วันจันทร์, มีนาคม 13, 2560

การปรองดอง (ภาคบังคับ) ตามพระราชประสงค์ (บทสัมภาษณ์ "คุณจตุพร พรหมพันธุ์" เรื่อง "เสื้อแดง-ธรรมกาย นปช.-ปรองดอง? นสพ.ไทยโพสต์)





ที่มา FB


Thanapol Eawsakul


การปรองดอง (ภาคบังคับ) ตามพระราชประสงค์

...................

บทสัมภาษณ์ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.-แกนนำเสื้อแดง ล่าสุดในไทยโพสต์ แทบลอยด์

เสื้อแดง-ธรรมกาย นปช.-ปรองดอง?

http://www.thaipost.net/?q=เสื้อแดง-ธรรมกาย-นปช-ปรองดอง

ก่อนเข้่าไปนำเสนอเรื่องการปรองดองวันที่ 15 มีนาคม 2560

นปช.ได้คิว 15 มีนาฯ – กปปส.ได้คิว 17 มีนาฯ เข้าคุยปรองดองกับทหาร

http://mahtem.com/ข่าวทั่วไป/2017/03/นปช-ได้คิว-15-มีนาฯ-กปปส-ได

สิ่งที่น่าสนใจคือ จตุพร พรหมพันธุ์ ย้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง ว่า นี่ไม่เหมือนกับการปรองดอง ในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา

แต่คือการปรองดองตามพระราชประสงค์

1.

จตุพร ย้ำเรื่องแนวทางปรองดองของคนเสื้อแดง-นปช.ว่า หลักสำคัญที่สุดบทเรียนเราต้องยอมรับความเป็นจริง เพราะคณะกรรมการแต่ละชุดไม่ได้แตกต่างกัน ที่แตกต่างกันกับชุดนี้คือนายกรัฐมนตรีได้แจ้งพระราชกระแสรับสั่ง ผมเห็นว่าเป็นโอกาสสำคัญ การปรองดองในอนาคตภายใต้ที่ไม่มีเรื่องอภัยโทษนิรโทษกรรม จึงไม่มีเรื่องคดีความ แต่เรื่องความเหลื่อมล้ำแต่ละด้านก็เป็นเครื่องสะท้อนปัญหาเช่นกัน

2.

การที่นายกฯ นำความพระราชกระแสรับสั่งเรื่องการสร้างความรัก ความสุข ความปลอดภัย ความสงบเกิดขึ้นในชาติ เป็นโจทย์ใหญ่ของนายกฯ ภายในเดือนมีนาคมนี้คงรับฟังความจนจบหมด และก็รวมเรื่องราวซึ่งคงมีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.ความเห็นข้อเสนอที่เหมือนกัน 2.ข้อคิดเห็นที่คล้ายกัน และ 3.ข้อเสนอที่แตกต่างกัน ซึ่งเรื่องเหมือนกันคงมาก แตกต่างคงไม่มาก แต่ความแตกต่างจะมาสร้างจุดสมดุลอย่างไร สำคัญที่สุดผู้มีอำนาจต้องรับฟัง แก้ไขปัญหา และไม่ทำตัวเป็นผู้ขัดแย้งเสียเอง ทั้งที่จริงก็เป็นคู่ขัดแย้ง เมื่อชวนคนอื่นมาปรองดองต้องทำให้ตัวเองอยู่ในบริบทแห่งความเป็นจริงให้มากที่สุด และต้องยอมรับว่าตัวเองก็คือปัญหาหนึ่ง

3.

ซึ่งในบริบทว่าจะสร้างความปรองดองอย่างไร หลังจากนี้ไปหลังจากฟังข้อเสนอแต่ละฝ่าย จะเป็นรูปแบบ ป.ย.ป.ที่มีองคาพยพใหญ่โต แต่ก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร เพราะก่อนหน้าก็ได้รับเอกสารไปแล้ว 2 ชุด คือชุดของ ศปป.กับชุด ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แล้วก็ไม่เคยปฏิบัติ

“มาครั้งนี้ที่แตกต่างเพราะเป็นหมากบังคับ ทุกคนได้ยินพร้อมกันทั้งประเทศ โดยตัวนายกฯ การหาทางออกครั้งนี้ในการสร้างความปรองดองจะออกมาเป็นรูปธรรม”

....เราต้องยอมรับว่าหลายกระบวนการในประเทศไทยเป็นปัญหาอยู่จริง ต้องยอมรับว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่มีการแก้ไขใดๆ เรื่ององค์กรอิสระก็เป็นปัญหาในอนาคตและจะหนักกว่าปี 2550 ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เป็นปัญหา นายกฯ คนนอกก็เคยเป็นปัญหาของประเทศไทยมาอยู่แล้ว ทุกขบวนการเป็นปัญหา ไม่ได้จบแค่อย่าทะเลาะกัน พวกผมไม่มีปัญหา ผลการเลือกตั้งก็เคารพกติกา ไม่เคยขัดขวางการเลือกตั้ง มาครั้งนี้ต้องถามใจนายกฯ หลังรับพระราชกระแสรับสั่ง มีความต้องการอย่างไร เชื่อว่าองคาพยพก็จัดให้ตามผู้ที่แต่งตั้งเข้าไป ในทางปฏิบัติ

ooo

เสื้อแดง-ธรรมกาย นปช.-ปรองดอง?


ที่มา ไทยโพสต์แทบลอยด์
March 12, 2017

แนวปรองดองเสื้อแดง10 นปช.พร้อมถกทหาร

ถึงตอนนี้ตัวแทนพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคได้พูดคุยเรื่องข้อเสนอ-แนวทางการสร้างความปรองดอง-การปฏิรูปประเทศกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองฯ ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธานครบถ้วนเกือบหมดแล้ว และที่หลายฝ่ายต้องจับตามองต่อไปก็คือ สองกลุ่มการเมืองใหญ่ คือ นปช.-กปปส. จะมีข้อเสนออย่างไร รวมถึงบทบาทต่อจากนี้ระหว่างการรอบทสรุปจากรัฐบาล คสช.และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่เคยบอกว่าจะมีบทสรุปเรื่องปรองดองที่เป็นรูปธรรมออกมาภายในปีนี้

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.-แกนนำเสื้อแดง ซึ่งจะนำแกนนำ นปช.ไปคุยกับคณะอนุกรรมการ ป.ย.ป.ในวันพุธที่ 15 มี.ค.นี้เปิดเผยว่า จะมีแกนนำ นปช.ไปร่วมวงคุยครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 10 คน โดยเตรียมข้อมูลข้อเสนอไว้หมดแล้วรวม 16 หน้ากระดาษ ฉบับย่อ 5 หน้า เนื้อหาทั้งหมดประเภทถามมาตอบไปเพราะ ป.ย.ป.ตั้งประเด็นมาให้ นปช.เหมือนกับที่ส่งให้พรรคการเมือง นปช.จะอธิบายทุกประเด็นให้ครบถ้วน ในแต่ละด้านอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีมิติอดีต ปัจจุบัน อนาคต รากเหง้าปัญหา แนวทางแก้ไข ไม่ได้เสนอลอยๆ

...หลักคือ นปช.เห็นว่าปัญหาวันข้างหน้ายังดำรงอยู่ การพูดคุยเรื่องปรองดองอย่างที่เคยได้พูดครั้งนี้ เป็นพระราชกระแสรับสั่งตามที่นายกรัฐมนตรีนำความมาแจ้งแก่ประชาชน ทำให้การปรองดองครั้งนี้ทุกคนเชื่อมั่น แต่เรื่องราวต่างๆ จะอธิบายว่าวันข้างหน้าไม่ว่าจะเรื่องรัฐธรรมนูญ องคาพยพในองค์กรอิสระ น่าจะหนักกว่ารัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 และทหารเองก็เป็นปัญหาหนึ่งเช่นกันนอกจากฝ่ายการเมืองที่เป็นปัญหา หนทางการกำหนดย่างก้าวต่อไปต้องการคำตอบ ส่วนการปฏิบัติเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจ

เราต้องพูดความจริงกันทั้งหมด ทุกฝ่ายมีส่วนถูกและผิดทั้งสิ้น อย่าอธิบายว่าตัวเองถูกทั้งหมด คนอื่นผิดทั้งหมด ปรองดองก็เดินไปไม่ได้ เมื่อกล้าจะชวนไปแสดงความเห็น ก็ต้องใช้ความกล้ารับฟังความเห็นต่าง การไปเสนอของ นปช.ไม่ได้ไปสรรเสริญเยินยอ

จตุพร ย้ำเรื่องแนวทางปรองดองของคนเสื้อแดง-นปช.ว่า หลักสำคัญที่สุดบทเรียนเราต้องยอมรับความเป็นจริง เพราะคณะกรรมการแต่ละชุดไม่ได้แตกต่างกัน ที่แตกต่างกันกับชุดนี้คือนายกรัฐมนตรีได้แจ้งพระราชกระแสรับสั่ง ผมเห็นว่าเป็นโอกาสสำคัญ การปรองดองในอนาคตภายใต้ที่ไม่มีเรื่องอภัยโทษนิรโทษกรรม จึงไม่มีเรื่องคดีความ แต่เรื่องความเหลื่อมล้ำแต่ละด้านก็เป็นเครื่องสะท้อนปัญหาเช่นกัน

...การปรองดองไม่ได้จบแค่ว่ามาดีกัน เลือกตั้งกันแล้วอย่ามีเรื่อง บอกอย่างนี้เพื่อจะบอกว่าถ้ามีเรื่องอีกจะเข้ามาอีก ผมบอกว่าถ้าอย่างนี้ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา จากนี้ถ้าฝ่ายการเมือง ทหารต่างไม่ปรับตัว บ้านเมืองก็สู่หนทางวิบัติ

การปรองดองคือความเข้าใจโดยไม่ต้องเห็นเหมือนกัน แต่ละพรรคกลุ่มการเมืองยังต้องรักษาจุดยืนอยู่ เพียงแต่ความแตกต่างนั้นต้องอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่ให้ทุกคนแต่งตัวเหมือนกัน คิดเหมือนกันหมด แล้วบอกว่าปรองดองแล้ว-ไม่ใช่ ความเห็นผมคือจงรักษาความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละองค์กรให้ดำรงอยู่ ให้อยู่ร่วมกันได้ มีกติกาที่เป็นธรรม ยุติธรรม มีความเสมอภาค ถ้ายอมรับอันนี้กันได้ก็เดินหน้าต่อกันได้

เมื่อให้ประเมินว่าการสร้างความปรองดองรอบนี้ของรัฐบาล คสช.น่าจะประสบความสำเร็จมากกว่าทุกครั้งที่เคยทำกันมาหรือไม่ ประธาน นปช. แสดงความมั่นใจว่าถูกต้อง เพราะว่าหลายครั้งที่ผ่านมา การตั้งคณะกรรมการปรองดองหลังปราบปรามประชาชนยึดอำนาจ ครั้งนี้แตกต่างเพราะมีพระราชกระแสรับสั่ง ถ้าก่อนหน้าใช้วิธีรับฟัง ส่งให้ผู้มีอำนาจ สุดท้ายแล้วเก็บเข้าลิ้นชัก แต่ครั้งนี้เรื่องจะไม่ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก

ประธาน นปช. กล่าวต่อไปว่า จากโครงสร้างใน ป.ย.ป.ทั้งกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ จะพบว่า หลายคนมีบทเรียนเกี่ยวข้องกับประเทศไทย หลายคนเป็นหนึ่งในปัญหา ในคำถามนั้นด้วย เมื่อมาหลากหลายก็จะได้รับฟังความเห็นของแต่ละภาคส่วน บางครั้งถ้าไม่ได้รับฟังโดยตรงจะเกิดจินตภาพ จะมีข้อเสนอใดๆ ที่เป็นปัญหา เชื่อว่าทุกฝ่ายไปเสนอร่วมหาทางออก การเสนอโดยไม่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ก็ดีอย่างที่ทุกคนได้พูดความจริงกันครบถ้วน

การที่นายกฯ นำความพระราชกระแสรับสั่งเรื่องการสร้างความรัก ความสุข ความปลอดภัย ความสงบเกิดขึ้นในชาติ เป็นโจทย์ใหญ่ของนายกฯ ภายในเดือนมีนาคมนี้คงรับฟังความจนจบหมด และก็รวมเรื่องราวซึ่งคงมีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.ความเห็นข้อเสนอที่เหมือนกัน 2.ข้อคิดเห็นที่คล้ายกัน และ 3.ข้อเสนอที่แตกต่างกัน ซึ่งเรื่องเหมือนกันคงมาก แตกต่างคงไม่มาก แต่ความแตกต่างจะมาสร้างจุดสมดุลอย่างไร สำคัญที่สุดผู้มีอำนาจต้องรับฟัง แก้ไขปัญหา และไม่ทำตัวเป็นผู้ขัดแย้งเสียเอง ทั้งที่จริงก็เป็นคู่ขัดแย้ง เมื่อชวนคนอื่นมาปรองดองต้องทำให้ตัวเองอยู่ในบริบทแห่งความเป็นจริงให้มากที่สุด และต้องยอมรับว่าตัวเองก็คือปัญหาหนึ่ง

ถามย้ำว่า การปรองดองเกือบทุกครั้งก็จะต้องมีการพูดโยงเรื่องการนิรโทษกรรม อภัยโทษ จตุพร แสดงท่าทีของ นปช.ว่า เมื่อมีการขีดเส้นแล้วไม่มีเรื่องนี้ เราก็มีมารยาทอยู่แล้ว เมื่อนายกฯ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่รับผิดชอบบอกไม่มี 2 เรื่องนี้ ในคำถามทั้งหมดก็ไม่มี และความจริงแล้ว 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องพระราชอำนาจ ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นอำนาจของบุคคลอื่น เมื่อไม่มี 2 เรื่องนี้ในคำถามเราก็ไม่ตอบใน 2 คำถามนี้

ซึ่งในบริบทว่าจะสร้างความปรองดองอย่างไร หลังจากนี้ไปหลังจากฟังข้อเสนอแต่ละฝ่าย จะเป็นรูปแบบ ป.ย.ป.ที่มีองคาพยพใหญ่โต แต่ก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร เพราะก่อนหน้าก็ได้รับเอกสารไปแล้ว 2 ชุด คือชุดของ ศปป.กับชุด ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แล้วก็ไม่เคยปฏิบัติ

“มาครั้งนี้ที่แตกต่างเพราะเป็นหมากบังคับ ทุกคนได้ยินพร้อมกันทั้งประเทศ โดยตัวนายกฯ การหาทางออกครั้งนี้ในการสร้างความปรองดองจะออกมาเป็นรูปธรรม”

....เราต้องยอมรับว่าหลายกระบวนการในประเทศไทยเป็นปัญหาอยู่จริง ต้องยอมรับว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่มีการแก้ไขใดๆ เรื่ององค์กรอิสระก็เป็นปัญหาในอนาคตและจะหนักกว่าปี 2550 ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เป็นปัญหา นายกฯ คนนอกก็เคยเป็นปัญหาของประเทศไทยมาอยู่แล้ว ทุกขบวนการเป็นปัญหา ไม่ได้จบแค่อย่าทะเลาะกัน พวกผมไม่มีปัญหา ผลการเลือกตั้งก็เคารพกติกา ไม่เคยขัดขวางการเลือกตั้ง มาครั้งนี้ต้องถามใจนายกฯ หลังรับพระราชกระแสรับสั่ง มีความต้องการอย่างไร เชื่อว่าองคาพยพก็จัดให้ตามผู้ที่แต่งตั้งเข้าไป ในทางปฏิบัติ

จตุพร-แกนนำเสื้อแดง พูดถึงสิ่งที่ต้องการเห็นเรื่องปรองดองแบบเป็นรูปธรรมจาก ป.ย.ป.ว่า มีการพูดไว้ว่าเรื่องนี้ 3 เดือนจะเห็นหน้าเห็นหลังจากปากของนายกฯ และ พล.อ.ประวิตร หน้าที่ของผมก็แค่วันที่ 15 มี.ค. จากนั้นเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจ จะสำเร็จหรือไม่ก็เป็นความรับผิดชอบของผู้ดำเนินการเรื่องนี้

ผมเองไม่ได้มีความต้องการว่าเราต้องการให้มีผลลัพธ์อย่างนี้ แต่ภาระความรับผิดชอบทั้งหมด หลังฟังทุกฝ่ายแล้วอยู่ที่นายกฯ หัวหน้า คสช. เป็นภาระของท่านอยู่บนบ่าของท่าน

ส่วนที่อนุกรรมการเตรียมการสร้างความปรองดองใน ป.ย.ป.ที่มี 4 ชุด พบว่าส่วนใหญ่ล้วนเป็นนายทหารระดับสูงทั้งสิ้นจะมีผลอะไรหรือไม่ จตุพร มองเรื่องนี้ว่า ความที่เราเห็นการทำเรื่องปรองดองมานานในช่วง 10 ปีหลัง เลยไม่สนใจกรรมการเป็นใคร เราได้กรรมการเป็นกลางดีทุกวันยกเว้นวันสุดท้ายก็มี หรือได้กรรมการเป็นกลางทำผลสำเร็จ แต่ถูกเก็บใส่ลิ้นชักก็เห็นกันอยู่

ไม่ได้สนใจกรรมการเป็นใคร กรรมการในประเทศไทยทำหน้าที่เป็นไปรษณีย์เท่านั้น สุดท้ายอยู่ที่คนตั้งเขาเหล่านี้จะนำไปปฏิบัติหรือไม่ ที่ผ่านมาใช้งบเป็นพันล้าน ทำเรื่องนี้แต่ว่าได้แต่ผลการศึกษา เรื่องทั้งหมด ถ้าเรามองอย่างไม่ได้สนใจพิธีกรรมว่ากรรมการต้องเป็นกลาง ที่เห็นว่าไม่เป็นกลางแต่ต้น ไม่ต้องคิดมาก ถ้าได้กรรมการแสร้งว่าเป็นกลางแต่สุดท้ายไม่เป็นกลาง ภาระทั้งหมดก็ตกอยู่ที่ประชาชน

“มองกรรมการเป็นเพียงไปรษณีย์ จะเป็นทหารหรือเป็นนักธุรกิจหรือใครก็ตามไม่สนใจ หน้าที่ของผมคือการส่งสาร ผู้รับสารคือ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านไปรษณีย์”

- คนเสื้อแดงบางส่วนอาจไม่เห็นด้วยที่ นปช.จะไปคุยกับทหารที่เป็นคู่ขัดแย้ง?

ตั้งแต่ยึดอำนาจได้คุยกับพี่น้องตลอด ว่าตั้งแต่หลังยึดอำนาจก็มีการไปคุยกันแบบนี้ตลอด ทั้งที่มีการตั้งวงกันที่กระทรวงกลาโหม หรือของศูนย์ปรองดองที่หอประชุมกองทัพบก ทั้งวงใหญ่และวงรายบุคคลก็ไปหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ

พี่น้องเสื้อแดงก็เข้าใจว่าในหนทางการต่อสู้การคุยกันเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าเนื้อหาการคุยต้องไม่เสียอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ในครั้งนี้ที่แตกต่างจากทุกครั้งเพราะเป็นพระราชกระแสรับสั่งที่พี่น้องทุกคนต้องรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม

ถามจุดยืนเรื่องปรองดองให้ชัดว่า หากสุดท้าย ป.ย.ป.มีข้อสรุปปรองดองอะไรออกมา เช่นให้ทุกฝ่ายมาทำเอ็มโอยูปรองดอง แกนนำ นปช.จำเป็นต้องมาคุยทำความเข้าใจกับมวลชนของตัวเองไหม จตุพร-ประธาน นปช. ยืนยันไว้ว่า MOU หมายถึงคือต้องตกผลึกกันทุกฝ่ายแล้ว แล้วก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน หากไปถึงจุดที่ถ้าจะต้องมีการทำ MOU ไม่ใช่ว่าฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย แต่มีบางฝ่ายไม่เห็นด้วย มันก็ MOU ไม่ได้ กว่าจะไปถึงจุดนั้นก็อีกยาวไกล และสำหรับประเด็นที่เป็นข้อเสนอของ นปช.หลังมีการเสนอเสร็จก็จะนำมาแจ้งให้ประชาชนรับทราบว่าเสนออะไรบ้าง และต่อมาหากว่าคุยกันตกผลึกกันทุกฝ่ายแล้ว แน่นอนที่สุดแต่ละฝ่ายไม่มีใครได้ข้อเสนอครบถ้วนอยู่แล้ว ความสมดุลตรงกลาง ภายใต้จุดยืนไม่เสียหลักการเรื่องประชาธิปไตยและมีความเสมอภาคกัน

ผมเชื่อว่าพี่น้องเสื้อแดงอธิบายด้วยกันไม่ยาก เพราะทุกคนก็ต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อไป เพราะมันนับหนึ่งไม่ได้หากอยู่ในสถานการณ์แบบนี้

- หากเอ็มโอยูเป็นข้อเสนอที่ดี หมายถึง นปช.ก็ไม่ได้ปฏิเสธ?

คือถ้าเห็นพ้องต้องกันหมดแล้วบนหลักความชอบธรรม ผมก็บอกว่าไม่ขัดข้องอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องให้มันตกผลึกกับทุกฝ่ายเสียก่อน เพราะหากฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยแต่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วย มันก็ เอ็มโอยูไม่ได้อยู่แล้ว เอ็มโอยูคือเห็นพ้องต้องกัน ผมเชื่อว่ากว่าจะถึงจุดนั้นก็คงได้มีเวลาทำความเข้าใจกัน

สำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงต่อจากนี้ จตุพร บอกว่า การอยู่อย่างนิ่งสงบไม่ได้หมายความว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยหมดไป เมื่อถึงเวลาเช่นวันเลือกตั้ง เขาจะสำแดงชัดเจนกันในวันนั้น ส่วนทิศทาง นปช.ก็มีภาระหน้าที่รักษาจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยแม้ว่าไม่ใช่เรื่องชุมนุม

บทเรียนการยึดอำนาจครั้งนี้ทำให้คนที่สนับสนุนการยึดอำนาจและผู้ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจเห็นปัญหาชาติตรงกัน ต่างก็เดือดร้อนอย่างเสมอภาคกัน สมัยก่อนฝ่ายประชาธิปไตยจะเร่งรีบในการขับไล่คณะผู้ยึดอำนาจ จึงไม่เห็นหายนะอย่างแท้จริงจนครบถ้วนกับทุกฝ่าย

การอยู่นานของ คสช.ที่จะเป็นคุโณปการ ก็คือฝ่ายที่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจและฝ่ายไม่เห็นด้วย เห็นปัญหาชาติตรงกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็เดือดร้อนกันเสมอภาค เราก็เห็นว่าความขัดแย้งที่มันยาวนานนับสิบปี การอยู่นานของ คสช.และการดำเนินการต่างๆ ของ คสช.จะช่วยหล่อหลอมให้อยู่ในบริบทที่ทั้งสองฝ่ายเห็นปัญหาชาติเหมือนกัน ยกเว้นอาจมีบางฝ่ายสุดโต่งกันบ้าง แต่ก็มีไม่มากนักเพราะส่วนใหญ่ก็เดือดร้อน ความเดือดร้อนที่ต่างได้รับจึงทำให้มองเห็นภาพที่คล้ายกัน

เรื่องนี้ก็จับได้จากความเดือดร้อน หากอธิบายจากภูมิรัฐศาสตร์เวลานี้ ท้องหิวเป็นตัวกำหนด จากสมัยก่อนเราสร้างประเด็นการเมือง หรือที่คนเรียกกันว่าปฏิบัติการ IO หรือการเบี่ยงประเด็นข่าวเพื่อเบนความสนใจคน ซึ่งในยามที่ท้องไม่หิวคนก็จะเชื่อตามนั้น แต่ยามที่คนท้องหิวก็เบี่ยงความสนใจได้แค่ช่วงสั้นๆ แล้วจากนั้นก็จะกลับมาที่จุดเดิมว่าเขาก็ยังท้องหิวอยู่ ยังเดือดร้อน ผมเชื่อว่าความเดือดร้อนนี้จะทำให้คนได้ตระหนักกันทุกฝ่ายว่าระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง คือหนทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องมากที่สุด

ประธาน นปช. กล่าวด้วยว่า สำหรับฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องทบทวนตัวเองเหมือนกัน ว่าอะไรคือสาเหตุของการเข้ามาของฝ่ายทหาร

“ผมเชื่อว่าหากฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่ปรับตัว ประชาชนก็จะไม่ให้อภัยแล้ว เพราะความเดือดร้อนทั้งหมดทุกฝ่ายต้องยอมรับปัญหาพร้อมกัน”

เมื่อเราเดินไปแล้วเห็นปัญหาพร้อมกัน ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็ต้องไม่สร้างเงื่อนไขอันเป็นเหตุให้ทหารเข้ามาได้ เพราะไม่ว่าใครจะสร้างสถานการณ์อย่างไรก็ตาม แต่หากภูมิต้านทานของฝ่ายประชาธิปไตยแข็งแรง การทำรัฐประหารก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป แต่หากยังไม่ปรับเปลี่ยนรัฐประหารก็มาได้ทุกเวลา

ผมว่าบทเรียนครั้งนี้ทหารก็จะได้บทเรียนว่าบ้านเมืองไม่ได้บริหารง่าย ปัญหามากกว่าที่คิด ความสำเร็จไม่ได้แก้ไขได้ด้วยอำนาจและกำลังอย่างเดียว ฝ่ายนักการเมืองก็จะได้ซึมซับกันว่าอะไรคือสาเหตุ แล้วเมื่อมีโอกาสได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกครั้งจะต้องไม่เดินย้อนไปในทิศทางเดิม

คือพอถึงจุดหนึ่งทั้งทหาร พรรคการเมือง ประชาชน ก็ต้องทบทวนบทเรียนว่าอะไรที่ทำให้บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ ผมว่าหากทุกฝ่ายไม่มีการปรับตัวเลย บ้านเมืองก็กลับมาตรงจุดนี้อีก ในระยะยาว นักการเมืองต้องสำนึกตลอดเวลาว่า หากเดินตามรอยเดิมก็จะถูกทหารยึดอำนาจได้ทุกเวลา ประชาชนถ้าอ่อนแอและไม่สามารถควบคุมนักการเมืองได้ก็ต้องมาอยู่ในสภาพนี้อีก

ดังนั้น ประชาชน ทหาร นักการเมืองก็ต้องมีบทเรียน หากไม่มีประชาชนก็ควรต้องลงทัณฑ์เขา เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่ามันทุกข์กันเสมอหน้า ไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ตอนปี 2540 ว่ามันหนัก แต่ก็ยังไม่เหมือนตอนนี้ที่มันทุกข์กันทั่วหน้า

- การเกิดขึ้นของมวลชนขนาดใหญ่หรือการชุมนุมการเมืองขนาดใหญ่หลังจากนี้ อาจไม่สามารถทำได้แบบในอดีตที่ผ่านมา?

ผมว่าไม่ใช่เรื่องทำไม่ได้ แต่การสื่อสารยุคใหม่โลกมันเปลี่ยน เราต้องยอมรับว่ายุคปัจจุบันพวก เฟซบุ๊กไลฟ์ อินสตาแกรม ยูทูบ อย่างสมาชิกเฟซบุ๊กในเมืองไทยมันเกิน 40 ล้านคน คนไทยมีโทรศัพท์ใช้กันทั้งประเทศเป็นร้อยล้านเครื่อง มากกว่าจำนวนประชากร มันมีอานุภาพมาก อย่างการ Facebook Live สมาชิกที่มี 40 ล้านคนก็เท่ากับ 40 ล้านช่อง แค่นั่งอยู่ในบ้านก็สื่อสารกันได้แล้ว มันก็ไม่มีความจำเป็นต้องมารวมกันแบบคนจำนวนมาก

แต่วันข้างหน้าเขาก็อาจบอกกันว่าเราไม่ต้องไปก่อตัวอะไรกันให้มากมาย แค่สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียครั้งเดียวก็มาได้แล้ว จากการสื่อสารแบบเดิมที่จะต้องไประดมแต่ละที่

“แต่ต่อไปผมเชื่อว่าก็ครั้งเดียว คือถ้าจะมีการคิดที่จะรวมพลไม่ใช่เรื่องยาก ภายใต้โลกสื่อสารไร้พรมแดนอันนี้ เพราะอย่างพวกเฟซบุ๊ก ยูทูบ อะไรพวกนี้วันนี้ไปเร็วมาก"

ผมก็เคยบอกกับ กสทช.ว่าไปปิดทีวีบ่อยๆ ทำให้คนไปเรียนรู้ทางโซเชียลมีเดีย แล้วจะทำให้เกิดการเสียหายหลายเรื่อง ก็เคยเตือนเขาอยู่ เพราะทีวียังคุมเนื้อหาได้ แต่พอไปเล่นโซเชียลมีเดียมันมีเรื่องที่คุมไม่ได้

ผมก็บอกเขาว่าอะไรที่อยู่บนดินดีๆ อยู่แล้วอย่าจับให้เขามุดดิน ทีนี้ชาวบ้านเขาก็ยังต้องการเสพสื่อ เขาก็ต้องควานหา ก็อยากรู้ แล้วปัจจุบันพวกอย่างโทรศัพท์มือถือ แค่พันบาทดูเฟซบุ๊ก ยูทูบ ก็ซื้อได้แล้ว ตอนนี้พัฒนาการการรับรู้ของคนเปลี่ยนแปลงไป การที่รัฐใช้นโยบายที่ผิดพลาดเพราะกลไกรัฐไม่ได้มองทั้งกระดาน วันนี้อย่าไปปิดช่องทางที่อยู่บนดิน เพราะปิดทีวีได้แต่ปิดมือถือไม่ได้ วันนี้คนดูทางมือถือมากกว่าโทรทัศน์แล้ว

อย่างคนเสื้อแดงที่เป็นชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ก็ดูยูทูบทางมือถือ บางทีก็ต่อเครื่องเสียงแล้วดูกันในหมู่บ้าน ผมก็เคยบอก กสทช.ว่าความน่ากลัวไม่ได้อยู่ที่พวกผม แต่ความน่ากลัวไปอยู่กับสิ่งอื่นที่ควบคุมไม่ได้ต่างหาก ไม่ว่าจะออกกฎหมายอะไรก็ไม่มีทางตามทันโลกโซเชียลฯ ที่ไปไกลกว่ากฎหมายเสมอ

การเมืองบนท้องถนนจะกลับมาเมื่อ...?

ฟังจากประธาน นปช.บอก เลยถามว่าแสดงว่าต่อไปนี้การเมืองแบบมวลชนจะเปลี่ยนไป ไม่มีทางเหมือนเดิมแล้ว จตุพร มองว่าโลกโซเชียลฯ มันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์แล้ว รากหญ้าเขาก็ยกระดับ เมื่อคนในครอบครัวทันเขาก็ต้องทำให้ตัวเขาทัน อย่างเมื่อก่อนเราต้องไปโหมโรง แต่วันนี้นั่งพูดอยู่ในห้องนี้คนก็ได้ยินกันทั้งประเทศทั้งโลก คิดว่าองคาพยพต่อไปขององค์กรประชาธิปไตย หรือแม้แต่พรรคการเมืองมันอยู่ที่โซเชียลมีเดีย พูดตรงจุดหนึ่งก็ได้ยินกันทั้งหมด อิทธิพลการสื่อสารก็จะ ทรงอานุภาพ

ต่อไปหากเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรวมพลให้เกิดปัญหาให้เกิดความเดือดร้อน ก็นัดพี่น้องฟังคำปราศรัยของข้าพเจ้าผ่านมือถือ ผมเข้ามาในห้องนี้ก็ตั้งกล้องมือถือปราศรัย ได้ยินกันทั้งประเทศแล้ว ทรงอานุภาพกว่าด้วย โลกมันกำลังเปลี่ยน

- การชุมนุมการเมืองใหญ่ๆ ต่อไป หากจะเกิดขึ้นก็ต้องเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ?

ถูกต้อง ผมว่าเรื่องธรรมดา ก็จะน้อยลง หมายถึงกลุ่มการเมืองขนาดใหญ่ แม้แต่กลุ่มที่เป็นปัญหาของท้องถิ่น หรือปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าก่อนเขามาหน้าทำเนียบรัฐบาล ในทางโซเชียลฯ เขาสุกงอมมาก มองว่าแต่ละภาคส่วนก็กำลังปรับให้เข้ากับโลกสื่อสารไร้พรมแดนอันนี้ เพราะฉะนั้นการรวมกันเป็นจำนวนมากของประชาชนในเวลานี้ผมว่ามันไม่จำเป็น แต่ถ้าจำเป็นมันจะเร็วกว่าเดิมเยอะ เมื่อก่อนเวลาจะสื่อสารต้องเข้าไปในหมู่บ้านอะไร แต่เวลานี้แค่นั่งพูดตรงนี้ก็ได้ยินกันหมด โลกเทคโนโลยี การต่อสู้ สนามมันเปลี่ยน

นปช.เอาไงถ้าประยุทธ์อยู่ยาว

ประธาน นปช. บอกว่าตัวเขาไม่ได้สนใจว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด เพราะการอยู่นานของ คสช.บางครั้งมันเป็นอานิสงส์ของฝ่ายประชาธิปไตย อย่างที่ผมบอกคือต้องการให้มันสุกงอมสุดๆ จนกระทั่งไปไม่ได้ด้วยสภาพจริงๆ นาทีนี้ก็อดทนกันมาตั้งจะร่วม 3 ปีแล้ว ก็ดูว่าจะสุดๆ แล้วหรือยัง ก็ทนดูได้ จนกระทั่ง คสช.คลายฟันยางเอง ไม่รีบ

ถามเพื่อดูท่าทีจากคนเสื้อแดงว่า หากสุดท้ายโรดแมปขยับออกไปอีก จำเป็นหรือไม่ที่ คสช.ต้องมีเหตุผลทำให้คนยอมรับกันได้ จตุพร แสดงท่าทีไว้ว่า โรดแมปก็เลื่อนมาหลายหนแล้ว แต่ที่แตกต่างกันก็คือความเดือดร้อนในการเลื่อนแต่ละครั้ง ก็ต้องประเมินว่าอุณหภูมิแต่ละช่วงที่เรียกกันว่าภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งในเรื่องความเชื่อ หากแม้พูดเหมือนเดิมแต่ความหมายคนละเรื่อง คนเราในทางการเมืองหากรู้ตัว แล้วลงในเวลาที่ยังดีๆ อยู่ที่มีโอกาสจะลง เพราะในการเมืองบางทีก็ไม่มีสิทธิ์จะเลือกเลย

คนเราเวลาต้องการเข้าไปอยู่ในอำนาจมักต้องการจะอยู่นาน บางครั้งการอยู่นานกลับกลายเป็นโทษ ผมถึงไม่ได้กลัวการที่จะอยู่นาน คสช.หากอยู่นานเกินโรดแมป คสช.ก็จะได้เห็นว่าประชาชนคิดอย่างไร เรื่องนี้จึงไม่ได้วิตกกังวล ก็อยากให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายได้ซึมซับจากความเดือดร้อนนี้

คสช.บอกว่าจะคืนความสุข เรื่องทุจริตคอร์รัปชันหรือเรื่องราวต่างๆ มากมาย แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีเรื่องราวอื่นๆ เข้ามาเบี่ยงเบนความสนใจประชาชนได้เป็นครั้งคราว แต่ทุกรัฐบาลหากถึงคราว เรื่องอะไรก็มาขวางไม่อยู่ คสช.เขาก็ต้องคิดเองว่าเขาจะอยู่และจบอย่างไรในตอนที่เขายังมีโอกาสเลือก เพราะบางครั้งไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเลือก

การอยู่นานไม่ใช่ว่าดีเสมอไป เพราะมนุษย์มันก็จะมีช่วง top แล้วจากนั้นก็จะ slow down ลงมาเรื่อยๆ ปัญหาคือผู้มีอำนาจจะรู้ตัวตอนอยู่ในช่วงสูงสุด หรือมารู้ตัวเอาตอนช่วงต่ำสุด เพราะฉะนั้นชีวิตใครก็ชีวิตมัน บางคนไปตอนที่ยังมีโอกาส แต่บางคนอยากจะไปยังไม่ได้ไปเพราะมันหมดโอกาสเสียแล้ว

ปัญหาคือจะเลือกจบชีวิตในตำแหน่งหน้าที่ในเวลาไหน จะเป็นเวลาที่ยังมีเสียงปรบมือหรือจะเป็นในช่วงที่มีแต่เสียงก่นด่า ซึ่งนักการเมืองหรือคนที่มาจากรัฐประหารเขาก็ต้องเลือก เพราะบทเรียนก็มีให้เห็น

คือถ้าเป็นเรา ถ้าสร้างความปรองดองในชาติได้ เป็นแมตช์แห่งความทรงจำแล้วบ๊ายบาย ประชาชนก็จะมองว่าเรื่องเศรษฐกิจอาจแก้ไม่ได้ แต่เขาสร้างความปรองดองขึ้นภายในชาติได้ แล้วยุติเลย คนก็จะปรบมือ อันนี้สมมุติว่าเป็นเรา แต่สำหรับเขา ผมก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร

...เพราะโดยธรรมชาติเวลาอยู่ในอำนาจก็คิดจะอยู่นาน อันนี้เรื่องปกติ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือยึดอำนาจ คือโรคอำนาจ เพราะฉะนั้น คสช.ถ้าจะจบสวยก็ต้องหาจังหวะที่เหมาะสม ที่ตอนนี้ก็ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นภายในชาติ

ถามถึงความเป็นไปได้ในอนาคตว่าจะเกิด พรรคเสื้อแดง ขึ้นในการเมืองไทยได้หรือไม่ ประธานนปช. ย้ำว่ายังไม่คิด เพราะกระบวนการประชาชนตอนนี้มันแข็งแรงอยู่แล้ว อะไรที่จะทำให้ไม่แข็งแรงเราต้องหลีกเลี่ยง เพราะการเป็นภาคประชาชนมันทำอะไรได้มากกว่าพรรคการเมืองในหลายเรื่อง การเดินบนเส้นทางนี้มันยังมีอานุภาพอยู่และเราก็ยังมีความสุขกับเส้นทางนี้อยู่

สำหรับ นปช.หากว่ามีโอกาสได้ประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ก็ต้องมีหน้าที่บอกประชาชนว่าจะรักษามันไว้อย่างไร และต้องบอกกับพรรคการเมือง ไม่ใช่กับแค่เฉพาะพรรคเพื่อไทย แต่กับทุกพรรคว่าอย่าเดินเข้าไปในจุดที่บ้านเมืองเดินมาถึงในจุดนี้กันอีก

ไม่เชื่อเพื่อไทยเกี้ยเซี้ย คสช.

ตั้งคำถามกับจตุพรที่เป็นอดีต ส.ส.เพื่อไทย และอยู่กับพรรคเพื่อไทยมานานว่า ในทางการเมืองมีการวิเคราะห์กันว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนมีสายสัมพันธ์อันดีกับแกนนำ คสช. ถึงเวลาเพื่อไทยก็อาจเกี้ยเซี้ยกับ คสช.โดยอ้างเหตุปรองดอง จตุพร ตอบว่า ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งหากประชาชนเห็นว่าจะมีการเกี้ยเซี้ย คนจะเลือกไหม เพราะต้องแบกเรื่องความรู้สึกของประชาชน มันก็ไม่ง่าย เรื่องนี้เป็นหลักคิดที่ดูแล้วเป็นไปได้ยาก เพราะตอนปลายของคณะรัฐประหาร ถ้าพรรคการเมืองมาบอกว่าหลังเลือกตั้งจะไปร่วมมือกับคณะรัฐประหาร ต่อให้สิบพรรคเพื่อไทยก็ยังเอาตัวเองไม่รอด ประชาชนท้ายที่สุดเขาจะรู้สึกว่าทนไม่ได้

ดังนั้นเชื่อผมเถอะว่า ใครจะอธิบายขณะนี้ก็อธิบายได้ แต่เวลาเข้าสู่สนามเลือกตั้งมันอธิบายไม่ได้ เพราะประชาชนจะสาปแช่งในสนามเลือกตั้งและผลลัพธ์จะไม่เป็นอย่างที่คาดคิด เพราะต่อให้รักขนาดไหนก็เลือกไม่ลง

เมื่อถามกลับไปว่า เรื่องแบบนี้ตอนเลือกตั้งอาจจะไม่พูด แต่เลือกตั้งเสร็จไปถึงช่วงตั้งรัฐบาลแล้วมาบอกว่าจำเป็นต้องทำ เพราะไม่อย่างนั้นการเมืองจะติดล็อก จตุพร-แกนนำเสื้อแดง เชื่อว่าในช่วงเลือกตั้งก็จะมีความชัดเจน แต่ว่าในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองหลักๆ พรรคไหน กล้าประกาศ เว้นแต่พรรคที่ไม่มีอนาคต ก็กล่าวอ้างไป แต่คนก็ไม่เชื่อ มันไม่ง่าย เพราะอย่างไปดูตอนเลือกตั้งปี 35/2 ที่เลือกตั้งหลังยึดอำนาจ กระแสประชาธิปไตยมันจะแรง มันเป็นอัตโนมัติ การที่พรรคการเมืองจะไปเหลวไหล มันก็ต้องแลกกับความศรัทธาของประชาชนเหมือนกัน.

........................
เสื้อแดง-ธรรมกายเป็นพวกเดียวกัน?

ที่ผ่านมา 2 กลุ่มใหญ่ทางการเมืองสำคัญ ที่ถูกมองว่ามีความสัมพันธ์อันดีหรือพูดง่ายๆ ว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับ วัดธรรมกาย ก็คือ พรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดง เห็นได้จากหลายกรณีที่มีการเชื่อมโยงกัน เช่นล่าสุดกับกรณีวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความคนสำคัญของฝ่าย นปช.ไปเป็นทนายความให้ พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส จากวัดธรรมกาย หรือกรณีลีลาวดี วัชโรบล อดีต ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ลูกศิษย์วัดธรรมกาย ไปยื่นหนังสือที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ ยกเลิกมาตรา 44 ในการแก้ปัญหาพระธัมมชโย

การพูดคุยรอบนี้กับจตุพรเกิดขึ้นก่อนจะมีการเคลื่อนไหวของลีลาวดี-วิญญัติ ซึ่งเมื่อถาม จตุพร-แกนนำเสื้อแดง ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหน้าวัดธรรมกาย เขาบอกว่าเรื่องวัดธรรมกายมองและให้ความเห็นอย่างระมัดระวังว่า ท้ายที่สุดเมื่อใช้กลไกอำนาจทุกอย่างก็ต้องตั้งคำถามว่าสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ และหากแก้ไขไม่ได้แล้วจะอย่างไรต่อไป เพราะก็จะมีเรื่องอื่นๆ ต่อมาอีกเช่นเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ที่จะเพิ่มอาณาเขตมากขึ้น

ปัญหา ณ ตอนนี้ผมมองว่าต้องแยกเรื่องบุคคลออกมาจากหลักการเรื่องพุทธศาสนา ขณะเดียวกัน ปฏิบัติการของรัฐที่ใช้กับพระจะแตกต่างจากประชาชน ประชาชนอาจรู้สึกระดับหนึ่ง แต่กับพระไม่ใช่เรื่องง่ายในสังคมพุทธ ทางเจ้าหน้าที่และพระต่างก็อีหลักอีเหลื่อ

ความเห็นผมก็มองว่าต้องคุยกันแล้วหาทางออกร่วมกัน เพราะยังมีทางออกร่วมกันได้ทั้งรัฐและวัดธรรมกายและคณะสงฆ์เอง เพราะหากยังเป็นแบบนี้ต่อไปจะไปอย่างไร มันไปยากมาก หากจะเข้าตรวจภายในวัดก็มีวิธีการมากมายที่ทำได้โดยไม่กระทบกระเทือนกัน ให้คลายข้อสงสัย โดยความยินยอมพร้อมใจโดยไม่ต้องมี เช่นจัดชุดขึ้นมาแล้วก็เข้าไปดูทุกที่ทุกจุดที่สงสัย แล้วให้มีการจับภาพโดยใช้เทคโนโลยี โดยต้องมีการตกลงกันว่าหากไม่พบก็ต่างคนต่างไปใช้ชีวิตกันตามปกติ ก็เป็นทางออกได้

...พระลำบากมาก คือเสื้อแดงอาจจัดการได้ง่าย แล้วผมก็สั่งบรรดาแกนนำว่าห้ามไปเด็ดขาด จะไม่มีแกนนำเสื้อแดงไปที่วัดธรรมกายหรือที่ตลาดคลองหลวง แต่ส่วนตัวบุคคลอะไรก็ไกลจากแกนนำไป เพราะไม่เป็นผลดีต่อวัดธรรมกาย แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ เรื่องนี้ก็ยืนอยู่ในมุมที่ภาวนาไม่อยากให้เกิดเรื่อง

เมื่อถามถึงกรณีมีการเชื่อมโยงวัดธรรมกายกับคนเสื้อแดง จตุพร บอกว่าวัดไม่มีสิทธิ์เลือกคน ธรรมกาย คุณบุญชัย พวกไหนล่ะ หรือคุณประกอบ จิรกิติ แล้วก็อีกหลายคน ก็เยอะแยะไปหมด ก็เหมือนอย่างผม เป็นศิษย์วัดบวรนิเวศราชวรวิหารมาเป็นสิบปี วัดบวรฯ คุณนิชา (หิรัญบูรณะ) ก็ไปได้ พลเอกประยุทธ์ก็ไปได้

“วัดไม่มีสิทธิ์เลือกคน แต่คนมีสิทธิ์เลือกวัด เพราะฉะนั้นใครเข้าวัดเขาก็ไม่มาถามว่าคุณมีความเชื่อทางการเมืองสีไหน ความจริงก็คือมีทุกฝ่าย แต่ว่าพอเกิดเรื่องนี้ขึ้น วิธีการก็ว่ามีคนเสื้อแดงเพื่อจะจัดการเขาได้ง่าย ซึ่งผมก็เห็นว่ามันรูปแบบเดิมๆ แล้วเราก็ชัดเจน แกนนำเนี่ย ห้ามเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับทั้งสองทาง”

- ในทางข่าวพยายามบอกกันว่ามีฮาร์ดคอร์สายเสื้อแดง มีอดีตการ์ดเสื้อแดงไปร่วมด้วย?

ไปเพื่ออะไร มีข่าวบอกว่ามีการ์ดไป 500 คน ถามว่าไปเพื่ออะไร พระเขามีจีวรที่ใหญ่กว่าหน่วยการ์ดอยู่แล้ว

“ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ก็เป็นการกุข่าว เพื่อทำลายความชอบธรรมของวัดพระธรรมกาย แล้วได้มัดคนเสื้อแดงไว้อยู่ในคราวเดียวกัน”

ผมถึงบอกว่าพอมีข่าวแบบนี้ออกมา มันเป็นผลเสียไม่ได้เป็นผลดี แล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะเอาเพิ่มกำลังเท่าไหร่ก็ได้ แล้วคุณจะไปสู้อะไรกับกำลังอาวุธ ก็เป็นการกุข่าวขึ้นมา เพื่อไว้อธิบายความที่ไม่เป็นผลดี

วันนี้วัดธรรมกายมีภูมิต้านทานดีอย่างเดียวก็คือพระ ไม่มีอะไรไปช่วยได้ดีกว่าจีวรเหล่านั้นที่พระได้บวช เจ้าหน้าที่รัฐก็ปฏิบัติด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะฝ่ายที่ไปปฏิบัติด้วยก็คือพระ จึงยังมีเส้นแบ่งที่สวยงาม แต่หากเป็นแบบคนธรรมดาคงกระทบกระทั่งไปมากกว่านี้ ในสังคมพุทธจึงเป็นความยาก

ซักต่อไปว่า เวลานี้โลกโซเชียลมีเดียก็ยังมีการดึงคำพูดของ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.ที่เคยโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องวัดธรรมกายกับคนเสื้อแดงนำมาอ้างไว้อยู่ จตุพร ยืนกรานว่าก็เป็นความพยายาม คือก็อย่างที่ผมบอก คือเอาคน นปช.ไป ไปเพิ่มความทุกข์ให้กับเขา ทั้งที่เขาทุกข์อยู่แล้ว เขาแข็งแรงได้ ด้วยความบริสุทธิ์เฉพาะเขาเอง ฝ่ายวัดธรรมกายมีจีวรที่เข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ถ้าคนนอกไป ไม่ได้ไปช่วยเขา แต่จะเป็นภาระให้กับเขา เรื่องนี้มันไม่ควรมีฝ่ายอื่นเพิ่มเข้าไปแล้ว ก็จะเห็นว่า นปช.ส่วนกลางไม่มีใครเข้าไป แล้วหน่วยการ์ดที่ว่าก็ไม่จริง ส่วนลูกศิษย์ใครที่เคยมาร่วมชุมนุม ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีหมด จึงไม่ใช่เรื่องของ นปช.จะเข้าไป ก็เป็นนโยบายชัดเจน

ประธาน นปช. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ตอนนี้แต่ละฝ่ายคิดวันต่อวัน แล้วตอนนี้ไปไหนก็ไม่ได้แล้ว พูดง่ายๆ คือเป็น "หมาก-วน" แล้ว ผมถึงบอกว่าก็คุยกัน ส่วนจะคุยกันแบบไหนก็มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ มีข้าราชการ มีคนรับผิดชอบ สงสัยเรื่องอะไรก็ทำให้คลายสงสัยเสีย แล้วจากนั้นต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปทำหน้าที่มันก็งดงามแล้ว แล้วแบบนี้จะเดินหน้ายังไง ถ้าเกิดเลือดตกยางออกแล้วจะว่าอย่างไร มันไม่มีประโยชน์ แล้วจะเป็นโทษมหันต์ด้วย ตอนนี้ก็อยู่ที่รัฐแล้วจะไปอย่างไร ลองนึกภาพสิ

“ก็เลิกราได้หลายรูปแบบ คุยกัน หาทางออก ก็เลิกราได้ มันไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการใช้กำลังเสมอไป งานเลี้ยง เพราะเหนือสิ่งอื่นใดฝ่ายหนึ่งเป็นพระ อีกฝ่ายก็เป็นเจ้าหน้าที่ ผมว่าฝ่ายพระเขาก็ระวัง ผมว่าฝ่ายพระเขาเองเท่าที่ดูข่าวก็อึดอัด”

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เข้าตรวจค้นภายในวัดพระธรรมกาย โดยไม่พบพระธัมมชโยแต่อย่างใด และผู้บริหารดีเอสไอแถลงยุติการเข้าตรวจค้น เนื่องเจ้าหน้าที่คลายข้อสงสัยในเรื่องพระธัมมชโยอาพาธ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งจากการเข้าตรวจก็คลายข้อสงสัยและสรุปได้ว่าพระธัมมชโยไม่ได้อาพาธและสามารถเคลื่อนย้ายหลบหนีได้ จึงให้พระธัมมชโยเป็นผู้หลบหนีตามหมายจับที่จะมีการติดตามตัวมาดำเนินคดีต่อไป โดยดีเอสไอได้เคลียร์พื้นที่กลับสู่สภาวะปกติตั้งแต่เมื่อช่วงค่ำวันศุกร์ที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา.

ooo