วันพุธ, มีนาคม 15, 2560

รายงานเพิ่มเติมจาก ILAW ... ไทยโว ก้าวหน้าด้านสิทธิในหลายเรื่อง ปัดตอบเรื่องหมิ่นกษัตริย์ พ.ร.บ.ชุมนุมฯและประชามติ - เครือข่ายภาคประชาสังคมซัด ผักชีโรยหน้า ชี้หลังรัฐประหารสิทธิและเสรีภาพถดถอยอย่างร้ายแรง





ไทยโว ก้าวหน้าด้านสิทธิในหลายเรื่อง ปัดตอบเรื่องหมิ่นกษัตริย์ พ.ร.บ.ชุมนุมฯและประชามติ - เครือข่ายภาคประชาสังคมซัด ผักชีโรยหน้า ชี้หลังรัฐประหารสิทธิและเสรีภาพถดถอยอย่างร้ายแรง
.
เมื่อวานนี้ (14 มีนาคม 2560) เวลา 10.00น. ตามเวลาท้องถิ่นที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ คณะผู้แทนไทยมีกำหนดแถลงรายงานและตอบคำถามคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (UN Human Rights Committee) ต่อเป็นวันที่สอง ซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกันที่ประเทศไทยก็มีการจัดกิจกรรมคู่ขนานเป็นเวทีเสวนาและการถ่ายทอดสดการประชุมการทบทวนสถานการณ์สิทธิการเมืองและพลเมือง โดยเป็นการพูดคุยกับภาคประชาสังคมที่นำเสนอรายงานคู่ขนานไปในกลไกการทบทวนครั้งนี้ โดย ภาคประชาสังคมเห็นพ้องกันว่า การรัฐประหารคือจุดพลิกผันของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยที่ถดถอยลงอย่างหนัก คสช.ได้ใช้อำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 มาปิดกั้นและละเมิดสิทธิและเสรีภาพในหลายๆด้าน ทั้งยังไม่มีกระบวนการใดสามารถตรวจสอบอำนาจพิเศษของ คสช.ได้ ขณะที่กฎหมายที่ตราในยุครัฐบาล คสช.ก็เป็นการออกกฎหมายโดยที่ไม่ได้รับฟังเสียงประชาชน
.
สำหรับกระบวนการที่เจนีวา คณะกรรมาธิการเริ่มกระบวนการด้วยการถามคำถามที่ตกค้างมาจากเมื่อวาน ในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ในส่วนที่เกี่ยวกับเรือนจำและการดูแลผู้ต้องขัง โดยถามถึงการคัดแยกผู้ต้องขังระหว่างผู้ที่ถูกขังระหว่างการพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุด และถามถึงวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง
.
ตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมตอบคำถามว่า ในส่วนของการแยกผู้ต้องขังก็มีการแยกตามอนุสัญญา ในส่วนของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ทางราชทัณฑ์มีการออกกฎหมายใหม่ ห้ามการลงโทษโดยการกระทำต่อร่างกายของผู้ต้องขัง การพันธนาการอนุญาตให้ใช้กุญแจมือและกุญแจเท้า และให้พันธนาการเฉพาะเวลาเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังไปศาลหรือย้ายเรือนจำเท่านั้น ตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมรายงานความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับกรณีการหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนและพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี นักสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงด้วยว่า ทางกระทรวงยุติธรรมจะส่งสำนวนคดีให้กรมสอบสวนคดีพิเศษนำไปดำเนินการอีกครั้ง
.
ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติตอบคำถามที่ถูกถามไว้เมื่อวานนี้เกี่ยวกับมาตรการในการใช้กำลังและอาวุธในการควบคุมสถานการณ์ว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการจัดทำคู่มือซึ่งนำเนื้อหามาจากกรอบการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่มีการรับรองร่วมกันในการประชุมที่ฮาวานา คิวบา โดยในการปฏิบัติจะมีการไล่ระดับจากเบาไปหาหนัก มีการเตือนและให้โอกาสผู้ถูกควบคุมปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ ก่อนจะใช้กำลังตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติย้ำด้วยว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นอ่อนไหว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องเข้าอบรมเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยเคารพหลักสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง
.
ตัวแทนจากกรมพระธรรมนูญตอบคำถามตกค้างเกี่ยวกับการฝึกอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนกับเจ้าหน้าที่ทหารว่า การศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนในหมู่เจ้าหน้าที่ทหารถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในหมู่เจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมาย เช่นปฏิบัติการระงับเหตุเกี่ยวกับยาเสพย์ติดหรือการค้ามนุษย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะต้องรับการอบรมเกี่ยวกับการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการจัดทำคู่มือขนาดพกพาเรื่องหลักปฏิบัติ สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการปฏิบัติการ โดยแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่ทหารพกไว้ศึกษายามว่างด้วย ตัวแทนกรมพระธรรมนูญย้ำด้วยว่า การฝึกอบรมที่มากขึ้นทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง
.
ตัวแทนจากศาลยุติธรรมตอบคำถามถึงความเป็นอิสระของศาลว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับอื่นในอดีตต่างให้การรับประกันอิสระในการพิจารณาคดีของศาล โดยศาลเป็นอิสระจากอำนาจอธิปไตยอีกสองขาทั้งบริหารและนิติบัญญัติ การแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนตำแหน่งหรือลงโทษบุคลากรของศาลล้วนเป็นการดำเนินการภายใน ปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก
.
ตัวแทนกรมพระธรรมนูญตอบคำถามที่ถูกถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการพิจารณาคดีในศาลทหารว่า การดำเนินกระบวนการต่างๆในศาลทหารสอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งระยะเวลาการควบคุมตัวในชั้นสอบสวน หลักเกณฑ์การให้ประกันตัว การรับฟ้อง การสืบพยาน ไปจนถึงการทำคำพิพากษา นอกจากนี้ก็ยังมีความโปร่งใสเปิดโอกาสให้ทั้งญาติของผู้ต้องหาและองค์กรสิทธิทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี
.
ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศตอบคำถามถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินคดีบุคคลด้วยมาตรา 112ว่า กฎหมายนี้ไม่ได้เป็นกฎหมายพิเศษ เป็นเพียงความผิดมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญาซึ่งบัญญัติมาตั้งแต่ปี 2499 และมีการปรับแก้อีกครั้งในปี 2519 กฎหมายมาตรานี้มีความจำเป็น สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญและถือเป็นเสาหลักของประเทศ ความผิดมาตรานี้เป็นความผิดลักษณะหมิ่นประมาท ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างไม่อยู่ในสถานะที่จะฟ้องคดีด้วยพระองค์หรือด้วยตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการ กฎหมายมาตรานี้ไม่ได้มีเจตนาปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก แต่มีไว้เพื่อคุ้มครองพระเกียรติขององค์ประมุขแห่งรัฐ ดังที่มีกฎหมายลักษณะเดียวกันคุ้มครองประมุขแห่งรัฐอื่นด้วยเช่นกัน ในการพิจารณาว่าบุคคลใดจะถูกดำเนินคดีก็มีการกลั่นกรองอย่างรัดกุมรวมทั้งผู้ถูกดำเนินคดีก็ได้รับการประกันสิทธิเฉกเช่นผู้ถูกดำเนินคดีอาญาทั่วไป
.
ตัวแทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติตอบคำถามถึงการเรียกบุคคลปรับทัศนคติว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2557 มีการเรียกบุคคลสำคัญรายงานตัว 471 คน เหตุที่ต้องเรียกเพราะสถานการณ์ของประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและมีความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงเห็นความสำคัญที่จะต้องเข้าหาบุคคลสำคัญที่มีบทบาททางการเมืองเพื่อทำความเข้าใจ อันเป็นการป้องกันไม่ให้สถานการณ์บานปลาย นอกจากนี้ยังมีการเรียกบุคคลที่มีแนวโน้มจะก่อความวุ่นวายมาพูดคุยเพื่อขอให้งดเว้นการกระทำด้วย โดยในการควบคุมตัวผู้ถูกเชิญมีสิทธิพบแพทย์ ทนายความและญาติได้ หลังตัวแทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติตอบคำถามนี้ประธานในที่ประชุมขอให้คณะกรรมาธิการได้ถามคำถามต่อซึ่งคำถามบางส่วนได้แก่
.
1.การแก้พ.ร.บ.ศาลทหารเรื่องการให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลระหว่างฝากขังว่าเป็นการแก้ไขมาใช้กับพลเรือนหรือไม่
2. ขอทราบความคืบหน้ากรณีการดำเนินคดีกับสามนักสิทธิที่เปิดเผยรายงานการซ้อมทรมานโดยกอ.รมน.
3. ขอคำชี้แจงกรณีการดำเนินคดีตามมาตรา 116 กับบุคคลที่ใช้สื่อออนไลน์ล้อเลียนนายกรัฐมนตรี
4. ขอคำอธิบายเรื่องการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯในการฟ้องหมิ่นประมาทนักสิทธิมนุษยชน
5. ขอคำอธิบายเรื่องการการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสมาคม เช่นกรณีห้ามจัดกิจกรรมห้องเรียนประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
6. อยากทราบเรื่องการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งมีโทษจำคุก ดำเนินคดีบุคคลที่รวมตัวกันโดยสงบเพื่อทำพิธีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
7. อยากทราบกรณีการดำเนินคดีกับบุคคลสามคนที่ไปสังเกตการณ์การจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 นอกจากนี้ก็อยากทราบว่ามีบุคคลถูกดำเนินคดีด้วยมาตรานี้จำนวนเท่าใด ศาลมีคำพิพากษาว่าอย่างไร และมีความพยายามหรือแนวคิดที่จะทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายนี้หรือไม่
8. เกี่ยวกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขอให้อธิบายการที่มีการบัญญัติโทษจำคุกกับผู้ที่ไม่ได้แจ้งการชุมนุม ตามกฎหมายและข้อทราบรายละเอียดว่า การกำหนดให้ผู้แจ้งการชุมนุมแล้วถูกห้ามชุมนุมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ที่ผ่านมาเคยมีผู้ใช้สิทธิอุทธรณ์หรือไม่และผลเป็นอย่างไร
9. เกี่ยวกับการดำเนินคดีบุคคลด้วยพ.ร.บ.ประชามติฯ ทราบว่าเคยมีบุคคลถูกดำเนินคดีในความผิดฐานที่กฎหมายกำหนดโทษจำคุกจากการแจกใบปลิว จึงอยากทราบถึงความสอดคล้องของการกำหนดโทษดังกล่าวกับพันธกรณีตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
.
ในส่วนของการตอบข้อซักถาม ตัวแทนทางการไทยตอบข้อซักถามบางข้อ ดังนี้
1.ความคืบหน้าคดีสามนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกกอ.รมน.ฟ้องคดีหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขณะนี้มีการถอนฟ้องแล้วและทั้งสองฝ่ายคือนักสิทธิมนุษยชนและกอ.รมนจะมีการประสานงานกันมากขึ้นในอนาคต
2.ตัวแทนกรมพระธรรมนูญตอบเรื่องการแก้พ.ร.บ.ศาลทหารฯว่า การแก้กฎหมายเป็นไปเพื่อปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางทหารให้เคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยลดจำนวนวันฝากขังจาก92วันเหลือ84วันสอดคล้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งการแก้ไขเป็นการแก้กฎหมายเพื่ออำนวยความยุติธรรมในคดีของทหารไม่ใช่พลเรือน
3.ตัวแทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตอบคำถามเรื่องการฟ้องคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ว่า ขณะนี้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่แล้ว ซึ่งในวันที่ 24 พฤษภาคม 2560ที่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ผู้ที่ถูกฟ้องคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯพ่วงกับความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งก่อนและหลังกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้จะพ้นจากความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯเหลือแต่ความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะกฎหมายฉบับใหม่บัญญัติชัดเจนว่า ไม่ให้ใช้ฟ้องควบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยกฎหมายจะมีผลย้อนหลังถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนมีการประกาศใช้ด้วย
.
นอกจากคำถามที่ยกมาข้างต้นคณะผู้แทนไทยยังได้ตอบคำถามประเด็นอื่นๆเช่นประเด็นแรงงานข้ามชาติ และประเด็นสิทธิในการจัดการทรัพยากรด้วย หลังจากหมดตัวแทนที่จะตอบคำถาม ปลัดกระทรวงยุติธรรมขอให้ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ได้แถลงต่อที่ประชุมโดยสรุปได้ว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีความขัดแย้งในตัวเอง ก่อนการรัฐประหารในขณะที่ประเทศมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งประเทศอยู่ในสภาวะแตกแยก รัฐบาลไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาธิปไตยอยู่ในสภาวะล้มเหลวและมีความขัดแย้งในระดับที่เสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมือง การเข้ามาของคณะทหารซึ่งอาจขัดต่อหลักประชาธิปไตยกลับกลายเป็นการนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติมีการวางโรดแมป และการออกกฎหมายกว่า 190 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับก็มีเนื้อหาในทางที่สนับสนุนการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
.
จากนั้นกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนขอใช้เวลาที่เหลือประมาณไม่ถึงห้านาทีถามคำถามเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินกับการเพิ่มขึ้นของคดี112 และคำถามเกี่ยวกับสถานะของคดีชุมนุมที่มีโทษจำคุกซึ่งเคยถามไปก่อนหน้านี้แต่รัฐบาลไทยยังไม่ตอบ อย่างไรก็ตามทางการไทยขอใช้สิทธิตอบเป็นลายลักษณ์อักษรแทนโดยจะส่งคำตอบใน 48 ชั่วโมง หลังจบการแถลงของรัฐบาลไทย ประธานในที่ประชุมอวยพรให้มีการเลือกตั้งและกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว


iLaw

ooo



ประเด็นปัญหาหนึ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ชุด ICCPR ตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทย ก่อนหน้าการประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รอบของไทย ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม นี้ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้แก่ ประเด็นการบังคับใช้ ICCPR โดยองค์กรรัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าศาลในประเทศไทยได้นำข้อบทของกติกา ICCPR มาใช้ในการตีความกฎหมายภายในประเทศหรือไม่ และอย่างไร

แม้รัฐไทยจะตอบคำถามในทำนองว่า หลักการทางสิทธิมนุษยชนใน ICCPR ได้รับการสนับสนุนและพิจารณาโดยศาล แต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า คำวินิจฉัยของศาลต่าง ๆ จำนวนมาก มีแนวโน้มจะตีความรองรับการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่จำกัด สร้างสภาวะตรวจสอบการใช้อำนาจไม่ได้ และไม่ได้คุ้มครองสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด

รายงานชิ้นนี้จะพาไปทบทวนว่าศาลไทยในบริบทหลังการรัฐประหาร ตีความการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างไร และก่อให้เกิดผลอะไรขึ้นบ้าง

+++รายงานพิเศษ: เมื่อศาลไทยตีความกติกา ICCPR รองรับประกาศ-คำสั่งคสช.+++

ชวนอ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.tlhr2014.com/th/?p=3721

ที่มา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน