วันศุกร์, เมษายน 07, 2560

ปัญหา ความขัดแย้ง ปีที่ 3 ของ คสช. และรัฐบาล เริ่มมี “ลักษณะพิเศษ”





ปัญหา ความขัดแย้ง ปีที่ 3 ของ คสช. และรัฐบาล เริ่มมี “ลักษณะพิเศษ”

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ 
ฉบับวันที่ 31 มีนาคม - 6 เมษายน 2560
5 เมษายน พ.ศ.2560
คอลัมนฺ์ กรองกระแส


ปัญหา ความขัดแย้ง ปีที่ 3 ของ คสช. และรัฐบาล เริ่มมี “ลักษณะพิเศษ”

ไม่ว่าจะเป็นกรณีวัดพระธรรมกาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีบ่อนชายแดนกัมพูชา-ไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีการวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส ไม่ว่าจะเป็นกรณีการออกโรงต้านบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ดำเนินไปอย่างมี “ลักษณะพิเศษ”

ลักษณะพิเศษตรงที่สะท้อนความขัดแย้งและปะทะระหว่างอำนาจรัฐกับคู่ความขัดแย้งอันแตกต่างออกไปจาก 2 ปีแรกหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นั่นก็คือ มิได้เป็นความขัดแย้งกับ 1 พรรคเพื่อไทย 1 นปช.

แม้กรณีของวัดพระธรรมกายจะมีความพยายามโยงไปสัมพันธ์กับคนของพรรคเพื่อไทย และสัมพันธ์กับบทบาทของคนเสื้อแดงบางส่วนซึ่งถูกตรวจค้นและจับกุมในเรื่องอาวุธสงคราม แต่ก็ต้องยอมรับว่าคู่ขัดแย้งหลักยังเป็นเรื่องระหว่างอำนาจรัฐกับวัดพระธรรมกาย

กระทั่งมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจตาม “มาตรา 44” เข้ามาจัดการ

ยิ่งเรื่องกรณีบ่อนชายแดนกัมพูชา-ไทย ยิ่งเรื่องกรณีการวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าเส และกรณีการต่อต้านบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ยิ่งเป็นเรื่องอันสะท้อนกระบวนการบริหารจัดการของ คสช. และของรัฐบาลโดยตรง

โดยฝ่ายที่ออกโรงคัดค้าน ต่อต้าน แสดงความไม่เห็นด้วยมาจากฝ่ายที่เคยอยู่ด้านเดียวกันกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ด้วยซ้ำ




ตัวละครใหม่
พวก “เดียวกัน”

ถามว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ออกมาต้านบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นใคร ตอบได้เลยว่าเป็นคนที่เห็นชอบด้วยกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ร่วมอยู่ใน คสช. ตั้งแต่ต้น กระทั่งดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี

อย่าได้แปลกใจหากพันธมิตรของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นอกจาก นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้วยังได้แก่ นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ยิ่ง นางอนิก อัมระนันทน์ ยิ่งสัมพันธ์กับประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.

หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ บุคคลเหล่านี้ก็คงไม่ออกมาคัดค้าน ต่อต้าน

เช่นเดียวกับกรณีการวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรม นักดนตรีชนเผ่าลาหู่ คนที่ออกนอกหน้าตั้งข้อสังเกตในการไม่ชอบมาพากล คือ นายชาติชาย สุทธิกลม นางเตือนใจ ดีเทศน์ และ นางอังคณา นีละไพจิตร ซึ่งล้วนเป็นกรรมการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)


ยังกรณีมีการจัดตั้งและจะเปิดบ่อนกาสิโนบริเวณชายแดนกัมพูชา-ไทยที่จังหวัดบุรีรัมย์ นายวีระ สมความคิด ก็เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึงวัดพระธรรมกายซึ่งมีรากฐานของตนเองกว่า 40 ปี


AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

สถานการณ์ สังคม
3 ปีหลังรัฐประหาร


ใน 1 หรือ 2 ปีแรกหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คสช. และรัฐบาลสามารถอ้างได้ว่าความขัดแย้งเป็นผลและความต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อน

โดยเฉพาะรัฐบาลพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

แต่เมื่อล่วงจากเดือนพฤษภาคม 2558 เข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2559 และเดือนพฤษภาคม 2560 กำลังย่างสามขุมเข้ามา ข้ออ้างเมื่อ 1 หรือ 2 ปีก่อนก็เริ่มขาดน้ำหนัก

เพราะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกโค่นไปนานแล้ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาของ คสช. และรัฐบาลปัจจุบันอย่างเด่นชัด การผลักดันบรรษัทน้ำมันแห่งชาติก็เริ่มขึ้นจาก “แม่น้ำ 5 สาย” การวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส ก็อึกทึกจากคำแถลงอย่างมีเงื่อนงำของกองทัพภาคที่ 3 และกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 การเปิดบ่อนกาสิโนหรูบริเวณชายแดนกัมพูชา-ไทยก็สัมพันธ์ระหว่างตัวละครอันเป็นพวกเดียวกันกับ คสช.

ปัญหาอันเนื่องแต่วัดพระธรรมกายก็เป็นผลงานล้วนๆ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนพัฒนาจาก 1 เป็น 300 คดี จนพัฒนาจากการใช้กฎหมายปกติไปสู่การใช้กฎหมายพิเศษด้วย “มาตรา 44”

ไม่มีอะไรเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย ไม่มีอะไรเกี่ยวกับพรรคพลังประชาชน ไม่มีอะไรเกี่ยวกับพรรคไทยรักไทย

เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ คสช. เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล


AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

ความอึดอัด คับข้อง
ผลงาน แม่น้ำ 5 สาย

การเหยียบเข้าปีที่ 3 ของการบริหารราชการแผ่นดิน ปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ เริ่มปรากฏถี่ยิบและมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ที่น่าหวาดเสียวอย่างยิ่ง คือ ความขัดแย้งจากพวกเดียวกัน

เห็นได้จากความอึกทึกครึกโครมจากความพยายามในการเปิดบ่อนกาสิโนที่ชายแดนกัมพูชา-ไทย อันสะท้อนความอึดอัดคับข้องจาก นายวีระ สมความคิด เห็นได้จากความอื้อฉาวจากกรณีวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส ที่แม้กระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็รับไม่ได้

เห็นได้จากการออกโรงของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และคณะ ตั้งข้อสงสัยต่อความพยายามยัดไส้ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ถ่ายโอนอำนาจไปยังกรมการพลังงานทหาร อันเท่ากับฟื้น “สามทหารและองค์การเชื้อเพลิง”

การจัดการกับคนของพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย อาจไม่ยาก แต่การจัดการกับคนซึ่งเคยอยู่ฝ่ายเดียวกันจึงยากลำบากและซับซ้อนมากกว่า