วันเสาร์, พฤษภาคม 13, 2560

วันนี้ในอดีต13 พ.ค.2553 ลอบสังหาร‘เสธ.แดง ขัตติยะ สวัสดิผล' นักรบเพื่อประชาธิปไตย





วันนี้ในอดีต13 พ.ค.2553..ลอบสังหาร‘เสธ.แดง ขัตติยะ สวัสดิผล' นักรบเพื่อประชาธิปไตย

ย้อนไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว วันนี้ในอดีต เป็นวันลอบสังหาร พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง

13 พ.ค. พ.ศ.2553 ‘ เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล’ ถูกลอบยิงขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ท่ามกลางการชุมนุมทางการเมืองที่ตึงเครียด และเสียชีวิต 4 วันต่อมา จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิงเขา

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เป็นชาวอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2494 จบโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 11, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 22 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63 และจบปริญญาเอกสาขาบริหารรัฐกิจจาก UNIVERSITY OF NORTHERN PHILIPPINES

เสธ.แดง เข้ารับราชการครั้งแรกในกองพันทหารราบที่ 4 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ในยศร้อยตรี และได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าช่วงปี พ.ศ.2529 ก่อนได้เลื่อนยศเป็นพันเอกพิเศษ เมื่อปี พ.ศ.2536 และได้เลื่อนยศเป็นพลตรี เมื่อปี พ.ศ.2541 และได้เป็นผู้ชำนาญการกองบัญชาการทหารสูงสุด และกลายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกในปีถัดมา

เสธ.แดง เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปก็มาจากคดีความรื้อบาร์เบียร์ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เมื่อ เสธ.แดง ได้กล่าวหา นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งว่าใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือนายชูวิทย์ ทำให้ นายตำรวจคนดังกล่าว ออกมาฟ้องเรียกค่าเสียหาย

จากนั้น ชื่อของ เสธ.แดง ก็เป็นที่โจษจันอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2548 เสธ.แดง ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการฆ่าตัดตอนในการทำสงครามกวาดล้างยาเสพติดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างเผ็ดร้อน เพราะเห็นว่านโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงยิ่งขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ต่อมาในการชุมนุมของ‘กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ (เสื้อเหลือง) เมื่อปี พ.ศ.2551 เสธ.แดง ได้ไปปรากฎตัวในที่ชุมนุมด้วย โดยบอกว่า มาสังเกตการณ์ แต่แล้วไม่นานนัก เสธ.แดง ก็ได้โต้ตอบกลับ‘กลุ่มพันธมิตร’ ว่า หยิบยกประเด็นเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร มาพัวพันกับทางการเมือง

นอกจากนี้ ‘เสธ.แดง’ ยังเคยวิพากษ์วิจารณ์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นหลายครั้ง ทั้งกรณีที่ไม่นำกำลังออกมาช่วยเหลือรัฐบาลตามคำสั่งของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กรณี’กลุ่มพันธมิตรฯ’ไปยึดสนามบิน รวมทั้งการนำผู้นำเหล่าทัพไปออกรายการทีวี เพื่อขอให้นายสมชาย ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ เสธ.แดง ถูกสั่งพักราชการ แต่ เสธ.แดง กลับไม่ยอมรับ โดยอ้างว่า กองทัพไม่มีอำนาจสั่งพักราชการทหารระดับนายพล ตั้งแต่นั้นมา เสธ.แดง ก็ยืนเป็นปรปักษ์กับผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นมาโดยตลอด และหันไปเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.(เสื้อแดง)

ต่อมาในการชุมนุมใหญ่ของ นปช.( เสื้อแดง)พ.ศ.2553 ขับไล่ ‘รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ และเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อ 10 เมษายน พ.ศ.2553 ที่นำมาซึ่งการสูญเสียครั้งใหญ่ จากการปะทะกันระหว่าง นปช.กับเจ้าหน้าที่ทหาร และมีคนเห็น’ชายชุดดำ’ พร้อมอาวุธในที่เกิดเหตุด้วย เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในผู้เสียชีวิตมี พ.อ.พิเศษ (ยศในขณะนั้น) ร่มเกล้า ธุวธรรม รอง เสธ.พล.ร.2 รอ. รวมอยู่ด้วย

ต่อมา "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ” (คอป.)ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ได้เปิดเผยผลการค้นหาความจริง พบหลักฐานว่ามี “คนชุดดำ” ไม่ทราบฝ่ายแน่ชัด ใช้อาวุธสงครามโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารที่ถนนตะนาว และถนนข้าวสาร บริเวณสี่แยกคอกวัว โดยในเวลาประมาณ 20.00 น.ของวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2553 ได้ใช้ระเบิดเอ็ม 79 และอาวุธปืนเล็กยาวหรืออาวุธสงครามยิงใส่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติการและ คอป.ยังพบว่า การปฏิบัติการของ“คนชุดดำ” นั้นได้รับการสนับสนุนจากการ์ด นปช.บางคน และพบว่า ‘คนชุดดำ’บางคนเป็นผู้ใกล้ชิดกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และพบว่า พล.ต.ขัตติยะ ปรากฏตัวในบริเวณดังกล่าว ทั้งก่อนเกิดเหตุการณ์ และหลังเหตุการณ์

และมาถึงเหตุการณ์เมื่อ13พฤษภาคม พ.ศ. 2553 หลังจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศใช้มาตรการปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่แยกราชประสงค์ โดยการตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า งดบริการขนส่งสาธารณะ และห้ามผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่โดยเด็ดขาด “เสธ.แดง” ซึ่งเป็นแกนนำ ก็ต้องวางแผนแนวตั้งรับให้รัดกุม และออกเดินตรวจความเรียบร้อยของแนวบังเกอร์ร่วมกับการ์ด เพื่อป้องกันการบุกยึดพื้นที่ชุมนุมจากรัฐบาล

ต่อมาเวลาประมาณ 19.20 น ได้มีการลอบยิง เสธ.แดง ด้วยอาวุธปืนสไนท์เปอร์แรงสูง ขณะที่ เสธ.แดง กำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศบริเวณแยกศาลาแดง เสธ.แดง ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงจากมุมสูงเข้าที่ศีรษะท้ายทอยด้านขวาและทะลุท้ายทอยด้านซ้าย กลุ่มคนเสื้อแดงได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว หลังจากนั้นทางญาติจึงตัดสินใจย้ายไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลในกลางดึกของวันเดียวกัน อาการของ พล.ต.ขัตติยะ อยู่ในสภาพทรงตัวมาตลอด จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ด้วยวัย 59 ปี


ที่มา FB


Wirat Sareepheungnaitham

...