วันอาทิตย์, เมษายน 30, 2560

ชวนอ่านบทความเก่า... ประจักษ์ ก้องกีรติ แนะนำหนังสือที่เอ็นจีโอควรอ่าน: สามัญชนบนวิกฤตประชาธิปไตย: วีรชนหรือวายร้าย (Ordinary People in Extraordinary Times)





ประจักษ์ ก้องกีรติ แนะนำหนังสือที่เอ็นจีโอควรอ่าน: สามัญชนบนวิกฤตประชาธิปไตย: วีรชนหรือวายร้าย

Thu, 2008-06-12 13:20

ประจักษ์ ก้องกีรติ


ที่มา ประชาไท







"ประชาสังคม" กลายเป็นคำขวัญ เป็นยาสารพัดนึกที่นักการเมือง
องค์กรระหว่างประเทศ นิสิต นักศึกษาทั่วไป ท่องบ่นเป็นคาถาว่า
แก้โรคปวดไข้ทางเศรษฐกิจการเมืองได้ทุกประเภท
งานในกลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างสูงและแพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย
ผ่านงานของนักคิดอย่าง หมอประเวศ วะสี ธีรยุทธ บุญมี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น



ประชาสังคมและสามัญชน ถูกมองว่าเป็นทั้งรากแก้วและหัวใจ
ที่หล่อเลี้ยงให้ประชาธิปไตยยั่งยืน



แทนที่ภาคประชาสังคมจะสนับสนุนค้ำจุนประชาธิปไตย
กลับบั่นทอนและช่วยทำลายมันเสีย ด้วยการสนับสนุนอุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองแบบอำนาจนิยมหรือชนชั้นนำนิยม
ต่อต้านความเท่าเทียมกันทางสังคม มุ่งสร้างการเมืองแบบขาวดำ/มิตร-ศัตรู เห็นกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างจากกลุ่มตนเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด
ส่งเสริมและบ่มเพาะค่านิยมแบบคับแคบ



ภาคประชาสังคม กลายเป็น
โรงเรียนบ่มเพาะค่านิยมต่อต้านประชาธิปไตย



ประชาชนเข้าร่วมเป็นฐานทางการเมือง ให้ชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ต่อสู้โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามอย่างดุเดือด ตอกลิ่มการเมืองแบบแบ่งขั้ว
ทำให้ความแตกแยกทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำ
ขยายตัวกลายเป็นความแตกแยกของทั้งสังคมการเมือง
และหยั่งรากลึก จนระบอบประชาธิปไตยเป็นอัมพาตไม่สามารถทำงานต่อไปได้



ตอนจบของละครการเมืองแบบนี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์โลก
คือ ท้ายที่สุด กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองในนามของประชาชนและประชาธิปไตย, ความเป็นระเบียบเรียบร้อย, และข้ออ้างเพื่อยุติวิกฤตของบ้านเมือง ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย (ที่ถูกฉายภาพว่าวุ่นวาย)
และสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นแทนที่



จากการศึกษาของแนนซี เบอร์มิโอ ชี้ว่า
การรัฐประหารในยุคการเมืองมวลชนสมัยใหม่จะไม่มีทางสำเร็จ
หากกองทัพไม่สามารถสร้างพันธมิตร
หรือได้สัญญาณเชื้อเชิญจากกลุ่มการเมือง ที่สำคัญ ในภาคประชาสังคม



ประชาชนไม่ได้เอาใจออกห่างจากระบอบประชาธิปไตยอย่างที่มักเข้าใจกัน
กลุ่มที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการก็ไม่ได้มีฐานสนับสนุนล้นหลามอย่างที่เข้าใจ
การโค่นล้มประชาธิปไตยเกิดขึ้น เพราะมีชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งต้องการโค่นล้มมัน
และพวกเขาประสบความสำเร็จโดยการสร้างพันธมิตรกับผู้นำบางกลุ่ม
ใน "ภาคประชาชน" ให้เคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ของการแตกขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มอำนาจของตน
เข้ามายึดอำนาจและล้มล้างระบอบประชาธิปไตย



เจตจำนงของประชาชนไม่เคยเป็นหนึ่ง และก็มักจะมีมากกว่าสองขั้ว
แต่ชนชั้นนำมักต้องการทำให้สังคมเชื่ออย่างง่ายๆ
โดยไม่ต้องไตร่ตรองว่าเจตจำนงประชาชนมีหนึ่งเดียวและอยู่ข้างตนเสมอ

๑๐

ระบอบประชาธิปไตยอาจจะให้กำเนิดรัฐบาลที่มีหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่น่าพิสมัย
หรือทำงานขาดประสิทธิภาพ กระทั่งใช้อำนาจเกินขอบเขต
แต่ก็ไม่มีวิกฤตอะไรที่ร้ายแรงจนปฏิรูปแก้ไขไม่ได้ด้วยกลไกและสถาบันทางการเมืองภายในระบบ เพราะระบอบประชาธิปไตยเองโดยธรรมชาติ
เป็นระบอบที่ยืดหยุ่น ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อจัดการแก้ไขความขัดแย้ง
และการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ

๑๑

"รัฐบาล" ไม่เท่ากับ "ระบอบ" และก็ไม่มีเหตุผล
ที่เราจะหันไปโหยหาระบอบรัฐประหาร รัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลจากการแต่งตั้ง
หรือระบอบอื่นใดที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง
มีก็แต่ทำให้สังคมการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น
ที่จะเป็นหนทางสู่เสถียรภาพทางการเมืองและออกจากวิกฤตประชาธิปไตย

เดิมทีหลังจากเขียนแนะนำหนังสือว่าด้วยสื่อมวลชนกับความรุนแรง ตั้งใจจะเขียนแนะนำหนังสือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาความรุนแรงต่ออีก 3-4 เล่มว่าด้วยปัญหาการทรมาน, โลกาภิวัตน์ของความกลัวและความรุนแรง, การออกแบบสถาบันการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ ฯลฯ

แต่สถานการณ์การเมืองอันผันผวนในบ้านเราทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเพิ่งอ่านจบไปเมื่อนานนี้ คิดว่าน่าจะสอดคล้องและมีประโยชน์ต่อการขบคิดปัญหาการเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่ จึงขอพักชุดหนังสือว่าด้วยความรุนแรงไปก่อน และลัดคิวเล่มที่ว่าเข้ามาแทน

หนังสือเล่มที่จะแนะนำนี้ มีชื่ออันเก๋ไก๋ว่า "สามัญชนในห้วงเวลาวิกฤต: พลเมืองกับการล่มสลายของประชาธิปไตย(Ordinary People in Extraordinary Times: The Citizenry and the Breakdown of Democracy)"

ผู้เขียนคือ "แนนซี เบอร์มิโอ" ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการอาวุโสของวารสาร World Politics หนึ่งในสามวารสารชั้นนำระดับโลกทางด้านการเมืองเปรียบเทียบ

หนังสือเล่มนี้เมื่อพิมพ์ออกมาในปี 2003 ก็ได้ก่อให้เกิดกระแสการถกเถียงอย่างกว้างขวางในหมู่นักคิดนักวิชาการที่ศึกษาปัญหาการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะปมปัญหาที่ว่า สามัญชนคนธรรมดาทั้งหลายมีบทบาทมากน้อยอย่างไร หรือต้องร่วมรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน ในการทำให้ประชาธิปไตยล้มครืนลง

พูดในภาษากฎหมายก็คือว่า เวลาระบอบประชาธิปไตยไปไม่รอด ถูกรัฐประหาร ยึดอำนาจเปลี่ยนไปเป็นระบอบเผด็จการ (จะโดยทหารหรือพลเรือนก็ตาม) นั้น ประชาชนต้องตกเป็นจำเลยในฐานความผิดก่ออาชญากรรมทำลายประชาธิปไตยด้วยหรือไม่ ถ้าผิด ผิดในฐานะจำเลยหลัก ผู้สมรู้ร่วมคิด หรือถูกจ้างวานกระทั่งถูกหลอกให้กระทำความผิด การถกเถียงในประเด็นนี้ดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน เพราะมีทั้ง "ประชาธิปไตย" และ "สามัญชน" เป็นเดิมพัน

ปราชญ์ทางรัฐศาสตร์บางท่านกล่าวไว้นมนานแล้วว่า ศาสตร์ที่เรียกว่ารัฐศาสตร์นั้น หากสรุปอย่างรวบรัดตัดตอนแล้ว ก็มิใช่อะไรอื่น หากคือการศึกษาว่าด้วยระเบียบและความไร้ระเบียบทางการเมือง (political order and political disorder) ว่าด้วยเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (political stability and political change)

หัวข้อหลักที่ศึกษา นับตั้งแต่ การสร้างรัฐและการล่มสลายของรัฐ การเลือกตั้ง พรรคการเมือง ระบบราชการ รัฐธรรมนูญ การปฏิวัติ รัฐประหาร สงคราม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลุ่มผลประโยชน์และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม อุดมการณ์ทางการเมือง อัตลักษณ์ทางการเมือง ฯลฯ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษามิติต่างๆ ของปริศนาหลักที่ว่าด้วยเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งนักคิดนักทฤษฎีตั้งแต่โบราณพยายามขบคิดหาคำอธิบายที่สอดคล้องต้องตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด

และในบรรดาหัวข้อของการถกเถียงนั้น ไม่มีอะไรร้อนแรงเกินไปกว่า คำอธิบายว่าด้วยกำเนิดและการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย และบทบาทของชนชั้นนำกับสามัญชนในกระบวนการดังกล่าว

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เข้าไปร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว โดยทำการศึกษากรณีการล้มครืนของระบอบประชาธิปไตยใน17 ประเทศ

กรณีศึกษาของหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก คือ กรณีศึกษา 13 ประเทศในยุโรประหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง (1918-1939) ซึ่งเป็นช่วงที่การเมืองยุโรปมีความผันผวนปรวนแปรอย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อันเนื่องมาจากภาวะหลังสงคราม

ตัวเลขที่น่าสนใจคือ หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใหม่ๆ ระบอบการเมืองในยุโรปเกือบทั้งหมดยังคงเหนียวแน่นกับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (26 ประเทศจาก 28 ประเทศ) ผ่านไปไม่ถึงสองทศวรรษดี ระบอบประชาธิปไตยล้มครืนลงใน13 ประเทศ[1] โดย มีระบอบเผด็จการในรูปแบบต่างๆ สถาปนาขึ้นแทนที่ โดยประวัติศาสตร์และดุลกำลังอำนาจในแต่ละประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนด หน้าตาระบอบเผด็จการของประเทศนั้นๆ (อาทิเช่น เผด็จการโดยการนำของกองทัพ, พันธมิตรระหว่างสถาบันกษัตริย์กับทหาร, หรือเผด็จการของพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง)

กรณีศึกษากลุ่มที่สอง คือ สี่ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 ได้แก่ บราซิล อุรุกวัย ชิลี และอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิภาคดังกล่าวประสบกับปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจและการเมืองของสงครามเย็น อันนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ปิดฉากด้วยการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม และทำลายสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน (อันที่จริงแล้วการเมืองไทยเผชิญกับปัญหาคล้ายคลึงกันมากในช่วงเดียวกันนี้) ระบอบเผด็จการทหารที่สถาปนาขึ้นทิ้งมรดกอันลึกซึ้งยาวนานไว้ให้กับสังคม เหล่านี้จนถึงปัจจุบัน

ข้อสรุปทางวิชาการของแนนซี เบอร์มิโอ นั้น น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ก่อนที่จะข้ามไปถึงข้อสรุป ผมอยากจะเล่าให้ฟังก่อนว่า ที่ผ่านมา นักวิชาการเขาถกเถียงเรื่องนี้กันไว้ว่าอย่างไร

สามัญชน ชนชั้นนำ กับการเมืองแบบแตกขั้ว

หากจะให้สรุปอย่างคร่าวๆ เราสามารถแบ่งงานวิชาการที่กล่าวถึงบทบาทของสามัญชนกับประชาธิปไตยได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ ซึ่งงานของ แนนซี เบอร์มิโอ นั้นไม่อยู่ในทั้งสองกลุ่ม หากพยายามจะเชื่อมประสานคำอธิบายของทั้งสองกลุ่มเข้าด้วยกัน

กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มองบทบาทของสามัญชนในฐานะวีรบุรุษของระบอบประชาธิปไตย งานในกลุ่มนี้เฟื่องฟูขึ้นเป็นพิเศษในช่วงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน มีงานวิชาการถูกผลิตออกมาอย่างไม่ขาดสายเพื่อเชิดชูบทบาทของประชาชนและสิ่ง ที่เรียกว่า "ภาคประชาสังคม" (civil society) ซึ่งบางทีก็มีการใช้คำอื่นสลับกันไป อาทิเช่น ภาคพลเมือง ภาคสังคม ภาคประชาชน เป็นต้น

ใจความหลักก็คือว่า การเคลื่อนไหวรวมกลุ่มของประชาชน ซึ่งเป็นอิสระจากรัฐ หรือกระทั่งต่อต้านอำนาจรัฐนั้น เป็นคุณกับประชาธิปไตย ภาคประชาสังคมเป็น "โรงเรียน" บ่ม เพาะคุณค่า จิตวิญญาณ และค่านิยมแบบประชาธิปไตย ทำให้คนตระหนักในความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ลดความเป็นปัจเจก เห็นแก่ตัวน้อยลง และมีจิตใจเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทั้งยังเป็นฐานในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ

สรุปได้ว่า ประชาสังคมและสามัญชนถูกมองว่าเป็นทั้งรากแก้วและหัวใจที่หล่อเลี้ยงให้ประชาธิปไตยยั่งยืน ฐานความคิดของงานในกลุ่มแรกนี้ สามารถสืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงนักปรัชญาอย่าง Alexis de Tocqueville ในงานที่ชื่อว่าDemocracy in America (1835, 1840) ซึ่งอธิบายว่า เหตุที่ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาลงหลักปักฐานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอเมริกา ในขณะที่ล้มเหลวในหลายประเทศในยุโรปนั้น เป็นเพราะว่าอเมริกามีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง พลเมืองเอาการเอางาน ไม่คอยพึ่งรัฐแต่อย่างเดียว

งานในกลุ่มแรกนี้เฟื่องฟูและครองตลาดวิชาการอยู่พักใหญ่ จน "ประชาสังคม" กลายเป็นคำขวัญ เป็นยาสารพัดนึกที่นักการเมือง องค์กรระหว่างประเทศ นิสิต นักศึกษาทั่วไปท่องบ่นเป็นคาถาว่าแก้โรคปวดไข้ทางเศรษฐกิจการเมืองได้ทุกประเภท งานในกลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างสูงและแพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ผ่านงานของนักคิดอย่าง หมอประเวศ วะสี ธีรยุทธ บุญมี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น

ผ่านไปหลายปี เริ่มมีงานวิชาการหลายชิ้นตีพิมพ์ออกมาเพื่อตอบโต้งานในกลุ่มแรกนี้ ซึ่ง แนนซี เบอร์มิโอ เรียกงานในกลุ่มที่สองนี้ว่า การกลับมาของ "อนารยะสังคม" (uncivil society turn)

งานในกลุ่มนี้อธิบายว่า ประชาสังคมไม่ได้เป็นคุณกับประชาธิปไตยเสมอไป นอกจากไม่เป็นคุณแล้ว ในหลายครั้งหลายครากลับเป็นโทษด้วยซ้ำ ฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาสังคมกับประชาธิปไตยจึงไม่ได้เป็นความสัมพันธ์เชิงบวกเสมอไป

ภาคประชาสังคมสามารถกัดเซาะหรือกระทั่งทำลายการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยได้ งานวิจัยในกลุ่มนี้เสนอหลักฐานข้อมูลอันหนักแน่นจำนวนมาก ทั้งในประวัติศาสตร์และในการเมืองร่วมสมัยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่แทนที่ภาคประชาสังคมจะสนับสนุนค้ำจุนประชาธิปไตย กลับบั่นทอนและช่วยทำลายมันเสียด้วยการสนับสนุนอุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองแบบอำนาจนิยมหรือชนชั้นนำนิยม ต่อต้านความเท่าเทียมกันทางสังคม มุ่งสร้างการเมืองแบบขาวดำ/มิตร-ศัตรู เห็นกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างจากกลุ่มตนเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด ปล่อยให้อยู่ร่วมสังคมการเมืองเดียวกันไม่ได้ ส่งเสริมและบ่มเพาะค่านิยมแบบคับแคบรังเกียจเดียดฉันท์คนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจากกลุ่มตน เช่น ความคิดคลั่งชาติ ศาสนา และสีผิว เป็นต้น

ที่สำคัญ มุ่งใช้วิธีการที่เน้นการปะทะเผชิญหน้า แตกหัก และมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงหรือไม่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงเป็นทางออก กลุ่มเหล่านี้มีอยู่มากมายเต็มไปหมดทั้งในประเทศตะวันตกและกลุ่มประเทศอื่นๆ เช่น กลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาและเชื้อชาติ กลุ่มนีโอนาซี กลุ่มต่อต้านชนกลุ่มน้อยและผู้อพยพ กลุ่มแอนตี้เกย์ หรือกระทั่งกลุ่มที่รวมตัวกันในนามที่ดูเหมือนไม่มีพิษภัย เช่น กลุ่มสมาคมการค้า (โดยเฉพาะในละตินอเมริกา) แต่มีจุดประสงค์เบื้องหลังเพื่อทำลายการเคลื่อนไหวของขบวนการชาวนาและกรรมกร และขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของพวกตน

กล่าวในภาษาที่ล้อกับงานกลุ่มแรก ก็คือว่า ภาคประชาสังคมกลายเป็นโรงเรียนบ่ม เพาะค่านิยมต่อต้านประชาธิปไตยไปเสีย การตระหนักถึงบทบาทด้านลบของภาคประชาสังคม ทำให้นักวิชาการจำนวนมากเสนอว่า เราต้องไม่ไปโฟกัสอยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับสังคมเท่านั้น เพราะในภาคสังคมเองก็มีความขัดแย้งแตกแยกและมีการต่อสู้อย่างรุนแรง

ภาคประชาสังคมไม่ใช่กลุ่มก้อนที่มีความกลมกลืนสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การอ้างความเป็นประชาชนและภาคประชาสังคมจึงไม่ได้ทำให้กลุ่มองค์กรหนึ่งๆ มีความชอบธรรมทางการเมืองโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ เพราะเงินทุน เครือข่ายกำลังคนและทรัพยากรทางการเมืองขององค์กรในภาคประชาสังคมอาจถูกใช้เป็นฐานสนับสนุนวาระทางการเมืองแบบชนชั้นนำนิยมหรือเผด็จการก็ได้

ฉะนั้น เวลาพิจารณาภาคประชาสังคม เราไม่สามารถดูที่ปริมาณอย่างเดียว หากต้องดูที่คุณภาพของภาคประชาสังคมด้วยว่า เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยหลักคิดชี้นำทางการเมืองที่ส่งเสริมคุณค่าแบบประชาธิปไตย หรือว่ามุ่งปลุกปั่น โฆษณาชวนเชื่อ ปลุกเร้าอารมณ์เกลียดชังทางการเมือง ลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงกันข้าม และยั่วยุให้เกิดความรุนแรง[2]

แนนซี เบอร์มิโอ ชี้ว่า งานในกลุ่มอนารยะสังคมนี้ ทำให้ประชาสังคมมีภาพพจน์ที่กำกวมมากขึ้น จนมันไม่ได้ถูกมองว่าเป็นยาสารพัดโรคหรือเป็นวีรบุรุษประชาธิปไตยอีกต่อไป กระทั่งมีการเสนอว่าประชาสังคมและสามัญชนเล่นบทเป็นผู้ร้ายในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตด้วยซ้ำ โดยบทผู้ร้ายนี้ดำเนินไปในสองแบบด้วยกัน

หนึ่ง ในยามที่สังคมมีการแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่ม ถึงจุดที่ทั้งสองกลุ่มไม่ยอมประนีประนอมกันอีกต่อไป หากมุ่งเอาชนะคะคานกันให้แตกหักไปข้างหนึ่ง ประชาชนเข้าร่วมเป็นฐานทางการเมือง ให้ชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต่อสู้โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามอย่างดุเดือด ตอกลิ่มการเมืองแบบแบ่งขั้ว ทำให้ความแตกแยกทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำขยายตัวกลายเป็นความแตกแยกของ ทั้งสังคมการเมือง และหยั่งรากลึก จนระบอบประชาธิปไตยเป็นอัมพาตไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ภาวะดังกล่าวอาจขยายตัวไปเป็นภาวะสงครามกลางเมือง

สอง ในห้วงเวลาวิกฤตทางเศรษฐกิจการเมือง สามัญชนและประชาชนเกิดความผิดหวังเบื่อหน่ายต่อระบอบประชาธิปไตย เหมารวมเอาว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (ไม่ใช่แค่เฉพาะคณะรัฐบาล) เป็นต้นเหตุทั้งมวลของปัญหา จนไม่มีคุณค่าที่จะต้องรักษาไว้เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ และหันไปเรียกร้องให้กลุ่มการเมืองเผด็จการเข้ามาปกครองบ้านเมืองด้วยความ เข้มแข็งเฉียบขาด

ตอนจบของละครการเมืองแบบนี้ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์โลก คือ การที่ท้ายที่สุดกองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองในนามของ "ประชาชนและประชาธิปไตย" "ความเป็นระเบียบเรียบร้อย" และข้ออ้างเพื่อยุติวิกฤตของบ้านเมือง ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย (ที่ถูกฉายภาพว่าวุ่นวาย) และสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นแทนที่

ในกรณีที่สองนี้ สามัญชนเล่นบทเป็นผู้เชื้อเชิญให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งจากการศึกษาของแนนซี เบอร์มิโอ ชี้ให้เห็นว่าการรัฐประหารในยุคการเมืองมวลชนสมัยใหม่จะไม่มีทางสำเร็จ หากกองทัพไม่สามารถสร้างพันธมิตรหรือได้สัญญาณเชื้อเชิญจากกลุ่มการเมือง ที่สำคัญในภาคประชาสังคม ทฤษฎีที่อธิบายบทบาทของสามัญชนในสถานการณ์เช่นนี้ มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า ทฤษฎี (ประชาชน) เอาใจออกห่าง (จากประชาธิปไตย) สะท้อนอารมณ์ผิดหวังอกหักของนักคิดที่ฝากความหวังไว้กับสามัญชนในการเป็น ปราการด้านสุดท้ายของประชาธิปไตย

หนังสือของแนนซี เบอร์มิโอ มีข้อสรุปที่เห็นต่างจากทั้งสองกลุ่ม เธอไม่เห็นประชาชนและประชาสังคมเป็นวีรบุรุษแบบงานในกลุ่มแรก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ถึงกับเห็นพวกเขาเป็นผู้ร้ายของระบอบประชาธิปไตยตามแบบงานกลุ่มที่สอง

เธออธิบายว่างานในกลุ่มที่สองนั้นมีส่วนถูก แต่ถูกเพียงบางส่วน แนนซีเสนอข้อถกเถียงว่า ตัวละครที่มีบทบาทหลักทำให้ประชาธิปไตยล่มสลายลงในทั้ง 17 ประเทศที่เธอศึกษา คือ ชนชั้นนำ มากกว่าที่จะเป็นประชาชน

ประชาชนนั้นมีส่วนทำให้การเมืองมีความผันผวน แตกแยก และแบ่งขั้ว จนกระทั่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นอัมพาตหรือล่มสลายลงได้จริง แต่บทบาทของประชาชนนั้นเป็นเพียงบทตัวประกอบหรือผู้แสดงสมทบเท่านั้น และจากการค้นคว้าของเธอพบว่า ประชาชนไม่ได้เอาใจออกห่างจากระบอบประชาธิปไตยอย่างที่มักจะเข้าใจกัน และกลุ่มที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการก็ไม่ได้มีฐานสนับสนุนล้นหลามอย่างที่เข้าใจด้วย การโค่นล้มประชาธิปไตยเกิดขึ้น เพราะมีชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งต้องการโค่นล้มมัน และพวกเขาประสบความสำเร็จโดยการสร้างพันธมิตรกับผู้นำบางกลุ่มใน "ภาคประชาชน"ให้เคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ของการแตกขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มอำนาจของตนเข้ามายึดอำนาจและล้มล้างระบอบ ประชาธิปไตย

การแบ่งขั้วเทียม และมติมหาชนในจินตนาการ

งานวิชาการก่อนหน้านี้ที่ศึกษาการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยในยุโรปและละติน อเมริกา เสนอว่าความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง นำไปสู่การล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย แนนซี เบอร์มิโอ เสนอคำอธิบายใหม่ว่า การแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองนั้นมีอยู่จริง แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่กว้างขวางและลงรากลึกอย่างที่เราถูกทำให้เชื่อ หากเป็นการแตกแยกแบ่งขั้วที่ถูกสร้างขึ้นอย่างจงใจและอย่างบิดเบือน (constructed and distorted polarization) เป็นการแบ่งขั้วเทียมๆ ที่ถูกขยายผลให้ดูเสมือนจริงโดยชนชั้นนำที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาไปเป็นระบอบอื่น

ในประวัติศาสตร์ยุโรป ชนชั้นนำกลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มนิยมเจ้า พรรคการเมืองฝ่ายขวา กองทัพ หรือกลุ่มการเมืองในภาคประชาสังคมที่มีอุดมการณ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ซึ่งต่างเห็นว่าพวกตนสูญเสียอำนาจจากกฎกติกาทางการเมืองที่ดำรงอยู่ และไม่สามารถเข้าไปแข่งขันภายใต้กติกานี้ เป้าหมายสุดท้ายทางการเมืองที่พวกเขาต้องการคือ การล้มกระดานและสร้างกฎกติกาชุดใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนำ อภิสิทธิ์

ตัวละครการเมืองเหล่านี้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายหลวมๆ ที่อาจจะเรียกว่า พันธมิตรเพื่อการรัฐประหาร (coup coalition) ความแตกแยกแบ่งขั้วที่จริงๆ แล้วจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือประชากรกลุ่มหนึ่ง ถูกขยายผลจากเครือข่ายนี้ให้สาธารณชนและชนชั้นนำกลุ่มอื่นเข้าใจว่า ประเทศ ได้เดินมาถึงจุดวิกฤตที่ไม่อาจเยียวยาและแก้ไขได้ด้วยกฎกติกาและสถาบัน การเมืองภายในระบอบประชาธิปไตย เพราะความแตกแยกนี้หยั่งรากลึกไปทั้งสังคม รอยร้าวไม่อาจประสานได้ ความขัดแย้งอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยกลไกรัฐ บ้านเมืองกำลังจะลุกเป็นไฟหรือเข้าสู่สภาพอนาธิปัตย์

ภาพการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงเช่นนี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อลดทอนความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย และสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจของพันธมิตรเพื่อการรัฐประหาร ผ่านวิถีทางนอกกติกาประชาธิปไตย

ที่สำคัญและน่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำกลุ่มอื่นที่อยู่นอกเครือข่ายการรัฐประหารก็มีส่วนรับผิดชอบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อการสร้างวิกฤตการเมืองและทำให้ประชาธิปไตยต้องจบชีวิตลงด้วย โดยการเดินหมากทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยง ผิดพลาด และขาดความรับผิดชอบ เช่น การที่ผู้นำรัฐบาลตัดสินใจใช้ความรุนแรงนอกขอบเขตของกฎหมายกับการเคลื่อนไหวของสมาชิกในเครือข่ายรัฐประหาร เข้าไปแทรกแซงกองทัพโดยไม่มีเหตุจำเป็น ไม่พยายามแก้ไขปัญหาบ้านเมืองแต่กลับไปหมกมุ่นกับการจับผิดและเล่นงานฝ่าย ตรงกันข้าม รวมถึงการนิ่งเฉยดูดายกับการเคลื่อนไหวที่รุนแรงและละเมิดกฎหมายของเครือข่ายรัฐประหาร

ชนชั้นนำในพรรคการเมืองนอกเครือข่ายรัฐประหารก็เป็นอีกตัวละครหลักที่อาจทำ ให้สถานการณ์บานปลายมากขึ้น ด้วยการโดดเดี่ยวรัฐบาล หันไปจับขั้วเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับเครือข่ายรัฐประหารแทนที่จะโดดเดี่ยวพวกเขา ทำให้ดุลพลังอำนาจเปลี่ยนและไปสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารเสียเอง พูดง่ายๆ ว่า ในสถานการณ์วิกฤต ชนชั้นนำฝ่ายต่างๆ โหมกระพือความแตกแยก (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) และสมทบส่วนกันไปมาในการขันเกลียวแห่งความขัดแย้งจนแน่นไปถึงจุดที่คลี่ คลายไม่ได้

ผู้เขียนสนับสนุนข้อถกเถียงดังกล่าวด้วยการศึกษาประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมจาก 17 กรณีศึกษาตั้งต้น โดยศึกษาประเทศที่ประชาธิปไตยไม่ล่มสลายลงแม้ว่าสังคมนั้นจะเผชิญกับความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมือง

เธอพบว่าทัศนคติบวกกับการตัดสินใจทางการเมืองอันถูกต้องของชนชั้นนำทางการเมือง มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยประคับประคองสถานการณ์วิกฤตให้ผ่านพ้นไปได้ กล่าวคือ กองทัพไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองตามคำเชื้อเชิญของเครือข่ายรัฐประหาร หรือปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย รัฐบาลไม่ตัดสินใจบุ่มบ่ามผลีผลาม หากยึดมั่นกับการบังคับใช้กฎหมายกับทุกกลุ่มการเมืองอย่างเสมอภาคกัน และผู้นำพรรครัฐบาลไม่โอนเอียงไปสนับสนุนวาระทางการเมืองแบบสุดโต่งของ เครือข่ายรัฐประหาร

เธอเสนอว่า ที่เราต้องสนใจชนชั้นนำเป็นพิเศษ ก็เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่ในทุกประเทศที่เธอศึกษาไม่ได้เอาใจออกห่างจากระบอบประชาธิปไตย และหันไปสนับสนุนกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงอย่างที่เข้าใจ เครือข่ายเพื่อการรัฐประหารมีฐานสนับสนุนน้อยกว่าที่คิดมาก เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการปลุกปั่นกระแสในพื้นที่สาธารณะและกลบเสียงของ กลุ่มอื่นๆ ทั้งด้วยกลไกการโฆษณาชวนเชื่อและการใช้ความรุนแรง

ข้อสรุปสำคัญจากงานชิ้นนี้ก็คือ สภาพของความแตกแยกแบ่งขั้วในสังคม มักจะถูกขยายความเกินจริงเสมอ และมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากภาพการเมืองที่บิดเบี้ยวนี้ เราต้องระมัดระวังที่จะไม่อ่านสถานการณ์การเมืองบนฐานข้อมูลที่ถูกปลุกปั่น

แนนซี เบอร์มิโอ เสนอว่า ในสถานการณ์วิกฤต ทุกฝ่ายต่างอ้างว่ากลุ่มตนเป็นตัวแทนที่แท้จริงของเจตจำนงประชาชน ปัญหาคือ เจตจำนงของประชาชนไม่เคยเป็นหนึ่งและก็มักจะมีมากกว่าสองขั้ว แต่ชนชั้นนำมักต้องการทำให้สังคมเชื่ออย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องไตร่ตรองว่าเจตจำนงประชาชนมีหนึ่งเดียวและอยู่ข้างตนเสมอ ในโลกแห่งความเป็นจริงทางการเมือง ไม่แปลกอะไรเลยที่เราจะพบว่า เจตจำนงของประชาชนแตกออกเป็นหลายขั้ว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประเด็นทางการเมืองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง ประชาชน ไม่ได้ยึดติดอยู่กับขั้วใดขั้วหนึ่งอย่างถาวร

จากการศึกษาของเธอ พบว่ามีกรณีตัวอย่างนับไม่ถ้วนที่ประชาชนคนหนึ่งลงคะแนนเสียงในประชามติเกี่ยว กับกฎหมายฉบับสำคัญไปทางหนึ่ง พอถึงเวลาเลือกตั้งกลับออกเสียงไปอีกทางหนึ่ง ร้ายไปกว่านั้นเมื่อพรรคการเมืองที่เขาเลือกเข้ามาเองมีนโยบายที่เขาไม่เห็นด้วย เขาก็ออกไปบนท้องถนนร่วมกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลด้วย

คำถามใหญ่คือ เราจะประเมินมติมหาชนอย่างไร แนนซีเสนอว่า มติมหาชนสามารถปรากฏตัวในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนน ในคูหาเลือกตั้ง ในโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในหนังสือพิมพ์ หรือในสภากาแฟ ปัญหาก็คือ ความแตกแยกแบ่งขั้วที่ปรากฏบนท้องถนนมักจะส่งเสียงดังกลบมติมหาชนในพื้นที่อื่นๆ เพราะเห็นชัดกว่า ตื่นเต้นเร้าใจกว่า ทำให้ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ ในขณะที่เสียงของประชาชนในพื้นที่อื่นๆ มักจะถูกละเลย กลายเป็นเสียงที่ไม่ได้ยิน และดังนั้นจึงไม่ถูกนับรวมเข้ามาในการคิดคำนวณทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ สรุปก็คือ การแบ่งขั้วเทียม และ มติมหาชนในจินตนาการ ที่ ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ของฝ่ายชนชั้นนำเพื่อการ รัฐประหาร

งานของเธอจึงเสนอว่า เราต้องสร้างช่องทางอันหลากหลายให้เสียงของประชาชนได้ปรากฏตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาผูกขาดความเป็นเจ้าของเจตจำนงประชาชน นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนท้องถนนควรถูกประเมินอย่างจริงจัง รอบคอบ และไม่ผลีผลามที่จะถูกด่วนสรุปว่าเป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชนทั้งสังคม

สงครามครั้งสุดท้าย?

หนังสือเล่มนี้จุดประเด็นมากมายให้เราได้ขบคิด ประการแรกสุดเลยก็คือ สังคมไทยไม่ใช่สังคมแรกและไม่ใช่สังคมเดียวที่เผชิญกับความผันผวนและความสับสนอลหม่านของระบอบประชาธิปไตย ประเทศอื่นในโลกต่างเผชิญกับปัญหานี้มาแล้วมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป หลายประเทศประสบความสำเร็จในการประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตยอยู่รอดต่อไปได้ท่ามกลางอุปสรรคนานัปการ ในขณะที่หลายประเทศล้มเหลว

ทั้งชนชั้นนำและสามัญชน ต่างมีบทบาทสำคัญที่อาจจะช่วยค้ำจุนหรือช่วยกัน ทำลายประชาธิปไตยก็ได้ บทเรียนจากประเทศอื่นน่าจะเป็นกระจกส่องสะท้อนให้เรามีมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้นกับปัญหาที่เราเผชิญอยู่

แน่นอนว่าระบอบ ประชาธิปไตยอาจจะให้กำเนิดรัฐบาลที่มีหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่น่าพิสมัย หรือทำงานขาดประสิทธิภาพ กระทั่งใช้อำนาจเกินขอบเขต แต่ก็ไม่มีวิกฤตอะไรที่ร้ายแรงจนปฏิรูปแก้ไขไม่ได้ด้วยกลไกและสถาบันทางการเมืองภายในระบบ เพราะระบอบประชาธิปไตยเองโดยธรรมชาติเป็นระบอบที่ยืดหยุ่น ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อจัดการแก้ไขความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ

มีเหตุผลที่เข้าใจได้หลายประการ ที่เราจะรักประชาธิปไตยน้อยลง เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของรัฐบาลต่างๆ ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่รัฐบาลไม่เท่ากับระบอบ และก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะหันไปโหยหาระบอบรัฐประหาร, รัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลจากการแต่งตั้ง หรือระบอบอื่นใดที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง มีก็แต่ทำให้สังคมการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น ที่จะเป็นหนทางสู่เสถียรภาพทางการเมืองและออกจากวิกฤตประชาธิปไตย

ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสงครามครั้งสุดท้ายในสังคมการเมืองประชาธิปไตย มีแต่การต่อสู้ต่อรองอันถาวรของผลประโยชน์และความคิดเห็นที่แตกต่าง ภาษาของสงครามเป็นสิ่งที่ไปกันไม่ได้กับการเมืองแบบประชาธิปไตย เพราะตรรกะของสงครามบดบังจินตนาการในการแก้ปัญหาด้วยวิถีทางสันติ ผลักไสให้เราใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน ให้เลือดตกยางออก ตายตกตามกัน จนรู้ผลแพ้ชนะกันไปข้างหนึ่ง เห็นความต่างเป็นศัตรูหรือไส้ศึกที่ต้องกำจัด ในขณะที่ตรรกะของประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เราแก้ปัญหาโดยสันติ เพราะมันไม่ใช่การเมืองของความแตกหัก หากคือการเมืองของการโน้มน้าว จูงใจ ต่อรอง เจรจา ภายใต้กรอบกติกาที่ออกแบบอย่างรอบคอบและเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขได้ตาม สถานการณ์ ไม่มีผู้ชนะและผู้แพ้อันถาวร มีแต่ผู้ชนะและผู้แพ้ชั่วคราว ไม่มีศัตรูและข้าศึก เพราะทุกคนต่างเป็นสมาชิกร่วมสังคมเดียวกันหากแต่มีความคิดเห็นและผลประโยชน์อันแตกต่าง

จากประสบการณ์ของประเทศอื่น การแบ่งขั้วทางการเมืองที่อยู่บนฐานของความเกลียดชัง ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยเครือข่ายเพื่อการรัฐประหาร เป็นสิ่งที่ต้องหยุดยั้งก่อนที่ประชาธิปไตยไทยจะตกหล่มอีกรอบหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ชวนให้เราตระหนักว่า ขั้วการเมืองในสังคมประชาธิปไตย มักมีมากกว่าสองขั้วเสมอ เพราะประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เราใช้เสรีภาพตัดสินใจในประเด็นปัญหาต่างๆ อันมากมายเกินกว่าที่เราจะไปเห็นด้วยกับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งไปเสียทุกเรื่อง

สังคมไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เช่น เราอาจจะเห็นร่วมกันในประเด็นสิทธิบัตรยา แต่เห็นต่างกันในประเด็นการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ เห็นร่วมกันในแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ แต่เห็นต่างกันในกรณีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทางการเมือง

มาถึง ณ จุดนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะทบทวนกันอย่างจริงจังว่า ที่เราบอกว่าสังคมไทยแตกออกเป็นสองขั้วนั้น สองขั้วจริงกระนั้นหรือ? และสองขั้วที่ว่านั้น เห็นต่างกันอย่างคอขาดบาดตายในเรื่องอะไรหรือ? อะไรเป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้งที่ถึงกับทำให้เราโกรธเกลียดกันจนอยู่ร่วมสังคมเดียวกันไม่ได้?

หรือเอาเข้าจริง ความแตกแยกแบ่งขั้วที่ว่า เป็นการต่อสู้ของชนชั้นนำสองฝ่าย ที่ต้องการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์กันใหม่ โดยอาศัยการเคลื่อนไหวประชาชนเป็นฉากกำบังสร้างความชอบธรรมให้กับตน โดยเฉพาะการใช้สถานการณ์ความแตกแยกปูทางไปสู่การรัฐประหาร โดยไม่รู้คำตอบที่ถามไปข้างต้น

ผมได้แต่เสนอเอาเองเป็นตุ๊กตาว่า หากจะมีปัญหาอะไรที่ต้องการการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง ผมคิดว่ามันคือ1) การจัดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ และรัฐบาลพลเรือน 2) การจัดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ 3) การปฏิรูประบบเลือกตั้งและระบบพรรคการเมือง 4) การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และ 5) การจัดโครงสร้างรัฐใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้

ผมเชื่อว่าสังคมไทยคงจะมีความเห็นแตกต่างกันมากมายในประเด็นเหล่านี้ และความต่างในแต่ละประเด็นนั้นคงจะมีเกินกว่าสองขั้ว ปัญหาเหล่านี้ต้องการการถกเถียงแลกเปลี่ยน ขบคิด อภิปราย เจรจา ต่อสู้ ต่อรองและทะเลาะกันอย่างไม่รู้จบจากทุกภาคส่วนของสังคม บนพื้นที่ทางการเมืองอันหลากหลาย ที่แน่นอนคือว่า มันไม่อาจยุติลงได้ด้วยการประกาศสงครามครั้งสุดท้ายบนท้องถนน

เชิงอรรถ

[1] 13 ประเทศ ดังกล่าวคือ ออสเตรีย บัลแกเรีย เอสโทเนีย เยอรมนี กรีซ อิตาลี ลัทเวีย ลิธัวเนีย โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สเปน และ ยูโกสลาเวีย

[2] สำหรับคนที่สนใจรายละเอียดของงานในกลุ่มนี้เพิ่มเติม ขอให้ดู Sheri Berman, "Civil Society and the Collapse of the <?xml:namespace prefix = st1 ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:smarttags" />Weimar Republic,"World Politics 49: 3 (1997) ในกรณีเยอรมัน และ Leigh Payne, Uncivil Movements: The Armed Right Wing Movement and Democracy in Latin America (Johns Hopkins University Press, 2000) ในกรณีละตินอเมริกา.