วันพฤหัสบดี, มีนาคม 02, 2560

มีแต่แพ้ทั้งคู่ ไม่มีใครชนะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คสช. หรือธรรมกาย

กรณีธรรมกายจะจบอย่างไร
ชำนาญ จันทร์เรือง

ผมเชื่อว่าทุกคนที่ติดตามข่าวการใช้ ม.44 ต่อวัดธรรมกายอยากรู้ว่ากรณีนี้จะจบลงอย่างไร เพราะยิ่งนานวันเข้าความยุ่งยากยิ่งตามมา มิหนำซ้ำยังเกิดกรณีการกระทำอัตวินิบาตกรรมของคุณอนวัช ธนเจริญณัฐ ขึ้นมาอีก

การแตกแยกทางความคิดต่อกรณีธรรมกายกระจายไปอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่ามีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ประหนึ่งว่าเราได้หวนกลับไปสู่ยุคกีฬาสีขึ้นอีกครั้ง แต่เปลี่ยนคู่ขัดแย้งใหม่ คือฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ ม.44 ต่อวัดธรรมกาย

ความเป็นไปเป็นมาและสาเหตุของการใช้ ม.44 นั้นมีผู้ให้ความเห็นไว้มากแล้ว ผมคงจะให้ความเห็นเพียงสั้นๆ ว่าเป็นเรื่องของการเมือง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะลำพังการมุ่งที่จะจับกุมพระรูปหนึ่งที่จากฐานความผิดฟอกเงินและรับของโจรนั้นคงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ ม.44 แต่อย่างใด

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พยายามเข้าจับกุมถึง 2 ครั้งแต่ไม่สามารถทำได้ จึงถูกมองว่าเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ ซึ่งในที่นี้ก็คือรัฐบาล คสช.นั่นเอง คสช.จึงยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้ลอยนวลต่อไป

แต่ประเด็นที่ตามมาก็คือ คสช.ตั้งโจทย์ถูกหรือไม่ ใช้คนหรือหน่วยงานตรงกับภารกิจหรือไม่ ถ้าตรง ผลที่ตามมาก็ย่อมที่จะประสบความสำเร็จ และถ้าไม่ตรง ผลที่ตามมาก็ย่อมที่จะประสบความล้มเหลว และสิ่งจะตามมาภายหลังจากความล้มเหลวก็คือ ความเสียหายอันไม่อาจคาดเดาได้นั่นเอง

ใช้ ม.44 เหมาะสมแก่กรณีหรือไม่

แม้ว่า หน.คสช.จะยืนยันว่าการใช้ใช้ ม.44 ในกรณีนี้เหมาะสมแล้ว เพราะเหตุที่ใช้กฎหมายปกติไม่ได้ผล ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการใช้ยาที่แรงเกินขนาดของอาการ เพราะมีการปิดทางเข้าออกทำให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

ในความเห็นของผม ช่องทางตามกฎหมายปกตินั้นสามารถกระทำได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่องทางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ซึ่งผมก็ยังเห็นว่าแรงไปอยู่ดี) ฯลฯ 

ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ทำไมถึงจับไม่ได้ มันอยู่ที่ทำไมไม่เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาต่อพระธรรมชโยที่วัดธรรมกาย ซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว และที่ผ่านมาพระธรรมชโยก็มีหลายคดีติดตัวซึ่งอยู่ในการพิจารณาของศาลโดยไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด

เหตุผลที่สำคัญก็คือการกระเหี้ยนกระหือรือที่จะจับสึก โดยวิธีการที่ส่อแสดงให้เห็นว่าจะไม่ได้รับการประกันตัว จึงเป็นที่มาของการไม่ยอมเข้ามอบตัวเพราะกลัวการถูกจับสึก ซึ่งในทางพระก็ถือว่าคือการประหารชีวิตนั่นเอง

ยังมีคำถามต่ออีกว่าทำไมกรณีพระพิมลธรรมในอดีต แม้ว่าจะถูกดึงผ้าเหลืองออกจากกายแล้วท่านก็ยังนุ่งผ้าขาวต่อไป จนในที่สุดของการพ้นข้อกล่าวหา คำตอบก็คือกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่มีหลักประกันใดๆ ที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ต้องหาว่าจะอยู่รอดปลอดภัยได้

ฉะนั้น ผลลัพธ์อันหนึ่งของการใช้ ม.44 ในกรณีนี้ก็คือ มีคนตายเกิดขึ้นแล้ว คือคุณอนวัช ธนเจริญ แม้ว่าจะมิได้เกิดจากการใช้กำลังโดยตรงก็ตาม

ใช้เจ้าหน้าที่เหมาะสมถูกต้องหรือไม่

ในกรณีนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกเป็นกรณีการเข้าจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งคดีนี้ถูกจัดให้เป็นคดีพิเศษ การใช้เจ้าหน้าที่คดีพิเศษแล้วตำรวจให้การสนับสนุนนั้นก็ถูกต้องแล้ว แต่ปัญหาก็คือมีการใช้เจ้าหน้าที่เป็นหลายพันคน มิหนำซ้ำยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารปรากฏตามภาพข่าวเผชิญหน้ากับพระสงฆ์ นั้นดูอย่างไรก็ไม่เหมาะ

ส่วนประเด็นที่สองเกี่ยวกับการบริหารจัดการของวัดธรรมกาย ตลอดจนคำสั่งสอนที่ถูกโจมตีว่าบิดเบือนไม่ใช่ “พุทธแท้” และจะต้องถูกทำลายลงหรือทำให้ถูกต้อง นั้นย่อมมิใช่เรื่องของฝ่ายบ้านเมืองหรือฝ่ายอาณาจักรอย่างแน่นอน แต่เป็นเรื่องขององค์กรสงฆ์ซึ่งในที่นี้ก็คือมหาเถรสมาคม เพราะวัดธรรมกายสังกัดคณะสงฆ์ไทยภายใต้ พรบ.คณะสงฆ์ฯ

การใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมหรือยึดวัดพระธรรมกายซึ่งถือว่าเป็นศาสนสถาน ย่อมเกิดภาพที่ไม่ดีต่อชาวโลก เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของการนับถือศาสนาอย่างร้ายแรง ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์ขององค์กรศาสนาต่างประเทศหลายๆ องค์กรและองค์กรสิทธิมนุษยชนด้วย

แล้วจะจบลงอย่างไร

ผมคิดว่ากรณีนี้คงไม่ต่างจากกรณีที่เกิดมาในอดีตของไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีพิพาทระหว่างธรรมยุตินิกายกับมหานิกาย หรือระหว่างมหาเถรสมาคมกับสันติอโศก และกรณีนี้หลายคนก็มองไปว่าเป็นกรณีพิพาทระหว่างพระธัมมชโยกับพระพุทธอิสระ ซึ่งจะหาใครแพ้ชนะได้โดยเด็ดขาดยาก

ตัวพระธัมมชโยเองนั้นในที่สุดก็คงต้องหนีออกนอกประเทศไป ในประเทศไทยเราที่เงินสามารถซื้อได้เกือบทุกอย่างนี้สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของวัดธรรมกายเองซึ่งมีสาขาอยู่ถึง 84 สาขาใน 31 ประเทศทั่วโลก และวัดธรรมกายเองก็เป็นนิติบุคคล รัฐไม่สามารถจะไปทำอะไรได้มากนัก แม้ว่าจะใช้ ม.44 อีกก็ตาม

กองกำลังอะไรต่างๆ ก็ต้องถอนออกมาเพราะไม่มีเหตุที่จะต้องคงกำลังอยู่ต่อไป เพราะจะตอบคำถามไม่ได้ว่าตกลงจะจับพระธัมมชโยหรือจะยึดธรรมกายกันแน่

กล่าวโดยสรุป กรณีนี้ไม่มีใครชนะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลคสช.หรือธรรมกาย มีแต่แพ้ทั้งคู่ 

รัฐบาลคสช.เองที่ใช้ ม.44 ก็แพ้เพราะใช้ ม.44 แล้วไม่ได้ผล วัดธรรมกายเองก็แพ้เพราะทำให้ผู้คนที่ไม่เคยรู้ว่าธรรมกายใช้วิธีการถ่ายทอดธรรมะและหารายได้ด้วยวิธีการแปลกประหลาดมหัศจรรย์จนแทบไม่น่าเชื่อว่าผู้คนจะสละทรัพย์สินเงินทองจนหลายรายหมดเนื้อหมดตัวไปได้ถึงขนาดนี้ก็ได้รู้

รัฐบาล คสช.ต้องเร่งพิจารณาทบทวนว่าการใช้ ม.44 นั้นไม่เหมาะสม และวัดธรรมกายเองก็ต้องทบทวนท่าทีและยุทธวิธีที่ตอบโต้ต่อการจัดการของรัฐเช่นเดียวกัน เพราะการปิดกั้นไม่ยอมให้ตรวจค้นนั้นย่อมแสดงถึงเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์อย่างแน่นอน

-----------

หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 1 มีนาคม 2560