วันศุกร์, เมษายน 14, 2560

มติชนสุดสัปดาห์ : เบื้องหลังการตัดสินใจของทักษิณ เดินคนละทางกับฮาร์ดคอร์ เสื้อแดง (1)




เบื้องหลังการตัดสินใจของทักษิณ เดินคนละทางกับฮาร์ดคอร์ เสื้อแดง (1)


ทีมา มติชนสุดสัปดาห์
12 เมษายน พ.ศ.2560

สัปดาห์ที่ผ่านมาอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง

ซึ่งบางคนอาจบอกว่า…ออกมาบ่นเพราะถูกเรียกเก็บภาษี 1.7 หมื่นล้าน

แต่ในเนื้อหาและข้อเท็จจริงคือ…

การเรียกเก็บภาษี 17,000 ล้าน ไม่ใช่แรงกดดัน

ที่บอกว่าเรื่องนี้ไม่มีแรงกดดันอดีตนายกฯทักษิณ เพราะหลังจากถูกยึดทรัพย์ไป 46,000 ล้านจากการรัฐประหาร 2549 และมาตัดสินเมื่อต้นปี 2553 เขาก็ได้ดำเนินกระบวนการต่างๆ ตามสภาพที่ตัวเองสามารถทำได้ ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศและลงทุนต่างประเทศ ทรัพย์สินในประเทศก็ไม่มีเหลือ เพราะแบ่งให้ลูกเมียไปแล้ว

มีคนถามว่าถ้าเขาตัดสินยึดทรัพย์เป็นค่าภาษี ทักษิณจะถูกยึดไปได้จริงอีกเท่าไร?

ผู้รู้แจ้งว่าอาจมีผลประโยชน์จ่ายเข้ามาตามระบบบัญชีในประเทศ ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาท ถ้าสรรพากรชนะคดีซึ่งไม่รู้จะใช้เวลากี่ปีและดำเนินการยึดทรัพย์สิน ก็น่าจะได้ประมาณ 0.1% ของเงินที่เรียกเก็บ

แต่เรื่องนี้คงจะจดจำเป็นโจทก์เป็นจำเลยกันไว้ในใจ ว่าใครเป็นคนทำ ทำอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง

สำหรับคนแดนไกล เรื่องนี้ไม่สะเทือน แต่ไปสะเทือนถึงนักลงทุนคนอื่นๆ ที่มาลงทุนในไทย ที่กลัวว่าวันหนึ่งตัวเองจะถูกยึดบ้าง

และมีคนเสนอว่า ถ้าอยากฟื้นคดีแล้วได้เงินเยอะ คดี ปรส. 851,000 ล้าน ถึงขายขาดทุนก็ยังเก็บภาษีได้ ลองไปตามดู

สิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณพูดถึง

เป็นเรื่องจุดยืนทางการเมือง

1.เขาตั้งใจที่จะหยุด ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะจะมีคนนำไปอ้างว่าขัดขวางการทำงานของรัฐบาลทหาร มิใช่เพราะกลัวรัฐบาลทหาร แต่เพราะกลัวประชาชนลำบาก โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง จึงอยากให้รัฐบาลทหารได้ใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างเต็มที่

2. ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามป้ายสี หรือลากเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง ซึ่งทุกครั้งความจริงก็ปรากฏในภายหลังว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเขาเลย

ไม่เพียงแต่ตัวเขา แม้ครอบครัวก็ตกเป็นเหยื่อของการกล่าวหา ใส่ร้ายป้ายสี และถูกกระทำมาโดยตลอด ล่าสุดคือเรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ป ซึ่งหากมีการกระทำผิดจริงแล้ว รัฐบาลที่มาจากผลพวงของการรัฐประหารที่ผ่านมา ย่อมต้องเอาผิดไปนานแล้ว คงไม่ปล่อยไว้จนกระทั่งหมดอายุความ จึงค่อยใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย” มาเล่นงาน

3. มีความพยายามที่จะสร้างภาพว่า เขาเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกับขบวนการล้มล้างระบบการปกครองของไทย ซึ่งเขาขอยืนยันว่า เขาเป็นผู้มีความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีความเชื่อมั่นที่แน่วแน่มั่นคงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง

4. ขอให้ ทุกฝ่าย โปรดตัดเขาออกจากกระบวนการปรองดองไปได้เลย อย่ามาเสนออะไรเพื่อช่วยตัวเขา และอย่ามาใช้อภินิหารเพื่อขจัดเขาเพียงคนเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม

และอย่าเลี้ยงไข้ความ “ขัดแย้ง” ให้ยืดเยื้อ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป

ทักษิณรู้อะไรและคิดอะไร

นี่ไม่ใช่การบ่น แต่เป็นคำประกาศ ถ้ามองให้ลึกจะพบว่าทุกหัวข้อมีความหมาย สรุปได้ว่า…

…เขาไม่อยากยุ่งกับความขัดแย้งในช่วงนี้ จะปรองดองได้หรือไม่ได้ ไปทำกันเอง อย่าเอาเขาเข้าไปยุ่ง …ย้ำว่าทุกฝ่าย…ไม่ว่าจะปรารถนาดีหรือประสงค์ร้ายก็ไม่ควรลากเขาเข้าไปเกี่ยว จะอยู่ในอำนาจต่อหรือจะมีเลือกตั้งต้องทำกันไปเอง

แต่ทักษิณไม่ได้บอกว่าจะเลิกต่อสู้ ยังประกาศว่าจะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แปลได้ความว่าเขาจะต่อสู้ตามระบบนี้ต่อไป ไม่เลี้ยวรถหันหัวทิศทางไปทางอื่น

ทักษิณรู้สถานการณ์ และรู้ว่าใครคิดทำอะไร

1. ทักษิณรู้ดีว่า…บัดนี้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ใดๆ ได้อีกแล้วเพราะความขัดแย้งซึ่งเริ่มต้นจากการกำจัดตัวเขา ขยายมากำจัดพรรคไทยรักไทย ในที่สุดก็กลายเป็นไปปะทะกับมวลชนชั้นล่างซึ่งคนทั่วไปมองว่าเป็นคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่ง แต่ยิ่งนานเข้ายิ่งกระจายออกไป

ถึงวันนี้บางคนที่เป็นคนเสื้อแดงก็ไม่ใส่เสื้อแดงอีกแล้ว คิดอย่างไรก็ไม่รู้

คนเหล่านี้ไม่สนว่าทักษิณจะคิดอย่างไร และยังแบ่งเป็นหลากหลายความคิด

มีสื่อที่ถกเถียงกันผ่านการสื่อสารใต้ดิน ผ่าน internet ประชาชนแบ่งกันสนับสนุนความคิดต่างๆ แทบทุกฝ่าย ซึ่งดูแล้วน่าจะลุกลามต่อไปไม่มีใครควบคุมได้

2. ถ้ามองสถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจ และการเมืองโดยรวม กำลังลำบาก และจะลำบากกว่านี้ คนที่บริหารทำไม่เป็น น่าสงสารมาก เหมือนเอาคนที่เคยแต่อยู่บนบก ไปควบคุมเรือเดินสมุทร เพราะเราขยายขอบเขตการค้าไประดับโลกมาหลายปีแล้ว

ประเทศไทยไม่ได้หากินแค่แถวริมแม่น้ำ กัปตันและทีมงาน แม้ว่ายน้ำเป็น เคยเห็นทะเล แต่อีกไม่นานก็จะต้องเจอพายุกลางมหาสมุทร

คนมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจและการเมืองต่างก็พากันหนาวๆ ร้อนๆ จะโดดออกจากเรือก็ทำไม่ได้ ทักษิณมองว่าเรือลำนี้ไปต่อไม่ได้ ต้องหาทางเข้าฝั่งหรือเกาะแก่งแห่งใดแห่งหนึ่ง

3. อดีตนายกฯ ทักษิณ เรียนรู้การตัดสินใจในทางธุรกิจ สามารถเลือกทำหรือไม่ทำโครงการใด เรียนรู้การตัดสินใจในเชิงนโยบายเมื่อมาบริหารบ้านเมือง เลือกตัดสินใจว่าจะทำนโยบายไหน และทำอะไรก่อน อะไรหลัง เขาไม่ใช่คนโง่ ดังนั้น บทเรียนตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันได้สอนให้เขาเลือกสิ่งที่เขาจะทำได้จริง ต่อสู้ได้จริง แม้จะไม่มีผลให้ได้รับชัยชนะอย่างถาวร แต่ก็สามารถประคองตัวต่อไปได้

เขาประเมินฝ่ายตรงข้ามว่า เมื่อได้ รธน. และ ส.ว. ตามที่ต้องการ จะมีการเลือกตั้ง ที่เมื่อเลือกแล้วคนชนะที่ 1 ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล จึงไม่ต้องรีบ รัฐอยากจะแบกภาระหนักก็แบกไป อยากจะกดคนไว้ก็ต้องออกแรงดัน ประชาชนกำลังเรียนรู้และต่อสู้เอาตัวรอดด้วยตนเอง

4. ถ้ามองจากจุดนี้ย้อนดูอดีตมาจนถึงปัจจุบัน จะพบว่าเขายังเดินอยู่บนเส้นทางเดิมคือใช้การเลือกตั้งลุยเข้าสู่เส้นทางการเมืองและมีความเชื่อว่าจะได้ผล ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจจะคิดว่าทำแบบนั้นเหมือนคนโง่มีแต่จะเดินไปให้เขาเชือด

ไม่มีใครรู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร อนาคต 3 ปี 5 ปี หรือมากกว่านั้นจะเป็นเครื่องวัด

วิเคราะห์…ทักษิณคิดถูกหรือผิด

การเรียนรู้เส้นทางการต่อสู้ด้วยตนเอง

ย้อนกลับไปดูการต่อสู้ทางการเมือง การก้าวเข้าสู่วงการเมือง ไม่ใช่มีใครบังคับ เป็นการก้าวกระโดด ที่เริ่มจากตำแหน่งรัฐมนตรี และขึ้นชั้นเป็นนายกฯ หลังจากดำรงตำแหน่งจนหมดสมัยแรกอยู่ในวาระครบ 4 ปี การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ซึ่งมีแบบท่วมท้นมากเกินกว่าที่ฝ่ายอื่นจะรับได้ นายกฯ ทักษิณก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากรอบด้านทุกทิศทุกทางซ้ายขวา ล่างบน หน้าหลัง

ถ้ามองการต่อสู้ครั้งนั้นจะพบว่ามีทักษิณและพรรคเพื่อไทยเป็นตัวยืนสู้เอง

ครั้งนั้นไม่มีคนเสื้อแดง มวลชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยหลังจากหย่อนบัตร ก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบโต้ ไม่มีการจัดตั้งรวมพลังประชาชนออกมาต่อสู้

แต่ความนิยมที่มากมายทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากการรัฐประหาร

มีผู้วิเคราะห์ว่าทักษิณควรตัดสินใจสู้ตั้งแต่ตอนกันยายน 2549 การยอมครั้งนั้นทำให้เกิดข้อผิดพลาดจึงถูกรุกถอยร่นมาทุกแนว

ขณะที่บางกลุ่มมองว่าทักษิณฉลาดที่มองว่าความนิยมของตัวเองสามารถชนะการเลือกตั้งได้จึงอดทนรอคอยและก็ทำได้สำเร็จจริง ในการเลือกตั้งปี 2550

แต่ความสำเร็จครั้งนั้นถูกทำลายลงด้วยการยึดอำนาจซ้ำ เริ่มจากม็อบและตุลาการภิวัฒน์ เริ่มปฏิบัติการหลังจากการตำแหน่งนายกฯ ของ คุณสมัคร สุนทรเวช ไม่กี่เดือน แม้เกมจะปิดลงด้วยการยึดสนามบินซึ่งเป็นเกมที่ไม่สวยนักของคนเสื้อเหลือง แต่ก็สามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้โดยตุลาการภิวัฒน์ การตั้งรัฐบาลในค่ายทหารทำให้เกิดการไม่ยอมรับและก็เกิดคนเสื้อแดงเข้ามาต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ยุบสภาแต่ก็จบลงด้วยการถูกปราบโดยกองกำลังติดอาวุธ

ทักษิณไม่ใช่น้ำผึ้งหยดเดียว แต่เป็นน้ำผึ้งทั้งขวด คนที่ได้ไป ชิมไปเล็กน้อย แต่ไปเชื่อ คนขี้อิจฉาที่บอกว่า มีพิษจากดอกไม้ เมื่อเอามาโยนทิ้งจนขวดแตก จึงไปกระตุ้นมวลแมลงตัวเล็กตัวน้อยให้บินออกมาทั้งท้องทุ่ง

การตัดสินใจเลือกแนวทางการต่อสู้

ปี2553 เป็นจุดตัดสินใจของการเลือกแนวทางสู้ ซึ่งทักษิณและกลุ่มไทยรักไทยเดิม เลือกแนวทางต่อสู้ที่จะใช้การเลือกตั้ง เพราะโดนรัฐประหาร ยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมือง ตุลาการภิวัฒน์ ฯลฯ ปี 2553 ถูกปราบมีคนตาย

แต่ปี 2554 ก็ยังส่งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสมัครเป็นปาร์ตี้ลิสต์หมายเลข 1 ซึ่งเป็นไปตามที่คาด ชัยชนะครั้งนั้นยังได้คะแนนเสียงมากกว่าการเลือกตั้งปี 2550

เมื่อเป็นเช่นนี้ แกนนำของไทยรักไทยและทักษิณจึงมั่นใจแนวทางการต่อสู้ด้วยวิธีการเลือกตั้งว่าเป็นแนวทางหลัก และมองว่าวิธีการนี้สามารถช่วงชิงอำนาจรัฐมาได้

แต่มีผู้วิจารณ์ว่า…แม้ชนะเลือกตั้ง…แต่ยังไร้อำนาจ





ในความเป็นจริงอํานาจรัฐที่ได้มาหลัง 2549 เป็นอำนาจรัฐแบบครึ่งๆ กลางๆ ฝ่ายตรงข้ามก็พิจารณาเป็นเหมือนกัน มองออกว่า แม้แพ้เลือกตั้ง แต่ก็สามารถจัดโครงสร้างให้ตัวเองมีอำนาจโดยใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญและให้อำนาจองค์กรต่างๆ ที่จะเข้ามาควบคุมสภาและรัฐบาลได้ มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิด คนตัดสินไม่ได้อยู่ที่ผู้ชนะเลือกตั้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้แนวทางการต่อสู้ของกลุ่มทักษิณและเพื่อไทยจึงถูกบางคนว่าเดินแนวทางที่ผิด

เพราะในที่สุดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ถูกโค่นจริงๆ เป็นการทำซ้ำ โดยใช้วิธีการของปี 2549 ร่วมกับปี 2551 ครั้งนี้ เปลี่ยนจากม็อบพันธมิตรฯ ที่พลาดท่าไปปิดสนามบิน มาเป็น กปปส. แต่ถึงปิดกรุงเทพฯ แล้วก็ไม่สำเร็จ แม้ศาลปลดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็มีรักษาการนายกรัฐมนตรีมาแทน จะให้เลือกตั้งใหม่ ก็กลัวแพ้ สุดท้ายก็ต้องรัฐประหารปี 2557

จนบัดนี้ ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว

แต่เรื่องแบบนี้แนวทางใครแนวทางมัน ทุกคนมีความคิดความอ่านของตัวเอง

มีต้นทุนทางการเมือง ทางสังคม มีสภาพแวดล้อม มีสิ่งที่ต้องสูญเสีย มีสิ่งที่ต้องได้ต่างกัน

วันนี้อดีตนายกฯ ทักษิณ ได้เลือกเดินแนวทางที่จะต่อสู้ตามแบบประชาธิปไตย ที่มีการเลือกตั้ง เฉพาะ ส.ส. ผลจะเป็นอย่างไรไม่รู้

แต่ที่อึดได้จนถึงวันนี้ ถือว่าอดทนได้น้องๆ วัดพระธรรมกาย ดังนั้น คนอื่นๆ ควรจะเลิกชักชวนอดีตนายกฯ คนนี้เข้าสู่เส้นทางที่ใช้ความรุนแรง

แต่หลายคนอาจจะไม่ไปตามทางนายกฯ ทักษิณ

ถึงจุดนี้เมื่อมีแรงกดดันที่มากพอ ความแตกทางความคิด การแยกทางกันเดินจึงเป็นเรื่องปกติ

รถเก๋งความเร็วสูงต้องใช้วิ่งในทางเรียบ ถ้าให้วิ่งในทางลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อคงไปได้ไม่ไกล เครื่องคงจะพังและจอดเสียอยู่กลางทาง

ดังนั้น เมื่อขบวนมาถึงทางแยก รถเก๋งแบบทักษิณยังจะคงเดินหน้าไปตามถนนใหญ่แม้จะมีด่านตรวจ มีด่านเก็บเงิน มีอุปสรรคอะไรอยู่หลายแห่ง ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเลี้ยวลงทางแยกข้างหน้าแม้ขรุขระหน่อยแต่เป็นเส้นทางลัด จึงเลือกไปคนละทาง รถ นปช. รถเสื้อแดง จะไปทางไหน (ต่อฉบับหน้า)