วันจันทร์, พฤษภาคม 22, 2560

สามปีแล้วสินะ: ประชาชนต่อสู้เพื่อสิทธิได้แค่ไหน อะไรบ้าง ? - รายงานพิเศษ iLAW



การชุมนุมต้านรัฐประหารวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 บริเวณสกายวอล์กสถานีบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ ภาพจาก banrasdr photo


สามปีแล้วสินะ: ประชาชนต่อสู้เพื่อสิทธิได้แค่ไหน อะไรบ้าง ?


19 พฤษภาคม 2017
โดย admin iLAW

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ระยะสามปีการคงอำนาจรัฐบาล คสช. มีเรื่องราวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเกิดขึ้นมากมาย ยิ่งในยุคที่มีการปิดกั้นจากรัฐภาคประชาชนยิ่งต้องหาวิธีการแสดงความคิดเห็น บ้างเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ บ้างเป็นการชุมนุมของผู้ถูกละเมิด และมีบ้างที่พยายามใช้ช่องทางกฎหมายที่มีอยู่น้อยนิดในการต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ซึ่งทั้งหมดเป็นบทเรียนสำคัญที่ภาคประชาชนไทยได้เรียนรู้
 
แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านอำนาจ

หลังการยึดอำนาจการปกครองได้ไม่กี่ชั่วโมง มีประชาชนบางกลุ่มออกมาแสดงอารยะขัดขืน ต่อคณะ คสช. ทั้งในเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ฯลฯ นำไปสู่การจับกุม และตั้งข้อหา “ชุมนุมทางการเมือง” ทั้งในศาลพลเรือนและศาลทหาร เมื่อการแสดงออกแบบต่อต้านตรงๆ ทำได้ลำบาก ประชาชนจึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่ทหารตำรวจก็ยังไม่เปิดช่องว่างให้แสดงออกได้แม้เพียงกิจกรรมเล็กๆ โดยระหว่างพฤษภาคม 2557- มิถุนายน 2557 ตำรวจและทหาร ได้กวาดจับประชาชนที่ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ชูป้าย ชูสามนิ้ว กินแซนด์วิช กินแม็คโดนัลด์ อ่านหนังสือ 1984 ฯลฯ จำนวนมาก รวมทั้งคนที่แสดงอารยะขีดขืนไม่เข้ารายงานตัวตามที่ถูกเรียกก็ถูกดำเนินคดี ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.



ผู้เข้าร่วมกิจกรรมชูสามนิ้วที่ห้าง เทอร์มินัล 21 ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับขึ้นรถแท็กซี่ ภาพจากไทยรัฐออนไลน์


14 กุมภาพันธ์ 2558 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่(รัก)ลัก" เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งในปี56ที่ถูกยกเลิกท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจราวสองกองร้อยและตำรวจนอกเครื่องแบบอีกจำนวนมากที่กระจายรอบพื้นที่ แม้กิจกรรมจะดำเนินไปได้แต่ก็มี นักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัวและถูกนำไปสอบปากคำที่ สน.ปทุมวัน รวม 4 ราย ก่อนทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ ในข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน ปรากฎการณ์ที่น่าสนใจหลังการจับกุมนักกิจกรรมคือการมีประชาชนจำนวนหนึ่งไปรวมตัวที่หน้าสน.ปทุมวันเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบให้การเคลื่อนไหวในครั้งต่อๆมา

22 พฤษภาคม 2558 วันครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นักกิจกรรมหลายกลุ่มรวมกันที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ระหว่างทำกิจกรรม ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบบุกเข้าควบคุมตัวผู้ร่วมกิจกรรม 32 คน ไปที่ สน.ปทุมวัน ภายหลังมีการออกหมายจับนักกิจกรรม 9 คน ในความผิดฐานชุมนุมเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558

หลังจากพ้นปีแรกของ คสช. การแสดงออกเพื่อต่อต้าน คสช. โดยตรงมีให้เห็นน้อยลง อาจจะเป็นเพราะการปิดกั้นและจับกุมทุกวิถีทางที่เข้มงวดมาก ถือได้ว่า คสช. ยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จและยิ่ง คสช. อยู่ในอำนาจได้เข้มแข็ง แรงสนับสนุนการต่อต้านการรัฐประหารแบบตรงๆ ก็ลดลงตาม เครือข่ายประชาชนจึงปรับตัวและเคลื่อนไหวคัดค้านอำนาจของ คสช. ในเป็นประเด็นเฉพาะ เมื่อมีการใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าที่จะยอมรับได้ อย่างการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัวผู้ถูกคุมตัวโดยอำนาจพิเศษ เช่น การจัดกิจกรรมยืนเฉยๆเรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนาเมืองสุข การทำกิจกรรมติดโพสต์อิทเรียกร้องให้ปล่อยตัวแปดแอดมิน หรือการรวมตัวที่หน้าศาลทหารและหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพเมื่อครั้งนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกฝากขัง เป็นต้น



เจ้าหน้าที่พยายามยึดลูกโป่งจากผู้ร่วมกิจกรรมปล่อยลูกโป่งที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันที่ 27 มิถุนายน 2559 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัวจากการแจกใบปลิวโหวตโนที่เคหะบางพลี ภาพจาก banrasdr photo


รวมตัวคัดค้านการใช้อำนาจเฉพาะเรื่อง ยังพอทำได้บ้าง


ทันทีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... หรือ ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 เสียงคัดค้านจากหลายภาคส่วนก็ดังขึ้น ภาคประชาชนหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม ธุรกิจ รวมทั้งชมรมแพทย์ชนบท ต่างออกมายื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ยุติร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว รวมทั้งการรวมตัวชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล การเคลื่อนไหวครั้งนี้นำโดยคนหน้าใหม่จากหลายกลุ่มที่ไม่ใช้ขั้วการเมือง และไม่เคยขัดแย้งกับรัฐบาลมากก่อน แรงกดดันทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ อย่างรวดเร็วภายใน 22 วัน



เครือข่ายประชาชนยื่นหนังสือคัดค้านร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือพ.ร.บ.จีเอ็มโอที่ทำเนียบรัฐบาล 9 ธันวาคม 2558


17 กุมภาพันธ์ 2560 เครือข่ายปกป้องอันดามันและประชาชนที่จำนวนมากมาชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ เพราะเห็นว่า โครงการดังกล่าว อาจสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชนเจ้าหน้าที่ใช้กลวิธีหลากหลายเข้าควบคุมการชุมนุม อาทิ ปิดล้อมและห้ามส่งอาหารและเครื่องดื่มเข้าไปให้ผู้ชุมนุม จนท้ายที่สุด รัฐก็ใช้จับกุมแกนนำเข้าค่ายทหาร แต่ยังมีผู้ชุมนุมทยอยมาสมทบกันเพิ่ม จนท้ายที่สุดรัฐบาลก็ยอมถอยโดยการยกเลิกรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และ EHIA ฉบับเดิม ซึ่งเท่ากับเป็นการชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราว



กลุ่มประชาชนชุมนุมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล 17 กุมภาพันธ์ 2560


ธันวาคม 2559 ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตร่วมกันลงชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org กว่าสามแสนคน เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยมีเครือข่ายพลเมืองเน็ต เป็นผู้เริ่มรณรงค์ มาตั้งแต่ปี 2558 จนเป็นกระแสไปทั่วในโลกออนไลน์ รวมทั้งมีชาวเน็ตบางส่วนแสดงความไม่พอใจด้วยการนัดกันเข้าไปกดปุ่ม F5 จนทำให้เว็บไซต์หน่วยงานรัฐบางเว็บใช้งานไม่ได้ไปชั่วขณะหนึ่ง แม้ต่อมา สนช. จะลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยคะแนนเอกฉันท์ แต่ก็ปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปบางส่วนเพื่อลดแรงกดดันจากสังคม



ภาพประชาสัมพันธ์ของเพจพลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกทเวย์ เชิญชวนผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ไปกดปุม F5 พร้อมๆกันที่หน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ


ระหว่างปี 2557-2560 มีผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นที่ไม่ใช่การต่อต้านการรัฐประหารหรือ คสช. โดยตรง หลายครั้ง และโดยมีผู้เคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อยก็ถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปปรับทัศนคติ เช่น ชาวบ้านในจังหวัดร้อยเอ็ดที่เคลื่อนไหวเรื่องที่ดิน, กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี, กลุ่มอนุรักษ์ดงมูลและกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่นที่เคลื่อนไหวจากเหตุไม่เห็นด้วยกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ

การเคลื่อนไหวบางประเด็นนำมาซึ่งการตั้งข้อหาดำเนินคดี เช่น กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการสร้างท่าเรือปากบารา, กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการทำเหมืองทองในจังหวัดพิจิตร, กลุ่มจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยที่คัดค้านการออกกฎหมายปิโตรเลียม ฯลฯ แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ใช้มาตรการเจรจาและกดดันทางอ้อมแทนโดยไม่ดำเนินคดีต่อการเคลื่อนไหวของประชาชน

ขอตรวจสอบ “ธรรมาภิบาล” ของผู้ปกครองบ้าง

ในช่วงปลายปี 2558 สื่อมวลชนต่างนำเสนอข่าวกรณีการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จนเป็นประเด็นที่สังคมพูดถึงอย่างกว้างขวาง ซึ่งกองทัพบกในฐานะผู้จัดสร้างถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ มีการแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการทุจริต และผู้ที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต ขณะเดียวกันก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตในสถานที่จริง ซึ่งในเวลาต่อมา ประชาชนกว่า 40 ถูกควบคุมตัว และกว่าสิบคนถูกตั้งข้อหาจากการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์หรือทำกิจกรรมตรวจสอบความโปร่งใส



ขบวนรถไฟที่นักกิจกรรมและประชาชนนั่งไปทำกิจกรรม 'นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง' ในวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ถูกตัดที่สถานีรถไฟบ้านโป่งก่อนเจ้าหน้าที่ทำการควบคุมตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ ภาพจากเพจ banrasdr photo


กุมภาพันธ์ 2560 ไอลอว์ เปิดเผยผลการตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์เกี่ยวกับการขาดประชุม สนช.ของสมาชิก สนช.จำนวน 7 คน ว่าอาจขาดสมาชิกภาพ เพราะข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 กำหนดให้สมาชิก สนช.ต้องลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน แม้ว่า ประธาน สนช. จะออกมายืนยันว่า สนช.ทั้ง 7 คน ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสมาชิกภาพ เพราะมีการลาประชุมแล้ว แต่ก็ส่งสัญญาณให้ทุกคนในสังคมหันมาจับตาและสนใจการทำงานของ สนช. มากขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกรณีที่ประชาชนไม่ปล่อยให้ คสช. ใช้อำนาจไปเพียงลำพังแต่ร่วมกันติดตามหาข้อมูล และวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น เช่น การตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำสามลำจากจีน การใช้จ่ายงบประมาณในทริปเดินทางไปฮาวาย การตั้งบริษัทของตัวเองในค่ายทหาร ของลูกชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา เป็นต้น

ใช้ช่องทางคัดค้านอำนาจ เท่าที่กฎหมายเปิดไว้

22 พฤษภาคม 2558 พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กับประชาชนรวม 15 คน ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกรวมห้าคน ในความผิดฐานเป็นกบฏ ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการหรือแบ่งแยกราชอาณาจักรโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จากการเข้ายึดอำนาจ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 โดยให้เหตุผลว่า จำเลยพ้นจากความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีตามศาลชั้นต้น ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการยื่นฎีกา



ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรม พลเมืองฟ้องกลับของกลุ่ม 'พลเมืองโต้กลับ' ฟ้องพล.อ.ประยุทธ์และพวกในความผิดฐานกบฎ


10 พฤษภาคม 2559 ไอลอว์พร้อมประชาชน 107 รายชื่อ ยื่นจดหมายถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า มาตราที่ถูกยื่นฟ้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 ให้ยกฟ้อง



จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ยื่นหนังสือถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 พฤษภาคม 2559


1 มีนาคม 2560 ตามที่จาตุรนต์ ฉายแสง ยื่นฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ กรณีถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการยกเลิกหนังสือเดินทางของจาตุรนต์ เพราะเห็นว่า จาตุรนต์รับอนุมัติให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรอยู่เป็นประจำ และก็เดินทางกลับเข้ามาทุกครั้ง ไม่มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนีคดี มาตรการดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการใช้สิทธิอย่างรุนแรง ให้เพิกถอนการยกเลิกหนังสือเดินทาง

นอกจากนี้ก็มีกรณีพลเรือนที่ตกเป็นจำเลยในศาลทหาร อย่างน้อย 15 คดีที่เห็นว่า คดีของตนไม่ควรถูกพิจารณาที่ศาลทหาร พยายามคัดค้านอำนาจศาลทหารผ่านการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างศาล เพื่อจะได้ไปต่อสู้คดีที่ศาลพลเรือนตามปกติ

การต่อสู้กับการใช้อำนาจในยุคของรัฐบาล คสช. โดยอาศัยหวังพึ่งสถาบันตุลาการยังมีตัวอย่างให้เห็นอีกมาก บางคดีศาลก็วินิจฉัยไปในทางที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนมากกว่ารัฐ ขณะที่หลายคดีแม้ประชาชนไม่ได้รับผลคดีตามที่ต้องการ แต่ก็ได้ผลลัพธ์กลับมาเป็นการวางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

บทสรุปที่ยังไม่ใช่จุดจบ

มากบ้างน้อยบ้าง คงจะเห็นกันว่า ช่วงเวลาสามปีของ คสช. มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ลุกขึ้นต่อสู้ประเด็นเรื่องสิทธิในหลากรูปแบบ ท้ายที่สุดแม้ไม่สามารถต้านทานการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จได้ทั้งหมด แต่ก็เกิดเป็นเรื่องราวและกระแสสังคมใหม่ๆ ขึ้นอยู่เสมอ สำหรับประชาชนบางคนที่ถูกดำเนินคดี พวกเขาต่างก็ได้แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นต่อๆ ไปจะต้องเตรียมตัวรับมือจะจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตัวเองอย่างไรบ้าง

นอกจากฝ่ายประชาชนจะได้บทเรียนอันล้ำค่ามากมายในช่วงเวลาสามปีนี้แล้ว ฝ่ายรัฐเองก็ได้ไม่เพียงนิ่งเฉยอยู่ในโลกที่ใช้อำนาจแบบเดิมๆ แต่ก็พยายามปรับตัวหามาตรการใหม่ๆ ทั้งทางกฎหมายและจิตวิทยามาปิดกั้นการเคลื่อนไหวแสดงออกของประชาชนเช่นกัน

เมื่อเรากำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่สี่ของ คสช. อย่างมาดมั่น บทเรียนทั้งที่เจ็บปวดและที่ประสบความสำเร็จของทุกฝ่ายต่างถูกบันทึกไว้ เพื่อหวังว่าเราจะช่วยกันพาสังคมไทยก้าวไปโดยไม่ต้องซ้ำรอยเดิม