วันจันทร์, มีนาคม 13, 2560

ถึงจุดนี้คำตอบสำเร็จรูปที่คณะผู้แทนไทยไปแจงต่อที่ประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) น่าจะไม่มีความหมายเท่าไรนัก





ถึงจุดนี้คำตอบสำเร็จรูปที่คณะผู้แทนไทยไปแจงต่อที่ประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) น่าจะไม่มีความหมายเท่าไรนัก

ไม่มากไปกว่า ‘รายงานเงา’ (Shadow Reports) ที่องค์กรประชาสังคมและหน่วยงานสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ๑๗ แห่ง ส่งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ไว้ประกอบการพิจารณา ก่อนหน้าการซักถามตรวจสอบพันธะกรณีของไทย (สามทุ่มคืนนี้ ที่ ๑๓ มีนาคม) แน่นอน

คำตอบสำเร็จรูปดังกล่าวที่ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรมนำคณะ ๔๖ คน ไปแก้ต่างกู้หน้าให้รัฐบาลทหาร คสช. ในนครเจนีวา ได้มีการเผยแพร่นำร่องไว้แล้วตั้งแต่เมื่อวาน

(http://www.tlhr2014.com/th/?p=3674)




ดูจากคำตอบในประเด็นการใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ “รัฐบาลระบุว่าจำเลยมีสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับคดีอาญาอื่น ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิยื่นขอประกันตัว และได้รับการพิจารณาโดยศาล ขณะที่ศาลก็อาจพิจารณาให้มีการคุมขังก่อนการพิจารณาคดีได้ โดยพิจารณาความร้ายแรงของคดี”





เฉพาะเรื่องนี้มีรายงานเงาซึ่งเสนอโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) ระบุว่า

“พบว่าหลังการรัฐประหาร มีการพิจารณาคดีนี้อย่างน้อย ๙๐ คดีโดยศาลทหารและศาลอาญา ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากช่วงก่อนรัฐประหาร...

บางคดียังถูกลงโทษจำคุกด้วยโทษที่หนักหน่วง...ด้วยข้อหาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กหลายข้อความในทำนองวิจารณ์สถาบันกษัตริย์

สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) กล่าวว่าโทษดังกล่าวเป็นโทษสูงสุดในคดีข้อหานี้ นับแต่เริ่มบันทึกรวบรวมในปี ๒๕๔๙...

ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกตั้งข้อหานี้เพียงเพราะแชร์ข่าวสารต่อในเฟซบุ๊ก หรือลงข้อความในเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ อาทิเช่น คดีของนายจตุภัทร (‘ไผ่’) บุญภัทรรักษา ถูกตั้งข้อหาจากการแชร์บทความของบีบีซีไทยเกี่ยวกับประวัติรัชกาลที่ ๑๐”

เช่นนี้ มันสะท้อนย้อนไปถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิการชุมนุมโดยสันติ

เนื่องจาก คสช. ได้ใช้กรอบกฎหมายทั้งใหม่และเก่า “เพื่อจับกุมลงโทษนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว ทนายความ นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว และฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง”

แม้ว่าศาลได้ดำเนินการพิจารณาคดีโดยสามารถอ้างอิงกับระเบียบกฎหมายได้เป็นส่วนใหญ่ แต่กระนั้น “คดีดังกล่าวก็ส่งผลกระทบในทางที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ที่จะใช้สิทธิของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก”

กฎหมายเหล่านี้ได้แก่ “การหมิ่นประมาททางอาญา, มาตรา ๑๔ ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, มาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖ ของประมวลกฎหมายอาญา”

ตอนท้ายของรายงานเงามีข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคำตอบอย่าง ‘น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง’ ของรัฐบาลไทย

อันเป็นข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมสากล ควรแก่การนำไปปฏิบัติเพื่อยกระดับความมีมนุษยธรรมโดยกฎหมายของไทย ปลอดจากการถูกเพ่งเล็งโดยชุมชนนานาชาติพัฒนา

หลังจากที่ประเทศไทยตกเป็นเป้าตั้งข้อสงสัยอย่างหนักจากวิธีการปกครองโดยอำนาจพิเศษเบ็ดเสร็จมาแล้วเกือบสามปี

หนึ่งในนั้นได้แก่ “ยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยเฉพาะในมาตรา ๔๔, ๔๗ และ ๔๘

ตลอดจนดำเนินขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อให้หลักประกัน ในการนำกลับคืนมาซึ่งรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน”

นอกจากนี้มีประเด็นอื่นๆ ที่เข้าถึงความจริง สัมผัสและปฏิบัติได้ ไม่ล่องลอยฟุ้งเฟื่องด้วยโวหาร อาทิ

“ยกเลิกมาตรา ๓๒๖ ถึง ๓๒๘ ของประมวลกฎหมายอาญาซึ่งบัญญัติให้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นความผิดทางอาญา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยในด้านกฎหมายระหว่างประเทศภายใต้กติกาฯ

– แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๔ ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้หลักประกันว่าจะไม่ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นความผิดทางอาญา ไม่ว่าในสถานการณ์เช่นใด

– แก้ไขมาตรา ๑๑๒ ของประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยในด้านกฎหมายระหว่างประเทศภายใต้กติกาฯ

– ให้หลักประกันว่าจะไม่นำมาตรา ๑๑๖ ของประมวลกฎหมายอาญามาใช้ดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ใช้สิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกและการสมาคม”

(ปัจฉิมลิขิต: รายงานภาษาอังกฤษฉบับเต็ม https://www.icj.org/joint-submission-to-the-un-human-right…/)