วันจันทร์, พฤษภาคม 29, 2560

ไอหยา... กลิ่นตุๆ ปี40 มาแล้ว... ธปท.ขาดทุนหนักเทหน้าตักอุ้มค่าเงิน + คำชี้แจงเหตุขาดทุนจากแบงก์ชาติ





ธปท.ขาดทุนหนักเทหน้าตักอุ้มค่าเงิน

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
27 พ.ค. 2560

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกรายงานประจำปี 2559 ในส่วนของงบแสดงฐานะทางการเงิน พบว่า สิ้นปี 2559 ธปท.มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 4.21 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันมีหนี้สินและทุนรวมกันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเช่นกัน โดยมีหนี้สินและทุนรวมกันทั้งสิ้น 4.96 ล้านล้านบาท โดยหนี้สินที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากการออกพันธบัตร ธปท.เพิ่มขึ้น และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน

ทั้งนี้ ในส่วนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นนั้น ได้ส่งผลให้ส่วนของทุนของ ธปท.สิ้นปี 2559 ติดลบเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยสิ้นปี 2559 ส่วนทุนของ ธปท.ติดลบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 745,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ส่วนของทุนติดลบอยู่ที่ 606,229 ล้านบาท โดยทุนที่ติดลบเพิ่มขึ้นดังกล่าว

ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากรายได้ที่ต่ำกว่ารายจ่าย โดยในปี 2559 ธปท.มีรายได้ทั้งสิ้น 78,163 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายสูงถึง 158,970 ล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิในปี 2559 ที่ผ่านมาทั้งสิ้น 80,807 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีผลขาดทุนทั้งสิ้น 89,136 ล้านบาทเล็กน้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผลขาดทุนดังกล่าวมาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิ 57,437 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้เป็นการขาดทุนเพื่อการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท และอีกส่วนเป็นผลจากการออกพันธบัตร ธปท.เพื่อดูแลสภาพคล่องในประเทศ โดยภาระดอกเบี้ยจ่ายในส่วนนี้ที่ ธปท.ต้องจ่ายในปี 2559 มีทั้งสิ้น 82,273 ล้านบาท ขณะที่รายรับดอกเบี้ยที่ได้จากการนำเงินสำรองไปลงทุนในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 53,216 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การขาดทุน 80,807 ล้านบาท ของ ธปท.ในส่วนนี้ถือเป็นการขาดทุนสุทธิ แต่หากคิดผลขาดทุนจากการดำเนินงานของ ธปท. ซึ่งคิดรวมส่วนเปลี่ยนแปลงในบัญชีเงินสำรองอันเกิดจากการตีราคาสินทรัพย์และหนี้สิน การขาดทุนจากการประมาณการตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ธปท.จะมีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 139,533 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธปท.ได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมประกอบงบการเงินดังกล่าวด้วยว่า สาเหตุการขาดทุนในปี 2559 เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และจากการจ่ายดอกเบี้ยเพื่อดูดซับสภาพคล่องในการดำเนินนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี ผลขาดทุนสะสมดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของ ธปท.

ooo

แบงก์ชาติแจงเหตุปี’59ขาดทุน1.39แสนล้าน





ที่มา มติชนออนไลน์
28 พฤษภาคม 2560


นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงงบการดำเนินงานประจำปีของธปท.ประจำปี 2559 ที่ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า ปี 2559 เศรษฐกิจการเงินของโลกมีความผันผวนต่อเนื่องตลอดปี จากความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก การเลือกตั้งในหลายๆประเทศที่เปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของนักลงทุนต่อการลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศเกิดใหม่รวมทั้งไทย ในปริมาณที่สูงเป็นระยะๆ ธปท.จึงได้เข้าไปดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดเงินตราต่างประเทศของไทย ที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้ามาในบางช่วงอย่างรวดเร็วและในปริมาณที่สูง

ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของ ธปท. ในการรักษาเสถียรภาพของตลาดด้วยการเข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้การปรับแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เวลากับเอกชนในการปรับตัวนั้น ทำให้ ธปท. มีค่าใช้จ่ายในการดูดซับสภาพคล่องที่ ธปท. ปล่อยเข้าสู่ระบบจากการซื้อเงินตราต่างประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นต้นทุนในการรักษาเสถียรภาพตลาดเงินในประเทศ ที่ส่งผลต่อฐานะการเงินของ ธปท. อย่างไรก็ตาม สภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย

ดังนั้นปี 2559 ธปท. มีผลขาดทุน 1.39 แสนล้านบาท ผลจากการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจตามหน้าที่ โดยมีต้นทุนที่เป็นผลของการทำนโยบาย ใน 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนแรก ผลจากการตีราคาเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนทางบัญชี แต่ ธปท.ไม่ได้ขายเงินสำรองระหว่างประเทศที่ถือครองออกไป โดยสิ้นปี 2559 ธปท. มีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 1.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ ปี 2558 ที่ 1.57 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวเลขขาดทุนจากการตีราคาจึงเป็นการขาดทุนทางบัญชี ส่วนที่สอง ผลจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยรับจ่าย เป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. เพื่อดูดซับสภาพคล่องในระบบ ซึ่งปี 2559 ดอกเบี้ยเงินสกุลสำคัญของโลกต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินบาท จึงทำให้เกิดการขาดทุนจากส่วนต่างของอัตรา

“ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการวางแนวทางเพื่อลดผลการขาดทุน โดยส่งเสริมให้กลไกตลาดสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น เอกชนไทยมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านการนำเงินทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความสมดุลของเงินทุนไหลเข้าออก โดยเฉพาะการลงทุนของธุรกิจในต่างประเทศ และการให้กองทุนรวมและผู้ลงทุนที่มีความพร้อมสามารถลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยในการบริหารเงินออมของคนไทยให้มีการกระจายตัวได้ดีขึ้นด้วย ขณะนี้ฐานะด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่มั่นคง เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ธปท ขอให้ความมั่นใจว่า ธปท. จะยังคงยึดแนวทางการทำหน้าที่ธนาคารกลางที่ดี มุ่งมั่นดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนไทย” นางจันทวรรณ กล่าว
.....