วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 23, 2560

ศาลฎีกาพิพากษา ลดโทษ 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' คดี 112 เหลือ 6 ปี - 13 ประเด็นสำคัญในคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข





ฎีกาลดโทษคดี 112 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' เหลือ 6 ปี

by พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
23 กุมภาพันธ์ 2560

ศาลฎีกาพิพากษา ลดโทษ 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' คดี 112 เหลือ 6 ปี หลังแจ้งหมายนัดกลางดึกวานนี้(22ก.พ.60)

จากกรณีโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ รายงานว่าช่วงดึกวานนี้ ภรรยานายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้รับแจ้งว่าศาลฎีกานัดหมายนายสมยศ พฤกษาเกษม ฟังคำพิพากษาในวันนี้(23ก.พ.60) เวลา 09.30 น.

ล่าสุดไอลอว์ รายงานผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า ศาลฎีกาพิพากษาลดโทษนายสมยศ เหลือ 6 ปี จากความผิดสองกรรม โดยก่อนหน้านี้สั่งจำคุก 10 ปี เนื่องจากศาลพิเคราะห์เห็นว่าจำเลยอายุมากและรับโทษมาพอสมควรแล้ว รวมคดีหมิ่นประมาทพล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร อีก 1 ปี รวมจำคุกเหลือ 7 ปี

ทั้งนี้ไอลอว์ ได้ตั้งข้อสังเกตุถึงการแจ้งการนัดหมายอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นเรื่องที่แปลกเพราะโดยคำพิพากษาศาลมักจะเขียนเสร็จล่วงหน้าก่อนนัดอ่านอย่างน้อยร่วม 1 เดือน และแจ้งจำเลยล่วงหน้าเพื่อให้โอกาสในการเตรียมตัว



ข่าวเพิ่มเติม

-จำคุก คดี 112 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' 10 ปีไม่รอลงอาญา

ooo

13 ประเด็นสำคัญในคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข




ภาพจาก Banrasdr Photo


Thu, 2017-02-23 18:48
ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม
ประชาไท

23 กุมภาพันธ์ 2560 

1.สมยศ เป็นใคร


สมยศเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เน้นการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิแรงงานแก่คนงาน เคลื่อนไหวเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ยกเลิกระบบเหมาช่วง ส่งเสริมการรวมตัวของคนงาน การจัดตั้งสหภาพ ฯลฯ

เขาเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่นในทศวรรษ 2530 ที่แรงงานและนักศึกษาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิด “ระบบประกันสังคม” ซึ่งเราใช้กันในทุกวันนี้

อ่านประวัติสมยศ

2.จุดเปลี่ยนสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง

หลังการรัฐประหาร 2549 บทบาทด้านการเมืองเด่นชัดขึ้น โดยเขาเริ่มออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร เคยเป็นแกนนำ นปช.รุ่น 2 ในช่วงปลายปี 2552 หลังแกนนำรุ่นแรกถูกจำคุกอันมาจากเหตุของการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

หลังจากนั้นไม่นาน เขาก่อตั้งกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่มักทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

3. เคยรณรงค์ล่ารายชื่อยกเลิกมาตรา 112 ก่อนโดนจับ


ในปี 2554 หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยราย ข้อถกเถียงของสังคมร้อนแรงและเกี่ยวพันกับบทบาทของสถาบันหลักต่างๆ ในสังคม สมยศและกลุ่มของเขาริเริ่มการรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นช่องทางตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่ามันเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งสูง

นับเป็นกลุ่มเดียวที่รณรงค์ถึงขั้น “ยกเลิก” หลังจากนั้น 5 วัน หรือวันที่ 30 เมษายน 2554 เขาถูกจับกุมและแจ้งข้อหามาตรา 112 เหตุจากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นในนิตยสารเมื่อปีที่แล้ว

4.เคยถูกคุมขังในค่ายทหารนานนับเดือน

หลังสลายการชุมนุมใหญ่ นปช.ในปี 2553 สมยศ และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็น 2 คนที่ถูกนำตัวไปควบคุมตัวยังค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี โดยไม่ได้ให้ติดต่อกับผู้ใด รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในสมัยนั้นอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมตัวเพื่อซักถามข้อมูล เขาถูกคุมตัวตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2553 จนถึงประมาณ 23 มิถุนายน ขณะที่สุธาชัยนั้นถูกปล่อยตัวก่อนในวันที่ 31 พฤษภาคม

5. แชมป์ “นก” (หรือชวด) ประกันตัว

เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันถูกจับกุมตัว ในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ ชั้นศาล และระหว่างต่อสู้คดี รวมแล้วญาติและทนายความยื่นประกันตัวราว 15 ครั้ง ด้วยหลักทรัพย์ตั้งแต่ 4 แสน ถึง 2 ล้านบาท

6. คดีแรกในรอบทศวรรษ สู้ “เนื้อหา” ถึงศาลฎีกา (ใช้เวลา 6 ปี)

ในทศวรรษที่ผ่านมา คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ต่อสู้ในทาง "เนื้อหา" แล้วมีการพิจารณาจนถึงศาลสูงสุด ก่อนหน้านี้ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อดีตผู้ต้องขังคดี 112 เคยระบุว่าตั้งใจจะสู้คดีถึงศาลฏีกาแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจสู้เพียงชั้นศาลอุทธรณ์เนื่องจากถูกคุมขังในเรือนจำยาวนานและมีสุขภาพที่ย่ำแย่ ส่วนอีกคดีหนึ่งที่สู้ถึงศาลฎีกาคือ คดีของ บัณฑิต อานียา ถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อปี 2546 ต่อสู้คดีว่าเป็นจิตเภท ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 

7. ข้อกล่าวหา และ ข้อต่อสู้ในคดี

ตามคำฟ้องของโจทก์ กล่าวหาว่าเขาหมิ่นสถาบันด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นในนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 ชื่อว่า ‘แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น’ และ ‘6 ตุลาแห่งพ.ศ.2553’ ตามลำดับ โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า ‘จิตร พลจันทร์’

สมยศต่อสู้ใน 4 ประเด็นหลักคือ


1.เขาไม่ใช่ผู้เขียน นามแฝงดังกล่าวเป็นของ จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งบก.คนก่อนได้ทาบทามให้เขาเขียนมาก่อนแล้วก่อนที่สมยศจะเข้าไปทำงาน

2.เขาไม่ใช่บรรณาธิการ Voice of Taksin เพียงแต่เป็นพนักงานคนหนึ่งซึ่งได้รับเงินเดือนเหมือนพนักงานคนอื่นๆ แต่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป หน้าที่และตำแหน่งตามที่ตีพิมพ์ไว้ในปกหนังสือในทางพฤตินัยก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง

แต่หากศาลจะฟังว่าจำเลยกระทำตัวเป็นบรรณาธิการต้องรับผิดชอบเนื้อความที่นำลงพิมพ์โฆษณาตามคำกล่าวหาของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขใหม่ก็ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นเป็นรับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ โดยมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 6268/2550 ตัดสินวางบรรทัดฐานไว้

3.เขาไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นสถาบัน การลงบทความดังกล่าวเป็นไปตามระบบงาน มิใช่เป็นการกระทำโดยจงใจของจำเลย

4.บทความทั้ง 2 ชิ้นไม่เป็นบทความที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะแม้แต่พยานที่อ่านบทความก็ให้ความเห็นในแต่ละบทความไม่ตรงกัน

เนื้อหาที่ปรากฏในบทความที่นำมาฟ้องผู้เขียนยกตัวอย่างตุ๊กตา เป็นตัวละครล้อเลียนไม่ใช่เรื่องจริงและผู้อ่านไม่อาจรู้แน่ชัดได้ว่าผู้เขียนหมายถึงใคร ซึ่งในประเด็นนี้พยานจำเลยเมื่อได้อ่านบทความต่างก็ให้การไปในทำนองเดียวกันว่าผู้เขียนสื่อถึงพวกอำมาตย์ไม่ได้สื่อถึงกษัตริย์

อ่านคำแถลงปิดคดี

8. การต่อสู้คดี ที่ต้องเดินทาง 4 จังหวัด

ระหว่างสืบพยานโจทก์ พยานมิได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หลายคนทำให้ต้องมีการสืบพยานในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพยานและต้องมีการส่งตัวเขาไปคุมขังยังเรือนจำในจังหวัด สระแก้ว นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สงขลา

สมยศเคยเล่าถึงตอนไปเรือนจำสระแก้วว่า ความเป็นอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสระแก้วนั้นดีกว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเรื่องอาหารและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เรือนจำที่นี่ยังคงมีสภาพแออัด ผู้ต้องขังล้นเกิน จากปกติรองรับได้ 800 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็นเกือบ 2,000 คน โดยในจำนวนนี้เป็นการย้ายหนีน้ำท่วมมาเกือบ 300 คน ทำให้ต้องนอนเบียดเสียดอย่างมาก

สมยศยังเล่าถึงการเดินทางมายังเรือนจำสระแก้วว่า ระหว่างที่มีการเคลื่อนเขาพร้อมผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่หนีน้ำท่วมมายังเรือนจำสระแก้ว เมื่อต้นเดือน พ.ย. นั้นรถแน่นมากและเขาต้องยืนตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงสระแก้ว

9. คำให้การของพยานโจทก์-จำเลย (บางส่วน)

กอ.รมน.- นักศึกษานิติ มธ. เบิกความสืบพยานโจทก์ คดี ‘สมยศ’

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเบิกความถึงที่มาที่ไปของการเข้าแจ้งความดำเนินคดี โดยมีการระบุด้วยว่า “ผังล้มเจ้า” ของพ.อ.สรรเสริญ ก็เป็น “เครื่องช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูล” โดยเจ้าหน้าที่ผู้เบิกความไม่ทราบว่าผังดังกล่าวมีการยอมรับจากพ.อ.สรรเสริญแล้วว่าไม่ได้มีข้อมูลรองรับเพียงพอ

ขณะที่นักศึกษา นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยฝึกงานที่ดีเอสไอในช่วงเวลาดังกล่าว เบิกความว่า ระหว่างฝึกงาน ผู้ดูแลซึ่งก็คือพนักงานสอบสวนในคดีนี้ได้นำนิตยสาร Voice of Taksin ฉบับที่ใช้ฟ้องร้องมาให้อ่าน รวมทั้งบทความที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงดังกล่าว ซึ่งเมื่ออ่านข้อความดังกล่าวแล้วก็ทำให้เข้าใจได้ตามฟ้อง

คำเบิกความ ธงทอง จันทรางศุ

เขาเบิกความว่า บทความชิ้นหนึ่งนั้นผู้เขียนจงใจเท้าความไปถึงประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อระหว่างธนบุรีและรัตนโกสินทร์ โดยพยานทราบว่าเป็นการหมิ่นประมาทเพราะอาศัยการเทียบเคียงกับความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ ส่วนอีกชิ้นหนึ่ง ไม่สามารถบอกได้ว่า “หลวงนฤบาล” ผู้เขียนตั้งใจหมายถึงใคร

เขายังเบิกความอีกว่า มาตรานี้โทษจำคุก 3-15 ปีรุนแรงเกินไปและไม่ได้สัดส่วนกับสาระของการกระทำความผิด คำว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น” ในมาตรา112 ควรจะมีความหมายเช่นเดียวการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นบุคคลธรรมดาในมาตรา 326 ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วถือว่าโทษหนักเบาแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ยังไม่ให้จำเลยพิสูจน์เหตุยกเว้นโทษหรือยกเว้นความผิดได้ตามมาตรา 329

ข่าวการเบิกความของ กสม. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ข่าวการเบิกความของปิยบุตร แสงกนกกุล

ข่าวการเบิกความของจำเลย

10.คำพิพากษา ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา

ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 กรรรม กรรมละ 5 ปีรวม 10 ปี อ่านคำพิพากษาฉบับย่อในล้อมกรอบ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ลดโทษเหลือ 2 กรรม 6 ปี

หมายเหตุ โทษจำคุกในทุกชั้นศาลจะบวกอีก 1 ปี เพราะรวมกับคดีเก่าในคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร

11. เพราะสู้คดี พลาดลดโทษในการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปหลายครั้ง

การยืนยันที่จะต่อสู้คดีของสมยศ ทำให้คดีของเขายังไม่มีสถานะ “ถึงที่สุด” จำเลยจึงยังไม่มีสถานะเป็น “นักโทษชาย” เต็มขั้นแม้จะอยู่ในเรือนจำมาหลายปีแล้วก็ตาม นั่นส่งผลให้ไม่ได้รับ “ชั้น” หรือสถานะของนักโทษที่จะได้ ชั้นกลาง เมื่อคดีถึงที่สุด ก่อนที่จะค่อยๆ เลื่อน เป็นชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม ตามลำดับหากไม่ทำผิดกฎเรือนจำหรือทะเลาะวิวาท ชั้นของนักโทษเกี่ยวพันกับ “สัดส่วน” ที่จะได้รับการลดโทษจากการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปที่เกิดขึ้นในวาระโอกาสสำคัญที่ และการลดโทษจะลดหลั่นกันตามชั้นที่นักโทษได้ เช่น ในปี 2555 มีพ.ร.ฎ.อภัยโทษเนื่องในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ, ปี 2558 เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบของสมเด็จพระเทพฯ, ปี 2559เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ของรัชกาลที่ 9 เป็นต้น

หากเขารับสารภาพแต่ต้น เขามีโอกาสที่จะได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย เหลือ จำคุก 5 ปี มีโอกาสจะได้รับการลดโทษในการอภัยโทษทั่วไป แล้วสามารถทำเรื่องพักโทษได้โดยจะอยู่ในเรือนเพียงไม่เกิน 3 ปี อีกกรณีหนึ่งคือ รับสารภาพแล้วยื่นขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคลดังเช่น สุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งถูกจับในช่วงต้นปี 2554 เช่นกัน สุรชัยรับสารภาพในคดี 112 ที่ทยอยฟ้องรวม 5 คดีโทษจำคุก 12 ปีครึ่ง เมื่อเขายื่นขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัวร่วมกับนักโทษ 112 อีกจำนวนหนึ่งก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ เขาจึงอยู่ในเรือนจำเพียง 2 ปี 7 เดือน

12. เคยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

มี 2555 ระหว่างต่อสู้คดี เขาและเอกชัย หงส์กังวาน จำเลยคดี 112 อีกคนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า หลักการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สอดคล้องกับการให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันและประมุขของประเทศไทย การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรมที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง” และอื่นๆ อ่านที่นี่

13. มีแถลงการณ์ - กิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับเขามากมาย

FREE SOMYOS โผล่งานบอลประเพณี

สมยศ โผล่งานหนังสือแห่งชาติ

บรรณาธิการร่วมออกแถลงการณ์

ลูกชายสมยศ ‘ไท’ อดอาหารประท้วง

ยูเอ็นผิดหวังศาลอุทธรณ์ไทยพิพากษายืนจำคุกสมยศ

ท่าทีจากอียู-ฮิวแมนไรท์วอชท์-เอไอ-องค์กรแรงงาน ต่อ 'คำพิพากษาสมยศ'

ทูต 'อียู' แจงไม่ได้ 'แทรกแซง' ไทยกรณี 'สมยศ' แต่ 'ปฏิสัมพันธ์' ด้วยหลักสิทธิฯ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ UN เรียกร้องปล่อยสมยศ ชี้โทษยังแรงไปหลังพิพากษาฎีกา

ฯลฯ

ooo