วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 13, 2560

นิรโทษฯ แม้ว-ยุติคดีจำนำข้าว เงื่อนไขปรองดองฝ่ายประชาธิปไตย!?





นิรโทษฯ แม้ว-ยุติคดีจำนำข้าว เงื่อนไขปรองดองฝ่ายประชาธิปไตย!?


13 กุมภาพันธ์ 2560
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

เมืองไทย 360 องศา

เชื่อว่าจนบัดนี้หลายคนอาจจะไม่รู้จัก หรือยังจดจำชื่อคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาหาข้อยุติเรื่องการปรองดองสร้างความสามัคคีของคนในชาติได้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นชื่อเต็มที่เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง” หรือในชื่อย่อว่า “ป.ย.ป.” ซึ่งก็น่าเห็นใจ เพราะจนบัดนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมาจะจดจำได้หรือไม่ รวมไปถึง “พี่ใหญ่” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะใหญ่ที่ว่า และทำหน้าที่กำกับดูแลทิศทางการทำงานจะจดจำชื่อ และกรอบหน้าที่ได้มากน้อยเพียงใด เพราะมีการแยกย่อยออกเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ อีกมากมายหลายสิบคณะ

ยิ่งนานยิ่งแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ มีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วม มีทั้งฝ่ายทหารโดยกระทรวงกลาโหมที่พิจารณาแล้วน่าจะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีการระดมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายการเมือง กลุ่มการเมือง ประชาชนทั่วประเทศ ล่าสุดยังมีการไปเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากบรรดากำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งมีตำถามเพิ่มเข้ามาอีก 10 ข้ออีกด้วย หากมองโลกในแบบสวยงามยามเข้าสดใสก็ต้องบอกว่ามันน่าสนุกได้เจอเพื่อนใหม่ เปิดมุมมองใหม่ อะไรประมาณนั้น

แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ตามความเป็นจริงก็ต้องบอกว่า “เสียเวลา เปลืองค่าน้ำค่าไฟ” เปล่าๆ หากต้องการให้เกิดมรรคผลเอาจริงเอาจังตามเป้าหมายที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการ และประเทศต้องการ แต่หากมีวัตถุประสงค์ให้ “พวกบ้าน้ำลาย” มีเวทีได้พูดจานั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำลังจัดหาคนมาระดมความเห็น และการตั้งเวทีอยู่ในเวลานี้สิ่งที่เป็นไปได้ตามมาก็คือ ข้อสรุปความเห็นหรือแนวทางสำหรับการปฏิรูปและการปรองดองในรัฐบาลต่อไป ความหมายก็คือเมื่อมีข้อสรุปแล้วก็เสนอต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้ง

คำถามก็คือ แล้วรัฐบาลใหม่จะสานต่อหรือไม่ หรือไม่ก็เป็นไปได้สูงว่าอาจจะมีการตั้ง “คณะกรรมการ” ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งขึ้นมาพิจารณาศึกษาปรับปรุงให้ “สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่” ซึ่งมักจะเป็นแบบนั้นทุกครั้ง แล้วก็เหลวไม่เป็นโล้เป็นพาย ความเคลื่อนไหวคราวนี้ก็ไม่น่าจะต่างกัน เพราะเมื่อพิจารณาจากระยะเวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ที่มีเวลาเพียงแค่ปีเศษ แต่เมื่อพิจารณาจากภารกิจการศึกษาวางยุทธศาสตร์ชาติที่ครอบคลุมเอาเรื่องความสามัคคีปรองดองเข้าไปด้วยภารกิจ “ครอบจักรวาล” ในเวลาอันจำกัดแบบนี้รับรองว่าสำเร็จตามเป้าหมายนั่นคือนำไปปฏิบัติจริงได้ยาก

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในเชิงการเมืองที่กลายเป็นคำถามว่า จู่ๆ ทำไมถึงคิดตั้งเวทีปรองดองขึ้นมาทำไม มีวัตถุประสงค์ใด “ซ้อน” เข้ามาด้วยหรือเปล่า เพราะทั้งอายุเวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ที่มีจำกัด แม้ว่าในอนาคตเมื่อมีรัฐบาลใหม่ จะมี “นายกฯ คนนอก” เป็นใครก็ตามมันก็ต้องมีพรรคการเมือง มีนักการเมืองเข้ามาร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง นี่คือ “คำตอบ” ว่ามี “บางคน” ต้องการ “แตะมือ” เชื่อมกับพวกนักการเมืองรวมไปถึงการ “ลงจากหลังเสือ” ในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่

เพราะหากจะปฏิรูปในเรื่องใหญ่ๆ เช่น ตำรวจ กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบก็น่าจะดำเนินการทันทีเมื่อเข้ามาอีกทั้งมีผลศึกษามาแล้วสารพัดเพียงแค่นำมาปัดฝุ่นปรับปรุง ซึ่งผ่านมาเกือบสามปีถึงตอนนี้น่าจะเสร็จเรียบร้อยหรือใกล้เสร็จสิ้นแล้วก็ได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำได้ก็คือ เตรียมใช้คำสั่งมาตรา 44 ปรับเปลี่ยนการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจโดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาในทุกระดับ อ้างว่าเพื่อลดปัญหาการซื้อขายเก้าอี้และการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในอนาคต

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับมาที่เรื่องการปรองดองสามัคคีกันอีกรอบก็ต้องบอกว่าเริ่มมีข้อสังเกตเดิมๆ กลับมาให้เห็นอีก นั่นคือ “เงื่อนไขพิเศษ” จากฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” แบบพิลึกพิลั่น คือ ฝ่ายของทักษิณ ชินวัตร ในนามของพรรคเพื่อไทย ที่แม้ว่าจะไม่ได้ระบุออกมาให้เห็นชัดแต่ตราบใดก็ตามหากการปรองดองแบบใดก็ตามหาก “นายใหญ่” ของพวกเขาไม่ได้ประโยชน์มันก็ไม่มีทางเป็นไปได้ ซึ่งเงื่อนไขก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร นั่นคือ หากไม่มีการนิรโทษกรรม และไม่ยุติการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ตกเป็นจำเลยและงวดเข้ามาทุกขณะก็ไม่ต้องมาพูดถึงสาระอื่น

ดังนั้น หากจะปรองดองกับฝ่ายทักษิณ ชินวัตร มันก็มีแค่สองเงื่อนไขหลักแค่นั้น ส่วนเรื่องอื่นหรือคนอื่นมันก็ “เรื่องรอง” ไม่มีความหมาย แต่คำถามก็คือจะดำเนินการหรือไม่ หรือถ้าจะทำแล้วจะตบตาชาวบ้านที่จ้องมองตาไม่กะพริบอยู่ได้อย่างไรมากกว่า!