วันอาทิตย์, เมษายน 30, 2560

ชวนอ่านบทความเก่า... ประจักษ์ ก้องกีรติ แนะนำหนังสือที่เอ็นจีโอควรอ่าน: สามัญชนบนวิกฤตประชาธิปไตย: วีรชนหรือวายร้าย (Ordinary People in Extraordinary Times)





ประจักษ์ ก้องกีรติ แนะนำหนังสือที่เอ็นจีโอควรอ่าน: สามัญชนบนวิกฤตประชาธิปไตย: วีรชนหรือวายร้าย

Thu, 2008-06-12 13:20

ประจักษ์ ก้องกีรติ


ที่มา ประชาไท







"ประชาสังคม" กลายเป็นคำขวัญ เป็นยาสารพัดนึกที่นักการเมือง
องค์กรระหว่างประเทศ นิสิต นักศึกษาทั่วไป ท่องบ่นเป็นคาถาว่า
แก้โรคปวดไข้ทางเศรษฐกิจการเมืองได้ทุกประเภท
งานในกลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างสูงและแพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย
ผ่านงานของนักคิดอย่าง หมอประเวศ วะสี ธีรยุทธ บุญมี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น



ประชาสังคมและสามัญชน ถูกมองว่าเป็นทั้งรากแก้วและหัวใจ
ที่หล่อเลี้ยงให้ประชาธิปไตยยั่งยืน



แทนที่ภาคประชาสังคมจะสนับสนุนค้ำจุนประชาธิปไตย
กลับบั่นทอนและช่วยทำลายมันเสีย ด้วยการสนับสนุนอุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองแบบอำนาจนิยมหรือชนชั้นนำนิยม
ต่อต้านความเท่าเทียมกันทางสังคม มุ่งสร้างการเมืองแบบขาวดำ/มิตร-ศัตรู เห็นกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างจากกลุ่มตนเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด
ส่งเสริมและบ่มเพาะค่านิยมแบบคับแคบ



ภาคประชาสังคม กลายเป็น
โรงเรียนบ่มเพาะค่านิยมต่อต้านประชาธิปไตย



ประชาชนเข้าร่วมเป็นฐานทางการเมือง ให้ชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ต่อสู้โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามอย่างดุเดือด ตอกลิ่มการเมืองแบบแบ่งขั้ว
ทำให้ความแตกแยกทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำ
ขยายตัวกลายเป็นความแตกแยกของทั้งสังคมการเมือง
และหยั่งรากลึก จนระบอบประชาธิปไตยเป็นอัมพาตไม่สามารถทำงานต่อไปได้



ตอนจบของละครการเมืองแบบนี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์โลก
คือ ท้ายที่สุด กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองในนามของประชาชนและประชาธิปไตย, ความเป็นระเบียบเรียบร้อย, และข้ออ้างเพื่อยุติวิกฤตของบ้านเมือง ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย (ที่ถูกฉายภาพว่าวุ่นวาย)
และสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นแทนที่



จากการศึกษาของแนนซี เบอร์มิโอ ชี้ว่า
การรัฐประหารในยุคการเมืองมวลชนสมัยใหม่จะไม่มีทางสำเร็จ
หากกองทัพไม่สามารถสร้างพันธมิตร
หรือได้สัญญาณเชื้อเชิญจากกลุ่มการเมือง ที่สำคัญ ในภาคประชาสังคม



ประชาชนไม่ได้เอาใจออกห่างจากระบอบประชาธิปไตยอย่างที่มักเข้าใจกัน
กลุ่มที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการก็ไม่ได้มีฐานสนับสนุนล้นหลามอย่างที่เข้าใจ
การโค่นล้มประชาธิปไตยเกิดขึ้น เพราะมีชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งต้องการโค่นล้มมัน
และพวกเขาประสบความสำเร็จโดยการสร้างพันธมิตรกับผู้นำบางกลุ่ม
ใน "ภาคประชาชน" ให้เคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ของการแตกขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มอำนาจของตน
เข้ามายึดอำนาจและล้มล้างระบอบประชาธิปไตย



เจตจำนงของประชาชนไม่เคยเป็นหนึ่ง และก็มักจะมีมากกว่าสองขั้ว
แต่ชนชั้นนำมักต้องการทำให้สังคมเชื่ออย่างง่ายๆ
โดยไม่ต้องไตร่ตรองว่าเจตจำนงประชาชนมีหนึ่งเดียวและอยู่ข้างตนเสมอ

๑๐

ระบอบประชาธิปไตยอาจจะให้กำเนิดรัฐบาลที่มีหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่น่าพิสมัย
หรือทำงานขาดประสิทธิภาพ กระทั่งใช้อำนาจเกินขอบเขต
แต่ก็ไม่มีวิกฤตอะไรที่ร้ายแรงจนปฏิรูปแก้ไขไม่ได้ด้วยกลไกและสถาบันทางการเมืองภายในระบบ เพราะระบอบประชาธิปไตยเองโดยธรรมชาติ
เป็นระบอบที่ยืดหยุ่น ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อจัดการแก้ไขความขัดแย้ง
และการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ

๑๑

"รัฐบาล" ไม่เท่ากับ "ระบอบ" และก็ไม่มีเหตุผล
ที่เราจะหันไปโหยหาระบอบรัฐประหาร รัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลจากการแต่งตั้ง
หรือระบอบอื่นใดที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง
มีก็แต่ทำให้สังคมการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น
ที่จะเป็นหนทางสู่เสถียรภาพทางการเมืองและออกจากวิกฤตประชาธิปไตย

เดิมทีหลังจากเขียนแนะนำหนังสือว่าด้วยสื่อมวลชนกับความรุนแรง ตั้งใจจะเขียนแนะนำหนังสือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาความรุนแรงต่ออีก 3-4 เล่มว่าด้วยปัญหาการทรมาน, โลกาภิวัตน์ของความกลัวและความรุนแรง, การออกแบบสถาบันการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ ฯลฯ

แต่สถานการณ์การเมืองอันผันผวนในบ้านเราทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเพิ่งอ่านจบไปเมื่อนานนี้ คิดว่าน่าจะสอดคล้องและมีประโยชน์ต่อการขบคิดปัญหาการเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่ จึงขอพักชุดหนังสือว่าด้วยความรุนแรงไปก่อน และลัดคิวเล่มที่ว่าเข้ามาแทน

หนังสือเล่มที่จะแนะนำนี้ มีชื่ออันเก๋ไก๋ว่า "สามัญชนในห้วงเวลาวิกฤต: พลเมืองกับการล่มสลายของประชาธิปไตย(Ordinary People in Extraordinary Times: The Citizenry and the Breakdown of Democracy)"

ผู้เขียนคือ "แนนซี เบอร์มิโอ" ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการอาวุโสของวารสาร World Politics หนึ่งในสามวารสารชั้นนำระดับโลกทางด้านการเมืองเปรียบเทียบ

หนังสือเล่มนี้เมื่อพิมพ์ออกมาในปี 2003 ก็ได้ก่อให้เกิดกระแสการถกเถียงอย่างกว้างขวางในหมู่นักคิดนักวิชาการที่ศึกษาปัญหาการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะปมปัญหาที่ว่า สามัญชนคนธรรมดาทั้งหลายมีบทบาทมากน้อยอย่างไร หรือต้องร่วมรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน ในการทำให้ประชาธิปไตยล้มครืนลง

พูดในภาษากฎหมายก็คือว่า เวลาระบอบประชาธิปไตยไปไม่รอด ถูกรัฐประหาร ยึดอำนาจเปลี่ยนไปเป็นระบอบเผด็จการ (จะโดยทหารหรือพลเรือนก็ตาม) นั้น ประชาชนต้องตกเป็นจำเลยในฐานความผิดก่ออาชญากรรมทำลายประชาธิปไตยด้วยหรือไม่ ถ้าผิด ผิดในฐานะจำเลยหลัก ผู้สมรู้ร่วมคิด หรือถูกจ้างวานกระทั่งถูกหลอกให้กระทำความผิด การถกเถียงในประเด็นนี้ดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน เพราะมีทั้ง "ประชาธิปไตย" และ "สามัญชน" เป็นเดิมพัน

ปราชญ์ทางรัฐศาสตร์บางท่านกล่าวไว้นมนานแล้วว่า ศาสตร์ที่เรียกว่ารัฐศาสตร์นั้น หากสรุปอย่างรวบรัดตัดตอนแล้ว ก็มิใช่อะไรอื่น หากคือการศึกษาว่าด้วยระเบียบและความไร้ระเบียบทางการเมือง (political order and political disorder) ว่าด้วยเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (political stability and political change)

หัวข้อหลักที่ศึกษา นับตั้งแต่ การสร้างรัฐและการล่มสลายของรัฐ การเลือกตั้ง พรรคการเมือง ระบบราชการ รัฐธรรมนูญ การปฏิวัติ รัฐประหาร สงคราม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลุ่มผลประโยชน์และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม อุดมการณ์ทางการเมือง อัตลักษณ์ทางการเมือง ฯลฯ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษามิติต่างๆ ของปริศนาหลักที่ว่าด้วยเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งนักคิดนักทฤษฎีตั้งแต่โบราณพยายามขบคิดหาคำอธิบายที่สอดคล้องต้องตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด

และในบรรดาหัวข้อของการถกเถียงนั้น ไม่มีอะไรร้อนแรงเกินไปกว่า คำอธิบายว่าด้วยกำเนิดและการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย และบทบาทของชนชั้นนำกับสามัญชนในกระบวนการดังกล่าว

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เข้าไปร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว โดยทำการศึกษากรณีการล้มครืนของระบอบประชาธิปไตยใน17 ประเทศ

กรณีศึกษาของหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก คือ กรณีศึกษา 13 ประเทศในยุโรประหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง (1918-1939) ซึ่งเป็นช่วงที่การเมืองยุโรปมีความผันผวนปรวนแปรอย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อันเนื่องมาจากภาวะหลังสงคราม

ตัวเลขที่น่าสนใจคือ หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งใหม่ๆ ระบอบการเมืองในยุโรปเกือบทั้งหมดยังคงเหนียวแน่นกับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (26 ประเทศจาก 28 ประเทศ) ผ่านไปไม่ถึงสองทศวรรษดี ระบอบประชาธิปไตยล้มครืนลงใน13 ประเทศ[1] โดย มีระบอบเผด็จการในรูปแบบต่างๆ สถาปนาขึ้นแทนที่ โดยประวัติศาสตร์และดุลกำลังอำนาจในแต่ละประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนด หน้าตาระบอบเผด็จการของประเทศนั้นๆ (อาทิเช่น เผด็จการโดยการนำของกองทัพ, พันธมิตรระหว่างสถาบันกษัตริย์กับทหาร, หรือเผด็จการของพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง)

กรณีศึกษากลุ่มที่สอง คือ สี่ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 ได้แก่ บราซิล อุรุกวัย ชิลี และอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิภาคดังกล่าวประสบกับปัญหาการถดถอยทางเศรษฐกิจและการเมืองของสงครามเย็น อันนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ปิดฉากด้วยการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ การกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม และทำลายสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน (อันที่จริงแล้วการเมืองไทยเผชิญกับปัญหาคล้ายคลึงกันมากในช่วงเดียวกันนี้) ระบอบเผด็จการทหารที่สถาปนาขึ้นทิ้งมรดกอันลึกซึ้งยาวนานไว้ให้กับสังคม เหล่านี้จนถึงปัจจุบัน

ข้อสรุปทางวิชาการของแนนซี เบอร์มิโอ นั้น น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ก่อนที่จะข้ามไปถึงข้อสรุป ผมอยากจะเล่าให้ฟังก่อนว่า ที่ผ่านมา นักวิชาการเขาถกเถียงเรื่องนี้กันไว้ว่าอย่างไร

สามัญชน ชนชั้นนำ กับการเมืองแบบแตกขั้ว

หากจะให้สรุปอย่างคร่าวๆ เราสามารถแบ่งงานวิชาการที่กล่าวถึงบทบาทของสามัญชนกับประชาธิปไตยได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ ซึ่งงานของ แนนซี เบอร์มิโอ นั้นไม่อยู่ในทั้งสองกลุ่ม หากพยายามจะเชื่อมประสานคำอธิบายของทั้งสองกลุ่มเข้าด้วยกัน

กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มองบทบาทของสามัญชนในฐานะวีรบุรุษของระบอบประชาธิปไตย งานในกลุ่มนี้เฟื่องฟูขึ้นเป็นพิเศษในช่วงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน มีงานวิชาการถูกผลิตออกมาอย่างไม่ขาดสายเพื่อเชิดชูบทบาทของประชาชนและสิ่ง ที่เรียกว่า "ภาคประชาสังคม" (civil society) ซึ่งบางทีก็มีการใช้คำอื่นสลับกันไป อาทิเช่น ภาคพลเมือง ภาคสังคม ภาคประชาชน เป็นต้น

ใจความหลักก็คือว่า การเคลื่อนไหวรวมกลุ่มของประชาชน ซึ่งเป็นอิสระจากรัฐ หรือกระทั่งต่อต้านอำนาจรัฐนั้น เป็นคุณกับประชาธิปไตย ภาคประชาสังคมเป็น "โรงเรียน" บ่ม เพาะคุณค่า จิตวิญญาณ และค่านิยมแบบประชาธิปไตย ทำให้คนตระหนักในความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ลดความเป็นปัจเจก เห็นแก่ตัวน้อยลง และมีจิตใจเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทั้งยังเป็นฐานในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ

สรุปได้ว่า ประชาสังคมและสามัญชนถูกมองว่าเป็นทั้งรากแก้วและหัวใจที่หล่อเลี้ยงให้ประชาธิปไตยยั่งยืน ฐานความคิดของงานในกลุ่มแรกนี้ สามารถสืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงนักปรัชญาอย่าง Alexis de Tocqueville ในงานที่ชื่อว่าDemocracy in America (1835, 1840) ซึ่งอธิบายว่า เหตุที่ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาลงหลักปักฐานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอเมริกา ในขณะที่ล้มเหลวในหลายประเทศในยุโรปนั้น เป็นเพราะว่าอเมริกามีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง พลเมืองเอาการเอางาน ไม่คอยพึ่งรัฐแต่อย่างเดียว

งานในกลุ่มแรกนี้เฟื่องฟูและครองตลาดวิชาการอยู่พักใหญ่ จน "ประชาสังคม" กลายเป็นคำขวัญ เป็นยาสารพัดนึกที่นักการเมือง องค์กรระหว่างประเทศ นิสิต นักศึกษาทั่วไปท่องบ่นเป็นคาถาว่าแก้โรคปวดไข้ทางเศรษฐกิจการเมืองได้ทุกประเภท งานในกลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างสูงและแพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ผ่านงานของนักคิดอย่าง หมอประเวศ วะสี ธีรยุทธ บุญมี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น

ผ่านไปหลายปี เริ่มมีงานวิชาการหลายชิ้นตีพิมพ์ออกมาเพื่อตอบโต้งานในกลุ่มแรกนี้ ซึ่ง แนนซี เบอร์มิโอ เรียกงานในกลุ่มที่สองนี้ว่า การกลับมาของ "อนารยะสังคม" (uncivil society turn)

งานในกลุ่มนี้อธิบายว่า ประชาสังคมไม่ได้เป็นคุณกับประชาธิปไตยเสมอไป นอกจากไม่เป็นคุณแล้ว ในหลายครั้งหลายครากลับเป็นโทษด้วยซ้ำ ฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาสังคมกับประชาธิปไตยจึงไม่ได้เป็นความสัมพันธ์เชิงบวกเสมอไป

ภาคประชาสังคมสามารถกัดเซาะหรือกระทั่งทำลายการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยได้ งานวิจัยในกลุ่มนี้เสนอหลักฐานข้อมูลอันหนักแน่นจำนวนมาก ทั้งในประวัติศาสตร์และในการเมืองร่วมสมัยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่แทนที่ภาคประชาสังคมจะสนับสนุนค้ำจุนประชาธิปไตย กลับบั่นทอนและช่วยทำลายมันเสียด้วยการสนับสนุนอุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองแบบอำนาจนิยมหรือชนชั้นนำนิยม ต่อต้านความเท่าเทียมกันทางสังคม มุ่งสร้างการเมืองแบบขาวดำ/มิตร-ศัตรู เห็นกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างจากกลุ่มตนเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด ปล่อยให้อยู่ร่วมสังคมการเมืองเดียวกันไม่ได้ ส่งเสริมและบ่มเพาะค่านิยมแบบคับแคบรังเกียจเดียดฉันท์คนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจากกลุ่มตน เช่น ความคิดคลั่งชาติ ศาสนา และสีผิว เป็นต้น

ที่สำคัญ มุ่งใช้วิธีการที่เน้นการปะทะเผชิญหน้า แตกหัก และมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงหรือไม่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงเป็นทางออก กลุ่มเหล่านี้มีอยู่มากมายเต็มไปหมดทั้งในประเทศตะวันตกและกลุ่มประเทศอื่นๆ เช่น กลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาและเชื้อชาติ กลุ่มนีโอนาซี กลุ่มต่อต้านชนกลุ่มน้อยและผู้อพยพ กลุ่มแอนตี้เกย์ หรือกระทั่งกลุ่มที่รวมตัวกันในนามที่ดูเหมือนไม่มีพิษภัย เช่น กลุ่มสมาคมการค้า (โดยเฉพาะในละตินอเมริกา) แต่มีจุดประสงค์เบื้องหลังเพื่อทำลายการเคลื่อนไหวของขบวนการชาวนาและกรรมกร และขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของพวกตน

กล่าวในภาษาที่ล้อกับงานกลุ่มแรก ก็คือว่า ภาคประชาสังคมกลายเป็นโรงเรียนบ่ม เพาะค่านิยมต่อต้านประชาธิปไตยไปเสีย การตระหนักถึงบทบาทด้านลบของภาคประชาสังคม ทำให้นักวิชาการจำนวนมากเสนอว่า เราต้องไม่ไปโฟกัสอยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับสังคมเท่านั้น เพราะในภาคสังคมเองก็มีความขัดแย้งแตกแยกและมีการต่อสู้อย่างรุนแรง

ภาคประชาสังคมไม่ใช่กลุ่มก้อนที่มีความกลมกลืนสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การอ้างความเป็นประชาชนและภาคประชาสังคมจึงไม่ได้ทำให้กลุ่มองค์กรหนึ่งๆ มีความชอบธรรมทางการเมืองโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ เพราะเงินทุน เครือข่ายกำลังคนและทรัพยากรทางการเมืองขององค์กรในภาคประชาสังคมอาจถูกใช้เป็นฐานสนับสนุนวาระทางการเมืองแบบชนชั้นนำนิยมหรือเผด็จการก็ได้

ฉะนั้น เวลาพิจารณาภาคประชาสังคม เราไม่สามารถดูที่ปริมาณอย่างเดียว หากต้องดูที่คุณภาพของภาคประชาสังคมด้วยว่า เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยหลักคิดชี้นำทางการเมืองที่ส่งเสริมคุณค่าแบบประชาธิปไตย หรือว่ามุ่งปลุกปั่น โฆษณาชวนเชื่อ ปลุกเร้าอารมณ์เกลียดชังทางการเมือง ลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงกันข้าม และยั่วยุให้เกิดความรุนแรง[2]

แนนซี เบอร์มิโอ ชี้ว่า งานในกลุ่มอนารยะสังคมนี้ ทำให้ประชาสังคมมีภาพพจน์ที่กำกวมมากขึ้น จนมันไม่ได้ถูกมองว่าเป็นยาสารพัดโรคหรือเป็นวีรบุรุษประชาธิปไตยอีกต่อไป กระทั่งมีการเสนอว่าประชาสังคมและสามัญชนเล่นบทเป็นผู้ร้ายในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตด้วยซ้ำ โดยบทผู้ร้ายนี้ดำเนินไปในสองแบบด้วยกัน

หนึ่ง ในยามที่สังคมมีการแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่ม ถึงจุดที่ทั้งสองกลุ่มไม่ยอมประนีประนอมกันอีกต่อไป หากมุ่งเอาชนะคะคานกันให้แตกหักไปข้างหนึ่ง ประชาชนเข้าร่วมเป็นฐานทางการเมือง ให้ชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต่อสู้โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามอย่างดุเดือด ตอกลิ่มการเมืองแบบแบ่งขั้ว ทำให้ความแตกแยกทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำขยายตัวกลายเป็นความแตกแยกของ ทั้งสังคมการเมือง และหยั่งรากลึก จนระบอบประชาธิปไตยเป็นอัมพาตไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ภาวะดังกล่าวอาจขยายตัวไปเป็นภาวะสงครามกลางเมือง

สอง ในห้วงเวลาวิกฤตทางเศรษฐกิจการเมือง สามัญชนและประชาชนเกิดความผิดหวังเบื่อหน่ายต่อระบอบประชาธิปไตย เหมารวมเอาว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (ไม่ใช่แค่เฉพาะคณะรัฐบาล) เป็นต้นเหตุทั้งมวลของปัญหา จนไม่มีคุณค่าที่จะต้องรักษาไว้เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ และหันไปเรียกร้องให้กลุ่มการเมืองเผด็จการเข้ามาปกครองบ้านเมืองด้วยความ เข้มแข็งเฉียบขาด

ตอนจบของละครการเมืองแบบนี้ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์โลก คือ การที่ท้ายที่สุดกองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองในนามของ "ประชาชนและประชาธิปไตย" "ความเป็นระเบียบเรียบร้อย" และข้ออ้างเพื่อยุติวิกฤตของบ้านเมือง ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย (ที่ถูกฉายภาพว่าวุ่นวาย) และสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นแทนที่

ในกรณีที่สองนี้ สามัญชนเล่นบทเป็นผู้เชื้อเชิญให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งจากการศึกษาของแนนซี เบอร์มิโอ ชี้ให้เห็นว่าการรัฐประหารในยุคการเมืองมวลชนสมัยใหม่จะไม่มีทางสำเร็จ หากกองทัพไม่สามารถสร้างพันธมิตรหรือได้สัญญาณเชื้อเชิญจากกลุ่มการเมือง ที่สำคัญในภาคประชาสังคม ทฤษฎีที่อธิบายบทบาทของสามัญชนในสถานการณ์เช่นนี้ มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า ทฤษฎี (ประชาชน) เอาใจออกห่าง (จากประชาธิปไตย) สะท้อนอารมณ์ผิดหวังอกหักของนักคิดที่ฝากความหวังไว้กับสามัญชนในการเป็น ปราการด้านสุดท้ายของประชาธิปไตย

หนังสือของแนนซี เบอร์มิโอ มีข้อสรุปที่เห็นต่างจากทั้งสองกลุ่ม เธอไม่เห็นประชาชนและประชาสังคมเป็นวีรบุรุษแบบงานในกลุ่มแรก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ถึงกับเห็นพวกเขาเป็นผู้ร้ายของระบอบประชาธิปไตยตามแบบงานกลุ่มที่สอง

เธออธิบายว่างานในกลุ่มที่สองนั้นมีส่วนถูก แต่ถูกเพียงบางส่วน แนนซีเสนอข้อถกเถียงว่า ตัวละครที่มีบทบาทหลักทำให้ประชาธิปไตยล่มสลายลงในทั้ง 17 ประเทศที่เธอศึกษา คือ ชนชั้นนำ มากกว่าที่จะเป็นประชาชน

ประชาชนนั้นมีส่วนทำให้การเมืองมีความผันผวน แตกแยก และแบ่งขั้ว จนกระทั่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นอัมพาตหรือล่มสลายลงได้จริง แต่บทบาทของประชาชนนั้นเป็นเพียงบทตัวประกอบหรือผู้แสดงสมทบเท่านั้น และจากการค้นคว้าของเธอพบว่า ประชาชนไม่ได้เอาใจออกห่างจากระบอบประชาธิปไตยอย่างที่มักจะเข้าใจกัน และกลุ่มที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการก็ไม่ได้มีฐานสนับสนุนล้นหลามอย่างที่เข้าใจด้วย การโค่นล้มประชาธิปไตยเกิดขึ้น เพราะมีชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งต้องการโค่นล้มมัน และพวกเขาประสบความสำเร็จโดยการสร้างพันธมิตรกับผู้นำบางกลุ่มใน "ภาคประชาชน"ให้เคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ของการแตกขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มอำนาจของตนเข้ามายึดอำนาจและล้มล้างระบอบ ประชาธิปไตย

การแบ่งขั้วเทียม และมติมหาชนในจินตนาการ

งานวิชาการก่อนหน้านี้ที่ศึกษาการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยในยุโรปและละติน อเมริกา เสนอว่าความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง นำไปสู่การล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย แนนซี เบอร์มิโอ เสนอคำอธิบายใหม่ว่า การแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองนั้นมีอยู่จริง แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่กว้างขวางและลงรากลึกอย่างที่เราถูกทำให้เชื่อ หากเป็นการแตกแยกแบ่งขั้วที่ถูกสร้างขึ้นอย่างจงใจและอย่างบิดเบือน (constructed and distorted polarization) เป็นการแบ่งขั้วเทียมๆ ที่ถูกขยายผลให้ดูเสมือนจริงโดยชนชั้นนำที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาไปเป็นระบอบอื่น

ในประวัติศาสตร์ยุโรป ชนชั้นนำกลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มนิยมเจ้า พรรคการเมืองฝ่ายขวา กองทัพ หรือกลุ่มการเมืองในภาคประชาสังคมที่มีอุดมการณ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ซึ่งต่างเห็นว่าพวกตนสูญเสียอำนาจจากกฎกติกาทางการเมืองที่ดำรงอยู่ และไม่สามารถเข้าไปแข่งขันภายใต้กติกานี้ เป้าหมายสุดท้ายทางการเมืองที่พวกเขาต้องการคือ การล้มกระดานและสร้างกฎกติกาชุดใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนำ อภิสิทธิ์

ตัวละครการเมืองเหล่านี้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายหลวมๆ ที่อาจจะเรียกว่า พันธมิตรเพื่อการรัฐประหาร (coup coalition) ความแตกแยกแบ่งขั้วที่จริงๆ แล้วจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือประชากรกลุ่มหนึ่ง ถูกขยายผลจากเครือข่ายนี้ให้สาธารณชนและชนชั้นนำกลุ่มอื่นเข้าใจว่า ประเทศ ได้เดินมาถึงจุดวิกฤตที่ไม่อาจเยียวยาและแก้ไขได้ด้วยกฎกติกาและสถาบัน การเมืองภายในระบอบประชาธิปไตย เพราะความแตกแยกนี้หยั่งรากลึกไปทั้งสังคม รอยร้าวไม่อาจประสานได้ ความขัดแย้งอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยกลไกรัฐ บ้านเมืองกำลังจะลุกเป็นไฟหรือเข้าสู่สภาพอนาธิปัตย์

ภาพการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรงเช่นนี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อลดทอนความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย และสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจของพันธมิตรเพื่อการรัฐประหาร ผ่านวิถีทางนอกกติกาประชาธิปไตย

ที่สำคัญและน่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำกลุ่มอื่นที่อยู่นอกเครือข่ายการรัฐประหารก็มีส่วนรับผิดชอบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อการสร้างวิกฤตการเมืองและทำให้ประชาธิปไตยต้องจบชีวิตลงด้วย โดยการเดินหมากทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยง ผิดพลาด และขาดความรับผิดชอบ เช่น การที่ผู้นำรัฐบาลตัดสินใจใช้ความรุนแรงนอกขอบเขตของกฎหมายกับการเคลื่อนไหวของสมาชิกในเครือข่ายรัฐประหาร เข้าไปแทรกแซงกองทัพโดยไม่มีเหตุจำเป็น ไม่พยายามแก้ไขปัญหาบ้านเมืองแต่กลับไปหมกมุ่นกับการจับผิดและเล่นงานฝ่าย ตรงกันข้าม รวมถึงการนิ่งเฉยดูดายกับการเคลื่อนไหวที่รุนแรงและละเมิดกฎหมายของเครือข่ายรัฐประหาร

ชนชั้นนำในพรรคการเมืองนอกเครือข่ายรัฐประหารก็เป็นอีกตัวละครหลักที่อาจทำ ให้สถานการณ์บานปลายมากขึ้น ด้วยการโดดเดี่ยวรัฐบาล หันไปจับขั้วเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับเครือข่ายรัฐประหารแทนที่จะโดดเดี่ยวพวกเขา ทำให้ดุลพลังอำนาจเปลี่ยนและไปสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารเสียเอง พูดง่ายๆ ว่า ในสถานการณ์วิกฤต ชนชั้นนำฝ่ายต่างๆ โหมกระพือความแตกแยก (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) และสมทบส่วนกันไปมาในการขันเกลียวแห่งความขัดแย้งจนแน่นไปถึงจุดที่คลี่ คลายไม่ได้

ผู้เขียนสนับสนุนข้อถกเถียงดังกล่าวด้วยการศึกษาประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมจาก 17 กรณีศึกษาตั้งต้น โดยศึกษาประเทศที่ประชาธิปไตยไม่ล่มสลายลงแม้ว่าสังคมนั้นจะเผชิญกับความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมือง

เธอพบว่าทัศนคติบวกกับการตัดสินใจทางการเมืองอันถูกต้องของชนชั้นนำทางการเมือง มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยประคับประคองสถานการณ์วิกฤตให้ผ่านพ้นไปได้ กล่าวคือ กองทัพไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองตามคำเชื้อเชิญของเครือข่ายรัฐประหาร หรือปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย รัฐบาลไม่ตัดสินใจบุ่มบ่ามผลีผลาม หากยึดมั่นกับการบังคับใช้กฎหมายกับทุกกลุ่มการเมืองอย่างเสมอภาคกัน และผู้นำพรรครัฐบาลไม่โอนเอียงไปสนับสนุนวาระทางการเมืองแบบสุดโต่งของ เครือข่ายรัฐประหาร

เธอเสนอว่า ที่เราต้องสนใจชนชั้นนำเป็นพิเศษ ก็เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่ในทุกประเทศที่เธอศึกษาไม่ได้เอาใจออกห่างจากระบอบประชาธิปไตย และหันไปสนับสนุนกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงอย่างที่เข้าใจ เครือข่ายเพื่อการรัฐประหารมีฐานสนับสนุนน้อยกว่าที่คิดมาก เพียงแต่ประสบความสำเร็จในการปลุกปั่นกระแสในพื้นที่สาธารณะและกลบเสียงของ กลุ่มอื่นๆ ทั้งด้วยกลไกการโฆษณาชวนเชื่อและการใช้ความรุนแรง

ข้อสรุปสำคัญจากงานชิ้นนี้ก็คือ สภาพของความแตกแยกแบ่งขั้วในสังคม มักจะถูกขยายความเกินจริงเสมอ และมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากภาพการเมืองที่บิดเบี้ยวนี้ เราต้องระมัดระวังที่จะไม่อ่านสถานการณ์การเมืองบนฐานข้อมูลที่ถูกปลุกปั่น

แนนซี เบอร์มิโอ เสนอว่า ในสถานการณ์วิกฤต ทุกฝ่ายต่างอ้างว่ากลุ่มตนเป็นตัวแทนที่แท้จริงของเจตจำนงประชาชน ปัญหาคือ เจตจำนงของประชาชนไม่เคยเป็นหนึ่งและก็มักจะมีมากกว่าสองขั้ว แต่ชนชั้นนำมักต้องการทำให้สังคมเชื่ออย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องไตร่ตรองว่าเจตจำนงประชาชนมีหนึ่งเดียวและอยู่ข้างตนเสมอ ในโลกแห่งความเป็นจริงทางการเมือง ไม่แปลกอะไรเลยที่เราจะพบว่า เจตจำนงของประชาชนแตกออกเป็นหลายขั้ว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประเด็นทางการเมืองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง ประชาชน ไม่ได้ยึดติดอยู่กับขั้วใดขั้วหนึ่งอย่างถาวร

จากการศึกษาของเธอ พบว่ามีกรณีตัวอย่างนับไม่ถ้วนที่ประชาชนคนหนึ่งลงคะแนนเสียงในประชามติเกี่ยว กับกฎหมายฉบับสำคัญไปทางหนึ่ง พอถึงเวลาเลือกตั้งกลับออกเสียงไปอีกทางหนึ่ง ร้ายไปกว่านั้นเมื่อพรรคการเมืองที่เขาเลือกเข้ามาเองมีนโยบายที่เขาไม่เห็นด้วย เขาก็ออกไปบนท้องถนนร่วมกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลด้วย

คำถามใหญ่คือ เราจะประเมินมติมหาชนอย่างไร แนนซีเสนอว่า มติมหาชนสามารถปรากฏตัวในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนน ในคูหาเลือกตั้ง ในโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในหนังสือพิมพ์ หรือในสภากาแฟ ปัญหาก็คือ ความแตกแยกแบ่งขั้วที่ปรากฏบนท้องถนนมักจะส่งเสียงดังกลบมติมหาชนในพื้นที่อื่นๆ เพราะเห็นชัดกว่า ตื่นเต้นเร้าใจกว่า ทำให้ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ ในขณะที่เสียงของประชาชนในพื้นที่อื่นๆ มักจะถูกละเลย กลายเป็นเสียงที่ไม่ได้ยิน และดังนั้นจึงไม่ถูกนับรวมเข้ามาในการคิดคำนวณทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ สรุปก็คือ การแบ่งขั้วเทียม และ มติมหาชนในจินตนาการ ที่ ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ของฝ่ายชนชั้นนำเพื่อการ รัฐประหาร

งานของเธอจึงเสนอว่า เราต้องสร้างช่องทางอันหลากหลายให้เสียงของประชาชนได้ปรากฏตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาผูกขาดความเป็นเจ้าของเจตจำนงประชาชน นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนท้องถนนควรถูกประเมินอย่างจริงจัง รอบคอบ และไม่ผลีผลามที่จะถูกด่วนสรุปว่าเป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชนทั้งสังคม

สงครามครั้งสุดท้าย?

หนังสือเล่มนี้จุดประเด็นมากมายให้เราได้ขบคิด ประการแรกสุดเลยก็คือ สังคมไทยไม่ใช่สังคมแรกและไม่ใช่สังคมเดียวที่เผชิญกับความผันผวนและความสับสนอลหม่านของระบอบประชาธิปไตย ประเทศอื่นในโลกต่างเผชิญกับปัญหานี้มาแล้วมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป หลายประเทศประสบความสำเร็จในการประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตยอยู่รอดต่อไปได้ท่ามกลางอุปสรรคนานัปการ ในขณะที่หลายประเทศล้มเหลว

ทั้งชนชั้นนำและสามัญชน ต่างมีบทบาทสำคัญที่อาจจะช่วยค้ำจุนหรือช่วยกัน ทำลายประชาธิปไตยก็ได้ บทเรียนจากประเทศอื่นน่าจะเป็นกระจกส่องสะท้อนให้เรามีมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้นกับปัญหาที่เราเผชิญอยู่

แน่นอนว่าระบอบ ประชาธิปไตยอาจจะให้กำเนิดรัฐบาลที่มีหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่น่าพิสมัย หรือทำงานขาดประสิทธิภาพ กระทั่งใช้อำนาจเกินขอบเขต แต่ก็ไม่มีวิกฤตอะไรที่ร้ายแรงจนปฏิรูปแก้ไขไม่ได้ด้วยกลไกและสถาบันทางการเมืองภายในระบบ เพราะระบอบประชาธิปไตยเองโดยธรรมชาติเป็นระบอบที่ยืดหยุ่น ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อจัดการแก้ไขความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ

มีเหตุผลที่เข้าใจได้หลายประการ ที่เราจะรักประชาธิปไตยน้อยลง เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของรัฐบาลต่างๆ ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่รัฐบาลไม่เท่ากับระบอบ และก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะหันไปโหยหาระบอบรัฐประหาร, รัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลจากการแต่งตั้ง หรือระบอบอื่นใดที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง มีก็แต่ทำให้สังคมการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น ที่จะเป็นหนทางสู่เสถียรภาพทางการเมืองและออกจากวิกฤตประชาธิปไตย

ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสงครามครั้งสุดท้ายในสังคมการเมืองประชาธิปไตย มีแต่การต่อสู้ต่อรองอันถาวรของผลประโยชน์และความคิดเห็นที่แตกต่าง ภาษาของสงครามเป็นสิ่งที่ไปกันไม่ได้กับการเมืองแบบประชาธิปไตย เพราะตรรกะของสงครามบดบังจินตนาการในการแก้ปัญหาด้วยวิถีทางสันติ ผลักไสให้เราใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน ให้เลือดตกยางออก ตายตกตามกัน จนรู้ผลแพ้ชนะกันไปข้างหนึ่ง เห็นความต่างเป็นศัตรูหรือไส้ศึกที่ต้องกำจัด ในขณะที่ตรรกะของประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เราแก้ปัญหาโดยสันติ เพราะมันไม่ใช่การเมืองของความแตกหัก หากคือการเมืองของการโน้มน้าว จูงใจ ต่อรอง เจรจา ภายใต้กรอบกติกาที่ออกแบบอย่างรอบคอบและเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขได้ตาม สถานการณ์ ไม่มีผู้ชนะและผู้แพ้อันถาวร มีแต่ผู้ชนะและผู้แพ้ชั่วคราว ไม่มีศัตรูและข้าศึก เพราะทุกคนต่างเป็นสมาชิกร่วมสังคมเดียวกันหากแต่มีความคิดเห็นและผลประโยชน์อันแตกต่าง

จากประสบการณ์ของประเทศอื่น การแบ่งขั้วทางการเมืองที่อยู่บนฐานของความเกลียดชัง ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยเครือข่ายเพื่อการรัฐประหาร เป็นสิ่งที่ต้องหยุดยั้งก่อนที่ประชาธิปไตยไทยจะตกหล่มอีกรอบหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ชวนให้เราตระหนักว่า ขั้วการเมืองในสังคมประชาธิปไตย มักมีมากกว่าสองขั้วเสมอ เพราะประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้เราใช้เสรีภาพตัดสินใจในประเด็นปัญหาต่างๆ อันมากมายเกินกว่าที่เราจะไปเห็นด้วยกับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งไปเสียทุกเรื่อง

สังคมไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เช่น เราอาจจะเห็นร่วมกันในประเด็นสิทธิบัตรยา แต่เห็นต่างกันในประเด็นการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ เห็นร่วมกันในแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ แต่เห็นต่างกันในกรณีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทางการเมือง

มาถึง ณ จุดนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะทบทวนกันอย่างจริงจังว่า ที่เราบอกว่าสังคมไทยแตกออกเป็นสองขั้วนั้น สองขั้วจริงกระนั้นหรือ? และสองขั้วที่ว่านั้น เห็นต่างกันอย่างคอขาดบาดตายในเรื่องอะไรหรือ? อะไรเป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้งที่ถึงกับทำให้เราโกรธเกลียดกันจนอยู่ร่วมสังคมเดียวกันไม่ได้?

หรือเอาเข้าจริง ความแตกแยกแบ่งขั้วที่ว่า เป็นการต่อสู้ของชนชั้นนำสองฝ่าย ที่ต้องการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์กันใหม่ โดยอาศัยการเคลื่อนไหวประชาชนเป็นฉากกำบังสร้างความชอบธรรมให้กับตน โดยเฉพาะการใช้สถานการณ์ความแตกแยกปูทางไปสู่การรัฐประหาร โดยไม่รู้คำตอบที่ถามไปข้างต้น

ผมได้แต่เสนอเอาเองเป็นตุ๊กตาว่า หากจะมีปัญหาอะไรที่ต้องการการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง ผมคิดว่ามันคือ1) การจัดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ และรัฐบาลพลเรือน 2) การจัดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ 3) การปฏิรูประบบเลือกตั้งและระบบพรรคการเมือง 4) การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และ 5) การจัดโครงสร้างรัฐใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้

ผมเชื่อว่าสังคมไทยคงจะมีความเห็นแตกต่างกันมากมายในประเด็นเหล่านี้ และความต่างในแต่ละประเด็นนั้นคงจะมีเกินกว่าสองขั้ว ปัญหาเหล่านี้ต้องการการถกเถียงแลกเปลี่ยน ขบคิด อภิปราย เจรจา ต่อสู้ ต่อรองและทะเลาะกันอย่างไม่รู้จบจากทุกภาคส่วนของสังคม บนพื้นที่ทางการเมืองอันหลากหลาย ที่แน่นอนคือว่า มันไม่อาจยุติลงได้ด้วยการประกาศสงครามครั้งสุดท้ายบนท้องถนน

เชิงอรรถ

[1] 13 ประเทศ ดังกล่าวคือ ออสเตรีย บัลแกเรีย เอสโทเนีย เยอรมนี กรีซ อิตาลี ลัทเวีย ลิธัวเนีย โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สเปน และ ยูโกสลาเวีย

[2] สำหรับคนที่สนใจรายละเอียดของงานในกลุ่มนี้เพิ่มเติม ขอให้ดู Sheri Berman, "Civil Society and the Collapse of the <?xml:namespace prefix = st1 ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:smarttags" />Weimar Republic,"World Politics 49: 3 (1997) ในกรณีเยอรมัน และ Leigh Payne, Uncivil Movements: The Armed Right Wing Movement and Democracy in Latin America (Johns Hopkins University Press, 2000) ในกรณีละตินอเมริกา.


10 ประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด





10 อันดับประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด Top 10 sources of plastic marine debris


ที่มา Green Peace
เมษายน 28, 2560

รู้หรือไม่!! จากรายงานระบุว่า ประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ทิ้งขยะลงทะเลรวมกันคิดเป็นกว่า 60% ของขยะพลาสติกทั้งหมดที่ถูกปล่อยลงทะเลทั่วโลก

ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซี่ง เป็นประเทศที่มีการใช้พลาสติกสูงที่สุดของโลกด้วย 

ประเทศไทยที่มีประชากรเพียง 65 ล้านคนติดอันดับที่ 6 ของประเทศปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทร แซงหน้าประเทศที่มีประชากรหนาแน่นกว่า 1,000 ล้านคนอย่างอินเดียเสียอีก 

โดยอินเดียอยู่ในอันดับ 12 

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาปล่อยขยะลงสู่ทะเลเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ทั้งที่สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีประชากรตามชายฝั่งทะเลหนาแน่น

มีหลักฐานว่าทหารในหลายที่ในโลกโกง... ทหารที่ทำรัฐประหารต้านโกงก็โกง





ทหารที่ไหนโกง? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


ที่มา มติชนออนไลน์
15 ธันวาคม พ.ศ. 2558


คําตอบง่ายๆ คือ มีหลักฐานว่าทหารในหลายที่ในโลกโกงครับ ส่วนทหารไทยอันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ

อยากจะนำตัวอย่างทหารที่โกงมาให้เห็นสักสามประเทศ/กลุ่มพื้นที่ในโลกให้เห็นว่า เวลาเขาโกงเขาโกงอย่างไร และเสียหายแค่ไหน

1.ทหารจีนโกง: ได้รับการยืนยันจากสำนักข่าวซินหัว ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาลจีนเองว่า ในปีนี้มีกรณีอื้อฉาวใหญ่มากเรื่องมีบุคคลชั้นสูงในกองทัพโกง จนเกิดการจัดการและเรื่องราวมากมาย ที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองด้วย

ในรายงานของนิตยสาร The Diplomat ที่อ้างอิงมาจากสำนักข่าวซินหัว (With Latest Ouster, China Steps Up Fight Against Corruption: 31 July 2015) ได้รายงานว่า มีการขับ หลิงจิงหัว คนสนิทของอดีตประธานาธิบดี หูจิงเถ่า ออกจากพรรค และสืบวันต่อมาก็ขับ นายพล เกาโบเซียว (Gua Boxiong) ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง (Central Military Commission) ในช่วง 2002 ถึง 2012 และทั้งสองคนนี้กำลังถูกสอบสวนเรื่องการคอร์รัปชั่น

เรื่องใหญ่ก็มาจากว่า ลูกของนายพลเกานั้นติดโผนายพล 14 คน ที่กำลังถูกสอบสวนเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งถ้าลูกทำแบบนี้ก็เป็นสัญญาณที่พ่อจะโดนด้วย

การขับนายพลเกาออกจากพรรค เป็นการตัดสินใจของคณะกรมการเมือง หรือคณะผู้ตัดสินใจหลักของพรรค ภายหลังจากได้รับรายงานในเรื่องของการสอบสวนมาจากกรรมาธิการทหารว่า นายพลเกากระทำการขัดวินัยทหาร และสร้างความเสียหายให้แก่องค์กร โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่านายพลเการับสินบน และหาประโยชน์จากการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ภายใต้อำนาจของตน

เรื่องราวยังกับสึนามิพัดกระหน่ำกองทัพจีน เพราะนายพลซู (Xu Caihou) ซึ่งมีตำแหน่งเท่ากับนายพลเกา (2004-2012) และเป็นมือไม้ของยุคสี จิ้นผิงอีกคนก็โดนขับออกจากพรรค แต่ได้เสียชีวิตเสียก่อนจะมีการดำเนินคดี ดังนั้น ว่าง่ายๆ ก็คือนายพลที่มีอำนาจสูงสุดในยุคที่แล้วคือ นายพลเกา และนายพลซู ถูกกล่าวหาและขับออกจากพรรคและกองทัพด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น และการผิดวินัยทหาร

เหตุการณ์ที่นายพลเกาโดนดำเนินคดี เกิดขึ้นหลังจากไม่กี่วันที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ออกแถลงถึงการเอาจริงเอาจังในการจัดการคอร์รัปชั่น และกลับไปสู่ประเพณีที่ดีงามของการเป็นกองทัพแดง ที่ทำงานภายใต้ร่มธงของพรรคคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับยุคปฏิวัติ

ทำไมเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่นในจีนถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะในประเด็นของการคอร์รัปชั่นในกองทัพ? คำตอบก็คือผู้นำทางการเมืองของจีนเห็นว่า การคอร์รัปชั่นนั้นเป็นการท้าทายต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะในกรณีการคอร์รัปชั่นในกองทัพนั้น มันยิ่งเป็นการที่ยักยอกเอางบประมาณไปเข้ากระเป๋านายพลบางคน และเป็นการไปสัญญิงสัญญากับพวกนายทหารที่มีปัจจัยมากกว่าพวกที่มีความสามารถในการเลื่อนขั้น และในภาพรวมแล้วทำให้เกิดปัญหาในวินัยของทหาร

นอกจากนั้นแล้วการคอร์รัปชั่นในหมู่ทหารยังสร้างปัญหาที่ตามมาที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายความภักดีกับนายทหารบางคนเป็นพิเศษ แทนที่จะทำให้ทหารภักดีต่อการนำของพรรค ดังนั้นการต่อต้านการคอร์รัปชั่นในกองทัพเป็นเรื่องที่สำคัญมากของจีน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติ แต่ยังหมายถึงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับกองทัพด้วย เพราะในระบอบคอมมิวนิสต์ พรรคจะต้องอยู่เหนือกองทัพ

โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีนยืนยันว่า การรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นในกองทัพเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นการขจัดความสกปรกออกจากสิ่งแวดล้อมของทหาร และจะช่วยให้ทหารมีความสามารถมากขึ้น และที่สำคัญนี่คือภารกิจที่สำคัญลำดับแรกของกองทัพนั่นก็คือ การปรับปรุงเรื่องของอุดมการณ์ให้ชัดเจนขึ้น

2.ทหารตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือโกง: ข้อมูลชุดนี้มาจากองค์กรที่รณรงค์เรื่องความโปร่งใสของโลก นั่นก็คือ Transparency International (29 October 2015 - Mideast and North African Military Corruption "Critical") ที่ชี้ให้เห็นการคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารของประเทศในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ว่าการคอร์รัปชั่นไม่ได้กระทำได้ง่ายๆ หากปราศจากการช่วยเหลือของ อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และรัสเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้ขายอาวุธให้กับประเทศในภูมิภาคดังกล่าว โดยปราศจากการควบคุมตรวจสอบที่ดี และนอกเหนือจากการขายอาวุธเหล่านี้จะทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นแล้ว ยังทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคทวีความรุนแรงมากขึ้น และทำให้ทหารแต่ละกลุ่มแตกแยกกัน รวมทั้งเร่งให้เกิดบรรดาขบวนการต่อต้านหัวรุนแรง ที่ลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลด้วย

เรื่องที่น่าสนใจก็คือในข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินี้ ได้ชี้ว่าระดับของการคอร์รัปชั่นมีสูง และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการใช้จ่ายด้านการทหาร และการขาดการตรวจสอบการจัดการด้านงบประมาณ โดยเฉพาะในแง่ของการนำเอางบประมาณทหารไปใช้ตามความต้องการที่แท้จริงในทางยุทธศาสตร์ มีอยู่หลายกรณีที่อาวุธนั้นถูกนำไปซื้อขายต่อและลักลอบข้ามแดน รวมไปถึงความรุนแรงและความชอบธรรมของรัฐบาลที่ลดลง

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินี้เรียกร้องให้ประเทศผู้ค้าอาวุธให้กับประเทศเหล่านี้ควรจะตรวจสอบรัฐบาลในประเทศให้ดี อาทิ กรณีของตะวันออกกลาง ข้อมูลชี้ว่างบประมาณในพื้นที่นี้ในแง่ของงบลับมีมากกว่าหนึ่งในสี่ของงบลับทั่วโลก และการคอร์รัปชั่นเช่นนี้จะส่งผลให้ความมั่นคงในระดับนานาชาติมีความเสี่ยงมากขึ้น ประเด็นที่สำคัญในเรื่องนี้ไม่ใช่อยู่ที่แค่ปริมาณเงิน เพราะในพื้นที่ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ แม้ว่าจะใช้เงินด้านการทหารเพียงร้อยละ 7.6 แต่เมื่อมองว่างบพวกนี้เป็นงบลับ พวกเขาใช้งบทหารเป็นงบลับมากกว่าถึงหนึ่งในสี่ของงบลับของโลกดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

อย่างในกรณีของอียิปต์ งบประมาณทหารเป็นงบลับมาโดยตลอด

นอกจากนั้นแล้ว ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือในประเทศตะวันออกกลางในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ได้เพิ่มงบประมาณด้านอาวุธถึงร้อยละ 71 และประเด็นในเรื่องของงบลับนี้ที่สำคัญก็คือ มันจะไม่ผ่านการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรเอาเสียเลย เว้นแต่ประเทศเล็กๆ ที่ยังต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ได้แก่ จอร์แดน และตูนิเซีย

ที่จะลืมเสียไม่ได้ก็คือ อเมริกาและประเทศในยุโรปที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว เป็นผู้ให้การสนับสนุนเรื่องอาวุธกับประเทศในตะวันกลางเป็นอย่างมาก และทำให้บางประเทศในตะวันกลางเอาเงินมาแลกซื้ออาวุธอย่างมโหฬาร เช่นซาอุดีอาระเบีย และอาจเกิดกรณีที่ทหารในประเทศเหล่านั้นยังไม่มีความพร้อมจะใช้อาวุธ หรือกระทั่งการที่ประเทศที่ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและอาวุธจากอเมริกาอย่างเยเมน ยังพยายามที่จะหล่อเลี้ยงความขัดแย้งและภัยคุกคามเอาไว้ เพื่อขอการสนับสนุนเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ และสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาภายในเยเมนเองในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือการปล้นอาวุธหรือยึดอาวุธไปใช้เมื่อฝ่ายต่อต้านสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ ดังในกรณีเยเมนและในกรณีอื่นๆ ก็คือ หากรัฐบาลไม่มีความชอบธรรมในสายตาประชาชนแล้ว แต่เงินและอาวุธยังถูกส่งหรือขายให้รัฐบาลเหล่านี้ ก็จะยิ่งเติมเชื้อไฟแห่งความไม่พอใจของประชาชนที่จะลุกฮือขึ้นมาต้านรัฐบาลเหล่านั้นมากขึ้น

3.ทหารที่ทำรัฐประหารต้านโกงก็โกง: มีรายงานการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของอาจารย์ท่านหนึ่ง (รายงานยังอยู่ในขั้นตอนที่ยังไม่ได้เปิดเผย/ตีพิมพ์) ท่านชี้ให้เห็นถึงประเทศแห่งหนึ่งที่ขอสงวนชื่อเอาไว้ โดยท่านชี้ว่าแม้ว่ากองทัพจะอ้างว่าจะทำรัฐประหารเพื่อต้านโกง แต่เอาเข้าจริงกองทัพไม่ได้ต้านคอร์รัปชั่นอย่างจริงๆ จังๆ มิหนำซ้ำยิ่งอยู่ในอำนาจในฐานะคณะรัฐประหารแล้ว ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านการคอร์รัปชั่นเลวร้ายไปอีก ผ่านการเข้าไปแทรกแซงงบประมาณด้านการทหาร ด้วยการสร้างสถานการณ์การลวงตาประชาชนโดยส่งคนของตัวเองเข้าไปนั่งในตำแหน่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดงบประมาณและใช้อำนาจ นักวิชาการท่านนี้เชื่อว่าการสร้างความบิดเบือนในแง่ของงบประมาณอันเนื่องมาจากการเข้ามาแทรกแซงของกองทัพนี้นำไปสู่ความขัดแย้งแข่งขันของอำนาจทางการเมือง และทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และทำให้การคอร์รัปชั่นนั้นดำเนินต่อไป

มีเหตุผลที่น่าสนใจสักสองประการที่ทำให้กองทัพถูกตั้งคำถามว่าเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชั่นไหม หนึ่งคือในทางการศึกษาเรื่ององค์กร เราจะพบว่าองค์กรทหารต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็ว และบางทีก็จะชินกับการที่ผู้บังคับบัญชาจะกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งในวันนี้คำกล่าวเหล่านี้ไม่ได้ดูแมน หรือดูนักเลง แต่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจแบบเปลือยๆ หรือการพิสูจน์ให้เห็นว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการการตรวจสอบ แต่เป็นการท้าทายว่าทั่นกล้าตรวจสอบข้าพเจ้าหรือเปล่า

ในประการต่อมา บางทีงบประมาณด้านความมั่นคงเอาเข้าจริงแล้วก็วัดยากว่าแค่ไหนคือความมั่นคง ถ้าเทียบกับเรื่องที่ง่ายกว่านี้เช่นการเข้าถึงน้ำสะอาด หรือไฟฟ้า หรือการรู้หนังสือ ดังนั้นก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจเวลากองทัพจะต้องแบกรับในเรื่องของความมั่นคง และในเรื่องที่จะต้องถูกตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ได้ชี้ว่าในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือน เราควรจะพิจารณาในพื้นที่สัก 5 พื้นที่ นั่นก็คือ

1.ในเรื่องของการเลือกสรรชนชั้นนำหรือพรรคพวกของตนเข้าไปดำรงตำแหน่งหลักๆ

2.การผลักดันนโยบายสาธารณะบางอย่างออกมา

3.ความมั่นคงภายในประเทศ เช่น จะต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายอย่างไร และจัดการกับภัยพิบัติอย่างไร

4.การป้องกันประเทศ ซึ่งจำต้องมีการมีส่วนร่วมของพลเมืองด้วย เพื่อให้หลักประกันว่าจะเป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง

5.การจัดองค์กรของทหารให้บรรลุ 4 ภารกิจที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว (อ้างจาก Democracy under Stress - Civil-Military Relations in South and Southeast Asia by Aurel Croissant and Davis Kuekn, 2010)

กล่าวคือ ถ้าพลเรือนเข้มแข็ง พื้นที่ 5 ปริมณฑลนี้ก็จะอยู่ในการควบคุมของพลเรือน แต่ถ้าทหารเข้มแข็งกว่า ทหารก็จะกำหนดเอง

สําหรับในกรณีของการคอร์รัปชั่นในกองทัพนั้น โดยหลักใหญ่ใจความทั่วโลก เขาพิจารณาจากการที่ว่า หากกองทัพมีงบประมาณที่สูง หรือมีการจัดซื้ออาวุธในปริมาณ ทั้งนี้ เพราะหากพิจารณาว่างบประมาณในการสร้างความมั่นคงของประเทศนั้นเป็นงบประมาณที่ถูกผูกขาดโดยกองทัพ ก็ย่อมจะเชื่อแน่ว่าจะขาดแคลนการตรวจสอบจากภายนอก เพราะกองทัพนั้นผูกขาดสินค้าสาธารณะชิ้นนี้ และก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการตั้งคำถามกับประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะขาดซึ่งการแข่งขัน และเนื่องจากความลับเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคง ดังนั้นในแง่ของงบประมาณทหารแล้ว ก็ยิ่งยากที่จะถูกตรวจสอบ เพราะการเปิดเผยทั้งหมดอาจกระทบความมั่นคงได้

นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าลักษณะพิเศษของงบประมาณกองทัพนั้นไม่เหมือนกับงบประมาณด้านอื่น เช่นการศึกษา ซึ่งว่าง่ายๆ ยิ่งมีมากก็ยิ่งดี เพราะมีการแข่งขัน ยิ่งต้องขับเคี่ยวเพื่อให้ได้คุณภาพ จะมาปิดเป็นงบลับไม่ได้ ตรงนี้พูดตรงๆ ก็น่าเห็นใจกองทัพที่จะต้องเผชิญกับแรงกดดันในเรื่องการใช้งบประมาณ และก็คงเข้าใจว่าทำไมทหารอาวุโสหลายท่านถึงพยายามจะพร่ำสอนว่าโตไปอย่าโกง ราวกับว่ารู้ว่ากองทัพนั้นมีบาปกำเนิดบางอย่างอยู่ในตัวเอง

แต่ความเสียใจอาจจะต้องมีขีดจำกัดของมันบ้าง หากเมื่อพิจารณาว่าทหารในบางประเทศนั้นอาจจะมีอำนาจเหนือสถาบันทางการเลือกตั้ง และสามารถที่จะมีชัยชนะเหนือสถาบันการเลือกตั้งในการกล่าวหาว่ามีแต่นักการเมืองที่โกงและไร้ประสิทธิภาพ และสามารถใช้ศักยภาพในการทำรัฐประหารของตนในการแบ่งปันอำนาจกับสถาบันการเมืองอื่นๆ ได้

และเมื่อเกิดการรัฐประหารแล้ว อำนาจในการบริหารและนิติบัญญัติก็จะอยู่ในมือของกองทัพ และด้วยการสร้างสถาบันของการทำรัฐประหารที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน สถาบันตุลาการก็ย่อมไม่กล้าหือ ดังนั้น การเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงตามภารกิจที่กองทัพได้เสนอเอาไว้จึงไม่ถูกตั้งคำถาม เพราะพวกเขาได้วางพรรคพวกของตัวเองไว้ในโครงสร้างสถาบันต่างๆ ไว้แล้ว

จากการวิเคราะห์ย้อนหลังไปสิบกว่าปี พบว่าในประเทศแห่งหนึ่ง มีการเพิ่มขึ้นของงบประมาณทหารในช่วงหลังการทำรัฐประหาร และทำให้การตรวจสอบการคอร์รัปชั่นเป็นไปได้ยากขึ้น เมื่ออิงกับฐานข้อมูลในระดับนานาชาติ

หมายเหตุ ข้อมูลนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทยแต่อย่างใด

ยืนยันได้แค่ว่าทหารไทยจะโกงหรือไม่อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ ครับ


เรื่องจริงที่ทุกคนยังไม่รู้ ทำไมเราต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ ถ้าไม่อยากตกเป็นทาสซีพี - อีสานบ้านทุ่ง




https://www.facebook.com/1315985808428719/videos/1641011519259478/


มีไว้ อุ่นใจ (ประเทศไทย)





สุรพศ ทวีศักดิ์: ปล่อยไผ่ไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน



ภาพจาก #ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement – NDM



สุรพศ ทวีศักดิ์: ปล่อยไผ่ไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน


Sun, 2017-04-30 12:17
ที่มา ประชาไท

สุรพศ ทวีศักดิ์


คิม ยัง แร ผู้อำนวยการมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร้องขอให้ปล่อยตัวจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เพื่อให้เดินทางไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ปี 2560

เนื่องจากไผ่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการแชร์เฟซบุ๊กข่าวเกี่ยวกับพระราชประวัติของ ร.10 ที่เผยแพร่ในบีบีซีไทย โดยไผ่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวอันเป็นสิทธินั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมี เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น มาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2559 หนังสือของคิม ยัง แร ให้เหตุผลสำคัญตอนหนึ่งว่า

“ ทางมูลนิธิได้ให้เสนอชื่อให้ จตุภัทร์ ได้รับรางวัล เพราะเขาเป็นตัวอย่างที่หาได้ยากยิ่งในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยของไทย และเชิดชูไว้ซึ่งหลักแห่งความเสรีภาพ ความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชน แม้ในขณะที่การกระทำดังกล่าวจะต้องเสียสละซึ่งความปลอดภัย ผลประโยชน์ แม้กระทั่งอนาคตของตนเอง

…ทางมูลนิธิเชื่อว่าทางการไทยควรปรับภาพพจน์ใหม่เป็นรัฐที่เคารพในสิทธิและเดินหน้าสู่การคืนการปกครองแบบประชาธิปไตย ด้วยการปล่อยตัวจตุรภัทร์ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อให้เขาเข้าร่วมพิธีรับรางวัลกวางจูในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ที่กวางจู ประเทศเกาหลีใต้ “

ผมมีข้อสังเกตบางอย่างคือ ขณะที่นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อยในบ้านเรา มักมองเรื่องสิทธิเป็นส่วนๆ เน้นการเคลื่อนไหวเฉพาะสิทธิของคนบางกลุ่ม เช่น สิทธิสตรี, สิทธิของคนไม่มีศาสนา,สิทธิชุมชน, สิ่งแวดล้อมฯลฯ โดยเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาการเมืองระดับชาติ

หรือยิ่งกว่านั้นบางกลุ่มก็เรียกร้องสิทธิในกลุ่มของตนเองไปพร้อมๆ กับเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งที่ไม่อิงวิถีทางประชาธิปไตย ทั้งยังผลักดันวาระของพวกตนผ่านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.อีกด้วย

อีกประเภทหนึ่ง คือปัญญาชนที่พูดเรื่องประชาธิปไตย แต่เข้าไปมีตำแหน่ง บทบาทภายใต้อำนาจรัฐบาล คสช.โดยอ้างจริยธรรมว่าต้องการทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง

ผมไม่ได้คิดว่า การเรียกร้องสิทธิ, ผลประโยชน์ของคนเป็นกลุ่มๆ หรือการมีจริยธรรมบนสำนึกคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ เพราะอันที่จริงประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มักเกิดจากการที่ปัจเจกบุคคล, กลุ่มบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่ถูกกดขี่แล้วตระหลักถึงปัญหาการไม่มีสิทธิเท่าเทียมของตนเอง และลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง อย่างที่ริชาร์ด รอร์ตีกล่าวว่า “ความก้างหน้าของสิทธิมนุษยชนไม่ได้เกิดจากหลักปรัชญาหรือความคิดทางศีลธรรมที่สูงส่ง แต่เกิดจากเรื่องเล่าความเจ็บปวดในการต่อสู้ของบรรดาผู้ถูกกดขี่” หรืออย่างที่บางคนมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทางสังคมการเมือง ไม่ได้เกิดจากนักคิด ปัญญาชนที่มีชื่อเสียง แต่เกิดจากการเคลื่อนไหว การต่อสู้ของบรรดาผู้คนที่โนเนม ผู้ซึ่งไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจที่กดขี่

ขณะเดียวกันจริยธรรมของปัจเจกบุคคลที่ต้องการทำประโยชน์แก่ส่วนรวมก็จำเป็น แต่มันต้องสอดคล้องกับ “กติกากลาง” ของส่วนรวม การเป็นนักปฏิบัตินิยม (Pragmatists) แบบไทยที่เลือกให้ความสำคัญและมุ่งความสำเร็จเฉพาะสิทธิของกลุ่มตน โดยกระตือรือร้นผลักดันวาระของตนผ่านกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรืออ้างจริยธรรมที่ต้องการทำประโยชน์ส่วนรวมให้ความชอบธรรมกับการเข้าไปมีตำแหน่ง บทบาทภายใต้รัฐบาลเผด็จการ มันคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมเราเดินมาถึงวันนี้

คือเดินมาถึงจุดที่สังคมไม่มี “กติกากลาง” ที่ให้หลักประกันสิทธิทางการเมืองของทุกคนทุกฝ่าย ทำให้ไม่มีหลักอ้างอิง หรือช่องทาง, เวทีต่อรองบนหลักการของการมีสิทธิที่เท่าเทียมได้อีกต่อไป

ถึงตรงนี้ผมต้องการจะเน้นให้เห็นว่า ความโดดเด่นของไผ่ คือการเชื่อมโยงสิทธิด้านต่างๆ ของชาวบ้านเข้ากับสิทธิทางการเมืองระดับชาติ เพราะเขาชี้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า เมื่อการเมืองระดับชาติไม่เป็นประชาธิปไตย สิทธิชุมชน สิทธิในที่ทำกิน สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ของชาวบ้าน ที่เขาเคยร่วมต่อสู้มาย่อมถูกกระทบไปด้วย ในเมื่อไม่มี "กติกากลาง" ที่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวทีให้ชาวบ้านได้ต่อรองและเรียกร้องสิทธิด้านต่างๆ ของพวกเขาได้

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ไผ่และเพื่อนๆ เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาต่อต้านเผด็จการ โดยการออกมายืนเผชิญหน้ากับหัวหน้ารัฐบาล คสช.อย่างกล้าหาญ และยืนหยัดเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย แม้จะมองไม่เห็นโอกาสที่จะทำได้สำเร็จก็ตาม

การที่ไผ่ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงเป็นการยืนยันอุดมการณ์ประชาธิปไตยและความกล้าหาญที่มูลนิธิ May 18 Memorial แห่งประเทศเกาหลีใต้มองเห็น แน่นอนว่า ประชาชนไทยจำนวนมากที่รักประชาธิปไตยย่อมจะมองเห็นด้วยเช่นกัน ยกเว้นบรรดาชนชั้นปกครอง หรือคนประเภทที่พูดคำว่า "ประชาธิปไตย" แต่ปากเท่านั้นที่ไม่เคยมองเห็น


ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี มีประชุมมอบเอกสารละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ให้กับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ

ริชาร์ด สายโสมอน พอล โพรค็อป และเชาว์ ซื่อแท้
ขณะที่ในประเทศไทยฮือฮากันขนานใหญ่ว่า รัฐบาลทหารกำลังจะออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพและควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี มีการประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้สองแห่ง คือลาวกับไทย

จัดขึ้นที่อาคารเรย์เบิร์นของสภาคองเกรสสหรัฐ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทน ม้าร์คเวย์น มุลลิน พรรครีพับลิกัน แห่งโอกลาโฮม่า เขต ๒ เป็นผู้อุปถัมภ์ และขบวนการประชาธิปไตยของคนลาวรุ่นใหม่ กับ เร็ดยูเอสเอ-ขบวนการเสียงไทยนานาชาติ ร่วมกันเป็นผู้จัด (ดร.ริชาร์ด สายโสมอน และ เชาว์ ซื่อแท้)
สมาชิกสภาม้าร์คเวย์น มุลลิน ในการพบกับประชาชนที่เมืองทุลซ่า เมื่อ ๑๗ เมษายน นี้
การประชุมประสพความสำเร็จสมดังความมุ่งหมาย คือนอกจากได้อ่านแถลงการณ์ และแสดงปาฐกถาถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศของผู้จัด ต่อผู้ร่วมงานประมาณ ๕๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวลาวที่อาศัยอยู่ในสหรัฐแล้ว

(อ่านรายละเอียดแถลงการณ์ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/RedUSAThaiVoiceInternational/posts/1500549543296973)

ยังได้มอบเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้กับเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ (นายพอล โพรค็อป แห่งแผนกกิจการเอเซียตะวันออกและแปซิฟิค) ไว้ประกบกับเอกสารทางการจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ ที่ล้วนแต่ ไม่เป็น ประชาธิปไตย ด้วยกันทั้งคู่

เอกสารแถลงการณ์ (ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะกรณีไทย) ระบุถึงการไม่มีเสรีภาพในการพูดและแสดงออกในประเทศไทย กระบวนการยุติธรรมไทยไร้มาตรฐาน รัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการ (ม.๔๔) ก้าวก่ายศาสนจักร และกฎหมายกำกับเรื่องคอมพิวเตอร์ริดรอนสิทธิส่วนบุคคลมีบทลงโทษรุนแรง เป็นต้น

การปาฐกถาของผู้ร่วมประชุมท่านหนึ่ง คุณแอนน์ นอร์แมน ในฐานะผู้อำนวยการบริหารของภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (TAHR) ได้กล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นตัวอย่าง ๓ กรณี
แอนน์ นอร์แมน
กรณีแรกคือการจับกุมและทรมาน น.ส.กริชสุดา คุณะแสน เพราะเธอเป็นนักกิจกรรมโดดเด่นของฝ่ายเสื้อแดงก่อนการรัฐประหาร แล้วมีการนำตัวเธอไปออกรายการโทรทัศน์บังคับให้พูดว่าได้รับการปฏิบัติอย่างดีระหว่างถูกควบคุมตัว จนเมื่อเธอสามารถหนีออกนอกประเทศได้แล้วความจึงแตกว่าเธอ จากนั้นคณะรัฐประหารก็ยัดข้อหาส้องสุมกำลังอาวุธเพื่อก่อการร้ายให้แก่เธอ

อีกกรณีคือ นายชัยภูมิ ป่าแส หนุ่มชาวบ้านชายแดนเชื้อสายลาหุเกิดในประเทศไทย ถูกทหารยิงตายขณะวิ่งหนีการทำร้ายของทหารที่พยายามจะยัดข้อหาค้ายาเสพติดให้

นายชัยภูมิเป็นนักกิจกรรมเพื่อชาวเผ่า เขาเป็นนักดนตรี เป็นศิลปินถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีสั้น ที่สื่อออนไลน์ว้อยซ์ทีวีรายงานจากคำให้การชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ว่าเขาถูกยิงจากข้างหลัง ทำให้สื่อนั้นถูกสั่งระงับเสนอรายการเป็นเวลา ๗ วัน

ครั้งมีการเรียกร้องให้นำภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดมาเปิดเผยเพื่อพิสูจน์ความจริงดังข้ออ้างของทางการที่กล่าวหานายชัยภูมิว่าพยายามขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ ทางการทหารกลับไม่ยอมปล่อยคลิปจนบัดนี้ อ้างว่าไว้ตรวจสอบเสียก่อน

กรณีที่สาม เรื่องของ ไผ่ ดาวดิน (ชื่อจริง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) นักศึกษากฎหมายใกล้จบปีสุดท้าย ถูกคุมขังมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้วในข้อหาเผยแพร่คลิปวิดีโอของบีบีซีไทยรายงานพระราชประวัติของกษัตริย์ไทยพระองค์ใหม่ (อย่างครอบคลุมหลายแง่มุม เฉกเช่นสื่อตะวันตกจำนวนมากทำกัน ทั้งจากอังกฤษและเยอรมนี)

ไผ่ถูกปฏิเสธการขอประกันเพื่อปล่อยตัวชั่วคราวจำนวนไม่ต่ำกว่า ๗ ครั้ง ด้วยข้ออ้างจากศาลว่าเขาหยามหมิ่นอำนาจรัฐ

แอนน์ นอร์แมน เปรียบเทียบกรณีของไผ่กับ โรซ่า พ้าร์ค นักต่อสู้เพื่อสิทธิชนผิวดำอเมริกันในอดีต “การปกครองที่ดีไม่ใช่การสรรหาคนดีมาเป็นผู้ปกครอง” เธอกล่าวสรุปในตอนหนึ่ง

“คนดีกลายเป็นคนชั่วได้ การปกครองที่ดีนั้นเกี่ยวกับสถาบันทั้งหลายนั่นต่างหาก”

(https://www.facebook.com/notes/ann-norman/thailands-orwellian-nightmare-three-cases/10155387498323586/)

โคลัมเบียเคยประสบปัญหาไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบขนานใหญ่ สุดท้าย ด้วยแรงกดดันมหาศาลจากประชาชน สสร.จึงเกิด ทำรัฐธรรมนูญใหม่ 1991 ที่ใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ กรณีโคลัมเบียบอกอะไรกับเรา?





โคลัมเบียประสบปัญหาไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบขนานใหญ่ เพราะ รัฐธรรนูญ 1886 บังคับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้โดยให้รัฐสภาตราเป็นกฎหมายเท่านั้น จะแก้ทั้งฉบับก็ไม่ได้ จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำใหม่ทั้งฉบับก็ไม่ได้

รัฐสภาเองพยายามทดลองทำหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ รธน เพื่อเปิดช่องประชามติเปลี่ยน รธน ทั้งฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ รธน เพื่อให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำใหม่ทั้งฉบับ ไม่ว่าจะเป็นแก้รายมาตราหลายๆมาตราในเรื่องสำคัญๆ ทั้งหมดนี้ ศาลขวางตลอด

ในขณะที่ สภาพการณ์เวลานั้น ก็มีความขัดแย้งรุนแรง ทั้งกรณีสงครามกองโจรกลุ่มต่างๆ เช่น FARC กลุ่มมาเฟียค้ายาเสพย์ติด มีการยึดศาล จับผู้พิพากษาเป็นตัวประกัน ตายเป็นเบือ มีระเบิดคาร์บอมบ์ มีการลอบฆ่านักการเมืองที่เป็นตัวเต็งประธานาธิบดี โคลัมเบียต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินถึง 37 ปี ฯลฯ

ขบวนการนักศึกษาทนสภาพเช่นนี้ไม่ไหว จึงเริ่มรวมตัวชุมนุม มีอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าร่วม เริ่มต้นที่คณะนิติศาสตร์ และขยายตัวออกไป พวกเขาพยายามคิดหาวิธีการจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้อย่างไร

เมื่อขบวนการขยายขึ้น คนยอมรับขึ้น สุดท้าย ก็ตัดสินใจจัด "ประชามติ" กันเอง โดยตั้งคำถามว่า "ข้าพเจ้า ขอลงมติเพื่อประเทศโคลัมเบีย ให้มีการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่"

ผลปรากฏว่า มีคนเห็นด้วย 3,100,000

เมื่อประชาชนแสดงออกด้วยจำนวนขนาดนี้ ประธานาธิบดีจึงต้องหาทางตอบสนอง

ประธานาธิบดีทราบดีว่า ไม่ว่าจะออกกฎหมายแก้ รธน อย่างไร ศาลก็จะขวางอยู่ดี

สุดท้าย ประธานาธิบดี ใช้วิธีการ "ประกาศกฎอัยการศึก" เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่า "เห็นด้วยกับการจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร มาทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่" โดยให้ลงคะแนนพร้อมกันในวันเลือกตั้งประธานาธิบดีไปเลย

3 วันก่อนลงคะแนน สายตาทุกคู่จับจ้องไปที่ศาล รอลุ้นว่าศาลจะวินิจฉัยขวางไม่ให้มีประชามตินี้หรือไม่

สุดท้าย ด้วยแรงกดดันมหาศาลเช่นนี้ ศาลตัดสินว่า ทำได้

ผลประชามติ 5 ล้านกว่า คิดเป็นร้อยละ 88 เห็นด้วยให้มีการเลือกตั้ง สสร

จากนั้นก็เลือก สสร ทำรัฐธรรมนูญใหม่ กลายเป็นรัฐธรรมนูญ 1991 ที่ใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้

กรณีโคลัมเบียบอกอะไรกับเรา?

แม้ระบบรัฐธรรมนูญจะ "ปิดล้อม" จนไม่อาจเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ได้ แต่สุดท้ายมันก็เปลี่ยนแปลงได้อยู่ดี ถ้า "ประชาชน" ต้องการเปลี่ยน

อยู่ที่ว่า เราจะรณรงค์ทำให้ "ประชาชน" ปรากฏขึ้น จนกดดันให้ ระบบกลไกของพวกเขาต้องยอมถอยได้หรือไม่




Piyabutr Saengkanokkul

วันเสาร์, เมษายน 29, 2560

ลองอ่านยุทธศาสตร์ชาติคร่าวๆ แล้วบอกได้เลยว่า... เอวัง





ลองอ่านยุทธศาสตร์ชาติคร่าวๆแล้วบอกได้เลยว่า...เอวัง

จะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งที่แถมยังบังคับผูกมัดไว้ใน รธน. อีก ทำกันออกมาได้แบบนี้

ผมยกตัวอย่างคร่าวๆ ด้านเศรษฐกิจยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือ...เราจะต้องเป็นผู้นำด้านการค้าและการลงทุน...

เพื่อนๆอ่านแล้วมองเห็นอะไรครับ ผู้นำด้านการค้าและการลงทุน...

ลองกวาดตาไปทั่วโลก ประเทศที่เป็นผู้นำด้านการค้าและการลงทุน..มีประเทศใดบ้าง สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศษ มาเลเชีย

ถามว่า..การวางยุทธศาสตร์ชาติแบบนี้เราจะแข่งขันกับประเทศเหล่านี้ได้เหรอ อีก 20ปีข้างหน้าเราจะก้าวมาเป็นผู้นำเขาได้เหรอ

อย่าว่าแต่เป็นผู้นำเลยครับ แค่ติด 1 ใน 10 ประเทศที่เป็นผู้นำด้านการค้าและการลงทุนก็ทำไม่ได้แล้ว

ล้มเหลวตั้งแต่กำหนดยุทธศาสตร์แล้วครับ เพราะเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ไม่ได้วิเคราะห็มองตัวเอง

....ฉะนั้นความชัดเจนในยุทธศาสตร์จึงไม่มี....

แทนที่จะวิเคราะห็หาจุดแข็งของประเทศ แล้วนำมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสร้างความแตกต่างในด้านการแข่งขัน

เช่น ประเทศไทยมีจุดเด่นตรงไหน การเกษตร ท่องเที่ยว การแพทย์ เป็นต้น

เอามาวิเคราะห์และสร้างยุทธศาสตร์ที่มันชี้เฉพาะลงไปในแต่ละด้านที่เป็นจุดแข่งของประเทศ แบบนี้จะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้มากกว่า

แต่นี่ไร...เปิดออกมาครอบจักรวาลไปหมด

ล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มละ

ยุทธศาสตร์ที่จะแข่งขันได้ มันต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่เด่นชัด แตกต่าง บนต้นทุนที่เรามีอยู่ ไม่ใช่จะก้าวไปเป็นผู้นำด้านการค้า การลงทุนของโลก แต่ต้นทุนเราแตกต่างจากพวกประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง

ผมยกตัวอย่าง สมมติผมจะกระโดดเข้าธุรกิจรับสร้างบ้าน อยู่ๆผมตั้งยุทธศาสตร์ว่า...ผมจะต้องเป็นผู้นำในตลาดรับสร้างบ้าน

แค่วางยุทธศาสตร์แค่นี้ผมก็จบแล้ว เพราะไม่มีทางที่จะไปแข่งขันกับบริษัทใหญ่ๆได้ เพราะต้นทุนธุรกิจผมไม่เท่าเขา จุดเด่นก็ไม่มี

แต่ถ้าผมบอกว่า...ผมบอกผมจะเป็นผู้นำ 1 ใน 5 ในด้านสร้างบ้านเย็น ประยัดพลังงาน หรือบ้านที่รองรับผู้สูงอายุ แบบนี้ยังมีความเป็นไปได้มากกว่า

เพราะยุทธศาตร์มันมีความชัดเจน โฟกัสมากกว่า มีความแตกต่าง ยูนิค

ยุทธศาสตร์น่ะ...ไม่ใช่ความฝัน เล่นวางยุทธศาสตร์กันแบบนี้ แถมผูกมัดไว้ใน รธน. ก็ตาย....กันพอดี

สุดท้ายคงเป็นแค่ความฝันเช่นเคย เสียเวลาเปล่าๆ


ที่มา


Srapipath Khruthram

อ้าว..ฟังดีๆครับ นั่นคือความจริงประเทศ
ป่าน...ยังไม่เข้าใจอีกว่าเพราะอะไร





โปร่งใส คุ้มค่า แน่นอน !?!








...



ญาติพฤษภา 35 เห็นด้วยทหารในระดับผู้บังคับบัญชาหน่วยยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นอำนาจ

กรณีที่ ป.ป.ช. มีข้อเสนอในการพิจารณากำหนดตำแหน่งที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติม โดยจะให้นายทหารในระดับผู้บังคับบัญชาหน่วยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยนั้น ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง นายทหารในระดับผู้บังคับบัญชาหน่วยขึ้นไปต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ก่อนและหลังรับตำแหน่ง เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นทั้งระบบ

เนื่องจากการคอร์รัปชั่น ไม่ได้มีเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่มีข้าราชการเกี่ยวข้องด้วยแทบทุกครั้ง และทหารปัจจุบันเป็นทหารการเมือง ใช้อำนาจทางการเมือง เป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 อาจเข้าไปเกี่ยวข้องผลประโยชน์จากการคอร์รัปชั่นอำนาจ

กรณีการซื้อเรือดำน้ำก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง การจัดซื้อจัดจ้างทุกชนิดควรเปิดเผยและเผยแพร่ในระบบอิเล็คทรอนิคให้ประชาชนตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใสของประเทศนับแต่นี้ มีข่าวลือกล่าวหาว่าจีนจะให้ฟรีพร้อมของแถมแลกเปลี่ยนแต่ดันมีคนละโมบไปตั้งงบประมาณรายจ่าย ดังนั้นจึงต้องเปิดเผยเอกสารโครงการจัดซื้อต่อประชาชน

นอกจากนี้ผมเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับผู้กำกับสถานี้ตำรวจทุกสถานี ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแลธุรกิจสีเทาและระบบส่วยในท้องที่โดยตรง ว่ากันว่ามีเงินได้รายเดือนนอกระบบอีกมากมายที่ลูกน้องต้องไปหามาให้ แก้คอร์รัปชั่นไม่ได้ ถ้าไม่ตรวจสอบทหารและตำรวจด้วย นอกจากนี้ตำรวจยังไปขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง การตรวจสอบตำรวจยากมากนอกจากจะพึ่งสื่อมวลชน

ตัวอย่างจากคดีทายาทกระทิงแดงที่ล่าช้ามา 5 ปี หมดอายุความไป 1 คดี เพิ่งมาออกหมายจับหลังเลื่อนพบมาหลายรอบ เป็นบทเรียนสำคัญที่ตำรวจและอัยการสูงสุดต้องรับผิดชอบทางการเมืองกับข้อครหาในการเลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ ต้องสนับสนุน ป.ป.ช.ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและอิสระ มีบทลงโทษ ป.ป.ช.ในการละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะมีการสมยอมกัน ในอนาคตเมื่อมีการจะกระจายอำนาจให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ จะต้องสนับสนุนให้มีกลไก ป.ป.ช. จังหวัด เพื่อตรวจสอบการคอร์รัปชั่นอย่างเข้มแข็งด้วย

นายเมธา มาสขาว
เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535
และผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch)

ชวนอ่านรายงาน "หมุดไม่มีเจ้าของกับมือที่มองไม่เห็น" - ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน



นิสิตนักศึกษา 3 สถาบัน เดินทางไปแจ้งความเรื่องหมุดคณะราษฎรหายไป (ภาพจาก Banrasdr Photo)

หมุดไม่มีเจ้าของกับมือที่มองไม่เห็น


By admin no.5
เมษายน 28, 2017
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

“เขาขอให้ผมเพลาเรื่องนี้ลงไป เพราะมันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่มี invisible hands (มือที่มองไม่เห็น) อยู่เยอะ นี่คือคำที่เขาพูด” ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวประชาไท หลังเขาถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร จากกรณีที่จะไปร้องเรียนเรื่องหมุดคณะราษฎรหายไป และมีหมุดหน้าใสมาอยู่แทนที่

14 เม.ย. 2560 เป็นวันที่เริ่มมีข่าวในโซเชียลมีเดียว่า ‘หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ หรือที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าคือ ‘หมุดคณะราษฎร’ ที่เคยอยู่บริเวณลานพระราชวังดุสิต ใกล้กับพระบรมรูปทรงม้าหายไป และถูกแทนที่ด้วยหมุดอันใหม่ที่มีข้อความว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาสุขสันต์หน้าใสเพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” ซึ่งเป็นข้อความที่อ้างอิงถึงพระคาถาบนตรา ดาราจักรี ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทำให้มีกระแสทวงถามถึงหมุดคณะราษฎรที่หายไป และวิพากษ์วิจารณ์ถึงการมาแทนที่ของหมุดใหม่ หรือที่เรียกกันว่า ‘หมุดหน้าใส’

เชือดไก่ให้เรื่องเงียบ
เริ่มจาก 16 เม.ย. 2560 ‘เสี่ยไก่’ วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ใจความว่า หมุดของคณะราษฎรเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการอภิวัฒน์สยาม เมื่อ 24 มิ.ย. 2475 ผู้นำหมุดออกไปมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ส่วนข้อความบนหมุดใหม่ ผู้ทำมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตามมาตรา 265 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องดำเนินคดีและไปขุดเอาหมุดที่ทำปลอมออกมาเพื่อเป็นของกลางในคดีอาญา



วัฒนา เมืองสุข (ภาพจาก iLaw)


ผลสะเทือนจากโพสต์ของวัฒนา ทำให้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีวัฒนา เมืองสุข ในวันที่ 18 เม.ย. 2560 ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า หมุดคณะราษฎรที่ติดตั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นโบราณวัตถุ ให้คนไทยเรียกร้องทวงคืน ซึ่งเป็นเท็จ

กลางดึกคืนเดียวกันกับที่มีการแจ้งความวัฒนา เพจเฟซบุ๊กกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร ก็เผยแพร่ข้อมูลว่า หมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุตามกฎหมาย ก่อนที่จะมีประชาชนแสดงความเห็นคัดค้านนับพัน กระทั่งเพจดังกล่าวลบโพสต์ไป ตามรายงานข่าวของมติชนออนไลน์ ขณะที่เนชั่นทีวีรายงานว่า กรมศิลปากรยังคงเผยแพร่ว่าหมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุ อยู่บนเว็บไซต์ของกรมศิลปากรเอง

20 เม.ย. 2560 มติชนออนไลน์รายงานว่า วัฒนาเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนที่ ปอท. พร้อมรับทราบข้อกล่าวหา ก่อนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน และวัฒนายังคงโพสต์ยืนยันในวันต่อมาว่า หมุดของคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ร้องเรียนเรื่องหมุดหาย แถมแพ็คเกจท่องเที่ยวค่ายทหาร

ในวันเดียวกับที่วัฒนาเริ่มออกมาโพสต์ถึงเรื่องหมุดคณะราษฎรที่หายไป ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พริษฐ์ รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ เหลนชายหลวงเสรีเริงฤทธิ์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร และนิสิตนักศึกษาจาก 3 สถาบัน เดินทางมาลงบันทึกประจำวันที่ สน.ดุสิต ในช่วงบ่ายวันที่ 16 เม.ย. 2560 ขอให้ตามหาหมุดคณะราษฎรที่หายไป

ต่อมา 17 เม.ย. 2560 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่อกรณีที่ พริษฐ์ และนิสิตนักศึกษาไปลงบันทึกประจำวัน ขอให้ตามหาหมุดคณะราษฎรที่หายไปว่า หากไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถติดตามให้ได้

18 เม.ย. 2560 สำนักข่าวเนชั่นรายงานว่า ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้มีการสอบสวนการเปลี่ยนแปลงหมุดคณะราษฎร และนำหมุดกลับมาประดิษฐานที่เดิม ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารประมาณ 6-7 นาย ควบคุมตัวจากศูนย์บริการประชาชน ไปยังกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ก่อนได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวนานกว่า 10 ชั่วโมง

ในเย็นวันนั้น ยังมีรายงานข่าวอีกว่า บริเวณหมุดที่ถูกนำมาเปลี่ยนแทนหมุดคณะราษฎรมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสังเกตการณ์กว่า 10 นาย โดยห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไปถ่ายรูปกับหมุดใหม่ ส่วนคนที่ถ่ายไปแล้วถูกขอให้ลบทิ้ง โดยอ้างว่ามีคำสั่งห้ามถ่ายรูปตัวหมุด หรือรูปคู่เห็นหมุดดังกล่าว หากฝ่าฝืนก็จะถูกควบคุมตัวทันที

19 เม.ย. 2560 อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมประชาธิปไตย เดินทางไป สน.ดุสิต เพื่อแจ้งความกรณีหมุดคณะราษฎรที่ทั้งคู่เห็นว่าเป็นโบราณวัตถุหายไป และติดต่อขอดูภาพกล้องวงจรปิดบริเวณดังกล่าว แต่ทางกรุงเทพมหานครแจ้งว่า กล้องวงจรปิดที่เคยอยู่บริเวณดังกล่าวถูกถอดออกเนื่องจากการปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม และยังไม่ถูกติดตั้งกลับไปจนถึงปัจจุบัน



ณัฏฐาและอภิสิทธิ์แจ้งความกรณีหมุดคณะราษฎรหายไป (ภาพจาก Banrasdr Photo)


นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ยังเล่าอีกว่า หลังจากประกาศลงเฟซบุ๊กว่าจะไปแจ้งความที่ สน.ดุสิต ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาเตือนว่าอันตราย ห้ามไปที่หมุดหน้าใส และอาจจะมีการ ‘อุ้ม’ เพื่อไม่ให้อภิสิทธิ์ไปแจ้งความในวันรุ่งขึ้น

ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ ออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้ง เตือนกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวมารวมตัวว่า ให้ดูสถานที่ที่เคลื่อนไหวด้วยว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หากละเมิดกฎหมายต้องถูกดำเนินคดี และหากเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นก่อให้เกิดความวุ่นวายทางฝ่ายทหารฝ่ายความมั่นคงจับตาดูอยู่ และหากพบว่ามีความพยายามยุยงปลุกปั่นทางทหารจะส่งมาให้ตำรวจดำเนินคดี

20 เม.ย. 2560 บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ดุสิต เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎรที่หายไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำ มีทหารควบคุมตัวบุญสินไปที่ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ปัจจุบันไม่มีข้อมูลว่าได้รับการปล่อยตัวแล้วหรือไม่

24 เม.ย. 2560 เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองโพสต์เฟซบุ๊กว่ามีชาย 8 คน อ้างว่ามาจาก สน.ลาดพร้าว ขอให้เขายกเลิกการเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นคำร้องเกี่ยวกับหมุดใหม่ หรือ ‘หมุดหน้าใส’

ประชาไทรายงานว่า ข้อเสนอของเอกชัย คือ ขอให้รัฐบาลประกาศเจ้าของหมุดใหม่ทางสื่อสารมวลชนทุกช่องทางเป็นเวลา 7 วัน หากยังไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของ ขอให้รัฐบาลขุดหมุดใหม่ออกไปเก็บไว้ยังที่เหมาะสมก่อนเพื่อรอเจ้าของมารับคืนภายหลัง

25 เม.ย. 2560 เอกชัยเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลแต่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจล้อมจับ โดยอ้างว่าจะพาไป สน.ลาดพร้าว แต่กลับถูกนำตัวไปที่ มทบ.11 ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 16.30 น. โดยต้องลงชื่อในเงื่อนไขการปล่อยตัวของ คสช. ว่าจะไม่เดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต และไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวจะถูกดำเนินคดี



ภาพขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเอกชัย หงส์กังวานไป มทบ.11


‘หมุด’ ที่พูดอะไรออกไปไม่ได้สักอย่าง

19 เม.ย. 2560 ขณะที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ขอให้งดจัดกิจกรรม “วิพากษ์ การให้เช่าที่ดิน 99 ปี ผลประโยชน์ของไทยหรือผลประโยชน์ของใคร ?” เนื่องจากเข้าใจผิดว่าจะพูดเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจัดกิจกรรมเรื่องการให้เช่าที่ดินด้วย เพราะเห็นว่าอาจกระทบต่อความมั่นคง

25 เม.ย. 2560 ชลธิชา แจ้งเร็ว นักศึกษาและนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบที่มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ โดยขอไม่ให้พูดเกี่ยวกับหมุดหน้าใสในงานดังกล่าว เพราะอาจถูกโยงไปเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ได้

กฎหมายมันเบลอหรือเธอไม่ชัดเจน

จนถึง 28 เม.ย. 2560 มีคนถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพการแสดงออกเรื่องหมุดแล้ว 1 คน คือ วัฒนา เมืองสุข ที่โพสต์ว่าหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ อีก 3 คนถูกควบคุมตัวไปไว้ในค่ายทหาร หลังจากพยายามร้องเรียนเรื่องหมุดโดยใช้ช่องทางตามกฎหมาย และมีกิจกรรมเสวนาที่ถูกแทรกแซงเนื่องจากเรื่องหมุดคณะราษฎรอีก 2 กิจกรรม

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐนำมาใช้เพื่อทำให้เรื่องหมุดหน้าใสไม่เป็นที่พูดถึง ยังมีข้อถกเถียงทางกฎหมาย โดยฝ่ายรัฐที่ออกมาให้ข้อมูลแย้งกับความเข้าใจของประชาชนทั่วไป เช่น ตกลงแล้วหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุหรือไม่ ประชาชนทั่วไปสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องที่หมุดคณะราษฎรหายไปได้หรือไม่ เป็นต้น แต่ในบางกรณีก็เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะการควบคุมตัวบุคคลในค่ายทหาร

บุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากการไปร้องเรียนเรื่องหมุดคณะราษฎรทั้งสามคน ได้แก่ ศรีสุวรรณ จรรยา, บุญสิน หยกทิพย์, และเอกชัย หงส์กังวาน ล้วนแต่พยายามใช้ช่องทางตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นยื่นเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์บริการประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาล หรือร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวไปไว้ในค่ายทหารโดยไม่มีกฎหมายใดรองรับ แม้กระทั่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ให้อำนาจทหารควบคุมตัวบุคคลเฉพาะที่สงสัยว่าจะกระทำความผิดใน 4 ฐานความผิด ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของ คสช. เท่านั้น

การควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อพันธกรณีในข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรับรองว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้” ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว แต่ยังมีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพในการเเสดงออกอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่สภาวะเสี่ยงต่อการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงหรือเเม้กระทั่งการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยเฉพาะในกรณีของบุญสินที่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมของเขาหลังการถูกควบคุมตัวโดยทหาร

นอกจากนี้ การที่รัฐไม่ได้สอบสวนหรือสามารถให้ข้อมูลที่สร้างความกระจ่างแก่ประชาชน แล้วยังห้ามพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องหมุดคณะราษฎรและหมุดหน้าใส ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับหมุดที่หายไปเต็มไปด้วยข่าวลือกระซิบกระซาบกันเซ็งเซ่อยู่ในสังคม พร้อมกับเสรีภาพในการแสดงออกที่ถูกกดต่ำลงทุกที ส่วนการใช้ช่องทางตามกฎหมายเพื่อค้นหาความชัดเจนในเรื่องนี้ กลับเป็นหนทางที่นำชีวิตไปสู่ความไม่มั่นคงปลอดภัย

สุดท้ายเรื่องของหมุดคณะราษฎรก็อาจจะเงียบหายไปในสายหมอกแห่งความหวาดกลัว

ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ที่ตายแล้ว ?



ภาพที่ 1 อธิบายการเสียดินแดนของสยาม ตามแนวคิดของประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย (ภาพจาก: วิกิคอมมอนส์)
ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ที่ตายแล้ว ?


เมษายน 28, 2017
By france tuangchok jalikula
Franceja Wordpress


เราปฏิเสธไม่ได้เลยที่ประวัติศาสตร์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา อย่างน้อยที่สุดในก็ในวัยเรียน ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักเป็นประวัติศาสตร์ที่ทุกคนคุ้นเคย ทั้งยังเชื่อและให้การยอมรับในวงกว้างอีกด้วย ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักเหล่านี้เคยเป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐชาติ การสร้างความชอบธรรม การส่งเสริมบารมีให้ผู้ปกครอง และสถาปนาอำนาจให้ผู้ปกครองใช้ในการปกครองอีกด้วย และในวันนี้ประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยก็ยังคงถูกใช้เป็นข้ออ้างและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่

บทบาท เป้าหมาย และที่มาของประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักในปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์กระแสหลักไทยในปัจจุบัน / ประวัติศาสตร์ชาตินิยม บ้างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง บ้างก็ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อสร้างความนิยมชมชอบ รวมทั้งที่กล่าวไปข้างต้นคือสร้างความชอบธรรม และสนองความต้องการของผู้ปกครอง ประวัติศาตร์แนวนี้มักปรากฎลักษณะ

1. ยกย่องเชิดชูบุคคล ผู้นำชาติ
2. ผูกขาดความชอบธรรมกับรัฐของตน หรือผู้นำรัฐของตน
3. รัฐอื่นด้อยกว่า รัฐ/ประวัติศาสตร์ของตนมีอารยะสูงสุด
4. ไม่มีด้านเสียของบุคคล/รัฐของตนในประวัติศาสตร์ (หรือมีน้อยมาก หรือไม่กล่าวถึงและถูกมองข้าม)
5. อิงกับศาสนาในกำกับของรัฐ

ซึ่งจากลักษณะข้างต้นนั้นนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมและธรรมเนียมประเพณีที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ จนบางครั้งเกิดเป็นจารีตและประเพณีที่ไม่อาจแตะต้องได้ แม้มีหลักฐานและวิธีการที่โต้แย้ง/หักล้าง ได้ก็ตาม ประวัติศาตร์เหล่านี้แตกต่างกันไปตามสภาวะหรือสภาพของรัฐ ซึ่งสำหรับไทยแล้วนั้นประวัติศาสตร์เหล่านี้มักถูกกล่าวถึงในฐานะประวัติศาสตร์ชาตินิยม ซึ่งต้องการให้ผู้เสพเชื่อและทราบซื้งในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ความเป็นชาตินิยมเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นด้วยการหนุนนำของประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักนี้

การมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์กระแสหลักของชนชั้นทางสังคมยังส่งผลให้ลักษณะของประวัติศาสตร์กระแสหลักนี้ทรงพลังในการเชิดชูและยกย่องบุคคลอีกด้วย กล่าวคือ ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักนั้นถูกรับรองโดยรัฐ ผู้เชื่อและยึดถือประวัติศาสตร์ประเภทนี้นั้นเชื่อด้วยความสนิทใจในเนื้อประวัติศาสตร์ และทำให้ชนชั้นกลางระดับล่างถึงชนชั้นล่างไม่มีความเชื่อว่าตนจะมีค่าสูงส่งเพียงพอแก่การเขียนประวัติศาสตร์เหล่านั้นได้ (ซึ่งทำให้ชนชั้นดังกล่าวขาดความกระตือรือล้นในการแสวงหาสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคทางสังคม) ทั้งยังเกื้อหนุนให้ชนชั้นสูงใช้เป็นข้ออ้างในการปกครอง ความเชื่อเหล่านี้ยิ่งหนุนนำวิถีประชา จารีต วัฒนธรรม และความเชื่อของคนในสังคมซึ่งสะท้อนผ่านสื่อสารมวลชนหลายแขนง จนแม้แต่สื่อเหล่านั้นเองก็อาจกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมในเวลาต่อมาในฐานะของสื่อสะท้อนสังคม ฯลฯ ได้

เมื่อประวัติศาสตร์ถูกทำให้เป็นเรื่องราวที่มีข้อยุติ สิ้นสุด และไม่สามารถโต้แย้งได้แล้ว ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของจารีต ประเพณีไทยอันดีงาม (รวมถึงอาจเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือโต้แย้งได้ เรียกอีกอย่างได้ว่า “เป็นของตายแล้ว” เมื่อประวัติศาสตร์ไม่สามารถถกเถียงและหาข้อโต้แย้งได้ ประวัติศาสตร์จึงเป็นเหมือนเรื่องราวที่ต้องจำ หรือมีเหตุผลในตัวที่ถูกทำให้ยุติแล้ว (หรืออาจถึงขั้นไม่มีเหตุผลหรือที่ไป-มา)

กระแสของประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 2 ระลอกสำคัญคือ

1. ประวัติศาสตร์ชาตินิยมแนวกษัตริย์นิยม
2. ประวัติศาสตร์ชาตินิยมแนวผู้นำ (ผู้นำสามัญชน)

ข้อแตกต่างของของประวัติศาสตร์สองระลอกนั้นแตกต่างกันเพียงแค่เป้าหมายผู้ได้รับ credit หรือผลประโยชน์จากประวัติศาสตร์นั้นเป็นใคร แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองแบบคือ เป็นประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมอย่างที่กล่าวไปคือ ไม่มีประวัติศาสตร์สังคม ชนชั้นล่าง/ประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์อาจถูกใช้เป็นข้ออ้างทางวัฒนธรรมและมารยาทของกลุ่มชนชั้นสูง (มักถูกเสียดสีว่าคือกลุ่ม คนดี¹) เพื่อใช้อธิบายชี้แจงการกระทำของตนว่าชอบธรรมตามประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามที่อยู่บนพื้นฐานของความยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ ลักษณะของประวัติศาสตร์เหล่านี้แม้ถูกสร้างขึ้นมาต่างคราวต่างวาระแต่สำหรับประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยนั้นกลับสามารถเข้ารวมกันอย่างเป็นปี่-ขลุ่ย และไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งไม่แปลกเลยเพราะประวัติศาสตร์ต่างคราวต่างวาระนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการห้ามโต้แย้ง ห้ามพูด เมื่อห้ามพูดและห้ามโต้แย้งแล้วประวัติศาสตร์เหล่านั้นก็ตายและไม่เกิดองค์ความู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

คำถามคือ ประวัติศาสตร์เหล่านี้จะมีจุดยืนในสังคมปัจจุบันอันใกล้และอนาคตไกลอย่างไร ? (อธิบายเพิ่มข้างล่าง) ในเมื่อยุคแห่งหลักความเสมอภาคของมนุษย์เป็นที่นิยมมาถึงแล้ว ยุคของอาณัติสวรรค์ เทวสิทธิ์ สมมติเทพ ล้าสมัยไปเสียแล้ว

เป้าหมายของการศึกษาประวัติศาสตร์คืออะไร ประวัติศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบันตอบโจทย์เหล่านี้ ได้หรือไม่ ?




ภาพที่ 2 สื่อนำเสนอประวัติศาสตร์ชาตินิยม ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ใช้ความรู้สึกของผู้เสพเป็นจุดขาย (ภาพ : จากวีดีโอ ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน 14 ครั้งของไทย )


การศึกษาประวัติศาสตร์ถูกบรรจุให้อยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน นั่นหมายความว่านักเรียนในระบบ (ซึ่งคือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ) ทุกคนต้องได้เรียน และการศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านี้ถูกตีกรอบและตรวจสอบจากรัฐ ซึ่งเมื่อดูจากลักษณะของโรงเรียนและระบบการศึกษาไทยแล้วนั้น การถกเถียงและโต้แย้งในชั้นเรียนเกิดขึ้นได้น้อยมาก (แม้จะมีแนวโน้มมากขึ้นหรือเปิดกว้างขึ้นก็ตาม²) ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของการยกย่องสรรเสริญ และเทพนิยาย และเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับใครหลาย ๆ คนในที่สุด

หากพูดถึงลักษณะของคนไทยส่วนใหญ่ที่สนใจในประวัติศาสตร์อยู่บ้างแล้วนั้น ส่วนมากชื่นชอบและเทใจเชื่อในประวัติศาสตร์กระแสหลักและไม่ค่อยพบข้อคิดเห็นหรือข้อโต้แย้งในประวัติศาสตร์เหล่านั้นเลย

เป้าหมายของการศึกษาประวัติศาสตร์เป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการศึกษาวิเคราะห์และค้นหาข้อเท็จจริงของอดีต อย่างเป็นระบบและมีเหตุผล (ปัจจุบันความมีเหตุผลมักถูกนิยามด้วยวิทยาศาสตร์; ส่งผลให้วิธีทางประวัติศาสตร์มีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย)

ลักษณะของการศึกษาประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทยนั้นย้อนแย้งกับลักษณะที่สำคัญของการศึกษา/วิเคราะห์/เป้าหมายของการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งคือ ประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่สามารถตอบโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงและบริบททางวัฒนธรรม ประเพณีและสิ่งแวดล้อมของตัวละครหรือเหตุการณ์ในอดีตได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวสุดคราสสิก อย่างการเสียดินแดน หรือเรื่องวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ที่ผู้เสพและชื่นชอบประวัติศาสตร์เหล่านี้มุ่งมองไปในทางเดียวกันคือ “ก่อให้เกิดความคับแค้นใจทางประวัติศาสตร์” ซึ่งลักษณะและสภาพเหล่านี้เองที่ปิดกั้นการศึกษาและปิดกั้นการตอบโจทย์สำคัญอันเป็นเป้าหมายของการศึกษาประวัติศาสตร์ คือผู้เสพไม่สามารถรับรู้หรือตั้งประเด็นสงสัยได้เลยว่า “บริบทประวัติศาสตร์ในมิติเวลานั้นเป็นอย่างไร” (หมายความว่าประวัติศาสตร์นั้นเมื่อเวลาเปลี่ยนบริบททางสังคมที่มองประวัติศาสตร์ย่อมเปลี่ยนแปลง) แต่เมื่อประวัติศาสตร์ “ถูกทำให้ตาย” การโต้เถียงเรื่องบริบทและสิ่งแวดล้อมก็ตายไปด้วย และอาจเรียกได้ว่าความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักนั้น “ตายตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม”

ผลของประวัติศาตร์กระแสหลักในปัจจุบันต่อสังคมเสรีประชาธิปไตย

ความเป็นประชาธิปไตยของไทยนั้นแม้จะดำเนินมาอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่ความกระหายและโหยหาของเสรีชน ประชาชนคนไทยนั้นก็มิอาจสวนกระแสโลกได้ ค่านิยมของโลกยุคใหม่ โลกแห่งเสรีภาพและความเป็นปัจเจกนำไปสู่ความเชื่อมั่นในตนเองของประชาชน การเป็นผู้สร้างเองแทนที่จะเป็นเพียงผู้รับ ความเชื่อและการไหลบ่าทางวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติริเริ่มวัฒนธรรมแนวคิดเสรีภาพนี้ ประวัติศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบันนี้จะยืน ณ จุดใด ? ประวัติศาสตร์กระแสหลักทั้งสองกระแสล้วนแล้วแต่ไม่สามารถตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ได้ และในเมื่อมันไม่ทันสมัยถึงเวลาแล้วหรือไม่ ? ที่สังคมควรจะหันมามองประวัติศาสตร์กระแสรองที่ล้วนแล้วแต่จุดประกายความคิด (ทั้งยังสร้างชื่อด้วยจุดขายที่โดดเด่น ; กล่าวคือการขัดกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก)

คนยุคใหม่ คนยุคโลกาภิวัฒน์ต้องการอะไร ? คำถามนี้คงยังตอบไม่ได้หากยังไม่ตอบคำถามที่ว่า ประวัติศาสตร์ในโลกเสรีประชาธิปไตยเน้นอะไร ต้องการอะไร ? ; นี่คงเป็นคำถามที่ตามกระแสของโลกยุคปัจจุบัน คำตอบคือประวัติศาสตร์ของโลกยุคใหม่นี้คือ “การศึกษาคุณค่าของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์” ซึ่งตอบโจทย์การใช้เหตุผลในบริบทการมองโลกของคนในยุคของเรา (ยุคหลังปี 1990s-2000s) ซึ่งหากเราตามกระแสของโลกไม่ทัน ก็ไม่ต่างจากการปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก (ซึ่งแน่นอนมันคงไม่เลวร้ายขนาดทำให้เราไปเก็บผลไม้ในป่า ล่าสัตว์กิน) ซึ่งส่งผลให้เราไม่สามารถก้าวทันและเป็นผู้มีปากเสียงในโลกยุคใหม่นี้ได้

หากเรายังคงให้ประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นที่ยอมรับดำเนินอยู่อย่างนี้ต่อไปท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไปนี้ คนในสังคมที่มีความคิดก้าวหน้าหรือผู้ที่เชื่อในความจริงที่ว่า “โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว” หรือแม้แต่คนธรรมดาสามัญทั่วไป จะทิ้งห่างตนเองออกจากประวัติศาสตร์ไทย เพราะประวัติศาสตร์ไทยนั้นเป็นได้เพียงคัมภีร์ ลัทธิ หรือศาสนาที่ไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับตัวพวกเขาเท่านั้น

ผลด้านลบของประวัติศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดสุดคือ เป็นการริดรอนและบั่นทอนความกล้าวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ด้วยเหตุผลทางวิชาการ ซึ่งปรากฎเด่นชัดในกรณี ส. ศิวลักษณ์ หมิ่นพระนเรศวร ³ หรือการนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามซึ่งปรากฎเด่นชัดในกรณี โพสต์หมิ่น ‘เจ้าแม่จามเทวี’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากความไม่รู้ทางประวัติศาสตร์ การถือว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมิอาจจับต้องได้

แล้วทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์ไทยไม่ตาย ไม่น่าเบื่อจากสังคมไทย และตอบโจทย์และสร้างความเข้าใจต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ?

ผู้เขียนเชื่อว่าการเปิดกว้างทางความคิดและเปลี่ยนระบบคิดด้วยความเชื่อที่ว่า “ความรู้เชื่อมโยงกันหมด” จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาประวัติศาสตร์กระแสหลักนี้ไว้ คือการนำประวัติศาสตร์กระแสรองเข้ามาเป็นหัวข้อถกเถียงอย่างเต็มที่ในชั้นเรียน การศึกษาประวัติศาสตร์ควรเป็นไปอย่างมีเหตุผล และอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ความเป็นโลกาภิวัฒน์จะพรากประวัติศาสตร์กระแสหลักเหล่านี้ไปจากสังคม และประชาชนผู้ไม่มีส่วนร่วมทางประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง

ตวงโชค ชาลีกุล
28 เมษายน 2560
กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย

หมายเหตุ : ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ให้หมายถึงประวัติศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบัน และบางย่อหน้าอาจรวมถึงประวัติศาสตร์ชาตินิยมด้วย

เชิงอรรถ
¹ ประชาธิปไตยคนดี, คือ อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแขนงหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าหากผู้นำเป็นคนดีประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรืองและเป็นปกติสุข ผู้ที่มีอุดมการณ์เช่นนี้จึงมักเพรียกหาบุคคลที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรมอันประเสริฐดีงาม และยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้บุคคลนั้นได้อำนาจปกครองประเทศ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะขัดหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ การกำหนดว่าใครคือคนดีและอะไรคือความดีงามเป็นเรื่องอัตวิสัยและมักขึ้นอยู่กับบุคคลเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
² ทางออกการเรียนการสอนของไทย, “การถกเถียงในชั้นเรียน การโต้แย้งและเอาชนะกันด้วยขอมูล ฟังเสียงและความเห็นจากทุกคน รู้แพ้รู้ชนะด้วยเหตุด้วยผล เป็นหัวใจขอการศึกษารูปแบบใหม่ เป็นกระบวนการสร้างปัญญา ที่จะนำไปสู่การคิดนอกกรอบ สู่ความคิดสร้างสรรค์ และสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และอีกประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้แบบใหม่นี้คือ ครูได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักเรียนผ่านการถกเถียงและข้อมูลใหม่ๆ ที่มีจำนวนมหาศาลที่นักเรียนต่างคนต่างไปค้นคว้ามาแลกเปลี่ยนกัน อย่างไรก็ตาม … ” [ชี้ให้เห็นว่ารัฐมีความกระตือรือล้น และรับรู้ปัญหาของระบบการเรียนการสอนในชั้นเรียน ; ผู้เขียน]
³ ดูเพิ่มได้ที่นี่

อ้างอิง

ชัยพงษ์ สำเนียง. ประวัติศาสตร์ — การสร้างประวัติศาสตร์ชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม ท้องถิ่นชาตินิยม. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2560. จาก: http://www.siamintelligence.com/history-of-nationalism-and-localism-on-thai-identity/

สายชล สัตยานุรักษ์. การสราง “ความเปนไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเปนไทย” สราง. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2560. จาก: http://www.fringer.org/wp-content/writings/thainess.pdf

ธงชัย วินิจจะกูล . (2544) ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยม ใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน. ศิลปวัฒนธรรม, 23(1).

ประวิทย์ โรจนพฤกษ์ โพสต์ จม.สั้นถึงทุกคน ช่วยต้านร่างกฎหมายเผด็จการควบคุมตีทะเบียนสื่อ





จดหมายสั้นถึงทุกท่าน

ผมขอร้องให้ทุกท่านปล่อยวางความสะใจที่เห็นสื่อเชียร์คสช.เพิ่งมาตระหนักหลังผ่านไปเกือบ3ปีว่าเผด็จการคือภัยคุกคามเสรีภาพไว้ก่อน เพราะตอนนี้พรบ.ตีตรวนสื่อจะมีผลประทบถึงการรับรู้ทั้งสังคม จะเปลี่ยนสังคมให้เลวร้ายกว่าปัจจุบันที่ว่าแย่อยู่แล้วอีกมาก นักข่าวที่มีความคิดแสดงออกอย่างอิสระต่อรัฐจะกลายเป็นนักข่าวเถื่อนในอนาคตเพราะไม่ได้รับใบประกอบวิชาชีพ สังคมจะเหลือแต่นักข่าวแบบซิงอลองร้องคาราโอเกะกับเผด็จการอย่างประยุทธุ์ สถานการณ์ตอนนี้เสมือนหนึ่งไฟไหม้ข้างบ้านและไม่ว่าคุณจะหมั่นไส้หรือเกลียดคนข้างบ้านแค่ไหน ถ้าไม่ช่วยดับเราเองก็คงไม่รอด ขอให้ทุกท่านมองภาพรวม ใช้สติเหนืออารมณ์ และมองไปที่อนาคตสังคม อย่าปล่อยให้ไทยเป็นสังคมที่ช่วยกันทำลายตนเองเลย ขอให้ทุกคนช่วยกันโพสต์หรือแชร์ข้อความวิพากษ์ต่อต้านร่างกฎหมายเผด็จการอย่างแข็งขันด้วยครับ ก่อนที่จะไม่มีอะไรแชร์นอกเสียจากข่าวโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐ
รัฐเผด็จการกำลังเข็นร่างกฎหมายนี้ในอีกไม่กี่วัน โปรดแสดงตนให้ประจักษ์ว่าเราจะไม่ยอมเป็นขี้ข้าเผด็จการ

ด้วยความเชื่อมั่นในประชาชน

ประวิตร โรจนพฤกษ์
29 เมษายน 2560
#ป #คสช #เสรีภาพ #สื่อ #พรบสื่อ


A Short Letter to All,
I ask that we all spare schadenfreude for the meantime, upon seeing how slow most of the Thai mainstream press have been in realising that the junta poses a fundamental threat to freedom and focus of the media-control bill that's upon us. If passed, it will have a fatal impact on not just for press freedom but public's rights to be informed. We won't have much left except media propaganda henceforth. The fire is burning next door and I besiege all of you to vocally criticise and oppose the bill and make it evident that Thai people will not be cowed by dictator.

In people we trust,

ooo




พวกเขาเพิ่งตื่น เกือบ ๓ ปีผ่านไป “ร่างกฎหมายคุมสื่อ คือเผด็จการเต็มรูปแบบ”

อ่า เสร็จแล้วเขาไม่ได้ละเมอพูดยามหลับหรอกนะ ที่จริงฝันร้าย ตกใจตื่นขึ้นมาร้องโวยวายกันต่างหาก

เริ่มจาก ผู้จัดการ ชำแหละ เปลวณ ไทยโพสต์ “ลืมไปแล้วหรือ ก่อนหน้านี้ พระราชดำรัสอันเดียวกันที่เคยหยิบมาอ้างถึง ไม่เห็นด้วยกับการซื้อเรือดำน้ำ...มาวันนี้กลับพลิกลิ้น”

ยังไม่หมด แรงส์กว่านั้น “การเอาพระราชดำรัสมาตีความเข้าข้างตัวเอง เป็นเรื่อง หน้าด้าน และ ร้ายแรงอย่างมาก ในวงการสื่อมวลชน ซึ่งไม่มีใครเขาอยากทำกัน”


นั่นอาจทำให้หลายต่อหลายคนงงงวย ไหงสื่อสองรายสายเดียวกัน (อย่างน้อยๆ ตรงที่เกลียดทักษิณเข้าไขกระดูก ไม่ได้เกลียดประยุทธ์ ณ คสช. แม้นอาจไม่ถึง รักละก็) เกิดมา จวก(ไม่แค่จิก) กันเสียนี่

สังเกตุจากโพสต์ของ คนดี สายปฏิรูปผู้หนึ่งไม่เอ่ยถึงเลยทั้งสองหัว (หนังสือพิมพ์) เมื่อ (พล.ต. ดร.) อนุชาติ บุนนาค (April 25 at 5:26 pm) พูดถึง “สื่อไทยมีให้เลือกตามสมัครใจ ไม่มีสื่อใดเป็นกลาง ทุกสื่อเลือกข้างหมด

รักรัสเซียสุดใจ เกลียดสหรัฐฯ สุดโต่ง ชอบถูกหลอกเรื่องสงครามโลกทุกวันก่อนอาหารเช้าและก่อนนอน ไปอ่านทีนิวส์ รักจีนฟังที่เนชั่น รักทักษิณไปว้อยทีวี รักลุงตู่ไป MCOT รักการฆ่าฟัน กัดกันเลือดสาดคอขาดเห็นๆ ต้องไปอมรินทร์”

ตั้งแต่วานนี้ (๒๘ เมษา) คลื่นก่อตัว และมีสิทธิเป็นลูกใหญ่ถ้าได้แรงลมดี “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เชิญชวนผู้สนใจร่วมเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ ๓ พ.ค....

หยุด! ตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน”

เหตุจาก กฎหมายคุมสื่อจะเข้าที่ประชุมใหญ่ สปท. วันเมย์เดย์ ๑ พ.ค. “จัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ...ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน”

และมีบทกำหนดโทษทั้งนักข่าวและสื่อที่ไม่ปฏิบัติตาม “จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เหมือนกัน


ทำให้ ประวิตร โรจนพฤกษ์ กลั้นไม่อยู่โพสต์ว่า “พวกเขาเพิ่งตื่น เกือบ ๓ ปีผ่านไป มาวันนี้ นาย Chvarong Limpattamapanee ประธานสภาหนังสือพิมพ์ได้เริ่มแคมเปญต้านการคุกคามสื่อ”


ขนาด ขาใหญ่“สื่อมวลชนอาวุโส ที่ปรึกษากองบรรณาธิการเครือเนชั่น” ก็ยังอดรนทนเมินกระแสไม่ไหว ออกมา ฟันธงบ้างว่า “ร่างกฎหมายคุมสื่อ คือเผด็จการเต็มรูปแบบ”

อีกคนที่ อจ. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ใบ้ไว้ว่าเป็น บก.ข่าวของหนังสือพิมพ์เลือกข้างเจ้านึง “ด่ากฎหมายควบคุมสื่อฉบับใหม่เป็นชุดเลย ฟังแล้วขำชะมัด เห็นเชียร์ทั้ง กปปส. คสช. มาหลายปี พึ่งเห็นข้อเสียของเผด็จการหรือครับ”

พวกเขาอาจจะไม่ได้เพิ่งเห็น แต่ก็ยินดีนิ่งไว้จนกระทั่งเจ็บเนื้อตัวเองต่างหาก ก็เลยต้องดิ้น

ขณะเดียวกันสื่อที่ถูกผลักไสให้ยืนตรงข้ามกับ คสช. มาตลอด กลับไม่คิดขึ้นคล่อมกระแส เล่ากันแซ่ดขณะนี้ว่าตั้งแต่ ๑ พ.ค. เป็นต้นไป ว้อยซ์ทีวี “เลิกวิเคราะห์ข่าวการเมือง” เด็ดขาด

จากโพสต์ของ ธนาพล อิ๋วสกุล ที่อ้างว่า “แชร์ต่อมาครับ ไม่ได้เขียนเอง” ว่า ทรงศักดิ์ เปรมสุข ซีอีโอคนใหม่ของว้อยซ์ “ประเดิมยกเลิกรายการวิเคราะห์ข่าว ใบตองแห้งออนแอร์ และเตรียมยุติรายการวิเคราะห์ข่าวการเมืองทั้งหมด ปรับเปลี่ยนเป็นการอ่านข่าวตามสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดจากการถูกสั่งปิด

ล่าสุดว้อยซ์ทีวีแสดงท่าทียืนยันเลิกวิจารณ์การเมืองแน่นอนแล้วด้วยการปลดนักวิชาการ บรรณาธิการข่าว นักข่าวอาวุโส ที่ได้รับเชิญมาเป็นผู้ดำเนินรายการร่วม อย่างเช่น พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข, วิโรจน์ อาลี และ อธึกกิต แสวงสุข ออกจากหน้าจอทุกรายการทันทีตั้งแต่ ๑ พ.ค.นี้เป็นต้นไป...

ส่วนรายการที่มีผู้ชมติดตามเหนียวแน่นอย่าง The Daily Dose ที่ดำเนินรายการโดย มล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล จะเน้นเฉพาะเรื่องการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หลีกเลี่ยงวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของไทย”

โพสต์ดังกล่าววิจารณ์ด้วยว่า “การยอมทุบจุดแข็งของตนเองทิ้งทั้งหมดเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย จากที่เชื่อว่าถ้ายังคงวิพากษ์วิจารณ์วิเคราะห์ข่าวการเมืองต่อไป ช่องทีวีตนเองน่าจะถูก กสทช. สั่งปิดซ้ำแล้วซ้ำอีกและอาจถึงขั้นถูกสั่งปิดถาวร

นั้นจะเป็นกลยุทธ์เพื่อความ อยู่รอด ทางธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันอย่างสูงในธุรกิจสื่อดิจิตอลทีวีได้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นเพียง อัตตวินิบาตกรรม ของว้อยซ์ทีวี”


อย่างไรก็ดี มีนักปาฐกในสื่อสังคมเริ่ม ถก และแลกเปลี่ยนกับธนาพลกันบ้างแล้วพอควร โดยเฉพาะในแง่ที่วิพากษ์ว่าว้อยซ์ทีวี เป็นช่องแบบ เพื่อไทย-เสื้อแดง มากเกินไป

ธนาพลเองก็ต่อความยาวเรื่องนี้ด้วยว่า “ถ้าจะปิดช่องวอยส์ทีวีจริง ๆ อาจจะเป็นผลดีต่อทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ก็ได้

เขาตั้งข้อสังเกตุว่า “ข่าวทักษิณ/ยิงลักษณ์ ถูกรังแก เช่นกรณีภาษีย้อนหลัง ซ้ำซาก หรือกรณี จำนำข้าว ทีวีช่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ เหลืองฮาร์คคอร์ ถึงไม่ยอมเล่นสักเท่าไหร่” เพราะ “มีวอยส์ทีวีนี่แหละ ที่ทำหน้าที่แก้ต่างให้แล้ว

การนี้ อธึกกิต แสวงสุข หนึ่งในผู้ดำเนินรายการของว้อยซ์ทีวีที่ยกเลิก ตอบว่า “พูดตามความเป็นจริงคือ ระหว่างยังมีสถานีอยู่ (ต่อให้ไม่มีคนดูก็เหอะ) กับถูกปิดถาวร คุณจะเลือกข้อไหน

ส่วนตัวผมไม่ซีเรียสอะไร ผมมองว่าสถานการณ์มันมาถึงจุดที่ Voice ถอยก็ได้ เพราะรัฐบาลทหาร ขาลงเปิดหน้าชนกับสังคมวงกว้างแล้ว ไม่ว่ากฎหมายสื่อ ซื้อเรือดำน้ำ กฎหมายพรรคการเมือง ยุทธศาสตร์ชาติ เช่าที่ ๙๙ ปี อะไรต่างๆ

ฝุ่นตลบแบบนี้เราไม่ต้องยืนกลางวงก็ได้ ๕๕”