วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 04, 2560

วิเคราะห์: 2 ปี 9 เดือนผ่าน ทำไมรัฐบาลยังสอบไม่ผ่านปราบโกง - BBC Thai




EPA

วิเคราะห์: 2 ปี 9 เดือนผ่าน ทำไมรัฐบาลยังสอบไม่ผ่านปราบโกง


โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
โปรดิวเซอร์
BBC Thai

31 มกราคม 2017


หนึ่งในเหตุผลหลักของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คือ การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ฝังรากลึกในประเทศ แต่ผ่านมาแล้ว 2 ปี 9 เดือน ภาพลักษณ์ด้านการทุจริตของประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับตกต่ำลง โดยล่าสุด คะแนนของสยามประเทศในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) หรือซีพีไอ ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI) ลดลงจาก เหลือ 35 คะแนน จาก 38 ทำให้อันดับร่วงลงมาเป็น 101 จาก 76 เมื่อปีก่อน

หน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ไปจนถึงโฆษกรัฐบาล ต่างออกมาอธิบายเพื่อลดระดับความรุนแรงทางความรู้สึก ว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกอกตกใจ เพราะ "ลดลงเพียง 3 คะแนน" แต่เหตุที่อันดับร่วงลงมาก เพราะหลายประเทศมีคะแนนเกาะกลุ่มกัน

"ไม่ได้หนักใจกับผลที่ออกมา" คือ คำพูดของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แถลงผ่าน พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ป.ป.ช. ชี้ คะแนนโปร่งใสไทยตก เพราะ เงื่อนไข ปชต.

หากย้อนไปดูคะแนนที่ประเทศไทยได้รับย้อนหลัง 22 ปี นับตั้งแต่ TI เริ่มประเมินคะแนนซีพีไอ เมื่อปี 2538 จะเห็นว่า คะแนนที่ไทยได้รับจะอยู่ที่ราว 30% บวกลบ ไม่ว่าจะสมัยที่ยังใช้คะแนนเต็มสิบ หรือในปัจจุบันที่คะแนนเต็มร้อย ก็ตาม




BBC THAI
คะแนนความโปร่งใสที่ไทยได้รับในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 30% บวกลบ



แต่เหตุที่เมื่อคะแนนซีพีไอลดลง แล้วรัฐบาล คสช. ต้องรีบออกมาแก้ข่าว-ให้คำอธิบาย ก็อาจจะเนื่องมาจากการเป็น รัฐบาลทหารซึ่งมาจากการยึดอำนาจ ที่หนึ่งในข้ออ้างของการยึดอำนาจแทบทุกครั้ง คือเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ตาม ถ้าดูคะแนนซีพีไอที่รัฐบาลได้รับภายหลังการรัฐประหาร ไม่ว่าจะรัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อปี 2550 หรือรัฐบาล คสช. ตั้งแต่ปี 2557 - ปัจจุบัน ก็จะพบว่า คะแนนซีพีไอ กลับไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญใดๆ เลย แม้นรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ออกมาตรการเกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นมาค่อนข้างมาก 

o     พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558

o     พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต พ.ศ.2559

o     การแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่รับสินบนมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต (มาตรา 123/2) และให้เอาผิดกับเอกชนที่จ่ายสินบนด้วย (มาตรา 123/5)

o     การนำมาตรฐานป้องกันการทุจริตในระดับนานาชาติมาใช้กับโครงการของภาครัฐ ทั้งข้อตกลงคุณธรรม โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) และโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (EITI)

o     การตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่อต้านปราบปรามการทุจริต

o     การตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ขึ้นมาปฏิรูปการทำงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใสมากขึ้น

o     การยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... ฉบับที่ผ่านการออกเสียงประชามติ โดยกำหนดให้มีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเข้มข้ม

o     การใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อพักงานข้าราชการที่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต



GETTY IMAGES


แต่ภายใต้รัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและเดินหน้าชูเรื่องปราบโกงอย่างเต็มที่ สิ่งที่หายไปในช่วงเวลาปัจจุบัน ก็คือ "กลไกตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลเอง" อย่างที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตไว้

จึงไม่น่าแปลกที่เมื่อ TI เพิ่มแหล่งข้อมูลใหม่ ที่นำมาใช้ในการประเมินคะแนนซีพีไอ นั่นคือ Varieties of Democracy Project ที่วัดความหลากหลายด้านประชาธิปไตย การมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไทยได้เพียง 24 คะแนน น้อยกว่าเมียนมาถึงหนึ่งเท่าตัว โดยบทวิเคราะห์ของ TI เองได้พาดพิงถึงการประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ที่มีการปราบปรามดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างจากรัฐ ไม่มีเวทีอภิปรายเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯอย่างเสรี และไม่ให้ผู้แทนจากภาคนอกซึ่งมีอิสระเข้าไปสังเกตการณ์




REUTERS


หากจะกล่าวโดยสรุปคือ การ "ปราบโกง" โดยภาครัฐฝ่ายเดียว ไม่ได้ทำให้คะแนนซีพีไอดีขึ้น ฉ๖ ภาครัฐจะต้องเปิดให้ฝ่ายอื่นๆ ตรวจสอบ และเข้ามาช่วย "ปราบโกง" ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อไปพิจารณาแหล่งข้อมูลที่ TI นำมาใช้ประเมินคะแนนซีพีไอของไทยในปีล่าสุด 9 แหล่งข้อมูล จะเห็นได้ว่าปัญหาคอร์รัปชั่นโยงใยไปถึงเรื่องต่างๆ ในสังคม ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวิธีที่ TI นำมาใช้ในการประเมินก็มีความซับซ้อน ทั้งสอบถามความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้อง หรือให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาประเมิน (แตกต่างจากผลวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งใช้การสำรวจความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพียงอย่างเดียว แต่ยากจะบอกว่าวิธีการใดที่ดีกว่ากัน)

พูดกันมานานแล้วว่า ปัญหาการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่อง "เชิงโครงสร้าง" เหมือนอย่างที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) เพิ่งผลักดันให้มีการแก้ไขระบอบอุปถัมภ์ที่เป็นต้นธารของการทุจริตอย่างหนึ่ง การแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมโหฬาร ต้องทำพร้อมกันทุกภาคส่วนและทั้งสังคม




WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI


แน่นอนว่าความเอาจริงเอาจังของภาครัฐหรือตัวผู้นำมีความสำคัญ แค่การมี "อำนาจ" มหาศาล และเดินหน้าใช้อำนาจนั้นฝ่ายเดียว โดยไม่ให้อิสระฝ่ายอื่นๆ ได้ขยับเขยื้อนบ้าง ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คะแนนซีพีไอในปีถัดไปขยับขึ้น อย่างลืมว่าเรื่องความหลากหลายของประชาธิปไตยได้ถูกนำมาบรรจุเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ใช้ประเมินไทยเรียบร้อยแล้ว

แม้บางฝ่ายจะตั้งคำถามกับวิธีการที่ TI ใช้ประเมินภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทย แต่นี่ก็เป็นหนึ่งในองค์กรด้านความโปร่งใสที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

และหากรัฐบาล คสช. ต้องการได้รับการยอมรับเรื่องการ "ปราบคอร์รัปชั่น" ในระดับสากลจริงๆ การเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายอื่นได้ออกมาตรวจสอบคอร์รัปชั่นมากกว่านี้ จึงเป็นไฟต์บังคับที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
TI ใช้เกณฑ์อะไรวัด ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นไทย

ก่อนการเปิดคะแนนซีพีไอของไทยโดย TI ป.ป.ช. ส่งเอกสารข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่ออธิบายที่มาที่ไปและความสำคัญของ "แหล่งข้อมูล" ที่ถูกนำมาใช้ประเมินคะแนน อย่างละเอียดยิบ ถึง 8 วันติดต่อกัน (เนื่องจากขณะนั้น ไม่รู้ว่าแหล่งข้อมูลเรื่องความหลากหลายของประชาธิปไตยจะถูกนำมาคำนวณด้วย ทาง ป.ป.ช. จึงคิดว่ามีเพียง 8 แหล่งข้อมูล) และนี่คือเนื้อหาโดยสรุปของแหล่งข้อมูลแต่ละชุดที่นำมาใช้ประเมินคะแนนซีพีไอของไทย



TRANSPARENCY INTERNATIONAL
ผลการสำรวจดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (ซีพีไอ) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ประจำปี 2559 ผลว่า ประเทศไทยได้คะแนนซีพีไอลดลงจาก 38 คะแนน เหลือเพียง 35 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ทำให้อันดับร่วงลงจาก 76 มาเป็น 101


1. World Justice Project (WJP) วัดความโปร่งใสจากนิติรัฐ เก็บข้อมูลระหว่าง พ.ค. - ก.ย. 2559 ไทยได้ 37 คะแนน (เพิ่มขึ้น 11 คะแนน)

2. International Institute Management Development (IMD) วัดความสามารถในการแข่งขัน โดยสำรวจความผิดเห็นผู้บริหารระดับสูงไปประมวลผลพิจารณากับปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจ สำรวจระหว่าง ม.ค. - เม.ย. ของทุกปี ไทยได้ 44 คะแนน (เพิ่มขึ้น 6 คะแนน)

3. International Country Risk Guide (ICRG) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยเอกชน ซึ่ง TI ใช้บทวิเคราะห์รายปีด้านการคอร์รัปชั่นและความเสี่ยงด้านการเมือง ไทยได้ 32 คะแนน (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน)

4. Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF-BTI) เป็นดัชนีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและตลาดเสรี เผยแพร่ผลทุกๆ 2 ปี ไทยได้ 40 คะแนนเท่าปีก่อน

5. Global Insight Country Risk Rating (GI) วัดการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องสินบน ซึ่งปีนี้ IT เปลี่ยนมาใช้ข้อมูลจากธนาคารโลกที่สำรวจความเห็นจากนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ทำสัญญากับภาครัฐ ไทยได้ 22 คะแนน (ลดลง 20 คะแนน)

6. World Economic Forum (WEF) วัดอุปสรรคในการทำธุรกิจ ใช้วิธีสำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่ทำลงทุนในประเทศนั้นๆ สำรวจระหว่าง ม.ค. - มิ.ย.ของทุกปี ไทยได้ 37 คะแนน (ลดลง 6 คะแนน)

7. Economist Intelligence Unit (EIU) วัดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศ วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ต้องเผชิญ ซึ่งแน่นอนว่าเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชั่นด้วย สำรวจข้อมูล ก.ย. 2559 ไทยได้ 37 คะแนน (ลดลง 1 คะแนน)

8. Political and Economic Risk Consultancy (PERC) วัดความรู้สึกของนักธุรกิจทั้งท้องถิ่นและต่างชาติต่อการคอร์รัปชั่นในประเทศนั้นๆ สำรวจข้อมูลระหว่าง ม.ค. - มี.ค. 2559 ไทยได้ 38 คะแนน (ลดลง 4 คะแนน)

9. Varieties of Democracy Project วัดความหลากหลายของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ ไทยได้ 24 คะแนน โดยในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้น้อยกว่าเมียนมา (50 คะแนน) ฟิลิปปินส์ (39 คะแนน) มากกว่ากัมพูชา (17 คะแนน) เพียงประเทศเดียวนน)