วันเสาร์, เมษายน 08, 2560

เอาอย่างนี้ไหม... เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ (๑) รวบรวมรายชื่อ แล้วเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยก็ขอยกเลิกมาตรา ๔๔





รัฐธรรมนูญใหม่แต่ยังใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเก่า อย่างที่ ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ว่าไว้จริงๆ

นั่นคือ คสช. ยังคงเป็นผู้กุมอำนาจครองเมืองต่อไป จนกว่าจะสามารถตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งได้ และคณะรัฐมนตรีใหม่เริ่มปฏิบัติหน้าที่

(http://www.tlhr2014.com/th/?p=3942)

คำนวณเวลาโดยคาดคะเน ตามการวิเคราะห์ของปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มธ. อย่างเร็วมกรา ๖๒ ส่วนอย่างช้านั้นอย่าว่าแต่คาดคะเนเลย แม้เดาก็ยังไม่ได้





แน่ๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กำอำนาจล้นทั้งจากมาตรา ๔๔ เดิมและอำนาจที่รัฐธรรมนูญใหม่ให้ไว้ “ด้วยผลของมาตรา ๒๖๕ วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้การใช้อำนาจนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ชอบด้วยกฎหมายเเละมีผลบังคับใช้ต่อไป”

“ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการทบทวนถึงความชอบของการกระทำดังกล่าว ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ เเละผู้ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำนั้นไม่มีสิทธิเรียกร้องทั้งในทางเเพ่ง ทางอาญาหรือเเม้เเต่ทางปกครอง” บ้างไหม

การนี้นายปริญญาชี้ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นไปได้ ๔ แบบ ซึ่งแบบแรกดังที่ฝ่ายประชาธิปไตยคาดหมายกันไว้ นั่นคือพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคไม่สามารถได้เสียงข้างมากพอตั้งรัฐบาลเองได้

คสช. จะเป็นผู้กำหนดว่าพรรคใดได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล ผ่านทางเสียงสมาชิกวุฒิสภาที่ คสช. ตั้ง (ทั้งทางตรงทางอ้อม) ทั้งสิ้น ๒๕๐ เสียง

เว้นแต่กรณีที่สอง คสช. ต้องการเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลเอง เพราะเสียงเรียกร้องของคนอย่างนพพล โกมารชุน ซึ่ง ‘รำพึงเบาๆ’ แสดง ‘คหสต.’ ออกมาว่า

“กราบขอบพระคุณที่ลุงจะยังไม่ไปไหน ขอให้อยู่กับพวกเราไปอีกนานๆ เราจะเป็นกำลังใจให้ลุงตลอดไปครับ”

(https://www.facebook.com/PoliticsKalaland/photos/a.435723619966170.1073741827.435721019966430/618212008383996/?type=3&theater)





คงทราบกันแล้วว่า คนอย่าง ‘ตู่’ นพพลนี่แหละที่วิงวอน ‘ลุงตู่’ ประยุทธ์ให้ “ช่างแม่งมันบ้างก็ได้นะครับเรื่องกฎระเบียบสงกรานต์เนี่ย ถ้าพวกแมร่งจะตายกันบ้างเพราะความเมา ก็ปล่อยแม่งตายโหงตายห่าไปเถอะครับ”

หรือจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธาน สปช. ที่กระเหี้ยนกระหือรือจะปฏิรูปศาสนาพุทธแบบวัดพระธรรมกายเสียเหลือทน

ล่าสุดจึง “ขอใช้สิทธิข้อมูลข่าวสารตาม รธน.ใหม่ ขอตรวจสอบบัญชีการเงินวัดทั่วประเทศจาก ผอ.พศ.” (ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ)

(http://www.thairath.co.th/content/907555)

ในขณะทีมงานกันเองอย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ช่างธรรมะ ธรรโม ออกไอเดีย “รณรงค์ให้ประชาชนสวดมนต์หรือทำกิจกรรมที่เป็นมงคลเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ” ช่วงรื่นเริงเถลิงศกสงกรานต์

(http://www.matichon.co.th/news/518426)





สำหรับกรณีที่สามในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่นายปริญญาคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ใครต่อใครก็คิดอย่างนั้น ก็คือพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์จับมือกันตั้งรัฐบาลเอง ต้องข้ามไปหาความน่าจะเป็นอันดับสี่

“ปล่อยฟรีโหวตกับ ส.ว. ให้การตั้งรัฐบาลเป็นธรรมชาติ โดย คสช. ถอยออกไปยืนดู ๕ ปี ไม่เป็นผู้เล่นเอง”

นายปริญญาอ้างว่านั่นเป็น “เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และจะสามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้”

แล้วถ้า “หาก คสช.ไปตั้งพรรคการเมืองเอง เป็นผู้เล่นเหมือนพรรคสามัคคีธรรมในปี ๒๕๓๔ ก็จะทำให้เสื่อมทันที”

(http://www.matichon.co.th/news/522220)

สมมุติว่า ย้ำ สมมุตินะ ถ้า คสช.ฟังสิ่งเหล่านี้ และเกิดดวงตาเห็นธรรมอย่างที่ Atukkit Sawangsuk สับไว้ว่า “การมี ม.๔๔ อำนาจใน รธน.ชั่วคราวค้างคืนอยู่กับ รธน.ถาวร อีกร่วม ๒ ปีกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ เป็นความวิปริตผิดเพี้ยนที่ไม่เคยมีมาก่อน”

และยังประพฤติตนเป็น ‘คนธรรมดา’ มากกว่า ‘คนดี’ โดยที่ “รู้จักปฏิบัติการจิตวิทยา ค่อยๆ ผ่อนคลายอยู่ร่วมกับสังคม ไม่เพิ่มหรือลดความรู้สึกบาดหมาง ใช้อำนาจแต่น้อย ใช้เฉพาะที่สังคมเห็นว่าจำเป็น” ดังที่อธึกกิตแนะละก็

คงมีนักประชาธิปไตยหนีไปบวชกันระนาว แต่ถ้าสิ่งที่ปริญญาและอธึกกิตกล่าวมานั้น เป็นเพียง ‘ความฝันอันเหลือเชื่อ’ ต้องกลับไปหาความเป็นจริงกันดีกว่า

ความเป็นจริงที่ อจ.ธีระ สุธีวรางกูร เสนอ “เอาอย่างนี้ไหมครับ...เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว เราจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ (๑)

รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน แล้วเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

เนื้อหาที่จะแก้ไข อย่างน้อยก็ขอยกเลิกมาตรา ๔๔ ที่แปลงรูปไปอยู่ในมาตรา ๒๗๙ เสียก่อน ถ้าท่านโอเค พวกผมจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้

ท่านจะเอาไหมครับ :)”

ooo

หมวด ๑๕ 

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 

มาตรา ๒๕๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้

มาตรา ๒๕๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทําได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกวาห่ ้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

.....

รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดาวน์โหลดได้ที่นี่ https://goo.gl/SI9Ijo