวเอง คนไทย ต่างหากที่จะต้องถามกลับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าควรจะส่องกระจกดูตัวเองบ้างว่าทำอะไรอยู่ ส่วน 4 คำถามที่ให้ประชาชนตอบนั้น เป้าหมายเพื่อจะนำมาใช้อ้างในการกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งหลังเลือกตั้ง

ooo

17 มิถุนายน 2560

 

1. การพัฒนาประเทศ ทำยังไงให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จะต้องมีการพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด ชุมชน ท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กัน ให้เข้มแข็งตามศักยภาพ ที่มีความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำ ในปัจจุบัน

2. การทำให้เศรษฐกิจระดับมหภาคและระดับฐานรากดีขึ้น ไปพร้อม ๆ กัน

3. การเชื่อมห่วงโซ่มูลค่า และการกระจายรายได้ จากบน กลาง ล่าง โดยต้องเข้าใจว่า ด้วยธรรมชาติของกลไกทางเศรษฐกิจแล้ว สัดส่วนรายได้ ผลกำไรส่วนใหญ่ จะอยู่ที่ระดับบน ก็เพราะเป็นผู้ลงทุนมากกว่า มีความเสี่ยงกว่า อาจจะขาดทุนก็ได้ หรือกำไรก็ได้ และก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีกำไรมาก ปันผลผู้ถือหุ้นได้มากอะไรทำนองนั้น เขามีความเสี่ยงเหมือนกัน แล้วถ้าเดินหน้าไปไม่ได้ก็ขาดทุนมาก เพราะฉะนั้น การเชื่อมโยงห่วงโซ่ทุกระดับ ทุกกิจกรรม เข้าด้วยกันนั้น ผมถือว่าจะได้เลิกวาทะกรรมที่ว่าเป็นการผูกขาด การเอื้อประโยชน์กันเสียที เปลี่ยนมาเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เผื่อแผ่แบ่งปัน

4. การกระจายรายได้และความเจริญ ลงไปสู่พื้นที่ทุกระดับ อย่างทั่วถึง บางพื้นที่ยังเหลื่อมล้ำอยู่ ถนนหนทางก็ยังไม่เท่าเขา แล้ววันนี้ทุกคนอยากจะให้เท่ากัน เป็นไปไม่ได้ เราต้องทำทุกอย่างให้เท่าก่อน หลังจากเท่ากันแล้วจะขยายขึ้นมาให้มากขึ้น เช่นถนนก็ไปเพิ่ม 3- 4 เลน 6 เลน ก็ว่าไป อันที่ 3 ต้องทำพร้อม ๆ กัน คือสร้างความเชื่อมโยงให้ถึงกันให้ได้ก่อน

5. การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ จะต้องคุ้มค่าโปร่งใส มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

6. การเพิ่มรายได้ภาครัฐ เพื่อเป็นงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อรองรับระบบสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งมีอยู่หลายด้านด้วยกัน ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และคมนาคมขนส่ง ไฟฟ้า พลังงาน ทุกอย่าง เป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ ซึ่งบางอย่างก็ต้องชำระเงิน บางอย่างก็ฟรี เพราะฉะนั้นแนวโน้ม “ภาระด้านงบประมาณ” เพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากประชาชน ประชากรที่เพิ่มขึ้น จากผู้สูงวัยที่มากขึ้น คนเจ็บป่วยมากขึ้นหรือไม่เราก็ไม่ทราบ แต่เราต้องมีการเตรียมการรองรับสิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่า มาตรการลดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันไว้ก่อน

7. การทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อย มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิต สามารถอยู่ได้ในโลกแห่งยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญ ในการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านั้นได้อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างประหยัด แล้วก็ทั่วถึง เท่าเทียม

8. การดูแลประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ให้ทั่วถึงภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ผมกล่าวมาแล้ว

9. การดูแลผู้มีรายได้น้อย “ทุกกลุ่ม” โดยเริ่มต้นจาก การสร้างความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ จากนั้นขยายไปสู่การเพิ่มมูลค่า สร้างความเชื่อมโยงทุกมิติ สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ได้อย่างยั่งยืน

10. การทำให้ผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในส่วนที่มีรายได้มาจากกิจกรรมผิดกฎหมาย ให้มีทางเลือกใหม่ มีโอกาสที่จะหันมายึดอาชีพสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย เช่น ค้าขาย รับจ้าง อาชีพอิสระ ฯลฯ เพราะทุกอาชีพที่เป็นธุรกิจสีเทา เหล่านั้น ส่งกระทบต่อความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดระเบียบ การกีดขวางการจราจร ขาดระเบียบวินัย สร้างความสกปรก ไม่มีคุณภาพ ไม่สะอาด ไร้มาตรฐานเหล่านี้ เป็นต้น เราก็ต้องมาหาวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม

11. การพัฒนาประเทศ ที่เราจะต้องดำเนินการควบคู่ไปทั้งมิติเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราจะขับเคลื่อนในเรื่องของสิทธิมนุษยชนในการประกอบการธุรกิจ ซึ่งต้องคำนึงถึง ความคุ้มครอง ความเคารพ แล้วในเรื่องของการเยียวยาที่เหมาะสมในการประกอบการธุรกิจ ผมได้เข้มงวดไปทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของภาคการผลิต ทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เรื่องการบริหารจัดการต่าง ๆ ทั้งหมดจะต้องสมดุลและยั่งยืน ทำไปด้วยกันทั้งการพัฒนา และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่าทำอันใดอันหนึ่ง แล้วก็ทำให้เกิดผลกระทบโดยรวม

12. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด เช่น ที่ดินและน้ำ วันนี้เราก็มีอยู่อย่างจำกัด การใช้ทรัพยากร จะต้องลดลง แต่สามารถที่จะเพิ่ม ผลผลิต ผลประโยชน์มากขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้มากกว่าที่ผ่าน ๆ มา มีที่มาก มีน้ำน้อย ก็ปลูกเท่าที่ปลูกได้ ไม่รู้จะมีไปทำไม

13. การปกป้องผืนป่าไม่ให้ถูกบุกรุก หรือถูกทำลายเพิ่มขึ้น วันนี้เราก็สกัดกันได้มากพอสมควร คนเลวก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นก็จะต้องลงโทษสถานหนัก เจ้าหน้าที่ก็ต้องไม่ไปร่วมมือ แล้วก็มีกระบวนการบริหารจัดการที่ดีของประเทศอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ดินทำกิน แหล่งน้ำที่เพียงพอ ต่อภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เราจะต้องมีผืนป่าในสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นต้น ค่อย ๆ สร้างไป ถ้าถูกทำลายไปแล้วก็สร้างยาก แต่ต้องช่วยกันสร้างไป อยู่กันไปด้วย คนอยู่กับป่าได้ก็ไปได้ทั้งหมด ป่าเพิ่มขึ้น คนก็มีความสุข กฎหมายวายังไงก็ต้องไปหาวิธีการทำให้เหมาะสม

14. การรักษาบ้านเมืองของเรา ให้เกิดความสงบ สันติสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดไป

15. การทำให้คนไทยจะรู้จักคำว่าพอเพียง ทั้งความหมายและการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เหมาะสม ความพอเพียง สำคัญที่สุดในโลกปัจจุบัน

16. การทำให้คนไทยทุกคน คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ “มาก่อน” ผลประโยชน์ส่วนตน หรือเราจะทำไปพร้อม ๆ กัน คิดไปพร้อม ๆ กัน ถ้าเรายึดถือผลประโยชน์ส่วนรวม ร่วมมือ ผลประโยชน์ส่วนบุคคลก็ตามมาเอง ถ้าส่วนรวมไม่ได้ สาธารณูปโภคพื้นฐานไม่เกิด การลงทุนไม่เกิด แล้วบุคคลจะได้อะไรกลับมาล่ะครับ เพราะวันนี้เราก็สู้ชีวิตกันมานานพอแล้วนะ

17. การทำให้คนไทยเคารพกฎหมายด้วยมีความสำนึกดีมีคุณธรรม จริยธรรม โดยไม่อ้างความจำเป็น ปัญหาส่วนตัว เช่น ความยากจน ความไม่รู้ ความสะดวกสบาย ซึ่งวันนี้ต้องปรับเข้าหากันให้ได้นะครับทำความเข้าใจให้ได้

18. การทำให้คนไทยรู้จักลดอัตตา ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ทั้งความประพฤติ ความคิด เราต้องให้ความสำคัญกับส่วนรวมด้วยนะครับ มีความอดทน โดยรู้ความเร่งด่วนของงาน ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เราจะต้องไม่อ้างสิทธิเสรีภาพอย่างไร้ขอบเขต หรืออ้างความจน ความรวย อะไรต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ในวาทะกรรม บ้านเมืองก็สับสนไปหมด

19. การทำให้คนไทยมีจิตสำนึกที่ดี มีอุดมการณ์ ความเสียสละ ซื่อสัตย์ สุจริต เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ลืมอัตลักษณ์ความเป็นไทย

20. การลดปัญหาสังคม ทั้งการก่ออาชญากรรม การใช้ความรุนแรงในครอบครัว และการละเมิดกฎหมาย ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ โดยรวม

21. การสร้างกลไกในการป้องกันคนไม่ดี ไม่สุจริต ในการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ และมีกระบวนการยุติธรรมที่ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความเป็นธรรม กับคนทุกระดับอย่างทั่วถึง สามารถต่อสู้คดีและรักษาสิทธิของตนเองได้นะครับ เช่น เรามีกองทุนยุติธรรมวันนี้ เพิ่มเติม

22. การทำให้คนไทยมีภาคภูมิใจในความเป็นชาติ, อันนี้สำคัญที่สุด ภูมิใจในความเป็นชาติ มีประวัติศาสตร์ และมี วัฒนธรรมที่งดงาม และเป็นความงดงามของชาติเรา ควบคู่ไปกับการปรับตัวให้ความสามารถดำรงชีวิตได้ ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ อย่างเหมาะสม ทั้งตะวันตก และตะวันออก

23. การทำให้เด็กและเยาวชนของชาติ เจริญเติบโตบนพื้นฐานของการมีความรู้คู่คุณธรรม ในการที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ในอนาคต

24. การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์ ให้แก่คนไทย

25. การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคม ทั้งประชาชน ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และทุกภาคส่วน เพื่อจะลดความหวาดระแวงระหว่างกัน ดูแลกัน เห็นอกเห็นใจกัน และอยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ที่ทุกคนต้องเคารพและบังคับใช้ ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง 2 ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน ก็ต้องหาทางออกตรงนี้ให้ได้

26. การทำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันนี้ฝ่ายรัฐก็ต้องทำ ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ก็ต้องทำให้ดีนะครับ ประชาชนจะได้มั่นใจ แล้วก็เชือมั่น

27. การทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น จากประชาชน ก็ด้วยตัวของท่านเอง

28 .การทำให้บ้านเมืองของเรา มีความเป็นระเบียบ สะอาด สวยงาม โดยประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ สามารถทำมาหากินได้ อย่างพอเพียง โดยปราศจากผลกระทบทางลบซึ่งกันและกัน และก็ความสะอาดของบ้านเมืองด้วย ต้องไปด้วยกันให้ได้ จะทำยังไง

29. การสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับประชาชนในการเสพย์สื่อและโซเชียล อย่างรู้เท่าทันและมีวิจารณญาณ สำหรับประกอบการตัดสินใจใด ๆ ได้อย่างเหมาะสม จะเชื่อดีหรือไม่เชื่อดี ก็ต้องมีเหตุมีผลมีหลักการของตัวเองด้วย

30. การทำให้คนไทยตระหนักและให้ความสำคัญ กับการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ผมอยากจะเน้นการป้องกัน มากกว่ารักษาโดยไม่จำเป็นอันเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอ ปัญหาปากท้อง ปัญหาในครัวเรือน ปัญหาหลักประกันสุขภาพต่าง ๆ เหล่านี้มากมาย

31. การทำให้ประชาชนเข้าใจว่า บางครั้ง การเรียกร้องของเราในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรเป็นไปไม่ได้ มันอาจจะมีผลกระทบกับคนอื่น

32. การแก้ปัญหาที่หมักหมมยาวนาน คู่ชุมชนเมืองและกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน เช่น ชุมชนแออัดและการจราจรติดขัด เหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญ

33. การทำให้ประชาชนมีความสุข ความพึงพอใจในแนวทางที่ถูกที่ควร โดยไม่อึดอัดกับการอยู่ในระเบียบ วินัยและกฎหมายและกฎเกณฑ์ทางสังคม ที่เราจำเป็นต้องมีอยู่ เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข

34. การทำให้สังคมไทยมีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ รวมทั้งให้เกียรติและดูแล ผู้หญิง เด็ก คนชรา คนพิการ คนด้อยโอกาส ได้อย่างเหมาะสม เป็นสากล

35. การทำให้คนไทยช่วยกันลดขยะและรู้จักการแยกขยะ ลดผักตบชวา โดยรู้หน้าที่ของตน เพื่อจะไปสู่การลดโลกร้อน โดยการประหยัดไฟ ลดการใช้ถุงพลาสติก ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

36. การทำให้คนไทยเข้าใจหลักการประชาธิปไตย อย่างถ่องแท้ ทั้งในการอยู่ร่วมกัน และการทำงานร่วมกันโดยต้องยึดถือ หรือฟังเสียงคนส่วนใหญ่ แต่ต้องดูแลคนส่วนน้อยอย่างเหมาะสม ไม่ขัดแย้งและลงตัว ไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการเรียกร้องสิ่งที่ตนเองต้องการ กลุ่มตัวเองต้องการ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด หรือไม่มีเหตุมีผล หรือในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะกลไกมันมีหลายอย่างด้วยกัน กลไกเรา กลไกโลก พันธะสัญญามากมาย

37.การทำให้ประชาชนจะเข้าใจว่า ประชาพิจารณ์ ประชามติ ประชาธิปไตย คืออะไร วันนี้ตีกันยุ่งไปหมด แม้กระทั่งคำถามผมก็กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นในฐานะพลเมืองที่ดีของชาติ ควรรู้บทบาทหน้าที่ของตนตามกฎหมายที่มีผลผูกมัดต่าง ๆ ตามหลักการ โดยที่เราต้องไม่ยอมให้ใครบิดเบือนข้อเท็จจริง ที่เป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

38. การทำให้ทุกคน ทุกภาคส่วนนักการเมือง พรรคการเมือง มีคุณธรรม จริยธรรม และประเทศไทยมีการเลือกตั้งที่ได้มาซึ่งรัฐบาล ที่มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติและคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ แล้วไม่ลืมดูแลคนส่วนน้อยด้วย หน้าที่ของนักการเมือง พรรคการเมืองก็คือต้องดูแลคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในส่วนที่เลือกตนเข้ามา ดังนั้นรัฐบาลก็ทำหน้าที่แบบนั้น

39. การทำให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และ NGO ต่าง ๆ ได้ร่วมมือกับภาครัฐในการทำงานเพื่อประเทศชาติได้อย่างไรมากกว่าการทำงานที่มุ่งในประเด็น หรือเป้าหมาย หรือกฎหมายของตนเองแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะมีผลกระทบต่อส่วนรวม อย่างรอบด้าน ลองคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประเทศบ้าง วันนี้ดูเรื่องบุคคลไปแล้ว ดูเรื่องกลุ่มไปแล้ว เราต้องมองว่าประเทศเราต้องมีสิทธิมนุษยชนของประเทศไหม ลองไปคิดใหม่ดูแล้วกัน

40. การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยเราต้องมีความเข้มแข็งไปด้วยกัน

41. การทำให้คนไทยเข้าใจถึงปัญหาของประเทศชาติ ของสังคม และของประชาชน ว่าต้นตอของปัญหาที่แท้จริง มาจากอะไร คืออะไร แล้วเราจะร่วมมือเดินหน้ากันแก้ไขได้ อย่างไร ถ้าหากว่าต่างคน ต่างคิด ต่างทำ ต่างคนต่างเอาโจทย์ตัวเองใส่เข้ามาแต่เพียงอย่างเดียวตามความต้องการหรือ ผลประโยชน์ของแต่ละคน เป็นหลัก เราก็จะปฏิรูป เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย พัฒนาทำไม่ได้ เช่น เราต้องพัฒนาตนเอง สร้างความเชื่อมโยง สร้างห่วงโซ่เดียวกัน เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ มีการพัฒนาเกษตรกรรม ควบคู่กับการยกระดับอุตสาหกรรม การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ระหว่างผู้ได้ประโยชน์ กับผู้เสียประโยชน์ การเสียสละ ที่สมควรได้รับการดูแล เยียวยาจนพึงพอใจด้วยกันทุกฝ่าย หรือมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ตามห้วงระยะเวลา เหล่านี้ต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม เราจะมีรายได้ มีผลตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ ได้อย่างไรนอกจากเงินค่าเยียวยาอย่างเดียวผมกำลังคิดอยู่ เพื่อจะชดเชยในเรื่องของการถูกเวนคืนพื้นที่ ถ้ากิจการมีผลประโยชน์จะทำอย่างไร จะให้เขาได้ไหม ก็จะต้องไปเริ่มใหม่ ไปย้อนหลังไม่ได้อยู่แล้ว เดี๋ยวก็จะมาเรียกร้องของเก่า พอให้ของใหม่ ของเก่าก็เรียกร้องเข้าอีก เป็นไปไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นคนไทยต้องคิดใหม่ การใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดมูลค่า ไม่ปล่อยให้รกร้าง ไม่เกิดประโยชน์ เหล่านี้ เป็นต้น

42. การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเราจะทำอย่างไร ให้ทันสมัย เป็นธรรม สามารถทำได้จริง บังคับใช้ได้โดยปราศจากความขัดแย้ง รับฟังซึ่งกันและกัน หากเรายืนคนละฝ่าย ผู้ถือกฎหมายก็อย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่ ผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายก็ประชาชน ก็คิดอีกอย่างหนึ่ง โดยไม่มีพื้นฐานร่วมกัน ก็ไปไม่ได้ทั้งหมดผลประโยชน์ส่วนรวมก็มาไม่ได้ ทำให้คนส่วนน้อยต้องเดือดร้อน ถูกกระจายปัญหาไปถึงทุกคน แทนที่ผลประโยชน์จะไปทั่วถึง กลายเป็นปัญหาไปทั่วถึงทุกพื้นที่เพราะความขัดแย้งระหว่างกัน

43. การแก้ไขปัญหาของประเทศโดยการดำเนินการตามพันธะสัญญาต่าง ๆ ของประชาคมโลกนั้น รวมทั้งข้อตกลงในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทำได้อย่างไร

44. การใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ของเรา เป็นศูนย์กลางทางด้านภูมิศาสตร์ของอาเซียน ในการเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่

45. การทำให้ประเทศไทย CLMV อาเซียนเข้มแข็งไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในลักษณะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เพราะเราจะได้รับผลกระทบ เหมือนกัน จากปัญหา และภัยคุกคามต่าง ๆ ดังนั้น ควรต้องช่วยกันสนับสนุน ช่วยเหลือ และร่วมมือกันทั้งในชาติ และต่างชาติที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อจะหาวิธีการแก้ปัญหา อย่างสันติวิธี ยั่งยืน

46. การทำให้ประเทศสามารถยกระดับฐานะในเวทีระหว่างประเทศ โดยอยู่ในตำแหน่ง บทบาท ในประชาคมโลกที่เหมาะสม ได้รับเกียรติและโอกาสในการเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในกิจกรรมที่เรามีศักยภาพและมีขีดความสามารถ

47. การทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใด ๆ กับส่วนอื่น ๆ ในโลก แต่ทั้งนี้ก็เป็นมติของสหประชาชาติ เราควรจะต้องวางบทบาท และความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆ อย่างไร จึงจะไม่อยู่ในความเสี่ยงไปด้วย แต่เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาของโลกใบนี้ เราจะอยู่อิสระได้ เราจะต้องทำให้ทุกประเทศ ทั้งโลกอยู่กัน อย่างสันติสุข

48. การทำอย่างไรที่เราจะสามารถก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำได้บ้าง ผมว่าหลายคนก็อาจจะบอกว่า ทำไมไม่มีโครงการไทยแลนด์เฟิร์ส ผมว่าเราน่าจะมุ่งตรงนี้ก่อนมากกว่า การที่จะเป็นมหาอำนาจด้านอาหาร และการท่องเที่ยว ด้าน ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเรามีศักยภาพอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงคำพูดเพื่อจะให้กำลังใจและนำพาพวกเราทุกคนให้ร่วมมือกันเป็นมหาอำนาจแบบนี้ดีกว่า อย่างอื่นเราก็มีไว้สำหรับป้องกันตนเอง เรื่องความมั่นคง ป้องกันอธิปไตยตามแนวชายแดน กับป้องกันภัยความมั่นคงภายใน และภัยคุกคามที่เกิดใหม่ทั้งหมด

49. การทำให้สื่อมวลชน โซเชียล และคนไทยทุกคนมีความตระหนักรู้ เข้าใจถึงผลกระทบจากการเสนอข่าว หรือเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งด้วยเจตนาดี หรือไม่ดี ก็ตาม ย่อมมีผลต่อความรู้สึก และการรับรู้ของสังคมในทางที่ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง รวมทั้ง กระทบต่อความเชื่อมั่นจากนานาประเทศซึ่งส่งผลต่อประเทศชาติโดยตรง ทางเศรษฐกิจเช่น การค้า การลงทุน การส่งออก นำไปสู่ปัญหาปากท้อง รายได้ ขายสินค้าของประชาชนโดยอ้อม ที่จะเกิดขึ้นตามมา ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เกิดไม่ได้

50. การทำให้คนไทยยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยตลอดไป ไม่เสื่อมคลาย เพื่อจะเป็นหลักชัยของประเทศ อีกนานเท่านาน