วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 07, 2560

สิทธิมนุษยชน"ยูเอ็น"เตรียมถกอย่างละเอียด คดี"ไผ่ ดาวดิน" และการใช้ ม.112




https://www.youtube.com/watch?v=sA68RurX4mA

สิทธิมนุษยชน"ยูเอ็น"เตรียมถกอย่างละเอียด คดี"ไผ่ ดาวดิน"และการใช้ ม.112

jom voice

Published on Feb 6, 2017

นายสุนัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนูษยชนสากล ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ Thaivoice เกี่ยวกับการถอนประกันตัว"ไผ่ ดาวดิน"หรือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ต้องหาคดี 112 และอยู่ระหว่างการฝากขังผัดที่ 6 รวมเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้วว่า ต้นเดือนมีนาคมนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ จะประชุมด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิพลเมืองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ได้จัดส่งรายงานไปยังยูเอ็นแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ม.112 ของไทย จะมีการนำเสนอคดีของ ไผ่ ดาวดิน อย่างละเอียดทั้งการแจ้งข้อกล่าวหา การจับกุม การถอนประกัน การพิจารณาคดีลับ รวมไปถึงการถูกตัดสิทธิในการสอบ เพราะแต่ละขั้นตอนเหล่านี้ล้วนเป็นการไม่ปฎิบัติตามหลักกฎหมาย และเป็นการใช้กฎหมายเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างชัดเจน


ooo

ผู้ตรวจสอบพิเศษUN กังวลคดี 'ไผ่'-เรียกร้องไทยหยุดใช้ม.112 ปิดกั้นการวิจารณ์

Tue, 2017-02-07 15:10
ที่มา ประชาไท





7 ก.พ.2560 ผู้ตรวจสอบพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก เดวิด เคย์ เรียกร้องในวันนี้ให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ ในประเทศไทย ทั้งนี้การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อราชวงศ์นั้นมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

"บุคคลสาธารณะ รวมถึงผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดอาจเป็นเป้าในการวิพากษ์วิจารณ์ได้ และข้อเท็จจริงในบางรูปแบบของการแสดงออกอาจถูกพิจารณาว่าเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลสาธารณะแต่ไม่อาจถึงขนาดที่จะสร้างความชอบธรรมในการจำกัดการแสดงออกหรือลงโทษได้" ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำ

"กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยตามประมวลกฎหมายอาญานั้นไปกันไม่ได้กับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ" เคย์กล่าวและต้องการส่งสารความกังวลนี้ต่อทางการไทย

ข้อเรียกร้องของผู้เชี่ยวชาญเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนกฎหมาย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ จตุภัทร์เป็นคนแรกที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในรัชสมัยของกษัตริย์องค์ใหม่ซึ่งทรงราชย์เมื่อ 1 ธันวาคม 2559

วันที่ 2 ธันวาคม จตุภัทร์ถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหานี้พร้อมทั้งความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลังจากแชร์รายงานของบีบีซีและนำเนื้อหาบางส่วนในรายงานมาโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว

จตุภัทร์ถูกถอนการประกันตัวในวันที่ 27 ธันวาคมเนื่องจากเป็นคดีที่มีความอ่อนไหว ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของรัฐ

"ข้าพเจ้าวิตกกังวลเมื่อมีรายงานที่พูดถึงการไต่สวนการประกันตัวของเขาแบบปิดลับซึ่งขัดแย้งกับหลักสิทธิในการเข้าถึงการไต่สวนที่เป็นธรรมและเปิดเผยต่อสาธารณะ" ผู้ตรวจการพิเศษกล่าว

ในเดือนกันยายน 2559 นายกรัฐมนตรีไทยได้ยกเลิกคำสั่งก่อนหน้านี้ที่ให้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นศาลทหาร และคดีที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นจะถูกพิจารณาในศาลยุติธรรม อย่างไรก็ตาม คดีต่างๆ ที่เกิดก่อนหน้าเดือนกันยายนยังคงถูกพิจารณาในศาลทหารซึ่งมีโทษหนักยิ่งกว่าศาลพลเรือน ในปี 2558 ศาลทหารลงโทษจำคุก นายพงษ์ศักดิ์ ถึง 30 ปี จำคุกนางสาวศศิวิมล 27 ปี และจำคุกนายเธียรสุธรรม 25 ปี จากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊ก

"กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นไม่อาจมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ทางการของไทยทบทวนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและยกเลิกกฎหมายที่ให้การหมิ่นสถาบันฯ เป็นความผิดทางอาญา" เคย์กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบพิเศษ หรือ Special Rapporteur เป็นตำแหน่งที่ให้บุคคลใดๆ ทำงานในนามของสหประชาชาติ เพื่อสืบสวน ติดตาม ให้ข้อแนะนำ หรือออกรายงานเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน