วันอาทิตย์, พฤษภาคม 21, 2560

“การวางวิสัยทัศน์ของรัฐบาลชุดปัจจุบันถูกต้องแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ การลงมือทำให้เป็นจริง"

เสียของ หรือ ไม่เสียของไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครพูดเท่านั้น มันขึ้นกับว่าใครเป็นคนฟังด้วย

เฉพาะเรื่องผลงานสามปีที่ประยุทธ์ขอเลื่อนไปแถลงตอนตุลา อ้างว่ารำคาญตอนนี้ยี้กันมาก แท้จริงรอตัวเลขงามๆ ทำเสร็จแล้วเอามาคุยมากกว่า

ตอนนี้ดูท่าจะดี สำหรับสุขภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าวัดด้วยความสุขประชาชนตามโพลนิด้า พบว่า ๔๒ % รู้สึกเหมือนเดิม ไม่รู้ว่าเดิมนั่นสุขมากน้อยแค่ไหน

แต่ถ้าเอาตรรกะของการทำรัฐประหารมาเป็นเครื่องชี้แนะ ของเดิมก็น่าจะไม่ดีเพราะ คสช.ยึดอำนาจเพื่อทำให้บ้านเมืองดีขึ้นใช่ไหมล่ะ

คะแนนรองลงมาเกือบ ๓๓ % ที่บอกว่าตอนนี้ดี๊ดี เพราะไม่มีการชุมนุมวุ่นวายทางการเมือง บ้านเมืองสงบเรียบร้อย


ส่วนที่มีสื่อต่างประเทศก่นด่ากันระงมว่าทหารละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง คนสำคัญของบ้านเมืองไปทำเซี้ยวๆ ในต่างแดนบ้าง เมินเสียได้ ในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครเห็น (ข่าว)

ข้อเสียอย่างหนึ่งที่นิด้าค้นพบจากโพลอยู่ที่ ไม่ว่าจะสุขเท่าเดิมหรือมากขึ้น อย่าเอาไปเปรียบกับปีที่แล้วนะ ไม่งั้นจะเห็นว่าแย่ลง

ดังนั้นที่ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. พูดไว้เมื่อสามสี่วันก่อนว่า “ไม่มีอะไรเสียของแน่นอน” หรือที่ ผบ.ทบ.พูดเมื่อวานซืน (๑๙ พ.ค.) บอกว่า

ปัญหาเศรษฐกิจที่มองว่ายังไม่ดีขึ้นนั้น...ได้พบผบ.ทบ.มาเลเซียเขาก็บอกว่าเศรษฐกิจเขาแย่กว่าเราอีก


บิ๊กเจี๊ยบเลยโดนสื่อผู้ชำนาญข่าวต่างประเทศคนหนึ่งเถียงให้ว่า “ทั้ง ๆ ที่ ข้อมูล World Bank และที่ต่าง ๆ ชี้ว่าศก.ไทยเติบโตต่ำเตี้ยประมาณ ๒-% มาตั้งหลายปี แย่กว่า ทุกประเทศในอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทาง ศก.เร็วสุดแห่งหนึ่งของโลก (ยกเว้นไทย)”

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ชี้ว่ารายชื่อประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วของเอเซียตะวันออก ตามรายงานในฟอร์บ “ไม่มีไทยนะครัช เสียใจด้วย”


ถึงอย่างนั้น ถ้าไปอ่านรายงานของบีบีซีไทย เรื่องสามปีเศรษฐกิจไทยภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ ก็จะพบคำชมเต็มพรืด

มีการยกเอาตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคมาเทียบเคียงกันสี่แห่ง (ยกเว้นเวียตนามที่เติบโตเร็วที่สุด) จะเห็นไทยตกฮวบเมื่อปี ๕๗ ตีตื้นในปีต่อมา ขยับขึ้นมานิดในปีนี้ และคาดหวัง หรือ ประมาณการว่าปีหน้าจะดีขึ้นไปกว่านี้อีก จีดีพีจะอยู่ที่ ๓.๕ ถึง ๔

แต่อย่าไปดูตัวเลขจีดีพีของไทยเมื่อปี ๒๕๕๕ ล่ะ ตอนนั้นมันสูงปรี๊ด ๗.๒

อย่างไรก็ตาม ต้องไปฟังนายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย “ให้ ๘ คะแนนจากคะแนนเต็ม ๑๐ สำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในรอบ ๓ ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล”


แม้นว่านายคังจะมีคำวิจารณ์ติดปลายนวมเล็กน้อย ให้ปรับปรุงกระบวนการอนุญาตการลงทุน ช่วยร่นเวลาให้สั้นและเสริมประสิทธิภาพหน่วยงานรับผิดชอบหน่อย พวกนักลงทุนต่างชาติจะได้ไม่ต้องคิดมากถ้าอยากจะมาไทย

บีบีซีระบุในรายงานพิเศษชิ้นนี้ด้วยว่า “ภาคเอกชนดูเหมือนจะพอใจกับสิ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินการไว้ ซึ่งนายคังอธิบายว่า รัฐบาลชุดนี้มีการวางแนวนโยบายสำหรับอนาคตทั้งระยะสั้นห้าปี ระยะกลางสิบปี และระยะยาว ๒๐ ปี ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ซึ่งมีการวางแผนระยะสั้นๆ”

ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยกล่าวกับบีบีซีไทยอีกว่า “การวางวิสัยทัศน์ของรัฐบาลชุดปัจจุบันถูกต้องแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ การลงมือทำให้เป็นจริง (Implementation)” อ้าว

ถ้าเราสังเกตุจะเห็นว่า คสช. ผ่านทาง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ใช้นโยบายคล้ายคลึงกับรัฐบาลก่อน อาทิ “ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและขนาดกลาง หรือเอสเอ็มอี การพัฒนาทักษะแรงงาน การลงทุนจากภาครัฐ” ล้วนแต่เป็นทฤษฎีบริหารเศรษฐกิจมหภาคตามหลักวิชาการที่ยอมรับกัน

ด้านการท่องเที่ยวซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมเอกในเศรษฐกิจไทยที่เป็นความหวังโดดๆ ของ คสช. ขณะนี้ นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่บอกกับบีบีซีไทยว่า “เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องตามที่เอกชนต้องการ”

ขนาดคาดหมายว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ ๑๗ ของจีดีพีในปีที่ผ่านมา เป็นเติบโตมากกว่าร้อยละ ๒๐ ของจีดีพีในปีนี้

ซึ่งนั่นก็เป็นการคาดหวังที่ขึ้นอยู่กับ “การลงมือทำให้เป็นจริง” ไม่ใช่มโน