วันพุธ, มีนาคม 15, 2560

สอบตกไม่เป็นท่า





ว่าแล้วไหมล่ะ คณะผู้แทนไทย ๔๖ คนที่แห่กันไปตอบข้อซักถามของกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติที่เจนีวา สอบตกไม่เป็นท่า

นี่ขนาดลอกข้อสอบเข้าไปแล้วนะ ยังตอบเลี่ยงไม่ตรงประเด็นบ้าง ถามอย่างตอบอย่างบ้าง ท้ายที่สุดหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการซักถามสองวัน ๑๓-๑๔ มีนาแล้ว การสอบยังไม่เสร็จ ปากเปล่าจบแล้ว แต่ต้องมีข้อเขียนเพิ่ม

ประธานกรรมาธิการฝากการบ้านให้ทีมไทยกลับไปทำส่งให้เพิ่มอีก เพราะมีคำตอบตกค้างอยู่มากมายหลายประเด็น ที่ด้วยความพยายามจะไปสร้างภาพให้ คสช. ดูดีทางด้านสิทธิมนุษยชน ทีม ๔๖ คนเลยได้แต่ตอบไขว้เขวเป๋ไปเป๋มา

เรื่องราวทั้งหมดของการเล่นละครโซ้พไทยหมายตบตาสหประชาชาติแต่ไม่สำเร็จครั้งนี้ ต้องฟัง สุนัย ผาสุก ตัวแทนฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์เล่ากับ จอม เพชรประดับ ในรายการไทยส์ว้อยซ์ทางยูทู้ป

(https://www.youtube.com/watch?v=s2nuv9mejLI&feature=youtu.be)





“กลายเป็นว่าขยันตอบ แต่ตอบไม่ตรงคำถาม” สุนัยกล่าวตอนหนึ่งถึงผลงานของคณะใหญ่นำโดยปลัดกระทรวงยุติธรรม แห่กันไปเที่ยวเจนีวา

“นอกจากจะตอบไม่ตรงคำถามแล้ว สิ่งที่ตอบมาไม่ได้สะท้อนเหตุการณ์เป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย...พยายามสร้างภาพว่ารัฐบาล คสช. ตั้งใจปฏิบัติตามพันธกรณี”

แต่ “คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเขาทำการบ้านมาดี คณะผู้แทนไทยถูกโต้แย้งกลับในกระบวนการซักถาม” หรือกรณีถามแล้วเลี่ยงไม่ตอบ ก็จะถูกถามซ้ำ ถามจี้

มีการถามถึงอำนาจมาตรา ๔๔ ๔๗ ๔๘ อย่างมาก และโยงไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นำเอาอำนาจของสามมาตรานี้ไปผนึกรวมไว้

“ทางกรรมาธิการจึงตั้งข้อสังเกตุว่า ต่อให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว การใช้มาตรา ๔๔ ๔๗ ๔๘ เอามาปิดกั้น ริดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” อันโยงต่อไปถึงการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพในการสมาคม

ความล้มเหลวของคณะผู้แทนไทยครั้งนี้ สร้างความผิดหวังให้แก่กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนยูเอ็นเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ คิงสลี่ย์ แอ็บบอต ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโสของสภาทนายความนานาชาติ (ICJ) ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ในฐานะผู้ให้ข้อมูลคู่ขนาน เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์

“ดังที่มีคำถามลงลึกรายละเอียดมากมาย แต่ไม่สามารถตอบได้หมดในระหว่างการประชุมนี้” นายคิงสลี่ย์อ้างถึงกรณีมาตรา ๔๔ ด้วยเช่นกัน

รอยเตอร์รายงานด้วยว่าคณะทหารฮุนต้าของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางโดยชุมชนนานาชาติ ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่เป็นความผิดอาญา ระวางโทษจำคุกถึง ๑๕ ปี (ต่อกระทง)

“นักศึกษาที่ทำกิจกรรมเด่นคนหนึ่งซึ่งถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์เมื่อเดือนธันวาคม จากการที่เขาแชร์บทความพระราชประวัติกษัตริย์มหาวชิราลงกรณ์จากรายงายของบีบีซี เพิ่งถูกปฏิเสะประกันตัวเป้นครั้งที่เจ็ด เมื่อวันจันทร์” รอยเตอร์ยกตัวอย่าง





“คณะกรรรมาธิการจึงขอให้คณะผู้แทนไทยตอบคำถามทั้งหมดเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน ๔๘ ชั่วโมง หลังจากสิ้นสุดการประชุมแล้ว”

(http://uk.reuters.com/arti…/uk-thailand-rights-idUKKBN16L1L4)

กระนั้นก็ดีคณะผู้แทนไทยชุดนี้ได้รับการชื่นชมจากรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย อย่างเหลือเชื่อ

“ภาพรวมก็เป็นไปด้วยดี รัฐบาลสามารถอธิบายได้ ทั้งเรื่องการขึ้นศาลทหาร การประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เห็นความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องต่างๆของฝ่ายไทย”

“ทุกอย่างกำลังเป็นไปด้วยดี มีพัฒนาการที่เหมาะสม นอกจากนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังเปิดเผยผลสำรวจที่พบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกด้วย”

(http://www.matichon.co.th/news/495291)

หนึ่งในคนไทยที่มีความสุขมากที่สุดในโลกคงหนีไม่พ้นจ้าวนายของบักดอน ดังที่รอยเตอร์รายงานว่า

“ตรงกันข้าม ประยุทธ์บอกว่าคณะผู้แทนฯ ประกอบภารกิจได้อย่างดี...คณะผู้แทนไทยรายงานมาว่าสามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด”





เดชะบุญ ที่คณะผู้แทนไทยมีจ้าวนายแสนดีพูดง่ายฟังง่าย รายงานอะไรไปเชื่อหมด ไม่เหมือนนายทหารบางคนที่ถูกปลดออกจากราชการ ถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ด้วยความผิด

“อวดรู้ อวดดี และกระด้างกระเดื่อง ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ เกียจคร้าน” ฯลฯ