วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 14, 2560

“ความหลัง” และเบื้องหลัง ข่าวใหญ่เมื่อ 3 ปีก่อน ล้มเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 และ “เบื้องหลัง” ปฏิวัติ





ข่าวใหญ่เมื่อ 3 ปีก่อน ล้มเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 และ “เบื้องหลัง” ปฏิวัติ


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2560
คอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม
11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560


เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เหตุการณ์สงบเงียบ ต่างจากเมื่อ 3 ปีก่อน

นั่นคือการล้มเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ระหว่างการเคลื่อนไหวของ กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กปปส. มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ

เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย นายสุเทพก่อตั้ง กปปส. เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2556 โดยรับหน้าที่เป็นเลขาธิการเอง

กปปส. มีฐานอยู่ที่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูง กทม. และชาวภาคใต้ ใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์ ประกาศขับไล่รัฐบาล เพื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

ในการปราศรัยแต่ละเวที นายสุเทพท้าทายกฎหมายบ้านเมืองขณะนั้น ด้วยการประกาศเดินหน้าปฏิวัติ ยึดอำนาจอธิปไตยคืนมาเป็นของประชาชน

ข้าราชการหลายกระทรวงออกมาเป่านกหวีดสนับสนุนนายสุเทพและ กปปส. ในระหว่างปลายปี 2556 ต่อต้นปี 2557

เป็นวิกฤตการณ์สำคัญอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

โดยปกติ พรรคการเมืองต้องสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการเลือกตั้ง ถือเป็นวิธีการให้ประชาชนได้แสดงเจตนารมณ์ และเป็นหนทางในการรับรู้ความเห็นของประชาชน

มองย้อนกลับไป การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อาจไม่เกิดขึ้น หากทุกฝ่ายยอมใช้วิธีการเลือกตั้ง เพื่อตัดสินปัญหาที่รัฐบาลเพื่อไทยผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม

แต่หากการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ เกิดขึ้น เชื่อกันว่าพรรคที่จะชนะคือเพื่อไทยนั่นเอง

ทำให้ยิ่งต้องเพิ่มการสกัดขัดขวางการเลือกตั้งด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่ร่วมการเลือกตั้ง โดยในวันที่ 21 ธันวาคม 2556 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดเก่า-ใหม่ รวมทั้งอดีต ส.ส.พรรค ว่า ที่ประชุมมีมติว่าจะไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

เพราะพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าการเมืองของประเทศไทยได้อยู่ในภาวะที่ล้มเหลว มาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 8-9 ปี สืบเนื่องจากระบอบประชาธิปไตย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการทางประชาธิปไตยได้ถูกบิดเบือนโดยบุคคลบางกลุ่ม และทำให้วันนี้พี่น้องประชาชนนั้นขาดความศรัทธาในระบบพรรคการเมือง และในระบบการเลือกตั้ง

หากสภาพดังกล่าวยังดำรงต่อไป บ้านเมืองไม่มีการปฏิรูป ก็จะตกอยู่ในสภาพที่ปัญหาการเมืองที่ล้มเหลว ความขัดแย้ง สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง และความสูญเสีย และการทุจริตคอร์รัปชั่น เบียดบังผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนจะดำรงไปอย่างต่อเนื่อง พรรคประชาธิปัตย์ต้องการหยุดภาวะการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแบบนี้

การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ถูกขัดขวาง ทั้งกระบวนการ ตั้งแต่วันรับสมัคร สถานที่รับสมัครถูกปิดล้อม ทำให้ลงสมัครไม่ได้ เกิดเหตุวุ่นวาย โดยเฉพาะใน กทม. และภาคใต้

ขณะที่ กกต. หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งในขณะนั้น ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ทำหน้าที่อย่างเหมาะสม

มีประชาชนออกไปใช้สิทธิไม่น้อย แต่ก็มีการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ในขณะนั้น เป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

วันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6-3 ให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ เนื่องจากมิได้มีการเลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

6 เสียงที่ให้เป็นโมฆะ มาจาก นายจรูญ อินทจาร ประธานศาล, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายนุรักษ์ มาประณีต, นายสุพจน์ ไข่มุกด์, นายบุญส่ง กุลบุปผา และ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์

เสียงข้างน้อย 3 เสียง คือ นายชัช ชลวร, นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และ นายเฉลิมพล เอกอุรุ

การเลือกตั้งดังกล่าวไร้ผลไป ส่วนนายพรเพชร ในภายหลังเป็นประธาน สนช. หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

แม้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ล้มไปแล้ว แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการขับไล่ ยังเป็นรักษาการนายกฯ

น.ส.ยิ่งลักษณ์เองถูกฟ้องในคดีย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นตำแหน่งเลขาฯ สมช. โดยนายถวิลขึ้นเวที กปปส. หลายครั้งด้วยกัน

ในการประชุมแกนนำ กปปส. วันที่ 5 เมษายน 2557 ที่สวนลุมพินี นายสุเทพประกาศว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากนายกฯ

“เราจะประกาศความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของประชาชน คำสั่งถือเป็นกฎหมาย ถ้าไม่เข้าใจให้นึกเสียว่า เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติ คำสั่งของจอมพลสฤษดิ์เป็นกฎหมาย”

“เราจะสั่งยึดทรัพย์คนในตระกูลชินวัตร ห้ามคนในตระกูลชินวัตร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องออกนอกประเทศ และให้มารายงานตัวกับประชาชน”

“เราจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เป็นของประชาชน เราจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อให้ได้รัฐบาลของประชาชน”

“เท่มากวันนั้น ลุงกำนัน ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจ จะเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี”

วันที่ 7 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีส่วนร่วมย้ายนายถวิลเป็นการก้าวก่าย แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีผลให้ความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลง พร้อมกับ รมต. อีก 9 คน

รัฐบาลตั้ง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ขณะที่ กปปส. เพิ่มแรงกดดันขับไล่

ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. นำคณะทหารยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

วันที่ 23 มิถุนายน 2557 หรือ 1 เดือนหลังรัฐประหาร บางกอกโพสต์ได้เผยแพร่ข่าว “สุเทพคุยลับกับประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2553 เป้าหมายคือระบอบทักษิณ (Suthep in talks with Prayuth “since 2010″ Thaksin regime target in secret talks)”

ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ ถอดความเป็นภาษาไทยดังนี้

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำ กปปส. ได้เปิดเผยว่าได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำการรัฐประหาร เกี่ยวกับการกำจัดอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวก ตั้งแต่เหตุความรุนแรงทางการเมืองในปี 2553

นายสุเทพกล่าวต่อหน้าผู้สนับสนุนกลุ่ม กปปส. กว่า 100 คน ในงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อระดมทุน “กินข้าวกับลุงกำนัน” ที่แปซิฟิก คลับ กรุงเทพฯ

ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนในการวางแผนโค่นล้ม น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยเขาคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ และทีมงานผ่านไลน์

“ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศกฎอัยการศึก พล.อ.ประยุทธ์ บอกกับผมว่า “คุณสุเทพ คุณกับมวลมหาประชาชน กปปส. เหนื่อยมามากแล้ว จากนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพบกในการเข้ามาดูแลแทนเอง”” นายสุเทพกล่าว

เขาบอกด้วยว่า เขาได้ปรึกษาหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เหตุความไม่สงบทางการเมืองในปี 2553 ในการจัดการ “ระบอบทักษิณ” และจับมือร่วมกันปฏิรูปประเทศ ต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น และดำเนินการสลายสีเสื้อทางการเมืองที่แบ่งแยกคนไทย

“เราใช้เงินไปกว่า 1,400 ล้านบาท ในการเคลื่อนไหวช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยในเงินจำนวนนี้ 400 ล้านบาทมาจากครอบครัวและพันธมิตรของแกนนำ ส่วนอีก 1,000 ล้านบาท นั้นมาจากเงินบริจาคสดๆ ของผู้สนับสนุนของเรา” แกนนำ กปปส. เผย

นั่นคือ “ความหลัง” และเบื้องหลังของข่าวใหญ่การเมืองไทย ที่เพิ่งผ่านมา 3 ปี

ooo

แค่ 3 ปี...