วันเสาร์, มีนาคม 04, 2560

ชวนอ่าน... วิธีการทำให้รัฐปลอดศาสนาในฝรั่งเศส - ปิยบุตร แสงกนกกุล





วิธีการทำให้รัฐปลอดศาสนาในฝรั่งเศส เริ่มต้นในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส โดยแบ่งเป็นสองสาย สายแรก โหดมาก คือ Hébert พวกนี้ ทำลายศาสนาให้เหี้ยนด้วยมาตรการรุนแรง บุกเผาวัด สายแรก โหดน้อย คือ Robespierre สร้างลัทธิใหม่มาแทน คือ Etre supreme เพื่อยืนยันว่าทุกคนเข้าหา God ได้ด้วยตนเอง

วิธีแรก พัง

วิธีที่สอง ไปได้ แต่ต้องจบลงเมื่อปฏิวัติฝรั่งเศสปิดฉากลง

ในสาธารณรัฐที่ 3 มีความคิดว่า ต้องหาทางจัดการเรื่องศาสนา เพราะ ตราบใดที่คนยังติดกับศาสนา ประชาธิปไตยไม่มีทางเกิดได้ แต่ใช้วิธีการใหม่ คือ ใช้ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนความคิดคน เมื่อคนเปลี่ยนความคิดได้ทั้งหมดหรือเกือบหมด ก็สามารถยึดครองความคิดสังคมและรัฐได้ คนที่เชื่อในศาสนาก็กลายเป็นส่วนน้อย ที่ไม่มีกำลังที่จะมาครอบงำรัฐได้อีก ปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนตัว เหมือนคนชอบสะสมนาฬิกา รถ ชอบกิน ชอบดื่ม ไป

เมื่อระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยถูกติดตั้งได้อย่างสมบูรณ์แล้ว คนที่เชื่อในศาสนาก็พอจัดให้เป็นแดนส่วนตัวได้ แต่ถ้าระบอบประชาธิปไตยยังติดตั้งไม่สมบูรณ์ หากความเชื่อทางศาสนายังครอบงำรัฐและสังคมอยู่ คงยากที่ประชาธิปไตยสมบูรณ์จะเกิดได้ เพราะ ความคิดแบบกษัตริย์ และความคิดแบบศาสนา มีลักษณะเหมือนกัน คือ ครอบงำคนด้วยความเชื่อ ศรัทธา ลัทธิพิธี เรื่องลึกลับ

ผมนำเรื่องที่ผมไปพูดไว้ในเมื่อปลายปี 2555 มาลงใน note ลองอ่านกันได้ครับ



Piyabutr Saengkanokkul


ooo

การทำให้รัฐปลอดศาสนาในฝรั่งเศส


PIYABUTR SAENGKANOKKUL·THURSDAY, MARCH 2, 2017


เรียบเรียงและปรับปรุงจากการอภิปรายเรื่อง “รัฐธรรมนูญไทยภายใต้รัฐ (กึ่ง) ศาสนา” วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ รีดดิ้ง รูม 

การต่อสู้กันระหว่างกษัตริย์กับศาสนาเกิดจากอะไร? และเริ่มต้นเมื่อไร? ในยุคกลาง ภายหลังจากที่อาณาจักรโรมันล่มสลายไป ผู้คนสิ้นหวัง ศาสนจักรกลายเป็นความหวังใหม่ให้กับมนุษย์ ศาสนจักรเป็นศูนย์กลางของศิลปวิทยาการ การศึกษาวิชาความรู้เกิดขึ้นมากในแวดวงศาสนา ศาสนจักรจึงมีบทบาทต่อสังคมมากและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตรัฐ ดังปรากฏให้เห็นจากจักรพรรดิคอนสแตนตินประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำของรัฐ มีการสร้างคำอธิบายขึ้นมาสนับสนุนบทบาทและอำนาจของศาสนจักร ที่คุ้นหูกันมาก คือ ทฤษฎีดาบสองเล่ม มีสองร่างกาย ร่างกายหนึ่ง คือ ร่างกายในทางโลก อีกร่างกายหนึ่ง คือ ร่างกายในทางจิตวิญญาณ พระเจ้าเป็นเจ้าของทั้งสองร่างกาย เป็นคนควบคุมเรื่องจิตวิญญาณ แล้วจิตวิญญาณก็จะเข้าไปสั่งการร่างกาย จากคำอธิบายแบบนี้เอง ก็มีคำอธิบายต่อเนื่องมาอีก 

เริ่มมาที่ศตวรรษที่ ๑๒ คือ ลัทธิที่ภาษาลาตินเรียกว่า “Plenitudo postestatis” คือ ทฤษฎีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของศาสนจักร โดยพระสันตะปาปาถือดาบอยู่สองเล่ม เล่มแรกคือทางธรรม เล่มสองคือทางโลก ส่วนจักรพรรดิถือดาบเล่มเดียวเท่านั้น คือ ทางโลก พระสันตะประปาอยู่เหนือกษัตริย์ เราจึงเห็นเหตุการณ์ในทางประวัติศาสตร์หลายครั้งที่สันตะปาปาเป็นผู้มอบมงกุฎให้แก่กษัตริย์ ฝ่ายศาสนจักรกับอาณาจักรก็เกื้อหนุนกันแบบนี้ ถ้าพิจารณาโครงการของพวกเทวาธิปไตยทั้งหลาย ก็จะพบว่าพวกเขาพยายามอธิบายว่าอำนาจของอาณาจักรต้องรับใช้อำนาจของศาสนจักรอยู่เสมอ 

ต่อมา เกิดการปฏิรูปศาสนาครั้งใหญ่โดยมาร์ติน ลูเธอร์ เขาต้องการทำลายตัวเชื่อมไปสู่พระเจ้า ซึ่งก็คือ พระสันตะปาปา ลูเธอร์เห็นว่า มนุษย์สามารถติดต่อกับพระเจ้าได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านตัวเชื่อมอย่างพระสันตะปาปา มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกับพระ มนุษย์สามารถศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพระ ในยุคสมัยของลูเธอร์ วิทยาการการพิมพ์กำลังแพร่หลาย ลูเธอร์ได้พิมพ์คัมภีร์ไบเบิลและติดไว้ตามที่ต่างๆให้บุคคลทั่วไปได้อ่านโดยไม่ต้องผ่านการอธิบายตีความโดยพระสันตะปาปา ลูเธอร์เห็นว่ามนุษย์สามารถต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับพระสันตะปาปาได้ถ้ามนุษย์มีเหตุมีผล จากวิธีคิดแบบลูเธอร์นี้เองได้สร้างความเป็นปัจเจกบุคคลขึ้นมา มนุษย์ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับโบสถ์ พระสันตะปาปา และบาทหลวง

จนข้ามมาถึงยุค Enlightenment นักคิดในยุคสมัยนี้เห็นว่ามนุษย์เป็นอิสระ มีเหตุมีผลที่จะคิดเองได้ มีคนหนึ่งที่น่าสนใจคือ Cesare Beccaria ชาวอิตาลี เขาเขียนหนังสือเรื่อง Dei delitti e delle pene หรือ “อาชญากรรมและการลงโทษ” โดยเสนอให้แยกความผิดทางอาญาออกจากบาป ความผิดทางอาญาขึ้นกับกฎหมาย ซึ่งกฎหมายก็เป็นเรื่องที่มนุษย์กำหนดขึ้น เราไม่อาจนำหลักการทางศาสนามาตราเป็นกฎหมายกำหนดให้การกระทำใดเป็นความผิดทางอาญาเพื่อลงโทษบุคคล บาปเป็นคนละเรื่องกับกฎหมาย หากบุคคลใดกระทำผิดก็ต้องใช้กฎหมายตัดสิน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องบาปตามศาสนา ความคิดของ Beccaria ส่งผลให้มีการแบ่งแดนกันระหว่างการกระทำผิดกฎหมายกับการกระทำผิดบาป ซึ่งผู้กระทำผิดกฎหมายก็อาจได้รับโทษตามกฎหมายของบ้านเมือง ส่วนผู้กระทำผิดบาปก็เป็นเรื่องของความรู้สึกในจิตใจของแต่ละคน

พวก Enlightenment ทั้งหลาย ตั้งแต่ Diderot, Rousseau, Kant อธิบายให้มนุษย์เป็นปัจเจกบุคคล มีเหตุมีผล คิดเองได้ เป็นอิสระ และต้องการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากพันธนาการทั้งหลาย มีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ตลอดเวลา มนุษย์ไม่ได้มีลักษณะเป็น Heteronomy ที่การกระทำใดๆของตนต้องขึ้นกับอำนาจจากภายนอก ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ แต่มนุษย์มี Autonomy สามารถกำหนดชะตากรรมและตัดสินใจชีวิตได้ด้วยตนเอง 

วิธีคิดแบบ enlightenment ไม่ได้ขัดแย้งกับศาสนาเท่านั้น แต่ยังขัดแย้งกับอำนาจของกษัตริย์ด้วย ในช่วงศตวรรษที่ ๑๖ และ ๑๗ รัฐสมัยใหม่เริ่มก่อตัวขึ้นในลักษณะของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์โดยกษัตริย์มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด ผ่านคำอธิบายเรื่องอำนาจอธิปไตยของ Jean Bodin สาเหตุที่ต้องสถาปนาให้กษัตริย์มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดก็เพื่อแยกแดนของรัฐหรืออาณาจักรออกจากศาสนจักร การปกครองบ้านเมืองเป็นเรื่องของรัฐ ส่วนเรื่องศาสนาก็อยู่ในแดนของศาสนจักร อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐและศาสนจักรก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอำนาจสูงสุดเด็ดขาดและการครอบงำควบคุมคนอยู่ตลอดเวลา พวก enlightenment พยายามบอกว่า มนุษย์มี autonomy ไม่ว่าจะเป็นรัฐที่กษัตริย์มีอำนาจสูงสุดหรือไม่ว่าจะเป็นศาสนจักรก็ไม่อาจบงการชีวิตมนุษย์ได้ มนุษย์สามารถคิด ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ได้เสมอ

ความคิดแบบ Enlightenment มาปะทุและก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติเมื่อคราวปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศสในปี ๑๗๘๙ ผู้ก่อการปฏิวัติรับอิทธิพลของ Enlightenment ค่อนข้างมาก การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่เพียงต่อสู้กับสถาบันกษัตริย์เท่านั้นแต่ยังต่อสู้กับศาสนาด้วย ก่อนหน้านั้น เมื่อฝ่ายกษัตริย์สามารถแยกแดนของรัฐออกจากศาสนจักรจนเกิดเป็นรัฐสมัยใหม่เรียบร้อย ฝ่ายกษัตริย์กับศาสนาก็แบ่งแดนกันอยู่ ต่างฝ่ายต่างมีอำนาจในแดนของตนเอง พึ่งพาอาศัยกันและไม่ปะทะขัดแย้งกัน แต่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ๑๗๘๙ ได้เข้าไปทำลายทั้งการครอบงำทั้งของศาสนาและสถาบันกษัตริย์ ในวันที่ ๔ สิงหาคม ๑๗๘๙ สภาแห่งชาติได้ประกาศยกเลิกฐานันดรทั้งหลาย บรรดาเอกสิทธิ์ทั้งหลายของพระและขุนนางเป็นอันยกเลิกทั้งหมด ให้มนุษย์เสมอภาคกัน ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองก็ได้รับรองความเสมอภาคและกรรมสิทธิ์ให้แก่บุคคล 

ต่อมา เกิดความคิดในหมู่ผู้ก่อการปฏิวัติว่าหากปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบโดยละเว้นไม่จัดการศาสนาให้สอดคล้องกับระบอบใหม่ การปฏิวัติก็ไม่อาจรุดหน้าต่อได้ เพราะ มนุษย์ยังคงติดกรอบรูปแบบความเชื่อทางศาสนาอยู่ สภาแห่งชาติจึงเริ่มออกมาตรการจัดการกับศาสนาด้วยการตรากฎหมายในเดือนพฤศจิกายน ๑๗๘๙ เพื่อโอนทรัพย์สินของศาสนาจักรมาเป็นของรัฐ ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ๑๗๘๙ รับรองกรรมสิทธิ์เอาไว้ โบสถ์และนักบวชจึงอ้างว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ ดังนั้นจะตรากฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆของศาสนจักรมาให้แก่รัฐไม่ได้ ผู้ก่อการปฏิวัติ ๑๗๘๙ อธิบายว่าศาสนาเป็นบริการสาธารณะประเภทหนึ่ง เมื่อกิจการทางศาสนาเป็นบริการสาธารณะซึ่งอยู่ในอำนาจการจัดการของรัฐ บรรดาทรัพย์สินต่างๆที่เป็นเครื่องมือในการประกอบกิจการทางศาสนาก็ต้องเป็นของรัฐด้วย นักบวชเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะทางศาสนา โดยถือครองทรัพย์สินเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการทางศาสนา แต่ไม่ใช่เจ้าของ เมื่อรัฐเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น โบสถ์ ที่ดินของวัด รัฐก็สามารถขายเพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้สาธารณะได้ การตรากฎหมายลักษณะดังกล่าวของฝรั่งเศสนับเป็นที่แรกๆในยุโรปที่เผชิญหน้ากับศาสนาอย่างตรงไปตรงมา 

การโอนทรัพย์สินของศาสนจักรมาเป็นของรัฐส่งผลสองด้าน ด้านหนึ่ง คือ รัฐได้เงินเพื่อนำมาใช้บริหารราชการแผ่นดินและนำมาใช้หนี้ที่ระบอบเก่าก่อไว้ อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการทำลายอภิสิทธิ์ของพวกนักบวชลง 

สภาแห่งชาติต้องการจัดการกับศาสนามากขึ้น เริ่มจากตั้งคณะกรรมาธิการกิจการสงฆ์ประจำสภา (Comité ecclésiastique de l'Assemblée constituante) เพื่อทำหน้าที่จัดการศาสนาให้เข้ารูปเข้ารอย ต่อมาสภาแห่งชาติได้ตรากฎหมายกำหนดให้มีธรรมนูญพลเมืองของนักบวช (Constitution civile du clergé) เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๑๗๙๐ และกษัตริย์หลุยส์ที่ ๑๖ ยอมลงนามประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๑๗๙๐ ธรรมนูญฯดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญ ได้แก่ เรื่องแรก การยุบสังฆมณฑล เดิมมีสังฆมณฑล ประมาณ ๑๓๐-๑๔๐ แห่ง ก็ยุบให้เหลือ ๘๓ แห่ง เรื่องที่สอง ยุบตำแหน่งลำดับศักดิ์ของนักบวชให้เหลือน้อยลง ลดลำดับชั้นลง นักบวชที่เป็นผู้บริหารต้องมาจากระบบเลือกตั้ง เรื่องที่สาม กำหนดให้นักบวช คือ ผู้รับเงินเดือนของรัฐ คำนี้เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนสุดว่านักบวชไม่ได้มีอภิสิทธิ์อะไรเลย แต่เป็นข้ารัฐการ ทำงานให้กับรัฐเหมือนข้ารัฐการหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ เรื่องที่สี่ กำหนดให้นักบวชต้องสาบานตน เมื่อนักบวชรับเงินเดือนจากรัฐ จึงต้องสาบานตนต่อรัฐธรรมนูญว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เรื่องที่ห้า กำหนดข้อปฏิบัติของนักบวช เรื่องที่หก วัดไม่มีอำนาจบริหารจัดการด้วยตนเองอีกต่อไป แต่ให้วัดไปขึ้นกับเทศบาล 

วัดใด โบสถ์ใดที่นักบวชยอมสาบานตน ก็จะมีสัญลักษณ์ไปติดที่โบสถ์ มีนักบวชจำนวนมากที่ไม่พอใจกับกฎหมายดังกล่าว จึงเริ่มรวมตัวกันต่อต้านการปฏิวัติ ๑๗๘๙ ทางด้านประมุขของศาสนจักร พระสันตะปาปา Pius VI ได้ตอบโต้กฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๑๗๙๑ และประกาศให้บรรดานักบวชทั้งหลายที่ยังไม่สาบานตน ก็จงยืนยันไม่สาบานตนต่อไป ส่วนนักบวชที่ได้สาบานตนไปแล้ว ให้ถอนการสาบานตนอย่างเปิดเผยภายใน ๔๐ วัน คณะปฏิวัติสั่งห้ามเผยแพร่ประกาศของพระสันตะปาปา ถึงกระนั้นประกาศดังกล่าวก็แพร่หลายไปทั่ว การตอบโต้ของพระสันตะปาปาเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงถึงความขัดแย้งระหว่างปฏิวัติ ๑๗๘๙ กับศาสนจักร และลุกลามบานปลายรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักบวชแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย คือ นักบวชที่สาบานตนตามระบอบใหม่กับนักบวชที่ไม่สาบานตน 

วิธีการของผู้ก่อการปฏิวัติ ๑๗๘๙ อาจประเมินได้ยากว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ผลจากการรุกคืบศาสนจักร ทำให้ศัตรูของปฏิวัติ ๑๗๘๙ ขยายออกไปหลายวงมากขึ้น นอกจากกษัตริย์แล้ว ก็ยังมีขุนนางและพระ จนลุกลามออกไปยังกษัตริย์ของประเทศเพื่อนบ้าน นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้คณะผู้ก่อการปฏิวัติกลุ่มหนึ่งต้องสร้างรัฐบาลปฏิวัติจัดการกับพวกโต้ปฏิวัติ จนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่ายุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวหรือ La Terreur 

ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๑๗๙๒ เป็นวันที่ประชาชนชาวปารีสลุกขึ้นสู้และเดินเท้าบุกไปพระราชวัง Tuileries หลุยส์ที่ ๑๖ ถูกควบคุมตัวไว้ที่คุก Le Temples เพื่อรอการพิจารณาคดี ฝรั่งเศสยกเลิกกษัตริย์และประกาศเป็นสาธารณรัฐในวันที่ ๒๑ กันยายน ๑๗๙๒ 

เมื่อเข้าสู่สาธารณรัฐที่ ๑ ฝรั่งเศสก็เริ่มใช้มาตรการจัดการกับศาสนาที่แรงมากขึ้น เรียกว่า Déchristianisation หมายความว่า ถอดความเป็นคริสต์ออกจากฝรั่งเศสให้หมด พวกคณะปฏิวัติเห็นว่าการอธิบายแบบสมัยศตวรรษ ๑๗ ที่ว่าให้ศาสนากับรัฐแยกแดนกันอยู่ ศาสนาเป็นเรื่องชีวิตประจำวันนั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างระบอบใหม่ พวกเขาเห็นว่าจำเป็นต้องถอดเอาศาสนาคริสต์ออกจากชีวิตประจำวันและวิธีคิดของคนด้วย ดังเช่นมิราโบกล่าวไว้ก่อนเสียชีวิตว่า “การปฏิวัติฝรั่งเศสของเราจะไม่ได้อะไรเลยถ้าไม่ถอดศาสนาคริสต์ออกจากคนฝรั่งเศส” 

มาตรการ Déchristianisation มีหลายรูปแบบ เริ่มจาก การยกเลิกปฏิทินแบบ Gregorian (แบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นปฏิทินที่ยึดโยงกับศาสนา แล้วสร้างปฏิทินแบบสาธารณรัฐ (Le calendrier républicain) กำหนดให้วันที่ ๑ ของปีที่ ๑ ของสาธารณรัฐ คือวันที่ ๒๒ กันยายน ๑๗๙๒ ส่วนวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๑๗๘๙ เป็นวันที่ ๑ ของปีแห่งเสรีภาพ วันที่ ๒๑ กันยายน ๑๗๙๒ เป็นวันประกาศยกเลิกกษัตริย์ไป และเข้าสู่สาธารณรัฐในวันที่ ๒๒ กันยายน ๑๗๙๒ ดังนั้นจึงกำหนดให้ ๒๒ กันยายน ๑๗๙๒ เป็นวันที่ ๑ ของปีที่ ๑ ของสาธารณรัฐ แล้วก็เริ่มนับต่อมาเรื่อยๆตามลำดับ ส่วนชื่อเดือนก็ถูกเปลี่ยนทั้งหมด โดยตั้งชื่อให้ยึดโยงกับธรรมชาติ เดือนแรก คือ เดือนแห่งการค้าขาย เดือนที่ ๒ มีเมฆหมอกเยอะ เดือนที่ ๓ หนาว เดือนที่ ๔ หิมะ เดือนที่ ๕ ฝน เดือนที่ ๖ ลม เดือนที่ ๗ กำเนิดหน่อของพืช เดือนที่ ๘ ดอกไม้บาน เดือนที่ ๙ เพาะปลูก เดือนที่ ๑๐ เก็บเกี่ยว เดือนที่ ๑๑ แดด เดือนที่ ๑๒ ผลไม้ ส่วนวันสำคัญทางศาสนาก็ถูกยกเลิกไปทั้งหมด 

เมื่อเข้าสู่ยุค La Terreur ในปี ๑๗๙๓ มีกลุ่มการเมืองที่ radical มากในสภา Convention คือ กลุ่ม Hébertiste นำโดย Jacques-René Hébert มีหนังสือพิมพ์ Le Père Duchesne เป็นกระบอกเสียง พวก Hébertiste สร้างลัทธิใหม่ เรียกว่า Culte de la Raison หรือ ลัทธิแห่งเหตุผล โดยรับอิทธิพลจาก Diderot เป็นพวกอเทวนิยม ไม่เชื่อในการดำรงอยู่ของพระเจ้าแต่เชื่อในธรรมชาติ ถ้าโบสถ์ใดสนับสนุนลัทธินี้ก็ให้ประกาศไว้หน้าโบสถ์ว่าเป็นโบสถ์แห่งเหตุผล (Temple de la Raison) อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก กลุ่ม Hébertiste ก็เริ่มใช้มาตรการนอกกฎหมายและรุนแรงในการจัดการกับผู้ที่มีความคิดต่าง เช่น อุ้มฆ่า ลอบฆ่าพระ จับกุมตัว เผาโบสถ์ ทำลายไม้กางเขน ห้ามพิธีกรรมศาสนาทั้งหมด ห้ามการโฆษณาชวนเชื่อทางศาสนา บุกยึดที่ดินของสงฆ์มาขาย ทำลายระฆัง เอาไฟไปหลอมระฆังโบสถ์ ลบหลู่ดูหมิ่นด้วยการขีดเขียนตามโบสถ์ มหาวิหาร หลุมศพของกษัตริย์ในอดีต ในที่สุด Robespierre และพวกจึงต้องจัดการกับกลุ่ม Hébertiste ถ้าเราสำรวจงานภาษาไทยที่เกี่ยวกับปฏิวัติฝรั่งเศส มีงานอยู่ชิ้นหนึ่ง คือ หัวใจปฏิวัตรฝรั่งเศส เขียนโดย เตียง ศิริขันธ์ ได้วิจารณ์กลุ่ม Hébertiste ไว้ว่า การกระทำของกลุ่ม Hébertiste ทำให้ขบวนการปฏิวัติเสียหาย และทำให้ Robespierre เสียไปด้วย 

ทางด้านกลุ่มของ Robespierre ได้สร้างอีกลัทธิขึ้นมา คือ Culte de l’Etre suprême ลัทธินี้ค่อนไปทางเทวนิยม เชื่อในการดำรงอยู่ของพระเจ้า แต่ไม่เชื่อในศาสนา มนุษย์สามารถใช้สติปัญญาและเหตุผลในการเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยตนเอง Robespierre จึงสร้างองคภาวะ (Etre ; Being) ใหม่ขึ้นมาให้มีสถานะสูงสุด และไม่ใช่ศาสนา ถ้าลองสังเกตดู จะเห็นได้ว่าการต่อสู้กับศาสนจักรของกลุ่มนี้ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อว่ามีพระเจ้า แต่เป็นพระเจ้าในเชิงปรัชญามากขึ้น องคภาวะที่อยู่สูงสุด คือ เหตุผล ความดีงามของมนุษย์ จากนั้นได้ตรารัฐกฤษฎีกา ในปี ๑๗๙๔ กำหนดว่าผู้ที่นับถือลัทธินี้มีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง เช่น ต้องตั้งข้อรังเกียจและจัดการทรราชย์ ต้องสนับสนุนผู้ที่รักในเสรีภาพ กำหนดวันสำคัญใหม่ลงไปในปฏิทินแบบสาธารณรัฐ ได้แก่ วันเสรีภาพ วันเสมอภาค วันประชาชน 

Condorcet นักปฏิวัติร่วมสมัยนั้นไม่เห็นด้วยกับวิธีการทั้งของแบบ Hébert และแบบ Robespierre เขาเห็นว่าการปลูกฝังความคิดแบบประชาธิปไตยและความคิดแบบสาธารณรัฐ ไม่สามารถใช้วิธีแบบ Hébert และแบบ Robespierre ได้ เพราะ เราจะได้ศาสดาองค์ใหม่ขึ้นมาแทน เป็นศาสดาของศาสนาปฏิวัติ เขาเสนอว่าวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะปลูกฝังอุดมการณ์แบบสาธารณรัฐได้ คือ ต้องใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ ความคิดของ Condorcet นี้ ในภายหลัง สาธารณรัฐที่ ๓ ก็นำมาใช้ 

Napoléon Bonaparte รัฐประหารในปี ๑๗๙๙ ปิดฉากการปฏิวัติฝรั่งเศส ต่อมาในปี ๑๘๐๑ เขาได้ลงนามทำข้อตกลงกับศาสนจักรเพื่อแบ่งแดนกันและให้เสรีภาพแก่คนนับถือศาสนาคริสต์ต่อไป ภายหลัง Napoléon Bonaparte พ่ายแพ้สงคราม ฝรั่งเศสได้ฟื้นฟูกษัตริย์กลับมาใหม่ และเปลี่ยนแปลงระบอบกลับไปกลับมาหลายครั้งเป็นระบอบกษัตริย์ เป็นสาธารณรัฐ กลายเป็นจักรวรรดิ แล้วกลายเป็นสาธารณรัฐอีก จนกระทั่งเข้าสู่สาธารณรัฐที่ ๓ ฝรั่งเศสได้จัดการให้ศาสนาออกไปจากชีวิตของคนโดยวิธีแบบใหม่ที่นุ่มนวลกว่าเดิม แต่ได้ผลจนทุกวันนี้ 

สาธารณรัฐที่ ๓ ของฝรั่งเศส เริ่มต้นในปี ๑๘๗๐ กำเนิดขึ้นด้วยการเฉือนชนะในสภาแค่ ๑ คะแนน สาธารณรัฐที่ ๓ ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรฉบับเดียวเหมือนกับรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศในสมัยปัจจุบัน แต่มีรัฐบัญญัติรวม ๓ ฉบับที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการจัดโครงสร้างและความสัมพันธ์ของสถาบันการเมืองต่างๆ สาเหตุหนึ่งก็เนื่องจากฝรั่งเศสยังไม่ได้ตกลงกันอย่างถาวรว่าจะเป็นสาธารณรัฐหรือมีกษัตริย์ ตอนที่ถกเถียงและชิงไหวชิงพริบกันในสภา แล้วฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐลงมติชนะ ๑ คะแนนนั้นเสมือนเป็นการยอมให้เป็นสาธารณรัฐไปพลางก่อน ไม่ได้ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ วันหน้า อาจกลับมามีกษัตริย์ก็ได้ จะเห็นว่าการก่อตัวของสาธารณรัฐที่ ๓ ยังไม่มีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันความคิดจิตใจของคนฝรั่งเศสก็ยังคงมีพวกกษัตริย์นิยมอยู่ และพลังทางการเมืองอีกขั้วหนึ่ง คือ ฝ่ายกษัตริย์นิยม ยังคงมีกำลังยู่มาก แต่ทำไมสาธารณรัฐที่ ๓ จึงสามารถทำให้ความคิดแบบกษัตริย์นิยมและศาสนาหายไปจากชีวิตทางการเมืองของฝรั่งเศสได้จนถึงทุกวันนี้?

หลักการที่เรียกว่า “สาธารณรัฐ” ในฝรั่งเศสนั้นไม่ใช่มีสาระสำคัญเพียงการไม่มีกษัตริย์เท่านั้นและไม่ได้หมายความว่า สาธารณรัฐ คือ รัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ แล้วจบ แต่หลักการของ
สาธารณรัฐยังประกอบไปด้วย ประชาธิปไตย รัฐปลอดศาสนา การแบ่งแยกอำนาจ การรับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

สาธารณรัฐที่ ๓ ของฝรั่งเศสเริ่มต้นด้วยสภาพไม่แน่นอน ในช่วง ๑๐ ปีแรกต้องอยู่ด้วยการประนีประนอม เรียกช่วงเวลานั้นว่า “สาธารณรัฐประนีประนอม” พลังทางการเมืองต่างๆต้องต่อรองและประนีประนอมกัน เช่น สร้างวุฒิสภาขึ้นมา เพื่อให้พวกนิยมเจ้าไปกองไว้อยู่ที่วุฒิสภา 

ระบอบสาธารณรัฐมั่นคงมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากฝ่ายกษัตริย์นิยมอ่อนกำลังและขัดแย้งกันเอง ทั้งในด้านการแย่งชิงความชอบธรรมในการเป็นกษัตริย์ระหว่างราชวงศ์ Bourbon กับราชวงศ์ Orléans และทั้งในด้านความแตกต่างทางความคิดระหว่างสถาบันกษัตริย์แบบอำนาจมากกับสถาบันกษัตริย์แบบปฏิรูป ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมจึงค่อยๆลุกคืบขึ้นมาเรื่อยๆจนมีเสถียรภาพมากขึ้น ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมเริ่มจัดการกับฝ่ายต่อต้านสาธารณรัฐและปลูกฝังอุดมการณ์แบบสาธารณรัฐซึ่งส่งผลในระยะยาว โดยเน้นทำอยู่สองเรื่องใหญ่ เรื่องแรก คือ การศึกษา การติดตั้งอุดมการณ์สาธารณรัฐเข้าไปที่โรงเรียน Jules Ferry รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เขากลับไปอ่านงานของ Condorcet ในสมัยปฏิวัติ ๑๗๘๙ ที่บอกว่า เราไม่สามารถจัดการกษัตริย์และศาสนาด้วยวิธีการสร้างศาสดาองค์ใหม่ เพราะต่อไปผู้คนก็จะหันไปเคารพศาสดาองค์ใหม่แทน แต่เราต้องสร้างการศึกษาที่ไปปลูกฝังอุดมการณ์แบบสาธารณรัฐ แบบประชาธิปไตย เข้าไปที่เด็กๆ นี่แหละ แล้ววันข้างหน้าพวกเขาจะโตมาในระบอบนี้เอง 

ในช่วงเริ่มต้นสาธารณรัฐที่ ๓ มีนักเรียนที่เรียนโรงเรียนรัฐทั้งหมด ๒,๖๐๐,๐๐๐ คน นักเรียนอีก 
๒,๐๐๐,๐๐๐ คนเรียนในโรงเรียนศาสนา จะเห็นได้ว่าจำนวนไล่เลี่ยกันพอสมควร หากผ่านไปอีกสัก ๒๐-๓๐ ปี นักเรียนเหล่านี้เติบโตขึ้นมา เท่ากับว่าในสังคมฝรั่งเศสก็จะประกอบไปด้วยคนที่ถูกปลูกฝังอุดมการณ์และบ่มเพาะวิธีคิดที่แตกต่างกันสองฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายมีจำนวนที่ไม่ต่างกันมาก แล้วคนที่มีความคิดจากสองระบบคิด ก็ต้องมาต่อสู้กันอีก Jules Ferry เห็นว่าถ้าต้องการให้คนฝรั่งเศสเป็นพวกสาธารณรัฐนิยม ความคิดแบบสาธารณรัฐนิยมยึดครองฝรั่งเศสแบบเบ็ดเสร็จ ก็ต้องจัดการที่โรงเรียนก่อน รัฐจึงเข้าไปจัดการเรื่องการศึกษาทั้งหมดโดยถือว่าการจัดการการศึกษาเป็นบริการสาธารณะหมายเลข ๑ ในยุคนั้น 

ปัญหาที่ตามมา คือ จะจัดการโรงเรียนศาสนาอย่างไร? ฝรั่งเศสเริ่มทยอยโอนให้โรงเรียนศาสนามาเป็นของรัฐ ในขณะเดียวกันก็สร้างครูแบบใหม่ ครูที่มีความคิดแบบปลอดศาสนาขึ้นมา วางหลักสูตรการศึกษาใหม่ มีตัวเลขให้เห็น ในช่วงยี่สิบสามสิบปีแรก สร้างโรงเรียนขึ้นมาถึง ๑๗,๓๒๐ โรงเรียน โรงเรียนรัฐเดิมขยายออกมาอีก ๖,๐๐๐ แห่ง เอาโรงเรียนแบบเดิมมาซ่อมแซมประมาณอีก ๘,๐๐๐ แห่ง 

Jules Ferry ทราบดีว่าหากประกาศให้โรงเรียนแบบปลอดศาสนาในทันที ศัตรูรอบทิศจะโผล่ขึ้นมาอีก เขาจึงค่อยๆปฏิรูป โดยเริ่มจากชี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษา ดังนั้นการศึกษาจึงต้องเป็นการศึกษาแบบบังคับ เด็กทุกคนเมื่ออายุถึงเกณฑ์ต้องได้รับการศึกษา เป็นการบังคับให้ไปเรียนหนังสือนั่นเอง เมื่อเป็นการศึกษาแบบบังคับ ครอบครัวที่ไม่มีรายได้เพียงพอจะทำอย่างไร การศึกษาแบบบังคับจึงต้องเป็นการศึกษาแบบให้เปล่าหรือฟรีด้วย นั่นคือ รัฐเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายในการศึกษา เพราะ เมื่อรัฐไปบังคับให้ทุกคนต้องเรียน รัฐก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เมื่อการศึกษาแบบบังคับและไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว จึงค่อยออกอีกมาตรการตามมา คือ การศึกษาปลอดศาสนา ไปบังคับต่อว่าโรงเรียนห้ามสอนเรื่องศาสนา

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสยังคงมีโรงเรียนศาสนาอยู่ เพราะ กฎหมายที่กำหนดให้การศึกษาเป็นแบบบังคับ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และปลอดศาสนา ใช้กับโรงเรียนของรัฐเท่านั้น ดังนั้น บรรดาโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนที่รับเงินสนับสนุนจากโบสถ์ ก็ยังคงสอนศาสนาต่อไปได้ เพียงแต่โรงเรียนเหล่านี้ รัฐไม่เข้าไปช่วยแบกภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียน ฝรั่งเศสจึงต้องหามาตรการอีก

เรื่องใหญ่เรื่องที่สองที่สาธารณรัฐที่ ๓ ทำสำเร็จ คือ การแยกรัฐออกจากศาสนาแบบเด็ดขาด เดิมทีฝ่ายที่ผลักดันการศึกษาบังคับ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และปลอดศาสนา เช่น Jules Ferry และนักการเมืองฝ่ายสาธารณรัฐนิยมสายกลาง ไม่ได้ต้องการไปไกลถึงขนาดตรากฎหมายแบ่งแยกรัฐออกจากศาสนาอย่างเด็ดขาด แม้กระทั่งตอนที่ฝ่ายซ้ายได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาลในปี ๑๙๐๒ Emile Combes นายกรัฐมนตรี ก็ต้องการเพียงแค่บังคับใช้หลักการศึกษาปลอดศาสนาอย่างเคร่งครัดเท่านั้น จนกระทั่งเข้าสู่ปี ๑๙๐๓ แนวนโยบายของฝรั่งเศสก็ต้องก้าวหน้ามากขึ้น เพราะเกิดความขัดแย้งแตกหักกับศาสนาจักรซึ่งนำโดยพระสันตะปาปา Pius X ที่มีแนวทางประนีประนอมน้อยกว่าพระสันตะปาปาองค์เก่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสได้ตรารัฐบัญญัติว่าด้วยการก่อตั้งสมาคมในปี ๑๙๐๑ โดยกำหนดให้การรวมตัวกันเป็นสมาคมที่เกี่ยวกับศาสนาต้องได้รับการอนุญาตก่อน ในขณะที่การรวมตัวกันเป็นสมาคมอื่นๆไม่ต้องขออนุญาต ปรากฏว่าสมาคมทางศาสนาที่ได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งได้มีเพียง ๕ สมาคมเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่ได้รับอนุญาต และสมาคมศาสนาที่มีอยู่แล้วก็ถูกยุบ ต่อมาในปี ๑๙๐๔ ฝรั่งเศสได้ห้ามสมาคมศาสนาจัดการศึกษาใดๆทั้งสิ้น ศาสนาจักรจึงตอบโต้ฝรั่งเศสอย่างเปิดเผย จากความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับศาสนจักรอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ Jean Jaurès นักการเมืองฝ่ายซ้ายคนสำคัญเรียกร้องว่าถึงเวลาแล้วที่ฝรั่งเศสต้องแบ่งแยกรัฐออกจากศาสนจักรอย่างชัดเจน 

ในปี ๑๙๐๕ รัฐสภาตรารัฐบัญญัติการแบ่งแยกศาสนจักรและรัฐ ผู้มีบทบาทในการยกร่างและผลักดัน คือ Aristide Briand กฎมายฉบับนี้วางหลักสำคัญไว้ตั้งแต่มาตราแรกเลยว่า ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่เป็น laïque คือแยกออกจากศาสนา และรับรองว่าบุคคลมีเสรีภาพในการนับถือลัทธิใดๆก็ได้ คือหมายความว่า ในตัวรัฐ ห้ามมีศาสนา แต่ถ้าปัจเจกบุคคลอยากนับถือศาสนาหรือลัทธิใดย่อมเป็นเสรีภาพ บทบัญญัติแบบนี้ ทำให้ฝ่ายนิยมศาสนายังพอรับได้บ้าง เพราะ ไม่ได้ห้ามคนนับถือศาสนา ไม่ได้ไปทำลายวัด ไม่ได้บังคับให้นักบวชต้องสาบาน อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ก็มีวิธีการบั่นทอนบอนไซศาสนาด้วยวิธีใหม่ๆ เช่น รัฐห้ามสนับสนุนศาสนา ห้ามให้งบประมาณใดๆแก่ศาสนาใดทั้งสิ้น ส่วนทรัพย์สินของโบสถ์นั้น ภายในระยะเวลาหนึ่งปีหลังประเมินสินทรัพย์ โบสถ์ต้องโอนทรัพย์สินให้แก่องค์การมหาชนทางศาสนาเป็นผู้จัดการ แล้วโบสถ์อยู่อย่างไร? คำตอบ คือ โบสถ์ต้องอาศัยเงินบริจาค 

พระสันตะปาปามีปฏิกิริยารุนแรงกับกฎหมายนี้ ด้วยการประกาศว่าวาติกันไม่ยอมรับกฎหมายฉบับนี้ ขอให้โบสถ์ทั้งหลายในฝรั่งเศสไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลก็ใช้เวลานานมากกว่าจะจัดการเรื่องทรัพย์สินของโบสถ์เสร็จ มีการเจรจาต่อรองกัน แต่ในท้ายที่สุดก็ทำสำเร็จ 

ข้อที่น่าคิดอีกประการ คือ รัฐบาลฝรั่งเศสในสาธารณรัฐที่ ๓ ไม่ได้มีรัฐบาลชุดเดียวตลอดกาล รัฐบาลไม่ได้มีเสถียรภาพ เปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย แต่เหตุใดนโยบายเรื่องการจัดการศึกษาและการทำให้รัฐปลอดศาสนาจึงประสบความสำเร็จ? แต่ว่าชุดความคิดแบบสาธารณรัฐนิยม ไม่ต้องการให้มีกษัตริย์ ต้องการให้รัฐปลอดศาสนา เป็นประชาธิปไตย ชุดความคิดเหล่านี้เป็นเอกภาพในฝ่ายสาธารณรัฐนิยม ดังนั้น แม้เปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย แต่เมื่อรัฐบาลใหม่ขึ้นมาก็สานต่องานของรัฐบาลเดิม 

คนฝรั่งเศสที่เกิดประมาณปี ๑๙๐๐ ได้เข้าโรงเรียนในยุคที่ไม่มีการสอนศาสนา เป็นโรงเรียนปลอดศาสนา ผ่านหลักสูตรการศึกษาที่เอื้อต่อหลักการแบบสาธารณรัฐนิยม คนรุ่นนี้เมื่อกลับถึงบ้าน ก็อาจเจอพ่อแม่ที่เคร่งศาสนาอยู่ แต่พอคนรุ่นนี้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ สร้างครอบครัว มีลูก ลูกของพวกเขาก็เข้าโรงเรียนแบบสาธารณรัฐ เมื่อกลับไปบ้าน ครอบครัวก็เติบโตมาจากสร้างพลเมืองแบบสาธารณรัฐ ดังนั้น คนที่เกิดหลังสงครามโลก ก็จะเป็นพลเมืองแบบสาธารณรัฐ เมื่อความคิดจิตใจของคนเป็นแบบสาธารณรัฐ สถาบันการเมืองและโครงสร้างต่างๆเป็นแบบสาธารณรัฐ การถกเถียงกันจึงขยับประเด็นไปเป็นเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนสังคมนิยม หรือทุนนิยม สนับสนุนบทบาทรัฐในการแทรกแซงทางเศรษฐกิจหรือไม่ 

ถามว่าโรงเรียนของฝรั่งเศสพูดถึงศาสนาไม่ได้เลยหรือ? คำตอบคือ ไม่ใช่ แต่เขาไม่ให้สอนศาสนาในฐานะลัทธิ แต่ให้สอนในฐานะศาสนาเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์สงครามครูเสดเป็นเหตุการณที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แบบนี้สอนได้ ฝรั่งเศสใช้วิธีการแบบนี้จนสำเร็จ ในระยะหลัง ผมสนใจสาธารณรัฐที่ ๓ ค่อนข้างมาก เพราะ เป็นการแก้มือของพวกสาธารณรัฐนิยม หลังเกิดปฏิวัติ ๑๗๘๙ กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ต่อมา ๑๗๙๒ กลายเป็นสาธารณรัฐที่ ๑ แล้วก็เปลี่ยนแปลงระบอบกลับไปกลับมา ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมเสียท่าให้กับการกลับมาของกษัตริย์และการเกิดขึ้นของระบบจักรวรรดิแบบโบนาปาร์ตอีก ๒ ครั้ง สาธารณรัฐที่ ๓ เกิดขึ้นอย่างไม่มั่นคง แต่สามารถสร้างอุดมการณ์แบบสาธารณรัฐสำเร็จ สร้างพลเมืองแบบสาธารณรัฐนิยมสำเร็จ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฝรั่งเศสกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ คือ วัฒนธรรมแบบอิสลาม มีลูกหลานที่เป็นอาณานิคมฝรั่งเศสเข้ามาเยอะ แล้วก็เอาวัฒนธรรมอิสลามเข้ามา รัฐบาลชุดที่แล้วที่เป็นฝ่ายขวาตัดสินใจผลักดันออกกฎหมายห้ามการแสดงสัญลักษณ์ศาสนาใดๆในโรงเรียน สถานที่รัฐการ ซึ่งในทางปฏิบัติคนที่นับถือศาสนาอิสลามจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะ สตรีต้องใช้ผ้าคลุมศีรษะ เริ่มวิจารณ์กันว่าตกลงแล้วแบบนี้เป็น Laïcité แบบฝรั่งเศสหรือไม่ การห้ามแสดงสัญลักษณ์ศาสนาในสถานที่ทำการต่างๆย่อมกระทบต่อเสรีภาพของบุคคลและกระทบต่อแดนส่วนตัวหรือไม่ ฝ่ายสนับสนุนกฎหมายก็อธิบายว่า ไม่ได้ห้ามการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาเด็ดขาด แต่ห้ามเฉพาะในสถานที่ทำการเท่านั้น หากอยู่บ้าน อยากใส่ก็ใส่ไป แต่ถ้ามาโรงเรียน ห้ามใส่ ประเด็นนี้มีการเถียงกันเยอะ หลายประเทศก็มีความเข้มข้นต่างกันไป 

ที่เล่ามาทั้งหมด เพื่อแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ ๑๕, ๑๖ มาถึงปัจจุบัน ทิศทางของยุโรป ผ่านการปฏิวัติ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนระบอบการปกครองเท่านั้น แต่เป็นปฏิวัติในเชิงความคิดจิตใจของมนุษย์ด้วย คือมนุษย์สามารถหลุดออกมาจากกรอบเดิมได้ สามารถ emancipation ได้ แต่ของประเทศไทยไม่เคยผ่านกระบวนการนี้ หลุดในแง่นี้หมายความว่า ไม่ใช่หลุดในแง่เรื่องกษัตริย์ เรื่องศาสนา แต่หลุดจากการที่มีใครมาบงการความคิดความเชื่อได้ เมื่อหลุดไปแล้ว เราสามารถคิดและตัดสินใจของเราได้เอง สังคมไทยยังคงมีลัทธิเชิดชูบูชาบุคคล (cult of personality) ที่ค่อนข้างเข้มข้น แล้ว personality สองขั้วปะทะกัน ถ้าสองขั้วนี้อยู่กันได้ สมประโยชน์กันได้ ประชาธิปไตยก็อาจถดถอยลงไป ในขณะเดียวกัน ถ้าสองขั้วแยกกันอยู่ ก็อาจถ่วงดุลกัน แต่อย่างไรก็ตาม สมมติขั้วหนึ่งหายไป แต่ก็ยังมีอีกขั้วหนึ่งที่ตั้งอยู่บนฐานของลัทธิเชิดชูบูชาบุคคลอยู่ ทั้งสองขั้วต่างก็เชิดชูบูชาตัวบุคคล นี่อาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยได้ในอนาคต เมื่อปฏิรูปแล้วก็จะมาติดปัญหาเรื่องนี้อีก อาจมีศาสดาองค์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีก ซึ่งวิธีการกล่อมเกลาแบบราชาชาตินิยม สอนเรื่องศาสนาก็ดี ได้ส่งผลกระทบเรื่องนี้พอสมควร 

ตารางแสดงจำนวนโรงเรียน ครู และนักเรียน
เปรียบเทียบระหว่างปี 1876-1877 กับ 1906-1907

โรงเรียน
1876-1877

โรงเรียนรัฐ
ปลอดศาสนา 45816 
ศาสนา 13205
โรงเรียนเอกชน
ปลอดศาสนา 5841
ศาสนา 6685

1906-1907

โรงเรียนรัฐ
ปลอดศาสนา 66896
ศาสนา 452
โรงเรียนเอกชน
ปลอดศาสนา 11548
ศาสนา 1399
.....
ครู
1876-1877

ครูโรงเรียนรัฐ
ปลอดศาสนา 55026
ศาสนา 26823
ครูโรงเรียนเอกชน
ปลอดศาสนา 10785
ศาสนา 19861

1906-1907

ครูโรงเรียนรัฐ
ปลอดศาสนา 121182
ศาสนา 823
ครูโรงเรียนเอกชน
ปลอดศาสนา 31896
ศาสนา 6564
.....
นักเรียน
1876-1877

นักเรียนโรงเรียนรัฐ
จำนวนทั้งหมด 3982802 คน โดยเป็นนักเรียนในโรงเรียนศาสนา 1217997 คน
นักเรียนโรงเรียนเอกชน
จำนวนทั้งหมด 886285 คน โดยเป็นนักเรียนในโรงเรียนศาสนา 623530 คน 

1906-1907

นักเรียนโรงเรียนรัฐ
จำนวนทั้งหมด 4583053 คน
นักเรียนโรงเรียนเอกชน
จำนวนทั้งหมด 1001972 คน
นักเรียนในโรงเรียนศาสนา 227213 คน