วันเสาร์, พฤษภาคม 20, 2560

3ปีแล้วนะ ผลงานคสช.



สาวตรี สุขศรี


“ช่วงเวลา 3 ปี ที่เปลี่ยนแปลงไปจนรู้สึกได้เลยก็คือว่า จากที่เดิมเป็นการสอนอะไรเรื่อยๆ ให้จบหลักสูตรไป ว่ามีมาตรานั้นมาตรานี้ องค์ประกอบความผิดนู่นนั่นนี่ อาจจะไม่ได้เน้นย้ำเรื่องว่าต้องยึดมั่นในหลักการ ก็สอนไปตามปกติ แต่พอหลังรัฐประหาร สังคมข้างนอกมันเต็มไปด้วยตัวอย่างที่แย่ๆ เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ดี เราก็เลยรู้สึกตัวเองได้ว่าทุกครั้งที่สอนจะพยายามย้ำว่า เวลาเรียนกฎหมายต้องเชื่อมั่นในมันด้วย แล้วเวลาใช้ต้องอย่าบิดเบือนโดยเอาเรื่องอื่นมาเป็นข้ออ้าง เราพยายามต้องใส่ตรงนี้ให้กับเด็ก และพยายามยกตัวอย่างที่ไม่ดีข้างนอกให้เขาเห็น ซึ่งมันมีเยอะแยะไปหมด

“หลังรัฐประหาร กฎหมายอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถูกนำมาใช้ไม่เป็นไปตามหลักการที่เราเรียนมา ไม่เป็นไปตามหลักการที่เราสอน เรากลัวเหมือนกันว่า เวลาเด็กดูข่าวแล้ว เห็นเรื่องที่เขาทำเป็นปกติ และคนในข่าวย้ำว่านี่เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เป็นการทำเพื่อความยุติธรรม เป็นการทำของคนดี เรากลัวว่าถ้าเด็กเจอแบบนี้มากๆ จะไขว้เขวไปหมด กลัวว่าเขาจะเจอสิ่งที่รุ่นพี่เขาทำ และกลายเป็นความคุ้นชินว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องถูกต้อง นี่คือสิ่งที่รู้สึกว่าตัวเองทำต่างออกไปจากเดิม

“ก็พยายามยกตัวอย่างเท่าที่เนื้อหามันอำนวย จะไม่ใช้วิธีการครอบงำว่าคุณต้องเชื่ออาจารย์ แต่จะใช้ยกตัวอย่างว่าหลักนิติรัฐต้องเป็นแบบนี้ กฎหมายอาญาก็สอนให้ไปถึงเรื่องนี้ได้ กฎหมายที่จะใช้ต้องมีที่มาที่ชอบธรรม ทั้งทางรูปแบบและทางเนื้อหาของกฎหมาย จึงจะเรียกว่าเป็นกฎหมายได้ พอเราสอนไปสักพักหนึ่ง ก็จะหยิบยกพวกประกาศ คสช. ขึ้นมา แล้วถามเขาว่า คุณคิดว่าเป็นกฎหมายหรือเปล่า แล้วก็ถามเขาว่าประกาศพวกนี้ที่เราเรียนกันมา มันเป็นไปตามกฎหมายหรือเปล่า ก็ใช้วิธีให้เขาคิดเองโดยยกหลักการให้เขาเทียบเองว่ามันถูกหรือเปล่า

“จากประสบการณ์ส่วนตัวเลยนะคะ รู้สึกเฟลกับคณะนิติศาสตร์พอสมควร เราก็เห็นเลยว่าในวงการที่ถกเถียงหรือตั้งคำถามเรื่องพวกนี้ ก็จะอยู่ในแวดวงคนที่เรารู้จัก พวกนักกิจกรรม นักกฎหมายสิทธิ ทนายความ รู้สึกว่าจะมีเฉพาะกลุ่มคนตรงนี้แหละที่รู้สึกว่ามันมีปัญหา และต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะมันขัดกับหลักการที่เราเรียนมา แต่แวดวงที่อยู่ด้วยกันในมหาวิทยาลัย เรารู้สึกว่าเขาใช้ชีวิตกันปกติมาก แล้วก็ไม่รู้ว่าเวลาเขาสอน เขาสอนอะไร เขาอาจจะพูดก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าบรรยากาศถกเถียงที่จะมานั่งเถียงกันว่า ทำไม คสช. ออกกฎหมายแบบนี้ หรือว่าในวงอาหาร ในวงข้าว เวลาเจอกันมันไม่มี ในสังคมที่เราอยู่ตรงนี้ของพวกบรรดานักวิชาการ แวดวงนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย เรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไรที่น่าดีใจเลย เหมือนกับว่าเขาไม่สะทกสะท้าน หรือไม่รู้สึกว่า มันขัดกับสิ่งที่เขาสอน

“บรรยากาศแบบนี้ เราก็คิดว่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปแหละ ที่น่ากลัวมากคือเราคิดว่า มาตรา 44 มีปัญหา ในบรรดาเพื่อนที่เขาประสบปัญหา เขาก็จะมาแซว มาแซะมาตรา 44 ซึ่งเราไม่เคยเจอบรรยากาศแบบนี้ในวงมหาวิทยาลัยเลย ที่คุณไม่พูดเพราะคุณเห็นว่าไม่เป็นปัญหาหรืออย่างไร หรือเห็นว่ามันจำเป็นสำหรับมาใช้ช่วงนี้เพื่อให้สังคมสงบสุข ปรองดอง หรือรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ด้วยบรรยากาศแบบนี้แหละ มันก็จะทำให้กฎหมายพวกนี้มันใช้อยู่ต่อไป แล้วก็จะกังวลต่อไปถึงนักศึกษาด้วยว่าบางทีเขาได้ฉุกคิดหรือเปล่า

“เท่าที่ตัวเองทำงานอยู่นั้น อาจาจารย์กฎหมายไม่น้อยเลยเข้าไปนั่งร่างอะไรพวกนี้ให้ คงไม่ถึงกับร่างประกาศหรอก แต่อย่างน้อยก็มีกฎหมายมากมายที่ผ่านในช่วงนี้โดย สนช. ก็แทบจะทั้งนั้นเลยที่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการในการร่างกฎหมายออกมา คุณก็เข้าไปสู่ระบบแบบนี้ไง คุณก็เลยไม่รู้ว่าสถานการณ์ตอนนี้มันไม่ปกติ กฎหมายที่มันออกมามันมีที่มาที่ไม่ชอบธรรม คุณจะคิดอยู่ตลอดว่ากฎหมายที่มันออกมามันจำเป็น เลยพร้อมที่จะเข้าไปทำตรงนี้ ในช่วงเวลาแบบนี้ โดยไม่ได้รู้สึกผิดอะไร มันก็ไม่มีทางเปลี่ยน ประกาศ คสช. ก็ยังถูกใช้ต่อไป เพราะนักกฎหมายจำนวนหนึ่งเป็นแบบนี้ อาจจะต้องรอเวลา”

สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสอนเกี่ยวกับกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

#3ปีแล้วนะ #ผลงานคสช

และรอติดตามรายงานปีที่ 3 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 21 พฤษภาคมนี้




ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน