วันศุกร์, เมษายน 14, 2560

ประเทศไตแลนเดียเสียอย่าง ‘หอสมุดจุดท่องเที่ยว’ ใครเล่าจะคิดได้ ไม่ต้อง ๕ ไม่มี ha

ฮูย เห็นเขาฮือฮากันมาหลายวันเรื่องหอสมุดใหม่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ บนถนนราชดำเนิน หัวมุมสี่แยกคอกวัว
นัยว่า ‘หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร’ เป็นนวรรตกรรมใหม่ทางมัณฑนศิลป์ เพราะออกแบบภายในสุดหรู ดังที่ mangozero.com เขาทำ ‘รีวิว’ เอาไว้ว่า
“ตกแต่งภายในเป็นกันเองและร่วมสมัย...ทุกชั้น จะเน้นความโปร่ง เดินสบายไม่อึดอัดเหมือนห้องสมุดทั่วๆ ไปที่คุ้นเคย แต่เหมือนนั่งอ่านหนังสือที่บ้านมากกว่า ซึ่งโคตรดี"
ดังที่ mthai.com รายงานด้วยว่า “หลังจากที่ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงอาคารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ย่านสี่แยกคอกวัว เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๕๙
ปัจจุบันหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครได้พร้อมเปิดให้ประชาชนได้เข้าทดลองใช้ในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๐ ก่อนที่จะมีแผนเปิดให้บริการตลอด ๒๔ ชั่วโมงต่อไป...
โดยจะเปิดให้บริการในวันอังคาร-เสาร์ เวลา ๐๘.๐๐-๒๑.๐๐ น. และในวันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๒๐.๐๐ น. และจะปิดทำการในวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์”
นั่นเป็นกำหนดทำการที่แก้ไขแล้ว ดังหน้าเฟชบุ๊คของหอสมุดฯ แจ้งไว้ “ไม่ได้เปิด ๒๔ ชม. ค่ะ เที่ยงคืนก็ไม่ใช่ค่ะ อังคาร-เสาร์ ปิด ๒๑.๐๐ น. อาทิตย์ปิด ๒๐.๐๐ น. ค่ะ”
ทีมงานเขายังให้ความกระจ่างแก่ท่านๆ ที่ #งงเด้งงงเด้ ด้วยว่า จะเปิดจริงๆ วันที่ ๒๘ เมษายน แต่วันนั้นเป็นวันที่มีพิธีการมากมาย “เจ้าหน้าที่บางท่านจึงแนะนำว่า ให้มาวันที่ ๒๙ เมษายน แทนจะได้สะดวกกว่า วันที่ ๒๘ เมษายนที่อาจจะได้เข้าใช้งานช่วงค่ำ”
ส่วนการทดลองเปิดมีไปแล้วเมื่อวันที่ ๗, ๘, ๙ และ ๑๑ เมษายนที่ผ่านมา
ก็พอดีมีใครที่ใช้นาม kyo‏ @kyoreadingroom จาก The Reading Room BKK‏ ไปชิมลาง ลองชมแล้วมาเขียนเล่าให้ฟัง
เราเห็นว่าเขาลงลึกเข้าถึงแก่น เลยคัดเอามาสยายต่อเต็มๆ โดยมี ‘added lips’ แต้มเติมนิดหน่อย ตามวิสัยคนชอบคิดแยกแยะ ชำแหละข้อมูลแบบ ‘critical thinking’
หลังจากที่เขาคนนี้เธอคนนั้นโพสต์ไว้ในวันเปิดทดลองครั้งแรกเมื่อ ๗ เมษา ว่า “เริ่มแววไม่ค่อยดีละ มีงบซื้อหนังสือแค่ห้าล้านแต่อยากได้หนังสือแสนเล่ม เลยเน้นรับบริจาคจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และภาคี”
เมื่อวานซืนนี้ (๑๒ เมษา) ก็มี รีวิว “ยาวนิดนะ” แต่ว่า “เบาๆ” ออกมา (pic.twitter.com/oV7OFiMIpz)
“เริ่มที่เรื่องหนังสือ อย่างที่คนอื่นได้โพสต์กันแล้วว่าหนังสือมีน้อยและเน้นรับบริจาค เลยคุณภาพคละๆ กันไป ดีบ้าง...บ้าง นอกจากโซนหนังสือ ร.๙ และหนังสือแค้ทตาล็อคเกี่ยวกับกรุงเทพฯ แล้ว ส่วนมากก็เป็นหนังสือแนวห้องสมุดประชาชนทั่วไป เช่น นิยายธรรมะ ฮาวทู ฯลฯ
และมีบางโซนที่ได้รับบริจาคมา อย่างงงๆ เช่น หนังสือภาษาตุรกีเกี่ยวกับอะไรไม่รู้ และตู้หนังสือสารานุกรมภาษาจีน เกี่ยวกับเมืองกวางโจวห้าร้อยกว่าเล่ม
ด้วยความที่ตอนนี้ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ ทำให้ยังไม่มีการติดป้ายบนชั้นว่าเป็นหนังสือประเภทใด คนเดินดูหนังสือจะงงมากๆ เพราะไม่รู้อะไรอยู่ตรงไหน ประกอบกับการวางชั้นหนังสือแบบแปลกๆ คือวางไว้กลางห้องบ้าง ริมห้องบ้าง หน้าห้องน้ำบ้าง ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ ว่าควรจะเดินดูอะไรยังไงดี
การตกแต่งและจัดการพื้นที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการใช้งานเป็นห้องสมุด ตั้งแต่เดินเข้าไปหน้าล็อบบี้ก็รู้สึกเหมือนเป็นโรงแรมหรือห้างสรรพสินค้า หรือโรงพยาบาลหรูๆ (ชาวคณะเห็นพ้องว่าเหมือนโรงพยาบาล BNH -หมายเหตุ-บำรุงราษฎร์)
เพราะพื้นมันวาว ผนังตกแต่งสีทองระยิบระยับ โคมระย้าพริบแพรวอลังการ และเมื่อเดินเข้าด้านในก็พบว่า เน้นพื้นที่การทำงานมากกว่าพื้นที่วางหนังสือ บางโซนเหมือนเป็นห้องที่มีโต๊ะทำงานเยอะๆ แล้วมีชั้นหนังสือเป็นตัวประกอบเฉยๆ
ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าคนต้องการมานั่งทำงานหรือนั่งพักผ่อนหรือ ‘นอนหลับ’ จะเหมาะมากๆ เพราะแอร์เย็น โซฟาน่านอน และโต๊ะทำงานเยอะสุดๆ แต่โต๊ะทำงานส่วนมากยังไม่มีปลั๊กไฟ และโคมไฟตามโต๊ะยังไม่มีหลอดไฟ และไม่มีปลั๊กไฟให้เสียบไฟ (ตอนนี้เหมือนตั้งไว้ตกแต่งเฉยๆ)
พูดจริงๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจการออกแบบและซื้อของมาตกแต่งเท่าไร เพราะทั้งสี่ชั้นของหอสมุดมีโคมไฟสีทอง เล็กบ้างใหญ่บ้างรวมกันแล้วน่าจะเหยียบๆ ร้อยดวง (ไม่แน่ใจว่าทำไมต้องเยอะขนาดนั้น) มีขนาดและรูปแบบดีไซน์ที่ต่างออกไป รวมถึงโคมติดผนังและไฟระย้าอีกมากมาย มิกซ์แอนด์แม้ทซ์มากๆ
อีกทั้งเฟอร์นิเจอร์ก็เต็มไปด้วยความไม่ค่อยเข้ากัน มีโต๊ะเก้าอี้โซฟาหลากสีหลายแบบ ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เน้นให้เป็นแบบเดียวกันให้หมด
อีกอย่างที่ประหลาดใจมากๆ คือแทบทุกชั้นจะมีจอทีวี LED ติดตามผนังค่อนข้างเยอะมากๆ ทั้งในพื้นที่หลักและในห้องย่อย คะเนรวมๆ น่าจะเกิน ๓๐-๔๐ จอ นอกจากในโซนที่แสดงภาพพระราชกรณียกิจ ร.๙ แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะปิดไว้เป็นจอเปล่าๆ
(มีห้องประชุมห้องนึงคั้ลท์มากๆ เพราะมีโต๊ะกลางห้องเป็นโต๊ะเก้าอี้ไม้สไตล์เอ๊าท์ดอร์ และมีทีวีติดผนังรอบห้องหกจอ หึมมม...)
ซึ่งเมื่อคุยกับชาวคณะก็คาดว่า บริษัทที่เข้ามารับผิดชอบจัดพื้นที่ น่าจะเป็นบริษัทที่เน้นจัดพื้นที่ให้พิพิธภัณฑ์ จึงออกแบบมาแบบเน้นจอดิสเพลย์และแสงสีสวยงาม และ
มีพื้นที่ว่างเยอะมากๆ แต่มีชั้นหนังสือน้อยมากๆ แต่อาจไม่ตอบโจทย์การใช้งานของ ‘ห้องสมุด’
สรุปว่าการจัดพื้นที่ไม่เอื้อต่อผู้ใช้งานห้องสมุดเท่าไร แต่เหมาะกับการมานั่งทำงาน นั่งนอนเล่น และพาเด็กมาเล่นในโซนหนังสือเด็ก แต่แน่นอนว่าพอแก้ไขได้อยู่ (หากเขาอยากจะแก้ไขกันน่ะนะ)
สวัสดี”
แต่ถ้าย้อนไปดูรีวิวของ ‘แมงโก้ซีโร่’ จะพบว่า การจัดสร้างห้องสมุดประชาชนแบบสุดหรูอย่างนี้ มิใช่นี่เป็นอาคารเก่าโบราณที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบให้ หากแต่
“เนื่องจากกรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลกเมื่อปี ๒๕๕๖ (World Book Capital) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เป็นลำดับที่ ๑๓ ต่อจากกรุงเยราวาน อาร์เมเนีย
ซึ่งพันธกิจหนึ่งที่สำคัญที่เสนอไว้ คือ โครงการจัดตั้งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร”
โดยอาจจะตั้งใจเน้นคุณลักษณะสวยงามของการตกแต่งภายใน การจัดวางหนังสือจึง ‘เน้น’ เช่นกันที่ช่องว่างช่องไฟ ถึงได้ตั้งงบฯ จัดหาหนังสือไว้เพียง ๕ ล้าน และประนีตล้นเหลือกับงานมัณฑนศิลป์
คำนิยมส่งท้ายรายงานของ ‘เอ็มไทย’ อาจเป็นดัชนีชี้แนะ ‘indication’ อย่างหนึ่งก็ได้ ที่บอกว่า “ที่นี่จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ”
ประเทศไตแลนเดียเสียอย่าง ‘หอสมุดจุดท่องเที่ยว’ ใครเล่าจะคิดได้ ไม่ต้อง ๕ ไม่มี ha