วันจันทร์, มีนาคม 20, 2560

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ในงานคำพิพากศาล เรื่อง ความเห็นและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับบทบาทของศาลยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานและคำพิพากษาของศาล



ภาพจาก FB เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง


แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการ ในงานคำพิพากศาล

===============
แถลงการณ์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)

เรื่อง ความเห็นและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับบทบาทของศาลยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานและคำพิพากษาของศาล




ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้ดึงส่วนต่างๆ ของสังคมไทยเข้าสู่วังวนของขัดแย้งอย่างถ้วนทั่ว ไม่เว้นแม้แต่ศาลยุติธรรม ดังจะเห็นได้จากบทบาทของศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ศาลมีบทบาทอย่างสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้ถืออำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีความผิดเนื่องจากการฝ่าฝืนคำสั่งที่เกิดจากการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 หรือบทบาทและจุดยืนของศาลในการดำเนินคดีพลเรือนต่อศาลทหาร จนกระทั่งสังคมและผู้รักความเป็นธรรมเห็นว่าศาลได้ใช้อำนาจในทางที่ขัดต่อหลักกฎหมาย ฝ่าฝืนหลักนิติรัฐ และเพิกเฉยต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองเห็นว่า ศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน จึงมีความรับผิดชอบอย่างสำคัญในการเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการถูกล่วงละเมิดโดยรัฐ ความรับผิดชอบดังกล่าวแสดงออกด้วยการที่ศาลใช้และตีความกฎหมายอย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผยและมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม เป็นกลาง ปราศจากอคติภายในหรือการแทรกแซงใดๆ จากภายนอก เป็นต้น ทว่าที่ผ่านมาศาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนอย่างเพียงพอ ยิ่งกว่านี้ ในหลายกรณีศาลยังปฏิเสธสิทธิพื้นฐานของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมอย่างปราศจากเหตุผลและหลักการทางกฎหมายรองรับ เช่น การไม่ให้สิทธิประกันตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” และผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รายอื่นๆ ขณะเดียวกันศาลกลับทำหน้าที่เป็นกลไกรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจรัฐอย่างเข้มข้น แม้ว่าผู้ใช้อำนาจนั้นจะปราศจากฐานความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการรับฟ้องและดำเนินคดีอาญาผู้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้ต่อต้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44

นอกจากนี้ ภายใต้หลักนิติรัฐ องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทุกองค์กรต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ไม่เว้นแม้แต่องค์กรตุลาการ ซึ่งแม้การตรวจสอบศาลโดยองค์กรอื่นจะกระทำได้อย่างจำกัดเพื่อธำรงหลักความเป็นอิสระของสถาบันตุลาการไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่าศาลจะพ้นไปจากความรับผิดชอบต่อประชาชน ในแง่นี้ การวิพากษ์วิจารณ์และแสดงออกของประชาชนทั้งในทางที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับศาลย่อมเป็นการเตือนให้ศาลได้ตระหนักในการใช้อำนาจอย่างมีเหตุผลและสอดคล้องต่อหลักกฎหมาย อันเป็นการตรวจสอบการทำงานของศาลอีกทาง การนำบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลมาใช้จึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังและใช้ภายในขอบเขตที่จำกัดเฉพาะต่อการกระทำที่เป็นการขัดขวางการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาปรากฏการนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้เพื่อปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงออกในเชิงลบต่อศาลในหลายกรณี โดยล่าสุดคือกรณีกลุ่มเยาวชนดาวดินที่เรียกร้องให้ปล่อยตัว “ไผ่ ดาวดิน”

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองเห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์ของการใช้อำนาจตุลาการนั้นขึ้นอยู่กับการให้เหตุผลที่หนักแน่นรับฟังได้และยึดมั่นในหลักการทางกฎหมาย ซึ่งสามารถถูกตรวจสอบได้โดยการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน มิใช่การปิดกั้นประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของศาล การที่ศาลใช้บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่างย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจโดยที่ศาลเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเสียเอง อันเป็นการนำองค์กรตุลาการมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้ หากศาลเห็นว่าการกระทำใดเกินเลยขอบเขตของกฎหมายศาลก็มีสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาในข้อหาดูหมิ่นศาลได้อยู่แล้ว อีกทั้งในข้อหานี้ยังมีกลไกที่ประกันความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ดีกว่าข้อหาการละเมิดอำนาจศาลด้วย

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองจึงเรียกร้องให้ศาลได้พิจารณาทบทวนบทบาทของศาลในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และขอให้ศาลใช้และตีความกฎหมายเพื่อตอบสนองต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเฉกเช่นที่พึงเป็นในสังคมที่เป็นนิติรัฐทั้งหลาย เพื่อให้ศาลมีบทบาทเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ศาลพึงตระหนักว่าช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ซึ่งจะตราไว้ในอนาคตว่าศาลได้ทำหน้าที่เป็นสถาบันที่ยืนอยู่เคียงข้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิเช่นนั้นก็จะเป็นในทางตรงกันข้าม คือ เป็นสถาบันที่ใช้อาญาสิทธิ์ในการกดประชาชนให้สยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการเพียงอย่างเดียว

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
19 มีนาคม 2560


ที่มา FB
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.