วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 11, 2560

“ยังไหว”





“ยังไหว” คำที่ ไผ่ ดาวดิน บอกกับเพื่อนๆ ที่ให้กำลังใจหลังจากอัยการสั่งฟ้องเขาในข้อหา ม.๑๑๒ เมื่อวาน (๑๐ ก.พ.) และเขาถูกส่งตัวกลับเข้าคุกต่อไป

‘ยังไหว’ เป็นสภาพที่ผู้เห็นต่างทางการเมืองกับการปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะทหาร คสช. จำต้องทนรับ มิฉะนั้นก็คงจะ ‘breakdown’ แตกสลายทั้งร่างกายและจิตใจ ถ้าหากไม่ขายวิญญานให้อสูร ‘sells his/her soul to the devil’ ไปเสียก่อน

‘ยังไหว’ ยังเป็นอาการที่ผู้ต้องหาในคดีการเมืองและคดีนักโทษทางความคิด จะต้องฝืนทนกับความยุติธรรมที่บกพร่องและหลักกฎหมาย ‘rule of law’ ที่ขาดวิ่น เมื่อผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งตำรวจ อัยการ และศาล ล้วนแต่พิจารณาความตามใจตน รวมทั้ง ‘กลั่นแกล้ง’ ผู้ต้องหา เพื่อให้ยอมสยบ ‘หงอ’ พร้อมกับ “เชือดไก่ให้ลิงดู”

ไผ่ ดาวดิน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นามจริงว่า จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา “ถูกจับเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ และถูกตั้งข้อหามาตรา ๑๑๒ จากการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีไทยบนเฟซบุ๊กของตัวเอง





หลังถูกจับไผ่ได้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ ๔๐๐,๐๐๐ บาท ก่อนถูกศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งเพิกถอนประกันตัว (อ้างว่า) เพราะไผ่โพสต์เฟซบุ๊กเย้ยหยันอำนาจรัฐ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ ไผ่จึงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แม้จะยื่นขอประกันตัวอีกหลายครั้งแต่ศาลก็ไม่อนุญาต

และทุกครั้งที่ไผ่ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลจะสั่งไต่สวนเรื่องการฝากขังเป็นการลับ โดยมีหนึ่งครั้งที่ศาลสั่งอนุญาตให้ฝากขังโดยไม่ได้ถามไผ่ก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่”

เป็นภูมิหลังคดีของไผ่ ซึ่ง ‘ไอลอว์’ ให้ไว้พร้อมกับบทสัมภาษณ์สั้นๆ ๕ นาฑี ระหว่างเข้าเยี่ยมในที่คุมขัง (๙ ก.พ.) ๕๐ วันก่อนอัยการสั่งฟ้อง ที่ไผ่พูดตอนหนึ่งว่า

“คดีของผมมันพอใช้อธิบายกับสังคมได้ ผมอยากให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น ตอนแรกเราก็ยอมทุกอย่าง จะให้เราลบโพสต์เราก็ยอมแล้ว แต่เมื่อมาขนาดนี้เราก็คิดว่าจะสู้แล้ว ไม่ยอมเหมือนกัน...

อยากให้คนข้างนอกช่วยกันทำอะไรก็ได้ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ เพื่อให้ทุกอย่างมันดีกว่านี้ ทั้งกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย...

อยากให้คนข้างนอกช่วยกันทำอะไรก็ได้ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ เพื่อให้ทุกอย่างมันดีกว่านี้ ทั้งกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย”

(https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551.646424.299528675550/10158180058055551/?type=3&theater)

คดีของไผ่ เห็นได้แจ้งชัดว่ามี ‘ธง’ ที่จะเก็บเขาไว้ในคุก เพื่อ ‘สั่งสอน’ หรือ ‘กลั่นแกล้ง’ ก็ตามแต่ สองคำนี้มีความหมายห่างกันแค่เส้นด้ายกางกั้น เมื่อพิจารณากับการใช้ตรรกะและเหตุผลในการสั่งฟ้องของศาล





ดังข้อสังเกตุต่อคำฟ้องของอัยการที่ Somsak Jeamteerasakul นำมาพิเคราะห์ไว้

“ก่อนอื่น ขอให้สังเกตว่า ในคำฟ้องจงใจไม่กล่าวแม้แต่คำเดียวว่า ข้อความที่นำมาฟ้องเป็นข้อความของ บีบีซีไทย - BBC Thai ซึ่ง ‘ไผ่’ เพียงคัดลอกมาแชร์เท่านั้น ไม่ใช่ข้อความที่ไผ่เขียนเอง”

เป็นที่ทราบกันดีว่าบทความของบีบีซีไทยชิ้นนี้ ได้มีคนนำไปแชร์และแพร่หลายต่อๆ กันไปราว ๒,๘๐๐ ราย แต่มีไผ่คนเดียวที่ต้องคดี แม้ว่าในทางข้อเท็จจริงเนื้อหาในบทความภาษาอังกฤษใช้ถ้อยคำที่ต่างกับฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยเล็กน้อย

อัยการอ้างในคำฟ้องถึงข้อความในฉบับภาษาไทย โดยไม่ระบุว่าเป็นของบีบีซีไทย จนทำให้ผู้ที่ไม่รู้รายละเอียดแวดล้อมเกิดความเข้าใจผิดไปได้ว่า นั่นเป็นข้อความที่ไผ่เขียนเองก็ได้

“...อันมีความหมายว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว..รัชกาลที่ ๑๐ ไม่น่าจะมีพระบารมี ไม่เป็นที่เคารพสักการะเท่าพระราชบิดา...อันเป็นการดูหมิ่น สบประมาท เหยียดหยาม พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งเป็นที่เคารพรักสักการะของพสกนิกรชาวไทย และพสกนิกรชาวไทย”

ซึ่ง สศจ.ได้ชี้ให้เห็นว่าถ้าอ่านตามภาคภาษาอังกฤษของบทความนี้ “ประเด็นที่บทความบีบีซีเสนอคือ รัชกาลที่ ๑๐ #ไม่มีเวลายาวนานเหมือนพระราชบิดาที่จะสะสมบารมี เพราะทรงอายุ ๖๔ แล้วขณะนี้ ไม่ได้บอกว่าไม่มีความรู้ ความสามารถ...พอจะเป็นกษัตริย์ดีเท่ากับพระราชบิดา”

เขายังชี้ให้เห็นอีกเช่นกันว่า “อันที่จริง บทความฉบับแปลส่วนนี้ แปลได้ไม่ตรงต้นฉบับภาษาอังกฤษนัก ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนโดยใช้คำว่า ‘one advantage’ หรือข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งที่รัชกาลที่แล้วมี คือการมีบารมีที่ใช้เวลาสั่งสมมา ๗๐ ปี...





คือในต้นฉบับภาษาอังกฤษบอกว่า ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า บารมีเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสั่งสมด้วยตัวเอง ไม่สามารถรับทอดกันมาได้ (must be earned, not inherited) ไม่ใช่บอกว่า ไม่น่าจะทรงมี..มากเท่า”

(https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/1225192557534021)

สศจ. ลงท้ายว่า ถ้าหากมองในแง่ร้ายก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า “อัยการกำลังเขียนราวกับว่าองค์รัชกาลที่ ๑๐ เอง กำลังรู้สึกอย่างไร พูดแบบภาษาบ้านๆ (ขออภัยในภาษาบ้านๆ) ราวกับอัยการกำลังพูดแทนใจรัชกาลที่ ๑๐ ประมาณว่า พวกมรึงมาพูดได้ไงว่า กรูไม่ดีเท่าพ่อ อะไรแบบนั้น...

รัชกาลที่ ๑๐ ท่านอาจจะไม่ใจแคบ มีปมขนาดนั้นก็ได้”