วันจันทร์, มีนาคม 27, 2560

เรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ - หม่อมอุ๋ย เปิดแผนฮุบตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อดีตนายทหาร6คน อยู่เบื้องหลัง! ทำประเทศถอยหลังครึ่งศตวรรษ





อดีตนายทหาร6คน อยู่เบื้องหลัง!หม่อมอุ๋ย เปิดแผนฮุบตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ


27 มีนาคม 2017
ที่มา สำนักข่าวอิศรา

อดีตนายทหารระดับสูง6คน-ผู้มีอิทธิพลในครม.อยู่เบื้องหลัง! หม่อมอุ๋ย เปิดแผนความไม่ชอบมาพากลตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ครองอำนาจเหนือแหล่งพลังงาน วอน สนช. ระวังพิจารณาลงคะแนนเสียง 30 มี.ค.60 นี้


ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 27 มี.ค.2560 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า ที่เรียนเชิญสื่อมวลชนมารับฟังการแถลงข่าวครั้งนี้ เพราะมีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเกิดขึ้น ซึ่งตนไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ดี จึงเลือกวิธีการทำจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า หลังพ้นหน้าที่จากคณะรัฐบาล (ครม.) ชุดปัจจุบันมาแล้ว มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เฝ้าติดตามเรื่อยมา เพราะหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงจะมีผลเสียต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากชนิดที่ว่าจะแก้กลับไม่ได้ และนั่นก็คือ ความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเข้ามามีอำนาจเหนือแหล่งพลังงานและกิจการพลังงานของชาติ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบดูแลกระทรวงพลังงาน ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอทราบนโยบายว่าจะให้มีการสำรวจหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมหรือไม่ คำตอบของนายกรัฐมนตรี ก็คือ ยืนยันที่จะให้มีการสำรวจ และมอบให้ผมแก้ไขกฎหมาย (พ.ร.บ.ปีโตรเลียม) เพื่อมิให้การสำรวจและการผลิตจำกัดอยู่เฉพาะระบบสัมปทานดังที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ใช้อยู่ จึงได้มอบให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานร่างแก้ไขกฎหมายให้เปิดกว้าง โดยให้รวมถึงระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และ ระบบจ้างสำรวจและผลิตด้วย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการศึกษาร่างกฎหมายให้เปิดกว้างดังกล่าว ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และส่งกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในช่วงกลางเดือนก.ค.2558 ปรากฏว่า ไม่มีการนำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. จนตนต้องไปตามเรื่องจึงทราบว่าติดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ในที่สุดก็ยอมให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตราเป็นกฎหมายออกใช้ เพื่อที่จะได้สามารถเริ่มการสำรวจก๊าซธรรมชาติได้ทันใช้

"สิ่งที่น่าแปลกใจก็ คือทันทีที่ ครม.มีมติดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้บอกผมว่า ก่อนนำเสนอ สนช. ขอให้ผมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพลังงานของ สนช. ผมได้ปฏิบัติตามโดยเชิญคณะกรรมาธิการดังกล่าวมาสนทนากันที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ผู้ที่มาพบมีด้วยกัน 7 คน ปรากฏว่า เป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน เมื่อผมชี้แจงแล้วก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ขัดข้องที่จะเปิดทางเลือกในการสำรวจและการผลิตให้มีหลายวิธี แล้วเลือกจากวิธีที่ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เห็นว่า พรบ.ฉบับนี้ยังขาดไปอีก 1 เรื่อง คือเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจเป็นอย่างมาก"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวย้ำว่า ตนได้ชี้แจงกลับทันทีว่าจุดมุ่งหมายของการออก พ.ร.บ.ใหม่ฉบับนี้ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้มีการสำรวจก๊าซธรรมชาติโดยให้ครอบคลุมถึงวิธีการต่างๆให้มากขึ้นกว่าระบบสัมปทานแต่อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ไม่เคยมีใครพูดถึงบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเลย กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ และเมื่อนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผมร่างกฎหมาย ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตัวแทนคณะกรรมาธิการดังกล่าวก็ยังยืนยันว่าควรเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปด้วย ตนได้แจ้งว่าคงจะเติมให้ไม่ได้เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล และจะขอเสนอร่างไปยัง สนช. ตามที่ร่างไว้

"ครั้นถึง 19 สิงหาคม 2558 ผมก็พ้นจากตำแหน่งโดยยังไม่ทันได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อ สนช. รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนต่อมาได้นำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสนอต่อ สนช. ตามเนื้อหาที่ร่างไว้เดิม ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการการพลังงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ. เพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งเพื่อจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ รัฐบาลจึงส่งร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากเห็นด้วยก็อาจรวมเป็นร่างเดียวกันได้ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีที่คุมงานของกระทรวงพลังงานไปชี้แจง ซึ่งท่านได้ชี้แจงว่า ไม่เห็นด้วยและไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฏีกาจึงได้ปฏิเสธที่จะเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง พ.ร.บ. ของรัฐบาล และส่งเรื่องกลับไปยัง ครม. ซึ่งได้มีมติให้ส่งร่างเดิมของรัฐบาลไปยัง สนช. เพื่อพิจารณาออกเป็นกฏหมายต่อไป"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังระบุด้วยว่า การโอนอ่อนผ่อนตามให้มีการเพิ่มมาตราในเรื่องใหม่ดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะทำ และแม้กระทั่งการศึกษาถึงผลได้ผลเสียตลอดจนความจำเป็นในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ รัฐบาลก็ยังไม่เคยทำไว้ คณะรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดเลยที่จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามคำขอที่ไม่ชอบมาพากลของคณะกรรมาธิการฯในเรื่องนี้ นอกเสียจากว่าจะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย และหากเป็นไปตามร่างดังกล่าว กิจการน้ำมันของประเทศก็จะถอยหลังไป จึงใคร่ขอร้องมายังสมาชิกสนช. ที่จะเข้าประชุมในวันที่ 30 มี.ค.มี2560 นี้ได้โปรดช่วยชาติด้วยการใช้ความระมัดระวังในการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ปิโตรเลี่ยม ในวาระ 2 และ วาระ 3 ด้วย

ช่วงท้ายการแถลงข่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ตอบข้อซักถาม ถึงความไม่ชอบมาพากลของการเสนอกฎหมายฉบับนี้ มีการแอบทำแอบซุกวาระ 1 ไม่มี วาระ2 มี แปลว่าอะไร นี่คือความไม่ชอบมาพากล หากไม่ซุกตรงนี้แล้วเสนอเป็นพ.ร.บ.ใหม่จะเหมาะสมกว่า เนื้อหาวิธีการมีมาตรา 10/1โผล่มาประหลาดมาก เป็นเรื่องใหม่เอี่ยม

"ที่ผ่านมาประเทศเราพลังงานทำมาได้ด้วยดี พัฒนามาด้วยดีตลอด สัมปทานก็ไม่มีใครโกง มีแก๊สธรรมชาติช่วยรองรับความเจริญ แม้จะไม่สมบูรณ์ทั้งหมดแต่ประเทศก็เดินหน้าไปได้ ผมกำลังเปิดประเด็น และพูดแทนคนไทยว่า กำลังมียักษ์ตัวใหญ่ขึ้นมาแล้วคุมอำนาจโดยใครก็ไม่รู้ "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว และขยายความถึงยักษ์ตัวใหม่ที่มาควบคุมบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หากฝ่ายการเมืองสามารถเข้าควบคุมบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินี้ได้ เชื่อว่า มีวิธี 108 วิธี และทำอะไรไม่ชอบมาพากลใครจะแก้ไขปัญหาได้

(อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับเต็ม ที่นี่ : ผู้มีอำนาจเหนือครม.ดันตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ทำประเทศถอยหลังครึ่งศตวรรษ)

ooo

ผู้มีอำนาจเหนือครม.ดันตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ทำประเทศถอยหลังครึ่งศตวรรษ





สาเหตุที่ไม่ควรมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น เป็นเพราะผมเองได้เคยเห็นข้อความในร่างที่มีผู้เตรียมการเพื่อเสนอจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ” และ “ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน...


27 มีนาคม 2560
ที่มา สำนักข่าวอิศรา

หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดในจดหมายเปิดผนึกถึง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเพื่อคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC)ก่อนที่ สนช.จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ที่มีการบรรจุเรื่องของการตั้ง NOC ไว้ในบทเฉพาะกาล ในวันที่30 มี.ค. 2560 นี้

วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ทำหนังสือถึง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใจความระบุว่า

"เมื่อผมพ้นหน้าที่จากคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันมาแล้ว ผมระมัดระวังไม่ทำอะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลนี้ ด้วยเห็นว่าจะต้องช่วยกันผลักดันให้ประเทศของเราก้าวหน้าต่อไปอย่างดีที่สุด อย่างไรก็ตามมีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งผมเฝ้าติดตามเรื่อยมา เพราะหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงจะมีผลเสียต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากชนิดที่ว่าจะแก้กลับไม่ได้ และนั่นก็คือความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเข้ามามีอำนาจเหนือแหล่งพลังงานและกิจการพลังงานของชาติ

ท่านสมาชิก สนช. คงพอจะจำได้ว่าเมื่อตอนต้นปี 2558 รัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ขุดเจาะใช้อยู่ในปัจจุบันมีปริมาณลดน้อยลง จนอาจจะหมดไปในระยะเวลา 4-5 ปี จำเป็นต้องมีการสำรวจหาแหล่งใหม่ที่ยังมีก๊าซธรรมชาติเพียงพอที่จะเจาะนำขึ้นมาใช้ได้อีกนาน กระทรวงพลังงานจึงได้ประกาศเชิญชวนให้บริษัทเอกชนที่สนใจ ยื่นข้อเสนอในการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ โดยจะให้สัมปทานในการขุดเจาะแก่ผู้ที่สำรวจพบและเสนอผลประโยชน์แก่รัฐสูงที่สุด ปรากฏว่ามีผู้ออกมาคัดค้าน โดยมิได้คัดค้านในประเด็นที่จะต้องมีการสำรวจ แต่คัดค้านว่าไม่ควรให้สัมปทานแก่ผู้ที่สำรวจพบ และเสนอแนะใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) แทน ด้วยเชื่อว่าระบบ PSC จะให้ประโยชน์แก่ประเทศมากกว่าระบบสัมปทาน การคัดค้านดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนใจและหยุดการประกาศเชิญชวนให้สิทธิสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21ไว้

ผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบดูแลกระทรวงพลังงานจึงเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอทราบนโยบายว่าจะให้มีการสำรวจหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมหรือไม่ คำตอบของนายกรัฐมนตรีก็คือ ยืนยันที่จะให้มีการสำรวจ และมอบให้ผมแก้ไขกฎหมาย (พ.ร.บ.ปีโตรเลียม) เพื่อมิให้การสำรวจและการผลิตจำกัดอยู่เฉพาะระบบสัมปทานดังที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ใช้อยู่ ผมได้มอบให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานร่างแก้ไขกฎหมายให้เปิดกว้าง โดยให้รวมถึงระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และ ระบบจ้างสำรวจและผลิตด้วย

ผมเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2558 คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยเร่งพิจารณาให้จนเสร็จเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมแล้วส่งกลับมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่า ไม่มีการนำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. จนผมต้องไปตามเรื่องจึงทราบว่าติดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ในที่สุดก็ยอมให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตราเป็นกฎหมายออกใช้ เพื่อที่จะได้สามารถเริ่มการสำรวจก๊าซธรรมชาติได้ทันใช้

สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือทันทีที่ ครม.มีมติดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้บอกผมว่า ก่อนนำเสนอ สนช. ขอให้ผมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพลังงานของ สนช. ผมได้ปฏิบัติตามโดยเชิญคณะกรรมาธิการดังกล่าวมาสนทนากันที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ผู้ที่มาพบมีด้วยกัน 7 คน ปรากฏว่า เป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน เมื่อผมชี้แจงแล้วก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ขัดข้องที่จะเปิดทางเลือกในการสำรวจและการผลิตให้มีหลายวิธี แล้วเลือกจากวิธีที่ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เห็นว่า พรบ.ฉบับนี้ยังขาดไปอีก 1 เรื่อง คือเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจเป็นอย่างมาก ผมได้ชี้แจงกลับทันทีว่าจุดมุ่งหมายของการออก พ.ร.บ.ใหม่ฉบับนี้ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้มีการสำรวจก๊าซธรรมชาติโดยให้ครอบคลุมถึงวิธีการต่างๆให้มากขึ้นกว่าระบบสัมปทานแต่อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ไม่เคยมีใครพูดถึงบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเลย กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ และเมื่อนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผมร่างกฎหมาย ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตัวแทนคณะกรรมาธิการดังกล่าวก็ยังยืนยันว่าควรเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปด้วย ผมได้แจ้งว่าคงจะเติมให้ไม่ได้เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล และจะขอเสนอร่างไปยัง สนช. ตามที่ร่างไว้

ครั้นถึง 19 สิงหาคม 2558 ผมก็พ้นจากตำแหน่งโดยยังไม่ทันได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อ สนช. รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนต่อมาได้นำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสนอต่อ สนช. ตามเนื้อหาที่ร่างไว้เดิม ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการการพลังงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ. เพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งเพื่อจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ รัฐบาลจึงส่งร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากเห็นด้วยก็อาจรวมเป็นร่างเดียวกันได้

คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีที่คุมงานของกระทรวงพลังงานไปชี้แจง ซึ่งท่านได้ชี้แจงว่า ไม่เห็นด้วยและไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฏีกาจึงได้ปฏิเสธที่จะเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง พ.ร.บ. ของรัฐบาล และส่งเรื่องกลับไปยัง ครม. ซึ่งได้มีมติให้ส่งร่างเดิมของรัฐบาลไปยัง สนช. เพื่อพิจารณาออกเป็นกฏหมายต่อไป

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว (ที่ไม่มีเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ) ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. ในวาระหนึ่งและ สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของสภานิติบัญญัติ กล่าวคือในการพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มเติมเรื่องใหม่ซึ่งเป็นการแก้ไขหลักการของ พ.ร.บ. โดยเติมมาตราเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง ทั้งๆ ที่รัฐบาลผู้เสนอร่างไม่มีนโยบายที่จะทำ และไม่มีการระบุหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแต่ประการใด การเพิ่มเติมเรื่องใหม่นี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏว่า มีการขอเพิ่มเติมข้อความในเรื่องนี้กลับไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการถึงสองครั้ง และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็ได้กระทำการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยการโอนอ่อนผ่อนตามให้มีการเพิ่มมาตราในเรื่องใหม่ดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะทำ และแม้กระทั่งการศึกษาถึงผลได้ผลเสียตลอดจนความจำเป็นในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ รัฐบาลก็ยังไม่เคยทำไว้ คณะรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดเลยที่จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามคำขอที่ไม่ชอบมาพากลของคณะกรรมาธิการฯในเรื่องนี้ นอกเสียจากว่าจะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย

มาตราที่เพิ่มเติมใหม่นี้คือ มาตรา 10/1 ซึ่งมีข้อความว่า

มาตรา 10/1 ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ได้ถูกนำบรรจุวาระเพื่อการพิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 ในวันที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ ซึ่งหากที่ประชุม สนช. มีมติอนุมัติก็จะสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งหมายความว่ากลุ่มบุคคลที่ต้องการให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ สามารถเริ่มผลักดันด้วยการเริ่มเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ การศึกษาผลดีผลเสียก็คงจะเตรียมกันไว้แล้วในแนวทางที่ต้องการ หน่วยงานที่เห็นว่ายังไม่มีความพร้อมเพียงพอหรือมองเห็นถึงผลเสียเป็นอันมาก ก็คงจะไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะคัดค้านได้ เพราะแม้แต่เรื่องที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ก็ยังผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายจนได้ ต้องมีผู้มีอำนาจหนุนหลังอยู่อย่างแน่นอน

สาเหตุที่ไม่ควรมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น เป็นเพราะผมเองได้เคยเห็นข้อความในร่างที่มีผู้เตรียมการเพื่อเสนอจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ” และ “ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน...”

หากเป็นไปตามร่างดังกล่าว กิจการน้ำมันของประเทศก็จะถอยหลังไป ผมจำได้ว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ขณะที่กรมพลังงานดูแลกิจการน้ำมัน เรามีน้ำมัน ‘สามทหาร’ ของไทยที่มีส่วนการตลาดน้อยมากและถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นสำคัญ ต่อมาเราก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ทำหน้าที่เสมือนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งปรากฏว่า พัฒนามาได้ดีอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 เหนือกว่าบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งหมด

ปตท. ได้พัฒนาแหล่งพลังงานใหม่คือก๊าซธรรมชาติรองรับความต้องการพลังงานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้ขยายตัวไปสำรวจและผลิตในต่างแดนนำพลังงานกลับมารองรับความเจริญของประเทศได้อย่างทันเหตุการณ์ ได้ขยายเครือข่ายการขายออกไปคุมตลาดในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ และได้ตั้งบริษัทในเครือเพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอีกหลายบริษัท เรามีรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ดีอยู่แล้ว ถ้ามีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่เกิดขึ้นมาและใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับ ดึงกรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่บรรษัทใหม่แห่งนี้ วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร กิจการเหล่านี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ หากต้องหยุดลง ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ และบรรษัทใหม่ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์จะพัฒนาตนเองให้สามารถรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจได้เพียงพอหรือ? จะสามารถรับมือกับปัญหาและพัฒนาการใหม่ๆ ของกิจการพลังงานได้หรือ? กิจการพลังงานของเราซึ่งรุดหน้ามาด้วยดี คงจะสะดุดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้

ผมจึงใคร่ขอร้องมายังท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทุกท่านที่จะเข้าประชุมในวันที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ได้โปรดช่วยชาติด้วยการใช้ความระมัดระวังในการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ปิโตรเลี่ยม ในวาระ 2 และ วาระ 3 ถ้าท่านจะลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ. ตามที่คณะกรรมการวิสามัญเสนอมาซึ่งรวมมาตรา 10/1เท่ากับว่าท่านสนับสนุนให้เกิดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลเสียต่อความเจริญของประเทศอย่างแน่นอน แต่ถ้าท่านลงมติไม่รับร่างดังกล่าวเราก็จะไม่มีกฎหมายรองรับการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ ฉะนั้นจะ เป็นไปได้ไหมครับที่จะลงมติรับร่างโดยให้ตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไป ถ้าได้เช่นนั้น ประชาชนคนไทยคงจะขอบใจ และวางใจได้ว่า เรายังมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อยู่

เพื่อนของผมบอกผมว่า ถึงผมจะอ้อนวอนอย่างไรก็คงไม่สำเร็จ เพราะในสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันมีทหารอยู่มากกว่าครึ่ง ทหารก็คงจะลงมติตามที่กลุ่มทหารเสนอมา ผมตอบเขาไปว่าทหารทุกคนรักชาติไม่แพ้พวกเรา หากไม่มีใครชี้แจงให้เขาเห็นข้อดีข้อเสีย เขาก็จะลงมติตามที่บอกต่อกันมา แต่ถ้าเราชี้แจงให้เขาเห็นอย่างชัดเจนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติ เขาก็จะคิดได้และเขาก็มีความเป็นตัวเองที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ผมจึงขอวิงวอนมายังท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติทุกท่านได้โปรดได้ดุลยพินิจในการรักษาผลประโยชน์ของชาติด้วยเถิด ผมอยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลังกลับไปเหมือน 50 ปี ก่อน "