วันจันทร์, มีนาคม 20, 2560

งานสัมมนา "คำพิพากศาล" ช่วง "สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดี 112" สาวตรี สุขศรี




https://www.youtube.com/watch?v=tC7zMkrJs4g

'ไผ่ ดาวดิน' ไม่ได้ประกัน 'สาวตรี สุขศรี' หวั่นใช้กระบวนการยุติธรรมสร้างความกลัว


prachatai

Published on Mar 19, 2017

ในงานสัมมนา "คำพิพากศาล" ช่วง "สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดี 112" สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่ "ไผ่ ดาวดิน" ไม่ได้รับการประกันตัว ในระหว่างสู้คดี ม.112 ว่าเป็นการใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมสร้างความหวาดกลัว เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับ

ทั้งนี้การไม่ให้ผู้ต้องหา 1 ราย ได้รับการประกันตัว นับว่าเป็นการไม่ต้องลงทุนสูงเพื่อขังคนจำนวนมาก แต่ขังคนเดียวเพื่อทำให้คนจำนวนมากรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ทั้งนี้การไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือได้รับการประกันตัวในคดี ม.112 ไม่ใช่กลัวว่าเขาจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหรือไม่ คดี ม.112 ไม่ได้ใช้การไม่ให้ประกันตัวเพื่อเป้าหมายนี้ แต่เพื่อสร้างความหวาดกลัว แต่เพื่อบีบบังคับ ต่อให้มีเงินประกันตัวกี่ล้านก็ไม่ให้ ต่อให้ใครมาเป็นนายประกันเขาก็ไม่ให้ การไม่ได้รับการประกันตัวกลายเป็นการสร้างความหวาดกลัว ผู้ต้องหาหรือจำเลยกลัว ครอบครัวก็รู้สึกกลัว ประชาชนเพื่อนฝูงก็กลัว นอกจากนั้นบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมก็กลัว ในขั้นตอนของตำรวจ หรืออัยการ ต่างก็รีบดำเนินการเรื่องนี้ทันที ทำให้เกิดบรรยากาศเช่นนี้ไปทั้งหมดของกระบวนการยุติธรรม

.....

อีกเวอร์ชั่นที่ยาวกว่า

Live! เสวนา"สิทธิในการได้รับปล่อยตัวชั่วคราวในคดี มาตรา 112" ธรรมศาสตร์ 19 มีค 2560 ช่วงที่ 1



https://www.youtube.com/watch?feature=share&v=Gt1NzhTNQso&app=desktop

bamboo network
Streamed live 17 hours ago

ooo

คำพิพากศาล#1 สาวตรี สุขศรี 112 กับกระบวนการยุติธรรมเชิงบังคับและสร้างความกลัว

Sun, 2017-03-19 22:06
ที่มา ประชาไท

งานเสวนา ‘คำพิพากศาล’ สาวตรี สุขศรี เผยการไม่ให้ประกันในคดี 112 ศาลใช้เหตุผลโดยไม่มีกฎหมายระบุ ใช้กฎหมายอย่างบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามหลักการ กลายเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับให้สารภาพ และเป็นกลไกของรัฐในการสร้างความหวาดกลัว





ภายหลังการรัฐประหาร 2557 กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะสถาบันตุลาการถูกตั้งคำถามจากสังคมหลายประการ ความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมถูกมองด้วยความคลางแคลง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงจัดงาน ‘คำพิพากศาล’ ขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะในการถกเถียง วิเคราะห์ และชี้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย

‘สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดี 112’ เป็นประเด็นร้อนแรงประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปราย โดยสาวตรี สุขศรี จากกลุ่มนิติราษฎร์ และอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มอภิปรายโดยอ้างอิงข้อความจากกติการะหว่างประเทศและกฎหมายของไทยดังนี้

..........

มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลผู้อยู่ในระหว่างพิจารณาคดี แต่ให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยอาจกำหนดให้มีการประกันว่า จะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนการพิจารณา แล้วมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาเมื่อถึงวาระนั้น เป็นข้อความในข้อ 9 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผย ณ ที่ซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี ข้อความนี้เป็นข้อ 11 (1) ในปฏิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ผู้ถูกกุมขังในระหว่างการดำเนินคดีอาญาพึงมีสิทธิได้รับการพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว เป็นข้อ 38 ของหลักการสหประชาชาติเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนที่ถูกกุมขังหรือจำคุก

บุคคลต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาแล้วว่าได้กระทำความผิดและจะปฏิบัติกับเขาอย่างผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ อันนี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ปี 2550 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ผู้ต้องขังหรือจำเลยมีสิทธิ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อันนี้อยู่ในมาตรา 40 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540

อาจจะคิดในใจว่าจะพูดไปทำไม ในเมื่อไม่เคยถูกนำมาใช้บังคับในบางคดีเลย ทำไมคุณจตุภัทรหรือคุณสมยศจึงไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่มีหลักกฎหมายใหญ่โตแบบนี้และประเทศไทยก็เป็นภาคีอยู่ นักโทษคดี 112 จำนวนมากจะถูกจองจำ ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต้องสู้คดีอยู่ในคุก เพราะฉะนั้นจากสถิติไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมจากไอลอว์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ค่อนข้างสอดคล้องกันว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ได้รับการปล่อยตัวและออกมาสู้คดีนอกคุกในคดี 112 มีน้อยกว่าคนที่ถูกจองจำและต้องสู้คดีอยู่ในคุก


"กระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิงกับคดี 112 เป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับ บังคับให้จนมุม บังคับให้เลือกระหว่างสารภาพหรือจะสู้คดี...ต่อให้ท่านเชื่อมั่นว่าไม่ผิด แต่ไม่มีความแน่นอนเลย เพราะทุกวันนี้การตีความมันขยับเพดานตลอด...ลักษณะสู้ติดแน่ แพ้ติดนาน คือ 112 แล้วสุดท้ายคนก็จะพากันรับสารภาพ"

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ระบุว่า การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวจะกระทำได้ ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้ หนึ่ง-ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี สอง-ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน สาม-ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น สี่-ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และห้า-การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล อีกทั้งคำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผลและต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

ประเทศไทยรับหลักนี้มาอย่างช้าที่สุดน่าจะประมาณปี 2540 ก่อนหน้านี้ระบบการดำเนินกระบวนการยุติธรรมคดีอาญาจะใช้หลักการ Crime Control Model คือมุ่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเด็ดขาด โดยไม่สนใจหรือละเลยสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย จนในรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดเป็นแบบ Due Process Model คือต้องมีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยความเป็นธรรม ลักษณะของแนวคิดนี้ก็คือการให้สิทธิหรือหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในทุกๆ ชั้นกระบวนพิจารณา นับตั้งแต่การถูกจับตัว ต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา การต้องได้รับการแจ้งสิทธิ เช่น มีสิทธิที่จะไม่ให้การ มีสิทธิที่จะให้ญาติมาเยี่ยม พอถึงชั้นศาลก็ต้องมีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย และที่สำคัญจะต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

หลักการแบบนี้ เป้าหมายคือต้องการให้หลักประกันสิทธิแก่จำเลยในการต่อสู้คดีได้อย่างเป็นธรรม ถามว่าเป็นธรรมอย่างไร เพราะเมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็สามารถแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้ มีโอกาสในการปรึกษาทนายความอย่างเป็นส่วนตัว ดังนั้น ปล่อยชั่วคราวจึงต้องกระทำเป็นหลัก ถ้าไม่ปล่อย นั่นเป็นข้อยกเว้น

ในกฎหมายอาญา ข้อยกเว้นต้องตีความโดยเคร่งครัด หมายความว่าเขากำหนดไว้แบบไหนก็ต้องใช้เหตุผลแค่นี้เท่านั้น ไม่ใช่ใช้เหตุผลอื่น ถ้าใช้เหตุผลอื่นเมื่อไหร่ แปลว่าคุณกำลังละเมิดสิทธิ คำถามคือแล้วยกเว้นทำไม ทำไมไม่ปล่อยให้หมดเลย คำตอบก็คือเป้าประสงค์ของการยกเว้นมีแค่ 2 หลักการใหญ่ๆ เท่านั้น หนึ่ง-เป็นหลักประกันว่าจะมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี สอง-บางครั้งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้มีอิทธิพลอาจจะไปรบกวนพยานหลักฐาน เพราะฉะนั้นข้อยกเว้นจะต้องมีเป้าหมายแบบนี้เท่านั้น ดังนั้น ถ้ามีพฤติการณ์ว่าไม่หลบหนีหรือเป็นไปได้ว่าจะไม่หลบหนี กรณีแบบนี้ต้องปล่อยเป็นหลัก และในกรณีที่ไม่มีอิทธิพลหรือไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับพยานหลักฐาน กรณีนี้ก็ต้องปล่อยตัวไป

แต่สิ่งที่เราเจอในคดี 112 เหตุผลของศาลคือมาตรา 112 มีโทษสูง หากปล่อยไปเกรงจะหลบหนี ถามว่าศาลเอามาจากไหน ทำไมอัตราโทษจึงกลายมาเป็นเหตุผลหลักและมีเหตุผลแบบนี้ประกอบอยู่ในทุกๆ คำสั่งไม่ให้ประกันตัว

ลองดูมาตรา 108 ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ หนึ่ง-ความหนักเบาแห่งข้อหา สอง-พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด สาม-พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร สี่-เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด ห้า-ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ หก-ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่ และเจ็ด-ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้

ศาลจะเอาตรงนี้มาอ้างทันทีเมื่ออัตราโทษสูง คือหยิบข้อ 1 มาประกอบกับข้อ 5 พอมีอัตราโทษสูงโอกาสการหลบหนีจึงมีเยอะ ถามว่าพิจารณาแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ต้องเรียนว่าไม่ถูกต้องตามหลักการ เพราะต้องย้อนกลับไปมาตรา 108/1 เพราะมาตรา 108 เป็นแค่ข้อประกอบการพิจารณาเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดโดยอัตโนมัติว่าเมื่ออัตราโทษสูง ไม่ต้องให้ประกันตัว

การฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายมีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรืออัตราโทษสูง ทำไมไม่ให้ประกันตัวโดยอัตโนมัติ ทำไมศาลจึงใช้ดุลพินิจในการปล่อยตัวออกมาสู้คดีได้ มาตรา 112 อัตราโทษสูงจริงๆ สูงเกินไปด้วยและขัดกับการได้สัดส่วน โทษคือตั้งแต่ 3-15 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเราจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี ถ้าทำให้เหยื่อถึงแก่ความตายด้วยจะมีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่เราก็ยังเห็นศาลให้ประกันตัวออกมาสู้คดี แล้วทำไมกรณี 112 จึงให้ประกันตัวไม่ได้ สูงจริง แต่ก็ไม่สูงไปกว่าโทษในคดีอื่น

มีเหตุผลอะไรอีก เหตุผลที่เรามักจะได้ยินกันคือการกระทำที่ถูกกล่าวหานั้นกระทบความรู้สึกหรือกระทบจิตใจของประชาชน ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องมานั่งตีความกัน อันอื่นก็กระทบความรู้สึกจิตใจและขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเหมือนกัน แต่ประเด็นทางกฎหมายหนักกว่านั้น เพราะหากเราสำรวจดู เหตุผลที่ว่ากระทบความรู้สึกจิตใจของประชาชน มันเป็นเหตุผลในการไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ปรากฏอยู่ในตัวบทกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น 108 หรือ 108/1 แล้วศาล ผู้พิพากษา ไปหยิบเอาเหตุผลอะไร จากที่ไหน มาตัดสินให้คนคนหนึ่งต้องสู้คดีในคุก ไม่ให้ปล่อยตัว ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด

ทำไมไปหยิบเอาเหตุอื่นใดที่นอกเหนือจากกฎหมายมาใช้บังคับ กรณีนี้อธิบายได้หรือไม่ว่าเป็นการใช้กฎหมายอย่างบิดๆ เบี้ยวๆ คำตอบคือได้ มันไม่เป็นไปตามหลักการ ไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ นี่คือสิ่งที่เราได้เจอตลอดเวลาในคำสั่งของศาลที่ไม่ให้ผู้ต้องหาในคดี 112 ได้รับการประกันตัว

เหตุที่คุณจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ดาวดิน ถูกถอนประกัน เหตุผลมีหลายกลุ่ม กลุ่มแรกบอกว่าผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์เชิงสัญลักษณ์ เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง และมีแนวโน้มจะทำเช่นนั้นต่อไปอีก ผู้ต้องหามีความเคลื่อนไหว พิมพ์ข้อความในเชิงเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน กรณีที่ตนได้รับการประกันตัวไปจากศาล

การใช้กฎหมายนี้ตรงไปตรงมาหรือไม่ หรือว่ามีความบิดเบี้ยว เราต้องเข้าใจก่อนว่าในระบบยุติธรรม เวลาที่ศาลจะถอนประกันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

การถอนประกันจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดพฤติการณ์ใดๆ อันมีลักษณะฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ให้ประกัน หมายความต้องมีกำหนดเงื่อนไขในการให้ประกันของศาล แล้วถ้าฝ่าฝืนเงื่อนไข จึงถอนประกันได้ ประเด็นที่เกิดขึ้นคือเงื่อนไขแบบไหนที่ศาลจะใช้อำนาจกำหนดได้ คำตอบก็คือในวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้กำหนดไว้ เรื่องนี้ต้องดูมาตรา 108 วรรคท้ายประกอบกับข้อ 8 ของระเบียบข้าราชการตุลาการ ซึ่งอาจสรุปเงื่อนไขได้ 3 ประเภทเท่านั้น หนึ่ง-เงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ได้ประกันตัว เช่น ต้องอยู่เป็นหลักแหล่งหรือศาลเรียกแล้วต้องมา สอง-เงื่อนไขเพื่อป้องกันการหลบหนี และสาม-เงื่อนไขเพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งสุดท้ายศาลจะกำหนดอะไรบ้างก็คงต้องดูจากพฤติการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับคดีที่ฟ้อง ตัวผู้ต้องหา และอื่นๆ


"การแสดงอคติบางอย่างของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอุดมการณ์เบื้องหลังความไม่แน่ไม่นอนในการตีความกฎหมาย เหล่านี้มันบีบให้รับสารภาพ เปอร์เซ็นต์การรับสารภาพสูงมาก การรับสารภาพมีปัญหาต่อเนื่องด้วย...เท่ากับสร้างความชอบธรรมให้กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว...มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้พิพากษา หมายความว่ารับสารภาพ จบ พิพากษาเลย ไม่ต้องตีความ ไม่เสียเวลา ไม่ต้องหยิบบริบทมาพิจารณา ไม่ต้องเผยว่าตนเองมีอุดมการณ์แบบไหนในการตีความมาตรา 112 รับสารภาพปุ๊บ ทุกอย่างจบ"

กรณีสำหรับผู้พิพากษาที่ไม่ใช้ดุลพินิจเรื่องนี้เกินเลย ก็มักจะกำหนดเงื่อนไขโดยยึดโยงกับ 108/1 คือทำยังไงไม่ให้หลบหนีหรือหยุงเหยิงกับพยาน มีแค่นี้ คำถามคือแล้วเย้ยหยันอำนาจรัฐหรือเยาะเย้ยเจ้าพนักงานเกี่ยวอะไรกับการหลบหนี เกี่ยวอะไรกับการยุ่งเหยิงกับพยาน มันไม่เกี่ยว ไม่ได้เป็นหลักการที่จะเอามาถอนประกันได้ ตรงนี้ชัดเจนว่าเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ตรงไปตรงมา

ในคดีคุณจตุภัทร์ ศาลยังบอกอีกว่าผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟสบุ๊คของผู้ต้องหา ในคำสั่งเดียวกันยังบอกว่าผู้ต้องหายังแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อยมา ซึ่งอาจจะเป็นการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลกำหนดเงื่อนไขประกันตัวไว้แบบไหน มีหรือไม่ที่ศาลบอกว่าให้คุณไผ่ลบข้อความนั้นออกด้วย ศาลจึงจะให้ประกันตัว ไม่มี ในส่วนของการให้ประกันตัวครั้งแรกไม่มีเงื่อนไขนี้เลย ถามว่าทำไมถึงไม่มี เป็นไปได้ว่าศาลก็ยังไม่ค่อยแน่ใจหรอกว่าบทความที่แชร์มาผิดหรือเปล่า

เมื่อไม่ได้ลบ ศาลจะบอกได้อย่างไรว่านี่คือการฝ่าฝืนเงื่อนไข บอกไม่ได้ เพราะไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ลบ แต่ประเด็นที่ย้อนแย้งอย่างมากคือ ศาลบอกว่าคุณไผ่ใช้เฟสบุ๊คอยู่ตลอดเวลา แสดงความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอาจจะมายุ่งเหยิงกับพยานได้ ในขณะที่คุณจตุภัทร์ใช้เฟสบุ๊คอยู่ทุกวัน แต่ไม่เคยแตะต้องบทความที่แชร์เลย ก็หมายความว่าไม่เคยยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเลย แต่ศาลบอกว่าคุณใช้เฟสบุ๊คทุกวัน คุณมีโอกาสยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ขณะเดียวกันก็บอกว่าทำไมไม่ลบข้อความ ข้อความนั้นเป็นพยานหลักฐานหรือไม่ คำตอบคือใช่ นี่คือความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นในคำสั่งเดียวกัน

การพิจารณาคำสั่งโดยใช้เหตุผลว่าผู้ต้องหาใช้เฟสบุ๊คตลอดเวลาหรือแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ตลอดเวลา จึงอาจเป็นอันตรายต่อพยานหลักฐาน นี่เป็นกรณีที่ศาลกำลังล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งไม่มีปรากฏในกฎหมาย ศาลกำลังบอกว่าเมื่อไหร่ที่คุณตกเป็นผู้ต้องหา เป็นจำเลย คุณห้ามเล่นเฟสบุ๊ค ไม่อย่างนั้นเดี๋ยววันดีคืนดีศาลถอนประกัน ทั้งที่การแสดงความคิดเห็น การรับรู้ข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เรากำลังถูกขยับแดนออกมาเรื่อยๆ ว่าห้ามทำแบบนี้ แบบนั้น ทั้งที่สิทธิของจำเลยต้องได้รับการคุ้มครองตลอดในกระบวนการพิจารณา

ในคำสั่งของศาลจะมีอีกส่วนหนึ่ง ศาลระบุว่าผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ย่อมรู้ดีว่าการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล ศาลใช้เหตุผลแบบนี้ ก็เลยสงสัยว่าคำสั่งศาลระบุว่าอย่างไร คำสั่งระบุว่า วิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน ผู้ต้องให้มาศาลตามนัดห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือความเสียหายใดๆ หลังปล่อยชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกัน และอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก เพราะฉะนั้นเงื่อนไขคือสิ่งนี้ มีมั้ย ห้ามเย้ยหยันอำนาจรัฐ ห้ามเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน ให้ลบข้อความทิ้ง ห้ามเล่นเฟสบุ๊ค ไม่มี ลักษณะนี้จึงเป็นการใช้กฎหมายที่ค่อนข้างไม่ตรงไปตรงมาและบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปพอสมควร

คำถามที่เราต้องตั้งกลับไปคือทำไมศาลถึงทำแบบนี้ ทำไมผู้พิพากษาถึงทำแบบนี้ ทำไมถึงกล้าใช้ดุลพินิจนอกหลักกฎหมายที่ตัวเองเรียนมา จะลองวิเคราะห์แบบนี้ อาจจะได้คำตอบว่าทำไมคดี 112 ไม่ได้รับประกันตัวเลยหรือได้รับประกันตัวน้อยมาก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ใช้หลักนิติศาสตร์วิเคราะห์ไม่ได้ นอกจากจะบอกว่ามันผิด ถ้าจะใช้หลักนิติศาสตร์ที่ไม่เป็นหลักมาอธิบายปรากฏการณ์พวกนี้ต้องใช้อภินิหารทางกฎหมาย เพราะมันไม่ควรจะเกิดขึ้น มันจึงเป็นเรื่องอภินิหาร

แต่ถ้าเราวินิจฉัยทางรัฐศาสตร์ อุดมการณ์ความเชื่อที่อยู่เบื้องหลัง วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราน่าจะพอวิเคราะห์หรือหาคำตอบได้ ถ้าเอาสถานการณ์มาปะติดปะต่อ จะเห็นว่ามีอะไรที่ยืนอยู่เบื้องหลังเป็นเงาทะมึนอยู่ในหลักกระบวนการยุติธรรม คืออะไร ตอนนี้เราสามารถตีความได้หรือไม่ว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยเฉพาะคดีมาตรา 112 เป็นกลไกหนึ่งที่ใช้สร้างความกลัวโดยรัฐ

วิธีสร้างความกลัวโดยรัฐทำด้วยหลากหลาย ถ้ารุนแรงโจ่งแจ้งคือล้อมปราบ เบาลงมาหน่อยก็เรียกรายงานตัว ขึ้นศาลทหาร เรียกปรับทัศนคติ ถ้าไม่โจ่งแจ้งและเบาลงมาอีกก็ไปนั่งกินกาแฟด้วย แต่วิธีหนึ่งที่เนียนมากคือการใช้กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการสร้างความหวาดกลัว เป็นกลไกหนึ่ง

กระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิงกับคดี 112 เป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับ บังคับให้จนมุม บังคับให้เลือกระหว่างสารภาพหรือจะสู้คดี คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ออกมาบอกว่าสู้ติดแน่ แพ้ติดนาน ประโยคนี้ใช้ได้มากกับมาตรา 112 กรณีความผิดอาญาอื่นๆ จะมีประเด็นอื่นๆ ด้วย หมายความว่าสู้ก็ได้ อาจจะหลุด ในคดีอาญาอื่นถ้าท่านเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ท่านทำไม่ผิด ท่านก็สู้ได้ พอจะมีโอกาสชนะ สามารถฝากความหวังไว้กับพยานหลักฐานที่ท่านออกมาหานอกคุกได้ เหล่านี้คือคดีในฐานความผิดอื่นๆ

แต่มาตรา 112 ไม่ใช่ ต่อให้ท่านเชื่อมั่นว่าไม่ผิด แต่ไม่มีความแน่นอนเลย เพราะทุกวันนี้การตีความมันขยับเพดานตลอด ถามว่าขนาดเชื่อมั่นว่าตนเองบริสุทธิ์ก็ไม่กล้าสู้ แถมฝากความหวังกับพยานหลักฐานก็ไม่ได้ เพราะไม่สามารถออกไปแสวงหาพยานหลักฐานได้ ลักษณะสู้ติดแน่ แพ้ติดนาน คือ 112 แล้วสุดท้ายคนก็จะพากันรับสารภาพ

หลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 มีผู้ต้องหารับสารภาพคดี 112 เยอะมาก มีน้อยมากที่ตัดสินใจสู้ คดีส่วนน้อยนั้นคือคดีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขที่ตัดสินใจสู้จนถึงชั้นฎีกา ไม่สารภาพ และยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด เพื่อที่จะทดสอบกระบวนการดำเนินคดีทางอาญาว่าถูกต้องชอบธรรมแค่ไหน มีการตีความตรงไปตรงมาแค่ไหน กรณีคุณสมยศมีการส่งเรื่องขึ้นศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่ามาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ซึ่งเราก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่าศาลต้องบอกว่าไม่ขัด การต่อสู้คดีของคุณสมยศน่านับถือจริงๆ เพราะเป็นการละทิ้งอะไรหลายอย่าง แต่สุดท้าย เพิ่งตัดสินฎีกาเมื่อไม่นานมานี้ คุณสมยศก็ดี พวกเราก็ดี ก็ได้รับข้อยืนยันสิ่งที่เราคิดว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ตรงไปตรงมา บิดเบี้ยว นั้นเป็นจริง

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราตำหนิคนที่ไม่สู้ เราไม่มีสิทธิตำหนิ และห้ามตำหนิด้วย เพราะท่านไม่รู้หรอกว่า เมื่อโดนกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับแบบนี้มันเจ็บปวดขนาดไหน ต้องสูญเสียอะไรหลายๆ อย่าง

การไม่ให้ประกันตัวส่งผลอะไรต่อผู้ต้องหาบ้าง อะไรบีบบังคับให้เขารับสารภาพได้ หนึ่ง-การถูกจองจำยาวนานต่อเนื่องและถูกบั่นทอนกำลังใจสารพัดในช่วงที่ถูกจองจำ สอง-กระทบความสามารถในการต่อสู้คดีเพราะไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐานภายนอกได้ สาม-ไม่ได้สิทธิในการปรึกษาทนายอย่างเป็นการส่วนตัว ทั้งที่เป็นสิทธิที่อยู่ในกฎหมาย จะเห็นว่าการไม่ให้ประกันตัวไม่ใช่กลไกเดียวที่สร้างความหวาดกลัวหรือบีบบังคับ ยังมีกลไกอื่นในกระบวนการยุติธรรม คืออะไร การพิจารณาคดีโดยลับ

การแสดงอคติบางอย่างของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอุดมการณ์เบื้องหลังความไม่แน่ไม่นอนในการตีความกฎหมาย เหล่านี้มันบีบให้รับสารภาพ เปอร์เซ็นต์การรับสารภาพสูงมาก การรับสารภาพมีปัญหาต่อเนื่องด้วย แง่ดีคือสารภาพแล้วคุณได้ออกเร็ว แต่ผลข้างเคียงที่สำคัญมากๆ ของการรับสารภาพเท่ากับสร้างความชอบธรรมให้กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว จำเลยรับเองว่าผิด ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก ถามว่าเราเรียกร้องให้เขาไม่สารภาพได้หรือไม่ เราเรียกร้องไม่ได้หรอก เพราะมันเจอกระบวนการแบบนี้ มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้พิพากษา หมายความว่ารับสารภาพ จบ พิพากษาเลย ไม่ต้องตีความ ไม่เสียเวลา ไม่ต้องหยิบบริบทมาพิจารณา ไม่ต้องเผยว่าตนเองมีอุดมการณ์แบบไหนในการตีความมาตรา 112 รับสารภาพปุ๊บ ทุกอย่างจบ


"แต่การทำแบบนี้บ่อยๆ มันมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ด้านหนึ่งรัฐอาจกดปรามประชาชนได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนกลับไปยังกระบวนการยุติธรรม ต่อศาล ต่อผู้พิพากษา หรือต่อสถาบัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันบิดเบี้ยว บิดพริ้วกฎหมาย เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ตรงไปตรงมา ประชาชนเห็น ต้นทุนที่คุณต้องเสียคือความเสื่อมศรัทธา"


กระบวนการแบบนี้จึงเป็นการบีบบังคับ มันสร้างความหวาดกลัว ถามว่าเพื่ออะไร ก็เพื่อคุมเอาไว้ซึ่งระเบียบของสังคมที่ผู้กุมอำนาจต้องการ คงความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบัน ในกรณีของคุณไผ่มีการขยายแดนที่แตะต้องไม่ได้ออกไปอีก อำนาจรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ พูดถึงไม่ได้ สร้างความหวาดกลัวแบบนี้ และวิธีนี้ถ้าแบบไม่ต้องเสียอะไรมากก็เลือกเป้าหมายนิดหนึ่ง

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคุณไผ่ ดาวดินจึงเป็นคนเดียวที่โดนคดีนี้ ทั้งที่มีสองพันกว่าคนแชร์บทความ ทั้งที่บีบีซีไทยต้นตอบทความไม่โดนอะไรเลย นี่คือวิธีการในการเลือกเป้าหมาย สร้างความหวาดกลัว ทำไมต้องเลือกคุณไผ่ เพราะคุณไผ่ต่อต้านอำนาจรัฐ กรณีแบบนี้มันได้ผล ไม่ต้องลงมือมาก ไม่ต้องฟ้องหลายคน ไม่ต้องเสียพื้นที่คุก แต่นักรบไซเบอร์ นักกิจกรรม หยุดไลค์ หยุดแชร์ กล้าๆ กลัวๆ นี่คือการสร้างความหวาดกลัวที่ได้ผลแบบไม่ต้องเสียอะไรมากของภาครัฐ

สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว หน้าที่คือมีตัวผู้ต้องหาเป็นหลักประกันว่าจะไม่ยุ่งเหยิงกับพยาน แต่มาตรา 112 ไม่ได้ใช้ตรงนี้เลย แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัว เพื่อบีบบังคับ ไม่ต้องแปลกใจ ต่อให้เรามีเงินประกันห้าล้านสิบล้าน เขาก็ไม่ให้ ต่อให้นักวิชาการยกกันมาสามสิบห้าสิบคนมาประกัน เขาก็ไม่ให้ เพราะหน้าที่ของสิทธินี้มันเปลี่ยนไปเพื่อสร้างความหวาดกลัว

ใครบ้างไม่กลัว ผู้ต้องหา จำเลย ครอบครัวของผู้ต้องหา จำเลยกลัว ประชาชน เพื่อนฝูงกลัว บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมก็กลัว ส่งตำรวจปุ๊บ ตำรวจรีบยื่นเลย ฟ้องได้ ส่งอัยการปุ๊บ ส่งฟ้องเลยทันทีอย่างรีบด่วน ชักช้าเดี๋ยวจะโดนข้อหาไม่จงรักภักดี เพราะฉะนั้นมันได้ทั้งกระบวนการเลย กว่าสิบปีที่ผ่านมาเป็นแบบนี้หมด เราจึงสามารถตอบคำถามได้ว่า ทำไมสุดท้ายไม่ได้สิทธิประกันตัว

แต่การทำแบบนี้บ่อยๆ มันมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ด้านหนึ่งรัฐอาจกดปรามประชาชนได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนกลับไปยังกระบวนการยุติธรรม ต่อศาล ต่อผู้พิพากษา หรือต่อสถาบัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันบิดเบี้ยว บิดพริ้วกฎหมาย เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ตรงไปตรงมา ประชาชนเห็น ต้นทุนที่คุณต้องเสียคือความเสื่อมศรัทธา ทุกวันนี้ศาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด สถาบันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มมากขึ้น ทำไมจึงเป็นแบบนั้น ก็เพราะมีกระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้นั่นเอง

การกดปรามพฤติกรรมคน คุณอาจทำได้ แต่กดความคิดคน คุณทำไม่ได้