วันจันทร์, มีนาคม 06, 2560

ดูย้อนหลังงาน ILaw "ใคร ๆก็ไปศาลทหารได้" 3-5 มีนา 2560 สถาบันปรีดี พนมยงค์ - ร้อง คสช. โอนคดีพลเรือนไปยังศาลพลเรือนทั้งหมด + ผิดหวังสื่อกระแสหลักเน้นโควทคำพูดคนมีอำนาจ




ที่มา FB

iLaw











ooo

ร้อง คสช. โอนคดีพลเรือนไปยังศาลพลเรือนทั้งหมด




by สุติมา หวันแก้ว
Voice TV
5 มีนาคม 2560

กรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิและตัวแทนกฎหมายระหว่างประเทศ ร่วมเสวนาในงาน "ใครๆก็ไปศาลทหารได้" โดย iLaw ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ต่างชี้ว่า รัฐบาล คสช. ควรโอนย้ายคดีของพลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ไปยังศาลพลเรือนทั้งหมด

ในเวทีเสวนา 'Do the 'right' thing" เราจะพาพลเรือนกลับศาลยุติธรรม" โดย iLaw ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ในกิจกรรม "ใครๆก็ไปศาลทหารได้" ร่วมพูดคุยกับ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ และนายคิงส์ลีย์ แอบบ็อทคณะกรรมกาคนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กรณีการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร แม้จะมีคำสั่ง คสช. ที่ 55/ 2559 ยกเลิกขึ้นศาลทหารทุกคดี เว้นแต่กระทำผิด ก่อนประกาศ แต่ยังคงชี้ว่า ควรเป็นการโอนย้ายทุกคดีของพลเรือนไปพิจารณายังศาลยุติธรรม เพราะยังถือว่าเป็นการทำผิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

โดยนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความและอดีตนักกิจกรรม 6 ตุลา กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร เป็นสิ่งที่ผิดทั้งกฎหมายและหลักความยุติธรรม แต่เพราะความกลัวอำนาาจ ทำให้ไม่มีใครกล้าตัดสินว่า คสช. ผิด เพราะถืิอว่า คสช. เป็นรัฎฐาธิปัตย์ ทุกคำสั่งเป็นกฎหมาย สถานการณ์ตอนนี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ 6 ตุลา เพียงยังไม่มีคำสั่งพิเศษฝากขัง 360 วัน

ส่วนนายคิงสลีย์ แอบบ็อท คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ชี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามการทำพัดล้อเลียนขึ้นศาลทหารยังคงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน พันธะสัญญาระหว่างประเทศจองไทยกับนานาชาติ พลเรือนไม่ควรจะถูกนำไปขึ้นศาลทหารตั้งแต่แรก เนื่องด้วยไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ศาลทหารมีความเชี่ยวชาญ อิสระ และเป็นกลาง ตามมาตรฐานของสหประชาชนในระดับสากลหรือไม่ เนื่องจากโจทย์ของพลเรือนก็คือ คสช. ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งและมีอำนาจเหนือศาลทหาร

อีกทั้งในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะต้องเจ้าร่วมแถลงทบทวนสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนในประเทศต่อคณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และอาจต้องตอบเหตุผลถึงเรื่องนี้ต่อสาธารณชนแบพประเทศที่กำละงจับตามองสถานการณ์สิทธิของประเทศไทย

พร้อมระบุในช่วงที่มีการบังคับกฎอัยการศึกทั่วประเทศ 25 พ.ค. 2014 - 1 เม.ย. 2015 เกือบหนึ่งปีที่พลเรือนไม่มีสิทธิอุทธรณ์ทาง ICJ ได้รับข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญ พบว่ามีพลเรือนมากกวา่ 2000 คน ถูกขึ้นศาลทหารและในนั้นมีอย่างน้อย 400 กว่าคดีที่ยังคงค้างอยู่ในศาลทหาร แม้ต่อมา คสชฅ จะมีคำสั่งให้ยกเลิกพลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหาร แต่หากยึดโยงกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ก็ควรโอนย้ายคดีทั้งหมดมายังศาลพลเรือน แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นอีกก้าวที่ประเทศไทยจะยังคงให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ย้ำศาลทหาร ก็ควรเป็นของศาลทหาร พลเรือนก็ควรขึ้นของศาลพลเรือน เชื่อว่าหากมีการกดดันจากต่างประเทศบวกกับพลังเรียกร้องของคนในสังคมจะทำให้การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารสามารถถูกยกเลิกในที่สุด

ก่อนปิดท้ายด้วยความเห็นของทนายกฤษฎางค์ ว่าตนยังไม่เห็นพลังภาคอื่นที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยของประชาชน โดยเฉพาะสภาทนายความแห่งประเทศไทย มองว่าเป็นเพราะได้รับของขวัญเป็นตำแหน่ง สปท. หรือ สนช. หรือไม่จึงมองข้าม ทำให้ไม่มีองค์ใดที่จะสนใจการที่ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แม้แต่การออกกฎหมายของ กสม. ยังถูกมองเป็นเสือกระดาษ จะมีพลังได้ต้องเกิดจากการนำไปปฏิบัติ นับตั้งแต่วันที่ยกลิกประกาศกฎอัยการศึก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 สิทธิในการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารหมดลงแล้ว ต้องพาพลเรือนกลับไปพิจารณายังศาลยถติธรรมตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 4 ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญย่อมมีศักดิ์สูงกว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉะนั้น หากมีศาลยุติธรรมที่กล้าหาญ พลเรือนทั้งหมดจะกลับสู่ศาลพลเรือนแล้ว

ooo

'ไอลอว์' ผิดหวังสื่อกระแสหลักเน้นโควทคำพูดคนมีอำนาจ





by ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
5 มีนาคม 2560

องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน “ไอลอว์” ผิดหวังสื่อกระแสหลักเน้นความเห็นของผู้มีอำนาจมากกว่าข้อเท็จจริง เชื่อหากตั้งทีมอย่างหนัง “สปอตไลท์” ในทางธุรกิจก็น่าจะอยู่ได้

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO ด้านสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งในปี 2552 โดยล่าสุดมีความโดดเด่นในฐานะผู้เปิดประเด็นการออกกฎหมายที่กระทบเสรีภาพประชาชนรวมถึงเป็นผู้รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูล สนช. ขาดประชุมจนเป็นที่ฮือฮากระทั่งสื่อกระแสหลักต้องหยิบยกประเด็นดังกล่าวไปเล่นตาม

เนื่องใน “วันนักข่าว” 5 มีนาคม มาฟังคนทำงานด้านการรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างไอลอว์ ซึ่งมีสื่อโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเองและในบางครั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลให้สื่อกระแสหลัก เขามองการทำงานของสื่อกระแสหลักอย่างไร หาคำตอบในบทสัมภาษณ์ "ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" ผู้จัดการไอลอว์

-ไอลอว์ได้วางบทบาทตัวเองเป็นสื่อด้วยตั้งแต่แรกหรือไม่


ไอลอว์เป็นหนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนทำงานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ในขณะที่องค์กรด้านสิทธิมีหลายแบบ ทั้งองค์กรที่ปกป้องสิทธิโดยตรง เช่น ทนายความ หรือคนที่ลงพื้นที่ไปอยู่กับชาวบ้าน หรือองค์กรที่ทำงานรณรงค์เช่นกัน แต่รณรงค์เชิงล็อบบี้ พยายามเข้าหาผู้มีอำนาจ เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาบางอย่าง

ส่วนไอลอว์ทำงานรณรงค์สาธารณะ โดยใช้สื่อออนไลน์ แล้วแต่ว่าใครจะมองว่าเป็นสื่อหรือเปล่า ผมก็คิดว่าหลายอย่างที่เราทำก็ใช่สื่อ คือ เรามีเว็บไซต์ มีแพลตฟอร์ม มีช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง แต่บางแง่เราก็แตกต่างจากสื่ออาชีพ เราไม่ได้รับโฆษณาและรายได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับยอดคลิ๊ก ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือ เราไม่ได้ทำอะไรเพียงหวังให้คนคลิ๊กเข้ามาอ่าน ไม่ได้หวังยอดไลค์ หรือจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ ข้อเสียคือ ความเป็นมืออาชีพ ความสม่ำเสมอของงานอาจจะต่างสื่ออาชีพ

-สื่อกระแสหลักนำข้อมูล iLaw ไปใช้เป็นจำนวนมาก

ตั้งใจอยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะทำงานรณรงค์ทางสังคม เป้าหมายต้องการให้ข้อมูลไปถึงคนให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะช่องทางไหน รวมถึงหากมีคนก๊อบปี้งานไปก็ทำได้ งานเว็บไซต์เราเป็นครีเอทีฟคอมมอนท์เป็นสมบัติสาธารณะ เราไม่ได้หวงกันลิขสิทธิ์ ไม่ได้ไปฟ้องดำเนินคดีกับใคร

-ถูกนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ให้เครดิต

ก็รู้สึกงอนนิดหน่อย เป็นเรื่องมารยาทในสังคมระหว่างสื่อแต่ละประเภทที่แย่งชิงพื้นที่ข่าว แย่งชิงข้อมูลกัน แต่ก็ไม่ได้โกรธขนาดจะใช้กฎหมาย บางทีเรารู้สึกน้อยใจบ้างว่า สื่อกระแสหลักมีทรัพยากรมากกว่าเรา มีคนมากกว่าเรา มีอุปกรณ์ดีๆ มีกล้องดีๆ ทำไมไม่ถ่ายเอง ทำไมไม่ทำรูปเอง บางทีเขาก็เอาไปเลย บางทีเขาก็ไม่ได้อ้างอิงด้วยซ้ำ หรือบางที บางคนเอาไปอ้างว่าเป็นของตัวเองด้วยซ้ำ ก็ไม่ได้ดำเนินคดีอะไร ถือว่าต้องดีใจที่เห็นคุณค่าข้อมูลของเรา ช่วยเอาไปเผยแพร่ต่อ

อินโฟกราฟฟิคที่เราทำก็จะติดโลโก้ ก็แค่ไม่ต้องเอาโลโก้ออก ก็ใช้ทั้งอย่างนั้น ก็โอเคแล้ว

-เข้าถึงแหล่งข้อมูลอย่างไร สร้างแหล่งข่าวเหมือนนักข่าวหรือไม่

จริงๆ อยากทำให้ได้เหมือนนักข่าว แต่ยังทำได้ไม่ดีเท่า เราไม่มีแหล่งข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลภายในหน่วยงานของรัฐ องค์กรที่รับผิดชอบเรื่องราวต่างๆ ทุกวันนี้ข้อมูลหลักๆ ได้มาจากสิ่งที่เปิดเผยมาแล้ว แต่บางคนอาจจะไม่ได้มองลึกลงไป เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าประชุม สนช. ทั้งหมดอยู่บนเว็บไซต์ สนช.เอง ไม่ใช่ได้ข้อมูลพิเศษอะไรมาเลย ก็แค่ไปเปิดดูบันทึกการประชุม บันทึกการลงมติ แต่ละนัด แต่ละวัน แล้วก็นั่งนับ ก็เอาข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วมาสืบสาวค้นคว้า เรียบเรียงต่อ ไม่มีข้อมูลลับ ไม่เคยมีเอกสารลับ เคยพยายามหาแต่ก็ไม่ได้ ข้อมูลซุบซิบวงในก็ไม่มี เรียกได้ว่าทำงานในที่แจ้งล้วนๆ ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลแค่ไหนเราก็รู้แค่นั้น แล้วก็เอามานำเสนอต่อ

-ข้อมูลที่อยากรู้แต่ยังเข้าไม่ถึง


สิ่งที่เราอยากรู้มากคือกฎหมายฉบับไหนจะเข้าสภาวันไหน เราไม่รู้ล่วงหน้า เรารู้เมื่อเข้าสภาแล้ว เมื่อสนช.เอาขึ้นเว็บไซต์ แต่บรรดากฎหมายที่เอาเข้าครม. ค้างเป็น 100 ฉบับ เมื่อไหร่ ครม.จะหยิบขึ้นมาแล้วดันเข้า สนช.อันนี้ไม่ทราบเลย แล้วก็ไม่รู้ว่าจะรู้ได้อย่างไร เคยพยายามถาม แต่ไม่ได้คำตอบ

-คิดว่าตัวเองไร้ข้อจำกัด แตกต่างจากสื่อกระแสหลักอย่างไร

ผมคิดว่าข้อเด่นของเราอย่างหนึ่งซึ่งเป็นข้อดี เราไม่ได้พึ่งพิงรายได้จากยอดคลิ๊ก หรือยอดไลค์ หรือปริมาณว่าวันหนึ่งเราจะต้องนำเสนอกี่ชิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเรามีจำนวนคน ในระดับใกล้เคียงกับสื่อกระแสหลักสักแห่งหนึ่ง เราก็จะใช้ทรัพยากรคนของเราในการทำงานชิ้นที่ลึกขึ้น แต่ใช้เวลานานขึ้น ไม่ต้องรีบเผยแพร่

ในความเป็นจริง เราก็ไม่ได้มีอะไรออกเผยแพร่ทุกวัน เพราะแต่ละคนใช้เวลาทำงานนาน เช่น การติดตามคดี บางคดีใช้เวลาพิจารณาหลายนัดเป็น 10 วัน บางคดีต้องเดินทางไปต่างจังหวัดด้วย กระบวนการทั้งหมดทำมาเพื่อเขียน 1 ชิ้น แต่เราก็รู้สึกว่าชิ้นนั้นมีคุณค่าและอาจจะลึกกว่าสื่อกระแสหลักที่ทำข่าวรายวันจะเขียนได้ ข้อดีคือมีเวลามากกว่า จึงทำงานได้ลึกกว่า

-มีคนทำงานทั้งหมดกี่คน


เจ้าหน้าที่ประจำ 9 คน เรียนจบต่างคณะ เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา นอกจากนั้น อ.จอน อึ๊งภากรณ์เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นพาร์ทไทม์ไม่เต็มเวลา มีฝ่ายการเงิน 1 คน อีก 8 คน ทำเนื้อหาแบ่งเป็น 2 ทีม คือทีมติดตามคดีกับทีมติดตามการออกกฎหมาย

-เวลาติดตามข้อมูลภาคสนามต้องเผชิญปัญหาอย่างไร ไม่ว่าจะติดตามที่รัฐสภา หรือสถานีตำรวจ

มีอุปสรรค เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ไม่รู้จักเรา ตำรวจจะไม่ค่อยรู้จัก ทหารก็ไม่ทราบว่ารู้จักหรือเปล่า แต่อีกองค์กรหนึ่งที่ไม่รู้จักเราจริงๆ เลยก็คือศาล ขณะที่เราต้องไปสังเกตการณ์ที่ศาลบ่อย โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น คดีการเมือง

เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่คิดว่าเราเป็นพวกนักศึกษา จะมาประท้วงหรือเปล่า พอบอกว่ามาจาก ไอลอว์ เป็น NGO มาจากโครงการนี้ ทำเรื่องการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ทำเรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ก็จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง ต้องใช้เวลามากหน่อยในการทำความเข้าใจกัน

-ผ่านอุปสรรคไปได้แต่ต้องใช้เวลา

ถ้าการขอข้อมูล ส่วนใหญ่ผ่านไปได้ คือจะได้รับข้อมูล แต่ต้องใช้เวลามาก แต่งานเฉพาะหน้าในสถานการณ์ร้อนๆ เรามักจะถูกกันออก เช่น ศาลทหาร ในวันที่คนมาดูการพิจารณาคดีมากๆ เขาจะกั้นตั้งแต่ทางเข้าเพื่อไม่ให้เข้า ถ้าเป็นองค์กรระหว่างประเทศมาสังเกตการณ์ เป็นชาวต่างชาติใส่สูทผูกไทด์มา สามารถเดินเข้าไปได้เลย

แต่พอเราแสดงตัวว่าเรามาจากไอลอว์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ แสดงนามบัตรก็เข้าไม่ได้ สถานะที่ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ ยังไม่เท่าองค์กรที่ใหญ่กว่า หรือทำมานานกว่า

-ในอนาคตจะเป็นเว็บไซต์ข่าวด้วยหรือไม่

คิดว่าไม่ได้อยากเป็นเว็บไซต์ข่าว เพราะมีข้อจำกัด ต้องแข่งกับเวลา ต้องแข่งปริมาณ ทำให้ไม่ได้ความลึกและไม่ได้ความละเอียด เราก็คิดว่าอยากจะจับประเด็นลึกและประเด็นละเอียด ที่สำคัญคือเราจับประเด็นเฉพาะ คือจับบางเรื่อง ไม่จับบางเรื่อง เช่น เรื่องธรรมกาย หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ก็เป็นเรื่องที่เราสนใจ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในขอบเขตองค์กรเสียทีเดียว เราก็เลยไม่ได้ไปทำมากนัก เพราะถ้าตามศึกษาประเด็นอื่นๆ มาก จะกระทบกับเรื่องที่เราต้องใช้เวลารับผิดชอบ

ฉะนั้น เราจะติดตามประเด็น 2-3 เรื่องชัดๆ คือตามกฎหมายและประเด็นเรื่องเสรีภาพ ทีนี้ เมื่อเราโฟกัสเฉพาะบางประเด็น เราจะมีเวลาอยู่กับมันมากขึ้น พออยู่กับมันมากขึ้น มันก็ลึกได้ ละเอียดได้

-ไอลอว์ ประเมินความสำเร็จของตัวเองอย่างไร

วัดจากความรับรู้ของสังคมจากเรื่องเรื่องหนึ่งที่เราส่งออกไป คือคนไม่ต้องอ่านจากเว็บเราก็ได้ สมมุติว่าเฟซบุคของไอลอว์มียอดไลค์น้อย ก็ไม่เป็นไร ถ้าเรื่องนั้นมันไปถึงหูคนอื่น อาจจะผ่านสื่อไหนก็ได้ที่หยิบไปเล่นต่อ หรือเรื่องนั้นคนในสังคมเคยได้ยินบ้าง เช่น ตอนนี้ ไอลอว์ ทำงานหนักเรื่องศาลทหารอยู่ ถ้าคนในสังคมเริ่มได้ยินว่า การใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนมีปัญหาอย่างไร ไม่ว่าจะได้ยินช่องทางไหน เราก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งจริงๆ ก็มีน้อยมาก ที่ประสบความสำเร็จ(หัวเราะ)

-รายได้มาจากไหน

รายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มาจากเงินบริจาค จากแหล่งทุนต่างประเทศ มีรายย่อยบ้างเล็กน้อย

-แหล่งทุนพิจารณาว่าจะสนับสนุนทุนต่อหรือไม่ เขาประเมินการจากอะไร

ประเมินหลายอย่าง แหล่งทุนส่วนหนึ่งประเมินจากเนื้อหาของเรา มีพื้นที่ในส่วนอื่นแค่ไหนด้วย อันนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ว่าเท่าที่ทำงานมา แหล่งทุนไม่เคยถามหายอดไลค์ ยอดคลิ๊กแต่ละบทความ เขาจะดูว่าเรื่องนั้น เป็นที่รับรู้ไหม

จริงๆ สิ่งที่แหล่งทุนสนใจกว่าคือ เรานำเสนอเรื่องราวออกไปแล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือเปล่า ถ้านำเสนอออกไป ยอดคลิ๊กไม่มีเลย แต่ทุกสื่อรายงาน แล้วสุดท้ายเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แล้วในทางนโยบายขยับ ปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้นบ้าง ผมคิดว่าอันนี้เป็นตัวชี้วัดที่ดีกว่า

-ไอลอว์ไม่ใช่สื่อ มองสื่อกระแสหลักมีข้อบกพร่องอย่างไรหรือเป็นเรื่องเข้าใจได้

คือผมคิดว่าในยุคนี้ทุกคนเป็นสื่อได้อยู่แล้ว ไม่ถึงกับว่าเราไม่ใช่สื่อ เพราะทุกคนที่พยายามจะเล่าเรื่องของตัวเอง หรือเล่าเรื่องที่ตัวเองเห็นมา ทุกคนก็ทำหน้าที่สื่อได้หมด เพียงแต่ใครจะเป็นสื่ออาชีพหรือไม่ใช่สื่ออาชีพ อย่างเราไม่ใช่สื่ออาชีพ หมายความว่า เราไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือดำรงชีพอยู่ได้จากการสื่อสารเท่านั้น

ส่วนคำถามที่ว่ามองสื่อยังไง พูดจริงๆ ผมค่อนข้างผิดหวังกับสื่อกระแสหลักปัจจุบัน ซึ่งเข้าใจได้หรือเปล่าก็เข้าใจได้แต่ก็ไม่พอใจ เพราะอยากให้สื่อกระแสหลักดีกว่านี้

หลักๆ เลย สื่อกระแสหลักในมุมมองที่ผมสัมผัสมาคือ เอาข่าวรวดเร็ว ไม่เอาข่าวละเอียด และชอบอ้างอิงข่าวจากบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นคนในรัฐบาล คนในอำนาจ ตัวอย่าง เช่น เราทำเรื่องขาดประชุม สนช. ปรากฏว่าข่าวแรกที่ออกมา ไม่ใช่ข่าวว่า ไอลอว์เปิดข้อมูล แต่เป็นข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่าอะไร คุณพรเพชร วิชิตชลชัย กล่าวว่าอะไร คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่าอะไร

ส่วนข้อมูลจริงๆ ที่เราทำมา มันไม่ได้มีพื้นที่ที่ถูกนำเสนอขึ้นไป เพราะว่าเราไม่มีคนที่มีชื่อเสียงออกมาให้สัมภาษณ์ ผมมองว่าสื่อกระแสหลัก เอาแต่โควทคำเด็ดจากคนใหญ่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 90 กว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของคนนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และอีกจำนวนมากก็เป็นเรื่องไม่จริง เช่น ผู้มีอำนาจอาจจะอารมณ์เสีย เจอไมค์จ่อปากเขาก็พูดโดยไม่ตั้งสติ สื่อก็โควทเลย พาดหัวได้แล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ความจริง แล้วสังคมก็เสพแต่ความคิดเห็นผู้มีอำนาจ

ส่วนสื่อที่พยายามให้พื้นที่กับฝ่ายตรงข้าม ก็จะใช้วิธีเอาไมค์จ่อปากให้ด่าสวนกับผู้มีอำนาจ แล้วสังคมก็เสพแต่ความคิดเห็นที่สวนกันไปมา แต่ข้อเท็จจริงไม่ถูกนำเสนอออกมา ซึ่งผมก็คิดว่า ผมอยากเห็นสื่อที่พยายามตามข้อเท็จจริงให้มากขึ้น เช่น เรื่องการขาดประชุม สนช. ก็อยู่ในเว็บไซต์ สนช.อยู่แล้ว จริงเท็จอย่างไร ก็อยู่ตรงนั้น ถ้าสื่อจะนำเสนอก็ไปอ่าน ตรงนั้นแล้วนำเสนอ ไม่ต้องสัมภาษณ์ใครก็ได้ แต่หลายครั้งเขาก็จะใช้วิธีสัมภาษณ์ และหลายครั้งผู้ให้สัมภาษณ์ผิดชัดเจน เช่น คุณพรเพชร บอกว่า ไอลอว์ หาว่ามีการประชุม 400 วัน ซึ่งเราไม่เคยพูดว่ามีการประชุม 400 วัน เราพูดแค่ว่ามีการลงมติ 400 ครั้ง ซึ่ง 1 วันอาจจะลงหลายครั้งก็ได้ คุณพรเพชรพูดว่า ไอลอว์มั่ว เราไม่เคยประชุม 400 วัน สื่อก็เขียนตาม ทั้งที่ไอลอว์ไม่เคยพูดว่า 400 วัน ถ้าสื่อคนนั้น ได้อ่านก่อนว่าไอลอว์ พูดว่าอะไร สิ่งที่คุณพรเพชรพูด มันจะไม่เป็นข่าวเลย มันจะไม่มีพื้นที่ต้องนำเสนอเลย ก็คิดว่า คาดหวังกับสื่อมากกว่านี้

-ทางออก

ผมเข้าใจว่า ที่สื่อเป็นแบบนี้ เพราะต้องแข่งกับเวลา เพื่อแข่งกันเรียกยอดคลิ๊ก ยอดไลค์ เพื่อรายได้ แต่ผมก็เข้าใจว่า ถ้าสื่อที่ใส่ใจมากพอ แล้วตั้งระบบที่มีทีม เหมือนหนังสปอตไลท์ คือมีทีม 4-5 คน ที่ไม่ต้องทำข่าวรายวัน แต่เกาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ลึกและให้ชัด จริงๆ ข่าวแบบนั้นก็มีคนอ่านและก็มียอดไลค์ไม่น้อยเหมือนกัน ถ้ามันสามารถเปิดประเด็นอะไรใหม่ๆ ให้สังคมได้ ผมคิดว่าจริงๆ ในทางธุรกิจผมก็คิดว่าน่าจะอยู่ได้