วันศุกร์, พฤษภาคม 05, 2560

รายงานพิเศษ BBC Thai : เสรีภาพวิชาการ “ถูกคุกคาม” ไม่น้อยกว่าเสรีภาพสื่อ



PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/GETTY IMAGES
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รายงานพิเศษ : เสรีภาพวิชาการ “ถูกคุกคาม” ไม่น้อยกว่าเสรีภาพสื่อ


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวอิสระ บีบีซีไทย
3 พฤษภาคม 2017


3 พ.ค. วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก กลุ่มผู้สื่อข่าวในประเทศไทยภายใต้ชื่อ "คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป" ออกรณรงค์คัดค้านร่างกฎหมายควบคุมสื่อมวลชนฉบับใหม่ ที่พวกเขามองว่าจะออกมาเพื่อ "ตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน" ไม่ต่างจากในรั้วมหาวิทยาลัย เสรีภาพของนักวิชาการถดถอย

ในรอบ 3 ปีหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชุดความรู้-ความเชื่อ-ความจริงที่แตกต่างจากรัฐ กลายเป็น "สิ่งต้องห้าม" สำหรับสังคมไทย นักวิชาการและนักวิจารณ์ถูกเรียกไปรายงานตัว-กักตัว-ปรับทัศนคติ ทำให้มีคดีติดตัว การล้มกิจกรรมที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฏฐาธิปัตย์

แม้ในระยะหลัง การใช้ "อำนาจดิบ" จะลดลง แต่ปฏิบัติการสอดส่องยังดำรงอยู่ บรรยากาศแห่งความกลัวยังปกคลุมรอบตัว "นักคิด(จะเคลื่อนไหว)" แม้แต่นักกฎหมายที่เข้าไปอยู่ในโครงสร้างอำนาจของคณะรัฐประหาร ยังบอกว่า "เมื่อเสียงปืนดัง นักกฎหมาย(ต้อง)นั่งลง"

นี่จึงคล้ายเป็นทางที่ต้องเลือก ระหว่างเป็น "ปัญญาชนผู้สงบเสงี่ยม" หรือกระโจนไปเป็น "ลูกข่าย" ของ คสช.





ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ คือปัญญาชนคนแรกๆ ที่ถูกตำรวจ-ทหารรวบตัวคางานเสวนาที่จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ด้วยเหตุผล "อาจส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาของชาติ และเพื่อการป้องกันมิให้เกิดความแตกแยก" ก่อนควบคุมตัวไปสอบสวนที่สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แม้อาจารย์และนักศึกษารวม 7 คนไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ แต่ทำให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพในการเรียนรู้ถูกระงับได้กระทั่งในชั้นเรียน

ในวาระ 3 ปีของการยึดอำนาจ ศ.นิธิเห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการยังถดถอย มีหลายเรื่องที่พูดไม่ได้โดยอิสระ หลายกิจกรรมนักวิชาการตั้งใจจะจัด แต่ไม่ได้รับอนุญาต



NIDHI EAWSRIWONG
ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการรุ่นใหญ่ เคยถูกตำรวจและทหารควบคุมตัวหลังกล่าวบรรยายในงานเสวนาหัวข้อ "ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 18 ก.ย. 57


"ถ้าคุณพยายามจะจัดให้ได้ ก็ต้องจัดในสิ่งที่ไม่ออกมาพูดโดยตรง แต่ทำในเชิงสัญลักษณ์ หลบเลี่ยงไป ดังนั้นมันทำให้ตัววิชาการก้าวหน้าต่อไปได้ยาก เพราะถ้าเป็นตัววิชาการต้องตรงไปตรงมา ต้องเปิดให้คนอื่นวิจารณ์คุณได้ทุกแง่มุม โต้แย้งคุณได้ ถ้าต้องหลบเลี่ยง มันเป็นแท็กติก ซึ่งจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองไป ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ดังนั้นการเกิดขึ้นของข้อเสนอทางวิชาการจึงเป็นไปไม่ได้เลย ไม่เคยมีครั้งไหนที่ความเป็นวิชาการถูกกระทบมากขนาดนี้" ศ.นิธิบอกกับบีบีซีไทย

แม้ในทางทฤษฎี "เสรีภาพทางวิชาการ" กับ "เสรีภาพทางการเมือง" สามารถแยกออกจากกันได้ แต่ไม่ใช่กับประเทศไทย เขาชี้ว่า "เมื่อการยึดอำนาจโดย คสช. ไม่ชอบธรรม จึงต้องใช้ความกลัวกดเอาไว้" นี่คือความแตกต่างจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2534 ที่ยังปล่อยให้นักวิชาการพูดได้-เขียนหนังสือได้


RUFUS COX/GETTY IMAGES
สองวันหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 มีประชาชนออกมาประท้วงใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งนักวิชาการชี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมของ คสช. และไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ


นอกจากประสบการณ์ถูกคุมตัวระหว่างกล่าวบรรยาย บทความ "ทหารมีไว้ทำไม" ของศ.นิธิ ยังสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งแก่นายพล คสช. ทำให้ขุนทหารออกมาโจมตีกลับฐานตั้งคำถามเชิงลบต่อสถาบันกองทัพ เมื่อมองย้อนกลับไปในทั้ง 2 เหตุการณ์ นักวิชาการรุ่นใหญ่ไม่คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา จะส่งผลกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการรายอื่นๆ เพราะเขายังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมจำนวนมาก

"ถ้าคิดว่านี่คือการเชือดไก่ให้ลิงดู มันไม่ใช่ เพราะลิงดูจนเบื่อหมดแล้ว มันไม่ใช่แค่ 1-2 ราย" เขาพูดพลางหัวเราะ

ไม่เพียงใช้อำนาจและเครื่องมือทางกฎหมายสร้างความหวาดกลัว การดึงนักวิชาการในโครงสร้างส่วนบนของสถาบันการศึกษาไปร่วม "เครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย" ยังถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงปัญญาชนทางอ้อม




แต่ในทัศนะของ ศ.นิธิ บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่ได้ช่วยเพิ่มความชอบธรรมให้แก่คณะรัฐประหาร หรือสร้างเสียงฮือฮาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วไป เพราะ "ไม่เป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสอย่างเต็มที่"

"ถ้าลองตั้งคนอย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกขบวนการเสรีไทย) ไปเป็น สนช. สิ เชื่อว่าอาจารย์ธรรมศาสตร์อาจอึ้ง ไม่อยากคัดค้านคณะรัฐประหารมากแบบทุกวันนี้ แต่ความจริงคือคนที่ คสช. เลือกไป ไม่ได้เป็นที่ยอมรับ เอาเข้าไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร ถามว่าเป็นนักกฎหมายระดับท็อปไหม ต้องบอกว่าพวกเขาตายไปแล้วในทางวิชาการ เพราะถูกท้าทายโดยนักวิชาการรุ่นใหม่ และไม่เคยตอบคำถามใดๆ ได้เลย"

สถานการณ์ไม่อนุญาตให้นักวิชาการมีกระทั่งความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง

เขามองกฎหมายเป็นเรื่องเทคนิค คนทำกฎหมายจะทำแบบช่างตัดผม คือรับคำสั่งลูกค้ามาแล้วตัดไปตามนั้น แต่กฎหมายจะมีความหมายมากกว่าก็ต่อเมื่อเป็นประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้ถกเถียงกันบ้างก่อนลงมือเขียน ไม่ใช่ยึดอำนาจแล้วบอกว่าเราจะจัดการสิ่งที่ดีที่สุดให้

หากถามว่าเป็นความย้อนแย้งหรือไม่ที่นักวิชาการบางส่วนเลือกปิดปากตัวเอง ส่วนนักวิชาการที่กล้าประกาศเสรีภาพทางความคิดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ วิพากษ์วิจารณ์ทุกสถาบันทางการเมืองอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน กลับต้องไปใช้ชีวิตในต่างแดน กลายเป็น "บุคคลต้องห้าม" สำหรับประเทศนี้ ศ.นิธิบอกว่า "มันไม่ได้ย้อนแย้งแค่นี้นะ เพราะคุณสมบัติของนักวิชาการคือ integrity คือต้องความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ไม่ใช่ honesty คือความซื่อสัตย์ต่อคนอื่น แต่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ไม่อนุญาตให้คุณจะมีกระทั่งความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง"



TITIPOL PHAKDEEWANICH
นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ต้องรับโทรศัพท์จากทหารที่โทร.สอบถามว่าจะมีนักศึกษาเคลื่อนไหวเรื่องการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร เป็น "หมุดหน้าใส" หรือไม่ ช่วงต้นเดือน เม.ย.


นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นอีกคนที่ถูกทหารตรวจสอบ-ส่งเทียบเชิญให้ไปพูดคุย 5 ครั้ง เคยถูกขอร้องแกมบังคับให้ยกเลิกเวทีเสวนาวิชาการ เขาเชื่อว่าเหตุที่ถูก "สอดส่อง" เป็นเพราะทหารมองคณะรัฐศาสตร์อยู่ในสถานะ "ต้องเฝ้าระวังเพราะอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง" อีกทั้งการตีความกฎหมายยังแตกต่างกัน จากเจตนาที่ต้องการสอนนักศึกษาให้รู้จักเคารพสิทธิมนุษยชน จึงถูกฝ่ายความมั่นคงเบี่ยงเบนไปเป็นการยุยงปลุกปั่น ขัดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 นอกจากนี้ผู้นำ คสช. ยัง "ติดป้าย" ให้นักวิชาการว่า "ไม่รักชาติ" หรือ "ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล" ทำให้คนพูดต้องนึกว่าถ้าพูดไปแล้วจะนำไปสู่อะไร จนเกิดภาวะเซ็นเซอร์ตัวเอง

"จู่ๆ มีทหารมาเดินอยู่ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เรื่องปกตินะครับ ต่างประเทศเขาตกใจมาก แต่มหาวิทยาลัยไทยเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องกำหนดท่าที บางครั้งสังคมไทยก็ทำเรื่องไม่ปกติให้กลายเป็นปกติ เช่น ยอมรับการรัฐประหารว่าเป็นกลไกแก้ปัญหาและช่วยสร้างประชาธิปไตย ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยไม่เห็นปัญหาเสรีภาพทางวิชาการ คือปัญหาใหญ่ของเรา" นายฐิติพลกล่าว



WASAWAT LUKHARANG
กรธ.ปฏิบัติหน้าที่มากว่า 500 วันแล้ว เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก นับจากหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งแต่งตั้ง 5 ต.ค. 2558


ขณะที่ ศ.อุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้เข้าไปทำหน้าที่โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวกับ บีบีซีไทย ยอมรับสภาพถูกจำกัดเสรีภาพทางวิชาการบางประการ เมื่อต้องเขียนรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบ คสช. แม้ตัวเขาจัดอยู่ในกลุ่มที่มี "สิทธิพูด" มากกว่านักวิชาการคนอื่นๆ

"ในทางวิชาการ ถ้าคุณค้น คิด ไม่มีใครไปจำกัดคุณได้เพราะมันอยู่ในหัวคุณ แต่เมื่อไรที่คุณสื่อสารออกมาด้วยคำพูด การเขียน ถึงตอนนั้นคุณต้องใช้เสรีภาพโดยรู้ว่าความเหมาะควรคือแค่ไหน และต้องรับผลที่จะตามมา.. การที่เราไปอยู่ในสังคมหนึ่ง ไม่ใช่เราโง่หรือฉลาด เราเคารพตัวเองหรือไม่เคารพตัวเอง แต่เราไปทำอะไร และประเมินผลลัพธ์ที่ออกมาอย่างไร" ศ.อุดมกล่าว

พร้อมยืนยันไม่มีเสรีภาพใดที่ใช้ได้โดยไร้ขอบเขต ก่อนตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มคนที่ออกมาเรียกหาเสรีภาพ มักเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดในเชิงการเมือง "เสรีภาพมักเป็นปัญหาของคนที่ถูกกระทบสิทธิ เมื่อไรก็ตามที่การเมืองไม่สนองตอบต่อประโยชน์ที่เขาคิด ก็จะรู้สึกว่าเสรีภาพของเขาถูกจำกัด"

ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของคณะนิติศาสตร์ มธ. มองเพื่อนร่วมคณะที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "นิติราษฎร์" ด้วยความชื่นชมที่คิดด้วยปรัชญา ซื่อสัตย์ต่อความคิดตัวเอง และกล้าหาญในการแสดงออกตามความเชื่อ ส่วนจะนำไปสู่ผลอะไรในทางการเมืองและภาพทางสังคม เป็นสิ่งที่นักวิชาการกลุ่มนี้ต้องรับเอาเอง



HATAIKARN TREESUWAN
นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รอให้กำลังใจขณะศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ขึ้นศาลทหาร คดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. เดือนมิ.ย. 2557


ภาพ ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ เดินขึ้นศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 หลังถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ยังสะท้อนใจใครหลายคนโดยเฉพาะบรรดาลูกศิษย์ ซึ่ง ศ.วรเจตน์เคยบอกว่า "ไม่เคยคิดเลยว่าทำอะไรผิด ถ้าย้อนกลับไป ก็ทำเหมือนเดิม"

แต่ ศ.อุดมชวนอุปมาอุปไมยให้คิดอีกมุม "มันเหมือนเวลาคุณเดินไปตามท้องถนน ถ้าเชื่อว่าท้องถนนปลอดภัย ก็เดินไป แต่สิ่งที่คุณเชื่อกับสิ่งที่เป็นจริงอาจเป็นคนละเรื่องก็ได้ คุณเดินไปอาจมีนกมาขี้รด มีคนมาชกคุณ ก็เป็นเรื่องที่ต้องประเมินความเป็นจริงในสิ่งที่จะทำ"

เมื่อให้ย้อนกลับมามองตัวเองบ้างกับภาพลักษณ์ "ปัญญาชนใต้ปีกอำนาจนิยม" และ "คนในอุตสาหกรรมร่างกฎหมาย" โฆษก กรธ. บอกว่าไม่มีใครใช้งานเขาไปตลอดชีวิต ก็เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เท่านั้น ส่วนจะถือว่าเป็นหน้าที่มีค่าหรือไม่ ขึ้นกับการตีราคา

"บางคนไปตีค่าว่าพวกนี้อยากได้เงิน ได้หน้า ได้เกียรติ ก็แล้วแต่จะคิด ถ้าพูดแบบสัจธรรม ถามว่าผมได้เงินเยอะ เอาไปทำอะไร ผมก็กินได้ 3-4 มื้อเท่าเดิม หรือบางคนอาจคิดว่ามีตำแหน่งโก้หรูเอาไว้กำหนดคนอื่น สำหรับผมสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงฉากหน้า ตอนเป็นอาจารย์ก็ไปสอน พอมาเป็น กรธ. ก็มาช่วยแสดงความเห็น คิดว่าเรากำลังทำหน้าที่ที่ไม่ได้ทำร้ายใคร บางคนบอกไอ้นี่สนับสนุนกลเกมการเมือง ทีแต่ก่อนบ้านเมืองมีคนยกพวกมาตีกัน ผมทุกข์ทุกวัน หรือเขาไม่ทุกข์ เขาไปกำกับสังคมให้เป็นไปตามอุดมคติได้หรือ เขาบอกการยึดอำนาจผิดกฎหมาย ใช่ สำหรับกฎหมายที่คุณเรียนมันผิด แต่สำหรับมิติทางสังคม คุณใช้กฎหมายตัดสินทุกเรื่องได้หรือ"

เมื่อเสียงปืนดังขึ้น นักกฎหมายนั่งลง

อ. อุดม อธิบายเหตุผลที่ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์อย่างเขา เลือกใช้ "แว่นรัฐศาสตร์ มาอธิบายการร่วมงานกับคนฉีกรัฐธรรมนูญ

"มันมีคำหนึ่งที่เราพูดกันตลอด "เมื่อเสียงปืนดังขึ้น นักกฎหมายนั่งลง" คนที่พูดให้ผมฟังคนแรกคืออาจารยปรีดี เกษมทรัพย์ อดีตอธิการบดี มธ. ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างคณะนิติศาสตร์ เราก็นับถือท่าน ถามว่าเป็นเรื่องเอาตัวรอดไหม ไม่ใช่ ในความเป็นจริง ไม่ว่าคุณเป็นนักกฎหมายหรือผู้พิพากษา คุณก็ใช้กฎหมาย แต่ผมพูดกฎหมายตามความเป็นจริง ประชาธิปไตยไม่ใช่คณิตศาสตร์"

หมายเหตุ : ติดตามรายงานพิเศษชุด "3 ปีรัฐประหาร : เสรีภาพที่หายไป?" ได้ตลอดเดือนพฤษภาคม สัปดาห์หน้าพบกับ "พลังนักศึกษาในสงครามข่าวสารออนไลน์"