วันจันทร์, เมษายน 24, 2560

ชวนอ่าน บทความเก่า ... ทลายคุกบาสตีล 2013"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเสนอปฏิวัติแบบแผนของชีวิตทางการเมืองไทย + สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 116 ปี จอมพล ป. + ทลายคุกบาสตีล เมื่อ 224 ปี ที่แล้ว โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย



ภาพวาดการทลายคุกบาสตีล วาดโดยฌ็อง-ปีแยร์ หลุยส์ส์ โลร็องต์ อูเอล(Jean-Pierre Louis Laurent Houël)

"ทลายคุกบาสตีล 2013"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเสนอปฏิวัติแบบแผนของชีวิตทางการเมืองไทย ใช้บรรทัดฐานเดียวกันทั้งนักการเมืองและเจ้า วิพากษ์คลิปทักษิณ เป็นปัญหายุทธศาสตร์เอาใจทหารของเพื่อไทย และวิพากษ์จุดอ่อนขบวนเสื้อแดง


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลกับข้อเสนอปฏิวัติการเมืองไทย ในงาน 224 ปี ทลายคุกบาสตีล

ที่มา ประชาไท
2013-07-16

14 ก.ค.56 ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล จัดกิจกรรม"ทะลายคุกบาสตีล 2013" ในโอกาสวันปฏิวัติฝรั่งเศส โดยผู้ร่วมปราศรัยประกอบด้วย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายประเด็น การปฏิวัติฝรั่งเศส ความสำคัญกับการปฏิวัติ 2475 ในประเทศไทยรวมทั้งวิพากษ์คลิปเสียงทักษิณ วิพากษ์จุดอ่อนและข้อจำกัดของขบวนการเสื้อแดงรวมทั้งรัฐบาลเพื่อไทย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายเรื่องความสำคัญของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งในวันเดียวกันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดในปีที่ 116 และ จรัล ดิษฐาอภิชัยที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อภิปรายถึงเหตุการณ์ทลายคุกบาสตีล



ภาพสมศักดิ์ ขณะปีนกำแพงคุกออกมา ภาพโดย Suda Rangkupan


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: การปฏิวัติคือการเปลี่ยนแบบแผนของชีวิต

ผมถือตัวเองเป็นเพื่อนของคนเสื้อแดง อาจจะไม่ใช่คนเสื้อแดงก็ได้มั้ง แต่ความลำบากที่จะพูดให้เพื่อนฟัง ซึ่งเราจะพูดอะไรบางอย่างที่มันไม่ถูกหูนัก ซึ่งลำบากใจ แต่ผมคิดว่าถ้าไม่เป็นเพื่อนกันจริงก็คงไม่พูด จริงๆแล้วถ้าเราเห็นใครบางคนไม่ใช่เพื่อนเรา กระทั่งเป็นศัตรูทางการเมืองเรา ความจริงเราไม่บอกเขาหรอกว่าเขาเป็นอย่างไร.. เวลาเราเตือนใครก็เพราะเรามองเขายังเป็นเพื่อนอยู่และมีความหวังดีอยู่

2 อาทิตย์ที่แล้ว คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ไปพูดที่หอเล็ก ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (งานเสวนา “การเมืองไทยกับอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ”) แกพูดประเด็นหนึ่ง ว่าปัจจุบันสิ่งที่ต้องการ“ไม่ใช่การปฏิวัติ”แกมองว่า “เป็นแค่การปฏิรูป” จึงอยากเอามาคุย จริงๆ ตัวคำมันไม่ได้มีความหมายมากในตัวของมันเอง มันขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามว่าอะไรคือการปฏิวัติอะไรคือการปฏิรูป

เริ่มต้นด้วยการเสนอไอเดียวว่าเวลาเราพูดถึงการปฏิวัติเราหมายถึงอะไร อยากนิยามว่า “การปฏิวัติคือการเปลี่ยนแบบแผนของชีวิตบางอย่าง อาจเป็นชีวิตทางการเมือง สังคม ทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรมก็ได้” อย่างสมัยนี้เราผ่านการปฏิวัติทางดิจิตอล ทีวีก็จะมีทีวีดิจิตอล อันนี้ถ้าเราบอกว่าเป็นการเปลี่ยนแบบแผนวิถีชีวิตแบบหนึ่งก็ได้

อย่างอเมริกา ยุโรป มันมียุคหนึ่งที่มีการปฏิวัติทางเพศ ที่เลิกถือว่าผู้หญิงอยู่กับเย้าเฝ้าเรือน วันนี้ผมจะมาเน้นเฉพาะประเด็นเรื่องปฏิวัติทางการเมือง ถ้าเรานิยามมันว่าคือการเปลี่ยนวิถีทางการเมือง เอาง่ายๆ อย่างก่อน 2475 เราถือว่ากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดินเป็นเจ้าของการตัดสินใจ หลัง 2475 เราไม่ได้ถือแบบนั้นแล้วอย่างน้อยในทางทฤษฎี เพราะฉะนั้นในแง่นี้ถือเป็นการปฏิวัติไหม ก็ถือว่าเป็น

แต่ที่ผมอยากเสนอคือบางทีนักวิชาการเรียกการเปลี่ยนแบบวิถีชีวิตเป็นการเปลี่ยนในทางโครงสร้าง จะใช้เปลี่ยนแบบวิถีชีวิต โหมดวิถีชีวิตก็ได้ การปฏิวัติคือการที่เราเปลี่ยนตรงนี้ อย่างน้อยโดยหลักๆ เราไม่ได้ใช้แบบเดิมอีกต่อไป

ความรุนแรงไม่ใช่ประเด็นสำคัญของการปฏิวัติเท่ากับการเปลี่ยนวิถีชีวิต

ประเด็นคือการเปลี่ยนวิถีชีวิตเปลี่ยนด้วยความรุนแรงหรือไม่รุนแรงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การเปลี่ยนบางอย่างรุนแรงแต่อาจไม่มีการเปลี่ยนวิถีชีวิตก็ได้ มันก็ไม่เกิดการปฏิวัติก็ได้ ในทางกลับกันถ้าเราเปลี่ยนแบบวิถีชีวิตโดยที่มันไม่ต้องผ่านความรุนแรงเลยก็ได้ เช่น ชนชั้นนำไทยอาจบอกว่า รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มี ม.8 ให้สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะละเมิดไม่ได้ ให้เลิกมาตรานี้ไปเลย มันผิดหลักการ วิถีชีวิตของเราในทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ผ่านความรุนแรงเลยก็ได้

แบบวิถีชีวิตทางการเมืองปัจจุบันต้องการการปฏิวัติ

เพราะฉะนั้นประเด็นว่ามันต้องรุนแรงหรือไม่รุนแรง ที่คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ พูดนั้น ผมคิดว่าอาจสับสนประเด็นเรื่องความรุนแรง ประเด็นผมคือว่าเราจะเปลี่ยนโดยความรุนแรงหรือไม่รุนแรง อันนี้เราบอกไม่ได้ แต่อันหนึ่งที่เสนอคือแบบวิถีชีวิตทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้มันต้องการการปฏิวัติ ในความหมายที่ต้องการเปลี่ยนในแบบคนละเรื่อง



ภาพสมศักดิ์ ขณะบรรยาย ภาพโดย Suda Rangkupan

เราอยู่ในโลกเมทริกซ์, ยิ่งฝืนการเปลี่ยนแปลงโอกาสสันติจะน้อยลง

อย่างกรณีของรัฐธรรมนูญมาตรา 8 (องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้) ที่ผมเสนอมาโดยตลอดก็คือ เมืองไทยมันเหมือนอยู่ในหนังเรื่อง เมทริกซ์ (Matrix) ที่พระเอกตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตประจำวันปกติ และมีคนบอกว่าที่คิดว่าโลกจริงๆ มันไม่ใช่โลกจริงนะ โลกจริงมันเป็นเพียงตัวคุณนอนแก้ผ้าในหลอดแก้ว แต่ที่คิดว่าโลกนี้เป็นจริงนั้นเพราะมันมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ป้อนภาพให้คุณรู้สึกว่าเป็นโลกจริง ทั้งที่ความจริงแล้วเครื่องจักรมันจับมนุษย์ไว้ในหลอดแก้ว เพื่อหลอกให้มนุษย์รู้สึกว่ายังมีโลกปกติอยู่ ก็ใช้วิธีการป้อนข้อมูลเข้าไป เมืองไทยมันเป็นแบบนี้ เป็นวิถีชีวิตแบบที่อยู่ในโลกปลอมๆ

เราพูดเรื่องอื่นๆได้ทุกเรื่องโดยไม่ต้องกังวล เช่น เรื่องเณรคำ เรื่องนักการเมือง เรื่องคลิป เรื่องนายกปูจับมือผิดหรืออ้าปากมากเกินไป เรื่องนายอภิสิทธิ์ เราพูดได้ทุกเรื่องอย่างเป็นปกติ เราเป็นอะไรเราก็มีปฏิกิริยาออกไปอย่างธรรมชาติ แต่เรื่องเจ้าเราต้องคิดซ้ำแล้วซ้ำอีก มองซ้ายมองขวา กระซิบบ้าง ฯลฯ บรรทัดฐานคนละอย่างเราเหมือนอยู่ในโลกพิกลๆ แทนที่จะใช้บรรทัดฐานแบบเดียวกันหมดเป็นธรรมชาติ มันเป็นอะไรที่ไม่เป็นธรรมชาติ

เราเห็นนักการเมืองไม่ว่าฝ่ายไหนเราก็แสดงออกไปโดยธรรมชาติ ว่าไปเลย เราพูดไปถ้ามันผิดอีกฝ่ายก็ด่ากลับเป็นเรื่องปกติมาก แต่พออีกเรื่องหนึ่งเราใช้บรรทัดฐานอีกแบบ ต้องเชื่ออย่างเดียว ใช้วิธีการที่สอนมาทุกระดับตั้งแต่อนุบาล เรื่องแบบนี้มันต้องการความเปลี่ยนแปลงถึงแบบแผนการดำเนินชีวิตในทางการเมือง พูดง่ายๆว่ามันต้องการการปฏิวัติ ว่าทำแบบนี้ต่อไม่ได้ ฝืนธรรมชาติ ถ้าเรานิยามว่าการปฏิวัติคือการเปลี่ยนแบบแผน สิ่งที่เราต้องการก็คือการปฏิวัติ

แต่ที่ผมพยายามพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกในรอบหลายปีที่ผ่านมาคือ มันเป็นความต้องการธรรมชาติของมนุษย์สมัยใหม่ แล้วถ้าไปฝืนมันโอกาสที่จะเปลี่ยนแบบวิถีชีวิตแบบนี้อย่างสันติมันจะน้อยลง

หลายคนบอกว่าที่ผมทำอย่างนี้มันจะยิ่งก่อให้เกิดความรุนแรง ซึ่งมันไม่ใช่ ที่ผมพูดเรื่อนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อที่จะบอกว่าทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนมันโดยที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือความพยายามไปห้าม ไปบังคับ เวลาใครพูดอะไรหน่อยก็ตั้งข้อหา จับเข้าคุกตลอดเวลา แล้วพยายามที่จะฝืนตลอดเวลา อันนี้ล่ะมันยิ่งจะทำให้โอกาสเปลี่ยนแปลงแบบวิถีชีวิตมีโอกาสนำไปสู่ความรุนแรงได้

2475 โดยวิธีการคือรัฐประหาร แต่เป็นการปฏิวัติด้วย


ส่วนเรื่อง “การรัฐประหารทางการเมือง” คือการที่คนกลุ่มน้อย กลุ่มเดียว เข้ายึดอำนาจรัฐโดยไม่ถามประชาชนส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ก่อน ศาลก็อยู่ๆ มาล้มรัฐบาล ก็ถือเป็นรัฐประหารเหมือนกัน คนก็จะต้องคำถามว่าแล้ว 2475 ล่ะ ซึ่งก็เป็นรัฐประหาร เหมือนกัน แต่ทำไมมันเป็นการปฏิวัติด้วย โดยวิธีการมันคือการรัฐประหารที่ยึดอำนาจโดยไม่ได้ถามประชาชนก่อน แต่ในยุคสมัยนั้นไม่มีการอนุญาตให้ถามประชาชนก่อน ไม่มีการอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแล้วเสนอและรณรงค์ให้มีการยกเลิกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คณะราษฏรต้องการเลิกระบอบนี้แต่มันไม่มีทางเลือกอันอื่นก็ใช้วิธีการยึดอำนาจโดยไม่ได้ถามประชาชน แต่ว่าใช้ข้ออ้างว่า 2475 คือการรัฐประหาร ถ้าอย่างนั้นต้องต่อต้าน 2475 นั้นมันไม่ใช่ประเด็น การถามประชาชนก่อนมันต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สังคมอนุญาตให้ถามได้ด้วย

รวมทั้งข้อเสนอต้องยกเลิกมาตรา112 เหตุผลก็เพื่อหลีกเลียงไม่ให้เกิดความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลง คือให้ทุกฝ่ายมาพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผยและรณรงค์ คนไม่เห็นด้วยก็รณรงค์กัน แต่ทุกวันนี้มันรณรงค์ซาบซึ้งได้ฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายทำไม่ได้

3 คำถามยอดฮิตจากคนรักเจ้า

มันมีคำถามยอดฮิตที่คนรักเจ้าชอบถาม 3 คำถาม

1. สถาบันไปทำอะไรให้มึงหรอ?

2. มึงเคยทำความดีอะไรมาหรือเปล่า?

3 ทำไมมึงไม่ด่านักการเมือง?

คำถามแรกที่ว่า “สถาบันกษัตริย์ไปทำอะไรให้มึง?” บางทีผมก็พูดกึ่งโจ๊กว่า ก็ยกเลิก 112 ก่อนสิ แล้วผมจะบอกให้ฟัง ประเด็นผมไม่ได้บอกว่าสถาบันกษัตริย์ทำอะไรให้ผมนะ ประเด็นก็คือว่าในที่สุดแล้วถ้าคุณไม่อนุญาตให้อภิปรายอย่างตรงไปตรงมา คุณจะรู้ได้อย่างไร คุณไปถามแบบนี้มันไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์ อย่างเอาง่ายๆ อย่างสิ่งที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และคุณสมัคร สุนทรเวช บอกทูตอเมริกาเหมือนกัน ตรงกันว่า 19 ก.ย.เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อย่างไร มาอภิปรายกันตรงไปตรงมาไหม เอาแค่นี้ว่าสุเทพฝ่ายหนึ่ง สมัครฝ่ายหนึ่งสองฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมือง พูดตรงกันอย่างนี้เอามาพูดกันสิ แต่จะพูดได้คุณก็ต้องยกเลิก ม.112 ถึงจะพูดได้ เพราะหากพูดมากกว่านี้ก็โดนตั้งข้อหา

อำนาจของผู้ปกครองต้องได้มาด้วยความยินยอมพร้อมใจของผู้ถูกปกครอง

2475 เป็นการใช้วิธีรัฐประหารเพื่อปฏิวัติ คือเขาไม่มีทางเลือกทางอื่น หลักการที่ว่าต้องถามความยินยอมพร้อมใจของประชาชนก่อน นี่เป็นหลักการที่ควรใช้ในโลกสมัยใหม่ แต่ตอน 2475 เขาทำรัฐประหาร เขาไม่ได้ถามประชาชนจริง แต่ที่เขาไม่ถามประชาชนเพราะเขาไม่มีเงื่อนไขให้เขาถาม ตอนนี้ที่ผมเรียกร้องก็คือเรียกร้องให้เปิดเงื่อนไขให้คนเขาถาม จริงๆหลักการอันนี้ในภาษาอังกฤษมีคำพูดอยู่คำหนึ่งว่า “The power of the rulers must derive from the consent of the ruled” แปลเป็นไทยว่า “อำนาจของผู้ปกครองต้องได้มาด้วยความยินยอมพร้อมใจของผู้ถูกปกครอง” หรือพูดสั้นๆว่าเป็น Rule by consent คือคุณต้องปกครองโดยการยินยอมพร้อมใจประชาชน

มนุษย์สมัยใหม่ถือว่าทุกคนเท่ากัน

การเลือกตั้ง หรือองค์ประกอบอื่นๆ ที่สามารถพูดนั่นนี่ได้ นี่คือการทำให้การเมืองวางอยู่บนพื้นฐานของการยินยอมพร้อมใจของประชาชน ทำไมต้องมีการเลือกตั้ง ทำไมต้องมีเสรีภาพการแสดงออก ทำไมต้องให้ทุกคนสามารถพูดแสดงความเห็นที่เขารู้สึกอย่างไรต่อผู้ปกครองได้ เพราะหลักการมันเป็นอย่างนี้ หลักการที่ว่า อำนาจและสถานะทั้งหลายของผู้ปกครองในโลกสมัยใหม่ ต้องได้รับการยินยอมพร้อมใจของผู้ถูกปกครอง ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าโดยหลักสมัยใหม่เราถือว่า เราทุกคนเท่าเทียมกัน

หลักการของมนุษย์สมัยใหม่ถือว่าทุกคนเท่ากันหมด เมื่อทุกคนเท่ากันหมด สถานะหรืออำนาจทุกอย่างไม่ว่าใครก็ตามจะได้มาก็โดยได้รับความยินยอมพร้อมใจ การยินยอมพร้อมใจที่รวมศูนย์ที่สุดก็คือการเลือกตั้ง แม้เราไม่สามารถให้การยินยอมพร้อมใจเป็นเอกฉันท์ได้ คน 30 ล้านคนจะให้เห็นชอบตรงกันไม่ได้ บางคนชอบทักษิณ บางคนชอบอภิสิทธิ์ เราถึงมีการเลือกตั้ง

ปัญหาของประเทศไทยปัจจุบันคือมันมี 2 มาตรฐานในประเด็นนี้ที่รวมศูนย์อยู่ที่ประเด็นเรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงองค์กรที่ล้อมรอบสถาบันกษัตริย์ด้วย เช่น กองทัพ ตุลาการ องค์กรอิสระทั้งหลาย ที่ได้อำนาจจากการอิงอำนาจของสถาบันกษัตริย์ อิงกับหลักการใหญ่ของการที่อำนาจของสถาบันกษัตริย์เป็นอำนาจพิเศษอีกแบบหนึ่ง ประเด็นนี้เป็นประเด็นหัวใจของปัญหาโครงสร้างหรือแบบแผนชีวิตของการเมืองไทย

ใช้บรรทัดฐานเดียวกันหมดแล้วให้ประชาชนตัดสิน


ผมเพียงแค่ขอให้ใช้บรรทัดฐานเดียวกันหมด แล้วให้ประชาชนตัดสิน อย่างกรณีสถาบันกษัตริย์แม้นักวิชาการที่เชื่อในประชาธิปไตยก็ไม่เข้าใจสิ่งนี้ประเด็นรูปธรรม อย่างเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ปีที่แล้ว มีงานที่สีหบัญชร มีคนมาเป็นแสน มีนักวิชาการฝรั่งเขียนในเว็บไซต์ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ช่วยรณรงค์เรื่อง ม.112 เป็นนักวิชาการที่สนับสนุนการเลือกตั้ง แต่เมื่อแกดูภาพที่เห็นก็บอกว่าเป็นรูปที่เป็นของจริง มีคนมาแสดงความจงรักภัคดีจริง มาเป็นหมื่นเป็นแสนแต่เวลาผมเห็นรูปพวกนี้ผมก็ยักไหล่ครับ ผมเชื่อว่าคนที่ไปจงรักภักดีในหลวงจริง แต่กิจกรรมแบบนี้มันขัดกับหลักการความยินยอมพร้อมใจของคน สมมติหากมีใครถือป้ายเชียร์ในหลวง แต่ถ้ามีคนไปถือป้ายคัดค้านได้ไหม อันนี้ตั้งเป็นคำถามนะครับ ซึงคำตอบในปัจจุบันนี้ก็คือไม่ได้ ใช่ไหม

โพลล์หรือประชามติที่มีความหมายทุกความเห็นต้องสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี

การปกครองโดยการยินยอมพร้อมใจอย่างแท้จริงนั้น ก็ต้องให้คนที่คิดต่างสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่รณรงค์ความเห็นของเขาได้อย่างเต็มที่ ถ้าหากว่ามีการอนุญาต ดังนั้นเวลาผมเรียกร้องเรื่องนี้ผมไม่ได้บอกเลยว่า เอาเข้าจริงแล้วถ้าให้ทำโพลล์ ฝ่ายสนับสนุนสถาบันก็จะชนะ ซึ่งผมก็ไม่สงสัยว่าถ้าทำโพลล์แล้วจะออกมาสนับสนุนสถาบันกษัตริย์เต็มที่ แต่โพลล์แบบนี้มันไม่มีความหมาย เพราะโพลล์หรือการแสดงประชามติที่มีความหมายนั้น ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าทุกความเห็นแสดงออกได้อย่างเสรี

สถานะของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นสถานะที่ขัดกับหลักการพื้นฐานของโลกสมัยใหม่ ที่สถานะต้องได้มาโดยความยินยอมพร้อมใจของประชาชน หมายความว่าจะต้องเปิดโอกาสให้มีเสรีภาพการแสดงออกถึงทัศนะที่มีต่อผู้ปกครอง หรือองค์กร นั้นๆ อย่างที่เห็นตัวอย่างจากนักการเมืองจะชัดเจนมากว่าคุณอยากจะด่าก็ด่า และถึงเวลาคุณต้องมีกลไกให้เขารณรงค์ให้คนพวกนี้ออกจากตำแหน่งได้ เช่น นักการเมืองก็มีการเลือกตั้ง การฟ้องร้อง หรือกลไกขององค์กรอิสระ โดยหลักการกลไกศาล กลไกองค์กรอิสระมันไม่ได้ผิดโดยตัวของมันเอง ถ้ากลไกเหล่านี้ตัวมันเองมันอิงอยู่กับการยอมรับของประชาชนด้วย

2 มาตรฐานที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตการเมืองของไทย

อำนาจทุกอย่างในโลกสมัยใหม่ไม่สามารรถมาโดยการบังคับหรือรณรงค์ประชาสัมพันธ์ด้านเดียว แต่ที่เป็นอยู่คือเราไม่สามารถประชาสัมพันธ์อีกด้านได้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นคือโลกเมทริกซ์ คือโลกที่คนเลวในประเทศไทยมีอยู่ประเภทเดียวคือนักการเมือง เพราะมันแน่นอนอยู่แล้วเนื่องจากนักการเมืองเป็นประเภทเดียวที่เปิดให้คุณด่าได้ แล้วเวลาคุณด่ามันด่ากันไปมา มันก็เป็นกระบวนการทางวัฒนธรรมที่ปลูกฝังความเชื่อ คุณเปิดให้ทุกคนเขาพูดถึงทุกอย่างได้อย่างเสรีสิ แล้วให้ทุกคนชั่งน้ำหนักว่ายังอยากจะเชียร์นักการเมืองหรืออยากจักบอกว่านักการเมืองเลวที่สุดก็แล้วไป ผมไม่ว่าเลย

เราต้องเปลี่ยนแบบวิถีแบบนี้ คือต้องปฏิวัติในความหมายที่วางอยู่บนพื้นฐาน 2 มาตรฐาน องค์กรนักการเมืองเราวางอยู่บนหลักการยินยอมพร้อมใจของประชาชน แต่ขณะเดียวกันองค์กรอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ ไม่ได้อยู่บนหลักการเดียวกันนี้ อันนี้เป็น 2 มาตรฐานที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตการเมืองของไทยซึ่งต้องเลิกซึ่งการเลิกแบบนี้ผมมองว่าเป็นการปฏิวัติ เป็นการปฏิวัติในความหมายว่าเป็นการเลิกแบบแผนแบบนี้

“เวลา” อยู่ข้างคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง


ส่วนการเปลี่ยนแบบแผนแบบนี้ในที่สุดจะเกิดด้วยความรุนแรงหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมห่วง แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นมันต้องเกิดแน่ๆ “เวลามันอยู่กับผมหรืออยู่กับคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้” เพราะว่าในที่สุดแล้วสถานะของกษัตริย์แบบนี้ไม่สามารถอยู่ได้อย่างกัลปาวสานคนที่รักเจ้าทำไมไม่เข้าใจประเด็นง่ายๆ นั้น ภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี่จะอยู่ไปได้สักเท่าไหร่ อีก 20 ปี ประเทศไทยยังต้องคอยมายัดข้อมูลด้านเดียวให้เด็กหรือ คิดว่ามันจะยังเป็นอยู่หรือ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะฉะนั้นเวลามันอยู่กับการเปลี่ยนแปลง มันไม่ได้อยู่ข้างที่พยายามจะรั้งสภาวะแบบนี้ไว้ ปัญหามันอยู่ที่ว่าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติไหม มาคุยกันดีๆ เลิก ม.112แล้วให้ทุกคนอภิปรายเรื่องนี้กันอย่างตรงไปตรงมาพร้อมกันหมด แล้วถ้าคนยังโอเค ยังเชียร์เจ้า ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันมันขัดกับหลักการนี้ มันทำให้ชีวิตทางการเมืองของไทยบิดเบี้ยวหมด มันเป็น 2 มาตรฐานใหญ่มาก ไล่มาตั้งแต่สถาบันกษัตริย์ ถึงศาล ทหาร

ต้องเอาบรรทัดฐานที่ใช้กับนักการเมืองมาใช้กับเจ้าด้วย

ประเทศไทยก็ไม่มีใครเขาชอบนักการเมือง แต่ไม่มีประเทศไหนที่ด่านักการเมืองแบบเหลือเชื่อแบบประเทศเรา เพราะมันเกิดการสร้างภาพที่เป็นมายาว่าเหมือนว่ามีอะไรบาอย่างซึ่งสมบูรณ์แบบทุกอย่างขึ้นมา แล้วก็เอานักการเมืองมาเทียบ แต่ไม่ตั้งคำถามว่าการสร้างภาพสมบูรณ์แบบนี่มันถูกไหม ถ้าเรามองทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากันหมด นักการเมืองก็เป็นมนุษย์ มีดีมีเลว แต่ในขณะเดียวกันถ้าพวกนี้เขาเลวก็ต้องเอาบรรทัดฐานที่ใช้วัดพวกเขาไปวัดพวกเจ้าด้วยไม่อย่างนั้นปัญหาการเมืองปัญหาชีวิตทางวัฒนธรรมทางการเมืองมันแก้ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก เพราะคุณก็จะฝันว่าล้างประเทศเสียทีเถอะ นักการเมืองมันเลว แล้วจะหาใครมาแทนได้ ทุกคนมันก็มนุษย์ขี้เหม็นทุกคน การเมืองของมนุษย์มันเป็นเท่านี้

จำกัดการโกงกินการคอรัปชั่นอย่างเป็นมนุษย์

คุณเคลียร์ประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ เคลียร์ประเด็นเรื่องการสร้างภาพออกไปให้หมดก่อน แล้วหลังจากนั้นมาว่ากันในลักษณะมนุษย์ต่อมนุษย์ คุณต้องอนุญาตให้คนเขารู้สึกว่าใครไม่ดีเขาต้องพูดได้ทุกคน แล้วในภาวะที่ทุกคนยอมรับว่ามนุษย์มันเป็นอย่างนี้ คนโน้นก็โกงกิน คนนี้ก็โกงกิน เราก็มาหาวิธีการที่จะทำอย่างไรที่จะจำกัดการโกงกินการคอรัปชั่นอย่างเป็นมนุษย์ เวลาเราพูดว่านักการเมืองโกงกินทุกวันนี้เราพูดราวกับว่าฝันว่ามันมีอะไรที่มันสมบูรณ์แบบได้ ที่มันเป็นแบบนี้ได้ก็เพราะเราไปสร้างภาพ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ จากสถาบันฯ ก็ส่งต่อมาที่ตุลาการ จนกระทั้งถึงพระ กว่าจะรู้ตัวทีหลัง เณรคำมีรถ 20 คัน ได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นนักการเมืองเราสงสัยไว้ก่อน มันไม่เป็นธรรมชาติ และที่มันไม่เป็นธรรมชาติก็เพราะเราไปสร้างบรรทัดฐานอะไรบางอย่างซึ่งไม่มีโลกมนุษย์ที่ไหนเป็นได้แล้วอีก 10 ปีข้างหน้าจะรักษาภาพแบบนี้ไว้ได้ไหม ซึ่งรักษาไม่ได้หรอก แล้วก็แสวงหาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุดแล้วก็ฝันว่าจะมีนักการเมืองที่เสียสละ มันมีมนุษย์โลกที่ไหนเป็นแบบนี้ มันไม่มีหรอก คนที่คิดว่าเป็นนั้นเข้าไม่ได้เป็นอย่างนี้หรอก แต่ที่เป็นเพราะไม่อนุญาตให้พูดแบบอื่น

มันยากตรงไหนที่จะใช้บรรทัดฐานเดียวกันหมด

ประเด็นคือแต่ละคนเป็นอย่างไรไม่รู้จนกว่าจะใช้บรรทัดฐานเดียวกัน แล้วให้เรามาร่วมกันตัดสินชั่งน้ำหนักว่าจะสนับสนุนใคร ไม่สนับสนุนใคร ยกย่องใครหรือไม่ยกย่องใคร ตามหลักการโลกสมัยใหม่ที่อำนาจต่างๆ สถานะต่างๆ ทางการเมืองจะต้องได้มาจากการยินยอมพร้อมใจของประชาชนทั่วๆ ไป

ทุกวันนี้คุณปฏิบัติต่อนักการเมืองอย่างไร ก็ปฏิบัติต่อเจ้าแบบเดียวกัน ง่ายๆเลย แล้วมันยากตรงไหน ผมไม่เห็นมันยากตรงไหนเลย นักการเมืองคุณถือว่าเป็นมนุษย์ใช่ไหม ทำไมคุณไม่ถือว่าเจ้าเป็นมนุษย์ล่ะ ผมก็ไม่เข้าใจ ถ้าคุณถือว่านักการเมืองเป็นมนุษย์และเจ้าเป็นมนุษย์นี่ ศาลที่รับใช้เจ้าก็เป็นมนุษย์ กองทัพที่รับใช้เจ้าก็เป็นมนุษย์ ก็ใช้บรรทัดฐานที่ใช้ปฏิบัติต่อนักการเมืองต่อคนเหล่านี้เหมือนกันไม่เห็นจะยากเลยใช่ไหม

มันยากตรงที่มันเป็นการเปลี่ยนแบบแผน ข้อเสนอของผมคือปัจจุบันสิ่งที่เราต้องการเพื่อจะแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างถาวรก็คือเราต้อปฏิวัติ ปฏิวัติแบบแผนแบบนี้ที่เราใช้บรรทัดฐาน 2 อย่าง ทุกวันนี้เราใช้บรรทัดฐานคนละแบบ คือ มาตรฐานแบบมนุษย์-มนุษย์กับนักการเมือง แต่ใช้บรรทัดฐานเทวดา-เทวดากับเจ้ากับทหารกับกองทัพ แค่นี้ง่ายๆ การปฏิวัติที่เสนอคือให้ใช้บรรทัดฐานแบบเดียวกับคนทุกคน เหตุผลก็เพราะทุกคนเป็นคนเหมือนกันหมด

ทุกการปฏิวัติมันมีความซับซ้อน มันไม่จบภายในครั้งเดียว

การปฏิวัติฝรั่งเศส เกิด 2312 สมัย ร.1 คศ.1789 ก่อนที่จะเกิดมันเกิดการปฏิวัติสำคัญอยู่ 3 อันคือ ปี 1572 มีการปฏิวัติชาวดัซ์ ศตวรรษต่อมาเกิดการปฏิวัติของอังกฤษ ปี 1640 และ ศตวรรษที่ 18 มีการปฏิวัติอเมริกัน และการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติ 4 อันนี้ ในโลกวิชาการเรียกคราวๆว่าการปฏิวัติ “กระฏุมพี” (bourgeoisie) หรือ ชนชั้นกลาง เป็นการปฏิวัติชนชั้นกลางที่เป็นลูกโซ่ติดกันมา การการปฏิวัติฝรั่งเศสมันส่งผลสะเทือนทั่วยุโรป และอเมริกากลาง ในไฮติ มีการโค่นอำนาจของนายทาสโดยทาสแล้วประกาศตั้งสาธารณรัฐ และหลังจากนั้นตลอด ศตวรรษที่ 19 มีกระแสปฏิวัติทั่วยุโรป จนปลายศตวรรษที่ 19 มีการปฏิวัติใหญ่ๆ 4 อัน คือในอิตาลี เยอรมันนี ปฏิวัติเลิกทาสในอเมริกา และการปฏิวัติเมจิที่ญี่ปุ่น

ปัญหาคือ เมื่อกล่าวถึงการการปฏิวัติรวมๆ คร่าวๆ เราก็บอกว่าเป็นปฏิวัติที่นำมาซึ่งประชาธิปไตยสมัยใหม่ นำมาซึ่งการปกครองของชนชั้นกลาง และการสถาปนาระบอบทุนนิยม ในระยะ 40-50 ปีหลัง หากศึกษาการปฏิวัติพวกนี้อย่างละเอียด นักวิชาการมองว่ามันมีความซับซ้อนว่านั้นเยอะ พวกทำการปฏิวัติในฝรั่งเศส นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดมองว่า เราสรุปไม่ได้ว่าพวกทำการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นชนชั้นกลาง หลายคนเจ้าที่ดินเป็นศักดินาด้วยซ้ำ การปฏิวัติทุกอันมันไม่จบในม้วนเดียว

ทุกการปฏิวัติมันมีความซับซ้อน มันไม่จบภายในครั้งเดียวหรือไม่กี่ปี กว่าที่ฝรั่งเศสจะมีระบอบรัฐสภาที่มันคง เป็นสาธารณะรัฐที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงไปมา ฝรั่งเศสตั้งสาธารณะรัฐมาถึง 5 ครั้ง ครั้งที่ 5 พึ่งตั้งปี 2501 นี่เอง ที่ทุกวันนี้เราเห็นมันยุ่งยาก ก็ต้องทำใจ เพราะฝรั่งเขาก็ผ่านอย่างนี้เช่นกัน

2475 เถียงอย่างไรก็ไม่สำเร็จถ้าแก้สถานะของเจ้าในปัจจุบันไม่ได้

ประเทศไทย 2475 มันเร็วเกินไปไหม ทุกประเทศในโลกมันเป็นอย่างนี้หมด มันไม่มีประเทศไหนที่มันเปลี่ยนแปลงแล้วลงตัวทันทีหรอก แต่ข้อสังเกต เวลาคนรักเจ้า มองว่า 2475 เร็วเกินไปนั้น เขาวางอยู่บนพื้นฐานประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากคือประเด็นที่เขาสมติขึ้นมาว่าอะไรที่เป็นเจ้าต้องดีกว่าคนธรรมดาหมด ดีกว่านักการเมือง ดีกว่าคณะราษฏร และที่มีสมติฐานแบบนี้ก็เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับปัจจุบันประเด็น 2475 เถียงให้ตายอย่างไรก็เถียงไม่สำเร็จ ถ้าแก้ปัญหาสถานะของเจ้าในไม่ได้ต้องมาเถียงประเด็นรัชกาลปัจจุบัน ในประเด็นว่าสถานะอย่างปัจจุบันไม่ถูกตรงไหน แล้วก็ต้องแก้อย่างไร เพราะการบอกว่า ร.7 ดีกว่าคณะราษฏร เพราะเขามองย้อนหลังไปจากปัจจุบัน พอปัจจุบันเขามองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นอะไรบางอย่างที่พิเศษกว่าคนธรรมดาทั่วๆไป เขาก็มองย้อนไปสิว่า ร.7 ก็ดีกว่า อยุธยาก็ดีกว่า สุโขทัยก็ดีกว่า

อันนี้ผมพูดตรงๆอย่างซีเรียสเลย เวลาคนรักเจ้ามาพูดอย่างนี้ รณรงค์ให้กลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์เลย เพราะอย่างไร สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยหลักการคือเจ้าเล่นการเมือง เจ้าเป็นผู้ปกครองเป็นนักการเมือง เพราะฉะนั้นถ้าการเมืองมันแย่ก็ด่าเจ้าตรงไปเลย แต่พอเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทุกวันนี้การเมืองถ้ามันเลวก็ด่าได้เพียงนักการเมือง ผมยกตัวอย่างถ้าผมบอกว่าทักษิณ ชักใยเล่นการเมืองอยู่หลังยิ่งลักษณ์ เราก็พูดได้ แต่สมติใช้ประโยคแบบนี้กรณีอื่นไม่ได้ ประเด็นปัญหาการเมืองไทยมันเป็นแบบนี้มันบิดเบี้ยว


ภาพสมศักดิ์ ขณะบรรยาย ภาพโดย Hatori Moobin


2475 คือการพยายามสถาปนาระบอบที่ผู้ปกครองต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของผู้ถูกปกครอง

การเชียร์ 2475 เป็นเรื่องที่ถูกที่พยายามสถาปนาระบอบที่ว่า ผู้ปกครองต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของผู้ถูกปกครอง หรือเรียกคร่าวๆว่าประชาธิปไตย เวลาเราพูดเรื่องประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง บางที่เป็นการพูดแบบสั้นๆ หลักการจริงๆมันอยู่ที่ว่าผู้ปกครองไม่ว่าอยู่ในสถานะอะไร อย่างสถาบันกษัตริย์ผมก็ไม่ได้เสนอให้มาเลือกตั้ง ไม่เคยเสนอ ไม่ได้เสนอแม้แต่ว่าศาลต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นหลักการนี้มันไกลกว่าเรื่องเลือกตั้ง อำนาจในการปกครองทุกอย่างมันต้องวางอยู่บนฐานการยินยอมของประชาชน ซึ่งต้องอนุญาตให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเสรี เขารู้สึกอย่างไรต่อบุคคลหรือองค์กรการเมืองทุกอย่างเขาต้องมีเสรีที่จะพูดได้ หลักการนี้คณะราษฏรพยายามที่จะสถาปนาขึ้นมาเหมือนกัน

ปัญหาของคณะราษฏรกับข้อตกลงแบบสุภาพบุรุษกับ ร.7

แต่เมื่อเราเชียร์คณะราษฏรก็มักเป็นการเชียร์ในด้านเดียวมากเกินไป เราเชียร์ว่าคณะราษฏรให้มีประชาธิปไตยให้มีการเลือกตั้งแล้วจบนั้นมันไม่ใช่ ถ้าเราดูรายละเอียดจริงๆ หลักการนี้คณะราษฏรก็ทำไม่เต็มที่เหมือนกัน คณะราษฏรยกเว้นสถาบันกษัตริย์ไว้เหมือนเดิม อย่างตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่คณะราษฏรโดยที่อ.ปรีดีร่างไว้ ฉบับ 27 มิ.ย. ไม่มีมาตราในลักษณะมาตรา 8 ในปัจจุบัน ที่ว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดละเมิดมิได้ แต่พอคณะราษฏรมีการไปคุยกับ ร.7 ก็เลยยอมเลิกรัฐธรรมนูญฉบับแรก และมีมาตราดังกล่าวอยู่เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธ.ค.และ อ.ปรีดีสนับสนุนให้ใส่มาตรานี่เองด้วยซึ่งลอกมาจากรัฐธรรมนูญเมจิของญี่ปุ่น คณะราษฏรไม่เคยแก้ กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย ทั้งที่กฎหมายนี้มีตั้งแต่ปลาย ร.5 เพราะคณะราษฏรคิดแบบซื่อๆ ว่าต่อไปนี้ ร.7 ก็คงยอมรับ พูดง่ายๆ คณะราษฏรกับ ร.7 เป็นการตกลงอย่างสุภาพบุรุษเท่านั้นไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องกษัตริย์ต้องปฏิญาณตนว่าจะรักษารัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีการเขียนไว้ เพราะ ร.7 ให้คำมั่นสัญญา รวมทั้งแม้แต่ทายาทต่อไป ร.7 ก็ให้เหตุผลว่าในเมื่อพระองค์เป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อให้คำมั่นว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญเจ้าองค์ต่อไปก็จะยอมรับด้วยถ้าใครยึดอำนาจก็จะไม่รับรอง คณะราษฎรจึงไม่ใส่มาตรานี้ไว้ ปัญหาของคณะราษฏร คือคิดว่าข้อตกลงแบบนี้จะดำรงอยู่ได้ ตอนหลัง ก็มีปัญหา ร.7 ก็ไปช่วยกบฏบวรเดช คณะราษฏรประมาทเรื่องนี้ คิดว่าตัวเองยึดอำนาจได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเขียนรัฐธรรมนูญไว้ก็ได้ ถึงเวลาไม่มองให้กว้างขวางออกไปว่าประชาธิปไตยมันจะดำรงอยู่ได้จริงๆ ไอเดียที่ว่าอำนาจทุกอย่างมันจะอยู่บนความยินยอมพร้อมใจของราษฎรจริงๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยึดอำนาจเฉยๆ แต่ที่สำคัญคุณต้องสร้างระบอบกฎหมายทุกอย่างที่อนุญาตให้ประชาชนแสดงออกอย่างเสรีเพื่อเป็นหลักประกันด้วย ถึงเวลาพอคณะราษฏรไม่อยู่ จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมารื้อฟื้นสถานะอำนาจของสถาบันกษัตริย์อย่างขนานใหญ่ พวกเจ้าเองหลังจาก ร.7 ลงไปแล้วก็เริ่มกลับมามีอำนาจ

พรบ.ทรัพย์สินส่วนประมหากษัตริย์ผลงานชิ้นโบว์แดงของ ปชป.

หลัง 2490 นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรกสร้างผลงานโบว์แดงอันแรกคือเสนอ พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ ที่ใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้เข้าสภา กฏหมายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ปัจจุบันที่เอาทรัพยสินของรัฐมูลค่าหมื่นล้านเข้าไปอยู่ในอำนาจของสถาบันกษัตริย์โดยที่ตรวจสอบไม่ได้เลยนี่เป็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์

คณะราษฏรมี กฏหมายเรื่องทรัพย์สินฯ อันหนึ่ง ซึ่งป็นเรื่องที่เขาจัดการเพราะเป็นเรื่องสำคัญ คือ ร.7 แอบไปโยกย้ายทรัพยสินบางส่วนไว้ในบัญชีตัวเองที่ลอนดอน พอคณะราษฏรออก กฏหมายทรัพย์สินฯ แล้วมีการทำบัญชีถึงได้ทราบว่า ร.7 โยกย้ายเงินโดยผิดระเบียบ กฏหมายทรัพย์สินฯ ฉบับของคณะราษฏรที่ถูกล้มไปโดยพรรคประชาธิปัตย์ ตามหลักของ กฏหมายทรัพย์สินฯ ฉบับคณะราษฏรนั้นอำนาจในการดูแลอยู่ที่กระทรวงการคลังซึ่งเป็นลักการทั่วไปที่กระทรวงซึ่งรัฐบาลที่มาจากประชาชนเป็นคนดูแล ถึงเวลาถ้า รัฐบาลหรือ รมว.คลังทำไม่ดี ประชาชนอยากจะด่าอยากจะตรวจสอบก็ทำได้ เพราะฉะนั้นทรัพย์สินนี้ก็ควรจะอยู่ในการดูแลของรัฐบาลที่ประชาชนควบคุมอีกที

ประชาธิปัตย์ร่วมมือกับคณะรัฐประหารโค้นปรีดีลงในวันที่ 8 พ.ย.2490 ผลงานโบว์แดงออก กฏหมายออกมา 2 ฉบับคือ 1 พรบ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ 2 ออก กฏหมายให้จับนาย ชิต-บุศ-เฉลียว ได้เป็นพิเศษ ในกรณีสวรรคต ให้มีการขังยาวได้ เมื่อประชาธิปัตย์ ออก พรบ.ทรัพย์สินฯ มาก็โอนอำนาจไปสู่สถาบันกษัตริย์ ทุกวันนี้เขาพยายามบอกว่ามีประธานคณะกรรมการบอร์ดเป็น รมว.คลัง ผมกล้าท้าให้ผู้อำนายการ สนง.ทรัพย์สินฯ ให้ รมว.คลังมาดีเบตในประเด็นนี้กับผมก็ได้ ว่าอำนาจควบคุมทรัพย์สินอยู่ในกระทรวงการคลังจริงหรือเปล่าหรืออยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์

มีโจ๊กอยู่เรื่องหนี่ง วันดีคืนดีพอฟอร์บไปจัดอันดับในหลวงโดยเอาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปประเมิน ก็โวยว่าไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่กระทรวงการคลังดูแล แต่พอมีคลิปเรื่องทักษิณออกมา พวกหน้ากากขาวก็มาบอกว่าโกงกินบ้านเมืองก็ไม่พอแล้วยังมายุ่งกับทรัพย์สินท่าน ผมก็ขำว่าตกลงตอนนี้ถือเป็นทรัพย์สินท่านแล้วหรือ จะเอาอะไรก็เอาสักอย่าง

สมัยคณะราษฏรอยู่ ร.7 จะไปพูดอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องมาขออนุญาตคณะราษฏรก่อนต้องมาขออนุญาตรัฐบาล ซึ่งอันนี้เป็นมาตรฐานทั่วไป อย่างควีนอังกฤษไม่สามารถพูดด้วยตัวเองได้ ปีหนึ่งๆ ควีนอังกฤษจะพูดได้ด้วยตัวเองโดยที่รัฐบาลไม่ได้เป็นคนร่างให้นั้น 2 ครั้ง คืออวยพรวันคริสมาสต์และวันที่อวยพรคนในสหราชอาณาจักร ที่เหลือควีนอังกฤษแสดงความเห็นต่อศาลต่อตุลาการไม่ได้ แสดงความคิดเห็นต่อนายกแล้วมีการมาเผยแพร่มีการถ่ายทอดแบบนื้ทำไม่ได้ ควีนเสนอความเห็นไม่ได้ เพราะอังกฤษเขาถือว่าคนอังกฤษทุกคนเป็นคน ถ้าควีนพูดในฐานะที่คนอังกฤษเป็นคนเขาก็ต้องมีสิทธิวิจารณ์ควีนกลับ ถ้าไม่ต้องการให้ควีนถูกวิจารณ์ควีนก็ต้องห้ามพูด เป็นการริดรอนสิทธิของควีนไหม ไม่ใช่ แต่ในทางกลับกันถ้าควีนพูดอะไรออกมาแล้วคนอังกฤษด่ากลับนั้นไปริดรอนสิทธิของคนอังกฤษไม่ได้ ประเพณีของเราในขณะที่เราอนุญาตให้สถาบันกษัตริย์พูดอะไรก็ได้นี่โดยไม่ผ่านรันรัฐบาล คุณกลับริดรอนสืทธิของคนหลายล้านคน คำพูดในหลวงวิจารณ์ไม่ได้

เหตุผลที่ประเทศที่มีกษัตริย์ปกครองเขาไม่อนุญาตให้กษัตริย์มีบทบาทแสดงความเห็นสาธารณะก็เพราะเหตุผลนี้ เพราะถ้าคุณอนุญาตขึ้นมาก็ต้องอนุญาตให้คนมีปฏิกิริยาตอบโต้ได้ด้วย แต่เมืองไทยใช้บรรทัดฐานคนธรรมดาไม่ใช่คน ถ้าฟังสถาบันกษัตริย์พูดอะไร คุณฟังอย่างเดียว

คณะราษฏรมีข้อจำกัดคือคิดว่าแค่ยึดอำนาจได้ ได้รับการสนับสนุนประชาชน ไม่ต้องทำอะไร โดยหวังว่าสถาบันกษัตริย์จะไม่มีบทบาทด้วย ผมพูดประเด็นนี้เพื่อที่จะโยงมาถึงคุณทักษิณ พรรคเพื่อไทย ข้อจำกัดของเสื้อแดง

ปชต.ที่แท้จริงไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่ทุกอำนาจอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของประชาชน

ประเด็นผมคือประชาธิปไตยจริงๆ มันไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้งหรือการมีอำนาจจริงๆเท่านั้นมันอยู่ที่ว่าเราจะสามารถสร้างกรอบหรือบรรทัดฐาน ที่ให้ทุกกลุ่มหรือองค์กรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของประชาชนอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีข้อยกเว้นได้ไหม ถ้าเราทำแบบนี้ไม่ได้แล้วคาดหวังว่าพรรคเราชนะการเลือกตั้ง ที่เหลือไม่เป็นไรอันนี้เป็นการคิดที่ผิด

ประเด็นคลิปทักษิณ

เรื่องคลิปผมมีปัญหาอยู่ ผมเข้าใจอยู่ว่าเวลาเราเห็นการเอาคลิปมาโจมตี เสื้อแดงพยายามจะบอกว่ามันไม่เกี่ยวกับเสื้อแดง ผมว่ามันมีประเด็นซีเรียสเกี่ยวกับเสื้อแดงอยู่2 ประเด็น

ประเด็นที่เขาด่าว่าทักษิณพยายามที่จะไปควบคุมทหาร แล้วก็ไปเจรจาหาทางตั้งคนนั้นนี้ ประเด็นนี้ผมยักไหล่ ความจริงตามหลักอำนาจในการควบคุมกองทัพมันควรอยู่ที่รัฐบาลโดยเด็ดขาดแต่ต้น ทหารนี่นักการเมืองหรือรัฐบาลอยากจะโยกย้ายใครเป็นอำนาจเต็มที่จะโยกย้าย ประธานาธิบดีทรูแมน กรณี นายพลแม็คอาเธอร์ที่เป็นแม่ทัพใหญ่แฟซิกฟิก ช่วงสงครามโลก ทำนโยบายบางอย่างไม่ถูก ทั้งที่เป็นฮีโร่ แต่ประธานาธิบดีก็สั่งปลดได้ เรื่องนี้คิดว่าไม่เป็นปัญหาเลย แต่ประเด็นปัญหาเรื่องคลิปคือ

ยุทธศาสตร์เอาใจทหารของเพื่อไทยและทักษิณ

ประเด็นที่ 1 เรื่อง พรก. ที่เจรจากับทหาร มันต้องเป็น พรก.แบบเหมาเข่งแน่นอน เมื่อเหมาเข่งทหารก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเหมาเข่งประชาธิปัตย์ด้วย

เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมามันมีเหตุการณ์ที่เพื่อนเสื้อแดงไปด่าอภิสิทธิ์ในที่ต่างๆ ก็มีหลายคนวิจารณ์ ผมเห็นด้วยว่าไม่ควรใช้ท่าทีแบบนั้นกับกลุ่มดังกล่าว อย่างกรณีที่ลำพูลก็ยกว่าเป็นความแค้นเนื่องจากที่ลำพูลมีคนตาย ผมก็เข้าใจ

“แต่ประเด็นที่ผมสะดุดใจคือเสื้อแดงเวลาผู้นำทหารไปไหนทำไมไม่ประท้วงอย่างที่ประท้วงอภิสิทธิ์บ้าง ผมอยากให้คิดอย่างซีเรียสนะ จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เพื่อนๆเสื้อแดงที่รู้สึกชอบธรรมที่จะประท้วงอภิสิทธิ์นี่จริงๆแล้วเป็นการประท้วงตามการเมืองของพรรคเพื่อไทยเหมือนัน แล้วการเมืองยุทธศาสตร์ของเพื่อไทยของคุณทักษิณปัจจุบัน คือเป็นการเมืองหรือยุทธศาสตร์ที่ต้องการเอาใจทหาร มันมีปัญหาใหญ่มากๆ เลย ต่อเรื่องประชาธิปไฃตย”

พรก. เหมาเข่ง ต้องถามว่าเสื้อแดง ที่ตลอดมาพูดว่าไม่เอา พรบ.เหมาเข่ง ไม่นิรโทษกรรมให้อภิสิทธิ์-สุเทพ แล้วทหารจะนิรโทษกรรมไหม การเมืองของเพื่อไทยปัจจุบันไม่แตะทหารเลย คดีที่คุณธาริต เพ็งดิษฐ์ฟ้องอภิสิทธิ์ ซึ่งดีเป็นเรื่องที่ฟ้องได้ แต่ไม่ฟ้องทหารเลย ทั้งๆที่ในคำสั่งของ ศอฉ. ระบุด้วยว่า อนุญาตให้ ผู้บัญชาการทหาร ตัดสินใจกำหนดวิธีปฏิบัติการในการกวาดล้างผู้ชุมนุมได้ เพราะฉะนั้นผู้บัญชาการทหารใน ศอฉ. ต้องมีความรับผิดชอบในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 53 เท่าๆ กับอภิสิทธิ์เหมือนกัน

ทำไมก่อนหน้านี้รัฐบาลเพื่อไทยไม่คิดออก พรก.นิรโทษกรรมเสื้อแดที่เป็นมวลชน

ประเด็นที่ 2 ทำไมก่อนหน้านี้ รัฐบาลเพื่อไทยจึงไม่คิดออก พรก.ที่เป็นนิรโทษกรรมที่เป็นมวลชน ผมพูดประเด็นนี้ตั้งแต่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลใหม่ๆ เป็นหน้าที่อันดับแรกที่รัฐบาลควรทำ ทำอย่างไรให้เอามวลชนออกมาได้ก่อน ต้องแยกมวลชนอกจากคุณทักษิณ ผมไม่ได้ปฏิเสธการช่วยคุณทักษิณ ผมเป็นคนแรกๆที่เขียนว่าคดีที่ดินรัชดามันต้องเป็นโมฆะเพราะคดีนั้นก็มาจากการทำรัฐปรารขึ้นมา เพราะคดีคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มันขี้ของ คมช. ถ้าจะเล่นงาน เรื่องคอรัปชั่น ก็ต้องตั้งดำเนินคดีปกติแต่ตั้งแต่ต้นเรารู้ว่ากรณีทักษิณ เป็นกรณีพิเศษ ที่อีกฝ่ายขัดขวางไม่ให้กลับมา ดังนั้นการพ่วงกันกับมวลชนมันจึงทำให้ยาก

คลิปนี้ที่มันน่าผิดหวังที่สุดคือ มันบอกให้เราเห็นว่าคนในวงรัฐบาล รวมทั้งคุณทักษิณเองด้วย วางแผนที่จะออก พรก. ช่วยคุณทักษิณ โดยที่ทำไมไม่คิดที่จะออก พรก.แบบนี้ช่วยคนเสื้อแดงด้วย เรื่องคนติดคุกกว่า 2 ปี โดยที่ไม่ควรจะติดนี่มันโคตรฉุกเฉิน และมันเคยมีการออก พรก. นิรโทษกรรม ให้ รสช. มาแล้ว ที่ทำรัฐประหารสมัยชาติชาย แล้วสมัยนั้นประชาธิปัตย์ก็ยอมรับ ทำไมจะนิรโทษกรรมให้มวลชนที่ติดคุกไม่ได้ นี่เป็นปัญหาความมั่นคง เป็นปัญหาความมั่นคงมากๆด้วย จากการทำลายครอบครัวเป็นพันๆ ชีวิต และเร่งด่วนด้วย แล้วคุณทักษิณหรือคนในวงรัฐบาลสามารถวางแผนคุณ พรก.นิรโทษกรรมคุณทักษิณได้ ทั้งๆที่รู้ว่าว่า พรก. มันมีปัญหา มันออกยาก ต้องผ่าน รัฐธรรมนูญมาตรา 184 ถึงขนาดตั้งไปให้ทหารดูก่อนนั้น ดังนั้นมันจึงไม่มีเหตุผลแก้ตัวเลยที่รัฐบาลจะไม่ออก พรก.นิรโทษกรรมให้มวลชนพรุ่งนี้มะรืนนี้เลย

พรบ.ของคุณวรชัยที่จะเข้าตอนนี้ ก็ไม่ได้มีหลักประกันที่จะสำเร็จ เพราะไม่มีการถอน พรบ.เหมาเข่งอีก4 ฉบับออกมา โอกาสที่เสนอไปมันมีแนวโน้มว่าจะไม่สำเร็จมาก คนที่อยู่ในคุกก็อยู่ต่อไป

วิจารณ์ขบวนเสื้อแดง

ขบวนการเสื้อแดง ผมใช้เวลาตามเวทีกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.)และภาคีพลังประชาชน(ภปช.) ผมเรียกร้องให้คนที่เรียกว่าเป็นอำมาตย์ลองฟัง ต่อให้คุณไม่เห็นด้วยเลยคุณจะเข้าใจว่าทำไมมีคนจำนวนมากที่เชียร์ทักษิณ และทำไมเขาสู้ไม่ยอมเลิก เหตุผลสำคัญก็เพราะว่าคุณทักษิณมีผลงานที่ทำให้เขาอยู่ดีกินดี เข้ารู้สึกว่าทำให้เขาอยู่ดีกินดี แล้วมีคนมาล้มเขาเฉยๆ เขาก็ไม่พอใจ ในความไม่พอใจมันมีหลักการในเรื่องประชาธิปไตยนั้นเสียงส่วนใหญ่ต้อเป็นคนกำหนด รวมทั้งหลักการที่ว่าอำนาจต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของประชาชน

แต่เราต้องยอมรับว่าการเชียร์ทักษิณมากจากผลประโยชน์ หรือประชาธิปไตยกินได้ ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้กำลังวิจารณ์เลย ตอน ปฏิวัติ 1917 รัสเซีย คนรัสเซียที่สนับสนุนให้พรรคบอลเชวิคขึ้นสู้อำนาจ นั้นเขาไม่ได้รู้เรื่องหลักการสังคมนิยมหรือมาร์กซ์หรอก เขาเรียกร้องสันติภาพและขนมปัง อันนี้ก็เป็นผลประโยชน์ชัดๆ ดังนั้นการที่คนเสื้อแดงเชียร์ทักษิณด้วยผลประโยชน์นั้นเป็นเรื่องการกินดีอยู่ดีเรื่องผลประโยชน์นั้นเป็นเรื่องธรรมดามากๆ เป็นเรื่องของมนุษย์ การเมืองของมนุษย์ก็แบบนี้ แม้แต่หลักการประชาธิปไตยที่ต้องฟังเสียงประชาชนก็มาจากตรงนี้

แต่ปัญหามันอยู่ตรงนี้ จากจุดเริ่มต้นของความเป็นมามันทำให้มีจุดอ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่ง คนส่วนใหญ่เสื้อแดง จะมีความรู้สึกว่าทำอย่างไรให้รัฐบาลนี้อยู่ในอำนาจ ถ้าใครมาขวางก็จะโกรธมาก นำไปสุ่การแสดงออกที่รุนแรง อยากให้รัฐบาลทำอะไรกับพวกนี้ รวมทั้งการวิจารณ์การขัดขวางโครงการนั้นนี้ของรัฐบาล ตามหลักประชาธิปไตยเองแม้กรณีอเมริกาต่อให้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็ถูกขัดขวางโครงการได้โดยหลักการมันไม่ผิดที่อาจจะมีศาลหรือองค์กรต่างๆ มาขวางโครงการของรัฐบาลเลือกตั้ง แต่ที่มันผิดคือหลายปีที่ผ่านมานี้มันไม่ได้ขวางบนฐานของ กฏหมาย มันไม่ได้ขวางบนฐานที่องค์กรเหล่านี้ขึ้นอยู่กับประชาชน แต่มันขวางบนฐานที่ว่ากำลังทำให้พระราชา บนฐานการอ้างอำนาจสถาบันกษัตริย์ ซึ่งประเด็นนนี้มันผิดแน่ๆ

ปัญหาจุดอ่อน ของเสื้อแดง มันมีแนวโน้มอย่างหนึ่ง เอาเข้าจริงมันมาจากมวลชนส่วนใหญ่ด้วย การที่แกนนำ หรือทักษิณ ไม่แคร์คนอยู่ในคุกมากเท่าที่ควรจะเป็น เป็นเพราะฐานมวลชนส่วนใหญ่ไม่ได้แคร์อย่างที่ควรจะเป็นด้วย ในความเห็นผมมาจากมวลชนส่วนใหญ่สนับสนุนทักษิณ ด้วยฐานของผลประโยชน์ จากการกินดีอยู่ดี ทำให้เรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องรอง อย่างเรื่อง ม.112 หลายคนอยากเลิก แต่รัฐบาลไม่เลิกก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องรอง ขอให้รัฐบาลอยู่ในตำแหน่งนานๆไป ตุลาการไม่ต้องปฏิรูปก็ไม่เป็นไร หรือทหาร ตอนนี้คุณทักษิณใช้ยุทธศาสตร์เอาใจทหาร เสื้อแดงก็มองว่าไม่เป็นไรเดียวจะโดนรัฐประหาร

คำถามคือถามเอาใจทหาร ซึ่งเอาใจเยอะ หนึ่ง งบประมาณเพิ่มขึ้นมหาศาล สอง ไม่แตะต้องโผต่างๆ ปล่อยให้เขาทำโผของเขาเอง สาม ไม่คิดเล่นงานเขาในกรณีรัฐประหารและการสลายการชุมนุมปี 53 คำถามคือถ้าคนเสื้อแดงที่ยังสนับสนุนคุณทักษิณที่พยายามรักษารัฐบาลนี้ไว้ เรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องรองนั้น เหตุผลที่เรื่องนักโทษการเมืองไม่เป็นเรื่องใหญ่ ก็เพราะมวลชนที่สนับสนุนคุณทักษิณหรือรัฐบาลเองมาจากจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญับปัญหาเรื่องเสรีภาพการแสดงออก เรื่อง ม.112 แม้กระทั้งประเด็นทหาร หรือสถาบันกษัตริย์ คุณทักษิณหรือ นปช. ไม่คิดที่จะยกเรื่องสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาเพราะคิดว่าไม่เป็นไร รอๆไปตามธรรมชาติแล้วคนเสื้อแดงที่อยากให้รัฐบาลอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ ให้กินดีอยู่ดีก็รู้สึกโอเคเรายอมเรื่องอื่นๆไป

“คำถามผมง่ายๆอย่างนี้ ถ้าคุณสามารถโอเคกับทหารได้ คุณเอาใจทหารได้ ให้รางวัลกับทหารได้ คำถามคือทุกวันนี้ด่าอภิสิทธิ์กับสุเทพทำไม นี่ซีเรียสนะฮะ ไปโกรธแค้นเขาทำไม บอกว่าโกรธแค้นกรณีปี 53 แล้วปี 53 ทหารไม่เกี่ยหรอฮะ แล้วที่มันเกิดปี 53 ไม่ใช่เพราะว่าทหารทำรัฐประหารปี 49 หรอ ถ้าตราบใดที่มวลชนก็ดี ขึ้นไปถึงระดับรัฐบาลก็ดี ยังใช่ยุทธศาสตร์แบบนี้ โดยหวังผลปรารเดียวคือต้องรักษาการอยู่ในอำนาจของคุณทักษิณ ไม่ว่าจะจ่ายเท่าไหร่ก็ตามคำถามคือว่าการโจมตีอภิสิทธิ์ ดำเนินคดีอภิสิทธิ์ มันเป็นการเล่นเกมส์ของเด็กๆครับ จริงๆ” สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กล่าวทิ้งท้าย

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 116 ปี จอมพล ป.

การปฏิวัติฝรั่งเศสสำคัญและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโลก นำไปสู่หลักการเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่เว้นแม้กระทั่งประทศไทย เพราะกลุ่มปฏิวัติประเทศไทยเป็นนักเรียนฝรั่งเศส ระบบใหม่ที่คณะราษฏรสร้างเป็นระบบฝรั่งเศส

จากการปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มที่ประชาชนปารีสไปทำลายคุกบาสตีล ที่เป็นสัญญาลักษณ์ของการกดขี่ สัญญาลักษณ์ของความไม่เป็นธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของฝรั่งเศสการปฏิวัติฝรั่งเศสถือเป็นการสุกดิบของการเปลี่ยนแปลงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชทำใหประชาธิปไตยเป็นรูปแบบสำคัญของโลก

สำหรับไทย 2475 เป็นการปฏิวัติ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ และวันที่ 14 ก.ค โดยบังเอิญเป็นวันเกิด ของ ด.ช.แปลก ขีตตะสังคะ หรือ จอมพล ป.พิบูลสงครามและเป็นความภูมิใจของการที่จอมพล ป. ด้วยที่เกิดวันนี้ ท่านยังคิดของว่าท่านเป็นตัวแทนของอุดมการปฏิวัติฝรั่งเศสในประเทศไทย

จอมพล. ป. เป็นหนึ่งใน 3 คนแรกที่ก่อการคิดตั้งคณะราษฏรที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี2468 จากนั้นจอมพล ป. ก็กลับมาเมืองไทยชักชวนนายทหารเข้าร่วมรวมที่สุดคณะราษฏรก็ได้พยาพหลฯ ซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ พระยาทรงสุรเดช เป็นผู้วางแผน จนสำเร็จ

หลวงพิบูลสงคราม ได้ฉายแววขึ้นมาจาก กรณีการรัฐปราร ปี 2476 พวกนิยมเจ้า โดยพระยามโนปกรนิติธาดา ประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และปิดรัฐสภา และออกคำสั่งของรัฐบาลเป็น กฏหมายแทน ดังนั้นพระยาพหลฯ และหลวงพิบูลสงคราม จึงทำรัฐประหารปี 2476 เพื่อฟื้นประชาธิปไตยและจัดการกับฝ่ายนิยมเจ้า พวกนิยมเจ้าไม่ยอมเลยคิดก่อการกบฏเราเรียกกบฏบวรเดช

เป็นจุดเริ่มนำมาสู่ การที่ จอมพล ป. ขึ้นมาเป็นนายก ปี 2481 ตอนนั้น อายุ 41 ปี ที่หนุ่มมาก คณะรัฐมนตรีทั้งชุดก็หนุ่ม ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงที่มีการปฏิวัติมากมาย ตัวอย่าง เช่น การสร้างวัฒนธรรมแบบสมัยใหม่ (Modern) เช่น การเลิกกินหมาก เปลี่ยนวัฒนธรรม โดยเอาตะวันตกเป็นแบบแผน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสมัยใหม่

เราเข้าใจกันผิด ว่าเราเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ตั้งแต่สมัย ร.5 นั้นจริง แต่ไม่หมด เป็นเฉพาะชนชั้นนำ เพราะฉะนั้นจอมพล ป. และคณะราษฏรต่างหากที่จะสร้างความโมเดลลงไปถึงราษฏร ร. 5 เปิดโรงเรียนจริง พระองค์เปิดโรงเรียนเพียงมณฑลละ 1 โรงเรียนและเป็นการศึกษาเพื่อผลิตข้าราชการ แต่สมัยคณะราษฏร ที่บอกว่าประเทศที่ทันสมัยประชาชนต้องรู้หนังสือ เกิดการรณรงค์ให้เรียนทั้งชายและหญิง แต่สมัย ร.5 เป็นการศึกษาสำหรับผู้ชายเพื่อไปเป็นข้าราชการ ผู้หญิงไม่มีสิทธิเรียน แม้มีโรงเรียนเสาวภาที่เป็นโรงเรียนสตรี แต่ก็เรียนการเรือนแบบตะวันตก ดังนั้น เป้าหมายการศึกษาจึงต่างกันในบริบทประวัติศาสตร์ โมเดิร์น ร.5 เป็นของชนชั้นนำ แต่จอมพลป. นั้นเป็นโมเดิร์นไปสู่ประชาชนทั่งชาติ แต่นโยบายก็อาจจะผิดจะถูกบ้าง ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เราสร้างวัฒนธรรมใหม่ จอมพล ป. เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ไม่ได้เปลี่ยนโดยพละกาลแต่นำเรื่องเข้าสูงสภาผู้แทนฯ พิจารณา ด้วย รวมทั้งให้วันที่ 24 มิ.ย.เป็นวันชาติ และประกวดเนื้อเพลงชาติใหม่ เพลงปลุกใจให้รักชาติทั้งหลายมาจากจอมพล ป. ทั้งนั้น

การรักษาหลักการประชาธิปไตยแบบคณะราษฏร จะมีการโจมตีว่าจอมพล ป. เป็นเผด็จการ แต่ จอมพล ป. พ้นตำแหน่ง เพราะแพ้โหวตในสภาผู้แทนราษฏร แล้วลาออก เราจะเรียกเผด็จการหรอ ไม่มีเผด็จการที่ไหนที่แพ้โหวตแล้วลาออก คิดว่าจอมพล ป. รักษาหลักการ และให้มีสภาผู้แทนราษฏรตลอด ตั้งพรรคการเมือลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นการตั้งข้อหาว่าเป็นเผด็จการนั้นยังอีกไกล

ทลายคุกบาสตีล เมื่อ 224 ปี ที่แล้ว โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย

จรัล ดิษฐาอภิชัย รวมอภิปรายว่าวันที่ 14 ก.ค. เป็นวันชาติ ประเทศฝรั่งเศส เป็นวันที่ชาวปารีสล้มคุกบาสตีล และบุกเข้าไปพัง มีนัยยะคลายกับปฏิญญาหน้าศาล ที่มาหน้าคุกเพื่อปลดปล่อยนักโทษการเมือง

การพังทลายคุกบาสตีล เป็นเหตุการณ์สำคัญของประเทศฝรั่งเศสและโลก นำไปสู่การปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสในปี 1789 ที่กินระยะเวลา 10 ปี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของประเทศส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศอื่นๆ

คุกบาสตีลอยู่ใจกลางเมืองปารีส สร้างมาตั้งแต่สมัยกลางประมาณ 500-600 ปี เป็นคุกขนาดใหญ่ มีป้อม 8 ป้อม ขังทั้งนักโทษทั่วไปและการเมือง วันที่ 14 ก.ค.1789 มีนักโทษ 7 คน แต่เป้าหมายใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การปลดปล่อยนักโทษ แต่เป็นการบังคับให้คุกนี้เอาปืนใหญ่โผล่รอบคุก เป็นการคุกคามชาวปารีส ทำไมผู้บัญชาการคุกถึงเอาปืนใหญ่ทำดังกล่าว เพราะเดือน พ.ค. เปิดประชุมสภาฐานันดร มีสถานการที่เรียกว่า การก่อตัวของสถานการณ์ปฏิวัติ เข้าเดือน ก.ค. ก็มีกระแสความคิดทางการเมืองของมวลชนชาวฝรั่งเศสสูงขึ้น มีการรวมตัวปราศรัยกัน ในวัง นอกวังบ้าง ตามสนามหญ้า

วันที่ 11 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สั่งปลด เนคเกร์ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเหมือนนายกรัฐมนตรี แต่สมัยนั้นเรียกผู้ตรวจการ เป็นคนที่มีหัวปฏิรูปและเป็นความหวังของประชาชนฝรั่งเศส ทำให้ประชาชนไม่พอใจ วันที่ 7-9ก.ค.มีการเคลื่อนกำลังทหารมาล้อมปารีส จึงเชื่อว่ากษัตริย์จะปราบประชาชนปารีส ขณะนั้นข่าวแพร่สะพัดไป คนปารีสก็ตื่นตัวมาก วันที่ 12 ก.ค. ชาวปารีสกลุ่มหนึ่งตั้งกองกำลังประชาชนขึ้นมา แล้วก็มีบรรดานักธุรกิจ นายทุน หรือคนที่มีฐานะ ที่มีปืนก็เอาปืนจึงนำมาให้ รวมทั้งทหารบางกรมออกมาอยู่กับประชาชนซึ่งจะเรียกว่าเป็นกองกำลังของนายทุนก็ได้

เช้าวันที่ 14 ประชาชนจึงเกิดความคิดว่าไปล้อมที่คุก และให้ผู้บัญชาการคุกบาสตีล เอาปืนใหญ่ออก บางคนก็ไปกองทหาร เพื่อไปขอปืน และมีอยู่กองหนึ่งอยู่ที่แอ็งวาริส มีปืนใหญ่หลายกระบอก 2 กระบอกเป็นปืนที่ กษัตริย์ไทยส่งไปให้ สมัยพระนารายด้วย เมื่อได้ปืนกันแล้ว หมื่น สองหมื่น ก็ไปที่คุก ส่งตัวแทนเข้าไป พบผู้บัญชาการคุกบาสตีลและขอให้ถอยปืนออกจากป้อมและกำแพงคุกโดยที่ชุดแรกส่งเข้าไปตอนเที่ยง แต่ออกมาช้าทำให้คนก็สงสัยว่าถูกฆ่าตายหมดแล้ว แต่ข้อเท็จจริงคือคุยกันใกล้เที่ยง ผู้บัญชาการคุกบาสตีลก็ชวนกินข้าว เหมือน 14 ต.ค. คืนวันที่ 13 ต.ค. กรรมการ ศนท. หลายคนถูกเรียกให้ไปพบจอมพล ถนอม ก็มีข่าวว่าถูกจับถูกฆ่า

เมื่อตัวแทนเจรจายังไม่ออกมา จึงมีการส่งชุดที่ 2 ก็เข้าไป แต่เข้าไปเยอะ เมื่อข้ามสะพาน ทหารที่รักษาคุกมี 27 คน เกิดความกลัวจึงยิงคนที่บุกเข้าไปเหล่านั้น บาดเจ็บและตายกัน หลังจากนั้นคนที่ล้อมอยู่ก็บุกเข้าทุกทิศทุกทาง ปีนกำแพงบ้าง จนเข้าไปเต็ม พอเข้าไปเจอทหารก็จัดการ แล้วก็เปิดห้องขัง ซึ่งตอนนั้นมีนักโทษยู่ 7 คน แล้วก็จับผู้บัญชาการคุกบาสตีล ราวบ่ายโมงก็ยึดได้ เนื่องจากขณะนั้นทหารมีแค่ 27 คน เป็นทหารต่างชาติชาวสวิส ซึ่งช่วงนั้นกษัตริย์แต่งงานกับชาวต่างชาติ ก็มีการขอกำลังมาช่วย

ผู้บัญชาการคุกบาสตีลเมื่อถูกจับได้ถูกก็พาออกมา เนื่องจากตอนบุกเข้าไปมีคนตายหลายร้อย คนก็โกรธ พร้อมกับความโกรธแค้นที่สั่งสมมานานเพราะคุกแห่งนี้เป็นเครื่องมือของกษัตริย์ในการจัดการคนอื่นดังนั้นนั้นเมื่อคนปารีสล้มคุกก็พยายามประชาทัณฑ์ผู้บัญชาการคุกบาสตีลโดยช่วงแรกคนที่ควบคุมตัวผู้บัญชาการคุกบาสตีลเป็นผู้นำก็ไม่อยากให้มีการฆ่า แต่ช่วยไม่ได้ ทีแรกใช้วิธีการพรางเอาหมวกไปสวมผู้บัญชาการคุกบาสตีล เพื่อไม่ให้มีคนจำได้ แต่ขณะนั้นเกิดชุลมุนผลักกันไปมา หมวกหลุด คนครัวจึงเห็นและจำได้จึงฟันคอขาด

วันนั้นคนปารีส เมื่อรู้ข่าวทั้งคนที่ไปยึดคุกและไม่ยึดคุกก็ปฏิบัติการต่อเนื่องคนที่ไม่พอใจทั้งขุนนางหรือคนธรรมดาที่อยู่ฝ่ายกษัตริย์ ก็เข้าจัดการคนเหล่านั้น การยึดคุกที่ปารีสนั้นกว่าที่พระเจ้าหลุยส์ที่อยู่ที่แวร์ซายจะรู้ก็เที่ยงคืน เนื่องจากมีคนไปปลุก และไปบอกพระเจ้าหลุยส์ด้วยว่า “เกิดเหตุที่ปารีสแล้ว” เพราะเจ้าหลุยส์บอกว่า “เกิดกบฏใช่ไหม” คนที่ที่ไปบอกก็แจ้งว่า “มันคือการปฏิวัติ”

หลังจากวันที่ 14 ก.ค. พระเจ้าหลุยส์ก็ตื่นตระหนก แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่เนื่องจากข่าวมันแพร่เร็วมากเกือบทั้งฝรั่งเศส ตั้งแต่รุ่งเช้าวันที่ 15 คนฝรั่งเศสที่อยู่ต่างจังหวัดทราบข่าว หลังจากนั้นบ่ายวันที่ 15 ชาวนาปารีสลุกขึ้นไปเป็นกลุ่มๆ ไปยึดปราสาทของเจ้า ขุนนาง ยุ้งข้าว เกิดสถานการณ์การปฏิวัติชาวนา วันที่ 14 เกิดการลุกขึ้นของชาวปารีส วันที่ 15-17 เกิดการปฏิวัติชาวนาเลย

เข้าสู่เดือน ส.ค. สมัชชาแห่งชาติที่เปลี่ยนจากสภาฐานันดร มีมติยกเลิกสิทธิศักดินา ในวันที่ 4 ส.ค.ที่ให้เจ้ามีสิทธิ มากมานานเป็นพันปี ถือเป็นความคิดปฏิวัติและอีกทางหนึ่งก็เป็นการหยุดยั้งไม่ให้ชาวนาไปเผาไปจับเจ้า ขุนนาง อีก

สรุปสั้นๆ การปฏิวัติใหญ่ ฝรั่งศส นั้นเป็นการปฏิวัติใหญ่ครั้งที่ 3 ครั้งแรกเป็น ประเทศอังกฤษ เรียกปฏวัติรุ่งโรจน์ในปี 1776 เกิดปฏิวัติที่อเมริกา วันที่ 4 ก.ค. ตั้งแต่เรียนหนังสือ นักรัฐศาสตร์ ไม่เรียกเหตุการณ์ที่อเมริกา ไม่เรียกการปฏิวติ แต่เรียกประกาศอิสรภาพ ที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติเพราะ 1 เข้าสร้างสาธารณะรัฐขึ้นมา 2 เข้าสร้างประชาธิปไตย มีประธานธิบดีที่มาจากการ ลต. มีหลักการต่างๆ ถือเป็นการปฏิวัติ แต่นักรัฐศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ไม่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติ จึงควรเรียกเหตุการณ์นั้นว่าเป็นการปฏิวัติ อย่าไปกลัวคำว่าปฏิวัติ คำว่าปฏิวัติในประเทศไทยมันสับสน ทหารสมัยจอมพลสฤษดิ์เรียกการรัฐประหารว่าปฏิวัติ

10 ปีต่อมา 1789 ปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส การปฏิวัติอเมริกา 1776 คนไม่ค่อยสนใจเท่าไหร การปฏิวัติรุ่งโรจน์ในอังกฤษ คนไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส มีมันมีเสน่ห์ เป็นแบบอย่างแรงบันดาลใจในประเทศต่างๆ แต่มนเสน่ห์ ในฝรั่งเศสก็ค่อยๆลดลง เมื่อเกิดปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซีย 1917 คนมาติดใจการปฏิวัติรัสเซีย เป็นการปฏิวัติสังคมนิยมของพรรคคอมฯ เกิดการเคลื่อนทั่วโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดการปฏิวัติทั่วโลก การปฏิวัติรัสเซีย 20 ปีมานี้ก็หมดเสน่ห์ เพราะขบวนการคอมฯ หลายประเทศก็เสื่อม พวกเราที่มีความคิดปฏิวัติก็ต้องศึกษาบทเรียนในประเทศต่างๆ