วันอังคาร, มีนาคม 21, 2560

คำพิพากศาล#2 ‘ไผ่ ดาวดิน’ กับสิทธิประกันตัวในคดี 112 สิทธิพื้นฐานที่ถูกเมินเฉย งานเสวนา ‘คำพิพากศาล’ - ประชาไท



คลิปเสวนา คำพิพากศาล หัวข้อ "สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดี 112"

คำพิพากศาล#2 ‘ไผ่ ดาวดิน’ กับสิทธิประกันตัวในคดี 112 สิทธิพื้นฐานที่ถูกเมินเฉย

Tue, 2017-03-21 15:39
ที่มา ประชาไท

แม่ไผ่ ดาวดิน ถามทำไมใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำไมคนแชร์อีกสามพันและเจ้าของบทความไม่โดนฟ้อง ด้านทนายไผ่ บอกศาลให้เหตุผลไม่ได้ว่าเหตุไม่ให้ประกัน ไม่รู้เยาะเย้ยอำนาจรัฐอยู่ในมาตราไหนของกฎหมาย การไม่ให้ประกันคดี 112 เหมือนบีบให้ต้องสารภาพ ยันทุกคนต้องได้รับสิทธิประกันตัว





งานเสวนา 'คำพิพากศาล' หัวข้อ สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดี 112 จากขวาไปซ้าย-พริ้ม บุญภัทรรักษา, กฤษฎางค์ นุตจรัส, สาวตรี สุขศรี และภาสกร อินทุมาร

งานเสวนา ‘คำพิพากศาล’ ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา จัดโดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และภาคีเครือข่าย ในหัวข้อ ‘สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดี 112’ พริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือไผ่ ดาวดิน และกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายของไผ่ ดาวดิน ได้มาร่วมพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พริ้มกล่าวว่า ในเมื่อกฎหมายต้องใช้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม แล้วเหตุใดไผ่จึงไม่ได้รับการประกันตัวเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไป

“เขาบอกว่าเยาะเย้ยอำนาจรัฐ เราคิดว่าความหมายนี้มันกว้าง คิดไปได้ต่างๆ นานา ศาลมองว่าเยาะเย้ยอำนาจรัฐ ที่ไผ่ทำคือเมื่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไปถูกรัฐกระทำโดยไม่ชอบก็ออกมาต่อต้าน แต่กลายเป็นว่าเอามาพ่วงในคดีมาตรา 112”

พริ้มยังเล่าอีกว่า ทางครอบครัวได้เพิ่มวงเงินประกันตัว มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเป็นนายประกัน อีกทั้งสังคมก็รู้ดีว่าไผ่ไม่หลบหนี แต่ศาลก็ยังบอกว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลง

“เราเป็นประชาชน เราก็ทำตามกฎหมายมาตลอด ยอมรับกระบวนการทางกฎหมายทุกอย่าง แม้กระทั่งแจ้งความ ออกหมายจับโดยไม่ออกหมายเรียก แล้วคุมตัวไปไม่ใช่สถานที่สอบสวน เราถูกกระทำมาตลอด เราก็เลยไม่เข้าใจว่าจะให้ประชาชนอย่างเราเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานได้จากไหน

“เวลาท่านพูดว่าเป็นนักกฎหมาย เรียนวิชานิติศาสตร์ รู้กฎหมายดี แต่เอากฎหมายมาทำกับเราอย่างไม่ชอบธรรม คนเรียนนิติศาสตร์จะบอบช้ำขนาดไหน เราทำงานด้านกฎหมาย ช่วยเหลือประชาชนมาตลอด เราสู้เพื่อความยุติธรรมมาตลอด แต่เราไม่ได้รับความยุติธรรม แล้วไผ่ก็ยืนยันว่าถ้าเอากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาทำกับไผ่แบบนี้ มันทำให้สั่นคลอนความยุติธรรมที่เป็นที่พึ่งครั้งสุดท้ายของประชาชน แล้วจะบอกกับประชาชนยังไงว่าให้เคารพกฎหมาย เราก็เห็นความยุติธรรมที่เลือกเป้าหมาย สามพันคนที่แชร์บทความ เจ้าของบทความไม่โดนดำเนินคดี แล้วก็สร้างความหวาดกลัวให้กับครอบครัว นี่คือเป้าหมายของเขา แต่มันยุติธรรมกับประชาชนมั้ย”

พริ้มกล่าวทิ้งท้ายว่า

“คุณมีกฎหมายในมือ คุณใช้อำนาจ แต่ประชาชนใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม”

ด้านกฤษฎางค์ เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในคดีของไผ่ว่า

“ทุกคนคงรู้ว่าไผ่กำลังจะอยู่ในคุกครบ 3 เดือนแล้ว ยื่นประกันไปทั้งหมด 7 ครั้ง เหตุผลก็เดิมๆ คือไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง แล้วแปลว่าอะไร แล้วจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ช่วยบอกหน่อย แต่ก็ไม่มีคำตอบ คำตอบก็อยู่สายลมตลอด ไหนจะบังคับให้พิจารณาคดีลับด้วย ห้ามผู้คนเข้าไปฟัง เราขออนุญาตเข้าไปเยี่ยมเป็นการส่วนตัวที่เรือนจำ เพราะเวลาปรึกษาคดีกับไผ่ต้องคุยกันหลายแง่มุม ก็ไม่มีโอกาส ได้แค่เจอกัน ใช้โทรศัพท์คุยกัน มีกล้องวงจรปิด แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ยืนอยู่ข้างหลัง เราไม่สามารถคุยเป็นส่วนตัวได้ อันนี้เป็นปัญหาที่เห็นอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เกิดมาเป็นลูกผู้พิพากษาหรือลูกนายพลเท่านั้นเอง ถึงไม่ได้รับการประกันตัว”

“คุณมีกฎหมายในมือ คุณใช้อำนาจ แต่ประชาชนใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม”

และนี่คือสิ่งที่นักโทษคดี 112 ส่วนใหญ่ต้องเผชิญ กฤษฎางค์ อธิบายว่า สภาพเช่นนี้จึงเท่ากับบีบให้จำเลยต้องรับสารภาพ เพื่อให้รับโทษลงลงและมีโอกาสออกจากเรือนจำเร็วขึ้น อย่างน้อยก็ติดคุกน้อยกว่าที่จะต้องถูกขังไว้ตลอดการพิจารณาคดี

กฤษฎางค์อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ปัจจุบัน มีคดี 112 ที่ถูกฟ้องอยู่ 46 คดี ไม่รวมที่ถูกขังตามค่ายทหาร ได้รับการประกันตัว 12 คดี โดยเดิมทีคดี 112 มีโทษสูงสุดต่อหนึ่งกรรมไม่เกิน 3 ปี แต่ได้รับการแก้ไขหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยออกเป็นคำสั่งของคณะรัฐประหาร แก้โทษจำคุกจาก 3 ปีเป็น 15 ปี ซึ่งทฤษฎีทางกฎหมายการจะกำหนดโทษต้องมีเหตุผล

“เพียงแต่ต้องการให้มันเป็นเครื่องมือใช้กล่าวหากันก็เลยกำหนดโทษให้สูง เป็นที่มาของโทษ 15 ปี และเป็นที่มาของคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ผมหลับตา ไม่ต้องอ่านคำสั่งของศาล ผมยื่นประกันไผ่ไปทั้งหมด 7 ครั้ง เหตุผลที่ไม่ให้ประกันคือ คดีนี้มีอัตราโทษสูง เป็นคดีที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับความมั่นคง กระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชน มีพฤติกรรมเป็นการเยาะเย้ยอำนาจรัฐ ไม่รู้อยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตราอะไร และออกไปจะไปสร้างความเสียหายต่อพยานหลักฐาน ทั้งหมดมีแค่นี้แหละที่ไม่ให้ประกัน และผมคิดว่าทุกคดีที่ไม่ให้ประกันก็มีแค่นี้

“ผมก็อายนะ เพราะผมถือว่าผมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ก้าวเท้ามาเป็นทนาย 38 ปีมาแล้ว ผมรู้สึกว่า 20 ปีหลังนี้เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม เพราะสิทธิประกันตัวก็เหมือนที่คุณแม่ของไผ่บอก เนื่องจากเราเป็นระบบกล่าวหา ก็ต้องต่อสู้จนพ้นจากการถูกกล่าวหา เราไม่ได้ผ่านระบบการไต่สวนว่ามีมูลมั้ยที่จะไปจับเขา ให้เขาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมและเป็นอิสระ ทีนี้จับมาก่อน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าไผ่จะได้สอบมั้ยหรือไผ่จะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานมั้ย หลักมันอยู่ที่ว่าคุณไม่มีอำนาจจับคนที่คุณยังไม่ตัดสินมาขังไว้ ข้อยกเว้นมีนิดเดียวที่อยู่ในกฎหมาย เช่นเป็นผู้มีอิทธิพล แต่พฤติการณ์เหล่านี้ไม่ได้ปรากฏในคดีเลย ถามว่าเอาอะไรมาคิด”

"ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าไผ่จะได้สอบมั้ยหรือไผ่จะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานมั้ย หลักมันอยู่ที่ว่าคุณไม่มีอำนาจจับคนที่คุณยังไม่ตัดสินมาขังไว้

กฤษฎางค์ เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบยุติธรรมเป็นเช่นนี้ เพราะระบบยุติธรรมก็เป็นเพียงระบบราชการอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้สูงส่งไปกว่าที่ประชาชนคิดหรือที่ระบบเรียกร้องบอกตัวเองว่าระบบยุติธรรมสูงส่งแตะต้องไม่ได้ อีกทั้งกระบวนการคัดเลือกคนเข้าเป็นผู้พิพากษาก็อาจจะมีปัญหา

“ถามว่าผมพูดอย่างนี้กลัวหมิ่นอำนาจศาลหรือเปล่า คือผมคิดว่าเราวิจารณ์ได้ พูดได้ กล่าวหาได้ด้วยซ้ำว่าท่านวินิจฉัยผิด และยิ่งถ้าท่านไม่ใช้เหตุผลในการวินิจฉัยหรือให้เหตุผลแบบผิดๆ เรายิ่งว่าได้ด้วยซ้ำ เพราะประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน พูดให้โอวาทไว้ตอนปีใหม่ว่า คำพิพากษาและคำวินิจฉัยใดๆ ของศาลจะต้องตอบคำถามได้ ต้องมีเหตุผล

“แต่ถ้าตอบไม่ได้หรือว่าไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ยื่นไป 7 ครั้งก็ไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว มันก็เป็นกรณีที่ท่านต้องตอบเรา ถ้าท่านไม่ตอบ เราก็วิจารณ์ท่าน แม้แต่ในการพิพากษาชั้นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ก็ยังอนุญาตให้ผู้พิพากษาที่ไม่เห็นด้วยทำความเห็นแย้งได้ ผมอยากยุยงให้ผู้คนวิจารณ์ศาลให้มากขึ้น มากกว่าที่จะสยบยอมกับสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เพราะมันเป็นทางเดียว”

“ล่าสุดที่เจอกัน ไผ่บอกว่าเขาเข้าใจดี เขาคงต้องต่อสู้ต่อไป เขาถามเพียงแต่ว่าพวกเราที่อยู่ข้างนอกยังจะร่วมต่อสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตยหรือเปล่าเท่านั้นเอง”

กฤษฎางค์ยังเล่าถึงบทสนทนาที่ไผ่พูดกับเขาด้วยว่า

“ไผ่บอกผมเองว่า วันที่เบิกตัวมาฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เรื่องไม่ให้ประกันตัว เขาก็ไปหิ้วตัวมาจากเรือนจำ เมื่อพิจารณาคดีเสร็จ ศาลก็ให้คุยกับทนายก่อน วันนั้นผมไม่ได้ไป มีน้องทนายไปแทน ให้คุยกันสี่ห้านาที ผู้คุมก็รีบเอาตัวออกไปเลย โดยมี สห. (สารวัตรทหาร) 4 คนควบคุมตัวไปเรือนจำ ผมก็ไม่ทราบว่าลูกความผมโดนอะไรบ้าง ระหว่างนั่งรถไปด้วยกัน สห. หนึ่งในสี่คนก็บอกกับไผ่ว่า มึงน่าจะได้รับการประกันตัวนะ เดี๋ยวกูจะได้ล่อมึงซะ นี่ไผ่เล่าให้ผมฟัง ถ้าผิดก็ต้องโทษไผ่ ถ้าจริงก็ต้องโทษศาลว่า สห. มาเกี่ยวอะไรกับศาล ราชทัณฑ์มาเกี่ยวอะไรกับ สห. สห. มาทำไม”

กฤษฎางค์ยืนยันหลักการว่า ไม่ใช่เฉพาะคดี 112 หรือคดีของไผ่เท่านั้น แต่ทุกคดีควรได้รับการประกันตัว เพราะไม่ให้ประกันเป็นที่มาของการวินิจฉัยคดีที่ไม่เป็นธรรมและทำให้คนบริสุทธิ์ต้องอยู่ในคุกเป็นจำนวนมาก

“ถ้าเราพูดเฉพาะคดี 112 ผมเข้าใจว่าโอกาสของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่จะเข้าใจและใช้หลักกฎหมายในการดำเนินคดี ผมแทบมองไม่เห็น ไม่มีความหวัง ผมก็รอคอยแต่ว่าเมื่อไหร่เหตุการณ์ต่างๆ จะเปลี่ยนไป เพราะคนที่มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมขาดความกล้าหาญ คนในกระบวนการยุติธรรมหวังที่จะทำผ่านๆ ไปเพื่อลาภยศสรรเสริญ และหวังเพียงแต่อยู่รอดไปวันๆ ผมเข้าใจนะว่าคนที่พิจารณาไม่ให้ประกันแต่ละคนก็คงลำบากใจ การให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีแบบนี้ คงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้ไผ่เข้าใจ

“ล่าสุดที่เจอกัน ไผ่บอกว่าเขาเข้าใจดี เขาคงต้องต่อสู้ต่อไป เขาถามเพียงแต่ว่าพวกเราที่อยู่ข้างนอกยังจะร่วมต่อสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตยหรือเปล่าเท่านั้นเอง”