วันจันทร์, เมษายน 10, 2560

ย้อนรอยเบื้องหลัง 10 เมษาฯ 2553 ถล่ม “บูรพาพยัคฆ์”





ย้อนรอยเบื้องหลัง 10 เมษาฯ 2553 ถล่ม “บูรพาพยัคฆ์”

10 เมษายน พ.ศ.2560
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์

หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 เม.ษ. 2553



เหตุปะทะกันที่สถานีดาวเทียมไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2553 / AFP PHOTO / ROSLAN RAHMAN


หลังความพ่ายแพ้ ทั้งที่สถานีดาวเทียมไทยคม ลาดหลุมแก้ว เมื่อ 9 เมษายน และโดยเฉพาะเหตุนองเลือด 10 เมษายน 2553 ที่แยกคอกวัวและถนนดินสอ สถานภาพที่แท้จริงของกองทัพไทยก็ปรากฏโดยพลัน พร้อมๆ กับบทเรียนและบาดแผลจากสงคราม

ชื่อของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. กับเพื่อนรัก บิ๊กหนุ่ย พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง เสธ.ทบ. กลับถูกวิพากษ์ลั่นกองทัพ แม้ว่าจะทำเพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองก็ตาม




เหตุปะทะกันที่สถานีดาวเทียมไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2553 / AFP PHOTO / ROSLAN RAHMAN


ด้วยรู้กันว่าก่อนหน้านั้นบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. แม้จะไม่ได้เป็น “ทหารแตงโม” แต่ก็ใส่เกียร์ว่าง รักษาเนื้อรักษาตัวกลัวเป็น ผบ.ทบ. มือเปื้อนเลือด จึงปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ น้องรัก ใส่เกียร์ 5 เดินหน้าเต็มตัว ประหนึ่งเป็น ผบ.ทบ. โดยมี พล.ท.ดาว์พงษ์ ประหนึ่งเป็น เสธ.ทบ. ราวกับเตรียมฝึกงานไว้ก่อน

การเสียหน้าเสียฟอร์ม เสียศักดิ์ศรี ที่ทหารพร้อมใจกันแตกทัพ ถูกคนเสื้อแดงต้อนหนีออกทุ่งนา ไม่ว่าจะเพราะเป็นแตงโม หรือไม่กล้าใช้ความรุนแรง กลัวต้องรับผิดชอบหรือสร้างเงื่อนไข ก็ตาม รวมทั้งความคาดหวังหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าต้องจัดการเด็ดขาด พร้อมทั้ง “คำสั่งพิเศษ” ที่ว่า “ให้จบก่อนสงกรานต์ที่กดดันทั้งรัฐบาลและกองทัพ

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.ท.ดาว์พงษ์ ไม่รีรอที่จะใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้า ที่บังคับให้เรียกอย่างสวยหรูว่า “ขอคืนพื้นที่” หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ต้องการให้ทำมานานแล้ว



AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI


แต่ยุทธการ “ยึดผ่านฟ้า” กลับเริ่มต้นตอนบ่ายโมงเศษๆ โดยฉวยโอกาสเมื่อคนเสื้อแดงบุกไล่ทหารที่กองทัพภาค 1 เพราะกลัวว่าจะมาสลายการชุมนุม จึงมีเวลาปฏิบัติการแค่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนพลบค่ำ ซึ่งตามหลักนิยมทหารแล้วจะหลีกเลี่ยงเพราะควรจะเป็นช่วงก่อนรุ่งสางมากกว่า เลือกเวลาที่ม็อบอ่อนล้าอ่อนเพลีย หรือลดจำนวนน้อยลง แถมมีเวลาปฏิบัติการได้ทั้งวันหากจะปิดเกม

ทั้งๆ ที่เพลี่ยงพล้ำก็ควรจะหยุดเพื่อตั้งหลักตามยุทธวิธี แต่อาจด้วยเพราะ “อารมณ์” กลับมีคำสั่งให้เสริมกำลังทหารพร้อมเสียงกรอกใส่โทรศัพท์ว่า “ต้องให้จบในคืนนี้” ทั้งๆ ที่ปฏิบัติการทางทหารต้องใช้สถานการณ์เป็นตัวตัดสิน ต้องค่อยๆ ก้าวอย่างมีกลยุทธ์ ไม่เร่งรัดหรือขีดเส้นเวลา ที่สำคัญ ต้องไม่ให้ปัจจัยการเมืองมาแทรกแซงปฏิบัติการทางทหาร



AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL


งานนี้ บรรดาทหาร “วงศ์เทวัญ” จากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล. 1 รอ.) รับผิดชอบวงนอก ตั้งแต่พระราชวังจิตรลดาฯ ตามถนนราชดำเนิน ไปสู่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ที่มีการปะทะกับคนเสื้อแดง แต่ก็แค่ใช้รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง

แม้จะ “หัว เสธ.” แค่ไหน แต่ก็จบจากโรงเรียนเดียวกัน เรียนตำราเล่มเดียวกันมา เมื่อกองทัพต้องใช้แผน “ล้อมปราบ” ด้วยการใช้ “ทหารป่า” อย่างกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) กาญจนบุรี บุกมาทางฝั่งธนบุรี สะพานพระปิ่นเกล้า ส่วนกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) อันโด่งดังในชื่อ “บูรพาพยัคฆ์” ออกจากทั้งที่รวมพลที่กองทัพภาค 1 และ บก.ทบ. เดินหน้าลุยเข้าถนนดินสอ หน้า ร.ร.สตรีวิทยา และแยกไปทางวัดบวรนิเวศน์ฯ บางลำพู เข้าถนนตะนาว ข้าวสาร และแยกคอกวัว

โดยมีกำลังเสริมจาก กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) มาเสริม โดยเฉพาะรถสายพานลำเลียงพล แบบที-85 จากจีน รวม 9 คัน เพื่อหวังเป็นด่านหน้าในการบุกตะลุย และเป็นเกราะกำบังภัยให้ทหาร เพื่อไป “รวมกันตี” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วบุกเข้ายึดผ่านฟ้า พร้อมกับกำลังจาก พล.1 รอ. ที่จะบุกมาจากทางแยก จปร.



AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI


ในเมื่อฝั่งฝ่ายเสื้อแดงก็มีทั้งทหารเก่าทหารแก่ และทหารแตงโมที่เชี่ยวการศึก วางกลยุทธ์ให้ และใช้ข้ออ้าง เมื่อมีกระสุนจากปืนสไนป์เปอร์จากตึกสูงพุ่งเข้าหัวคนเสื้อแดงแตกกระจุย ทั้งเอ็ม 67 และเอ็ม 79 ก็ระดมใส่ทหาร ผ่านฟ้าลีลาศ จึงไม่กลายเป็น “เทียนอันเหมิน” อย่างเช่นที่ทหารจีนใช้รถถังและอาวุธกระสุนจริงปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ของเมื่อ 21 ปีก่อน

โดยลูกแรก หมายเด็ดหัวแม่ทัพนายกอง หยอดใส่วงประชุมจัดกำลังของบิ๊กอู๊ด พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผบ.พล.ร.2 รอ. ที่กำลังถกกับผู้บังคับการกรม ผู้บังคับกองพัน ทั้งเหล่าบูรพาพยัคฆ์ ทหารม้า และทหารรบพิเศษ 2 ลูกติดกัน จนทัพระส่ำแตกพ่าย เอารถสายพานฯ หนีได้แค่ 3 คัน ที่เหลือถูกยึด รวมทั้งทหารประจำรถและอาวุธต่างๆ เมื่อถอยร่นกันอุตลุต หิ้วลากร่างทหารทั้งที่ไร้วิญญาณและบ้างโชกเลือด ไม่ต่างจากคนเสื้อแดง



พล.ต.วลิต โรจนภักดี


การสูญเสียของทั้งสองฝ่าย ยิ่งสำหรับทหารแล้ว ถือว่าที่เสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บอีก 230 คน สาหัส 90 คนนั้น มากกว่าสงครามครั้งใดเลยด้วยซ้ำ แถมนายทหารสัญญาบัตรสายเลือดเตรียมทหาร จปร. ทั้งตายและเจ็บ ที่สำคัญล้วนเป็น “ทหารเสือราชินี” ทั้งสิ้น โดยเฉพาะ เสธ.เปา พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รอง เสธ.พล.ร.2 รอ. เป็นศพแรก

ส่วน พล.ต.วลิต ขาซ้ายแตกหัก 3 ท่อน ที่ต้องดามเหล็ก ไม่นับแผลตามร่าง พ.ท.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิเดช ผบ.ร.12 พัน 2 รอ. ที่สะเก็ดเอ็ม 79 ฝังในศีรษะเจาะสมอง แม้จะพ้นขีดอันตรายแต่ก็ไม่มีวันกลับมาเป็นผู้พันไก่คนเดิม พ.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผบ.ร.21 รอ.หน่วยทหารเสือราชินี ก็ถูกสะเก็ดฝังที่ต้นขา พ.ท.นพสิทธิ์ สิทธิพงษ์โสภณ ผบ.ม.พัน 3 รอ. ที่จู่ๆ ต้องมีสะเก็ดเอ็ม 79 ฝังอยู่ในขาทั้งสองข้าง โดยหมอไม่ผ่าออก เพราะเกรงกระทบเส้นประสาทกล้ามเนื้อ ไม่นับรวมระดับรองผู้การกรม ผู้พัน และรองผู้พัน ที่ล้วนเป็น จปร. อีกหลายคน

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเป็นการส่วนพระองค์เพื่อเยี่ยมบรรดาทหารเสือราชินี ที่ล้วนเคยถวายงาน ถึงที่ ร.พ.พระมงกุฎเกล้าฯ รวมทั้งพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พ.อ.ร่มเกล้า ด้วยพระองค์เอง



AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI


การศึกนี้ นอกจากแพ้พ่ายแล้ว ยังเสียขุนพล และเสียทหารไป 1 กองพล คือ พล.ร.2 รอ. ที่ต้องเรียกว่า “ละลาย” ไปเลย เพราะในจำนวนทหารที่บาดเจ็บกว่า 200 คนนั้น ส่วนใหญ่ล้วนเป็นบูรพาพยัคฆ์

จึงไม่แปลกที่ พล.ต.วลิต จะรู้ตัวว่า ถูกหมายหัว เพราะมีการชี้เป้า ก่อนที่กองกำลังไม่ทราบฝ่ายจะหยอดเอ็ม 79 ลงตรงพอดี แถมทั้งบรรดานายทหารที่แต่งกายต่างจากกำลังพลไปยืนรวมเป็นจุดใหญ่ ทั้งๆ ที่มีรถสายพานเป็นเกราะอยู่ จึงเป็นเสมือนการล้างแค้นที่ พล.ร.2 รอ. เคยปราบปรามเสื้อแดง ที่สามเหลี่ยมดินแดงเมื่อสงกรานต์ปีที่แล้ว จนได้รับยกย่องจาก ทบ. ไว้ด้วยนั่นเอง ไม่นับรวมความโดดเด่นของหน่วย ที่ในยุค 3 ป.นี้ถือเป็นยุคทอง ที่ทหารหน้าไหนก็พากันหมั่นไส้ จึงอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยัง บูรพาพยัคฆ์ พร้อมกันนั้นก็เป็นบทเรียนของสิงห์ตะวันออก ทั้งน้อยใหญ่ รวมทั้ง ป้อม – ป๊อก – ประยุทธ์ ด้วยนั่นเอง

บทเรียน 10 เมษายน ทำให้เกิดการเรียกขาน พล.ท.ดาว์พงษ์ เป็น “แม่ทัพภาคศูนย์” เพราะสั่งการโดยตรงยัง ผบ.หน่วยคุมกำลังด้วยตัวเอง บางครั้งไม่ผ่านบิ๊กอ๊อด พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาค 1 ด้วยซ้ำ ที่อาจเป็นเพราะเคยพลาดหวังจากเก้าอี้แม่ทัพภาค 1 มาก่อน ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสได้แสดงฝีมือ แถมทั้งไม่วางใจใคร จนถึงขั้นที่ต้องสวมบท “จ่า” ลงไปยืนจี้ชี้สั่งการนายสิบ พลทหาร ในพื้นที่เองเลยทีเดียว เพราะมีดาบอาญาสิทธิ์ จาก พล.อ.ประยุทธ์

จึงเกิดการจับคู่ ทหารวงศ์เทวัญกับบูรพาพยัคฆ์ เกิดขึ้น ด้วย พล.ท.ดาว์พงษ์ เติบโตจาก ร.11 รอ. และในพล.1 รอ. ส่วน พล.ท.คณิต รุ่นน้อง ตท.13 โตมาจาก พล.ร.2 รอ. แถมต้องมาชิงเก้าอี้ห้าเสือ ทบ. และเป็นที่ไว้วางใจของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อขึ้นเป็น ผบ.ทบ.



AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL


งานนี้ เตรียมทหาร 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ประธานรุ่น หมายจะโชว์ศักยภาพการขึ้นเป็นผู้คุมกองทัพในยุคต่อไป จึงทำงานกันแค่ไม่กี่คน เช่น บิ๊กเต่า พล.ท.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ผช.เสธ.ทบ.ฝ่ายกิจการพลเรือน บิ๊กหน่อย พล.ต.จิระเดช สิทธิประณีต เลขานุการ ทบ. และใช้ทหารรบพิเศษหน่วยเฉพาะกิจ 90 (ฉก.90) ของ พล.ท.โปฎก บุนนาค ผบ.นสศ. และแท็กทีมกับ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบชน. เพื่อนสีกากี

ทั้งจะเห็นได้ว่า ศึกแดงเดือดครั้งนี้ มีการใช้ “ทหารม้า” มากเป็นพิเศษ ที่นอกจากเพราะมีบิ๊กอ้อ พล.ต.วิลาศ อรุณศรี รองแม่ทัพน้อยที่ 1 คุม ในฐานะที่เป็นพี่เลิฟของบิ๊กฟิ้งค์ พล.ต.สุรศักดิ์ บุญศิริ ผบ.พล.ม.2 รอ. เพราะไปอยู่ชายแดนภาคเหนือมาด้วยกันแล้ว ยังมีแนวคิดกลยุทธ์การรบแบบสงคราม “วอเตอร์ลู” (Waterloo) ร่วมด้วย

แต่ดูเหมือนจะเป็น “วอเตอร์ลู” ของทหารในฝ่ายเสื้อแดงด้วย เพราะนอกจากจะเป็นสงครามกลางเมืองแล้ว ยังจะเป็น “สงครามครั้งสุดท้าย” ของนโปเลียนด้วย แต่ยุทธการดับแดงเดือดนี้ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของฝ่ายใดเท่านั้น เพราะทหารสีแดงก็ระดมการต่อสู้ทุกหนทาง แม้แต่ต้องก่อศึกสายเลือดฆ่าฟันกันเอง เมื่อสงครามยังไม่จบ ก็อย่าเพิ่งนับศพทหารหรือประชาชน

ยิ่งเมื่อกลุ่มเสื้อแดง ทิ้งผ่านฟ้าฯ แล้วคงยึดแยกราชประสงค์ไว้เป็นฐานที่มั่นเดียวไว้อยู่ และยังไม่เห็นทางออกที่จะไม่ให้เกิดการเจ็บตายขึ้นอีก




AFP PHOTO/THAI GOVERNMENT HOUSE


แม้ว่า นายอภิสิทธิ์จะกล้าเล่นกับไฟ ด้วยการตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เป็นหัวหน้าส่วนราชการในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือที่ภาษาทหารเรียกกันว่า “ผู้บัญชาการเหตุการณ์” แทนนายสุเทพ เพื่อที่จะ “แก้เผ็ด” การที่ พล.อ.อนุพงษ์ ลอยตัว ไม่เต็มที่ เพื่อประคองตนให้เกษียณแบบมือไม่เปื้อนเลือดและไม่มีคดีความติดตัว

ความเป็น “เด็กดื้อ” ของ นายอภิสิทธิ์ ประกอบกับความมั่นใจใน “กองหนุน” ที่มีหลายระดับ ทำให้เขากล้าที่จะเอ่ยปากเหน็บแนมทหาร ที่บิ๊กๆ ฟังแล้วไม่สบายใจ ทั้ง “เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิ์ท้อแท้” หรือ “หากไม่ทำ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลอ่อนแอ แต่เป็นการสะท้อนความอ่อนแอของรัฐและความมั่นคงของประเทศ”

ครั้งหนึ่งก่อนหน้า 10 เมษายน พล.อ.อนุพงษ์ เคยปฏิเสธข้อเสนอของ นายอภิสิทธิ์ ที่ให้ยึดพื้นที่ราชประสงค์คืน ว่า “ทำไม่ได้ เพราะจะเกิดการสูญเสียทั้งเศรษฐกิจ ทรัพย์สิน และชีวิตของทั้งสองฝ่าย”แต่เห็นว่าการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ไม่ใช่แก้ด้วยการทหาร

หลัง 10 เมษายน พล.อ.อนุพงษ์ ถึงขั้นให้สัมภาษณ์ว่า “การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง” พร้อมเสนอให้ยุบสภา พร้อมทั้งยืนกรานว่า ทหารไม่ได้ “หน่อมแน้ม อ่อนแอ หรือเกียร์ว่าง” แต่ “ประเสริฐสุดยอด”ที่ไม่ยิงประชาชน



AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL


จะว่าไปแล้ว พล.อ.อนุพงษ์ เองก็ไม่ได้เกียร์ว่าง เพราะ 10 เมษายน เขาเป็นผู้บัญชาการศึกด้วยตนเอง เป็นแม่ทัพเสียเอง แม้พื้นที่วงในจะใช้กำลังจาก พล.ร.2 รอ., พล.ร.9 และ พล.ม.2 รอ. แต่ พล.อ.อนุพงษ์ ก็สั่งการตรงไปถึงผู้บังคับการกรมเองด้วยซ้ำ พล.อ.อนุพงษ์ เผยเองว่า พ.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผบ.ร.2 รอ. โทรศัพท์มาขอถอนกำลังเพราะถูกระเบิดโจมตีทหารเจ็บหนักกว่า 30 คน โดยตนให้ถอยมาที่ สิบสามห้าง บางลำพูก่อน แต่ก็โดนระเบิดตามมาอีก จนต้องมายังสโมสร ทบ. เทเวศร์

รวมทั้งการขึ้น ฮ. บินดูสถานที่และจำนวนผู้ชุมนุมด้วยตนเอง แนวคิดการใช้ ฮ. แจกใบปลิว หรือการใช้ ฮ. โปรยแก๊สน้ำตาลงหน้าเวทีผ่านฟ้า ที่ก็แห้ว แถมทหารยศพันเอกถูกยิง ฮ. ทะลุเท้าเสียอีก แม้แต่การให้กำลังทหารแยกกันเดินเข้าถนนเล็กๆ หลายสาย ที่เป็นรูปตัว S น่าจะช่วยเป็นเกราะกำบังทหารเวลาบุกได้ ก่อนรวมกันตี

“ข่าวที่ออกมา เหมือนผมขัดแย้งกับพี่ป๊อก ว่าพี่ป๊อกไม่เอา ผมเอา ทั้งๆ ที่ความจริง มีอะไรก็ปรึกษาหารือกันตลอด แต่การตัดสินใจและสั่งการ เขาเป็นนาย เขาเป็นคนรับผิดชอบ” พล.อ.ประยุทธ์ แจงสั้นๆ

แต่ท่าทีโดยภาพรวมของ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ปรากฏ ยิ่งเมื่อเสนอให้ยุบสภานั้น ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนรักอภิสิทธิ์ คนสีเหลือง แม้แต่ นายสุเทพ เอง ที่เคยสนิทสนมก็เริ่มมองหน้ากันไม่สนิทใจ โดยเฉพาะแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถึงขั้นเชียร์ให้ นายอภิสิทธิ์ ปลด ผบ.ทบ. แล้วตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ทหารเสือราชินีตัวพ่อ ที่กล้าได้กล้าเสียและพร้อมลุย ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.เลย แต่ นายอภิสิทธิ์ รู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และอะไรจะเกิดขึ้นหากทำเช่นนั้น


 

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL


แต่วิธีของนายอภิสิทธิ์ก็คือ การตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ ให้มาร่วมรับผิดชอบอย่างเต็มตัว ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ อันเป็นการมัดมือชกหรือบังคับไม่ให้หนีปัญหาอีกต่อไป จากเดิมที่เป็น ผช.ผอ.ศอฉ. เท่านั้น จนร่ำลือกันว่าหาก พล.อ.อนุพงษ์ ยังนิ่งเฉย หรือกล้าๆ กลัวๆ รัฐบาลก็จะหาเหตุในการปลด แล้วตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบแทน เพื่อที่จะล้อมปราบเสื้อแดงให้ราบคาบ

แรงกดดันจากสังคม รวมทั้งเล็งเห็นแล้วว่าต่อให้มีประชาชนหรือทหารเสียชีวิต ก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบอะไร แถมมีทางออกด้วยการโยนและประโคมข่าวให้เป็น “กลุ่มก่อการร้าย” กองกำลังติดอาวุธ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ทหารในการยิงเพื่อป้องกันตัวเอง หรือคุ้มกันในการถอนตัว ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ กล้าที่จะสั่งทหารจาก 3 กองพล คือทั้ง พล.1 รอ., พล.ม.2 รอ. และ พล.ร.9 พร้อมอาวุธครบมือเข้ายึดสีลมก่อนที่เสื้อแดงจะบุก

ถึงขั้นที่ เสธ.ไก่อู พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ได้ปลดปล่อยความรู้สึกด้วยการลั่นขู่ปะทะ และทหารได้ไฟเขียวให้ใช้อาวุธจริงได้ เพื่อป้องกันตัวเอง หรือหยุดยั้งผู้ชุมนุมตามสมควรแก่เหตุ ซึ่งถือเป็นการเปิดช่องให้ยิงได้เต็มที่ จนแกนนำเสื้อแดงเปลี่ยนแผนไม่บุกยึดสีลม เพราะนาทีนี้ หากสั่งทหารไปพร้อมโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา ไม่มีใครไปแล้ว ต้องกระสุนจริงเท่านั้น



AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL


จุดยืนของ พล.อ.อนุพงษ์ก็คือ หากเสื้อแดงก่อเหตุป่วนเมืองหรือไปยึดสถานที่อื่น หรือแม้แต่ ร.11 รอ. ฐานบัญชาการ ศอฉ. รัฐบาลและกองทัพก็คงยอมไม่ได้ ต้องประกาศกฏอัยการศึก ปะทะ ตายเจ็บต้องมี แต่หากเสื้อแดงยังคงชุมนุมโดยสงบที่แยกราชประสงค์ ทหารก็จะไม่เข้าสลาย เพราะฝ่ายทหารสีแดงคงตั้งรับเต็มที่ แถมมีอาวุธปืนหลายแบบที่ยึดไปจากทหารมากกว่า 60 กระบอก แม้แต่ปืน Tavor ใหม่เอี่ยมจากอิสราเอล ที่ ทบ. ซื้อมาใช้แทนปืนเอ็ม 16 จึงอาจเกิดการสูญเสียทั้งสองฝ่าย แต่จะจัดการกับกองกำลังติดอาวุธ กลุ่มก่อการร้าย และดำเนินคดีตามกฎหมายกับแกนนำที่ออกหมายจับ ทั้งแบบบนดินและใต้ดิน

บทเรียน 10 เมษายน ทำให้วันนี้ทหารที่ออกปฏิบัติหน้าที่ทุกคนต้องพกอาวุธ มีปืนเอ็ม 16 ติดตัวตามปกติ แถมมีการแจกจ่ายปืนลูกซองและกระสุนจริงไว้สลายม็อบ แทนแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง ยกเลิกกฎการใช้กำลัง 7 ขั้น ที่หนักกว่านั้นคือ ทหารมีทั้งกระสุน “ลูก 9” ที่ยิง 9 นัด จะแตกออกเป็น 9 ลูก และ “ลูก 70” ที่จะแตกออกไป 70 ลูกเล็กๆ ที่สามารถหยุดม็อบแดงให้ร่วงผล็อยได้คราวละมากๆ เลยทีเดียว รวมทั้งการส่งพลซุ่มยิง หรือสไนป์เปอร์ ไปอยู่ตามตึกสูง เพื่อป้องกันกลุ่มก่อการร้ายขึ้นไปยึดพื้นที่รอจังหวะยิงทหารหรือสร้างสถานการณ์ ทั้งยังปรับกลยุทธ์ด้วยการใช้ทหารนอกเครื่องแบบ พร้อมเข้าปฏิบัติการ

ส่วนนายทหาร ผบ.หน่วย หรือสัญญาบัตร ก็ต้องแต่งตัวให้กลมกลืนกับทหาร สวมเสื้อเกราะและหมวกเหล็ก ราวทำสงครามใหญ่ และปกปิดตัวเอง ไม่ให้ออกสื่อมาก จนคนจำหน้าได้ อันเป็นบทเรียนจากบูรพาพยัคฆ์

หากไม่มี “สัญญาณพิเศษ” หรือคำสั่งพิเศษมายัง พล.อ.อนุพงษ์ เขาก็จะประคองสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เพื่อรอให้การเมืองแก้ปัญหากันเอง หรือให้สถานการณ์คลี่คลายด้วยตัวของมันเอง หรือบางทีม็อบสีเหลืองอาจเป็นทางออกในที่สุด เพราะหากต้องยึดพื้นที่ราชประสงค์คืนนั้น ทุกฝ่ายคาดการณ์ว่าต้องมีตายเป็นหลักร้อยหรือหลักพัน บาดเจ็บนับไม่ถ้วน ไม่ต่างจากเหตุนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แล้วชื่อของ พล.อ.อนุพงษ์ ก็จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ดำมืด และเป็น “ตราบาป” ไปตลอดชีวิต

นักการเมืองมาเป็นรัฐบาล ครองอำนาจอย่างมาก 4 ปี แล้วก็ไป แต่ทหาร หากมือต้องเปื้อนเลือด กองทัพจะอยู่อย่างไร นอกเสียจากเป็นจำเลยของสังคม

จึงไม่แปลกที่จะเกิดข่าวลือ การปฏิวัติรัฐประหาร มาเป็นทางออกสุดท้าย ในเมื่อคำพูดของ ผบ.ทบ. ที่ให้การเมืองแก้ด้วยการเมือง ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้รับการตอบสนอง รัฐบาลคิดแต่จะโยนความรับผิดชอบภาระที่หนักอึ้งมาให้กองทัพ คิดแต่จะแก้ปัญหาการเมืองด้วยการทหาร โดยไม่สนใจว่านายทหารหรือพลทหาร จะตายอีกกี่คน เพราะทหารไม่อาจนั่งบัญชาการจากห้องแอร์ได้อย่างนักการเมือง แต่ต้องลงไปเสี่ยงกับลูกน้องด้วย หรือไม่สนใจว่าเสื้อแดงจะตายอีกกี่คน เพราะไม่ได้มองว่าเป็นประชาชน แต่ทว่าเป็นหนามยอกอก ด้วยการประโคมเรื่อง การก่อการร้ายมาเป็นข้ออ้างในการปราบปราม

“ชัยชนะบนซากศพของประชาชน มันช่างเป็นชัยชนะที่น่าเศร้าใจจริงๆ” บทเรียนแห่ง วอเตอร์ลู หรือ เทียนอันเหมิน มีอยู่แล้ว

โลกทั้งใบ จึงขึ้นอยู่กับ “นาย” คนเดียว พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา