วันพุธ, มีนาคม 01, 2560

คราบเขียวอื๋อ กว่าจะรื้อล้างเหม็นเป็นร้อยปี - รวมผลงาน การใช้อำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว





คราบเขียวอื๋อ

%%%%

สั่งขี้มูกลอยลิบฉี่ฉิบฉี่
สั่งมาร้อยกว่าทีสีเขียวอื๋อ
จับกันเหนียวเหนอะหนะะตะพึดตะพือ
กว่าจะรื้อล้างเหม็นเป็นร้อยปี



Kasian Tejapira

ooo

รวมผลงาน การใช้อำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว

โดย iLaw

[ For English version, please click here ]

รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 ที่ประกาศใช้โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีอยู่มาตราหนึ่งซึ่งถูกครหาถึงความเป็นเผด็จการและการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จไว้ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่เพียงผู้เดียว นั่นคือ มาตรา 44

มาตรา 44 มีหลักการว่า ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็น ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้

ประเทศไทยถูกปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมานาน หลายฝ่ายต่างจับตาว่าอำนาจล้นฟ้าตามมาตรา 44 จะถูกนำออกมาใช้เมื่อไร และอย่างไร จนกระทั่งก่อนสิ้นปี 2557 เราก็ได้เห็นคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับแรกออกมา และเมื่อเดือนเมษายน 2558 คสช.ตัดสินใจยกเลิกกฎอัยการศึก และใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 มาให้แทน และหลังจากนั้น มาตรา 44 ก็กลายเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ ที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เป็นฐานอำนาจออกคำสั่งนานัปการ

จากคำสั่งหลายฉบับที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 มีทั้งการโยกย้ายข้าราชการ เพื่อแก้ปัญหาการบริหารงานในกระทรวงศึกษาธิการ แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ไม่แต่งตั้งกรรมการกสทช. และการออกมาตรการหรือนโยบาย เพื่อการใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะ ปรับปรุงการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย แก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา ตั้งกรรมการสรรหาป.ป.ช. ฯลฯ

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44


+เดือนธันวาคม 2557

25 ธันวาคม 2557 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 เปลี่ยนแปลงวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว

จากเดิมที่ คสช. ออกประกาศฉบับที่ 85/2557 ให้งดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและใช้วิธีสรรหาบุคคลแทน แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่1/2557 กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากครบวาระ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป กรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นพ้นจากตําแหน่งเพราะสาเหตุอื่นนอกจากครบวาระ ให้สภาท้องถิ่นคงจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ โดยไม่ต้องทำการคัดเลือกสมาชิกแทนตําแหน่งที่ว่าง ยกเว้นสมาชิกเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 85/2557

ทั้งนี้ ไม่ให้คำสั่งนี้มีผลบังคับกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสองแห่งที่ได้รับการคัดเลือกตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

+เดือนเมษายน 2558

ภายหลังการยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําที่บ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ สาระสำคัญคือให้มีเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช. โดยให้มีอำนาจสอบสวน อำนาจจับกุม และเรียกบุคคลมารายงานตัว

8 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2558 เกี่ยวกับมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น ป้องกันการบุกรุกที่สาธารณะ ป่าสงวนแห่งชาติอุทยานแห่งชาติ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะกีดขวางทางจราจร

10 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2558 แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 โดยเป็นการแก้ไขความหมายของคำว่า “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ให้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมที่ระบุเพียงแค่ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่5/2558 ให้หมายความรวมถึง ทหารประจําการ ทหารกองประจําการ และอาสาสมัครทหารพรานด้วย

16 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 6/2558 เกี่ยวกับการโยกย้ายข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 6 ตำแหน่ง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ในวันเดียวกัน ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 7/2558 เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจการบริหารงานขององค์กรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ คือ คณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริม สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพ

23 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2558 ให้ พิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดชลบุรี สิ้นสุดการทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เพื่อให้การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและปัญหาจากการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

24 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 8/2558 ให้ กสทช. ไม่ต้องดําเนินการสรรหาและคัดเลือกบุคคลใดดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. แทนตําแหน่งที่ว่างลง หลังจากที่ สนช. มีมติไม่รับรายชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย ตามที่มีการสรรหาและคัดเลือกมา 4 คน แล้วคัดเลือกให้เหลือ 1 คน จึงขอให้ ครม. เป็นผู้พิจารณาแทน ต่อมา ครม. เห็นว่า เป็นการไม่สมควรที่ ครม. จะเลือกบุคคลอื่นใดนอกเหนือจากบุคคลตามบัญชีรายชื่อที่ได้สรรหามาดำรงตำแหน่งแทน

29 เมษายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 10/2558 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย” (ศปมผ.) เป็นศูนย์เฉพาะกิจ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการ ศปมผ. เพื่อแก้ไขปัญหาจากการที่ประเทศไทยได้รับการประกาศเตือนจากสหภาพยุโรปถึงการจัดให้มีมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

+เดือนพฤษภาคม 2558

1 พฤษภาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 11/2558 เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ คือ คำสั่งให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง และไม่ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จนกว่าหัวหน้า คสช.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หรือ คสช. จะสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังกำหนดโทษให้ผู้ที่ขายสลากฯ เกินราคาที่กำหนดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ผู้บัญชาการทหารบกหรือแม่ทัพภาคมีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานสลากฯ

และในวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 ยังออกคำสั่งหัวหน้าคสช. (เฉพาะ) ที่ 1/2558 โดยอาศัยอำนาจจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 11/2558 แต่งตั้ง พลตรี อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้เป็นประธานกรรมการ ในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

8 พฤษภาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 12/2558 ให้นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อให้ครบกำหนดวาระพร้อมกับกรรมการอีก 4 คน

ในวันเดียวกัน หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 13/2558 เรื่อง การสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับประธานศาลปกครองสูงสุดก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงขาดตำแหน่งกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาโดยการเพิ่มผู้แทนจากฝ่ายบริหารให้กรรมการสรรหามีที่มาจากอํานาจทั้งสามฝ่ายโดยให้รองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นกรรมการสรรหาด้วย

15 พฤษภาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว โดยมีสาระสำคัญคือ สั่งพักงานข้าราชการจำนวน 45 คน ซึ่งมีมูลเหตุว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญเพื่อเร่งรัดกระบวนการให้ได้มาซึ่งพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ที่ดินตกเป็นที่ราชพัสดุ และให้มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพที่ดินต่างๆ

+เดือนมิถุนายน 2558

22 มิถุนายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 18/2558 เรื่อง การให้กรรมการหรือคณะกรรมการตามกฎหมายบางฉบับปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ผู้ทำการแทน ผู้รักษาการแทน หรือผู้ปฏิบัติการแทน ในกรรมการชุดต่างๆ ทั้งรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐ และสภามหาวิทยาลัย มีอำนาจเท่ากับผู้ซึ่งตนแทน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ ทั้งองค์ประกอบและองค์ประชุมเป็นไปโดยเรียบร้อย

25 มิถุนายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 19/2558 เรื่องแต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น โดยมีสาระสำคัญคือ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการรวม 60 ตำแหน่ง รวมทั้งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรี นายยกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

+เดือนกรกฎาคม 2558

15 กรกฎาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 20/2558 เรื่อง ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดใหม่ และให้กรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ครบวาระแล้ว พ้นจากตําแหน่ง ระหว่างที่ยังไม่มี คปก. ให้สำนักงาน คปก. สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา

21 กรกฎาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 21/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยโยกย้ายตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

22 กรกฎาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการ หรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามการรวมกลุ่มกันในพฤติการณ์ที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถ บิดามารดาต้องอบรมสั่งสอนไม่ให้บุตรร่วมกลุ่มกันเพื่อแข่งรถ หากพบเด็กและเยาวชนทำผิดให้เรียกบิดามารดามารับทราบ และหากมีการกระทำผิดซ้ำ บิดามารดามีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนปรับไม่เกิน 30,000 บาท ห้ามการแต่งรถในลักษณะที่จะนำไปสู่การแข่งรถ ฯลฯ

24 กรกฎาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 23/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ให้ทหารเข้ามาช่วยเหลืองานได้เมื่อกระทรวงยุติธรรมร้องขอ และให้ทหารมีอำนาจเข้าไปในเคหสถาน ตรวจค้นยานพาหนะ และจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกินสามวัน

+เดือนสิงหาคม 2558

5 สิงหาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้งดการจดทะเบียนเรือตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมายประกาศกําหนด ห้ามใช้เครื่องมือประมงบางประเภท เช่น อวนรุน โพงพาง อวนล้อม ฯลฯ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดเครื่องมือและเรือที่ผิดกฎหมายได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับหนึ่งแสนถึงห้ามแสนบาท

10 สิงหาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 25/2558 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2558 ในส่วนของ วัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายของกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม คือ ให้รัฐสามารถนำเงินกองทุน มาใช้ในการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมได้

+เดือนกันยายน 2558

5 กันยายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 26/2558 ให้ถอดยศ พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ เนื่องจากมีความผิดตามคำพิพากษา และความผิดอื่นอีกหลายฐาน

11 กันยายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 27/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการกํากับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” (Command Center for Resolving Civil Aviation Issues : CRCA) หรือ ศบปพ. เป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับ หัวหน้า คสช. โดยมีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการ โดยโครงสร้างการปฏิบัติงาน คือ ให้มีคณะกรรมการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน เพื่อกําหนดนโยบาย แนวทางในการจัดทําแผนปฏิบัติการ และให้ความเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุงและพัฒนาการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งสั่งการ กํากับดูแล ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข ปัญหาการบินพลเรือน

นอกจากนี้ ยังกำหนดว่า คณะกรรมการ ศบปพ. และเจ้าหน้าที่ ศบปพ. ที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่ โดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่ง ทางอาญา ทางวินัย หรือทางปกครองเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ตามคําสั่งนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

16 กันยายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 28/2558 เรื่อง ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยมีคําสั่งให้ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อไป จนกว่าประธานกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่

ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 29/2558 เรื่อง การเลือกกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และการดําเนินการเพื่อสรรหาผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ เนื่องจากกรรมการตรวจเงินแผ่นดินขอลาออกจากการดํารงตําแหน่ง ทําให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเหลืออยู่ไม่ถึงจํานวนตามที่กฎหมายกําหนด เป็นเหตุให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ดังนั้นเพื่อให้ทำงานต่อไปได้ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีจำนวนอย่างน้อย 5 คน และถ้าเกิดกรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีน้อยกว่า 5 คน ก็ให้ผู้ว่าฯ สตง. ทำงานแทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคำสั่งนี้เป็นการอำนวยความสะดวกในการทำงานของ คตง.

21 กันยายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 31/2558 เรื่อง การกําหนดตําแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ กนกทิพย์ รชตะนันทน์ พ้นจากตําแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และให้ดํารงตําแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง และหน้าที่อื่นๆ และให้สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี สํานักงาน ก.พ. สํานักงบประมาณสํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการเกี่ยวกับตําแหน่ง อัตราเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการดังกล่าว

ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 32/2558 เรื่อง การแต่งตั้งผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สาระสำคัญคือ ให้สาลินี วังตาล ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยให้มีวาระอยู่ในตําแหน่ง 2 ปี ตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และหากเห็นว่ามีความจําเป็น ก็อาจเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งให้ขยายระยะเวลาการดํารงตําแหน่งได้ตามความเหมาะสมแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือจะให้พ้นจากตําแหน่งก็ได้ และเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติสิ้นสุดลง ก็ให้ผู้อำนวยการ สสว.ที่ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งนี้พ้นจากตำแหน่งด้วย

+เดือนตุลาคม 2558

5 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 34/2558 เรื่อง การอำนวยความสะดวกในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ คือวางมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและการเตรียมการอื่น ๆ เช่น การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การจัดให้มีการลงประชามติ การจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีที่ปรึกษาจำนวนไม่เกิน 9 คน โดยคำนึงถึงผู้ที่เคยเป็นกรรมาธิการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ปี 2550 และปี 2557 นอกจากนี้ให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศแต่ละคนมีผู้ช่วยในการปฏิบัติงาน

6 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 36/2558 เรื่อง แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2558 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้คำสั่งเรื่องการเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและการดำเนินการเพื่อสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป จากเดิมที่ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

15 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 37/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยมีสาระสำคัญ คือให้กำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ จเร พันธุ์เปรื่อง เข้ารับหน้าที่ในตําแหน่งดังกล่าว โดยให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และให้นัฑ ผาสุข เข้าปฏิบัติหน้าที่แทน

18 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 38/2558 เรื่อง เรื่องแก้ไขเพิ่มเตมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2558 โดยมีสาระสำคัญ คือให้ยกเลิกการกำหนดตำแหน่งเพิ่มเติมและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยให้ถือว่า นัฑ ผาสุข มิเคยพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมิเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบต่อการใดๆ ที่ นัฑ ได้กระทำลงไปในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

30 ตุลาคม 2558 หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 39/2558 เรื่อง เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด โดยมีสาระสำคัญคือ ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทํางาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย หรือได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. คสช. นายกฯ ครม.หรือคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ให้ดําเนินการบริหารจัดการข้าวที่อยู่ในการดูแลรักษาของรัฐตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57 ซึ่งได้ดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือภายหลังจากนั้น ยังคงมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม

ในกรณีที่บุคคลข้างต้นดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ และได้กระทําโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย

+ เดือนพฤศจิกายน 2558

5 พฤศจิกายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 40/2558 เรื่อง การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เป็นการชั่วคราว มีสาระสำคัญคือ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ รวมทั้งให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายไว้ก่อน แล้วตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน ได้แก่ ตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม โดยให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

นอกจากนี้ยังงดการบังคับใช้กฎหมายในบางมาตราที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการ ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และคณะกรรมการการแพทย์ รวมถึงให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน พ้นจากตำแหน่ง

11 พฤศจิกายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 41/2558 เรื่อง การอำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีสาระสำคัญคือ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการให้แก่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในด้านจัดงบประมาณ สถานที่ เจ้าหน้าที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่สมาชิก สปท. ตามที่ประธาน สปท. ได้แจ้งไว้

ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 42/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้เจ้าหน้าที่ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลทะเบียนเรือใหม่ให้สอดคล้องกับความจริง โดยให้ถอนทะเบียนเรือไทยสำหรับการประมงออกจาการทะเบียนเรือ จำนวน 8,024 ลำ และควบคุมการออกอาชญาบัตรให้ใช้เครื่องมือทำการประมงเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำ

25 พฤศจิกายน 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 43/2558 เรื่อง โอนสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ไปเป็นของสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ โดยจากเดิมหน่วยงานดังกล่าวอยู่ภายใต้สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำโดยรวมของประเทศ

+ เดือนธันวาคม 2558

4 ธันวาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจ โดยมีสาระสำคัญคือ ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้ชัดเจน อีกทั้งยังให้อำนาจ ผบ.ตร. ในการพิจารณาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคนถัดไปและเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. พิจารณาแล้วจึงให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าแต่งตั้ง ส่วนตำแหน่งที่รองลงมาให้ ผบ.ตร. คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วจึงให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าแต่งตั้ง

นอกจากนี้ ในกรณี ผบ.ตร.เห็นว่าการใช้อำนาจในการแต่งตั้งของ ผบช.ไม่เป็นธรรม หรือมีกรณีไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่ ก.ตร. กำหนด หรือมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่ง หรือเห็นว่าหากดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือมีเหตุพิเศษตามที่ ก.ตร. กำหนด ให้ ผบ.ตร.มีอำนาจสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตได้ตามควรแก่กรณี

9 ธันวาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 45/2558 เรื่อง การเลือกประธาน ป.ป.ช. ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ พ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.ช. หลังจากหมดวาระแต่ถูกต่ออายุตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2558 และให้สํานักงาน ป.ป.ช. จัดให้มีการประชุมระหว่างบุคคลผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดํารงตําแหน่งกรรมการจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติร่วมกับกรรมการที่ยังคงอยู่ในวาระการดํารงตําแหน่ง แล้วแจ้งผลให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ

30 ธันวาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 46/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การรวมกลุ่มในลักษณะที่น่าจะเป็นการนำไปสู่การแข่งรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ต้องรับโทษว่าด้วยกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกหรือ ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร โดยประมาทหรือมีปริมาณแอลกฮอล์เกินกำหนดเป็นเหตุให้มีอื่นบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถยึดใบขับขี่ไม่เกินสามวัน นำยานพาหนะมาเก็บไว้ชั่วคราวไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ควบคุมตัวบุคคลเพื่ออบรมความประพฤติไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 47/2558 เรื่อง แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สาระสำคัญคือ แต่งตั้ง ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แทน เทวินทร์ วงศ์วานิช ที่ได้ลาออกไป

31 ธันวาคม 2558 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 48/2558 เรื่อง แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) สาระสำคัญคือ เปลี่ยนแปลงกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) โดยให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง 4 คน เช่น สมภพ มานะรังสรรค์, ศิริชัย เลิศศิริมิตร และแต่งตั้งบุคคลแทน 4 คน เช่น กอบศักดิ์ ภูตระกูล, พันเอกเจียรนัย วงศ์สอาด

+เดือนมกราคม 2559

5 มกราคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 1/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 สาระสำคัญคือออกคำสั่งพักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการพลเรือน ผู้บริหารและข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรรมการสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวม 59 คน ซึ่งอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่

18 มกราคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 2/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเป็นการชั่วคราว คำสั่งฉบับนี้เปิดทางให้คณะกรรมการฯ ที่เหลืออยู่สามารถทำงานต่อไปได้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ออกคำสั่งให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. จำนวน 7 ราย พ้นหน้าที่ จนทำให้องค์ประกอบคณะกรรมการฯไม่ครบ และไม่สามารถประชุมได้ โดยสาระสำคัญคือ 1.ให้ดําเนินการสรรหาและแต่งตั้งผู้ดํารงตําแหน่งในคณะกรรมการกองทุน สสส. ที่ว่างลง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 2.ในระหว่างการดําเนินการตามข้อ 1 ให้ถือว่าคณะกรรมการ สสส. ประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่และปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ชํานาญ พิเชษฐพันธ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 เป็นการชั่วคราว 3.ให้คณะกรรมการตามข้อ 2 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

20 มกราคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เจตนารมณ์ของคำสั่งฉบับนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แต่เนื่องจากข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมืองและข้อกำหนดตามกฎหมายควบคุมอาคารยังไม่สอดคล้องและเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้นเพื่อให้สามารถดำเนินการจัดตั้งและบริหารจัดการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว

คำสั่งฉบับนี้จึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุน โดยการลดข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมอาจมีหลักเกณฑ์ข้อห้ามตามกฎหมายผังเมืองหรือกฎหมายควบคุมอาคารที่บังคับใช้อยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและทำให้ไม่สามารถตั้งโรงงานบางประเภทได้ คำสั่งฉบับนี้จะนำไปสู่การออกกฎกระทรวงผังเมืองรวมและข้อกำหนดการควบคุมอาคารฉบับใหม่ที่เอื้อต่อนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและบรรยากาศการลงทุน

ในวันเดียวกัน หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสําหรับการประกอบกิจการบางประเภท เหตุผลของคำสั่งฉบับนี้ เพื่อระงับและแก้ไขข้อขัดข้องทางกฎหมายบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อความพยายามของรัฐในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเรื่องความมั่นคงในการจัดหาพลังงานของประเทศไทย และปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการจัดการปัญหาขยะล้นเมือง และเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

คำสั่งฉบับนี้จึงเป็นการลดข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องพื้นที่ตั้งโรงงานหรือกิจการที่เกี่ยวข้องการผลิตพลังงานและการจัดการขยะของเสียสิ่งปฏิกูล ซึ่งเดิมอาจมีหลักเกณฑ์ข้อห้ามตามกฎกระทรวงฯ ผังเมืองรวมที่บังคับใช้อยู่ในพื้นที่อำเภอหรือจังหวัดนั้นๆ (หรืออยู่ในร่างผังเมืองรวมที่กำลังจะประกาศบังคับใช้) ทำให้หน่วยงานรัฐไม่สามารถอนุมัติอนุญาตให้ประกอบกิจการตาม (1)-(8) ในพื้นที่ที่ต้องการได้ เช่น พื้นที่เขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมที่มีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงไฟฟ้า เป็นต้น

ดังนั้นคำสั่งฉบับนี้จะทำให้หน่วยงานรัฐสามารถอนุมัติอนุญาตการประกอบกิจการตาม (1)-(8) ได้โดยไม่ต้องพิจารณาข้อห้ามตามกฎหมายผังเมือง ซึ่งเป็นมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ที่สำคัญอีกต่อไป (แต่ยังคงต้องพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งโครงการและเงื่อนไขการอนุมัติอนุญาตตามกฎหมายอื่นๆด้วย)

+กุมภาพันธ์ 2559

1 กุมภาพันธ์ 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 5/2559 เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ คำสั่งฉบับนี้ คือการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ โดยคำสั่งได้กำหนดการประเมินและผู้รับการประเมินผลไว้ ซึ่งเน้นที่ส่วนราชการระดับกรมและกระทรวง ประเภทข้าราชการพลเรือนบริหารระดับสูงเป็นหลัก นอกจากนี้ยังให้ ก.พ.ร.กำหนดอัตราข้าราชการเป็นกรณีพิเศษ 50 อัตรา เพื่อรองรับการโยกย้ายหรือกรณีมีความผิดและถูกตรวจสอบ

5 กุมภาพันธ์ 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 6/2559 เรื่อง การคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ โดยให้บรรดาการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2547, ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ดําเนินการตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 จนถึงวันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 7/2559 เรื่อง การกําหนดตําแหน่งของข้าราชการตํารวจซึ่งมีอํานาจหน้าที่ในการสอบสวน โดยให้ยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวน ทั้งหมดตามมาตรา 44, 47 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และให้ยกเลิกเงินตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามมาตรา 72 หรือหมายความว่า ให้พนักงานสอบสวนตั้งแต่ระดับพนักงานสอบสวน ถึงพนักงานสอบสวนระดับผู้ชำนาญการพิเศษ เป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน ถึงตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน และโอนตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้กำกับการ (นิติกร) รองผู้บังคับการ (นิติกร)

12 กุมภาพันธ์ 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 8/2559 เรื่อง การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน โดยคำสั่งดังกล่าวเกี่ยวกับการโอนอำนาจการกำกับดูแแล โรงเรียนอาชีวศึกษาของเอกชน ที่อยู่ใต้กำกับของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ให้ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ

++มีนาคม 59++

7 มีนาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 9/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยเพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ ของมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

"ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการหรือกิจการด้านคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้"

21 มีนาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค สาระสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงฯ ในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด และวางแผนเกี่ยวกับหารบริหารงานบุคลากร พิจารณาจัดสรรงบประมาณ แต่งตั้ง โอน หรือย้ายผู้บริหารสถานศึกษา/เขตพื้นที่การศึกษา/ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ในส่วนภูมิภาคหรือจังหวัด

นอกจากนี้ให้ยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา โดยให้โอนอำนาจหน้าที่ไปเป็นของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งนี้ มีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางการจัดการศึกษาทุกระดับทุกประเภทภายในจังหวัด และให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ อกศจ. ด้วย

ในวันเดียวกันมีคำสั่ง คสช. ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ให้มีศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการภาค เพื่อปฏิบัติภารกิจของกระทรวงฯ ในระดับพื้นที่ กำหนดยุทธศาสตร์ สนับสนุนการพัฒนาจังหวัด ประสานการบริหารงานระหว่างราชการส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค

คำสั่งดังกล่าวยังให้โอนอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เฉพาะงานที่เกี่ยวกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด

29 มีนาคม 59 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 12/2559 เรื่อง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ โดยแบ่งเป็น

1) โยกย้ายข้าราชการส่วนภูมิภาคจากจากตำแหน่งหน้าที่เดิมไปดำรงตำแหน่งตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษที่จัดให้มีขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่

ยุทธนา วิริยะกิตติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
สมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
วีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

และให้บุคคลเหล่านี้ดำรงตำแหน่งแทน ได้แก่

ธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
วิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
สุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ตรวจราชการกระทรวง กระทรวงมหาดไทย รักษาการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

2) โยกย้ายข้าราชการเพื่อให้การบริหารราชการในกระทรวงคมนาคมมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ได้แก่

ศรศักดิ์ แสนสมบัติ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจการกระทรวง กระทรวงคมนาคม และให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม

3) ให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป

4) ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงบประมาณ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเกี่ยวกับตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยด่วน และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคลทูลเพื่อทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

29 มีนาคม 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

โดยคำสั่งดังกล่าว ให้อำนาจเจ้าพนักงานจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า, ควบคุมตัว, ค้น ยึด อายัด, หรือควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวด้วย จุดสำคัญคือคำสั่งนี้ปิดช่องให้ทหารไม่ต้องรับผิดและตัดอำนาจการตรวจสอบโดยศาลปกครอง

อย่างไรก็ดี อำนาจดังกล่าว จำกัดว่าต้องใช้กับบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์กระทําความผิดอาญา "บางประการ" เช่น การข่มเหง ขู่เข็ญ รังแกให้บุคคลอื่นเกรงกลัว ไม่กล้าขัดขืน หรือร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงบุคคลที่ดํารงชีพด้วยการกระทําผิดกฎหมาย เช่น ค้ายาเสพติด เป็นเจ้ามือพนัน มีพฤติการณ์ซ่องสุมอาวุธ เท่านั้น

เมษายน 2559

5 เมษายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 79 ง ลงวันที่ 4 เมษายน 2559 มีการเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

โดยสาระสำคัญก็คือ ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่เกิน 60 คน ทำหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาของ ศอ.บต. ที่มาจากการเลือกกันเองของคนในพื้นที่ และให้เลขาธิการ ศอ.บต. รับฟังข้อเสนอแนะจากเลขาธิการ กอ.รมน.

11 เมษายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีการเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 15/2559 เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจําปี พ.ศ. 2559

โดยรายละเอียดของคำสั่งดังกล่าวคือ ให้แรงงานพม่า ลาว กัมพูชา กลับภูมิลําเนาเพื่อร่วมงานสงกรานต์ โดยไม่ถือว่าเป็นการออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดที่จัดทําทะเบียนประวัติ หรือจังหวัดที่ได้รับอนุญาตให้ทํางาน โดยจะต้องเดินทางกลับเข้าไทย ไม่เกินวันที่ 20 เม.ย. 59 ห้ามเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจมิชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน

12 เมษายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีการประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 16/2559 เรื่อง การประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ตามมาตรา 44 ให้กรรมการ กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ช่วงความถี่วิทยุ 895-905 เมกะเฮิร์ตซ์ คู่กับคลื่น 940-950 เมกะเฮิร์ตซ์ วันที่ 27 พฤษภาคม 2559

สำหรับการจัดประมูล จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ขอรับใบอนุญาตเป็นการทั่วไป เว้นแต่ผู้ที่เคยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. โดยราคาประมูลรอบแรก กำหนดที่จำนวน 75,654 ล้านบาท และวางหลักประกันจำนวน 3,783 ล้านบาท

ขณะที่การสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ฉบับที่ 2) จะมีการคุ้มครองชั่วคราวไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 หรือจนกว่า กสทช. จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แก่ผู้ชนะการประมูล

21 เมษายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 18/2559 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2558

โดยสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวคือ การแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 10/2558 ในข้อที่ 9 ว่า เพื่อแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และต้องดำเนินการใดๆ หากเป็นเรื่องสําคัญตามนโยบายของรัฐบาลและมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ให้ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหารการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ คณะที่ 5 ก่อนจะเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ แต่หากเป็นเรื่องทั่วไปให้ ศปมผ.เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนชุดเดียวกัน ก่อน ผบ.ศปมผ.พิจารณาสั่งการ

ในวันเดียวกัน ก็มีการเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 19/2559 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2558

โดยสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวคือ การยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 27/2558 ในข้อที่ 4 เรื่องการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหารการบินพลเรือน (ศบปพ.) ดังนี้

1) หากเป็นเรื่องสําคัญตามนโยบายของรัฐบาลและมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหารการบินพลเรือน (ศบปพ.) ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ คณะที่ 5 ก่อนจะเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

2) หากเป็นเรื่องทั่วไปให้ ศปมผ.เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนชุดเดียวกัน ก่อน ผบ.ศปมผ.พิจารณาสั่งการ

22 เมษายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 20/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยกำหนดว่าเพื่อให้การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินด้านการบริหารราชการส่วนภูมิภาคมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

1) ให้ข้าราชการ 4 รายที่ขาดจากตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเดิม ได้แก่

ยุทธนา วิริยะกิตติ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
สมศักดิ์ ปะริสุทโธเหมทานนท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
วีรพงศ์ แก้วสุวรรณ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

2) ให้ข้าราชการ 4 รายที่รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดในตำแหน่งที่ว่างลงดำรงตำแหน่งต่อไปนี้

ธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ
เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
วิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
สุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ พ้นจากผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

26 เมษายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 21/2559 เรื่อง การปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจชาติ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2547 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้สั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 44/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ จนกว่าการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในวาระการแต่งตั้งประจำปี พ.ศ. 2559 จะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ การแต่งตั้งดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำหนดเป็นการเฉพาะไปพลางก่อน

4 พฤษภาคม 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 22/2559 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น

ทั้งนี้ สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวคือ การเปลี่ยนโครงสร้างของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศคสช. ฉบับที่ 84/2557 เสียใหม่เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีความเป็นกลางและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

โดยให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย ปลัดและรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น

เมื่อมีการยุบสภาท้องถิ่นในเขตจังหวัดใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของจังหวัดนั้นเสนอรายชื่อเป็นจํานวนสามเท่าของสมาชิกสภาท้องถิ่นที่จะสรรหา และให้เสนอรายชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่มีคําสั่งให้ยุบสภาท้องถิ่น

และเมื่อคณะกรรมการสรรหาได้รับรายชื่อบุคคลแล้ว ให้คัดเลือกบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นตามจํานวนที่กําหนดให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจากผู้ว่าราชการจังหวัด

16 พฤษภาคม 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 23/2559 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้อํานวยการสํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา

โดยสาระสำคัญคือ ให้ ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อํานวยการสํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ระงับการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว และให้คมศร วงษ์รักษา รองผู้อํานวยการสํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) รักษาการแทนจนกว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

17 พฤษภาคม 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 24/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง

โดยสาระสำคัญคือ ให้พลตํารวจเอก ชัยยะ ศิริอําพันธ์กุล พ้นจากตําแหน่ง จเรตํารวจแห่งชาติ สังกัดสํานักงานตํารวจแห่งชาติ และให้โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนดํารงตําแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

โดยไม่ต้องสรรหาและให้รักษาราชการในตําแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป และให้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่แทนวุฒิสภาให้ความเห็นชอบต่อไป

31 พฤษภาคม 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 25/2559 เรื่อง ยกเลิกการห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

โดยให้ยกเลิกประกาศคสช. ฉบับที่ 21/2557 เรื่อง ห้ามบุคคล เดินทางออกนอกราชอาณาจักร แต่ประกาศอื่นๆ อาทิ ประกาศคสช. ฉบับที่ 39/2557 ฉบับที่ 40/2557 ฉบับที่ 41/2557 หรือ ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ยังคงต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก่อน หากจะเดินทางออก นอกราชอาณาจักร


10 มิถุนายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่ง หัวหน้า คสช. ฉบับที่ 26/2559 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำสาธารณะ

โดยให้คลองเชียงรากใหญ่ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ในท้องที่ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เฉพาะภายในเขตตามแผนที่ท้ายคำสั่งนี้ ตกเป็นพื้นที่ราชพัสดุ โดยให้มีผลเป็นการถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และในการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวให้กรมธนารักษ์จัดให้สหกรณ์
ที่จัดตั้งขึ้นตาม "โครงการปทุมธานีโมเดล" นำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว

วันเดียวกันเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 27/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน โดยห้ามไม่ให้ผู้ใดจุดและปล่อยวัตถุที่กล่าวมาข้างต้นขึ้นสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อํานวยการเขต สําหรับกรุงเทพมหานคร หรือนายอําเภอแห่งท้องที่ สําหรับจังหวัดต่างๆ ให้จังหวัดจัดทําประกาศจังหวัด โดยความเห็นชอบร่วมกันของคณะกรรมการจังหวัด และสภาวัฒนธรรมจังหวัด

ส่วนกรุงเทพมหานคร ให้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อกําหนดมาตรการต่างๆ เช่นกัน หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศจังหวัด หรือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร มีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ โดยให้คำสั่งมีผลบังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

15 มิถุนายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย มีเนื้อหาว่า ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานดำเนินการจัดการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) (ถ้ามี) ระดับประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. 3)
 หรือเทียบเท่า และให้หมายความรวมถึงการศึกษาพิเศษ และการศึกษาสงเคราะห์ด้วย โดยต้องมีมาตรฐานและคุณภาพ ไม่เก็บค่าใช้จ่าย (1) ค่าจัดการเรียนการสอน (2) ค่าหนังสือเรียน (3) ค่าอุปกรณ์การเรียน (4) ค่าเครื่องแบบนักเรียน (5) ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (6) ค่าใช้จ่ายอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
การศึกษา

21 มิถุนายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 29/2559 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ในกรณีที่มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาล การยกฐานะเป็นเทศบาล หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะของเทศบาล

มีใจความว่า ในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตําแหน่งก่อนครบวาระ เนื่องจากมีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบลขึ้นเป็นเทศบาล หรือมีการยกฐานะเป็นเทศบาล หรือในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากครบวาระ แต่ในภายหลัง ได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบลขึ้นเป็นเทศบาล หรือมีการยกฐานะเป็นเทศบาล หรือมีการเปลี่ยนแปลง ฐานะของเทศบาล ให้ดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว

คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 30/2559 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา มีเนื้อหาว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามหมวด7 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มีอํานาจกักตัวนักเรียนและนักศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทําร้ายร่างกายผู้อื่น หรือเตรียมการเพื่อก่อเหตุดังกล่าว เป็นการชั่วคราวไม่เกินหกชั่วโมง เพื่อนําส่งเจ้าพนักงานตํารวจ ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา บิดามารดา หรือผู้ปกครอง แล้วแต่กรณี และให้ถือเป็นความรับผิดชอบของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง

นอกจากนี้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุน ให้นักเรียน หรือนักศึกษาฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

และหากการยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุน นั้นเป็นเหตุให้นักเรียนหรือนักศึกษาไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท หรือทําร้ายร่างกายผู้อื่น ผู้นั้นต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และหากเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพราะการทะเลาะวิวาทหรือทําร้ายร่างกายนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 31/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เพื่อป้องกัน ระงับ และปราบปรามการลักลอบทําไม้หวงห้าม โดยแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 หลายมาตรา เช่น กำหนดนิยามคำว่า “ไม้แปรรูป” “ทำไม้”

คำสั่งที่หัวหน้า คสช.ฉบับที่ 32/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันการลักลอบนำสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภทไปใช้ผลิตยาเสพติด โดยให้อำนาจ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กัก ยึด หรืออายัด การลักลอบนําสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภทไปใช้ผลิตยาเสพติด

24 มิถุนายน 2559 หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 33/2559 เรื่อง ให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่น มีเนื้อหาว่าให้ข้าราชการที่ถูกร้องเรียน หรือกล่าวหาปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หรือมีการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ ระงับการปฏิบัติราชการ โดยไม่ขาดจากตำแหน่งเดิม และให้ไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นในสังกัดเดิมเป็นการชั่วคราว จำนวน 23 คน

5 กรกฎาคม 2559 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง 4 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 34/2559 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง มีสาระสำคัญคือ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดังนี้ ณรงค์ รัตนานุกูล พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการ ป.ป.ส. และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษ ในสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี

ศิรินทร์ยา สิทธิชัย พ้นจากตําแหน่ง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ป.ป.ส., พสิษฐ์ อัศววัฒนาพร พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และให้ดํารงตําแหน่ง ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สํานักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม, วัลลภ นาคบัว พ้นจากตําแหน่ง รองผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุติธรรม

คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 35/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก ในท้องที่ตําบลวังบาลและตําบลบ้านเนิน อําเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากป่าภูทับเบิกถูกบุกรุก ถือครอง โดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และนำไปก่อสร้างโรงแรม สถานที่พักตากอากาศ จึงมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างออกจากป่าภูทับเบิกภายในเวลาที่กำหนด พร้อมรื้อถอน ทำลาย หรือกระทำอื่นใดแก่สิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้ป่าภูทับเบิกกลับคืนสภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิม และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองชดใช้หรืออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรื้อถอน

ทั้งนี้การปฏิบัติตามคำสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง

คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย โดยให้บุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่หรือส่งมอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการครอบครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งยึดคืนที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

เมื่อได้ครอบครองพื้นที่เป้าหมายแล้ว ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำที่ดินมาจัดให้แก่เกษตรกรดังนี้ 1)เกษตรกรตามนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของรัฐบาล 2)เกษตรกรที่ถือครองที่ดินเดิมที่ได้รับคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรฯ

คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 37/2559 เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาระสำคัญเช่น ให้หน่วยบริการ เครือข่ายหน่วยบริการ หน่วยบริการที่รับการส่งต่อผู้รับบริการ องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดําเนินการแสวงหาผลกําไร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทํากิจการในอํานาจหน้าที่ของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

13 กรกฎาคม 2559 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง 3 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 38/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2559 และคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 11/2559 มีสาระสำคัญคือ แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “อกศจ.” ทําหน้าที่ช่วยเหลือหรือกลั่นกรองงานเกี่ยวกับการบรรจุ การแต่งตั้ง การโยกย้าย การดําเนินการทางวินัย การกําหนดวิทยฐานะ หรือการกําหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดให้แก่ กศจ.

นอกจากนี้ยังแก้ไขในส่วนของจำนวนรองศึกษาธิการภาค และรองศึกษาธิการจังหวัด จากที่กำหนดว่ามีได้ตำแหน่งละไม่เกินหนึ่งคน เป็นไม่กำหนดเพดานจำนวนรองศึกษาธิการภาคและรองศึกษาธิการจังหวัด

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา มีใจความว่า ในกรณีที่ปรากฏว่าการดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา หรืออธิการบดี ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอํานาจยับยั้งการแต่งตั้งหรือการดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ที่จะดํารงตําแหน่งดังกล่าว

ให้คณะกรรมการการอุดมศึกษารายงานต่อ รมว.ศึกษาธิการ เมื่อปรากฏว่าสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งใดมีกรณี ดังต่อไปนี้ 1) จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาหรือมาตรฐานหลักสูตร 2) จงใจ หลีกเลี่ยง หรือประวิงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษา หรือคําสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 3) นายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต 4) ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในสถาบันอุดมศึกษาจนสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคําแนะนําของคณะกรรมการการอุดมศึกษามีอํานาจสั่งการให้สภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งนั้น ยับยั้งการรับนิสิตนักศึกษา ปิดหลักสูตร ยุติการจัดการศึกษา หรือดําเนินการอื่นใด

เมื่อคําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดําเนินการตามคําสั่งนี้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิโดยทันที

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2559 เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 48/2557 มีสาระสำคัญคือ ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 48/2557 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อดํารงตําแหน่งแทนตําแหน่งที่ว่าง โดยให้งดเว้นการสรรหาและการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับหรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

14 กรกฎาคม 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 เรื่อง การกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ความว่า กรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้ควบคุมไม่ให้มีการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กสทช. และ กสท.ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

21 กรกฎาคม 2559 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง 2 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 42/2559 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ให้ยุบคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลําโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ แล้วให้คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเข้าไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ แทนให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน นับแต่คำสั่งนี้บังคับใช้ และเสนอให้ รมว.คมนาคมพิจารณา โดย รมว.คมนาคมพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหลักเกณฑ์ดังกล่าว

จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการกํากับดูแลประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาการดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จนได้ข้อยุติแล้ว ให้เจรจาร่วมกันกับผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลให้ดําเนินการโครงการส่วนต่อขยาย เพื่อให้สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยเจรจาและแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 43/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 4 โดยประกอบไปด้วย 4 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 60 คน กลุ่มที่ 1.ผู้บริหารสถานศึกษา และ 2.ข้าราชการพลเรือน ให้ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว กลุ่มที่ 3.ผู้บริหารและผู้มีตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราวโดยไม่มีค่าตอบแทน ส่วนกลุ่มที่ 4.ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ย้ายไปช่วยราชการแต่ต้องไม่ใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่เดิม

นอกจากนี้ ให้หน่วยงานต้นสังกัดเร่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือสอบสวนเพื่อดําเนินการทางวินัยโดยเร็ว ในกรณีไม่พบว่ามีความผิดหรือการกระทําไม่ถึงขั้นทุจริตและควรกลับไปดํารงตําแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่เดิมได้ ให้หน่วยงานต้นสังกัดรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเปลี่ยนแปลงคําสั่งต่อไป

26 กรกฎาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 44/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 5 ตามที่จะมีการออกเสียงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งกระทําการซึ่งอาจเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันความไม่สงบที่จะเกิดขึ้น จึงมีคำสั่งให้ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และให้มีการตรวจสอบหรือดำเนินคดีทางกฎหมายโดยเร็ว หากพบว่ามีความผิดหรือไม่ อย่างไร ให้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงต่อไป

31 กรกฎาคม 2559 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง 2 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 45/2559 เรื่อง การขยายกําหนดเวลาการยื่นรายการชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรเพื่อความเป็นธรรมแก่นักลงทุน โดยให้ขยายกําหนดเวลาการยื่นรายการชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามนัยแห่งประกาศกระทรวงการคลัง ออกไปจนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2559 มีผลทําให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม และให้ขยายกําหนดเวลาการยื่นคําร้องขอคืนเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มออกไปเป็นภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ด้วยเช่นกัน

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 46/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 โดยขยายข้อห้ามเพิ่มเติมคือ สถานบริการใดที่ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์ หรือการพนันในสถานที่ของตน ผู้มีอํานาจสามารถเพิกถอนใบอนุญาต หรือสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลาห้าปี และหากอยู่ในระหว่างการขอต่ออายุใบอนุญาต ก็ให้สั่งไม่ให้ต่ออายุใบอนุญาต และไม่ให้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้นั้นเป็นเวลาห้าปี

และเพิ่มข้อ 6/1 ว่า ผู้ใดเปิดสถานบริการ ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือคําสั่งปิด หรือ เปิดให้บริการสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานบริการหรือสถานประกอบการ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคําสั่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

18 สิงหาคม 2559 หัวหน้า คสช.ออกคำสั่ง 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 47/2559 เรื่อง การดําเนินการตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2559 โดยมีเนื้อหาว่าตามที่มีคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 33/3559 เรื่อง ให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่น ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ที่มีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร อัยการ และตำรวจในพื้นที่ จ.สมุทรสาครหลายราย เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาค้ามนุษย์นั้น หากผลการตรวจสอบพบว่าผู้ถูกตรวจสอบไม่มีความผิด หรือไม่ถึงขั้นต้องดําเนินการทางวินัยใดๆ ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกตรวจสอบแจ้งศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ทราบนั้น ให้ถือว่าการตรวจสอบดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด โดยให้ประธาน ศอตช. ตั้งคณะกรรมการ 3-5 คน เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบผลการตรวจสอบเดิมของผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกตรวจสอบกับรายงานหรือพยานหลักฐานที่มีอยู่อีกครั้งหนึ่งและให้มีอํานาจเชิญบุคคลมาให้ถ้อยคําได้ ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

ขณะที่คำสั่งที่ 48/2559 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐ ระบุว่า ให้ จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ออกจากราชการ และให้ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ตามพระราชกําหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 อันเป็นวันที่ผู้ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยขอลาออกจากตําแหน่งเพราะเหตุสุขภาพ

22 สิงหาคม 2559 หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 49/2559 เรื่อง มาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย สาระสำคัญว่า การอุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนาเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานของรัฐ ให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการศึกษาและเผยแพร่หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องตามแนวทางของแต่ละศาสนา รวมถึงให้หน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา และกำหนดมาตรการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ตลอดจนสร้างความเข้าใจแก่ชาวต่างชาติเกี่ยวกับข้อพึงปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติของศาสนาต่างๆ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีภายในสามเดือน ให้สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา รายงานความก้าวหน้า ในการดําเนินการตามคําสั่งนี้ ให้นายกรัฐมนตรีทราบทุกสามเดือน

25 สิงหาคม 2559 หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งฉบับที่ 50/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 6 โดยมีคำสั่งให้หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระงับการปฏิบัติราชการ หรือหน้าที่ในกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวโดยยังไม่พ้นจากตําแหน่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้ และให้เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อําเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในเทศบาลเมืองบ้านไผ่เป็นการชั่วคราวโดยยังไม่พ้นจากตําแหน่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้

คำสั่งฉบับที่ 51/2559 เรื่อง การดําเนินการกับของที่เก็บในเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรีและของที่ใช้เป็นยุทธภัณฑ์เพื่อบรรเทาสาธารณภัย มีสาระสำคัญว่า เนื่องจากมีรถยนต์และของที่จัดเก็บในเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรีมีจำนวนมากและเก็บไว้นานหลายปี รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บหลายพันล้านบาท จึงมีคำสั่ง เช่น ให้ผู้ที่นํารถยนต์ใหม่สําเร็จรูปตามประเภทพิกัดศุลกากร 8702 และ 8703 เข้ามาในราชอาณาจักรและได้นําเข้าเก็บในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองปีหรือรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี นำรถยนต์ดังกล่าวออกจากมาใช้หรือจำหน่ายโดยชำระภาษีให้ถูกต้อง หรือส่งออกนอกราชอาณาจักร ภายใน 90 วัน ส่วนรถยนต์ใหม่ให้เก็บต่อไปได้ไม่เกินสองปี

นอกจากนี้ให้รถดับเพลิง รถกู้ภัย รถไฟส่องสว่าง และรถบรรทุก ที่นําเข้ามาทางท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2549 จํานวน 176 คัน และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 จํานวน 139 คัน เป็นยุทธภัณฑ์ที่ผู้นําของเข้ารับไว้ใช้ในราชการเพื่อการบรรเทาสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ และให้ได้รับยกเว้นอากร

2 กันยายน 2559 หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งฉบับที่ 52/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 7 โดยมีรายชื่อข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 21 ราย ให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แจ้งสาเหตุที่ต้องตรวจสอบการปฏิบัติราชการของผู้นั้นให้หน่วยงานทราบ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยต้องปรากฏผลให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน กรณีที่ตรวจสอบแล้วไม่พบความผิด ต้องแจ้งให้ ศอตช. ทราบ และให้ประธาน ศอตช. แต่งตั้งคณะบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นข้าราชการ ไม่มีข้อขัดแย้งหรือส่วนได้เสียกับบุคคลหรือเรื่องที่มีการกล่าวหา และไม่เคยเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องนี้มาก่อนมีจํานวน 3-5 คน เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบผลการตรวจสอบเดิมให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ถ้าหากตรวจสอบแล้วไม่พบข้อบกพร่องใดๆ ในการปฏิบัติงาน ให้เยียวยาโดยให้ผู้ถูกตรวจสอบไปดํารงตําแหน่งในระดับเดิมตามความเหมาะสม แต่ให้อยู่นอกพื้นที่เดิม

9 กันยายน 2559 หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 53/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 3 มีความสำคัญ อาทิ เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือประมงพาณิชย์ที่ไม่มีทะเบียนเรือ หรือมีทะเบียนเรือ แต่ไม่มีใบอนุญาตทําการประมง ต้องแจ้งจุดจอดเรือ โดยระบุสถานที่จอดเรือให้ชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ในเขตที่จะจอดเรือภายใน 15 วัน, ให้กรมเจ้าท่ามีอํานาจออกประกาศงดการจดทะเบียนเรือไทยสําหรับการประมงเป็นการชั่วคราวได้, ห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงขนถ่ายคนประจําเรือระหว่างนําเรือออกไปทําการประมง เว้นแต่เพื่อความปลอดภัยของคนประจำเรือ หรือมีปัญหาข้อพิพาท ถ้าฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาทต่อคนประจําเรือหนึ่งคน, บรรดาความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10, 24 และ 42/2558 ให้อธิบดีกรมประมงหรืออธิบดีกรมเจ้าท่าแล้วแต่กรณี 
มีอํานาจเปรียบเทียบได้

ส่วนฉบับที่ 54/2559 เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตํารวจ และการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจ มีสาระสำคัญว่า เพื่อการปรับปรุงการบริหารโรงเรียนนายร้อยตำรวจและเนื่องจากกรรมการใกล้ครบวาระสี่ปีแล้ว เพื่อให้การดำเนินการต่อเนื่องจึงมีคำสั่งที่สำคัญ อาทิ 1.นายกสภาการศึกษา และกรรมการสภาการศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ของโรงเรียนนายร้อยตํารวจ ตามประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภาการศึกษาและกรรมการสภาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิของโรงเรียนนายร้อยตํารวจ ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 และประกาศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตําแหน่ง

2. ให้คณะกรรมการชุดใหม่ประกอบด้วย กรรมการโดยตําแหน่งตามมาตรา 10 (2) (3) และ (5) แห่ง พ.ร.บ.โรงเรียนนายร้อยตํารวจ พ.ศ.2551 และให้แต่งตั้งนายกสภาการศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยไม่ต้องดําเนินการ ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามรายชื่อดังต่อไปนี้ ศุภชัย ยาวะประภาษ เป็น นายกสภาการศึกษา ส่วนอีก 9 คน เป็น กรรมการสภาการศึกษาทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ไผทชิต เอกจริยกร, จักราทิตย์ ธนาคม, มณเฑียร เจริญผล, พ.ต.ท.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์, ร.ต.อ.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ เป็น กรรมการสภาการศึกษาทรงคุณวุฒิ, พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์, พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา, พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ และ กมล รอดคล้าย

12 กันยายน 2559 หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 55/2559 เรื่อง การดําเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอํานาจศาลทหาร มีเนื้อหาให้ยกเลิกการใช้ศาลทหารสำหรับความผิดตาม ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557, 38/2557 และ 50/2557 ที่เกิดขึ้นภายหลังคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ และให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรม ซึ่งความผิดที่เดิมต้องขึ้นศาลทหารตามประกาศ 37/2557, 38/2557 และ 50/2557 มีอาทิ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 และคดีที่มีความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้

ส่วนคดีที่ยังอยู่ศาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับนี้ และคดีที่เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารก็ให้อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารเหมือนเดิม นอกจากนี้ ให้เจ้าพนักงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 13/ 2559 ยังมีอำนาจในการจับกุม-ตรวจค้น-ควบคุมตัว เหมือนเดิม

14 กันยายน 2559 หัวหน้า คสช. อกกคำสั่งฉบับที่ 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ระบุว่า ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหรือข้าวโพด เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น และให้กรมบังคับคดีมีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจํานําข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ ปีการผลิต 2548/2549 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/2552 ที่ได้มีคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแล้ว

15 กันยายน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งสองฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 57/2559 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล มีหน้าที่ประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรี และราชการส่วนกลางกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยให้ผู้แทนพิเศษเป็นกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำ เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาโดยจะไม่มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการใดๆ นอกจากนี้ยังให้ได้รับค่าตอบแทนและสิทธิพิเศษ เทียบเท่ากับ ผู้แทนการค้าไทย หรือกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

ส่วนฉบับที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม มีเนื้อหาว่า ให้คนพิการที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้แก่คนพิการ ให้จ่ายจากกองทุนประกันสังคม และให้งดใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของกองทุนประกันสังคม มาใช้บังคับกับการจ่ายเงินดังกล่าว

27 กันยายน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 59/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 8 และการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐ มีเนื้อหาให้พักงานข้าราชการตำรวจและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) 72 ราย โดยเกือบทั้งหมดเป็น อปท.ในจังหวัดมหาสารคาม และยังให้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกําเนิด ผู้ชํานาญการกองทัพบก โฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรีรักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราว

28 กันยายน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 60/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันการนําช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน เพื่อมิให้ประเทศไทยถูกระงับการนำเข้าและส่งออกสัตว์ป่าและพืชป่าตามบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES จึงมีคำสั่งให้นำช้างในความครอบครองทั้งที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณและไม่ได้จดทะเบียนไปเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจสอบรหัสพันธุกรรม หรือ DNA เพื่อออกหนังสือรับรองและทำเครื่องหมายประจำตัวช้าง โดยให้เก็บตัวอย่างเลือดให้เสร็จภายใน 180 วัน และให้กรมการปกครองนำไปบันทึกในทะเบียนรูปพรรณช้างภายใน 360 วัน ถ้าเจ้าของช้างไม่ดำเนินการในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าช้างเชือกนั้นตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากนี้ ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกันยกร่างกฎหมาย เพื่อกําหนดมาตรการในการคุ้มครองช้างไทยให้เป็นระบบภายใน 90 วัน

6 ตุลาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 61/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาบุคลากรด้านการบิน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการบิน โดยมีคำสั่งให้ สัญญาจ้างนักบิน ครูการบิน พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งกําหนด โดยอย่างน้อยต้องกําหนดหน้าที่ของพนักงาน และค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ให้ทําได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 เมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาดังกล่าวให้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพนักงานเป็นไปตามที่กําหนดไว้สําหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ และกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกประการ

ในวันเดียวกันยังออกคำสั่งฉบับที่ 62/2559 เรื่อง การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีเนื้อหาว่า ให้มีสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่ อาทิ กําหนดทิศทางและนโยบายของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กําหนดแผนที่นําทาง (Roadmap) เกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ นอกจากนี้ยังให้ยุบเลิกสภาวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการสาขาวิชาการ คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ โดยให้โอนอํานาจหน้าที่ไปเป็นของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

18 ตุลาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 63/2559 เรื่อง การส่งเสริม สนับสนุน และปฏิรูปการกีฬาของประเทศ สาระสำคัญคือ ควบรวมกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพและกองทุนกีฬามวย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตาม พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เพื่อลดภาระและความซ้ำซ้อนในด้านการงบประมาณ

และคำสั่งฉบับที่ 64/2559 เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตําแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ้นจากตําแหน่งรวมถึงให้ผู้ดํารงตําแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ พ้นจากตําแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย และให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และให้มีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เกินสี่คนตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง

1 พฤศจิกายน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 65/2559 เรื่อง การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดภาระของประชาชนและเนื่องจากยังไม่สามารถตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในขณะนี้ สาระสำคัญระบุว่า ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรา ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 592) พ.ศ. 2558 และให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บ ในอัตรา ดังต่อไปนี้

1. ร้อยละ 6.3 สําหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนําเข้าทุกกรณี เริ่มเก็บตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560

2. ร้อยละ 9 สําหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนําเข้าทุกกรณี เริ่มเก็บตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป
โดยคำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป

5 พฤศจิกายน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 66/2559 เรื่อง การกําหนดตําแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง โดยให้ ทรงพร โกมลสุรเดช พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ตรวจราชการ และเป็นที่ปรึกษาด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และให้ วิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานสถิติแห่งชาติ และให้ดํารงตําแหน่ง ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

10 พฤศจิกายน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 67/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธุรกิจรักษาความปลอดภัย เนื่องจากมีผู้ได้กระทบผลกระทบจากกฎหมายนี้ โดยมีสาระสำคัญ เช่น ให้ยกเลิกความใน (3) ของมาตรา34 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 จากเดิมกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพ รปภ. ต้อง “สําเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ” หรือ มัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยแก้ไขข้อความเป็น “ สําเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับที่ใช้อยู่ในขณะที่สําเร็จการศึกษา”

16 พฤศจิกายน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 68/2559 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐ และการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว ระบุว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดหรือในบางกรณีอาจยังไม่ปรากฏความผิด แต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบความรับผิด หัวหน้า คสช.จึงมีคำสั่ง ให้มีกรอบอัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสํานักนายกรัฐมนตรี จํานวน 50 อัตราเพื่อรองรับการบรรจุและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่เป็นข้าราชการ

พร้อมสั่งให้ผู้มีตําแหน่งหน้าที่ในสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตามรายชื่อต่อไปนี้ไปเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐประจําสํานักนายกรัฐมนตรี” ตามคําสั่งนี้ 1. นางสาวปณิตา ชินวัตร 2. นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต 3. นางสาวอิสรา ภูมาศ

29 พฤศจิกายน 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 69/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการดําเนินคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายการประมง มีเนื้อหาว่า ในการกชดำเนินคดีตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ถ้าผู้ต้องหาหรือจําเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดําเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

ในกรณีมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําเลย ถ้าจําเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นําบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับ

7 ธันวาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 70/2559 เรื่อง การยกเลิกคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 45/2557 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 45/2557 เป็นเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2557 แต่เนื่องจากปัจจุบันมีหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่ลักษณะเดียวกันกับคณะกรรมการดังกล่าวหลายแห่ง จึงควรยกเลิกคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อลดความซ้ำซ้อน

13 ธันวาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 71/2559 เรื่อง การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงการปฏิรูปประเทศ และการประกาศใช้บังคับของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งต่อไปจะต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อนกัน จึงเห็นสมควร ให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรดังกล่าวยกเลิก ไปจนกว่าจะมีกฎหมายอื่นใดบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

ส่วนสํานักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สํานักงานสภาพัฒนาการเมืองและสํานักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี

ฉบับที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ระบุว่า ให้ผู้มีอำนาจในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตโลหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุสัมปทานบัตรจนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ จะมีมติเป็นอย่างอื่น และให้ผู้ที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป แต่ผู้ประกอบการยังคงมีหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ตามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

และคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 73/2559 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้อํานวยการสํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (เพิ่มเติม) ระบุว่า ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2559 ที่ให้ ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และให้ คมศร วงษ์รักษา เป็นรักษาการแทน แต่เนื่องจาก คมศร จะพ้นจากตำแหน่งเพราะอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จึงมีคำสั่งให้ ชาญณรงค์ พ้นจากตำแหน่ง ผอ.สมศ., ให้ คมศร พ้นจากตำแหน่งรักษาการ ผอ.สมศ. และให้คณะกรรมการ สมศ. ดำเนินการสรรหา ผอ.สมศ.ขึ้นแทน

20 ธันวาคม 2559 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 74/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 ระบุว่า เพื่อผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเร็ว จึงต้องเร่งจัดหาที่ดินในจังหวัดกาญจนบุรีและนครพนมที่มีความพร้อม โดยสั่งให้ถอนสภาพที่สาธารณประโยชน์ในพื้นที่ ต.อาจสามารถ จ.นครพนม ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 7941 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2521 เฉพาะภายในแนวเขต ตามแผนที่หมายเลข 9 แนบท้ายคำสั่งฉบับนี้ และถอนการสงวนหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตําบลบ้านเก่า อําเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ภายในแนวเขต ตามแผนที่หมายเลข 10 ท้ายคําสั่งนี้

ฉบับที่ 75/2559 เรื่อง ระงับการคัดเลือกบุคคลและการสรรหาเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แทนตําแหน่งที่ว่างลงไว้จนกว่าจะมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงหกคน หรือจนกว่าร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช. จะมีผลใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น แล้วแต่กรณีใดจะเกิดขึ้นก่อน และให้ กสทช.ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่

ฉบับที่ 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยขยายเวลาให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เหลือตั้งแต่งวดที่สี่เป็นต้นไปได้ และให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ ที่ได้รับความเห็นชอบให้ถือครองคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิม ถือครองคลื่นความถี่ต่อไปอีก 5 ปี จากเดิมที่ต้องส่งคืนภายในเดือนเมษายน 2560

28 ธันวาคม 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยกำหนดให้การพิจารณาอนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประกอบด้วย ยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ เครื่องสําอาง วัตถุออกฤทธิ์ ยาเสพติดให้โทษ และวัตถุอันตราย ให้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมาอ่านค่าเอกสารวิชาการ และวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ เพื่อให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถจัดเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ยื่นคําขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อเป็นค่าในการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ฉบับที่ 78/2559 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลําโพง - บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ ความว่า ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดําเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชน เพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ําเงิน ช่วงเตาปูน - บางซื่อ อันเป็นระยะทางสั้นประมาณ 1 กิโลเมตรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

10 มกราคม 2560 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 1/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ มีความว่า ให้ยุบรวม คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 5 องค์กรให้เหลือ อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการเพียงคณะเดียว และให้มีการเกลี่ยอัตรากําลังในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อกําหนดตําแหน่งและแต่งตั้งเป็นศึกษาธิการภาคและรองศึกษาธิการภาค

17 มกราคม 2560 หัวหน้าค คสช. ออกคำสั่งที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษหรือ กรศ.ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน นอกจากนี้กรณีที่ผู้ดำเนินการต้องได้รับการอนุมัติ อนุญาต รับหรือความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐ ก็ให้เลขาธิการของชุดคณะกรรมการมีอำนาจอนุมัติ ออกใบอนุญาต รับจดทะเบียนได้เลย คล้ายกับเป็น One Stop Service

คำสั่งฉบับที่ 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีสาระสำคัญว่า ให้มีคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้แบ่งย่อยเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

6 กุมภาพันธ์ 2560 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 4/2560 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 105/2557 มีความว่า ให้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยให้เพิ่มเติมรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (สุวิทย์ เมษินทรีย์) เป็นกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าว

15 กุมภาพันธ์ 2560 หัวหน้า คสช. ออก คำสั่งที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย มีใจความว่า เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้หัวหน้า คสช. มีอํานาจประกาศกําหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจ อาทิ ควบคุมการเข้าหรือออกในพื้นที่ ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือให้ถ้อยคําต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดอาญาซึ่งหน้า รื้อถอน ทําลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกั้น

16 กุมภาพันธ์ 2560 หัวหน้า คสช. มีคำสั่งที่ 6/2560 เรื่อง การแต่งตั้งนายกเมืองพัทยา เนื่องจากผู้บริหารจัดการเมืองพัทยาต้องเป็นผู้มีศักยภาพในการบริหารจัดการสูง จึงให้ยกเว้นการบังคับใช้ประกาศ คสช. ที่ 85/2557 และ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 1/2557 ในส่วนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเมืองพัทยา และมีคำสั่งให้ปลัดเมืองพัทยา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่นายกเมืองพัทยา พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นายกเมืองพัทยา, ให้ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี พ้นจากตําแหน่งในสภาเมืองพัทยา และให้เป็นนายกเมืองพัทยา และให้มีรองนายกเมืองพัทยาไม่เกินสี่คน ตามที่นายกเมืองพัทยาแต่งตั้ง

20 กุมภาพันธ์ 2560 หัวหน้า คสช.มีคำสั่งที่ 7/2560 เรื่อง การปรับปรุงระบบพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เพื่อแก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง มีเนื้อหาว่า ขั้นตอนการแต่งตั้งเริ่มจากให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานระดับกองบังคับการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจระดับกองบังคับการ เพื่อทําหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ แล้วเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานระดับกองบัญชาการเพื่อดําเนินการ แล้วเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมี รอง ผบ.ตร. เป็นคณะร่วมพิจารณา

21 กุมภาพันธ์ 2560 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 8/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น ระบุว่า เนื่องจากมีการใช้ระบบอุปถัมภ์ในการสอบแข่งขัน การเลื่อนตำแหน่ง การโอน และการย้าย จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวกับการสอบแข่งขันการสอบคัดเลือก การคัดเลือก และการโอนข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม

วันเดียวกันมีคำสั่งที่ 9/2560 เรื่อง การดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำสาธารณะ ความว่า การก่อสร้างอาคารตามโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าว ได้รับยกเว้นการบังคับใช้ กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพมหานคร กฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และงดเว้นการจัดทํารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

23 กุมภาพันธ์ 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2560 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า ให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยพ้นจากตําแหน่ง พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ส่วนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ให้พ้นจากตําแหน่ง แล้วให้ไปดํารงตําแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และให้อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการในตําแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกตําแหน่งหนึ่ง จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 11/2560 เรื่องการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการกํากับการจัดซื้อจัดจ้าง มีหน้าที่กํากับ เร่งรัด ติดตาม และตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐตั้งแต่ขั้นตอนจัดทําแผนการจัดซื้อจัดจ้างจนสิ้นสุดสัญญา ทั้งนี้ให้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 โครงการ อยู่ภายใต้คำสั่งนี้

25 กุมภาพันธ์ 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 12/2560 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตําแหน่ง ใจความระบุว่า ให้พนม ศรศิลป์ พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ้นจากตําแหน่ง และให้ดํารงตําแหน่ง ผอ.พศ.


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
สรุปประเด็นสำคัญ : คำสั่งหัวหน้า คสช. เหมือน/ต่าง กับกฎหมายความมั่นคงอื่นอย่างไร