วันพุธ, มีนาคม 01, 2560

วาทกรรมลวงโลก บลา บลา บลา ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ที่กรุงเจนีวา ๒๗ ก.พ. ๒๕๖๐




เห็นบางคนว่าเป็นวาทกรรมลวงโลก ใน ‘speech’ ปาฐกถาของวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รมช.ต่างประเทศของไทยในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ที่กรุงเจนีวา เมื่อวานซืน (๒๗ ก.พ.)

นายวีระศักดิ์จ้อยาวตามหลักวิชาการทูต พูดถึงค่านิยม ทัศนคติ สิทธิมนุษยชน ประชาสังคม ศักยภาพ พันธกรณี บลา บลา บลา อ้อ แล้วไม่ลืมเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

ล้วนแต่คตินิยมอุดมการณ์สำหรับรัฐชาติที่พัฒนาและอารยะ ทั้งนั้น


(ดูข่าวมติชน http://www.matichon.co.th/news/479103 สำหรับรายละเอียด)

แต่ว่าที่เจนีวาเหมือนกัน วันเดียวกัน “ผู้แทนองค์กรพุทธยุโรปรวมถึงผู้ศรัทธาวัดพระธรรมกายกว่า 150 คน เข้ายื่นหนังสือถึง ฯพณฯ เซียด รา แอด ออล ฮุสเซน (His Excellency Zeid Ra'ad Al Hussein) ประธานองค์กรสิทธิมนุษยชน ประจำสหประชาชาติ เพื่อรับทราบเจตจำนงของชาวพุทธยุโรปในการหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยที่มีอันตรายต่อพระพุทธศาสนาดังเช่นกรณีการใช้ ม.๔๔ ต่อวัดพระธรรมกาย”




ที่เจนีวาอีกเช่นกันเมื่อวานนี้ (๒๘ ก.พ.) นางราวีน่า แชมดาสนี โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ แถลงแสดงความผิดหวังที่สภานิติบัญญัติไทย “เก็บขึ้นหิ้ง” ร่างกฎหมายต่อต้านการทรมานและทำให้บุคคลสูญหาย

“เราเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเสนอร่างกฎหมายใหม่อีก เพื่อให้การกระทำที่เลวร้ายควรแก่การประณามดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นความผิดทางอาญา”

โฆษกสำนักข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าวด้วยว่า “การไม่ต้องรับผิดต่อคดีข่มเหงทรมานและการทำให้หายสาบสูญอย่างหักหาญและบังคับขู่เข็ญ เป็นมานานนมเกินไปแล้ว เพราะไม่มีโครงร่างกฎหมายสำหรับเรื่องนี้” ในประเทศไทย

นางราวีน่าระบุด้วยว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ คณะทำงานของสหประชาชาติพบว่ามีบุคคลหายสาบสูญในประเทศไทยแล้ว ๘๒ ราย รวมถึงการสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร ในปี ๒๕๔๗ และนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง โฟลาชี ‘บิลลี่’ รักจงเจริญ ในปี ๒๕๕๗ นี่เอง

(http://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/Media.aspx)





ประเด็นสำคัญในการแถลง ‘แจ้งข่าว’ หรือ briefing ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนครั้งนี้อยู่ที่ บอกว่าจะมีการตรวจสอบรายงานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยครั้งใหม่ในวันที่ ๑๓ และ ๑๔ มีนาคม ที่จะถึงนี้

ซึ่ง “จะมีการไล่เบี้ยเรื่องการปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมหาชนและสิทธิทางการเมืองของรัฐไทยอย่างละเอียด”

ฉะนี้ เป็นที่คาดหวังว่า น่าจะมีการยกกรณีศาลจังหวัดขอนแก่นปฏิเสธที่จะให้ประกันเพื่อปล่อยตัวชั่วคราว ‘ไผ่ ดาวดิน’ อีกเป็นครั้งที่ ๗ วันนี้ขึ้นมาตรวจสอบด้วย

เนื่องจากการประพฤติของศาลในการสั่งขังนายจตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา มาเป็นเวลากว่า ๖๐ วัน ทั้งที่ยังไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดีแต่อย่างใด บ่อยครั้งเมื่อศาลฟังคำร้องขอยกเลิกการถอนประกัน ก็สั่งให้พิจารณาลับ

และในการสั่งให้ขังต่อครั้งที่แล้วศาลใช้เวลาเพียง ๒๐ นาฑี ทั้งที่ฝ่ายจำเลยยื่นเอกสารและพยานบุคคล (รวมทั้ง ส.ศิวรักษ์) มากมาย แสดงว่าศาลไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานเหล่านั้นเลย





ข้อกังขาต่อความเหมาะสมของกระบวนยุติธรรมไทยในคดีไผ่ ดาวดินนี้จึงเกิดขึ้นว่า ข้ออ้างที่ว่า “พฤติกรรมแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เป็นเชิงสัญญลักษณ์เย้นหยันอำนาจรัฐ” ตามความเห็นของศาล

ไม่ให้ประกันครั้งแล้วครั้งเล่านั่น ควรแก่เหตุแล้วไหมในสายตาของชาวโลก