วันศุกร์, เมษายน 28, 2560

เดชตือโป๊ยก่าย ตอน เรือดำน้ำตื้น





เดชตือโป๊ยก่าย ตอน เรือดำน้ำตื้น

“อาจารย์ครับ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังปัญหาเรื่องทะเลจีนใต้ การที่ประเทศไทยซื้อเรือดำน้ำของจีนมาประจำการก็น่าจะเข้าสถานการณ์ไม่ใช่เหรอครับ” ข้าพเจ้าเอ่ยถามอาจารย์ญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความมั่นคงทางทะเลระหว่างที่คุยกันเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้

“สุภลักษณ์ซัง พูดตามตรงนะ ประการแรกปัญหาทะเลจีนใต้ไม่ relevant สำหรับประเทศไทย ประการที่สอง ต่อให้ประเทศไทยอยากเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในโลกนี้ไม่มีใครคิดจะพึ่งแสนยานุภาพทางทะเลของไทยหรอก ประเทศไทยจะมีเรือดำน้ำสักลำสองลำหรือไม่มีเลยก็ไม่มีนัยสำคัญต่อดุลกำลังทางทะเลในภูมิภาคนี้” อาจารย์ญี่ปุ่นว่า “ในยุทธศาสตร์ใหญ่เรามองว่าเวียดนามพัฒนากองเรือดำน้ำเป็นสิ่งที่น่าสนใจและมีความหมายต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงในภูมิภาคอย่างมาก”

เรือดำน้ำเป็นอาวุธที่น่าสะพรึงกลัวในช่วงสงครามโลก แต่หลังจากสงครามใหญ่แล้วภารกิจหลักของเรือดำน้ำคือ การป้องปราม การลาดตะเวนและข่าวกรอง โดยที่เรือดำน้ำที่ทำหน้าที่ป้องปรามคือเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ติดขีปนาวุธข้ามทวีป ส่วนงานลาดตะเวนและหาข่าวนั้นเป็นภารกิจของเรือดำน้ำพลังดีเซล เพราะมีขนาดเล็ก เงียบและซ่อนพลางตัวได้ดีกว่า

กองทัพเรือไทยก็เหมือนกับกองทัพอื่นๆคือ ฝันอยากจะมีอาวุธที่คนอื่นๆเขามีกันโดยอาศัยข้ออ้างทางเรื่องดุลภาพทางกำลังซึ่งเป็นข้ออ้างในสภาวะสงครามหรือสงครามเย็นที่ใช้กันเกลื่อน แต่รัฐสมัยใหม่โดยเฉพาะพวกที่มีขนาดเล็กและงบประมาณจำกัดจะคำนึงถึงภารกิจของยุทโธปกรณ์มากกว่าเรื่องดุลกำลัง เพราะไม่มีทางที่จะไปสร้างดุลกำลังแข่งขันกันได้อยู่แล้ว

กองทัพเรือไทยให้เหตุผลในการจัดหาเรือดำน้ำ 2-3 ประการคือ

1 ประเทศไทยเคยมีกองเรือดำน้ำระหว่างปี 1938-1951 เอกสาร 9 แผ่นที่กองทัพเรือใช้ชี้แจงต่อสาธารณอ้างคำใหญ่คำโตว่า “ในอดีตเรือดำน้ำเคยช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการถูกยึดครองและการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนมาแล้ว” แต่ตำราประวัติศาสตร์อื่นๆ เช่นอาจารย์ สุวิทย์ ธีรศาศวัต บอกว่ายุทธการที่เกาะช้างในปี 1941 นั้นกองเรือไทยเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและกองทัพเรือไทยเสียเรือรบไปหลายลำ เพราะกองเรือฝรั่งเศสมีกำลังมากกว่า แม้ว่าบทสรุปของสงครามในครั้งนั้นซึ่งก็มีบทบาทของเหล่าทัพอื่นๆรวมอยู่ด้วยจะทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (บางตำราว่าฝั่งซ้าย นั่นก็สุดแต่อคติทางการเมือง แต่ให้หมายถึงฝั่งลาว) แต่ก็เพราะความช่วยเหลือของญี่ปุ่นในช่วงที่ฝรั่งเศสเพลี่ยงพล้ำในสงครามใหญ่และสุดท้ายก็ต้องเสียดินแดนเหล่านั้นคืนไปให้อินโดจีนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

2 เอกสารโฆษณาของกองทัพเรือระบุว่า “เพราะการมีเรือดำน้ำเท่านั้นจึงจะรักษาดุลกำลังทางเรือในสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลในปัจจุบันได้”ด้วยว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็มีเรือดำน้ำ สิงคโปร์มี 6 ลำและกำลังต่อเพิ่มอีก 2 ลำ เวียดนามมีเป้าหมาย 6 ลำตอนนี้เข้าประจำการแล้ว 4 ลำ อินโดนีเซียมี 2 ลำ กำลังสั่งต่อเพิ่มอีก 3 ลำ และมาเลเซียมี 2 ลำ แต่การประเมินดุลกำลังแบบนี้ไม่มีความหมายอะไรในเชิงยุทธศาสตร์ ท่าทีของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นไม่ได้แสดงว่าเป็นภัยคุกคามต่อไทยประเทศเหล่านั้นเป็นพันธมิตรในอาเซียน มีปัญหาพิพาททางทะเลกับจีนเป็นส่วนใหญ่ มองในด้านหนึ่งการที่ไทยมีเรือดำน้ำอาจจะเป็นผลดีเพราะจะช่วยป้องปรามจีนได้ แต่โชคร้ายสำหรับเพื่อนบ้านคือไทยจะซื้อเรือดำน้ำจากจีน กลับกลายเป็นว่าไทยจะร่วมมือกับจีนทำตัวเป็นภัยคุกคามเพื่อนบ้านและจะสร้างความหวาดระแวงให้กับเพื่อนบ้านในอาเซียนเสียมากกว่า

3 กองทัพเรือต้องการเรือดำน้ำในการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลซึ่งคำนวณเป็นตัวเงินได้ถึง 24 ล้านล้านบาทต่อปี เฉพาะอ่าวไทยก็มีเรือสินค้าเข้าออกปีละถึง 15,000 ลำ และปากอ่าวของไทยนั้นกว้างเพียง 200 ไมล์ทะเลหรือ 400 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าโดนปิดปากอ่าวคงเดือดร้อนแสนสาหัส ดังนั้นถ้าใช้งบประมาณ 36,000 ล้านบาทคุ้มครองอ่าวไทยตลอดอายุการใช้งานของเรือ 30 ปีรวมกับค่าปฏิบัติการ ก็คำนวณออกมาได้เป็นแค่ 0.0006 % ของผลประโยชน์ทั้งมวล

แต่นี่ไม่ควรเป็นตรรกะในการแสดงเหตุผล เพราะความจริงคิดดูแล้วก็เป็นเม็ดเงินที่ไม่น้อยเท่าไหร่เอาแค่เฉลี่ยค่าตัวเรือ 30 ปีก็ตกปีละ 1,200 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ทั้งกองทัพเรือก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะเรือดำน้ำนี้เท่านั้นเรือผิวน้ำ เรือฟรีเกต ก็ซื้อมาไม่ได้ขาดอยู่แล้ว มากบ้างน้อยบ้างเป็นข่าวบ้างไม่เป็นข่าวบ้าง ถ้าให้ถูกต้องเอางบประมาณของกองทัพเรือทั้งหมดมารวมด้วยแล้วค่อยประเมินว่า ตั้งแต่มีกองทัพเรือมาใช้จ่ายไปคุ้มค่ากับการปกป้องทรัพยากรมูลค่า 24 ล้านล้านบาทหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กองทัพเรือและรัฐบาลไม่กล้าบอกกับสาธารณะคือ ภารกิจหลักของเรือดำน้ำไทยนั้นคืออะไรกันแน่ เนื่องจากกองทัพไทยนั้นเคยประเมินเอาไว้แล้วว่า สงครามในแบบ conventional war ไม่ว่าทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ จะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ และยังไม่มีวี่แววใดว่าจะเกิดอีกด้วย ภัยคุกคามเฉพาะหน้าเอาแต่เฉพาะทางทะเลตอนนี้คือเป็นภัยใหม่ที่เรียกว่า non-traditional security threat เช่นภัยธรรมชาติ ประเภท Tsunami พายุ โจรสลัด ก่อการร้าย ลักลอบขนของเถื่อน และค้ามนุษย์เป็นต้น ซึ่งภัยเหล่านี้ ถ้าใช้กองเรือดำน้ำออกปฏิบัติการมันดูเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนอย่างยิ่ง เคยมีข่าวว่าพวกขนยาเสพติดใช้เรือดำน้ำขนยาอยู่เหมือนกันในโคลัมเบีย แต่ก็เป็นเรือดำน้ำพลเรือนขนาดเล็ก ถ้าสิ่งเหล่านี้จะเกิดในน่านน้ำไทยบ้างเรือดำน้ำที่กองทัพเรือไทยจะใช้ก็ควรจะเป็นแบบที่ทัดเทียมกัน เรือดำน้ำชั้น Yuan ที่ไทยจะซื้อนั้น ไม่ดีเท่าไหร่ถ้าเปรียบเทียบกับเรือดำน้ำพิฆาตของโลกตะวันตก แต่ดีและซับซ้อนเกินไปสำหรับพวกขนยาเสพติด ถ้าหากนี่เป็นภัยคุกคามจริงๆ ลงทุนอุปกรณ์ต้านเรือดำน้ำ เรือตรวจการณ์ เรือลำเลียง และ Coast Guard ไม่ดีกว่าหรือ เพราะน่าจะตรงเป้าเข้าประเด็นมากกว่า

แต่ที่ไม่กล้าพูดเอามากๆเลยคือ specification ของเรือ S26T ไม่ใช่เพราะกลัวความลับทางทหารรั่วไหล แต่กลัวสาธารณชนรู้ว่าซื้อของไม่เป็นต่างหาก ประเทศที่ไม่ได้พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยตนเองอย่างไทยนั้นไม่มีความลับทางทหาร เพราะทันที่ทำข้อเสนอสั่งซื้อคนในวงการเขาก็รู้แล้วว่ากองทัพไทยมีอะไรบ้าง ความได้เปรียบหรือเสียเปรียบอยู่ทีทักษะการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นต่างหากก็เหมือนกับซื้อคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือนั่นแหละ spec และ option สูงมาก แค่คนใช้งานทำเป็นไม่กี่อย่างที่เหลือมันก็ไร้ค่าฉันใดก็ฉันนั้น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรกองทัพหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดเรื่องนี้ไม่ได้ ถ้าคุณเป็นเศรษฐีเงินเหลือใช้แล้วซื้อลัมโบกีนีมาขับบนถนนในกรุงเทพฯเพื่อจะทำความเร็วได้พอๆกับโตโยต้าวีออสหรือปิ๊กอัพอีซูซุดีแมกก็คงไม่มีใครว่าอะไร แต่นี่งบประมาณจากภาษีประชาชนซื้อของมาแล้วต้องใช้ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ทำตัวเป็นพวกเห็นช้างขี้ตามช้างไม่ได้เด็ดขาด




Supalak Ganjanakhundee