วันพุธ, พฤษภาคม 24, 2560

กองทัพบกได้ควบคุมตัวเยาวชนอายุ 14 ปีแบบลับ เด็กผู้ชายและเยาวชนชายอีกสามคนถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ



เยาวชนทั้งสี่คนที่ถูกจับกุมไม่ควรถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการนำตัวไปขึ้นศาล และไม่ควรถูกควบคุมตัวในค่ายทหารโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ไม่ว่าพวกเขาจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาใดก็ตาม
 
แบรด อดัมส์
ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย


ประเทศไทย: กองทัพบกได้ควบคุมตัวเยาวชนอายุ 14 ปีแบบลับ

เด็กผู้ชายและเยาวชนชายอีกสามคนถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ


พฤษภาคม 23, 2017
ที่มา Human Rights Watch


(นิวยอร์ก) – ทางการไทยควรยุติการควบคุมตัวเด็กผู้ชายอายุ 14 ปี และบุคคลอื่นอีกสามคน ในค่ายทหารโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกโดยทันที พวกเขาถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ เด็กชายอภิสิทธิ์ ชัยลี อายุ 14 ปี ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 โดยไม่มีหลักประกันที่เป็นผล เพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อเขา

เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจของไทยจับกุมเด็กชายอภิสิทธิ์ และเยาวชนอีกสามคน ได้แก่ นายจิรายุทธ สินโพธิ์ อายุ 19 ปี นายอัครพงษ์ อายุคง อายุ 19 ปี และนายรัฐธรรมนูญ ศรีหาบุตร อายุ 20 ปี อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ซึ่งถูกกล่าวหาว่าจุดไฟเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร 9 จากนั้นทหารได้ส่งตัวพวกเขาไปยังที่ควบคุมตัวในมณฑลทหารบกที่ 11 ที่กรุงเทพฯ เพื่อสอบปากคำ ทั้งนี้โดยไม่ให้ติดต่อกับทนายความหรือครอบครัว

“การควบคุมตัวเด็กผู้ชายวัย 14 ปีแบบลับในค่ายทหารของไทย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ร้ายแรง โดยเมื่อคำนึงว่าแม้ที่ผ่านมามีรายงานการปฏิบัติมิชอบของทหาร แต่ไม่มีปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์แต่อย่างใด" แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “เยาวชนทั้งสี่คนที่ถูกจับกุมไม่ควรถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการนำตัวไปขึ้นศาล และไม่ควรถูกควบคุมตัวในค่ายทหารโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ไม่ว่าพวกเขาจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาใดก็ตาม”

ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดร้ายแรงต่อความมั่นคงแห่งชาติในประเทศไทย โดยอาจได้รับโทษจำคุก 3-15 ปี นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากำหนดให้การดำเนินคดีฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลของเขา นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลจับกุมบุคคลอย่างน้อย 105 คนในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีบางส่วนที่ศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิดและได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาหลายปีหรือหลายทศวรรษ ในเดือนกันยายน 2559 พลเอกประยุทธ์ได้ยกเลิกคำสั่งสามฉบับของรัฐบาลทหารที่ให้อำนาจศาลทหารในการไต่สวนคดีต่อพลเรือนสำหรับความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีผลให้หน่วยงานทหารมีอำนาจในการ ควบคุมตัวบุคคลแบบลับเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดวัน โดยไม่มีข้อหาและสามารถสอบปากคำพวกเขาโดยไม่อนุญาตให้เข้าถึงทนายความ หรือไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติที่โหดร้าย อย่างไรก็ดี กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ระบุถึงในเรื่องนี้ว่า บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาอาญา ต้องได้รับการนำตัวไปขึ้นศาลโดยพลัน และต้องได้รับการพิจารณาภายในระยะเวลาอันเหมาะสม หรือให้ปล่อยตัวไป

กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กำหนดความคุ้มครองเป็นพิเศษสำหรับบุคคลทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ระบุว่า ไม่ว่าในพฤติการณ์ใด การจับกุม ควบคุมตัว หรือคุมขังเด็ก ให้กระทำเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย และให้ทำในระยะเวลาที่สั้นสุดตามความเหมาะสม คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้แสดงข้อกังวลหลายครั้งเกี่ยวกับการควบคุมตัวเด็ก ซึ่งถูกมองว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ” เด็กที่ถูกดำเนินคดีอาญาต้องได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยความยุติธรรมสำหรับเด็ก ซึ่งเน้นการใช้วิธีการแบบอื่นแทนการควบคุมตัว และให้ความสำคัญกับการบำบัดฟื้นฟูและการปรับตัวของเด็กเมื่อเข้าไปอยู่ในสังคมอีกครั้ง

“รัฐบาลไทยควรทำให้เราคลายความกังวลที่จริงจังต่อความปลอดภัยของเด็กชายอภิสิทธิ์ โดยให้ปล่อยตัวเขาไปพบกับครอบครัวโดยทันที ให้เขาสามารถเข้าถึงทนายความ และเอาตัวเขาออกจากที่คุมขังของทหาร” อดัมส์กล่าว “สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและรัฐบาลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรกดดันพลเอกประยุทธ์ เพื่อให้ยุติการควบคุมตัวแบบลับทั้งปวงโดยทันที และดำเนินการให้เกิดความรับผิดอย่างเต็มที่ต่อการปฏิบัติที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกควบคุมตัวของทหาร”

ooo

ผ่านไปหกวันแล้ว เยาวชนอายุ 14 ปีกับอีกสามอายุไม่เกิน 20 ปีทั้งหมด ยังคงถูกควบคุมตัวใน “คุกทหาร” ไม่มีทนายความ ไม่สามารถติดต่อญาติได้ โดยดูเหมือนว่าพวกเขาเพียงแต่ถูก “จ้าง” ให้กระทำการอันหมิ่นพระเกียรติ แต่การปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานชองบุคคล การควบคุมตัวเยาวชน “โดยไม่มีหลักประกันที่เป็นผล เพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อเขา” ตามความเห็นของ #HRW โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นข้อหาร้ายแรง ทำได้หรือ? สอดคล้องกับหลักนิติธรรมมั้ย? มีข้อกฎหมายไหนอนุญาตให้ทำ?

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ระบุว่า ไม่ว่าในพฤติการณ์ใด การจับกุม ควบคุมตัว หรือคุมขังเด็ก ให้กระทำเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย และให้ทำในระยะเวลาที่สั้นสุดตามความเหมาะสม กติกา ICCPR บอกว่า บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาอาญา ต้องได้รับการนำตัวไปขึ้นศาลโดยพลัน และต้องได้รับการพิจารณาภายในระยะเวลาอันเหมาะสม หรือให้ปล่อยตัวไป ไทยเป็นรัฐภาคีทั้ง ICCPR และ CRC มียางอายบ้างมั้ยรัฐบาลไทย?



Pipob Udomittipong